ฉบับที่ 159 เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือมะนาวมีน้ำมะนาวเทียม

มะนาวเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ออกผลไม่สม่ำเสมอ เราจึงพบราคาผลมะนาวถูกๆ แพงๆ แซงกันไปมาในแต่ละฤดูกาล บางช่วงราคาสูงถึงลูกละ 10 บาท ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของผลมะนาวจากธรรมชาติ แถมรูปแบบของผลิตภัณฑ์นี้ยังแสนสะดวกซื้อ สะดวกใช้ เป็นของเหลวสีเหลืองอมเขียว รสชาติเปรี้ยวไม่แพ้กัน ตามกฎหมายอาหาร ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เรียกว่า ผลิตภัณฑ์วัตถุแต่งกลิ่นรสมะนาว ซึ่งหมายถึง วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร ที่มีจุดมุ่งหมายให้รสเปรี้ยวเพื่อใช้แทนมะนาว และมีการจำหน่ายโดยบรรจุในภาชนะ แต่งสี กลิ่น และรสชาติ ให้มีลักษณะคล้ายน้ำมะนาว จัดเป็นผลิตภัณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 223) พ.ศ. 2544  ซึ่งจะต้องขออนุญาต อย.และแสดงรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข 8 จังหวัด ในเขต 5 (สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี) และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ได้ร่วมกันทำโครงการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์วัตถุแต่งกลิ่นรสมะนาว ที่จำหน่ายในท้องตลาด โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ที่วางขายในพื้นที่ 8 จังหวัด จำนวน 22 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ผลการตรวจ พบว่าทุกตัวอย่างมีการใส่สี และยังพบว่ามีการใช้วัตถุกันเสียผสมลงไป จำนวน 9 ตัวอย่าง โดย 1 ใน 9 ตัวอย่างมีการใช้วัตถุกันเสียสูงถึง 1,633.6 มก/กก (มาตรฐานที่กำหนดต้องไม่เกิน 1,000 มก/กก) และเมื่อตรวจค่าความเป็นกรด พบว่าทุกตัวอย่างมีความเป็นกรดมากกว่ามะนาวผงด้วยซ้ำ มิน่ามันถึงได้เปรี้ยวบาดท้องบาดไส้สะใจจริงๆ แต่ที่น่าสนใจคือ ผลจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภค พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ ไม่ทราบข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์วัตถุแต่งกลิ่นรสมะนาวที่จำหน่ายในท้องตลาดมีส่วนผสมอะไรบ้าง สูงถึงร้อยละ 60.58 หลายรายเข้าใจว่ามันคือน้ำมะนาวที่คั้นมาให้เรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ เมื่อไปดูผลิตภัณฑ์วัตถุแต่งกลิ่นรสมะนาวที่วางจำหน่ายในที่ต่างๆ ก็พบว่าส่วนผสมมีหลายหลายต่างกันไป มีทั้งชนิดน้ำมะนาวคั้นอย่างเดียว น้ำมะนาวคั้นผสมกับกรดซิตริก และกรดซิตริกล้วนๆ ก็จะไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจสับสนได้อย่างไร เพราะเกือบทุกชนิดมีภาพลูกมะนาวโตงเตงบนฉลาก ชวนให้ผู้บริโภคสับสนเองนี่นา นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ต้องการให้กฎหมายบังคับให้ ผลิตภัณฑ์วัตถุแต่งกลิ่นรสมะนาว แสดงข้อความเพิ่มเติมให้ชัดเจน เช่น ระบุข้อความให้ชัดเจนไปเลยว่าไม่ใช่น้ำมะนาวแท้ และถ้ามีส่วนผสมของน้ำมะนาว ก็ต้องระบุปริมาณสัดส่วนของมะนาวให้ชัดเจนด้วย นอกจากนี้ต้องระบุคำเตือนและข้อควรระวังในการบริโภค ตลอดจนข้อความอื่นๆ เช่น วิธีการเก็บ ฉลากโภชนาการ ปริมาณที่บริโภคได้ในแต่ละวัน ก็ยิ่งดี ตอนนี้ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข 8 จังหวัด ในเขต 5 และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม กำลังขับเคลื่อนให้มีการออกประกาศเพิ่มเติมให้ชัดเจน ส่วนรายที่ผสมวัตถุกันเสียเกิดมาตรฐาน ก็ถูกจัดการเรียบร้อยโรงเรียนสารกันบูดไปแล้ว   // Powered by SelectionLinks about this ad

อ่านเพิ่มเติม >