ฉบับที่ 245 สำรวจฉลากโภชนาการ “นมทางเลือกพร้อมดื่ม”

        ผลิตภัณฑ์นมที่เรารู้จักและดื่มกันมาเนิ่นนานคือ นมวัวและนมถั่วเหลือง แต่ปัจจุบันมีนมให้เลือกหลากหลายมาก ทั้งจากสัตว์คือนมแพะ และจากพืชคือนมข้าว นมถั่ว และนมมะพร้าว ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้นจัดเป็นทางเลือกให้กับคนที่แพ้น้ำตาลแลคโตสและโปรตีนจากนมวัว ต่อมากระแสนิยมเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแพร่หลายในวงกว้าง ผู้ผลิตจึงพัฒนาสูตร ‘นมทางเลือกพร้อมดื่ม’ ต่างๆ มาตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจเลือกอาหารการกินที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น         ทว่า นมเหล่านี้จะเป็นนมทางเลือกเพื่อสุขภาพตามที่มักพูดติดปากกันจริงแค่ไหน ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปสำรวจปริมาณสารอาหารในนมทางเลือกพร้อมดื่มจำนวน 16 ตัวอย่าง 10 ยี่ห้อ โดยดูฉลากว่ายี่ห้อไหนมีน้ำตาลมากหรือน้อยกว่ากัน รวมทั้งดูปริมาณพลังงาน โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตด้วย ซึ่งผลสำรวจจะเป็นอย่างไรนั้น เราไปดูกันผลสำรวจฉลากโภชนาการ“นมทางเลือกพร้อมดื่ม”         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณพลังงาน น้ำตาล โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค พบว่า         1.พลังงาน - ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสูงที่สุดคือ 180 กิโลแคลอรี ส่วนยี่ห้อบลูไดมอนด์ เครื่องดื่มน้ำนมอัลมอนด์ รสออริจินอล และ 137 ดีกรี น้ำนมพิสตาชิโอ เบลนด์หิมพานต์ สูตรดั้งเดิม ผสมเมล็ดทานตะวัน มีต่ำที่สุดคือ 45 กิโลแคลอรี         2.น้ำตาล - ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวกล้องงอก มีสูงที่สุดคือ 14 กรัม ส่วนยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล และ 137 ดีกรี น้ำนมอัลมอนด์ สูตรไม่เติมน้ำตาล ผสมเมล็ดทานตะวัน นั้นไม่มีน้ำตาลเลย          3.โปรตีน - ยี่ห้อศิริชัย เครื่องดื่มนมแพะ ยูเอชที มีสูงที่สุดคือ 6 กรัม ส่วนนมที่มีโปรตีนต่ำที่สุดคือไม่ถึง 1 กรัม มี 4 ยี่ห้อ ได้แก่ ยี่ห้อยูเอฟซี เวลเวท เครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว รสจืด, ซันคิสท์ เครื่องดื่มน้ำนมพิสทาชิโอ รสออริจินอล, ฟอร์แคร์บาลานซ์ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล และ137 ดีกรี น้ำนมวอลนัท สูตรดั้งเดิม ผสมเมล็ดทานตะวัน         4.คาร์โบไฮเดรต - ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสูงที่สุดคือ 31 กรัม และต่ำที่สุดคือ 1 กรัม ในยี่ห้อ 137 ดีกรี น้ำนมอัลมอนด์ สูตรไม่เติมน้ำตาล ผสมเมล็ดทานตะวันข้อสังเกต- แม้จะผลิตจากน้ำนมมะพร้าวเหมือนกัน แต่กลับให้พลังงานต่างกันมาก โดยตัวอย่างยี่ห้อเพียวฮาร์เวสต์ ให้พลังงาน 144.5 กิโลแคลอรี ในขณะที่ยี่ห้อยูเอฟซี เวลเวท ให้พลังงาน 50 กิโลแคลอรี- นมทางเลือกส่วนใหญ่มาจากพืช มีเพียงตัวอย่างเดียวคือ นมแพะที่มาจากสัตว์ -มี 8 ตัวอย่าง เติมน้ำตาลเพิ่มในส่วนผสม- มี 5 ตัวอย่าง เติมแคลเซียมธรรมชาติเพิ่มในส่วนผสม- มี 6 ตัวอย่าง ระบุว่า แต่งกลิ่นเลียนแบบธรรมชาติหรือแต่งกลิ่นธรรมชาติ- ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวกล้องงอก มีน้ำตาล 14 กรัม ถ้าดื่มวันละ 2 กล่อง ก็จะได้รับน้ำตาลเกินต่อปริมาณที่แนะนำ คือไม่ควรเกินวันละ 24 กรัมต่อวัน (6 ช้อนชา) ในแต่ละวันแล้ว-หากลองคำนวณเปรียบเทียบราคาในปริมาณต่อกล่องที่ 180 มิลลิลิตร พบว่า ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 18-19 บาท ยี่ห้อ 137 ดีกรี น้ำนมพิสตาชิโอ เบลนด์หิมพานต์ สูตรดั้งเดิม ผสมเมล็ดทานตะวัน มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 28 บาท ส่วนราคาต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 9-10 บาท ได้แก่ ยี่ห้อวี-ฟิท ทั้งเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ และเครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวกล้องงอกคำแนะนำ- ควรเขย่าก่อนดื่ม แช่เย็นจะช่วยให้ดื่มง่ายและอร่อยขึ้น ถ้าเปิดกล่องแล้วต้องแช่ตู้เย็น และควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน ถ้าเป็นกล่องใหญ่ภายใน 3-5 วัน- หากดื่มนมจากพืชเป็นหลัก ควรบริโภคอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ควบคู่กัน เพราะนมจากพืชให้ปริมาณโปรตีน แคลเซียม และวิตามินต่างๆ น้อยกว่านมจากสัตว์ จึงควรเพิ่มโปรตีนจากไข่ หรือแคลเซียมจากปลาเล็กปลาน้อยเสริม หรือหากกินมังสวิรัติก็จัดเมนูเต้าหู้และผักใบเขียวเพิ่มด้วย- สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเลี่ยงน้ำนมข้าวต่างๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด เพราะมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตรวมอยู่ด้วย อาจมีผลกระตุ้นให้อาการเบาหวานกำเริบหรือแย่ลงได้- นมจากพืชไม่เหมาะให้เด็กในวัยกำลังเจริญเติบโตดื่มเป็นหลัก เพราะให้พลังงานและโปรตีนน้อยกว่านมจากสัตว์ แต่ให้เด็กๆ ดื่มเสริมเพื่อให้ได้รับสารอาหารและรสชาติที่หลากหลายได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สรุปความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน

คนไทยป่วยไบโพลาร์กว่าล้านคน        สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุ คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ถึง 1 ล้านคน แต่ทุกวันนี้สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เข้ารับการรักษา         โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ และอาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม ทำให้อาการเปลี่ยนแปลงไปจากนิสัยหรือบุคลิกเดิมของคนๆ นั้น ลักษณะอาการเด่นของโรคนี้คืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) สลับกับอาการอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) หรืออาจมีอาการแมเนียเพียงอย่างเดียวก็ได้ โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายๆ เดือนก็ได้ ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่คนไม่รู้ และคิดว่าเป็นเพียงอารมณ์แปรปรวนตามประสาวัยรุ่น หรือบางรายที่มีอารมณ์ซึมเศร้าเด่นกว่าแมเนีย จึงมักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้เสียโอกาสในการวินิจฉัย         สำหรับแนวทางการรักษาโรคจิตเวช และโรคไบโพลาร์ อันเป็นที่ยอมรับแล้ว คือ วิธีรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับการบําบัดทางจิตสังคม (Psychosocial therapy) และการบําบัดที่เน้นครอบครัว และการให้สุขภาพจิตศึกษาร่วมกับการรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพในการช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ดี รัฐบาลเตรียมกฎหมายควบคุมร้านจำหน่ายแก๊ส         รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้เหมาะสมกับสภาพการประกอบกิจการในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ตั้ง แผนผัง รูปแบบ และลักษณะของสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย การเก็บรักษาและการจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประกอบไปด้วย           - ห้ามตั้งร้านจำหน่ายถังก๊าซหุงต้มในอาคารชุด อาคารสรรพสินค้า อาคารแสดงสินค้า หรือสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว           - ร้านจำหน่ายที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นไม่เกิน 6 เมตร ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 2,400 ลิตร ถ้าอยู่ห่างจากอาคารอื่นเกิน 6 เมตรขึ้นไป ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 12,000 ลิตร           - ร้านจำหน่ายลักษณะที่ 2 (ร้านจำหน่ายที่มีการเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลวเกิน 500 ลิตรขึ้นไป) ต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยแบบกระจายน้ำดับเพลิงที่สามารถฉีดน้ำครอบคลุมบริเวณที่เก็บถังก๊าซหุงต้มหรือกระป๋องก๊าซ        สำหรับร้านจำหน่ายที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ ขณะที่ร้านจำหน่ายที่ตั้งอยู่ในตึกแถวที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีกรรมสิทธิ์ในตึกแถวข้างเคียงที่มีผนังร่วมกัน  ผลตรวจน้ำมะพร้าวไม่พบยาฆ่าแมลงแต่โพแทสเซียมสูงผู้ป่วยโรคไตต้องระวัง         นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่สรรพคุณของน้ำมะพร้าว ในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย และทำให้เกิดกระแสการบริโภคน้ำมะพร้าวนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ศึกษาคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำมะพร้าวสดและน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท ชนิดละ 7 ตัวอย่าง โดยนำมะพร้าวสดเก็บจากร้านค้าในพื้นที่ จ.ราชบุรี จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม และ น้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท 7 ยี่ห้อ เก็บจากร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ แร่ธาตุ วิตามิน น้ำตาล ฮอร์โมน ความเป็นกรดด่าง และการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช         “ผลการตรวจวิเคราะห์ พบแคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม และคลอไรด์ในน้ำมะพร้าวสดมากกว่าน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท โดยเฉพาะโพแทสเซียมและคลอไรด์ในปริมาณเฉลี่ย 133.81 – 215.20 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม พบวิตามิน บี 2 ในน้ำมะพร้าวสดน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ตรวจไม่พบในน้ำมะพร้าวที่ผ่านการแปรรูป เนื่องจากวิตามิน บี 2 ละลายน้ำได้ดีและถูกแสงสว่างทำลายได้ง่าย และวิตามิน บี 3 ในปริมาณเฉลี่ย 0.04 – 0.1 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เนื่องจากวิตามิน บี 3 ทนความร้อนและแสงสว่างได้ดีกว่า พบน้ำตาล 3 ชนิด ประกบด้วย กลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ในปริมาณเฉลี่ย 1.28 – 2.61 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และพบฮอร์โมนเอสตราไดออล (estradiol) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเอสโตรเจน (estrogen) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณน้อยกว่า 1.0 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร และเทสโทสเตอโรน (testosterone) น้อยกว่า 0.2 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สำหรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) พบอยู่ในช่วง 4.9 – 5.4 และตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมี กำจัดศัตรูพืชทุกตัวอย่าง” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว         จากการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าน้ำมะพร้าวมีแร่ธาตุและเกลือแร่ในปริมาณสูง ส่วนน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ที่พบในน้ำมะพร้าวสด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยพบว่า น้ำมะพร้าวสดจะมีกลูโคสสูงกว่าน้ำตาลชนิดอื่น (ประมาณร้อยละ 50 ของน้ำตาลทั้งหมด) และปริมาณน้ำตาลจะขึ้นอยู่กับอายุของลูกมะพร้าว โดยมะพร้าวอ่อน จะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่ามะพร้าวแก่ ส่วนน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิทจะมีซูโครสสูง อาจเพราะมีการเติมน้ำตาลทรายในกระบวนการผลิตเพื่อปรุงแต่งรสชาติหรือเพิ่มความหวาน การบริโภคน้ำมะพร้าว 1 ผลหรือ 1 ขวด (ประมาณ 200 – 300 มิลลิลิตร) จะได้รับน้ำตาล 7-25 กรัม ซึ่งกรมอนามัยได้แนะนำว่า ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 32 กรัมต่อวัน ดังนั้น การบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1 ผลต่อวัน จะช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี         “น้ำมะพร้าวจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไตเสื่อม เพราะน้ำมะพร้าวจะไปกระตุ้นการขับปัสสาวะ ถ้าร่างกายขาดน้ำ คนที่เป็นโรคไตอาจจะหัวใจวายได้ และคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไป อาจสร้างปัญหาให้หัวใจ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม” นพ.ศุภกิจ กล่าว ศาลปกครองรับคำฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรณี กขค.         ศาลปกครองมีคำสั่งลงวันที่ 22 มีนาคม 2564 รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 36 องค์กรผู้บริโภค รวมถึงผู้บริโภคจากทั่วประเทศ กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์จำกัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จำกัด ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย        โดยที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้พิจารณาโดยเร่งด่วน และสั่งให้ทำคำชี้แจง รวมถึงส่งเอกสารประกอบว่า​ หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือระงับตามคำสั่งทางปกครองในเหตุพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน​นั้นจะเกิดความเสียหายและยากแก่การเยียวยาแก้ไขอย่างไร​         ทั้งนี้ ศาลได้เรียกบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัดเข้ามาเป็นคู่กรณีฝ่ายที่สาม โดยกำหนดให้บริษัท ซี.พี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดเป็นผู้ร้องสอดที่ 1 และบริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 (ซึ่ง บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564         ส่วนในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น ศาลขอให้ผู้ฟ้องจัดทำคำชี้แจง พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน หลังจากที่ได้รับหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง

        ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง         จากกรณีองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ (PETA) ออกมาให้ข้อมูลและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ถอดผลิตภัณฑ์ที่มาจากมะพร้าวของประเทศไทยออกจากชั้นวางจำหน่าย โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการผลิตมีการทารุณกรรมสัตว์ ด้วยการใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว” ซึ่งเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ได้รับทราบจากที่ประชุม “ความร่วมมือในการแก้ปัญหามะพร้าวและกะทิ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพราะได้มีการอภิปรายและนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมะพร้าวและกะทิ อย่างกว้างขวาง          ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” ขอหยิบยกบางช่วงบางตอนของเวทีดังกล่าวมานำเสนอให้ผู้อ่านรับทราบและพิจารณาไปด้วยกัน แน่นอนว่าปัญหาเกี่ยวกับมะพร้าวของไทยนั้นยังมีอีกมาก นอกเหนือไปจากกรณีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพียงอย่างเดียว โดยขอแยกเป็นประเด็นๆ คือ         ปัญหาลิงเก็บมะพร้าว         เรื่องนี้ “ตัวแทนผู้ประกอบการ” ระบุว่า ทางยุโรปมองว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมานสัตว์ แม้ว่าทางผู้ผลิตจะพยายามส่งหนังสือชี้แจงว่า นี่คือวัฒนธรรม และที่สำคัญลิงเหล่านี้ได้รับการดูแลเสมือนสมาชิกในครอบครัว  อีกทั้งมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บจะจำหน่ายเฉพาะในประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีการส่งออก แต่ทางยุโรปยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และนำมาสู่การเคลื่อนไหวถอดกะทิกล่องออกจากชั้นวางจำหน่ายในประเทศอังกฤษ         ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ และนายพรชัย เขียวขำ เกษตรกรจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2550-2555  ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด 1.5 ล้านไร่ แต่ก็พบว่าลดเหลือ 1.3 ล้านไร่ ในปี 2557-2562 ต่อมาเมื่อกลางปี 2562 พบว่าเหลือพื้นที่ปลูกมะพร้าว 1.2 ล้านไร่ ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งว่าในปี 2563พื้นที่ปลูกมะพร้าวเหลือเพียง 7.6 แสนไร่ เท่ากับว่าลดลงไป 40% ภายในปีเดียว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการสำรวจผิดพลาดหรือไม่          คุณจินตนา แก้วขาว ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่จริงพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวไม่ได้ลดลง แต่วิธีการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยจะให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำเอกสารไปให้เกษตรกรกรอกข้อมูล แต่บางครั้งเกษตรกรอกข้อมูลไม่เป็น ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเซ็นชื่อและทำแบบประเมินนั้นเอง ทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง สาเหตุที่พบพื้นที่ลดลงเพราะ 1.มีการครอบครองสวนบนที่ดินที่ไม่ถูกต้อง เช่น ที่ สปก. จึงไม่กรอกตามจริง 2.ไม่ยอมแจ้งเพราะครอบครองเยอะ 3. ไม่แจ้งเพราะกลัวเสียภาษี เป็นต้น ดังนั้นจึงคิดว่า สศก.ต้องทำประเด็นนี้ให้ชัดเจน ตรงกัน           ต้นทุนการปลูกมะพร้าวของเกษตรกรคือ 5 บาท หรือ 8 บาท         คุณนุกูล ลูกอินทร์ ตัวแทนเกษตรกรแปลงใหญ่อำเภอทับสะแก ระบุว่าตามหลักของ สศก. เมื่อปี 2562 ได้จัดทำต้นทุนมะพร้าวอยู่ที่ 6.80 บาท บวกเพิ่มอีก 2 บาท รวมเป็น 8-9 บาท พร้อมตั้งคำถามว่ากำไร 20% ของต้นทุน ช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าหากมีพื้นที่ปลูกเยอะอาจจะอยู่ได้ แต่เกษตรกรที่ปลูกเพียง 10-50 ไร่ อาจจะลำบาก เพราะในทางปฏิบัติ เกษตรกรจะขายมะพร้าวประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ถ้าคิดอัตราขายที่ 20 % จากต้นทุนเดือนละครั้งเท่ากับว่ามีรายได้น้อยมาก ยกตัวอย่างมะพร้าว 1 ลูก ต้นทุน 8 บาท ขายได้ 10 บาท กำไร 2 บาท ถ้าขายมะพร้าว 1,000 ลูก ก็ได้กำไรแค่ 2,000 บาทต่อเดือน         เพราะฉะนั้นจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าถ้าโรงงานซื้อมะพร้าวขาวประกันราคาต่ำสุดไม่ต่ำกว่า 12 บาทต่อลูก ประมาณ 2 ลูกต่อ 1 กิโลกรัม โรงงานต้องรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 24 บาท แต่ปัญหาในปัจจุบันคือองค์กรของรัฐไม่สามารถเชื่อมหรือบริหารจัดการนำเข้าและของที่มีอยู่ในประเทศเพื่อให้ทั้งหมดอยู่ในราคา 12-15 บาททั้งนี้ ตามที่สศก.ระบุว่าบวกเพิ่มต้นทุน 20% แต่ถ้ากำหนดต้นทุนราคาอยู่ที่ 5 บาท เกษตรกรอยู่ไม่ได้ เพราะแต่ละที่มีต้นทุนแรกต่างกัน เช่น มะพร้าวทับสะแกมีต้นทุน 9 บาท แพงกว่าบางสะพานที่มีต้นทุน 7 บาท เมื่อคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัด จะอยู่ที่ 5 บาท ซึ่งตัวเลขนี้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ราคาที่อยู่ได้ควรเป็น 7 บาท ดังนั้นการคิดราคาต้นทุนจะใช้วิธีคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัดไม่ได้         ปัญหาการผูกขาดการรับซื้อมะพร้าวโดยพ่อค้าคนกลาง         คุณนุกูล ยังบอกอีกว่า จากการหารือกันของกลุ่มเกษตรกรยุคใหม่ ยังมีความกังวลว่ามะพร้าวคุณภาพที่ผลิตออกมานั้นจะนำไปขายให้ใครได้บ้าง จะมีโอกาสขายตรงกับโรงงานโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือ “อรหันต์” ได้หรือไม่ เพราะถูกกดราคา หรือการขายให้ “ล้ง” ก็ทำให้เกิดการเหลื่อมราคาตลาด ดังนั้นจึงจะมีทางใดหรือไม่ที่เกษตรกรจะขายมะพร้าวให้โรงงานได้โดยตรง และโรงงานสามารถประกาศราคาหน้าโรงงานให้ทราบได้หรือไม่         “ยืนยันว่ากลุ่มเกษตรกรที่ต่อสู้เรื่องราคามะพร้าว ยืนยันไม่ได้สู้เพื่อผลประโยชน์ของราคา เพราะหากราคาสูงเราก็หยุด เราต้องการสู้ว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดการแก้ไขในทุกมิติ หาทางออกร่วมกัน โรงงานกะทิก็อยู่ได้ เกษตรกรก็อยู่ได้”         ปัญหาการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ         ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันวิจัยโภชนาการ ระบุว่า จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตมะพร้าวประมาณ 9 แสนตัน ในขณะที่ความต้องการของตลาดอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน เท่ากับว่ายังขาดอยู่ประมาณ 2 แสนตัน แต่จากข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ทำให้ไม่เชื่อมั่นในตัวเลขของภาครัฐ เช่น ชี้แจงตัวเลขนำเข้าน้ำกะทิแช่แข็งว่า ปี 2560 นำเข้า 53 ล้านลิตร และปี 2561 นำเข้า 49 ล้านลิตร         อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่ามะพร้าวที่นำเข้าจากอินโดนีเซียนั้นมีลักษณะข้น ไม่มีไขมัน เมื่อทำเป็นกะทิแล้วถูกตำหนิว่ามีการเติมแป้งลงไปเยอะ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการเติมแป้งแต่อย่างใด  ส่วนที่มีการนำเข้ากะทิสำเร็จรูปจากประเทศเวียดนาม ในรูปแบบของกะทิพาสเจอร์ไรซ์ ก็พบว่าคุณภาพไม่ผ่านตามมาตรฐาน         “มะพร้าวทับสะแก ทำเป็นกะทิดีที่สุดในแง่ของคุณภาพ ความหอม มัน จึงเป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตกะทิ ไม่มีใครอยากได้มะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะควบคุมคุณภาพยาก เสี่ยงเจอปัญหาแมลงหนอนหัวดำ ซึ่งคาดว่ามาจากเวียดนาม”          “กะทิ 100 % คือ กะทิที่มีไขมัน 17 %”         ศ.ดร.วิสิฐ ย้ำว่า ปัจจุบันกะทิกล่องที่จำหน่ายในประเทศไทยจะมีฉลากระบุ “กะทิ 100 %” ส่วนที่ส่งออกนั้นไม่ได้ระบุข้อความดังกล่าว มีเพียงคำว่า “Coconut Extract” คือการสกัดโดยที่ไม่เติมน้ำ และมีการเติมน้ำภายหลัง         ทั้งนี้การผลิตกะทิไทยจะอิงตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ที่กำหนดว่า กะทิ (Coconut Milk) ต้องมีไขมัน 10-17 % ซึ่งผู้ผลิตควบคุมมาตรฐานไขมันอยู่ที่ 17% ดังนั้นจึงสามารถระบุในฉลากได้ว่าเป็น กะทิ 100% ส่วนหัวกะทิ (Coconut Cream) ต้องมีไขมันไม่น้อยกว่า 20% อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปถ้าเขียนว่ากะทิ 100% คือมีไขมัน 17% นั้น แต่ถ้าเอามาคั้นดิบๆ โดยที่ไม่เติมน้ำจะมีไขมันประมาณ 32% บริษัทก็ใช้เป็นตัวคำนวณ และเป็นวิธีการที่เขียนบนฉลากในการส่งออก         อย่างไรก็ตาม การผลิตกะทิมีหลายสูตร มีทั้งเติม และไม่เติมอะไรลงไปเพิ่ม เช่น เติมน้ำมันมะพร้าวอาจจะมีปัญหาความไม่อร่อย หรือเติมอย่างอื่น เมื่อนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงจะทำให้กะทิมีลักษณะเหมือนเต้าหู้ หรือการเติมสารเพื่อให้กะทิเนื้อเนียน เมื่อนำไปทำกับข้าวกะทิจะไม่แยกชั้น เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายแล้วหากผสมอะไรลงไป ต้องระบุในฉลากด้วย หากไม่ได้ระบุไว้ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เช่น กะทิ UHT หากไม่ได้เติมสารอะไรลงไปเมื่อใส่ไว้ในตู้แช่แข็งกะทิจะแยกชั้นเป็นก้อน หากมีการเติมสารลงไปกะทิจะมีเนื้อเนียนเช่นเดิม อย่างไรก็ตามกะทิที่ส่งต่างประเทศโดยเฉพาะเมืองหนาวจะมีการเติมสารเพื่อให้กะทิคงสภาพเนื้อเนียนไม่แยกชั้น          โจทย์ในอนาคตของกะทิ          ศ.ดร. วิสิฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาด “กะทิ” มีการแข่งขันรุนแรงขึ้น จึงมีการกำหนดข้อห้ามตามมาเยอะ เช่น ในยุโรปกำหนดห้ามใช้คลอรีน เพราะมีสารไนคลอเรทที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้นหากมะพร้าวไทยยังมีการแช่คลอรีน หรือแช่น้ำแข็งในมะพร้าวขาว อาจจะเจอปัญหานี้ได้อีกในอนาคต         มีการวิจัยที่โรงงานว่า ถ้าทิ้งมะพร้าวไว้ให้แห้ง 8 ชั่วโมง โดยไม่แช่น้ำเลยก่อนนำมาคั้น จะทำให้ได้กะทิคุณภาพดีมาก ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันได้และมีระบบบริหารจัดการความสะอาดโดยที่ไม่ต้องแช่น้ำ เวลาส่งก็ไม่ต้องแช่น้ำแข็ง น่าจะช่วยเพิ่มราคามะพร้าวให้มากขึ้นตามคุณภาพ เพราะต้องยอมรับว่าการแช่น้ำทำให้น้ำหนักมะพร้าวมากขึ้น          กะทิกับคลอเรสเตอรอล         นอกจากนี้ “ศ.ดร.วิสิฐ” ยังให้ข้อมูลด้านโภชนาการด้วยว่า มีการศึกษาวิจัยให้คนกินกะทิ คือ กินไขมันจากมะพร้าวติดต่อกัน 6 เดือน เทียบกับการกินน้ำมันถั่วเหลืองในระยะเวลาเท่ากัน พบว่ามีปริมาณคอเรสเตอรอลเท่ากัน  ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามเสนอต่อองค์การอนามัยโลกว่าในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องไขมันอิ่มตัวไม่ควรรวมไขมันจากมะพร้าวเข้าไปด้วย แต่ทางองค์การอนามัยโลกยังปฏิเสธไม่ให้เข้าพบเพื่อส่งรายงานดังกล่าว ดังนั้นขณะนี้ จึงมีความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่าการกินอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบไม่ได้มีผลต่อระดับคอเรสเตอรอลแต่อย่างใด        ด้าน ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ อาจารย์สถาบันวิจัยโภชนาการ ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ ระบุว่าไขมันเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม           ขณะที่ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า มีคนจำนวนมากถูกห้ามไม่ให้กินกะทิ และมีความเชื่อว่ากะทิทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกะทิถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวเป็นตัวที่ไปเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เมื่อวิเคราะห์ลงลึก บวกกับงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวที่อาจปัญหานั้นเกิดขึ้นเฉพาะเนื้อแดง คือ เนื้อหมู เนื้อวัว และไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการกินน้ำมันมะพร้าวทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามอาจจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ         คณะกรรมการพืชน้ำมัน         อาจารย์ปานเทพ กล่าวถึงประเด็นคณะกรรมการพืชน้ำมันว่าทำอย่างไรให้มีตัวแทนเกษตรกรซึ่งเป็นคนที่รู้ปัญหาจริงๆ เข้าไปร่วมเป็นกรรมการ เพื่อจะได้เสนอปัญหาของเกษตรกร ที่ผ่านมา “ตัวแทนเกษตรกร” นั้นเป็นตัวแทนของนักการเมือง หรือ ตัวแทนโรงกะทิ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ไม่พูดคุย ไม่มีการนำเสนอประเด็นปัญหาของเกษตรกรเพื่อการแก้ไขอย่างถูกจุด         “เราต่อสู้เรื่องหนอนหัวดำ เจาะต้น ฉีดยา เรามีมติของกลุ่มคนในกลุ่มของเราที่ไปเรียกร้อง ห้ามไปรับจ้างเจาะ ห้ามรับจ้างฉีด ทำอย่างไรให้มีการฟังเสียงเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวอย่างเป็นระบบ”         ต่อประเด็นนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี บอกว่าตนไม่เห็นด้วยในการจัดมะพร้าวอยู่ในกลุ่มพืชน้ำมัน เพราะมะพร้าวมีคุณค่ามากกว่านั้น มะพร้าวเป็นวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น และมีผลในเชิงนิเวศน์มาก  ในขณะที่พืชน้ำมันคือพืชที่เอาไปใช้เป็นพลังงานใช้เป็นอาหารผัด ทอด แต่มะพร้าวไม่ใช่ เป็นพืชนิเวศน์เชิงวัฒนธรรมที่มีคุณค่าเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นอนาคตสำหรับประเทศเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และนิเวศน์การท่องเที่ยว มีคุณค่าทางวัฒนธรรม คุณค่ามันคนละเรื่องเลยกับพืชน้ำมันอื่นๆ          ทางออกเกษตรกร         คุณวิฑูรย์ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหลายเรื่องมาจากหน่วยงานของรัฐกับนักการเมือง การกำหนดมาตรฐาน อย่างเรื่อง GI  เรื่องของการตรวจรับรองมาตรฐานล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับบทบาทของหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น ซึ่งบางครั้งการรับรองมาตรฐานของไทยก็ไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งตามมาตรฐานของไทยจะใช้คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” แต่คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” ก็ไม่ถูกยอมรับจากต่างประเทศ ทำให้ส่งออกไม่ได้ ดังนั้นชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์จึงใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กับ IFOAM แต่ก็มีปัญหาเรื่องเงินสนับสนุนที่รัฐจะให้ 1,500 บาทต่อไร่ หรือ 2,000 ต่อไร่ หรือถ้าไม่ใช้ “ออร์แกนิกไทยแลนด์” รัฐก็จะไม่จ่ายค่าตรวจรับรองให้ แต่ถ้าใช้ก็มีเงินให้ แปลงละประมาณ 7,000 – 10,000 กว่าบาท         “หน่วยงานรัฐสามารถทำให้เกิดความวุ่นวายได้ทั้งสิ้น เราต้องจัดการปัญหาเรื่องหน่วยงานของรัฐที่เป็นอุปสรรคให้มาเกื้อกูลเกษตรกรให้ได้ คนของรัฐอยู่ภายใต้นักการเมือง ต้องต่อรองกับนักการเมืองและหน่วยงานราชการไปพร้อมกัน เกษตรกรต้องมีเครือข่ายความร่วมมือเป็นพื้นฐาน ถ้าขาดตรงนี้ไปลำบากทุกเรื่อง”         อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ยังให้ความเห็นในประเด็นนี้ด้วยว่า เราน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าราคาต้นทุนที่รัฐกำหนดในปัจจุบันนั้นไม่สะท้อนความเป็นจริง จะต้องทบทวนใหม่ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องปรับตัว รวมกลุ่มทำเกษตรที่ได้มาตรฐาน และมีตัวแทนเข้าไปร่วมอยู่ในกลไกต่างๆ โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจของใคร ต้องเจรจาสื่อสารระหว่างเกษตรกรกับโรงงานที่รับซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวให้มากขึ้นและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ “มะพร้าวออร์แกนิก” ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ควรมีการรวมกลุ่มกันและค่อยๆ สื่อสารให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมเอง และหากมีการทำการตลาดดีๆ ก็มีโอกาสที่จะขายได้ในราคาที่ดีต่อไป            ทางออกของผู้บริโภค                 ปัจจุบันองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกมีการรณรงค์เรื่องการเป็นผู้บริโภคที่ยั่งยืน โดยรู้แหล่งที่มาของอาหาร ลดการขนส่ง เป็นต้น ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องการให้บริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงฉลากผลิตภัณฑ์ โดยระบุให้ชัดเจนว่า “น้ำกะทิ” หรือ “หัวกะทิ” แทนการระบุว่า “กะทิ 100% Product of Thailand” แต่ยังคงระบุแหล่งที่มาว่าเป็นมะพร้าว เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและมีบทบาทในการสนับสนุนสินค้าที่ทำให้เกิดความมั่นคงและอธิปไตยในการผลิตอาหาร         รวมทั้งการบริโภคที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย การหาช่องทางทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ชัดเจน ผู้ประกอบการจะมีความรับผิดชอบต่อเกษตรกรอย่างไร เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันในอนาคตรวมทั้งผู้บริโภคด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

“ฉลาดซื้อ” เผยผลตรวจ สารกันบูดในกะทิ พร้อมแนะรัฐฯ ออกมาตรฐานกะทิ และแก้ปัญหามะพร้าวราคาถูกอย่างยั่งยืน

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลตรวจ สารกันบูดในกะทิปลอดภัย เตือนผู้บริโภคต้องตกอยู่ในความเสี่ยงหากบริโภคอาหารสะดวกซื้อ พร้อมแนะรัฐฯ ออกมาตรฐานกะทิเพราะเป็นอาหารคู่ครัวไทย และแก้ปัญหามะพร้าวราคาถูกอย่างเป็นระบบและยั่งยืน         จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนจากชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่ากะทิสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดนั้นไม่ใช่กะทิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ดังนั้น ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูป 3 แบบ คือ กะทิยูเอชที, กะทิพาสเจอร์ไรซ์ ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และ กะทิคั้นสด จากตลาดในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเปรียบเทียบปริมาณกรดไขมัน วัตถุกันเสีย (ซอร์บิก, เบนโซอิก) และสารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) รวมทั้งหมด 11 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) กะทิแท้ 100% ชาวเกาะ, 2) กะทิสูตรหัวกะทิ ชาวเกาะ, 3) กะทิแท้ พร้าวหอม, 4) กะทิ 100% อัมพวา, 5) กะทิแท้ 100% รอยไทย, 6) กะทิ 100% เรียลไทย, 7) กะทิ เอโร่, 8) กะทิ 100% หัวกะทิ อร่อย-ดี, 9) ร้านกะทิสด จากตลาดคลองเตย, 10) กะทิพาสเจอร์ไรส์ ชาวเกาะ (บรรจุถุง) และ 11) กะทิสำเร็จรูป (บรรจุถุง) สมุย        ผลการวิเคราะห์แบ่งเป็น กะทิยูเอชที, กะทิพาสเจอร์ไรซ์ และกะทิสด         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ กองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ข้อสังเกตจากผลวิเคราะห์น้ำกะทิ  11 ตัวอย่าง พบว่า          ปริมาณสารกันเสีย (กรดเบนโซอิก : ปริมาณที่อนุญาตให้มีได้ในผลิตภัณฑ์ประเภทอิมัลชั่น 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) มีการตรวจพบใน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) กะทิพาสเจอร์ไรส์ ชาวเกาะ (บรรจุถุง) 776.62 มก./กก., 2) กะทิสำเร็จรูป (บรรจุถุง) สมุย 804.24 มก./กก. 3) กะทิสดจากร้านในตลาดคลองเตย ในปริมาณ325.09 มก./กก. และ 4) กะทิ 100% หัวกะทิ อร่อย-ดี (AROY-D) ที่ระบุในฉลากว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่พบปริมาณสารกันเสีย 2.19 มก./กก.        ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ากะทิสดที่สุ่มเก็บตัวอย่างจากตลาดคลองเตยนั้น ตรวจพบวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกปริมาณ 325.09 มก./กก.         กรดไขมัน : จากผลการวิเคราะห์ปริมาณกรดไขมันพบว่า ปริมาณกรดไขมันที่พบในน้ำกะทิ จากตลาดคลองเตย มีปริมาณสูงที่สุดในทุกชนิดกรดไขมันที่ตรวจพบ (กราฟเส้นสีน้ำเงินในรูป) โดยกรดไขมันที่พบมากที่สุดคือ Lauric acid ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวชนิดหนึ่งที่อยู่ในน้ำกะทิตามธรรมชาติ        ดร.แก้ว กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า อาหารสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไปนั้น ผู้บริโภคต้องยอมรับความเสี่ยง เพราะความสะดวกนั้นมากับพร้อมความเสี่ยงและการได้รับความอร่อยที่ลดลง อีกทั้งทุกวันนี้กระบวนการผลิตอาหารมักใช้วัตถุเจือปนอาหาร และใช้กระบวนการผ่านความร้อนที่ทำให้ความหอมและรสอร่อยของอาหารลดลง เช่น กะทิ เมื่อนำมาผ่านความร้อนบรรจุลงกล่องหรือขวด จะมีคุณภาพลดลงไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เก็บอาหารนั้น จะสังเกตว่าเมื่อเราจะนำกะทิสำเร็จรูปมาปรุงอาหาร ในส่วนคุณภาพของกะทิ เช่น ความหอมและรสชาติจะถูกลดทอนไปมากแล้ว          “ผมคิดว่ากะทิเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในส่วนผสมของอาหารไทยเกือบทุกเมนู ฉะนั้นจึงเสนอให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เห็นถึงความสำคัญของอาหารประเภทกะทิ เร่งออกมาตรฐานคุณภาพของกะทิในบ้านเรา เพื่อทำให้กะทิของไทยมีคุณภาพดี รสชาติเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมการใช้มะพร้าวภายในประเทศในการผลิตอีกด้วย” ดร.แก้วกล่าว         ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมคนญี่ปุ่นต้องกินข้าวจากดินในประเทศญี่ปุ่น ผู้บริโภคไทยก็เช่นเดียวกัน เวลาเราใช้น้ำกะทิหรือกินแกงกะทิ เราต้องการข้อมูลที่จะบอกเราว่า กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์กล่องนี้ทำมาจากมะพร้าวที่มาจากไหน ในประเทศ หรือต่างประเทศใช้สารเคมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อลดการขนส่ง ลดการนำเข้า ลดการใช้พลังงานในการบริโภค โดยมีเป้าหมายในการเป็นผู้บริโภคที่ดี บริโภคอย่างยั่งยืน          “ในส่วนของฉลากบรรจุภัณฑ์ของกะทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรให้ผู้ผลิตระบุด้วยว่าใช้มะพร้าวจากในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อระบุแหล่งที่มาของอาหารและเพื่อให้ผู้บริโภคมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหาร สนับสนุนเกษตรกร รวมถึงสร้างทางเลือกสำหรับผู้บริโภคด้วย” นางสาวสารีกล่าว         ในส่วนของราคามะพร้าวที่ผู้ประกอบการรับซื้อจากชาวสวนนั้น หากยอมรับในคุณภาพของมะพร้าวในประเทศ ทุกฝ่ายต่างต้องการราคาที่เป็นธรรม การรับซื้อตรงจากเกษตรกร น่าจะทำให้เกษตรกรได้ราคาเพิ่มขึ้น หากเราคิดและยอมรับว่า เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณต่อผู้บริโภค เกษตรกรทำงานหนัก สินค้าเกษตรมีราคาถูกเกินไปจนเกษตรกรไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ การกำหนดราคาสินค้าจึงต้องมีราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่เกษตรกรขายสินค้าในราคาถูก ซึ่งเป็นปัญหาดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่จนถึงวันนี้ รัฐควรมีการแก้ปัญหา ควรมีข้อมูลปริมาณผลผลิตในประเทศที่ชัดเจน ทันสมัย เปิดเผย การส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง หรือรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรให้ชัดเจน ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือมุ่งไปสู่การเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไปด้วย          ส่วน นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มาจากการพูดคุยของตัวแทนเครือข่ายมะพร้าวกับผู้ประกอบการทำให้ได้รับทราบว่ากะทิกล่อง 100 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยมีการผสมน้ำมันแบะแซผสมลงไปด้วย ซึ่งน่าจะผิดกฎหมายที่อ้างว่า กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์ใช่หรือไม่ จึงได้นำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อทำการทดสอบ         “ผมคิดว่าบ้านเรามีมะพร้าวจำนวนมากและมีมะพร้าวคุณภาพดี แต่ขณะที่ผู้บริโภคในประเทศไม่ได้บริโภคมะพร้าวที่มีคุณภาพดี แต่กลับต้องไปบริโภคมะพร้าวนำเข้า ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคก็ได้ นอกจากนี้ ผมอยากเห็นการทำกะทิจากมะพร้าวที่สามารถปลูกได้ในประเทศไทยเพื่อทำให้ผู้บริโภคได้รับกะทิที่มีคุณภาพ มีน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณค่า แล้วราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย อีกทั้งยังช่วยจำกัดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้เท่าทันน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

      น้ำมันมะพร้าวเป็นที่รู้จักกันมานานในหมู่คนไทยและต่างประเทศ แต่น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น หรือบีบเย็น หรือบริสุทธิ์นั้น เพิ่งเป็นที่รู้จักกันไม่กี่ปีมานี้ และกลายเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นิยมอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีข้อถกเถียงกันอย่างมากว่า ไม่เป็นอันตราย ลดความอ้วน ลดไขมันได้จริงหรือ เรามารู้เท่าทันกันเถอะน้ำมันมะพร้าวบีบเย็นหรือบริสุทธิ์คืออะไร   น้ำมันมะพร้าวบีบเย็นเป็นน้ำมันที่สกัดจากเนื้อมะพร้าวโดยไม่ใช้ความร้อน เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลกเมื่อเทียบกับน้ำมันมะพร้าวธรรมดา กระบวนการผลิตห้ามการสัมผัสหรือถูกความร้อนเลย วัตถุดิบโดยเฉพาะเนื้อมะพร้าวหรือน้ำกะทิต้องไม่โดนแสงแดดหรือความร้อน   น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จึงมีรสชาติและกลิ่นดี เนื่องจากสกัดจากเนื้อมะพร้าวโดยตรงและไม่โดนความร้อน อุดมไปด้วยสารต่างๆ ตามธรรมชาติ ได้แก่ วิตามินอี และแร่ธาตุต่างๆ ที่ไม่สูญหายไปจากความร้อน การฟอกขาว การกรอง นอกจากนี้ น้ำมันมะพร้าวยังเป็นกรดไขมันที่มีห่วงโซ่ขนาดกลาง การโฆษณาสรรพคุณของน้ำมันมะพร้าวบีบเย็น   ในเว็บไซต์ทั้งไทยและต่างประเทศต่างโฆษณาสรรพคุณของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์อย่างมากมาย รักษาโรคต่างๆ จำนวนมาก  เช่น ช่วยให้สุขภาพดี หุ่นดี ช่วยระบบภูมิคุ้มกัน หัวใจแข็งแรง เพิ่มพลัง สดชื่น ไทรอยด์แข็งแรง ผิวดูอ่อนเยาว์ ผมเงางาม ฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา เพิ่มการสร้างอินซูลิน ช่วยระบบขับถ่าย ลดไขมันในเลือด รักษาอาการปวดกระดูก เป็นต้นน้ำมันมะพร้าวบีบเย็นมีสรรพคุณจริงตามอ้างหรือไม่    ประเด็นเรื่องน้ำมันมะพร้าวบีบเย็นเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ เนื่องจากดาราฮอลลีวูดดังๆ หลายคนออกมาเชิญชวนให้กินน้ำมันมะพร้าวบีบเย็น ทำให้สื่อทางทีวีและวิชาการต้องออกมาเล่นเรื่องเหล่านี้ ตั้งแต่ BBC, The Guardian เป็นต้น     เหตุที่มีข้อถกเถียงกันมากเป็นเพราะ น้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งไขมันอิ่มตัวจะทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ แต่เนื่องจากน้ำมันมะร้าวบริสุทธิ์เป็นไขมันที่มีห่วงโซ่ขนาดกลาง ซึ่งจะถูกย่อยและใช้งานแตกต่างจากไขมันอิ่มตัวทั่วไป จึงมีความเชื่อว่าไม่เพิ่มโคเลสเตอรอล แถมยังช่วยลดน้ำหนักอีกด้วย ในปี ค.ศ. 2003 มีการทำวิเคราะห์อภิมาณบทความกว่า 60 ชิ้น พบว่า กรดลอริคในน้ำมันมะพร้าวเพิ่ม HDL-C ซึ่งเป็นไขมันดี แต่ก็เพิ่ม LDL-C ซึ่งเป็นไขมันอันตราย เช่นเดียวกัน      ห้องสมุดคอเครน ทำการทบทวนวรรณกรรม 15 รายงาน ครอบคลุมผู้เข้าร่วมการวิจัยกว่า 59,000 ราย ในปีค.ศ. 2014 พบว่า เมื่อลดการกินไขมันอิ่มตัวลง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหลอดเลือดลงร้อยละ 17     สรุปได้ว่า น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จะเพิ่มไขมันในร่างกายทั้งไขมันดีและไขมันอันตราย จึงไม่สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ไม่ได้เป็นอาหารวิเศษตามที่ดาราโฆษณา แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวร้ายเสียทีเดียว เพราะน้ำมันมะพร้าวมีความแตกต่างจากไขมันอิ่มตัวทั่วไป ยังต้องมีการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ และระยะยาวเพื่อหาความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องนี้เราไม่ควรให้ความสำคัญกับการกินน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ น้ำมันมะกอก และน้ำมันต่างๆ เพียงเพื่อให้สุขภาพดี รักษาโรคต่างๆ  เราควรให้ความสำคัญกับการกินอาหารที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือแปรรูป วิธีการปรุงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดน้ำตาล ไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว อาหารแปรรูป  การใช้วิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพนับเป็นยาที่ดีที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 น้ำมันมะพร้าวสะกัดเย็น (อีกสักที)

นานมาแล้วเมื่อผู้เขียนยังไม่ทราบว่าในอนาคตคนไทยจะชอบใส่เสื้อสีซ้ำซาก ผู้เขียนเคยสังเกตว่า เมื่อสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านไปกัดกับสุนัขบ้านอื่น หรือเวลาเป็นขี้เรื้อนเนื่องจากไปสำส่อนนอกบ้านมา คุณตาของผู้เขียนใช้กำมะถันผสมกับน้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้ในตะเกียงที่จุดเวลาไฟฟ้าดับ (เป็นประจำในยุคกึ่งพุทธกาล) ทาที่แผลหรือตรงที่เป็นขี้เรื้อน ของสุนัข แผลเหล่านั้นก็หายดีภายในเวลาไม่นานนัก  น้ำมันมะพร้าวที่ผู้เขียนกล่าวถึง คือ น้ำมันมะพร้าวปรกติที่มีการนำมาใช้ในการทอดกล้วยแขก ซึ่งจะให้กลิ่นรสเฉพาะตัวที่ผู้เขียนคิดว่า กล้วยแขกสมัยก่อนหอมดีกว่าปัจจุบัน โดยที่ในสมัยนั้นผู้เขียนยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่า ทำไมน้ำมันมะพร้าวถึงมีสรรพคุณในการรักษาแผลได้  เพิ่งมาเริ่มเข้าใจเอาเมื่อเวลาผ่านไปถึง 50 กว่าปี จากการโฆษณาขายน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่มีการกล่าวถึง ไขมันชื่อ กรดลอริก (lauric acid) ซึ่งเป็นหนึ่งในไขมันอิ่มตัวขนาดกลาง (medium chain triglyceride หรือ MCT) ที่มีการอ้างถึงในเอกสารทั้งที่เป็นสิ่งตีพิมพ์และในเน็ตว่า ฆ่าเชื้อได้ดี  จากการที่ผู้เขียนเข้าไปหาความรู้ใน wikipedia.org ทำให้พบคำตอบว่า เป็นความจริง แต่ความเป็นจริงนั้นไม่น่าประหลาดใจสักเท่าไร เพราะกรดไขมันอีกหลายชนิดก็มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของจุลชีพได้ ตัวอย่างเช่น กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวขนาดเล็กได้จากผลดิบของพืชชื่อ rowans ซึ่งขึ้นในที่หนาวเช่น แถบเทือกเขาหิมาลัย ญี่ปุ่น ยุโรปและอเมริกาเหนือ กรดซอร์บิกนี้ใช้ป้องกันเชื้อราและยีสต์ในอาหาร ปัจจุบันมีการสังเคราะห์ในรูปเกลือโซเดียมและโปแตสเซียม ส่วนกรดลอริกนั้นกำลังมีการพิจารณาจะใช้ในอาหารเช่นกัน  ประเด็นที่น่าสนใจคือ ความสามารถในการฆ่าเชื้อได้ของกรดลอริกนั้น มีผู้แปลความว่ามันมีความสามารถเทียบได้กับภูมิต้านทานในนมเหลือง (Colostrum) ของแม่ลูกอ่อน เพราะในนมเหลืองของคนนั้นมีกรดชนิดนี้เป็นองค์ประกอบด้วย จึงทำให้มีคนเข้าใจว่าน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติเหมาะกับการเป็นสารเพิ่มภูมิต้านทานในเด็กด้วย ทั้งที่ความจริงแล้ว ถ้าแม่กินกรดลอริกไม่ว่าจากแหล่งอาหารใดก็ตาม เมื่อเข้าไปอยู่ในเลือดแล้ว โอกาสอยู่ในนมก็มีสูง นมคนนั้นใช้สารอาหารในเลือดเป็นวัตถุดิบในการสร้าง อะไรที่แม่กินลูกย่อมได้กินด้วย จนมีคนกล่าวว่า แม่ที่กินเผ็ดก็ทำให้ลูกที่กินนมแม่ได้สารเผ็ดด้วย (และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกมีผมบางเมื่อโต ประเด็นนี้ยังไม่มีการพิสูจน์นะครับ) หรือแม้แต่การวิเคราะห์นมแม่ในเมืองไทยก็มีการพบว่า สมัยที่เรามีการใช้ดีดีทีฆ่ายุงก้นปล่อง ก็สามารถพบสารนี้ได้ในนมแม่ สรุปแล้วการพบกรดลอริกในนมแม่ก็ไม่น่าประหลาดอะไร ถ้าแม่กินแกงกะทิต่างๆ ก่อนให้นมลูก ดังนั้นการโฆษณาคุณประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเรื่องการฆ่าเชื้อโรคนั้น ต้องทำเข้าใจกันให้ดีหน่อย เพราะมีการแนะนำให้นำมาใช้ในการกลั้วปาก ซึ่งก็คงเป็นจริงอย่างมีโฆษณา ถ้าผู้ใช้คิดว่ามัน เท่ห์ กว่าใช้น้ำละลายเกลือแกงกลั้วปากก่อนนอน เรื่องนี้ตังค์ใครตังค์มันครับ   กินน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแล้วไม่อ้วน? เรื่องที่ผู้เขียนถูกถามบ่อยมากเวลาไปบรรยายนอกสถานที่คือ “กินน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแล้วไม่อ้วนชิมิ เพราะไขมันขนาดกลางหรือ MCT นั้นเมื่อดูดซึมแล้วจะเข้าระบบเส้นเลือดไปตับทันที ไม่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นองค์ประกอบเฉพาะที่ต้องไปทางระบบน้ำเหลืองก่อนไปตับ....”   การที่ MCT ไปตับโดยตรงนั้นเป็นสาเหตุทำให้มันถูกใช้เผาผลาญเป็นพลังงานได้เร็วกว่าไขมันในน้ำมันพืชอื่น คำโฆษณานี้ก็......ถูกต้องแล้วคร้าบ.......... แต่มันผิดอย่างมหาศาลเลยที่บอกว่า “….เหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ผู้กินน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นไม่อ้วน…………”  ประเด็นกินไขมันแล้วจะไม่อ้วนนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยข้อแม้ต่อไปนี้คือ กินน้อย ๆ หรือ กินแล้วมีการใช้แรงงานในการทำงานสูงจนไขมันถูกนำไปใช้เป็นพลังงานหมด ไม่เหลือให้นำไปใช้สร้างเป็นไขมันต่าง ๆ สะสมในร่างกายซึ่งรวมถึงโคเลสเตอรอล ในเน็ตที่มีการโฆษณาถึงคุณสมบัติของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นนั้นใช้คำพูดดังนี้ “....แม้การลดความอ้วนด้วยวิธีควบคุมอาหารจะมีมากมาย แต่การกินน้ำมันมะพร้าวเพื่อลดน้ำหนัก คือกินไขมันเพื่อลดไขมัน ซึ่งเป็นวิธีการแบบหนามยอกต้องเอาหนามบ่งนี้ พบว่าจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ 4-5 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน………..” รายละเอียดนั้นท่านผู้อ่านคงหาอ่านได้ไม่ยากนัก  สำหรับผู้เขียนยังคงเป็นกบในกะลาที่อยู่ในวังวนของความรู้ที่เรียนมา และปัจจุบันกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณาสุขก็ยังแนะนำประชาชนว่า กินไขมันให้น้อย เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือถ้าต้องการความรู้นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาก็สามารถพบว่า กระทรวงด้านสุขภาพของอเมริกันมหามิตรยังคงแนะนำประชาชน ให้กินไขมันให้น้อยเท่าที่จะน้อยได้นะครับ โดยไม่เคยมีข้อมูลแนะนำให้กินน้ำมันเป็นช้อน ๆ เพื่อลดความอ้วนเลย  ในความรู้สึกของผู้เขียนแล้วตราบใดที่เรายังกินอาหารเหมือนคนธรรมดา โอกาสขาดไขมันนั้นไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นมังสวิรัติแบบเคร่ง ก็ยังกินถั่ว ซึ่งมีไขมันพอควร ดังนั้นการส่งเสริมการขายน้ำมันอะไรก็ตามที่อวดว่า กินแล้วไม่อ้วนหรือรักษาโรคนั้น มีผู้เจอดีมาแล้วในสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องขยายความ ในสหรัฐนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขายได้กว้างขวางกว่าในประเทศไทย แต่ US.FDA นั้นก็ดูแลอย่างเต็มที่ไม่ให้มีการโฆษณาที่เกี่ยวกับการรักษาโรค เพราะการรักษาโรคนั้นเป็นคุณสมบัติของยาเท่านั้น   เรื่องโกหกของน้ำมันมะพร้าว  ก่อนอื่นต้องเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นหรือ virgin coconut oil ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อยู่ใต้รัฐบัญญัติชื่อ Dietary Supplement Health and Education Act of 1994 (DSHEA)  น่าประหลาดที่รัฐบัญญัตินี้ไม่ได้ขึ้นกับ US.FDA แต่กลับอยู่ภายใต้ FTC หรือ Federal Trade Commission ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เหมือนมีหน้าที่คล้ายบางส่วนของกระทรวงพาณิชย์ผสมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของเรา ดังนั้น US.FDA จึงมีบทบาทแค่คอยจับตาดูเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นและหาทางฟ้องลงโทษสินค้าที่โฆษณาอวดอ้าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการรักษา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียน  สาเหตุที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในสังกัดของ อย. อเมริกานั้น Wikipedia.org กล่าวว่า “The DSHEA, passed in 1994, was the subject of lobbying efforts by the manufacturers of dietary supplements and restricted the ability of the FDA to exert authority over supplements so long as manufacturers made no claims about their products treating, preventing or curing diseases....” ที่เหลือนั้นท่านผู้อ่านไปอ่านได้เอง ถ้าท่านผู้อ่านเข้าใจในเรื่องของ lobbyist กับนักการเมืองในสหรัฐอเมริกาแล้ว ท่านอาจขนลุกในอิทธิพลของบริษัทขนาดยักษ์ของอเมริกัน ที่มีอิทธิพลทั่วดาวเคราะห์ที่เรียกว่า โลก ใบนี้ทีเดียว  จากเว็บไซต์ quackwatch.com ที่ควบคุมโดย นายแพทย์ Stephen Barrett มีข้อมูลน่าสนใจว่า FDA Orders Dr. Joseph Mercola to Stop Illegal Claims โดยมีข้อมูลเป็นจดหมายของ US.FDA ที่เตือนในปี 2005 ให้ดอกเตอร์เมอร์โคลาและสถานบริการชื่อ Optimal Wellness Center หยุดการโฆษณาที่ผิดกฎหมายของ FDA ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์และบนอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับสินค้าสามชนิดซึ่งหนึ่งในนั้นคือ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ข้อความโฆษณาดังกล่าวอ้างว่า สินค้าชนิดนี้ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ มีความสามารถในการต้านโรค Crohn's disease แก้อาการผิดปรกติของทางเดินอาหารและฆ่าเชื้อโรคติดต่อหลายชนิด การเตือนของ US.FDA ได้ทำซ้ำอีกครั้งในปี 2006 โดยใช้จดหมายออกจาก US.FDA โดยดูได้จากหัวกระดาษทั้งสองฉบับ ท่านผู้อ่านสามารถสืบค้นเพื่อดูตัวจดหมายที่เป็นภาพถ่ายได้ และจะเห็นได้ว่าในสหรัฐนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขายได้กว้างขวางกว่าในประเทศไทย แต่ US.FDA นั้นก็ดูแลอย่างเต็มที่ไม่ให้มีการโฆษณาที่เกี่ยวกับการรักษาโรค เพราะการรักษาโรคนั้นเป็นคุณสมบัติของยาเท่านั้น ซึ่งต่างจากในประเทศไทยที่การโฆษณาสินค้าประเภทนี้ดูไร้ขอบเขตจำกัด ท่านผู้อ่านสามารถหาข้อมูลและเปรียบเทียบได้จากอินเตอร์เน็ต และขอให้ใช้ กาลามสูตร ให้จงหนักในการเชื่อหรือไม่เชื่อในข้อมูลที่ปรากฏบนอินเตอร์เน็ทหรือหนังสือบางเล่มที่บูชาน้ำมันมะพร้าวว่า นำไปสู่ความมีสุขภาพดีถาวร  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 101 น้ำมันมะพร้าว….ประกายไฟในสมอง (ตอน 3)

รศ. ดร.แก้ว กังสดาลอำไพสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับนี้เป็นตอนจบที่เราจะยังวนเวียนอยู่ในหลุมน้ำมันมะพร้าวต่อไป เพื่อตรวจสอบว่าเกิดประกายไฟในสมองท่านผู้อ่านหรือยัง ในการตัดสินใจว่าควรกินน้ำมันนี้แบบผิดมนุษย์มนาต่อไปหรือไม่ จริงอยู่ที่ว่าคนบนเกาะนี้อ้วนเพราะเลิกกินน้ำมันมะพร้าวหันไปกินน้ำมันอื่นกันแต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าถ้าหากหันกลับมากินน้ำมันมะพร้าวและจะผอมได้ เพราะพฤติกรรมความเป็นอยู่แบบชาวเกาะได้เปลี่ยนไปเป็นแบบชาวผิวขาวเสียแล้ว ในเว็บ http://gotoknow.org/ มีบล็อกของ นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์ ซึ่งเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลห้างฉัตร จังหวัดลำปางได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวอย่างตรงไปตรงมาว่า โคเลสเตอรอลในร่างกายส่วนใหญ่ (70-80 %) สร้างขึ้นเองภายในร่างกาย ส่วนน้อยมาจากอาหาร โคเลสเตอรอลมีเฉพาะในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากพืชไม่มีโคเลสเตอรอลก็จริง ทว่า... ถ้าเรากินไขมันอิ่มตัวเข้าไปมากเกินจะทำให้ตับสร้างโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) เพิ่มขึ้น และอาจทำให้ตับสร้างโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลงได้ การควบคุมโคเลสเตอรอลด้วยอาหารจึงควรเน้นการลดไขมันอิ่มตัวเป็นอันดับแรก อันดับต่อไปให้ลดโคเลสเตอรอลจากสัตว์ เช่น อาหารทะเล(ยกเว้นปลาทะเล ปลิงทะเล) เครื่องในสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์มากเกิน เว็บ http://gotoknow.org/home นี้เป็นเว็บสุขภาพที่น่าสนใจเข้าไปชมครับ ผู้เขียนขอขยายความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการกินอาหารที่ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานหลัก คือ แป้งและไขมันต่อการสร้างโคเลสเตอรอลดังต่อไปนี้ เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า สารตั้งต้นของการสร้างโคเลสเตอรอลนั้นคือ อะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอ (acetylcoenzyme A) ซึ่งเป็นตัวกลางที่เกิดระหว่างการเผาผลาญแป้งและการเผาผลาญกรดไขมัน ดังนั้นเมื่อใดที่เรากินแป้งมากไป หรือไขมันมากไป อะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานไม่หมด ก็จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการสร้างโคเลสเตอรอลได้ ดังแผนภาพง่าย ๆ ดังนี้ รายละเอียดนั้นหาดูได้ในหนังสือชีวเคมีทั้งภาษาไทยและเทศ หรือจะเข้าไปดูที่ http://www.cholesterol-and-health.com/Synthesis-Of-Cholesterol.html ก็ย่อมได้ ความรู้ตรงนี้อธิบายความว่า การกล่าวว่าในน้ำมันมะพร้าวไม่มีโคเลสเตอรอลนั้น กินเข้าไปแล้วไม่อันตรายนั้น ไม่ถูกต้องแน่ เพราะพูดไม่จบ ดังที่ผู้ขายน้ำมันกล่าวว่า น้ำมันมะพร้าวกินเข้าไป กรดไขมันถูกใช้ง่ายมากนั้นถูกต้อง แต่ถ้ากินมากไป ต้องไม่ลืมว่า เมื่อร่างกายได้พลังงานพอแล้ว ตัวกลางระหว่างการใช้น้ำมันมะพร้าวในร่างกายคือ อะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอ นั้นจะเหลือค้างจนถูกเอาไปสร้างโคเลสเตอรอลได้ ดังนั้นถ้าเราไม่ระวังให้ดี โอกาสที่ระดับโคเลสเตอรอลจะขึ้นสูงก็มีได้ดังนั้นสิ่งที่ถูกต้องคือ ไม่ว่าจะกินน้ำมันหรือไขมันอะไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่เกินความ ต้องการของร่างกาย อันตรายย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะร่างกายสามารถใช้เป็นพลังงานได้ แต่เมื่อใดที่เหลือ ร่างกายจะนำไปสร้างสารชีวเคมีต่างๆ ที่ร่างกายต้องการเช่น โคเลสเตอรอล ฮอร์โมนเพศ ฯลฯข้อควรสังเกตคือ จากฉลาดซื้อฉบับที่แล้วผู้เขียนได้เกริ่นไว้ว่า กรดไขมันที่ได้จากไขมันนั้น ไม่ว่าจะอิ่มหรือไม่อิ่มตัว สามารถถูกนำไปใช้สร้างเป็นผนังเซลล์ได้ ดังนั้นถ้ากินไขมันไม่อิ่มตัวมากไป ผนังเซลล์จะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดออกซิเดชั่นได้อนุมูลอิสระ ดังนั้นผู้ที่กินน้ำมันพืชที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูงเช่น น้ำมันถั่ว น้ำมันงา น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด จำเป็นตัองกินสารต้านอนุมูลอิสระให้มากพอ ซึ่งไม่ยากที่จะหา เพราะมีในผักผลไม้สีเข้มต่างๆ ไม่จำเป็นต้องไปซื้ออาหารเสริมกินให้แพงและไม่อร่อย   ในเรื่องคุณสมบัติการป้องกันโรคหัวใจนั้น ผู้ขายน้ำมันมักบอกว่า “คนส่วนมากเข้าใจว่าน้ำมันมะพร้าวมีอันตรายต่อหัวใจ ทั้งที่ความจริงเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะน้ำมันชนิดนี้มี lauric acid ซึ่งป้องกันปัญหาของหัวใจรวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับปริมาณโคเลสเตอรอลและปัญหา ความดันโลหิตสูง ไขมันอิ่มตัวในน้ำมันมะพร้าวนั้นไม่ได้เป็นปัญหาร้ายแรงและไม่เป็นปัจจัยการเพิ่มไขมันไม่ดีคือ LDL นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวยังลดอาการตีบตันของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ” คำกล่าวของคนขายน้ำมันนั้นบอกเป็นนัยๆ ว่า ตำราและอายุรแพทย์รวมทั้งนักโภชนาการดัง ๆ ของโลกนั้นเข้าใจผิด เพราะไม่ว่าเว็บไหน ตำราเล่มไหน ก็บอกว่า ให้เลี่ยงไขมันอิ่มตัว ใครที่เชื่อคนขายน้ำมัน ก็ตัวใครตัวมันแล้วกันนะครับคนขายน้ำมันมักกล่าวต่ออีกว่า “ในการลดน้ำหนักนั้น น้ำมันมะพร้าวมีประโยชน์อย่างมากเพราะมีทั้งกรดไขมันสายสั้นและสายปานกลางที่ช่วยลดน้ำหนักตัว เนื่องจากย่อยง่ายและช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์ และระบบเอนไซม์ นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวยังเพิ่มการทำงานของร่างกายโดยลดความเครียดของตับอ่อนทำให้การเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น ซึ่งช่วยคนอ้วนให้ลดน้ำหนักได้ ดังที่ได้เห็นจากประชาชนในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรซึ่งกินน้ำมันมะพร้าวเป็นหลักไม่อ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน” ท่านผู้อ่านได้เห็นข้อความดังนี้แล้วต้องเป็นคนหูหนัก พยายามพิจารณาหรือหาข้อมูลอื่นมาประกอบ ทั้งนี้เพราะคนที่อยู่แถบเส้นศูนย์สูตรซึ่งกินน้ำมันมะพร้าวนั้นมักเป็นประเทศยากจน ต้องใช้แรงงานในการดำเนินชีวิต ดังนั้นโอกาสอ้วนจึงน้อยกว่าคนในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งใช้แรงงานประจำวันน้อยจะไปไหนที่ก็ใช้รถ ขอเสนอว่า ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนที่ใช้แรงน้อยในแต่ละวัน ลองกินน้ำมันมะพร้าวแบบไม่บันยะบันยังแล้วไม่อ้วนให้เห็นภายใน 1 ปี ท่านอาจถูกนำไปออกงานวัดภูเขาทองได้เลย เพราะกลายเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ไปแล้ว ทั้งนี้เพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับชาวเกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกในเว็บของ BBC ว่า ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรม ที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นสำคัญ และบางเกาะยังมีทรัพยากรธรรมชาติเช่น น้ำมันดิบ จึงทำให้วัฒนธรรมการกินและความเป็นอยู่เปลี่ยนไป ประเทศที่เป็นเกาะเหล่านี้บางประเทศจึงเป็น the fattest nation on earth. เช่น ประเทศ Nauru ซึ่งประชากรที่เป็นผู้ใหญ่อ้วนถึงร้อยละ 94

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 100 น้ำมันมะพร้าว….ประกายไฟในสมอง (ตอน 2)

ของฝากจากอินเตอร์เน็ตรศ. ดร.แก้ว กังสดาลอำไพสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลถ้าท่านผู้อ่านเข้าไปในเว็บขายน้ำมันมะพร้าวของคนไทย จะพบว่ามีนักวิชาการหลายคน ออกมากล่าวถึงข้อดีของน้ำมันมะพร้าวหลายประการ ซึ่งถ้ามองด้วยความเป็นธรรมแล้ว หลายๆ ประเด็นน่าจะมีความเป็นจริงอยู่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า หาคำยืนยันในข้อมูลดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการได้ยาก ตัวอย่างเช่น มีผู้กล่าวว่า “จากการศึกษาเรื่องนี้มา 30 ปี พบว่า แม้น้ำมันมะพร้าวจะประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว แต่มีกรดลอริกสูง และวิตามินอีที่มีอานุภาพสูง จึงมีบทบาทอย่างมากต่อสุขภาพ และความงามของมนุษย์ ไม่ว่าจะใช้บริโภคเป็นอาหาร หรือเป็นอาหารที่เป็นยา และการใช้ภายนอกโดยการถูตัวหรือ ชโลมผม เนื่องจากมีแคลอรีต่ำจึงให้พลังงานน้อยกว่าน้ำมันพืชอื่น ๆ มีโคเลสเตอรอลน้อยที่สุด กระตุ้นขบวนการเผาผลาญในร่างกาย ป้องกันการสะสมไขมันทำให้ไม่อ้วน มีสารปฏิชีวนะช่วยต่อต้านเชื้อโรค มีวิตามินอีช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ไม่หืนเมื่อเก็บไว้นานๆ เพิ่มคุณค่าอาหารโดยเพิ่มการดูดซึมวิตามิน เกลือแร่ และกรดอะมิโน ทำให้อาหารมีรสชาติอร่อย แม้น้ำมันมะพร้าวจะมีฤทธิ์เป็นยา แต่ไม่ใช่ยา ดังนั้นไม่ควรบริโภคเกินความจำเป็น อัตราที่แนะนำคือไม่เกินวันละ 3.5 ช้อนโต๊ะต่อวัน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรส่งเสริม และทำให้น้ำมันมะพร้าวเป็นสินค้าโอทอปเพราะมีประโยชน์” ประเด็นที่ได้ขีดเส้นใต้นั้น อ่านดูแล้ว น่าจะผิดแน่ ๆ เพราะในตำราชีวเคมีไม่ว่าเล่มไหนก็บอกว่า น้ำมันนั้น 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี ไม่เห็นมีเล่มไหน (ที่ใช้ในมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับว่ามีระดับ) กล่าวยกเว้นน้ำมันมะพร้าวในเรื่องการให้พลังงานเลย อีกทั้งการปรากฏตัวของโคเลสเตอรอลนั้นก็มีเฉพาะในไขมันที่มาจากสัตว์ เพียงแต่ว่าการกินไขมันมากเกินความต้องการของร่างกายนั้น ส่งผลให้ร่างกายนำไขมันที่เกินไปสร้างเป็นไขมันอื่นๆ รวมทั้งโคเลสเตอรอลได้ ดังนั้นไม่ว่ากินไขมันจากอะไรก็ตาม อ้วนได้ทั้งนั้น แล้วเพราะเหตุใดนักวิชาเกินเหล่านี้จึงยอมทำเรื่องผิดให้เหมือนถูกนี้ คำตอบน่าจะเป็นเพราะ เขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับชีวเคมีดีหรือเพราะว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นของถูก สามารถขายแพงได้กำไรดี อาจกล่าวได้ว่านักวิชาเกินพวกนี้ชอบเขียนความรู้ทางวิชาการไม่ครบ ซึ่งเป็นไปตามหลักการโฆษณาขายสินค้าที่มักบอกแต่สิ่งดีๆ ให้ผู้บริโภคสบายใจ สิ่งไหนไม่ดีเก็บไว้ให้คนขายเป็นทุกข์ฝ่ายเดียว ช่างใจบุญกระไรเช่นนี้ ผู้ขายน้ำมันมะพร้าวมักกล่าวว่า “ประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำมันมะพร้าวได้แก่ บำรุงผม รักษาผิวกาย ลดความเครียด รักษาระดับของโคเลสเตอรอลในร่างกาย ลดน้ำหนัก เพิ่มระดับภูมิต้านทาน ช่วยในการย่อยอาหารและการใช้สารอาหารให้เป็นประโยชน์ ลดปัญหาที่เกิดกับไต โรคหัวใจ ความดับโลหิตสูง เบาหวาน รักษาโรคเอดส์และมะเร็ง รักษาฟัน และบำรุงกระดูกให้แข็งแรง เหตุที่น้ำมันมะพร้าวดีได้ถึงเพียงนี้เป็นเพราะมันมี lauric acid, capric acid และ caprylic acid พร้อมทั้งมีสารต้านจุลชีพ สารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านเชื้อรา สารต้านแบคทีเรีย เป็นต้น”ร่างกายมนุษย์สามารถเปลี่ยน lauric acid ไปเป็น monolaurin จึงมีผู้เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้นี้สามารถต่อสู้กับไวรัสหลายชนิดเช่น herpes, influenza, cytomegalo virus, ตลอดจนสู้ HIV และสามารถสู้แบคทีเรียตัวร้ายหลายชนิดเช่น listeria monocytogenes และ heliobacter pylori แพทย์ ด้านอายุรเวชของอินเดีย (Ayuraveda) จึงเลือกน้ำมันมะพร้าวเป็นตัวยาสำคัญในการรักษาโรค อย่างไรก็ดี กลไกการออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ยังไม่เป็นที่ทราบดีนัก ความจริงที่ท่านผู้อ่านควรรู้ก็คือ กรดไขมันทุกชนิดก็ว่าได้ มีความสามารถในการป้องกันการเจริญของจุลชีพ ตัวอย่างเช่น กรดไขมันที่ชื่อ ซอร์บิก ได้ถูกนำมาใช้เป็นสารต้านเชื้อราในอาหาร อีกทั้งอาหารที่ผ่านการทอดและอมไขมันไว้ เช่น ไก่ทอด ทอดมันปลากราย หรือแม้แต่โรตี ก็สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าอาหารต้ม เพราะมันมีความชื้นต่ำและมีไขมันเป็นตัวป้องกันการเจริญของแบคทีเรีย คนขายน้ำมันมักกล่าวว่า “นักกรีฑาและนักเพาะกายนิยมบริโภคน้ำมันมะพร้าวเช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ระหว่างการจำกัดอาหาร ด้วยเหตุผลที่ว่า น้ำมันมะพร้าวมีพลังงานต่ำกว่าน้ำมันชนิดอื่น องค์ประกอบนั้นง่ายต่อการเปลี่ยนไปเป็นพลังงานทำให้ไม่เกิดการสะสมเป็นไขมันในหัวใจและเส้นเลือด น้ำมันมะพร้าวช่วยในการเร่งพลังงานออกมาใช้ในนักกีฬา และช่วยให้นักกีฬามีความอึดในเกมส์” จึงต้องขอย้ำว่า คนขายน้ำมันนั้นพยายามไม่บอกว่า ถ้ากินน้ำมันมากเกินพอ ส่วนเกินก็จะถูกนำไปสร้างเป็นไขมันใหม่ในร่างกายทำให้อ้วนได้ องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวนั้นกว่าร้อยละ 90 เป็นไขมันอิ่มตัว มีไขมันไม่อิ่มตัวเล็กน้อย กรดไขมันอิ่มตัวนั้นส่วนใหญ่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เรียกว่า medium chain triglycerides ซึ่งมีจำนวนคาร์บอน 6-12 ตัว โดยราวร้อยละ 40 เป็น lauric acid ตามด้วย capric acid, caprylic acid, myristic acid and palmitic ส่วนที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวคือ linoleic acid และมี กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวคือ oleic acid การมี medium chain triglycerides นั้นทำให้วงการอาหารการแพทย์เห็นประโยชน์ สกัดกรดไขมันกลุ่มนี้ไปเป็นแหล่งพลังงานของอาหารการแพทย์สำหรับผู้ป่วย ซึ่งต้องการแหล่งพลังงานที่สลายให้พลังงานอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยในการฟื้นตัวของผู้ป่วยเท่านั้น ส่วนผู้ (ปรกติ) ดีทั้งหลายกินก็ได้ ไม่กินก็ได้ น้ำมันมะพร้าวมีสารต้านอนุมูลอิสระคือ polyphenol เช่น gallic acid ซึ่งอาจทำหน้าที่เป็นกลิ่นและรสของน้ำมันมะพร้าว นอกจากนี้ยังมีอนุพันธุ์ของกรดไขมันอีกหลายชนิด รวมทั้งมีวิตามินอีด้วย ประเด็นดังกล่าวนี้ทำให้ คนขายน้ำมันมักอ้างว่า น้ำมันมะพร้าวป้องกันการแก่ก่อนวัย เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งความจริงแล้ว ปริมาณมันไม่ได้มากเหมือนกับการไปรับ ประทานอาหารอื่น ที่เป็นแหล่งที่แท้จริงของวิตามินอี ขอให้ท่านผู้อ่านดูจากตารางต่อไปนี้แล้วกันแหล่งที่มา http://whqlibdoc.who.int/publications/2004/9241546123_chap5.pdf จากตารางดังกล่าวเห็นได้ว่า ปริมาณวิตามินอีในน้ำมันมะพร้าวเทียบกับพืชที่เป็นอาหารอื่นๆ แล้ว ปริมาณวิตามินอีในน้ำมันมะพร้าวนั้น จิ๊บ ๆ เมื่อเทียบกับพืชอื่น ดังนั้นท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ความหวังว่าจะได้อะไรจากน้ำมันมะพร้าวนั้น ก็คงเป็นแค่ “ชีวิตที่มีหวัง” เท่านั้น ฉบับหน้าผู้เขียนจะยังขอนำความหวัง (ลมๆ แล้งๆ ) เกี่ยวกับน้ำจุดตะเกียงนี้มาให้ท่านผู้อ่านฟังต่อ เป็นฉบับที่สาม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 99 น้ำมันมะพร้าว….ประกายไฟในสมอง

ของฝากจากอินเตอร์เน็ตรศ. ดร.แก้ว กังสดาลอำไพสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล   ช่วงเวลา 2-3 ปีมานี้ ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวด้านสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องโภชนาการหลายท่านคงเคยมีคำถามในใจอยู่คำถามหนึ่งที่ไม่เคยมีนักวิชาการออกมาตอบฟันธงเสียทีว่า virgin coconut oil หรือ น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์นั้นมีประโยชน์จริงอย่างที่ผู้ขายโฆษณาหรือไม่   สำหรับผู้เขียนแล้ว ได้พยายามใช้หลักการเกี่ยวกับ กาลามสูตร ที่พระพุทธเจ้าสอนมาพิจารณาข้อมูลที่ไหลบ่าเข้ามาเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว เนื่องจากเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ ปัญญา ค่อนข้างมากในการตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่ และที่สำคัญคือ จะควักกระเป๋าสตางค์ซื้อหรือไม่ (หลักการเกี่ยวกับกาลามสูตรหาได้ไม่ยากจาก google)   ปัญญาที่ท่านผู้อ่านต้องมีก่อนอื่นคือ รู้จักว่าไขมันหรือน้ำมัน คืออะไร จากนั้นต้องคำนึงเสมอว่า ผลของไขมันในร่างกายมนุษย์คือ อะไร ในบทความฉบับนี้จะให้ข้อมูลซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านพิจารณาสังเคราะห์ขึ้นเพื่อเป็นปัญญาใช้พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวว่า ท่านควรตัดสินใจอย่างไรกับไขมันนี้ก่อนอื่นผู้เขียนขอยกข้อความในเว็บโฆษณา ขายน้ำมันมะพร้าวเว็บหนึ่งคือ http://www.aja.org.br/oleos/coconut_oil_good_saturated_fat.pdf ว่า “We believe the real culprits in heart disease are more likely to be obscenely elevated intakes of human-made trans fatty acids from hydrogenated oils, polyunsaturated fats high in omega-6 fatty acids (such as those in corn oil and prepared foods), and overconsumption of carbohydrates, especially refined carbohydrates found in pastries, candy and other processed foods.” กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้ประสงค์จะออกความเห็นแต่ไม่ปรากฏนามนี้ พยายามบอกว่า ตัวการทำให้เกิดโรคหัวใจนั้นคือ การกินอาหารมีกรดไขมันทรานซ์ (ในไขมันเช่น เนยเทียม) จากกรดไขมันพวกโอเมกา 6 เช่นน้ำมันข้าวโพด และจากอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ตลอดจนการกินอาหารแป้งมากไป แต่ไม่ได้แตะว่าไขมันอิ่มตัวซึ่งมีในไขมันทุกแหล่งก็เป็นปัญหา เพราะถ้าแตะเมื่อไร น้ำมันมะพร้าวก็คงเข้าไปอยู่ในตะเกียงหมดแน่ ประเด็นที่สำคัญคือ ข้อมูลนี้ครบหรือไม่ ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่า ข้อมูลในเว็บนั้น ส่วนใหญ่คือ การโฆษณา และท่านต้องมีปัญญาที่จะทราบว่า การโฆษณานั้นส่วนใหญ่เป็นข้อมูลข้างเดียวคือ ประโยชน์ ดังนั้นผู้เขียนจะขอคุยเรื่องที่คนทำโฆษณาไม่คุย เพื่อให้ข้อมูลแก่ท่านผู้อ่านที่อาจกำลังจะกรอกน้ำมันมะพร้าวเข้าปาก ตามคำเชิญชวนของผู้ค้าทั้งหลาย ได้ลองคิดดูก่อนตัดสินใจ ข้อมูลแรกที่ต้องทราบคือ ไขมันจากอาหารนั้นร่างกายมนุษย์ต้องการนำเข้าสู่ร่างกายเพื่อเป็นพลังงาน เพื่อนำไปสร้างสารชีวเคมีที่ร่างกายจำเป็นต้องมี เช่น ฮอร์โมนต่าง ๆ และเพื่อเอาไปเป็นองค์ประกอบของเซลล์ที่ร่างกายสร้างขึ้นใหม่ ไขมันหรือน้ำมันนั้น กินน้อยไม่ดี กินมากไม่ดี กินพอดีๆ ถึงจะดี เพราะมนุษย์ต้องการไขมันเป็นตัวพาเอาวิตามิน เอ อี อี เค ตลอดจนวิตามินดีในอาหารเข้าสู่ระบบของร่างกาย การขาดไขมันหรือได้รับน้อยไป ส่งให้ผลให้ร่างกายของเราขาดวิตามินเหล่านี้ ปัจจุบันนี้ ในทางวิทยาศาสตร์สุขภาพเราทราบแล้วว่า การขาดวิตามินเอและอีนั้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เพราะวิตามินทั้งสองเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ตามวิตามินทั้งสองถ้าได้มากไปก็ก่อปัญหากับตับได้เช่นกัน เพราะจะไปสะสมที่ตับ ทำให้ตับทำงานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากตับนั้นปรกติแล้วเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักมาก จึงพยายามไม่สะสมอะไร เมื่อใดที่ตับเริ่มมีการสะสมสารอาหาร เมื่อนั้นจะหมายความว่า ตับเริ่มมีปัญหา นักวิทยาศาสตร์พบว่า สารพิษหลายชนิดที่ให้แก่สัตว์ทดลองก่อให้ตับเกิดอาการที่เรียกว่า fatty liver คือ อาการที่มีไขมันอยู่มากในเซลล์ตับจนมองเห็นเป็นไขสีเหลืองที่ตับเมื่อเปิดหน้าท้องสัตว์ทดลอง ความหมายของ fatty liver คือ ตับทำงานต่ำลง ทั้งนี้เพราะตับเป็นอวัยวะหลักในการเผาผลาญไขมันไปเป็นพลังงาน หรือไปเป็นสารตั้งต้นของสารชีวเคมีอื่นในร่างกาย ดังนั้นการคั่งของไขมัน จึงเป็นหลักฐานทางวิชาการที่บอกว่า การทำงานของตับต่ำลง ท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในสุขภาพคงมีความรู้แล้วว่า ไขมันนั้นแบ่งง่าย ๆ ได้หลายวิธี เช่น การแบ่งเป็นไขมันจำเป็น ซึ่งร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องกินอย่างเดียว และไขมันไม่จำเป็น ซึ่งสร้างได้เองในร่างกาย นักเคมียังแบ่งไขมันออกเป็น ไขมันอิ่มตัว และไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งทั้งสองชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว นอกจากถูกนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายและสร้างสารชีวเคมีที่มีหน้าที่ในร่างกายแล้ว ร่างกายมนุษย์และสัตว์ยังเอาไขมันไปเป็นองค์ประกอบของเซลล์ที่สร้างใหม่ด้วย ดังนั้นถ้าท่านกินไขมันไม่อิ่มตัว เซลล์ใหม่ของร่างกายก็จะนำเอาไขมันไม่อิ่มตัวไปสร้างเป็นผนังเซลล์ด้วย แต่ถ้ากินไขมันอิ่มตัว ร่างกายท่านก็จะมีไขมันอิ่มตัวเป็นผนังเซลล์ ซึ่งทั้งสองกรณีมีข้อดีและเสียต่างกัน เมื่อผู้เขียนเริ่มทำงานใหม่ ๆ คือในปี พ.ศ. 2525 ได้พบข่าวว่าประเทศทางยุโรปได้รณรงค์ให้กินไขมันไม่อิ่มตัวสูงชนิดที่เรียกว่า polyunsaturated fatty acid ซึ่งเรียกย่อ ๆ ให้จำง่ายว่า PUFA เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตันเนื่องจากไขมันไปสะสม เพราะ PUFA จะไปเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันดีในระบบเลือด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาเส้นเลือดหัวใจตีบได้ แต่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยนั้นได้มองข้ามประเด็นที่ว่า ไขมันไม่อิ่มตัวสูงนั้นมีความเสถียรหรือความอยู่ตัวต่ำ ถูกออกซิไดซ์ได้อนุมูลอิสระง่าย โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์  ท่านผู้อ่านที่ไม่ชินกับวิชา cell biology คงไม่ทราบว่า ได้มีการตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับเซลล์ว่า ผนังเซลล์ในร่างกายนั้นมีความต่อเนื่องกัน กล่าวคือ มีเพียงผนังเดียวที่เป็นทั้งผนังเซลล์และเป็นผนังของออร์กาเนลอื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งรวมถึงผนังนิวเคลียสด้วย (แต่ไม่รวมถึงไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นส่วนของเซลล์ที่มีความพิเศษหลายอย่างในตัวเอง) ทั้งนี้เพราะขณะที่เซลล์อยู่ในสถานภาพปรกติ องค์ประกอบในเซลล์คือ นิวเคลียสและเอ็นโดพลาสมิกเร็ทติคิวรัม ต่างก็มีผนังสองชั้นเหมือนผนังเซลล์ ซึ่งเข้าใจกันว่าอยู่ในสภาพของหนังยางที่วางขดอยู่ ไม่ได้คลายตัวเต็มที่ แต่ระหว่างช่วงการแบ่งเซลล์จากหนึ่งเป็นสองนั้น ผนังขององค์ประกอบดังกล่าวได้หายไป ซึ่งเชื่อกันว่าผนังนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่ได้ยืดตัวออกในลักษณะหนังยางที่คลายตัวแล้ว ความเชื่อดังกล่าวนี้ ช่วยอธิบายปัญหาที่เกิดจากการบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงมากเกินไป ว่าเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งในชาวยุโรปที่เพิ่มการบริโภค PUFA เพราะกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงนั้นเป็นแหล่งก่อให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ดังนั้นการบริโภคไขมันประเภทนี้ต้องประกอบไปกับการบริโภควิตามินหรือสารต้านอนุมูลอิสระมากขึ้นด้วย ความจริงอีกประการที่ท่านผู้อ่านควรทราบคือ ไขมันนั้นแบ่งได้อีกลักษณะหนึ่งคือ เป็นไขมันที่ลักษณะโมเลกุลเป็นเส้นซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ด้วยระบบเผาผลาญทางชีวเคมีของร่างกาย และไขมันอีกประเภทหนึ่งมีองค์ประกอบเป็นวง (ring) หลายวงซึ่งตัวอย่างที่ง่ายที่สุดที่ท่านผู้อ่านเข้าใจได้คือ โคเลสเตอรอล ไขมันประเภทที่เป็นวงเหล่านี้ ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่พลังงาน แต่ร่างกายเรามีความมหัศจรรย์ประการหนึ่งคือ เมื่อเราได้ไขมันที่เป็นเส้น เช่น กรดไขมันในไขมันพืช ไขมันหมู ไขมันวัว เข้าสู่ร่างกายมากๆ ร่างกายใช้เป็นพลังงานไม่หมด ตัวกลางที่เกิดระหว่างการเผาผลาญจะถูกนำไปสร้างเป็นไขมันที่มีองค์ประกอบเป็นวงได้ เช่น ฮอร์โมนเพศต่าง ๆ โคเลสเตอรอล เป็นต้น ดังนั้นท่านผู้อ่านคงไม่ประหลาดใจว่า ทำไมเวลาผู้กำกับภาพยนตร์จึงมักเลือก ชายสูงอายุ ร่างอ้วน ผมบาง เล่นเป็นตัวเจ้าสัวมักมากในกามคุณ เพราะความรู้ทางชีวเคมีทำให้สามารถอธิบายได้ว่า คนที่อ้วนมักกินอาหารมีไขมันสูง จนเหลือไปสร้างฮอร์โมนเพศให้สูงด้วย ดังนั้นในกรณีที่คนอ้วนเป็นคนดี ไม่มักมากในกามคุณ ก็น่าจะสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง ว่ามีความข่มใจในเรื่องเพศสูงมาก เพราะกำหนัดนั้นคุมยาก (หลักการนี้อธิบายได้ทั้งสามเพศเลยทีเดียว ไม่เฉพาะในผู้ชาย) ต้องใช้วัคซีนที่เป็นพระธรรมเท่านั้น เรื่องนี้ยาว ในฉบับนี้จึงอธิบายได้แค่พื้นฐานเกี่ยวกับไขมัน ด้วยประสงค์จะนำทางไปสู่การใช้ปัญญาวิเคราะห์ว่า ควรเอาน้ำมันมะพร้าวเข้าสู่ร่างกาย หรือไปจุดตะเกียงดี ที่สำคัญก่อนที่ท่านจะไปอ่านเรื่องนี้ต่อในฉบับหน้า ต้องขอฟันทั้งเสาธง (แค่ธงอย่างเดียวไม่พอ) เลยว่า อะไรก็ตาม กินมากไปอันตรายทั้งนั้น ไม่ว่าของที่กินนั้นจะเป็นอาหารกาย หรืออาหารสมอง โดยเฉพาะประเภทหลังนั้นได้กำลังทำให้ชาติเรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่เรียกว่า ชาติวิบัติแล้ว เพราะกินอาหารสมองผิดสำแดงจนกัดกันเองเกือบทั้งชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 คำนั้น ฉันจำ

  เที่ยงแล้ว แต่สิ่งที่คิดว่าจะกินกลับไม่ใช่มื้อกลางวัน ฉันเดินไปร้านคนขายมะพร้าวเพียงอึดใจเดียวก็ถึง บอกแม่ค้าให้ช่วยเลือกมะพร้าวแก่ห้าวขนาดพอเหมาะมือ เพื่อกะเทาะเอากะลาและน้ำมะพร้าวออก เดินประคองมะพร้าวลูกนั้นมา เคาะปุๆ ดูอย่างครึ้มใจตลอดทาง ต้นชะพลูมีอยู่เขียวครึ้มใต้โคนมะม่วงใหญ่ ไม้เถากึ่งเลื้อย รูปทรงของใบสวย สีเขียวเข้มสด รสและกลิ่นของมันมีเฉพาะตัว แถมปลูกง่าย โตง่าย กระจายพันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็วเพราะที่ข้อของต้นมักมีรากแตกแขนงออกมา วันนี้ฉันกับแม่จะทำ “เมี่ยงคำ” ตามประสาคนอยู่ใกล้ตลาด กลับถึงบ้านเอามะพร้าววางแล้วต้องวนกลับไปใหม่ คราวนี้เอาถั่วลิสง น้ำตาลปี๊บและมะนาวกลับมาด้วย ส่วนกะปิดีมีอยู่แล้วที่บ้าน กินข้าวกลางวันตอนบ่ายเสร็จ ฉันเริ่มกิจกรรมโปรดโดยปูเสื่อกลางบ้าน เตรียม ถาด มีด เขียง และมีดปอกผลไม้ และมะพร้าวแก่ลูกนั้นมาวางเคียงอย่างพร้อมเพรียง เพราะจากนี้ไปอีกสักราว 1 ชั่วโมงฉันจะไม่ไปไหนหรือทำอะไรทั้งสิ้นหากไม่จำเป็น ฉันผ่ามะพร้าวออกเป็น 2 ซีก แล้วเอามีดปอกผลไม้เถือไปตามขอบซีกมะพร้าวออกมาเป็นเส้นยาวๆ ทีละเส้น .... ทีละเส้น แม้มีดปอกผลไม้จะคม แต่มะพร้าวแก่ทำให้ต้องออกแรงสักหน่อย บางครั้งที่กะจังหวะไม่ดี สันมือก็เผลอไปกระแทกขอบเขียงขอบกะละมังเรียกสติแบบเจ็บๆ ได้เหมือนกัน หั่นมะพร้าวเป็นเส้นเพื่อจะซอยให้เป็นฝอยยิบย่อยด้วยมีดนั่นยากกว่านี้ และใช้เวลานานกว่านี้มาก จับมะพร้าวเส้นบางมาเรียงซ้อนๆ เพื่อซอยย่อยลงไปแบบเพลินๆ ...ก็จะไม่เพลินได้ไงในเมื่อมือ 2 ข้างจับมะพร้าวและมีดซอยอยู่นั้น ปากฉันก็เคี้ยวชิ้นมะพร้าวหงับๆ อย่างเมามัน แม่ว่าฉันเคี้ยวมันจนน้ำกะทิไหลแล้ว ซอยมะพร้าวเสร็จแล้ว เอาไปคั่วในกระทะ จนเสร็จแล้วเอาไปให้แม่ดู แม่ว่าใช้ไฟแรงไป มันเหลืองแต่ไม่กรอบ เลยต้องเคี่ยวไฟอ่อนๆ ใหม่จนได้ดีอย่างที่แม่ต้องการ คราวนี้แม่หว่านน้ำตาลทรายลงไปนิดหน่อยให้น้ำตาลเกาะมะพร้าวจะได้กรอบ พอใกล้จะเย็นจึงเทใส่ขวดเก็บไว้ ถั่วลิสงที่ต้องล้างก่อนคั่ว ต้องคั่วให้สุกไม่งั้นเดี๋ยวถั่วเป็นพิษ เสร็จเอาไปให้แม่ดู ฉันก็คั่วไฟแรงเกินไปอีกนั่นแหละ แม่ว่างั้น เรื่องเหลือจากนี้เป็นแม่เตรียมการ ได้แก่ ตั้งเคี่ยวน้ำตาลปี๊บกับกะปิและเกลือจนเหนียวหนืด หั่นขิง หั่นพริก เอากุ้งแห้งแช่น้ำแล้วสงขึ้นมา รวมถึงเด็ดใบชะพลูมาล้างเตรียมพร้อมการกินเมี่ยงไว้เสร็จสรรพ ปากกินเมี่ยงใบชะพลู แต่หัวกลับนึกไปถึงวัยเด็ก การกินเมี่ยงที่เมื่อจะกิน คนขายวางใบเรียงเต็มถาดตามที่คนกินแจ้งบอก จากนั้นก็เอาเครื่องเคราวางเป็นกองๆ ใครไม่กินหอม ไม่กินขิง ไม่กินพริก ก็จะร้องบอกคนขายไว้ล่วงหน้า จากนั้นก็ตักน้ำจิ้มมาเป็นถ้วยให้เติมเอง เจอแม่ค้าดีหน่อย ก็จะวางถั่ว กุ้งแห้ง พริก ขิง หอม มะนาวไว้ แล้วให้ตักมะพร้าวคั่วได้ตามใจชอบ พร้อมน้ำจิ้มที่เติมได้ไม่อั้น ระหว่างเคี้ยวคำมันๆ กลิ่นชะพลูทำให้ฉันนึกไปถึงกลิ่นใบทองหลางที่เอามาห่อกินเมี่ยงได้รสอร่อยไม่แพ้กันขึ้นมารำไร ทองหลางไม้ตระกูลถั่วที่พบได้ทั่วไปในสวนทุเรียนเมืองนนท์ ที่คนสวนว่ามันช่วยให้ดินดีและทำให้ทุเรียนนนท์มีรสอร่อย ไม่รู้ทั้งต้นทุนเรียนและต้นทองหลางจะเหลืออยู่สักกี่ต้นหลังน้ำลงแล้วในปีนี้ ฉันเล่าให้แม่ฟังถึงการขายเมี่ยงคำแบบใหม่(สำหรับแม่) ที่ตลาดจตุจักร ที่เสียบเมี่ยงคำที่ห่อสำเร็จพร้อมกินไว้กับไม้คล้ายซื้อลูกชิ้นกิน แม่ทึ่งมาก เมี่ยงคำ ทำกัน 2 คน ใช้เวลาเตรียมไม่เกินครึ่งวัน แต่ก็เก็บไว้กินไปได้หลายวัน อร่อยได้หลายคำ ตอนช่วงบ่ายๆ แม่บอกฉันว่า น้ำจิ้มที่ราดเมี่ยงเหนียวๆ หวานๆ เค็มๆ ที่เหลือเยอะแยะนั่น แม่จะเอาไปกินเป็นมะม่วงน้ำปลาหวาน ซะด้วยสิ!

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 175 รู้เท่าทันน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์

เรื่องน้ำมันมะพร้าวดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในปัจจุบัน  โดยที่การส่งเสริมประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์หรือบีบเย็น (virgin coconut oil) เริ่มต้นมาจากต่างประเทศ  จากกลุ่มที่นิยมการแพทย์ทางเลือกและธรรมชาติบำบัด  และเกิดกระแสความนิยมอย่างกว้างขวาง  จนกระทั่งกระแสนี้ได้ขยายตัวเข้ามาเมืองไทย  ทำให้ผู้รักสุขภาพเกิดความตื่นตัวตามไปด้วย ในเมืองไทยนั้นสนใจทั้งในเรื่องความงามและสุขภาพ  และขยายตัวเข้าสู่การรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่โรคไขมันในเลือดสูง  โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง  อย่างไรก็ตามก็มีแพทย์แผนปัจจุบันบางคนออกมาคัดค้านและต่อต้านว่า น้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันอิ่มตัว  เมื่อบริโภคต่อเนื่องจะทำให้ไขมันในเลือดสูงและเป็นอันตราย    เราจะรู้เท่าทันเรื่องนี้ได้อย่างไร  ลองมาศึกษากันเถอะ1.    ถ้าค้นคำว่า “น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์” จะพบว่าในเว็บไซต์ภาษาไทยและต่างประเทศ จะเต็มไปด้วยประโยชน์และข้อดีของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์เต็มไปหมด  มีการกล่าวถึงข้อเสียหรือโทษเพียงเล็กน้อยถ้าผลิตไม่สะอาดหรือถูกวิธี  และกรณีที่เก็บรักษาไม่ดีจนมีกลิ่นหืน2.    ในประเทศไทยมีเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อเท็จจริงของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์กับการลดน้ำหนักว่า    น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ หมายถึงน้ำมันมะพร้าวที่ใช้วิธีการสกัดแยกจากเนื้อมะพร้าวโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อนสูงและไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปทางเคมี เช่น วิธีบีบเย็น เป็นต้น     องค์ประกอบหลัก VCO เป็นกรดไขมันอิ่มตัว (มากกว่า 90% จากปริมาณกรดไขมันทั้งหมด) แต่เป็นกรดไขมันขนาดโมเลกุลปานกลาง (medium chain fatty acid) เช่น  กรดลอริก (lauric acid) ซึ่งเมื่อรับประทานและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเผาผลาญได้ดี จึงถูกสะสมในเนื้อเยื่อไขมันได้น้อยกว่ากรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลยาว (long chain fatty acid) เช่น กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่พบมากในน้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น     จากคุณสมบัติดังกล่าวส่งผลให้น้ำมันมะพร้าวได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในการรับประทานเพื่อช่วยลดความอ้วน จากรายงานการศึกษาทางคลินิกในประเทศบราซิล ทำการทดสอบเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวและกลุ่มที่รับประทานน้ำมันถั่วเหลืองในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนลงพุง (abdominal obesity) พบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับโคเลสเตอรอลรวมและไขมันตัวร้าย (LDL) แต่มีระดับไขมันตัวดี (HDL) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.03 ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับน้ำมันถั่วเหลือง มีระดับโคเลสเตอรอลรวมและไขมันตัวร้าย (LDL) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.45 และ 23.48 ตามลำดับ และมีระดับไขมันตัวดี (HDL) ลดลงร้อยละ 12.62 เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มการทดลอง อย่างไรก็ตามระดับไตรกลีเซอไรด์ของทั้งสองกลุ่มไม่เปลี่ยนแปลง  3.    ค้นในเว็บไซต์ทางการแพทย์ ในห้องสมุดคอเครน (Cochrane library)  ไม่พบการทบทวนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์กับสุขภาพ  ส่วนใน PubMed มีการรายงานงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์อยู่มากพอควรกว่า 58 บทความ  จึงขอสรุปผลการวิจัยของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ดังนี้1)    มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง  สามารถป้องกันโรคหัวใจได้โดยป้องกันไม่ให้ความดันเลือดสูงในหนูทดลอง2)    สามารถลดโคเลสเตอรอล, LDL ไตรกลีเซอไรด์  ได้ดีกว่า น้ำมันมะพร้าวแบบเดิม น้ำมันมะกอก และน้ำมันเมล็ดทานตะวัน3)    มีผลในการต้านความเครียดและการต้านอนุมูลอิสระในหนูทดลอง4)    การใช้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น  ลดผลข้างเคียงของการใช้เคมีบำบัด5)    พอลิฟีนอลในน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สามารถลดการอักเสบของข้อในหนูทดลองได้6)    ป้องกันโรคกระดูกผุ (osteoporosis) ในหนูทดลอง    ดังนั้น ความเชื่อเรื่องน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จึงมีหลักฐานการวิจัยรองรับมากพอควร  สมควรที่ประเทศไทยต้องทำการศึกษาในคนอย่างเป็นระบบ  เพราะจะมีประโยชน์ทั้งสุขภาพและทั้งเศรษฐกิจของชุมชน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 185 สารฟอกขาวกับน้ำตาลมะพร้าว

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจข้อมูลจากนิตยสารฉลาดซื้อ>>> อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่าน online 300บาท/ ต่อปี  ข้อมูลการสมัครอยู่ด่านล่าง ขอบคุณค่ะ สำหรับขนมไทย อาหารไทย หลายตำรับนั้น น้ำตาลมะพร้าวที่นำมาปรุงประกอบจะให้รสสัมผัสที่นุ่มนวล หวานมันกว่าน้ำตาลทราย และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของอาหาร โดยในอดีตน้ำตาลมะพร้าวแท้ ต้องได้จากการเคี่ยวน้ำหวานที่ปาดจากดอกมะพร้าว(งวงหรือจั่นมะพร้าว) เคี่ยวไฟจนเกือบแห้งแล้วบรรจุในปี๊บ เรียกกันว่า น้ำตาลปี๊บ หรือใส่ในเบ้าหรือถ้วยหลุมตื้นที่เรียกว่า น้ำตาลปึก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวสวนมะพร้าว แต่ปัจจุบันการผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้อาจไม่คุ้มทุนและเจอปัญหาในการผลิตหลายอย่าง จึงเกิดการใช้น้ำตาลอย่างอื่น เช่น น้ำตาลทราย มาผสมให้มีรูปแบบอย่างน้ำตาลมะพร้าว ทำให้คุณค่าและรสชาติแท้ๆ ลดลงไป รวมถึงการปนเปื้อนของสารตกค้างอย่าง สารฟอกขาว สารกันบูด ยาฆ่าแมลง จนอาจก่อให้เกิดปัญหากับผู้บริโภคได้ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงลองหยิบจับน้ำตาลมะพร้าวทั้งที่บอกว่า แท้ และชนิดเลียนแบบ ซึ่งวางขายในห้างค้าปลีกและร้านค้าในตลาดสด จำนวน 21 ตัวอย่าง ส่งห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบหาการตกค้างของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือสารฟอกขาว ซึ่งทางราชการอนุญาตให้ใช้ในการผลิตได้แต่ต้องไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด(ดูท้ายตาราง)ไปดูกันเลยว่าน้ำตาลมะพร้าวของใครไม่มีสารฟอกขาวบ้าง     สารฟอกสีเหล่านี้  เป็นสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุเจือปนในอาหารได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนดตามชนิดของอาหาร ถ้าใช้เกินปริมาณที่กำหนดจะเกิดอันตรายได้ ส่วนสารฟอกขาวที่เป็นอันตราย กระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้ใช้เจือปนในอาหาร คือ สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์(Sodium hydrosulfite) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ผงซักมุ้งสารประกอบซัลไฟต์เป็นสารเคมีที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารหลายประเภทโดยใช้ เป็นสารกันเสียเพื่อป้องกันและยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ ใช้เป็นสารกันหืนเพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันในอาหารที่ จะทำให้เกิดการเหม็นหืนในผลิตภัณฑ์นั้น และที่สำคัญยังสามารถใช้เป็นสารฟอกขาวอีกด้วย  เนื่องจากมีคุณสมบัติยับยั้งปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงเป็นสีน้ำตาลซึ่งเกิดขึ้นในอาหารประเภท  โดยปกติถ้าได้รับในปริมาณไม่มากร่างกายคนจะมีเอนไซม์ที่สามารถเปลี่ยนสารซัลไฟต์เป็นสารซัลเฟต ซึ่งไม่มีพิษต่อร่างกายและถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ   อย่างไรก็ตามการได้รับสารกลุ่มนี้ในปริมาณมากก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ อาการความเป็นพิษที่เกิดขึ้นจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับสารกลุ่มนี้คือ กลุ่มผู้ที่เป็นโรคหอบหืด อาการที่พบคือ หายใจขัด เจ็บหน้าอก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง เวียนศีรษะ ความดันเลือดต่ำเป็นลมพิษ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคหอบหืด อาจเกิดอาการช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้ ระดับความรุนแรงของอาการขึ้นกับปริมาณการได้รับว่ามากน้อยแค่ไหนข้อสังเกต ผลิตภัณฑ์ของ Suttiphan (สุทธิภัณฑ์) ที่แบ่งจำหน่ายที่ ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต ซีคอนบางแคนั้น ไม่พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่ทั้งสองตัวอย่าง มีลักษณะบรรจุภัณฑ์ที่ต่างกัน ในฉลากของผลิตภัณฑ์ที่แบ่งจำหน่ายในห้างท็อปฯ จะให้รายละเอียดที่มากกว่า ซึ่งในผลิตภัณฑ์ตัวอย่างจากห้างกูร์เมต์ฯ นั้น ไม่มีรายละเอียดส่วนนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่  281  พ.ศ. 2547 และประกาศ อย เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร กำหนดให้ตรวจพบ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อ 1  กิโลกรัมข้อสังเกต ยังไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนสำหรับน้ำตาลมะพร้าว จึงใช้ตามมาตรฐานที่กำหนดในน้ำตาลทรายละเอียด   ฉลาดซื้อแนะ1.ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบที่ชัดเจน เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้ หรือน้ำตาลมะพร้าวแบบผสม นอกจากนี้ควรมีการระบุ วัน เดือน ปีที่ผลิต ขนาดบรรจุ ราคาที่แน่นอน คำแนะนำในการเก็บรักษา การนำไปใช้ประโยชน์ และแหล่งผลิตพร้อมชื่อยี่ห้อสินค้าที่ชัดเจน 2.ไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสีขาวจนผิดธรรมชาติ น้ำตาลมะพร้าวแท้จะมีสีคล้ำเนื่องจากการเคี่ยวไฟเป็นเวลานาน ถ้าเป็นน้ำตาลปึกต้องไม่มีลักษณะแข็งกระด้างจนเกินไป 3.หากพบว่าน้ำตาลมะพร้าวที่ซื้อมา มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นฉุน รสหวานแหลม เนื้อน้ำตาลแข็งมาก เก็บไว้ได้นานเป็นเดือนที่อุณหภูมิห้องโดยสียังคงขาวนวล ต้องระวัง เพราะอาจเป็นน้ำตาลมะพร้าวที่ผสมสารฟอกขาวในปริมาณมาก      -------------------------------------------------- >>>อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่านonline 300 บาท/ ต่อปี >>> โอนเงินแล้วแจ้งมาที่ >> อีเมล์ chaladsue@gmail.com + แนบรูปโอน >> เปิดอ่าน full Version ทันทีจ้าาาาาา>>> ต้องการใบเสร็จ >> พิมพ์ชื่อ - ที่อยู่  ใน อีเมล์ด้วยนะครับ---------------------------------ชื่อ บช. "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"กสิกรไทย : 058-2-86735-6ไทยพาณิชย์ : 319-2-62123-1กรุงไทย : 141-1-28408-9ทหารไทย : 026-2-40760-4กรุงเทพ : 088-0-38742-8กรุงศรีอยุธยา : 463-1-10884-6--------------------------------->>> อ่านย้อนหลังได้กว่า 90 ฉบับ ผลทดสอบเพียบ! >>>นิตยสารนี้ไม่มีโฆษณา...เพื่อข้อมูลที่เป็นกลางและตัดสินใจได้ สำหรับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >