ฉบับที่ 276 มะเร็งปอดในนักกีฬาหนุ่มไม่สูบบุหรี่

        คนบนโลกออนไลน์ได้รู้จักหมอหนุ่มวัย 28 ปีคนหนึ่งที่บอกเล่าอาการป่วยมะเร็งปอดของตัวเองผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า เป็นคนที่ชอบออกกำลังกายแต่กลับป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 โดยหมอหนุ่มท่านนี้ใส่ใจในความผิดปกติของอาการไอของตนเองจึงเข้ารับการตรวจร่างกายแล้วพบว่า กำลังป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ หมอหนุ่มได้ตั้งประเด็นที่อาจเป็นสาเหตุของการป่วยว่า ปัจจัยเดียวที่เป็นไปได้คือ ภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงในจังหวัดเชียงใหม่มานานหลายปี สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเชียงใหม่ทุกคนต่างรับผลจากฝุ่น PM 2.5 พอ ๆ กันแต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นมะเร็งปอด แล้วปัจจัยใดที่น่าจะทำให้คนหนุ่มที่ออกกำลังกายเป็นประจำและไม่สูบบุหรี่กลับมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนอื่น การกลายพันธุ์ของเซลล์อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปอด         ข้อมูลทางการแพทย์กล่าวว่า มะเร็งปอดนั้นแบ่งได้ในชั้นต้นเป็น 2 ประเภทคือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 10-25 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มักพบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าบริเวณชายปอด มีการแพร่กระจายเร็ว มีความเข้าใจว่าเกิดจากการที่สารเคมีบางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติของระบบฮอร์โมน โดยทั่วไปนั้นมะเร็งปอดชนิดนี้ตอบสนองต่อเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้ดี แต่โอกาสหายขาดยังเป็นไปได้น้อย ส่วนประเภทที่ 2 คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 75-90 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มีการแพร่กระจายที่ช้าจึงมีโอกาสตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก จึงนำไปสู่การผ่าตัดเอาก้อนและต่อมน้ำเหลืองออกพร้อมการบำบัดร่วมกับการให้เคมีบำบัดและรังสีรักษาหรือการบำบัดเสริมอื่นๆ ทำให้มีโอกาสหายขาดได้         การเกิดมะเร็งซึ่งรวมถึงมะเร็งปอดนั้นเกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของยีนหลายยีน ซึ่งบทความเรื่อง Genomic profiling in non-small-cell lung cancer in young patients. A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบถึงการทำรูปแบบจีโนมในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กในผู้ป่วยอายุน้อย) ในวารสาร ESMO Open ของ European Society for Medical Oncology ในปี 2021 ได้ให้ข้อมูลว่า มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยนั้นพบไม่บ่อยนัก ดังนั้นจึงทำการทบทวนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับรูปแบบจีโนมของผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นมะเร็งปอดตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 จากเอกสารในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หลักต่าง ๆ แล้วเลือกต้นฉบับงานวิจัย 23 ฉบับมาพิจารณาซึ่งพบว่า มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี เกิดขึ้นบ่อยในสตรีและเป็นมะเร็งแบบ adenocarcinoma (มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ต่อมหรือเยื่อบุที่ผลิตเมือกหรือของเหลว มะเร็งประเภทนี้พบได้บ่อยในมะเร็งเต้านม ต่อมลูกหมาก ปอด และลำไส้ใหญ่) และบ้างก็อยู่ในระยะที่ลุกลาม ซึ่งในการทบทวนข้อมูลครั้งนี้พบว่า การกลายพันธุ์ของหลายยีนในเซลล์เนื้อเยื่อ (somatic cells) มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่         การกลายพันธุ์ของยีน TP53 ซึ่งสร้างโปรตีน p53 ที่ควบคุมระบบการแบ่งเซลล์ให้เป็นปรกติ การกระตุ้นการตายของเซลล์ในลักษณะ apoptosis และความเสถียรของยีนด้วยกลไกการซ่อมแซมต่างๆ         การกลายพันธุ์ของยีน EGFR T790M ยีนนี้เป็นที่รู้จักกันในนามว่า gatekeeper gene ซึ่งเป็นยีนที่ทำหน้าที่ป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้น และป้องกันการสะสมของการกลายพันธุ์ที่นำไปสู่การเพิ่มจำนวนเซลล์ผิดช่วงเวลา สำหรับ epidermal growth factor receptor (EGFR) นั้นเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของผิวหนัง ผลของการกลายพันธุ์นำไปสู่การแสดงออกของตัวรับ EGFR บนผนังมากเกินไป ทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นลักษณะขยายการทำงานของเซลล์ที่ไม่ปรกติจึงมีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งหลายชนิดรวมถึงมะเร็งชนิด adenocarcinoma ในปอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งสมอง (Glioblastoma) และเนื้องอกของเยื่อบุผิวที่ศีรษะและคอ         การกลายพันธุ์ของกลุ่มยีน BRCA ได้แก่ BRCA1, BRCA2 (และอาจเพิ่ม BRCA3 ในอนาคต) ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มอาการมะเร็งเต้านมและรังไข่ทางพันธุกรรม         การกลายพันธุ์ของยีน HER2 (Human epidermal growth factor receptor) จนกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีงานวิจัยพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมักพบความผิดปรกติของ HER2 เป็น positive นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับยีนส์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิดรวมถึงมะเร็งปอด         การกลายพันธุ์ของยีน YAP1 (yes associated protein 1) ซึ่งสร้างโปรตีนตัวควบคุมการถอดรหัสที่กระตุ้นการถอดรหัสยีนที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเซลล์และการแพร่กระจายและยับยั้งการฆ่าตัวตายแบบ apoptosis ดังนั้นการกลายพันธุ์จึงส่งผลให้การเกิดมะเร็งได้ง่ายขึ้น         การกลายพันธุ์ของยีน CHECK2 ซึ่งเป็นยีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนที่หยุดยั้งการเติบโตของเนื้องอก ความผิดปรกติของยีนนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมตลอดชีวิตเป็นสองเท่า นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และทำให้เกิดความสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงของยีนนี้โดยเฉพาะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งปอด การกลายพันธุ์ของยีนใดที่อาจเป็นต้นเหตุสำคัญของมะเร็งปอด         ยีนที่ดูน่าสนใจเป็นพิเศษได้ถูกระบุในบทความของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่อง TP53 gene mutations of lung cancer patients in upper northern Thailand and environmental risk factors (การกลายพันธุ์ของยีน TP53 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในภาคเหนือของประเทศไทยและปัจจัยเสี่ยง) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Genetics and Cytogenetics ของปี 2008 บทความนี้รายงานผลการศึกษาถึงผลของปัจจัยต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์ของยีน TP53 ในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดสูงกว่าส่วนอื่นของประเทศ (หลายบทความในอดีตตั้งประเด็นว่า ความนิยมในการสูบบุหรี่ขี้โยนั้นเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอดสูงของสตรีชาวเหนือ)         การกลายพันธุ์ของยีน TP53 พบได้มากประมาณ 40-70% ในเนื้อเยื่อมะเร็งปอด และการกลายพันธุ์ของยีนนี้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ของมะเร็งปอดซึ่งอาจเป็นผลจากการได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อม รายงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า จำนวนและรูปแบบการกลายพันธุ์ของยีน TP53 มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร ซึ่งความแตกต่างนี้อาจเกิดจากเชื้อชาติที่ต่างกัน หรือได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน รวมไปถึงลักษณะการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน         ในการศึกษานี้ได้มีศึกษาเปรียบเทียบการถ่ายทอดยีนที่กลายพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็งปอดและครอบครัว (ญาติสายตรงและพี่-น้องผู้ป่วย) พร้อมมีกลุ่มควบคุมเพื่อดูว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิด (germline mutations หรือ inherited mutations นั้น เป็นการที่ยีนมีความผิดปกติตั้งแต่เป็นเซลล์ต้นกำเนิดหลังการปฏิสนธิ และส่งผ่านความผิดปกตินี้ผ่านเซลล์สืบพันธุ์ไปยังรุ่นลูกหลานต่อไปได้ เช่น การกลายพันธุ์ของยีน BRCA ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ชนิดที่สามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้) มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดของประชากรกลุ่มนี้หรือไม่ โดยนักวิจัยได้ดำเนินการสกัดดีเอ็นเอจากเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและกลุ่มควบคุม พร้อมกับสกัดดีเอ็นเอจากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดและเนื้อเยื่อปอดปกติของผู้ป่วยแต่ละรายเปรียบเทียบกับลำดับเบสอ้างอิงที่ได้จาก GenBank (accession no. X54156) ซึ่งผลการศึกษาจากผู้ป่วย 55 รายและกลุ่มควบคุม 57 ราย รวมทั้งจากบิดา-มารดาของผู้ป่วยอีก 8 ราย ไม่พบการกลายพันธุ์แต่กำเนิดในดีเอ็นเอที่สกัดจากเม็ดเลือดขาว การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิดไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่พบว่ามีการกลายพันธุ์ของเซลล์เนื้อเยื่อ (somatic mutation) 19 ตำแหน่ง ในดีเอ็นเอที่สกัดได้จากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดของผู้ป่วย 18 ตัวอย่าง อย่างไรก็ดีไม่มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งใดๆ ซ้ำกันจนเป็น hot spot (ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่เด่นชัดถึงโอกาสของการเกิดมะเร็ง)         ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อทดสอบผลของปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์ พบว่าการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการอาศัยอยู่ในบ้านที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี ได้แก่บ้านซีเมนต์หรือบ้านที่มีห้องครัวอยู่ภายในบ้าน มีผลต่อการเกิดการกลายพันธุ์ของยีน TP53 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ         ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและสารก่อกลายพันธุ์ในสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็งปอด และเป็นไปได้ว่าการกลายพันธุ์ของยีน TP53 อาจเกิดจากปัจจัยอื่นนอกเหนือไปจากการสูบบุหรี่ ซึ่งหากรู้ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการกลายพันธุ์แล้วจะมีประโยชน์ต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งปอดต่อไปได้ในอนาคต ซึ่ง ณ.ปัจจุบัน พ.ศ. 2567 นั้นก็ดูเหมือนยังไม่ทราบในสิ่งที่บทความตั้งความหวังไว้ ดังนั้นคนไทยในภาคเหนือจึงยังอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ประกันมะเร็งต้องอ่านเงื่อนไขดีๆ

        มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่การรักษานั้นค่อนข้างยาก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งมีสถิติที่พรากชีวิตคนไทยในแต่ละปีค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งจัดรูปแบบกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองเรื่องการรักษามะเร็ง มาเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภค         เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อเตือนใจจากคุณน้ำ ซึ่งเข้ามาขอคำปรึกษาในคดีหนึ่ง แต่เรื่องที่เล่านี้เป็นประสบการณ์เก่าที่เธอเคยประสบจากการทำประกันโรคมะเร็ง ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว เมื่อมองย้อนไปคุณน้ำพบว่าตัวเองพลาดที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขให้ดีจึงเสียโอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองจากการทำประกันมะเร็ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงได้ขออนุญาตนำเรื่องนี้มีเล่าเพื่อฝากไว้ให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นบทเรียน         คุณน้ำ เริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เธอจึงวางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม นอกจากค่าใช้จ่ายรายเดือน เธอได้วางแผนการออมเงินด้วย ทั้งออมเงินแบบฝากกับธนาคาร และการทำประกันชีวิตหลายฉบับเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ โดยคาดการณ์ว่าเพื่อเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ลำบาก ทั้งนี้ ประกันชีวิต  1 ฉบับในหลายฉบับที่ทำคือ ประกันมะเร็ง เพราะคิดว่า มะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้เงินในการรักษาสูงมาก หากเป็นหนึ่งในความเสี่ยงก็ควรทำประกันไว้ก่อน แม้ว่าค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างแพง         จากวันแรกๆ ที่เริ่มงานผ่านมาจนถึงหลังวัยเกษียณ เมื่อเธอเกษียณได้ไม่นาน แพทย์ตรวจพบว่าเธอเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น คุณน้ำตกใจแต่ก็รู้สึกว่า เอาน่ายังดีนะที่เธอได้ทำประกันมะเร็งเอาไว้ เธอจึงติดต่อตัวแทนบริษัทประกันเจ้าของกรมธรรม์ ต่อมาตัวแทนประกันซึ่งได้ขอเอกสารรายละเอียดที่หมอตรวจพบโรคมะเร็งพร้อมกับรายละเอียดการรักษาต่างๆ ไปจากเธอได้ไม่นานนัก ก็แจ้งกับเธอว่า บริษัทไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้ เพราะมะเร็งระยะที่กรมธรรม์คุ้มครองคือ ระยะที่ 2          คุณน้ำได้ฟังก็ถึงขั้นตกใจมาก เพราะที่เข้าใจมาตลอดคือ เมื่อตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง บริษัทจะคุ้มครอง ทันที แต่ตัวแทนบริษัทได้อธิบายว่า ในเอกสาร/เงื่อนไขสัญญาเขียนว่า จะคุ้มครองในระยะที่สอง ซึ่งคุณน้ำก็ได้แต่คิดว่า เมื่อแพทย์ตรวจพบมะเร็งแพทย์ก็ต้องเริ่มรักษาทันที ซึ่งไม่น่าจะมีใครรอให้โรคพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2  จึงเริ่มรักษาเพื่อหวังให้ประกันคุ้มครองแน่นอน         นี่เป็นบทเรียนที่คุณน้ำประสบมา จึงขอนำมาฝากเตือนผู้บริโภคท่านอื่นๆ ว่า เมื่อจะทำประกันโรคร้ายแรง อย่างเช่น มะเร็ง ต้องอ่านรายละเอียดของประกันมะเร็งด้วยว่า มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงประเด็นไหนบ้าง  เช่น มะเร็งทุกอวัยวะไหม หรือเฉพาะบางอวัยวะ หรือเจอมะเร็งจ่ายทันที คุ้มครองมะเร็งทุกระยะ รักษามะเร็งทุกขั้นตอน ฯลฯ ถามต่อตัวแทนประกันให้อธิบายอย่างละเอียด ตลอดจนซักถามตัวแทนประกันให้ละเอียดรอบคอบถึงข้อจำกัดต่างๆ  รวมทั้งต้องปรึกษาแพทย์เมื่อพบคำศัพท์เฉพาะทางทางการแพทย์ด้วย         ที่ควรพิจารณต่อมาคือ เรื่องเบี้ยประกันและวงเงินคุ้มครองเหมาะสมหรือเปล่า โดยต้องประเมินวงเงินคุ้มครองว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมาวงเงินที่จะได้รับนั้น เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลหรือการใช้จ่ายระหว่างการรักษาตัวหรือไม่ เช่น หากต้องการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องประเมินว่าค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ เพื่อจะได้เลือกแผนประกันที่วงเงินคุ้มครองเหมาะสมที่สุด เป็นต้น         เลือกด้วยความรอบคอบว่าเราอยากได้เงินคุ้มครองลักษณะไหน เช่น ในกรณีที่เป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล อาจเหมาะกับผู้ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพและต้องการให้ประกันคุ้มครองเฉพาะการรักษาพยาบาลตลอดการรักษา ขณะที่ประกันแบบจ่ายเงินทันทีที่ตรวจพบมะเร็งนั้น อาจเหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วแต่ต้องการเงินก้อน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาส่วนเกินจากประกันสุขภาพหรือนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น         อย่างไรก็ดีสำคัญที่สุดคือ อย่าพลาดการอ่านเงื่อนไขสัญญาให้ละเอียดเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับนั้นคุ้มค่ากับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 นัดยานัตถุ์แทนสูบบุหรี่ลดมะเร็งปอด

        เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ในเว็บ pantip.com มีกระทู้หนึ่งถามว่า ยานัตถุ์ อันตรายมั้ยคะ โดยมีใจความสำคัญว่า “คุณพ่อดิฉันเลิกบุหรี่ได้ ก็มานัดยานัตถุ์ได้หลายปีแล้วค่ะ ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง เคยเห็นเสมหะคุณพ่อมีสีดำๆ วันก่อนลูกสาวดิฉันเห็นคุณตาจามมีน้ำมูกเป็นสีดำๆ เลยมาบอกดิฉัน ดิฉันเลยกังวล ว่าจะอันตรายไหม แล้วที่สูดผงๆนั่ นเข้าไป มันจะไปอยู่ไหน ถ้าไม่ใช่ในหลอดลมกับปอด ตามความเข้าใจของดิฉัน ขอผู้รู้ช่วยตอบด้วยค่ะ”         จากนั้นก็มีผู้เข้ามาตอบกระทู้ว่า “มันน่าจะเข้าไปที่ปอดได้บ้าง แต่จังหวะที่เป่านั้น เท่ากับหายใจออกครับ ผงยาจะเคลือบฝังจมูกอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำมูกจะถูกขับออกมา เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม พิษนั้นมีน้อยกว่า ควันที่ได้จากใบยาสูบ อันเป็นส่วผสมหลักเดียวกันกับบุหรี่ โดยยานัด XXX มีใบยาสูบ ประมาณ 50 % นอกนั้นเป็นสมุนไพร และที่ช่วยทำให้เย็นอย่างหนึ่งคือพิมเสนครับ ยานัตถุ์สามารถช่วย ระงับการจามจากภูมิแพ้ได้ชะงัก และสามารถลดความตึงเครียดทางอารมณ์ได้อย่างดี เพราะมีส่วนผสมของสารนิโคตินนั้นเอง....” ซึ่งโดยสรุปแล้ว เมื่อมีทั้งคำถามและคำตอบ นั่นแสดงว่า การนัดยานัตถุ์นั้นยังมีปรากฏอยู่ในบ้านเรา         พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “นัตถุ์” แปลว่า จมูก และคำว่า “ยานัตถุ์” จึงมีความหมายโดยรวมว่า ผงยาละเอียดที่ปรุงขึ้นจากใบยาสูบหรือวัตถุสมุนไพรอย่างอื่น ใช้สำหรับนัดหรือเป่า สูด เข้าในจมูกนั่นเอง ปัจจุบันการใช้ยานัตถุ์พบเห็นได้น้อยมาก เนื่องจากมีรูปแบบการใช้ยาแบบอื่นที่สะดวกกว่า         ในประเทศไทยนั้น ยานัตถุ์ (ภาษาอังกฤษคือ snuff) คือ ยาผงที่ใช้สำหรับเป่าเข้าทางจมูกเพื่อบำบัดโรคหรือวัตถุประสงค์อื่น ตัวยาอาจประกอบด้วยส่วนผสมหลายอย่างที่มีผงใบยาสูบเป็นหลัก อาจผสม สเปียร์มินต์ (มีองค์ประกอบเป็น คาร์โวน ลิโมนีน เมนทอล และเมนโทนให้ความหอมเย็น) อบเชย เมนทอล การบูร เป็นต้น เพื่อเพิ่มความรื่นรมย์ ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์ถูกจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน         ยานัตถุ์มี 2 ประเภทคือ ยานัตถุ์แบบชื้น (Moist snuff) ซึ่งผู้ใช้เหน็บยานัตถุ์แบบนี้ที่หลังริมฝีปากบนหรือล่างหรือระหว่างแก้มกับเหงือก (ว่าไปแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับการใช้ยาฉุนของคนไทยโบราณ) ซึ่งผู้บริโภคต้องคายหรือกลืนน้ำยาสูบที่สะสมอยู่ซ้ำๆ หลังจากนั้นเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งมักคายทิ้ง ส่วนยานัตถุ์ประเภทที่ 2 เป็นแบบแห้ง (Dry snuff) ซึ่งใช้โดยการสูดหายใจเข้าทางจมูกที่มีการใช้มานานพอควรในประเทศไทย โดยนำผงยานัตถุ์บรรจุลงไปในท่อเหล็กรูปตัวยู ใส่ปลายท่อด้านหนึ่งเข้ารูจมูกแล้วใช้ปากเป่าปลายท่ออีกด้านหนึ่ง เพื่อให้ตัวยาฟุ้งกระจายเข้าไปในโพรงจมูก ผู้ที่ใช้ยานัตถุ์จะรู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนได้สูบบุหรี่ ปัจจุบันการนัดยาในประเทศไทยนั้นยังพบเห็นได้ในกลุ่มผู้สูงอายุตามชนบทบางจังหวัด         ในประเทศไทยนั้นยานัตถุ์จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านตามประกาศพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องเป็นสูตรที่ไม่มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษใด ๆ ร่างกายดูดซึมนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ เข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุปากหรือจมูก ระดับนิโคตินในเลือดมีความคล้ายคลึงกันระหว่างผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้ยานัตถุ์         เมื่อ 16 มีนาคม 2023 www.fda.gov มีบทความเรื่อง FDA Authorizes Copenhagen Classic Snuff to be Marketed as a Modified Risk Tobacco Product มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังจากการตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่อย่างเข้มงวด รวมถึงคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Tobacco Products Scientific Advisory Committee) ความคิดเห็นสาธารณะ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่มีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสรุปว่า คำกล่าวอ้างเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงมะเร็งปอดในส่วนที่เกี่ยวกับยานัตถุ์นั้น มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิงมาใช้ผลิตภัณฑ์นี้ พวกเขาจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดลดลงได้ อย่างไรก็ดีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯไม่ได้กล่าวว่า ยานัตถุ์นั้นไม่มีอันตรายใด ๆ ดังนั้นใครที่ไม่เคยเสพยานัตถุ์ก็ไม่ควรเริ่มเสพ เพราะถ้าไปดูข้อความบนตลับยานัตถุ์ที่มีขายในสหรัฐอเมริกาบางยี่ห้อนั้นจะพบคำเตือนประมาณว่า  ผลิตภัณฑ์นี้ทำให้เกิดโรคเหงือกและการสูญเสียฟันได้ (This product can cause gum disease and tooth loss)         ในเว็บ www.health.harvard.edu เมื่อ 17 เมษายน 2023 มีบทความเรื่อง Is snuff really safer than smoking? ซึ่งให้ข้อมูลตอนหนึ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติเป็นระยะเวลา 5 ปี ให้ทดลองโครงการใช้ยานัตถุ์เป็นทางลดการสูบบุหรี่ โดยบริษัทผู้ขายยานัตถุ์ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ดีแม้อัตรามะเร็งปอดลดลง แต่ถ้ากระบวนการทางการตลาดแบบใหม่ของยานัตถุ์กลายเป็นการดึงดูดผู้ที่ไม่สูบบุหรี่รวมถึงวัยรุ่นที่ไม่ได้ใช้ยานัตถุ์มาก่อนมาใช้ยานัตถุ์จนกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับคนจำนวนมาก โครงการนี้ต้องถูกยกเลิก         ในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถิติของ US.CDC (Centers for Disease Control and Prevention) นั้น ผู้ใหญ่ 5.7 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันเป็นประจำซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของประชากรผู้ใหญ่ ส่วนนักเรียนมัธยมปลายก็ใช้เช่นกันด้วยร้อยละที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 1.6 % และประเด็นที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลว่า การใช้ยานัตถุ์นั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการสูบบุหรี่คือ แค่ $300 ถึง $1,000 ต่อปี เทียบกับหลายพันดอลลาร์ต่อปีที่บางคนจ่ายในการสูบบุหรี่ และที่น่าสนใจคือ ไม่ทำให้ผู้อื่นสัมผัสควันบุหรี่มือสอง         ในด้านความปลอดภัยของยานัตถุ์นั้น ผู้บริโภคจำต้องรับสภาพว่า มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษใดบ้างเมื่อเริ่มใช้ ในบทความเรื่อง Smokeless tobacco and cigarette smoking: chemical mechanisms and cancer prevention ในวารสาร Nature Reviews Cancer ของปี 2022 ได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันจำนวนมากนำไปสู่การสัมผัสสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง ซึ่งรวมถึงสารกลุ่มไนโตรซามีนเช่น  เอ็น-ไนโตรโซนอร์นิโคติน (N'-nitrosonornicotine) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งช่องปากที่พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สารไนโตรซามีนที่พบเฉพาะในใบยาสูบ (ที่ยังไม่ถูกเผาไหม้หลังบ่ม) เกิดจากปฏิกิริยาของอัลคาลอยด์ในยาสูบกับเกลือไนไตรต์ ซึ่งมี 3 ชนิด ได้แก่ N'-nitrosonornicotine (NNN), 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanone (NNK) และ 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanol (NNAL) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อมะเร็งปอด         จากการตั้งความหวังว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดในการใช้ยานัตถุ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่นั้น แต่โอกาสก่อปัญหาสุขภาพยังมีอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก US.CDC ที่กล่าวว่า ยานัตถุ์เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงข้อมูลงานวิจัยที่กล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งในช่องปาก (เช่น ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม) หลอดอาหาร และตับอ่อน มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ก่ออันตรายต่อสมองของวัยรุ่นที่กำลังพัฒนา ก่อปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันเปลี่ยนสี โรคเหงือก ฟันเสียหาย สูญเสียกระดูกรอบฟัน ฟันหลุด เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและการคลอดก่อนกำหนดในผู้ใช้ที่ตั้งครรภ์ และเนื่องจากนิโคตินเป็นสิ่งเสพติดดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ จึงกลายเป็นนิสัยที่ยากจะเลิกได้อย่างรวดเร็ว         สุดท้ายแล้วสถานะของการนัตถุ์ยาต่อผู้บริโภคทั่วไปนั้นคือ ควรหลีกเลี่ยงถ้าไม่ใช่ผู้เสพติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แม้ว่าแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันระบุว่า การนัตถุ์ยาปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ แต่สิ่งสำคัญคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้ย้ำตลอดเวลาว่า ไม่มีการสนับสนุนการใช้ยานัตถุ์และไม่รับรองให้ยานัตถุ์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการสันทนาการ ที่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนคือ การไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ไอศกรีมแสนอร่อยมีสารพิษ

        ไอศกรีมเป็นของหวานที่มีราคาหลากหลาย กล่าวคือ บางยี่ห้อราคาถูกพอที่คนซึ่งเลี้ยงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำพอซื้อกินได้ ไปจนถึงบางยี่ห้อที่ราคา 1 scoop ละร้อยกว่าบาท ความแตกต่างของราคานั้นขึ้นกับกรรมวิธีการผลิตซึ่งมักมีวัตถุดิบ ที่อาจเหมือนกันแต่คุณภาพต่างระดับกัน         ไอศกรีมราคาแพงมักมีกลิ่นรสอร่อยกว่าไอศกรีมราคาถูก เช่นในกรณีของไอศกรีมรสวานิลลา ไอศกรีมราคาแพงมักใช้สารสกัดจากฝักวานิลลาจริงซึ่งมีราคาแพงพอควร ในขณะที่ไอศกรีมราคาถูกมักใช้กลิ่นรสวานิลลาสังเคราะห์ซึ่งเป็นสารเคมีที่อาจเหมือนหรือคล้ายของจริง แต่องค์ประกอบโดยรวมของกลิ่นและรสสังเคราะห์นั้นย่อมต่างจากวานิลลาจริงแน่นอน อย่างไรก็ตามการกินไอศกรีมที่ใช้ของดีและอร่อยนั้นก็อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับโอกาสเจอสารเคมีไม่พึงประสงค์ได้ ถ้าผู้ผลิตพลั้งพลาดปราศจากความรอบคอบในการคัดเลือกองค์ประกอบบางชนิดมาใช้ในการผลิต เพราะอร่อยและแพงจึงเจอสารพิษ         10 สิงหาคมของปีนี้เว็บของสำนักข่าวหนึ่งของไทยมีหัวข้อข่าวเรื่อง ผู้บริโภคผวา! เบลเยียมสั่งเรียกไอศครีมเจ้าดังเพิ่ม หลังอียูเตือนพบสารก่อมะเร็ง โดยมีเนื้อข่าวที่น่าสนใจว่า เบลเยียมสั่งเรียกเก็บไอศกรีมยี่ห้อดังออกจากชั้นวางขายเพิ่มเติมจากที่เคยสั่งไปแล้วครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 2022 ข่าวโดยสรุปกล่าวว่า พบเจอสาร 2-chloroethanol ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวชนิดกระปุกใหญ่และถ้วยมินิซึ่งจะหมดอายุเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 จากนั้น European Food Safety Authority: EFSA ได้แจ้งเตือนแก่ประเทศสมาชิกอีกครั้ง (ข่าวปรากฏในวันที่10 สิงหาคม 2565) ว่าได้สุ่มตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในไอศกรีมยี่ห้อต่างๆ แล้วพบว่า ไอศกรีมยี่ห้อ XXX ที่ผลิตในฝรั่งเศสแต่มีบริษัทแม่เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีสารไม่พึงประสงค์ปนเปื้อน หน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศฝรั่งเศสจึงขอให้ร้านค้านำสินค้าล็อตที่ตรวจพบสารพิษออกจากชั้นวางสินค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ แหล่งข่าวทั้งไทยและเทศร่วมใจกันให้ข้อมูลว่า สารพิษที่พบนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์และสามารถก่อโรคร้าย เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวผู้บริโภคควรฟังหูไว้หูก่อนตื่นตระหนก         จากการค้นหาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับ 2-chloroethanol แล้วปรากฏว่า สารเคมีนี้ถูกจัดว่าเป็นสารพิษร้ายแรงชนิด extremely hazardous substance ซึ่งตามข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกาในรัฐบัญญัติ Emergency Planning and Community Right-to-Know Act (42 U.S.C. 11002) กำหนดว่า ต้องมีการรายงานปริมาณการผลิต การครอบครองและการใช้ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ         2-chloroethanol เป็นอนุพันธ์ของ ethylene oxide ซึ่ง ethylene oxide นั้นเป็นสารก่อมะเร็งที่มีลักษณะเป็นกาซชนิดที่มีความนิยมในการใช้ฆ่าแมลงและจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนสินค้าทางการเกษตรต่างๆ ตามคุณสมบัติที่สามารถทำลายดีเอ็นเอของเซลล์อย่างชะงัดนัก ในกรณีของไอศกรีม XXX นั้นบริษัทแม่ของผู้ผลิตไอศกรีมสัญชาติฝรั่งเศสซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกากล่าวในเว็บของบริษัทว่า "ปริมาณ ethylene oxide ระดับหนึ่งถูกตรวจพบได้จากส่วนผสมเดียวคือ สารสกัดวานิลลา ที่จัดหาโดยซัพพลายเออร์รายหนึ่งของบริษัท สำหรับประเทศอื่นนอกสหภาพยุโรปนั้น หน่วยงานตรวจสอบด้านสุขภาพ ANVISA ของบราซิลในเดือนสิงหาคมของปีนี้ ได้ออกการแจ้งเตือนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไอศกรีมรสวานิลลา XXX ที่นำเข้าจากฝรั่งเศสเช่นกัน         ปริมาณของ ethylene oxide ที่ถูกรายงานเป็นผลวิเคราะห์ต่างๆ นั้น โดยปรกติแล้วเป็นผลรวมของ ethylene oxide และ 2-chloroethylene เสมอ ด้วยเหตุผลว่า 2-chloroethanol นั้นมีจุดเดือดที่ 129°C และสลายตัวที่อุณหภูมิสูงกว่า 400°C จึงมีความคงตัวภายใต้สภาวะการอบหรือการปรุงอาหารทั่วไป ในขณะที่ ethylene oxide ระเหยได้ที่อุณหภูมิห้องเพราะมีจุดเดือดที่ 10.7°C ดังนั้นการตกค้างจึงมักเป็นการพบ 2-chloroethanol ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ว่า เคยมี ethylene oxide ปนเปื้อนอยู่        ethylene oxide ที่ถูกพบในสารสกัดวานิลลานั้นจัดเป็นสารก่อมะเร็งตามรายงานการศึกษาหลายฉบับของ US. National Toxicology Program เช่น ใน NTP Report on Carcinogens Background Document for Ethylene Oxide, Final March 1999 ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีส่วนหนึ่งในรายงานที่กล่าวว่า 2-chloroethanol ซึ่งเป็นอนุพันธ์เกิดจาก ethylene oxide นั้นเป็นสารก่อกลายพันธุ์ในการทดสอบหลายวิธีการ แต่ไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง  เอกสารชื่อ 35-Ethyleneoxide ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยนำเข้า ethylene oxide จากต่างประเทศ โดยปริมาณนำเข้ารวมแล้วจากประเทศต่างๆ ระหว่างปี พ.ศ.2544-2549 อยู่ในระดับ 3 ถึง 4 แสนกิโลกรัม สารพิษนี้มีประโยชน์ในการใช้อบฆ่าเชื้อโรคเครื่องมือแพทย์ประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (ชนิดทำจากพลาสติก) ซึ่งไม่สามารถใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อ, ใช้เป็นสารรมควันสำหรับผ้า ขนสัตว์ อาหาร, ใช้บ่มผลไม้ให้สุก และใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีหลายชนิด เช่น acrylonitrile, nonionic surfactant เป็นต้น         ประเด็นที่สำนักข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้ความสำคัญคือ ทำไมอยู่ดีๆ EU จึงมีการตรวจสอบสารพิษที่เป็นข่าวในไอศกรีม จากการค้นหาข้อมูลได้พบว่า เว็บ https://affidiajournal.com มีบทความเรื่อง Ethylene oxide in ice cream: over 100 brands involved in France ได้ให้ข้อมูลว่า เริ่มมีการแจ้งเตือนเรื่อง ethylene oxide ปนเปื้อนในวัตถุดิบทางการเกษตรตั้งแต่ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 เพราะพบว่า เมล็ดงาที่ถูกนำเข้าจากอินเดียปนเปื้อนสารพิษนี้ นับแต่นั้นมาวัตถุดิบทางเกษตรหลายอย่าง เช่น ขิงและเครื่องเทศอื่นๆ รวมทั้งอาหารเสริมบางชนิดได้ถูกถอนออกจากตลาดเพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายหลังการตรวจพบสารปนเปื้อนดังกล่าว         ในฝรั่งเศสมีรายงานไอศกรีมหลายยี่ห้อที่มีการปนเปื้อนของสารพิษนี้ในระดับสูงกว่าที่ชาวฝรั่งเศสควรได้รับ ทั้งที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่มี งา ขิง หรือเครื่องเทศ (ที่มักมีการปนเปื้อนของ ethylene oxide หรือ ในรูปของอนุพันธ์คือ 2-chloroethanol) โดยพบว่า เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีสารทำให้คงตัว (food stabilizer) สองชนิดคือ locus bean gum (ชื่อรหัสบนฉลากอาหารคือ E410 เป็นสารธรรมชาติซึ่งสกัดได้จากเนื้อในเมล็ดของต้น carob หรือ Ceratonia silliqua) และ guar gum (ชื่อรหัสบนฉลากอาหารคือ E412 เป็นสารธรรมชาติซึ่งสกัดได้จากเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ ต้นอ่อนในเมล็ดของถั่ว Guar ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้) ถูกวิเคราะห์พบว่า มี ethylene oxide เกินขีดจำกัดสูงสุดตามกฎข้อบังคับ ประเด็นที่น่าสนใจคือ จริงแล้วสารทำให้คงตัวทั้งสองไม่ได้ถูกใช้เฉพาะในไอศกรีมเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มี locus bean gum (E410) หรือ guar gum (E412) ได้ถูกถอนออกจากชั้นวางขายสินค้าของร้านขายของในฝรั่งเศส         บทความเรื่อง Analysis of ethylene oxide in ice creams manufactured with contaminated carob bean gum (E410) ในวารสาร Food Additives & Contaminants: Part A ของปี 2021 ให้ข้อมูลว่า ตัวอย่างไอศกรีมมากกว่า 100 รายการ ที่ผลิตในปี 2021 จากฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และโปแลนด์ มีสาร E410 (locus bean gum) ซึ่งทำให้คาดว่า อาจมีการปนเปื้อนสารพิษคือ ethylene oxide ปฏิบัติการนี้ทำขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับใช้ในการพัฒนาและตรวจสอบวิธีการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงคือ GC-MS Triple Quad นี่คือคำตอบว่าทำไมอยู่ดีๆ European Food Safety Authority จึงลุกขึ้นมาทดสอบว่าไอศกรีมมี ethylene oxide หรือไม่ และการวิเคราะห์ (ซึ่งคงทำในอาหารหลายกลุ่มชนิด) ทำให้พบว่าตัวอย่างไอศกรีม 7 ใน 23 ตัวอย่างมี ethylene oxide น้อยกว่า 0.010 มก./กก. ส่วนตัวอย่างไอศกรีมที่เหลือมีการปนเปื้อนมากกว่า 0.010 มก./กก. โดยห้องปฏิบัติการทั้งสองแห่งพบ ethylene oxide ในตัวอย่างที่เหลือนั้นอยู่ในช่วง 0.021–0.052 มก./กก. (ห้องปฏิบัติการ 1) หรืออยู่ในช่วงที่มากกว่า 0.018–0.056 มก./กก. (ห้องปฏิบัติการ 2)         โดยสรุปแล้วข่าวการปนเปื้อนของสารพิษในไอศกรีมนั้น เป็นความประมาทซึ่งยากในการป้องกัน เพราะเกิดจากการใช้วัตถุดิบที่ได้จากประเทศซึ่งมีความหลากหลายในระดับของเทคโนโลยีการดูแลวัตถุดิบทางการเกษตร เหตุการนี้เป็นตัวอย่างที่หน่วยงานซึ่งดูแลความปลอดภัยของอาหารของนานาประเทศ สามารถใช้เป็นอุทาหรณ์กระตุ้นเตือนให้บริษัทซึ่งมีสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งจำเป็นต้องปราศจากเชื้อราและแมลง มีความพิถีพิถันในการเลือกแหล่งที่มาของวัตถุดิบซึ่งมีกระบวนการ GAP (good agricultural practice) ที่ดี นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความรู้สึกกังวลว่า แล้วเครื่องเทศที่มีวางขายในบ้านเราโดยไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรานั้นมีโอกาสปนเปื้อน ethylene oxide ซึ่งคงเหลือในรูปของ 2-chloroethanol หรือไม่ และในกรณีที่ผู้บริโภคบางคนเกิดกังวลว่า มีการปนเปื้อนจริง คำแนะนำที่น่าจะปฏิบัติไม่ยากคือ อย่ากินอะไรซ้ำซากและอย่ากินอะไรมากในแต่ละมื้อ เพราะ 2-chloroethanol นั้นถ้ามีปริมาณไม่มากเราสามารถขับทิ้งได้ทางปัสสาวะภายใน 24-48 ชั่วโมง

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทดสอบสารเคมีก่อมะเร็งกางเกงชั้นในชาย (สีดำ

        ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในหลายผลิตภัณฑ์รอบตัวเรา ภัยเงียบใกล้ตัวที่สุดที่มักประมาทคือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ทุกวัน และยิ่งอ่อนไหวขึ้นไปอีกเมื่อเป็นชุดชั้นใน          นิตยสารฉลาดซื้อเคยเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง, ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และค่าความเป็นกรด-ด่างไปแล้วในฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ปี 2556  พบสารฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารเคมีก่อมะเร็งในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน จำนวน  2 ตัวอย่าง จากตัวอย่างที่เก็บตรวจทั้งหมด  11 ตัวอย่าง           ในปี 2022 เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชายชนิดสีดำ จำนวน  11 ตัวอย่างทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อตรวจหา สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (สีเอโซที่ให้อะโรแมติกแอมีน) , ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และ ค่าความเป็นกรด-ด่าง อีกครั้งพบผลการทดสอบดังนี้          ·     มี 3  ตัวอย่างที่ตรวจพบ สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน คือ  กางเกงใน GIORDANO,  กางเกงใน Me-Style และกางเกงใน DOUBLE GOOSE (ห่านคู่)  โดยสารที่ตรวจพบคือ 4,4'-Diaminodiphenylmethane (1 ใน 24 ตัวตาม มอก. 2346-2550) ปริมาณที่พบเกินมาตรฐาน คือ  ยี่ห้อ GIORDANO พบปริมาณ 61.40 มก./กก. ยี่ห้อ Me-Style พบ 59.89 มก./กก.  สำหรับ DOUBLE GOOSE (ห่านคู่) พบ 14.55 มก./กก. ไม่เกินค่ามาตรฐาน        ·     ตัวอย่างที่พบค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอสูงคือ  Me-Style มีค่ากรด - ด่าง 7.26  แต่ไม่เกินมาตรฐาน (มาตรฐานคือช่วงระหว่าง 4-7.5)           ·     ทั้ง 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์         แม้ทั้ง การทดสอบของฉลาดซื้อจำนวน 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์  แต่สารเคมีอันตรายในกลุ่มเสื้อผ้าสิ่งทอ ยังน่าเป็นห่วง ล่าสุด (29 พ.ย.) กรีนพีซ เยอรมนี แถลงว่าจากการตรวจ สินค้า SHEIN ในหลายแห่งทั่วโลก ทั้งหมด 42 ชิ้น ประกอบไปด้วยเครื่องแต่งกาย รองเท้า ทั้งสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผลิตภัณฑ์สำหรับทารก พบการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ 7 ชิ้น (คิดเป็น 15%) โดยการพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์นี้ผิดเงื่อนไขการจำกัดปริมาณสารเคมีของสหภาพยุโรป นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ 5 ชิ้นจากทั้งหมดผิดเงื่อนไข โดยปนเปื้อนเกิน 100% หรือมากกว่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์ 15 ชิ้นจากทั้งหมดปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในระดับที่น่าเป็นห่วง (คิดเป็น 32%)…………………………………………………………………………………………………..อันตรายและค่ามาตรฐานของสารที่ดำเนินการตรวจ (  ที่มา อ้างอิงตาม มอก.2346-2550        ·     ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟอร์มาลีน”  คือสารเคมีทำให้ผ้าฝ้ายเรียบ รีดง่าย ยับยาก ยังผสมในสีทาบ้าน พลาสติก รวมถึงการดองศพ ฟอร์มาลดีไฮด์ที่สะสมอยู่ในผ้าจะระเหยออกมาในอากาศส่งผลต่อระบบประสาท ระคายผิวหนัง ทางเดินหายใจ และเป็นต้นเหตุของมะเร็งได้> ปริมาณต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เสื้อผ้าสำเร็จรูปชนิดที่ 2)         ·     ค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอ หรือ pH ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ สำหรับผิวหนังมนุษย์ที่มีความเป็นกรดอ่อนๆ เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรค แต่หากค่าความเป็นกรด-ด่าง จากเสื้อผ้าทำให้สมดุลผิวเสียไป ผิวหนังอาจระคายเคืองและเสียความสามารถในการปกป้องผิว ดังนั้นค่าความเป็น กรด-ด่าง ควรต้องอยู่ระหว่าง 4.0 ถึง 7.5 ตามมาตรฐานจึงจะมีความปลอดภัย             ·     สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน 24 ชนิด เป็นกลุ่มสารอันตรายเมื่อสัมผัสผิวหนัง ทำให้ผิวเกิดอาการแพ้จนกระทั่งเกิดมะเร็งได้  บางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติต่อพันธุกรรม และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ>  ต้องมีไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม…………………………………………………………………………………………………..อ่านผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำ  ฉบับเต็มได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/4145 #สิทธิผู้บริโภค#สารเคมีในชุดชั้นใน#FastFashion#WhoMadeMyClothes 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2563

สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกบัตรทองแล้ว 190 แห่งเหตุทุจริตเบิกเท็จ          30 ก.ย. 2563 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช. ยกเลิกสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน คลินิกชุมชนอบอุ่น จำนวน 190 แห่ง (แบ่งเป็นโรงพยาบาล 10 แห่ง คลินิกเอกชน 175 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง) ในพื้นที่ กทม. เหตุเพราะทำทุจริตการเบิกเงินในรายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากสปสช. รวมความเสียหาย 198 ล้านบาท ซึ่งการยกเลิกสัญญาครั้งนี้จะกระทบผู้ป่วยรับบริการจริง 4-5 แสนราย เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2.7 แสน         อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิที่หน่วยบริการประจำถูกยกเลิกสัญญา โดยกำหนดผู้ใช้สิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ หมายถึงสามารถเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยในหน่วยบริการที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเข้าร่วมกับ สปสช. ได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีหน่วยบริการประจำ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดจำนวนครั้ง (สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง)         ด้านนายจีรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขเกินจริง กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้เป็นหน้าที่กองปราบปรามในการรวบรวมพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดข้อหาใดบ้างแล้วดำเนินคดีในทางอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลทั้งหมด นอกจากนี้ได้ส่งเรื่องให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ด้วย ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า สบส.ได้พิจารณาแล้วพบว่ามีความผิดเช่นเดียวกันและได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเช่นเดียวกัน มีผลแล้ว ประกาศขายของออนไลน์ ห้ามให้อินบ็อกซ์ถามราคา          22 กันยายน 2563  เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ ฉบับที่ 70 พ.ศ. 2563 เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์  มีเนื้อหาโดยสรุปคือ ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ต้องแสดงราคาจำหน่าย ค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะขนาด น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ โดยการเขียน พิมพ์ หรือกระทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นใดในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจนั้น ในลักษณะที่ชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย กรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่แสดงไว้ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนครบถ้วนและเปิดเผย โดยแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่ให้บริการ         กรณีผู้ขายสินค้าออนไลน์ ไม่แจ้งราคาผ่านช่องทางที่จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ไลน์ และเว็บไซต์ แต่จะให้อินบ็อกซ์เข้ามาสอบถามราคาแทนนั้น จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท         ส่วนผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับสินบนนำจับ 25% ของค่าปรับ เช่น หากโทษปรับ 10,000 บาท ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินส่วนแบ่ง 2,500 บาท ซึ่งหลักฐานที่ต้องเตรียมนั้น ได้แก่ ข้อความที่พูดคุยกัน, การแจ้งราคาทางอินบ็อกซ์ รวมถึงบัญชีธนาคารของคนขาย เพื่อความสะดวกต่อการนำจับ สามารถแจ้งข้อมูล หรือร้องเรียนได้ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อีเมล์ 1569@dit.go.th หรือสายด่วน 1569 คกก.วัตถุอันตรายไม่ทบทวนแบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส'          28 ก.ย. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงส่วนใหญ่มีมติไม่ทบทวนแบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' เนื่องจากเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา และน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่พูดเรื่องแบนหรือไม่แบนสารเคมี 2 ตัวนี้ ทั้งนี้ กรรมการที่อยู่ในห้องประชุม 24 คน มีผู้เห็นด้วยกับการทบทวนมติ 4 คน และไม่เห็นด้วย 20 คน ที่ประชุมจึงมีมติโดยเสียงส่วนใหญ่ว่าไม่สมควรที่จะออกประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากประกาศเพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาและมีการฟ้องคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง จึงมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงสาธารณสุขนำข้อมูลจากคณะกรรมการไปพิจารณาและรายงานคณะกรรมการต่อไป         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 3-2/2563 กล่าวว่า เมื่อมีมติให้แบนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจะต้องมีการหาสารเคมีทางการเกษตรหรือสารทางเลือกเข้ามาทดแทน เพราะสารเคมี 2 ชนิดนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะพูดถึงเรื่องการแบนหรือไม่แบนสารเคมี 2 ตัวนี้ คนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่ม 2.4 เท่าใน 10 ปี          สสส. เผยข้อมูลสำคัญ พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในรอบ 10 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า คนเมือง-กรุงเทพฯ–ภาคกลาง เสี่ยงเสียชีวิตสูงสุด เผยกินผัก-ผลไม้ 400 กรัม/วัน ธัญพืชไม่ขัดสี ช่วยลดเสี่ยง แพทย์ชี้สาเหตุเกิดจาก “พันธุกรรม-พฤติกรรม-โรค” แนะปรับพฤติกรรมการกิน ตรวจคัดกรองก่อนเกิดอาการ        ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สถิติสถานการณ์สุขภาพคนไทย 10 ปีย้อนหลังรายเขตสุขภาพ ระหว่าง พ.ศ. 2552–2561 พบว่า คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่าทั้งเพศหญิงและชาย         ปี 2552 อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ในเพศชาย อยู่ที่ 3.6 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 8.9 คนต่อแสนประชากรในปี 2561 เช่นเดียวกับเพศหญิง ในปี 2552 อยู่ที่ 2.8 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 6.7 คนต่อแสนประชากรในปี 2561         ที่น่าสนใจคือคนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้สูงขึ้น โดยเฉพาะในเขต กทม. ที่มีจำนวนมากที่สุด 15.1 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าในรอบ 10 ปี ตามด้วยภาคกลาง 10.2 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า         การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400-600 กรัม การบริโภคพืชที่เรียกว่า “โฮลเกรน” หรือธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้เช่นกัน นอกจากนี้การออกกำลังกายจะช่วยระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น องค์กรผู้บริโภคเตรียมฟ้อง สปน.เหตุยื้อไม่เร่งเกิด “สภาองค์กรผู้บริโภค”          27 กันยายน 2563 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคเพื่อเตรียมพร้อมเป็นสภาองค์กรผู้บริโภคนั้นใช้ระยะเวลาดำเนินการล่วงมาเกือบ 15 เดือน นับตั้งแต่การยื่นจดแจ้งวันแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ขณะนี้มีจำนวน 144 องค์กรที่ผ่านการจดแจ้งแล้ว เหลืออีกเพียง 6 องค์กรตามกฎหมายกำหนด โดยสาเหตุที่ล่าช้าส่วนหนึ่งเพราะระเบียบอันซับซ้อนของสำนักงานปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ดังนั้นต่อจากนี้ 7 วันหากกระบวนการต่างๆ ยังไม่คืบหน้า องค์กรผู้บริโภคได้เตรียมการฟ้องสปน. ต่อศาลปกครอง         “ถึงแม้จะเหลืออีกเพียง 6 องค์กร ก็ยังมีความจำเป็นต้องเร่งรัดสปน. เพราะสถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ มองว่ากระบวนการตรวจสอบของ สปน.อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงขอให้สปน. เร่งรัดการออกประกาศรับรององค์กรและเร่งประกาศรายชื่อองค์กรผู้บริโภคในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สปน.หรือออก อกผ3 โดยเร็ว หากพบว่ายังล่าช้านานเกินกว่า 7 วัน องค์กรผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดได้เตรียมการที่จะฟ้องสปน. ต่อศาลปกครองทันที          ทั้งนี้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการจัดตั้งสภาขององค์กรผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนกับนายทะเบียนจังหวัดและนายทะเบียนกลาง กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคจำนวน 150 องค์กร สามารถเข้าชื่อยื่นจดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ ตามมาตรา 9  และรวบรวมสมาชิกที่ผ่านการจดแจ้งได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งขององค์กรผู้บริโภค ถึงจะสามารถยื่นจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคได้ และสภาองค์กรผู้บริโภคนั้นต้องรีบดำเนินการจัดทำข้อบังคับและรับฟังความคิดเห็นก่อนการประกาศใช้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2563

พาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าบังคับ ผลิต นำเข้า จำหน่าย ต้องมี มอก.         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศกฎกระทรวงระบุให้ พาวเวอร์แบงค์ เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับ จะผลิต นำเข้า จำหน่าย จะต้องมี มอก        โดยประกาศกฎกระทรวงนี้ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา: คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2563 ประกาศให้สินค้าที่เป็น Powerbank จะต้องผ่านมาตรฐานบังคับ มอก.2879-2560 กฎกระทรวงนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 150 วันนับแต่วันประกาศ ช่วงล็อกดาวน์สินค้ากีฬา-เครื่องครัว-เฟอร์นิเจอร์ ยอดขายพุ่ง 500%.         บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เผยข้อมูลตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของชาวไทยในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาว่า ยอดผู้ซื้อและจำนวนผู้ขายเพิ่มขึ้นกว่า 75%         . โดยนักช็อปใช้เวลาบนแพลตฟอร์มลาซาด้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ (ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม) สินค้าเครื่องกีฬา ของเล่น อุปกรณ์สันทนาการกลางแจ้ง เครื่องครัวขนาดเล็ก เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์ออกกำลังกายนั้นมียอดขายพุ่งขึ้น 250% ถึงกว่า 500% โดยลาซาด้าคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท สูงขึ้น 35% จากปี 2562  มะเร็งตับเจอในชายไทยสูงเป็นอันดับ 1 ตายปีละกว่าหมื่น ไร้อาการเตือน         กรมการแพทย์ เผยมะเร็งตับพบมากเป็นอันดับ 1 ของคนไทยแนะปรับพฤติกรรมสุขภาพลดความเสี่ยง แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย เพศชายพบมากสุด         นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดีถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับ โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สาเหตุของมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้         นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับอาการของมะเร็งตับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย  โพสต์เหล้าเบียร์ไม่มีเจตนาโฆษณาไม่ผิด         นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ออกมาให้ข้อมูลเรื่องโพสต์แก้วเหล้าเบียร์มีความผิดเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่ประชาชนทั่วไปโพสต์ก็มีความผิด ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และเกิดกระแสให้ประชาชนร่วมลงชื่อยกเลิกมาตรา 32 การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า “การตีความมาตราดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ซึ่งในมาตรา 32 ระบุใจความสำคัญไว้ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1. ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เช่น การโพสต์ภาพเหล้าเบียร์พร้อมข้อความต่างๆ เพราะต้องการที่จะขายสินค้าเหล้าเบียร์นั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ 2. ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการมีข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว         ดังนั้น การที่ประชาชนโพสต์ภาพขวดเหล้าเบียร์ หรือแก้วเบียร์ที่มีโลโก้เบียร์ จึงยังไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายนี้ ...แต่ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทำให้คนหันมาสนใจสินค้า มีผลป็นการโน้มน้าวหรือชักจูงใจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงไม่สามารถทำได้" นพ.นิพนธ์กล่าว  มหากาพย์ที่นอนยางพารา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำกลุ่มผู้เสียหายร้อง ปคบ.เอาผิดเพจขายของ         บก.ปคบ. วันที่ 19 มิ.ย. นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค พาผู้เสียหายที่ถูกหลอกซื้อที่นอนยางพาราจำนวนกว่า 50 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.1 บก.ปคบ.และ ร.ต.อ.ดลพิษิฐ คำผง รอง สว.(สอบสวน)กก.1 บก.ปคบ. เพื่อขอให้ดำเนินการทางกฎหมายกับเพจที่ขายของไม่ได้มาตรฐาน         นฤมล กล่าวว่า มูลนิธิฯ พาผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือกับเจ้าพนักงาน ปปง. เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าของบัญชี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ขอให้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ          สำหรับที่มาของปัญหานี้คือ มีผู้เสียหายจากการสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟชบุ๊กเพจจำนวนกว่า 10 เพจ โดยบางรายได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่บางรายก็ยังไม่ได้รับสิ่งของที่สั่งซื้อไป จนกระทั่งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาผู้เสียหายหลายรายได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเพจดังกล่าว จนเจ้าของเพจถูกจับและถูกปิดเพจไปแล้ว   แต่หลังจากนั้นกลับปรากฎพบว่าเพจต่างๆ เหล่านั้นมีความเคลื่อนไหว กลับมาเปิดหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์อีก โดยเฉพาะที่นอนยางพารา จนมึผู้หลงเชื่อสั่งซื้อจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้เสียหายตั้งไลน์กลุ่มโอเพ่นแชต ชื่อ 'กลุ่มมหากาพย์ที่นอนยางพารา' เพื่อรวบรวมความผู้เสียหายและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก่อนจะนำข้อมูลเข้าร้อง ปปง. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนเดินทางเข้าแจ้งความ บก.ปคบ.เพิ่ม  เพื่อเร่งให้ทางการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเพจดังกล่าว ร่วมทั้งเพจอื่นๆ          ทั้งนี้ มีผู้เสียหายที่รวบรวมได้มีจำนวนกว่า 389 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท ที่สั่งซื้อที่นอนยางพาราแล้วยังไม่ได้รับสินค้าหรือบางรายได้รับสินค้าไม่ครบถ้วนหรือส่งสินค้ามาให้แต่ไม่ใช่ ที่นอนยางพารา สำหรับเพจเฟซบุ๊กที่หลอกลวงผู้บริโภคมีด้วยกันหลายชื่อ  และมีเพจที่ปิดไปแล้วแต่มีจุดสังเกตของพฤติกรรมที่เข้าข่ายหลอกลวงนั้น คือในบางเพจมีการใช้ชื่อบัญชีและเลขบัญชีเดียวกันในหลายเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ตรวจมะเร็งวิธีใหม่

        การตรวจวัดทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการเกิดมะเร็งนั้น จำเป็นต่อการวินิจฉัยเพื่อการบำบัดที่ถูกต้องทางการแพทย์ แต่ข่าวคราวเชิงวิชาการเกี่ยวกับการตรวจการเป็นมะเร็งเบื้องต้นด้วยวิธีอื่นๆ ก็ปรากฏขึ้นเป็นข้อมูลในสังคมการเรียนรู้ของเรา แต่ประเด็นซึ่งน่าคำนึงคือ วิธีการดังกล่าวเชื่อได้แค่ไหน สุนัขกับการดมกลิ่นหามะเร็ง         วิธีการแรกที่สดับมาและน่าสนใจคือ การพึ่งพาให้สุนัชช่วยในการตรวจวินิจฉัยการเป็นมะเร็งเบื้องต้น โดยอาศัยพื้นฐานว่า สุนัขนั้นมีระบบรับกลิ่นดีกว่ามนุษย์ราว 10000 เท่า มีข้อมูลที่ย้อนหลังไปถึงปี 1989 ว่ามีจดหมายน้อยของแพทย์สองคนเขียนถึงบรรณาธิการวารสาร Lancet เพื่อเล่าว่า สาวหนึ่งมาหาแพทย์เพื่อจัดการกับมะเร็งผิวหนัง ซึ่งอยู่ในขั้นที่ยังไม่ก่ออันตราย นางเล่าว่าสุนัขของนางขยันมาดมกลิ่นบริเวณที่เป็นไฝตำแหน่งหนึ่ง โดยไม่สนใจไฝที่อยู่ตำแหน่งอื่นของร่างกาย แม้ขณะใส่ชุดนอนปิดบัง สุนัขตัวนั้นก็ยังเข้าดมที่ตำแหน่งเดิมนั้น นางจึงสงสัยและเริ่มกังวลใจจึงมาพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างจริงจัง แล้วพบว่าเริ่มเป็นมะเร็งผิวหนังจริง         ผ่านไปหลายปีจึงมีการประชุมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับการใช้สุนัขในการตรวจเบื้องต้นของการเป็นมะเร็งในคนอย่างเป็นระบบที่สหราชอาณาจักรในปี 2003 จากนั้นจึงมีงานวิจัยตีพิมพ์ในประเด็นดังกล่าวบ้าง เช่น ในปี 2006 บทความชื่อ Diagnostic Accuracy of Canine Scent Detection in Early- and Late-Stage Lung and Breast Cancers ในวารสาร Integrative Cancer Therapies ให้ภาพของกระบวนการทำงานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูว่า สามารถนำสุนัขบ้านธรรมดามาฝึกอย่างเร่งรัดเพื่อระบุคนไข้มะเร็งปอดและคนไข้มะเร็งเต้านมด้วยการดมกลิ่นลมหายใจได้หรือไม่ พร้อมทั้งดูว่าระยะการเป็นมะเร็ง อายุของคนไข้ การสูบบุหรี่ หรือพฤติกรรมการกิน มีผลต่อการใช้สุนัขระบุการเกิดมะเร็งหรือไม่ ผลการใช้สุนัขดมลมหายใจของผู้ป่วยมะเร็งปอดนั้น บทความวิจัยรายงานว่า ได้ผลที่ดีเมื่อเทียบกับการให้สุนัขดมกลิ่นชิ้นเนื้อมะเร็งปอด ค่าความสัมพันธ์อยู่ที่ 0.99 ส่วนในเรื่องของมะเร็งเต้านมนั้นผลที่ได้อยู่ในลักษณะเดียวกันที่ความสัมพันธ์ 0.88 โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นไม่เปลี่ยนไปตามระยะของการเป็นมะเร็ง         ในปี 2015 มีบทความทบทวนเอกสารเรื่อง Study of the art: canine olfaction used for cancer detection on the basis of breath odour. Perspectives and limitations ในวารสาร Journal of Breath Research ซึ่งเป็นการพิจารณางานวิจัยที่ใช้สุนัขดมกลิ่นลมหายใจที่แตกต่างกันระหว่างลมหายใจของผู้ที่เป็นมะเร็งและลมหายใจของผู้ไม่เป็นมะเร็ง ประการสำคัญที่ระบุในบทความคือ สุนัขต้องถูกฝึกมาอย่างดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยที่นึกไม่ถึง (confounding factor) ที่อาจมาเบี่ยงเบนผล เช่น กลิ่นควันบุหรี่จากผู้ร่วมงาน กลิ่นเฉพาะของสารเคมีที่ใช้ในโรงพยาบาลที่ปนเปื้อนในลมหายใจของอาสาสมัครที่เก็บได้ และบางครั้งสุนัขขาดสมาธิในการทำงาน สุดท้ายบทความดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันงานวิจัยที่กำลังทำกันนั้นเป็นการใช้สุนัขตรวจมะเร็งผิวหนัง (melanoma) มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (bladder cancer) มะเร็งรังไข่ (ovarian cancer) มะเร็งเต้านม (breast cancer) มะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate cancer) มะเร็งทางเดินอาหารตอนล่าง (colorectal cancer) และมะเร็งปอด (lung cancer) เป็นต้น หนอนเซ็นจู         สำหรับวิธีการตรวจพิเคราะห์การเริ่มเป็นมะเร็งด้วยวิธีอื่นนั้น ในเดือนมกราคม 2563 โทรทัศน์ช่องหนึ่งได้ออกอากาศสารคดีที่พาไปดูการตรวจโอกาสการเกิดมะเร็งอย่างเร็วในประเทศญี่ปุ่น โดยการตรวจสอบนั้นมีต้นทุนที่น่าจะถูกกว่าการตรวจในห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ในสารคดีตอนแรกที่ออกอากาศนั้นเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งโดยใช้แค่ปัสสาวะของผู้รับบริการที่ไม่ต้องอดอาหารด้วย “หนอนเซ็นจู” ซึ่งมีความสามารถพิเศษด้านการดมกลิ่น หนอนจะเลื้อยเข้าหากลิ่นที่เซลล์มะเร็งปล่อยแล้วถูกขับออกในปัสสาวะ จากนั้นต้องรอผลประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้หนอนได้ทำงานซ้ำหลายครั้งเพื่อความแม่นยำ โดยสามารถรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในระยะต่างๆ ด้วยความแม่นยำถึงร้อยละ 90        หนอนเซ็นจูในที่นี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Caenorhabditis elegans ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มักเรียกง่าย ๆ ว่า C. elegans หนอนชนิดนี้เป็น super-smeller ที่ถูกนำมาใช้ในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย และที่น่าสนใจคือเป็นหนอนชนิดเดียวกับที่บางครั้งพบปนเปื้อนในปลาดิบที่ใช้ทำซูชิ         Dr. Takaaki Hirotsu ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Kyushu University ในเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง A Highly Accurate Inclusive Cancer Screening Test Using Caenorhabditis elegans Scent Detection ในวารสาร PLOS ONE เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 โดยงานวิจัยเริ่มจากการทดสอบความสามารถของหนอนในการคลานเข้าหาเซลล์มะเร็งนั้น ต่างจากการคลานเข้าหาเซลล์ปรกติหรือไม่ จากนั้นจึงทดสอบว่า หนอนสายพันธุ์เดียวกันที่ถูกตัดเอายีนเกี่ยวกับการดมกลิ่นออกไปสามารถคลานเข้าหาเซลล์มะเร็งหรือไม่ ผลปรากฏว่าหนอนปรกติมีความไวต่อการเข้าหาเซลล์มะเร็งในขณะที่หนอนซึ่งไม่มียีนดมกลิ่นไม่สนใจต่อเซลล์มะเร็ง จึงสรุปว่าการเข้าหานั้นเป็นการดมกลิ่นที่เซลล์มะเร็งปล่อยออกมา         ในงานวิจัยนั้นได้ทดสอบตัวอย่างปัสสาวะของอาสาสมัคร 242 คน ซึ่ง 24 คนนั้นเป็นมะเร็ง (มีผลพบ tumor marker) โดยพบว่าหนอนวินิจฉัยถูก 23 คน ผิดพลาดแค่ 1 คน (ซึ่งเรียกว่า ผลลบเทียม) และในกลุ่มควบคุม 218 คน ซึ่งไม่เป็นมะเร็งนั้นผลออกมาว่าไม่เป็นมะเร็ง 207 คน (แสดงว่ามี ผลบวกเทียม เพียง 11คน) บทความเรื่องนี้สรุปว่า  หนอนสามารถใช้ตรวจสอบความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งได้ที่หลายอวัยวะคือ กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร ตับอ่อน ท่อน้ำดี ต่อมลูกหมาก เต้านมและปอด วิเคราะห์จากน้ำลาย         ส่วนสารคดีเรื่องที่สองนั้นเป็นการใช้น้ำลายเพียง 2-3 หยด เพื่อตรวจคัดกรองและคาดการณ์การเกิดมะเร็งบางอวัยวะ เช่น มะเร็งตับอ่อน ในความจริงแล้วการใช้น้ำลายเพื่อตรวจสอบโอกาสเป็นมะเร็งนั้นมีการศึกษามาหลายปีแล้วในบางประเทศ Dr. Magoto Sunamura สังกัด Digestive Surgery and Transplantation Surgery, Tokyo Medical University Hachioji Medical Center และเป็นประธานบริษัท Saliva Tech ซึ่งให้บริการตรวจนั้นให้ข้อมูลว่า เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำลายซึ่งแตกต่างกันไปตามสภาวะของสรีรภาพของร่างกายที่ปรกติหรือผิดปรกติเช่น มะเร็งตับอ่อน เต้านม ปอด และมดลูก         ในบทความเรื่อง Salivary metabolomics with alternative decision tree-based machine learning methods for breast cancer discrimination ตีพิมพ์ในวารสาร Breast Cancer Research and Treatment เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2019 และบทความเรื่อง Elevated Polyamines in Saliva of Pancreatic Cancer ในวารสาร Cancers (Basel) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 ซึ่ง Dr. Magoto Sunamura เป็นหนึ่งในผู้นิพนธ์ให้ข้อมูลว่า ตัวอย่างน้ำลายที่เก็บจากคนที่อดอาหารแล้ว 9 ชั่วโมง ซึ่งแช่งแข็งที่ -80 องศาเซลเซียสทันทีก่อนนำไปวิเคราะห์ปริมาณสาร (ที่เกิดขึ้นในเซลล์ของร่างกายซึ่งถูกขับออกมาทางน้ำลาย) ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า metabolomics ซึ่งใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์เป็นชุดได้แก่ Capillary electrophoresis และ liquid chromatography ที่ควบไปกับ mass spectrometry โดยผลจากการวิเคราะห์นั้นถูกนำไปแปรผลด้วยคอมพิวเตอร์ (เข้าใจว่าเป็นการแปรผลได้รูปซึ่งเรียกว่า contour map) เพื่อดูว่าน้ำลายที่ถูกตรวจนั้นต่างไปจากผลเฉลี่ยของคนทั่วไปซึ่งเก็บเป็นมาตรฐานก่อนหน้านั้นหรือไม่ ถ้ามีความต่างก็แสดงว่ามีแนวโน้มการเป็นมะเร็ง ซึ่งรูปแบบความต่างนั้น (โดยอาศัยความชำนาญ) สามารถบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็งชนิดใด         ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า สารเคมีซึ่งเซลล์มะเร็งปล่อยออกมาแล้วให้กลิ่นนั้นคืออะไร คำตอบที่อาจเป็นไปได้คือ เป็นสารกลุ่ม polyamine ซึ่งเพิ่มมากขึ้นในสิ่งมีชีวิตขณะที่มีการแบ่งเซลล์ ตัวอย่างสารกลุ่มนี้เช่น พิวตรีซีน (putrescine) สเปรมิดีน (spermidine) และสเปรมีน (spermine) โดยอาจมีสารเคมีอื่น ๆ ในกลุ่มอัลเคน (alkanes) เม็ททิเลเต็ดอัลเคน (methylated alkanes) สารประกอบอะโรมาติก (aromatic compounds) และ อนุพันธ์เบ็นซีน (benzene derivatives) ซึ่งจริงแล้วสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ระดับสูงแต่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงกว่าการใช้วิธีการที่ดูง่ายกว่าดังอธิบายให้ทราบข้างต้น         วิธีการดังกล่าวข้างต้นเชื่อได้แค่ไหน ท่านผู้อ่านลองอ่านข้อมูลแล้วชั่งใจก่อนคิดว่าควรเชื่อเพียงใด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2562

ปฏิรูปห้องฉุกเฉิน สปสช. พร้อมจัดบริการนอกเวลาราชการ        สปสช. แถลงผลการประชุม วันที่ 13 พฤศจิกายน ระบุที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอการใช้สิทธิบริการสาธารณสุขตามนโยบาย ‘บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ’ ซึ่งนำเสนอโดย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ ว่า เพื่อลดความแออัดในห้องฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วนได้รับบริการมีคุณภาพมากขึ้น แยกการบริการเจ็บป่วยไม่รุนแรงและเจ็บป่วยทั่วไปออก เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการที่ไม่ถึงเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนมีสิทธิ์เข้ารับบริการนอกเวลาราชการ         โดยมีการออกประกาศตามข้อ 10 วรรคสอง ของข้อบังคับมาตรา 7 กำหนดเพิ่ม ‘เหตุสมควรอื่นเพื่อลดความแออัดในห้องฉุกเฉินและเพิ่มคุณภาพในการใช้บริการนอกเวลาราชการ’ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน กำหนดเงื่อนไขจัดบริการนอกเวลาราชการเฉพาะหน่วยบริการเฉพาะที่มีศักยภาพตามแนวทางบริการฉุกเฉินคุณภาพ ซึ่งจะแยกจัดบริการเป็น 2 ห้องชัดเจนตามมาตรฐานคือ ห้องฉุกเฉินคุณภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีแดงและสีเหลือง) และห้องฉุกเฉินไม่รุนแรงเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลา พร้อมแยกระบบข้อมูลบริการนอกเวลาราชการ         นอกจากนี้ได้เพิ่มค่าบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการเป็นรายการบริการใหม่ โดยกำหนดอัตราชดเชยค่าบริการ 150 บาทต่อครั้ง ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 คาดว่าจะมีการรับบริการประมาณ 1.05 ล้านครั้ง หรือร้อยละ 10 ของการรับบริการผู้ป่วยนอก ใช้งบประมาณไม่เกิน 157.50 ล้านบาท โดยในระหว่างนี้จะเป็นการใช้เงินกองทุนรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมในการดำเนินการหมอเผยพบมะเร็งเต้านมในสาวอายุน้อยเพิ่มขึ้น!         ในงานเสวนา “Save Your BREAST” จัดโดยมูลนิธิถันยรักษ์ รพ.ศิริราช กลุ่มอาร์ตฟอร์แคนเซอร์ และชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย เผยข้อมูลสำคัญว่า มะเร็งเต้านมคร่าชีวิตของผู้ป่วยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ดังนั้นผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพเต้านมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นและมีอายุน้อยลง         รศ.ดร.นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากตรวจพบเร็วในระยะแรกจะเป็นผลดีต่อการรักษา เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ที่ทันสมัยสามารถตรวจพบตั้งแต่ก้อนเล็ก ทั้งวิธีการผ่าตัด การฉายรังสีรักษา การให้ยาคีโม ยาต้านฮอร์โมน และยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่พัฒนาก้าวหน้า สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกให้มีโอกาสหายได้ หรือรักษาผู้ป่วยระยะลุกลามให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นปีหน้าลด-เลิกถุงพลาสติก ก่อนประกาศกฎหมายห้ามใช้เต็มตัว        มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอใช้กลไกขับเคลื่อนการงดใช้ถุงพลาสติก โดยจะมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และภาคเอกชน         “ภายในวันที่ 1 ม.ค. 63 จะลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกที่ใช้กันทั่วไปอยู่ในทุกวันนี้แบบครั้งเดียวทิ้ง หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า “ถุงก๊อบแก๊บ” เพื่อให้หันไปใช้ถุงกระดาษหรือถุงผ้า จากนั้นในวันที่ 1 ม.ค. 64 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะขอให้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการห้ามใช้ถุงพลาสติก แบบครั้งเดียวทิ้งด้วย” นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวกสทช.ยืนยันประเทศไทยจะมี 5G ใช้อย่างแน่นอน ภายในเดือน ก.ค. 2563        นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 คาดว่าจะเปิดประมูลคลื่นสำหรับทำ 5G พร้อมกัน 4 คลื่น ได้แก่ 700 MHz,1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz เพื่อให้สามารถออกใบอนุญาตได้ไม่เกิน 20 ก.พ. 2563 และเริ่มลงทุนโครงข่ายในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563 เพื่อภายในเดือนก.ค. 2563 ผู้ชนะการประมูลจะสามารถเปิดให้บริการ 5G ในบางพื้นที่ที่มีความต้องการได้ ระวังภัยโรคเอ็มเอส (MS) หรือ Multiple Sclerosis         สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ออกโรงเตือนคนวัยทำงาน ระวังภัยโรคเอ็มเอส (MS) หรือ Multiple Sclerosis ทำให้แขนขาอ่อนแรง ชาตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ตามองไม่เห็นหรือมองภาพซ้อน พบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี         นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเอ็มเอส คือโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นประสาทในสมองและไขสันหลัง สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด แต่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น ความไม่สมดุลของภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อไวรัสบางชนิด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในช่วงอายุ 20-40 ปี ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ตามองไม่เห็นหรือมองภาพซ้อน ปัญหาเกี่ยวกับการกลืน การออกเสียง สะอึก ปวดแสบร้อน หรือคล้ายไฟช็อต การทรงตัวที่ผิดปกติ ภาวะเมื่อยล้า ปัญหาด้านความจำ อารมณ์ ความคิด และการควบคุมการขับถ่าย         ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อ ผู้ป่วยแต่ละคนจะแสดงอาการแตกต่างกัน บางคนอาการหนัก หรือบางคนแสดงอาการเป็นครั้งคราว และไม่สามารถคาดเดา จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีการรักษาแบบให้หายขาด แต่เป็นการรักษาเพื่อฟื้นฟูร่างกายและควบคุมอาการไม่ให้แย่ลง โดยแพทย์ให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วยควรงดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงความเครียด         โรคเอ็มเอส เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ควรหมั่นสังเกตร่างกายของตนเอง หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาได้อย่างทันท่วงที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แร่ใยหินที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมี

นับแต่มี มติ ครม. ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เมื่อเดือนเมษายน 2554 ผ่านมา 7 ปีแล้ว ทุกวันนี้ประเทศเรายังนำเข้าแร่ใยหินประมาณ 4 หมื่นตันทุกปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้แต่คำสั่งของรัฐบาลก็ใช่ว่าจะมีผลในทางปฏิบัติได้ง่ายๆ สำหรับประเทศนี้  แร่ใยหินเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพตัวที่สำคัญที่สุด      แร่ใยหิน เป็นกลุ่มของแร่ในธรรมชาติจำพวกเส้นใยเซอร์เพนไทน์(serpentine) หรือแอมฟิโบล(amphibole) ซึ่งเป็นแร่ที่มีประโยชน์ทางการค้าเนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแรง เป็นสื่อนำความร้อนต่ำและทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมี จึงนิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความทนทานสูงทั้งความร้อนและกรด ด่าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน ท่าน้ำซีเมนต์ เบรกและคลัทช์รถยนต์ เสื้อกันไฟ เป็นต้น แต่เพราะก่ออันตรายสูงโดยเฉพาะต่อคนทำงานที่ต้องสัมผัสแร่ตลอดเวลา ซึ่งมีผลการศึกษายืนยันชัดเจนว่า แร่ใยหิน เป็นต้นเหตุราวครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตด้วยมะเร็งจากการประกอบอาชีพ   และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภควัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินได้อีกด้วย หากเกิดกรณีที่วัสดุเสื่อมสภาพจนฝุ่นแร่ฟุ้งกระจายออกสู่อากาศ       แร่ใยหินชนิดหลัก คือ ไครโซไทล์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มสารเซอร์เพนไทน์ ปัจจุบันยังคงมีการใช้อยู่ ขณะที่กลุ่มแอมฟิโบล เกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการนำเข้าแล้ว รวมทั้งประเทศไทยด้วย      สำหรับประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินมาอย่างยาวนาน เพราะไม่มีการทำเหมืองแร่ใยหินในไทย ดังนั้นเกือบทั้งหมดจึงเป็นการนำเข้า โดยเริ่มมีการนำเข้าตั้งแต่ปี 2518 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ  เคยนำเข้าสูงสุดถึงเกือบ 180,000 ตัน ในปี 2540 ก่อนฟองสบู่แตก จนถึงปัจจุบันไม่น่าเชื่อว่าขณะที่หลายประเทศ ซึ่งกังวลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ได้สั่งห้ามการนำเข้าแร่ใยหินทุกชนิด แต่ไทยยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศผู้นำเข้าแร่ใยหินมากที่สุดในโลก ส่วนประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ ของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ รัสเซีย จีน บราซิล คาซัคสถานและแคนาดา ตารางการนำเข้าแร่ใยหินข้อถกเถียงเรื่องการก่อมะเร็งของไครโซไทล์      ประเทศไทยยังมีการนำเข้าแร่ใยหิน ไครโซไทล์ ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทั้งที่มากกว่า 60 ประเทศทั่วโลกต่างก็ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดแล้ว เพราะห่วงใยต่อสวัสดิภาพของคนในประเทศ ประเทศไทยเองก็มีคณะทำงาน (เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประไทย หรือ T-BAN) ที่ติดตามเฝ้าระวังและพยายามผลักดันให้เกิดการห้ามใช้แร่ใยหินทุกชนิดในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าการใช้แร่ใยหินเพื่อทำเป็นวัสดุต่างๆ นั้น  ส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน วิธีที่ดีที่สุดคือ หยุดการใช้ทันที  ซึ่งการทำงานทั้งทางด้านวิชาการและรณรงค์ภาคสังคม ทำให้เกิดมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่เห็นชอบตามยุทธศาสตร์ “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ที่เสนอโดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยเห็นชอบแนวทางห้ามนำเข้า แร่ใยหินไครโซไทล์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินทุกชนิด พร้อมมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติต่อไป      หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าและส่งออก กฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินการประกาศห้ามนำเข้าได้ทันทีหรือวางแนวปฏิบัติในการยกเลิกให้ชัดเจน กลับไม่ดำเนินการใดๆ โดยยกเหตุผลว่า  “ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะต้องมีการระบุถึงวัสดุทดแทนแร่ใยหินที่มีอันตรายน้อยกว่าหรือไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ”  (เหตุผลดังกล่าวไม่มีน้ำหนักแล้ว เมื่อเทคโนโลยีปัจจุบันได้มีวัสดุทดแทนแร่ใยหินแล้ว ซ้ำยังมีราคาถูกกว่าอีกด้วย)      ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงยังไม่มีมาตรการใดๆ ต่อมติ ครม. ดังกล่าว จากที่เคยคาดการณ์กันว่า ประเทศไทยน่าจะยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินได้แล้ว กลับยังต้องรอต่อไป เหมือนปล่อยให้คนไทยยังต้องเสี่ยงต่อภาวะโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น แม้แต่จะยกเลิกได้ทันทีในปี 2554  แต่ในอนาคตก็จะยังมีผู้ป่วยจากแร่ใยหินเกิดขึ้นอีก เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินกันมานานหลายสิบปี และโรคที่เกิดจากแร่ใยหินมีระยะฟักตัวยาวนาน ดังนั้นการลดอันตรายที่ดีที่สุดจึงควรเป็นการหยุดใช้ทันทีเพื่ออนาคตของคนรุ่นถัดไป การทอดเวลาหยุดนำเข้าออกไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับการปล่อยให้คนไทยยังคงเสี่ยงต่อภัยของแร่ใยหินหรือเพิ่มผู้ป่วยขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นเอง      แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการแน่นหนา แต่ขณะเดียวกันกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์กลับดำเนินการโต้ตอบทางข้อมูลว่า ไครโซไทล์ปลอดภัยในการใช้ และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แม้แต่เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ในข่าวของไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 12 มกราคม 2558 ถึงความก้าวหน้าในการห้ามการนำเข้าแร่ใยหินยังกล่าวว่า “...การแก้ปัญหาที่เหมาะสมคือปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยขณะนี้ผู้ผลิตกระเบื้องทั่วโลกกำลังทยอยยกเลิกการใช้แร่ใยหิน และในไทยเหลือเพียง 2 ราย ที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตอีก ทั้งยังไม่พบรายงานผู้ที่ได้รับอันตรายจากการใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน...”      นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่ระบุว่า เป็นศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ อ้างว่า แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นใยหินประเภทที่ก่ออันตรายน้อยมาก ใช้กันมากกว่า 70 ปี ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบใยหินที่รู้จักกันดี ได้แก่ กระเบื้องซีเมนต์มุงหลังคา ท่อน้ำซีเมนต์ชลประทานและท่อประปา ขนาดใหญ่ ฉนวนต่างๆ และผ้าห้ามล้อและจานคลัตช์ คนไทยดื่มน้ำฝนจากหลังคา และน้ำประปาจากท่อน้ำใยหินมาหลายสิบปี ยังไม่ปรากฏว่ามีใครเป็นโรคจากใยหิน      ข้ออ้างดังกล่าวขัดแย้งกับผลการศึกษาทั้งในประเทศและองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งยืนยันว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยมีโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสแร่ใยหินที่สำคัญ ได้แก่ โรคหรือภาวะผิดปกติที่เยื่อหุ้มปอด (น้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบเป็นก้อน เยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม เยื่อหุ้มปอดหนาตัวทั่วไป) พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อเลื่อม(เมโสเธลิโอมา) มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งรังไข่และเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ ทุมวิภาต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรยาย เรื่อง “แร่ใยหิน : ภัยเงียบที่องค์กรผู้บริโภคคุณภาพต้องรู้” ภายในงานประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพว่า จากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุแร่ใยหิน โดย ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ซึ่งได้อาศัยข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558-2559 พบว่า มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน 385 ราย แต่จากการที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ดำเนินการยืนยันความถูกต้อง พบว่า มีผู้ป่วยโรคเหตุใยหินจริง 28 ราย แบ่งเป็นมะเร็งเยื่อเลื่อม 26 ราย ประกอบด้วย มะเร็งเยื่อหุ้มปอด 21 ราย มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง 3 ราย มะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ 1 ราย และมะเร็งที่อัณฑะ 1 ราย พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน 1 ราย และเยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม 1 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ     ทั้งยังระบุอีกว่า “ประเทศไทยมีปัญหาการวินิจฉัยโรคจากแร่ใยหินได้น้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีข้อจำกัด คือ รอยโรคปอดจากแร่ใยหินมีความคล้ายกับโรคปอดชนิดอื่น อาจทำให้แพทย์คาดไม่ถึงว่า เกิดจากแร่ใยหิน ประกอบกับโรคที่เกิดขึ้นมีระยะฟักตัวของโรคนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เช่น พังผืดในปอดจากแร่ใยหินใช้เวลา 20-40 ปี มะเร็งปอดมากกว่า 15 ปี มะเร็งเยื่อหุ้มปอดยิ่งน่ากลัว เพราะใช้เวลามากกว่า 40 ปี และยังหาการสัมผัสแร่ใยหินขั้นต่ำที่ทำให้เกิดโรคไม่ได้ เป็นต้น จนทำให้ผู้ป่วยหลงลืม ทำให้ไม่สามารถซักประวัติโดยละเอียดได้ เพราะคนที่เคยสัมผัสแร่ใยหินอาจมีการเปลี่ยนงานมานาน รวมถึงอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงจากปัจจัยอื่น เช่น สูบบุหรี่ ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจน ทำให้คนที่ไม่อยากแบนแร่ใยหิน เอาข้อมูลนี้มาบอกผิดๆ ว่า คนป่วยไม่เคยสัมผัสแร่ใยหินมาก่อน จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย หากไม่เคยสัมผัสคงไม่ป่วย และย้ำว่า การไม่มีประวัติสัมผัสไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการสัมผัสมาก่อน เพราะการซักประวัติอาจไม่ละเอียดพอ ทำให้ไม่มีการบันทึกในข้อมูลผู้ป่วย”แนวทางในการยุติการนำเข้าแร่ใยหินและการป้องกันกลุ่มเสี่ยงสำคัญ คณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้เสนอแนวทางการเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้แก่ การตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงในโรงงานหรืออาชีพที่สัมผัสใยหิน ควรมีการบังคับใช้กฎหมายในการให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่ดำเนินการต้องมีการลงโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้ ต้องจัดทำทะเบียนคนงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ควรจัดระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มคนงานทั้งในกลุ่มคนงานที่สัมผัสแร่ใยหินและคนงานก่อสร้างอิสระในระยะยาว รวมถึงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพคนเหล่านั้นหากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคเหตุใยหินภายหลังออกจากงานไปแล้ว ที่สำคัญคือการหาแนวทางติดตามคนงานในระยะยาวโดยไม่สูญหาย     ส่วนแนวทางในการยุติการนำเข้า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้เครือข่ายนักวิชาการและกลุ่มองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีการนำเสนอเหตุผลและหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหินมากเพียงใดก็ตาม แต่ภาครัฐก็ยังไม่มีการประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจน รวมทั้งไม่มีมาตรการระดับประเทศที่จะนำไปสู่การสร้างหลักประกันสูงสุดให้กับประชาชน  กุญแจดอกสำคัญอยู่ที่หน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงคือ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นหลักแทนที่จะมองถึงผลได้ผลเสียแต่ในเชิงเศรษฐกิจ     หรืออาจต้องทำดำเนินการตามข้อเสนอของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องการแบนแร่ใยหิน และ คณะกรรมการพิจารณาสารเคมี 3 ชนิด คือ คณะกรรมการชุดเดียวกัน ซึ่งมีกลุ่มคนที่สนับสนุนการใช้สารพิษรวมอยู่ ซึ่งเมื่อดูแล้วจะพบว่า   ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันที่กระทบกับสุขภาพประชาชน ดังนั้นมันมีความชัดเจนแล้วว่ามันมีผลต่อสุขภาพ หากยังมีการใช้เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณผู้ป่วยขึ้นไปอีก สิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้ทั้งสองเรื่องมีความเป็นไปได้ คือ    การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตัวคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือไม่ก็ต้องพิจารณาให้มีการแบนไปเลยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ฉลากมะเร็งในร้านกาแฟ

“ในความเป็นจริงแล้วนักพิษวิทยาทราบมานานแล้วว่า ที่ใดมีควันที่นั่นมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอนเสมอ แต่สารพิษกลุ่มนี้มีอยู่ในปริมาณไม่มากจนก่อให้เกิดพิษในคนส่วนใหญ่ ประการสำคัญคือ สารพิษปริมาณน้อยนี้ (น่าจะ) ช่วยกระตุ้นระบบเอ็นซัมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับสารพิษอื่น ๆ ในอาหารที่เรากินออกจากร่างกายด้วยอัตราที่เร็วขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมคือ 3 - 4 แก้วต่อวัน” ประมาณปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านไปนั้น ผู้เขียนได้แว่วข่าว(ขณะนั่งพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์) จากโทรทัศน์ช่องหนึ่งประมาณว่า “ต้องมีการทำป้ายเพื่อแจ้งผู้ดื่มกาแฟในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาว่า กาแฟมีสารก่อมะเร็ง” ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็ไม่น่ามีอะไร เพราะมันเป็นของรู้กันมานานแล้วในแวดวงนักพิษวิทยาจนต่อมามีเพื่อนที่เล่นแบดมินตันด้วยกันถามความเห็นเกี่ยวกับประกาศที่เกี่ยวกับกาแฟนี้ แต่ด้วยความที่ผู้เขียนไม่ได้ตามข่าวเลยตอบเพื่อนไม่ได้ จึงต้องกลับบ้านเข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจึงได้พบว่า ประมาณวันที่ 27 มกราคม 2518 ที่ผ่านไปนั้น หนังสือพิมพ์ออนไลน์หลายฉบับเช่น USA Today มีการพาดหัวข่าวว่า “Coffee must carry cancer warning label, California judge rules” ซึ่งแปลได้ประมาณว่า (ร้าน) กาแฟจะต้องติดประกาศเตือน ตามกฏหมายแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียว่า กาแฟมีสารก่อมะเร็งเนื้อข่าวที่ได้จาก USA Today กล่าวว่า องค์กรเอกชนชื่อ The Council for Education and Research on Toxics ได้ฟ้องบริษัทที่ขายกาแฟทั้งยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็กราว 90 แห่งว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียคือ California’s Proposition 65 (เดิมชื่อ The Safe Drinking Water and Toxic Enforcement Act of 1986) ที่ต้องมีคำเตือนผู้ดื่มเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดจากการที่กาแฟมีสารเคมี ซึ่งอาจก่อมะเร็งได้ โดยสารเคมีนั้นคือ อะคริลาไมด์(นอกเหนือไปจากสารพิษกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน)California’s Proposition 65 เป็นกฎหมายที่มีเป้าประสงค์ในการปกป้องผู้บริโภคจากอันตรายที่เกิดจากการได้รับสารพิษในน้ำดื่ม(ปัจจุบันขยายความสู่อาหารที่เป็นของเหลวต่าง ๆ) ซึ่งอาจก่อมะเร็งและความพิการของทารก ดังนั้นเพื่อให้มีการลดหรือขจัดความเสี่ยงของผู้บริโภคเนื่องจากสารพิษในผลิตภัณฑ์ที่ทราบแน่ว่า มีสารพิษที่อาจก่อปัญหา ผู้ประกอบการต้องมีการเตือนผู้บริโภคก่อนการสัมผัสอาหารเหล่านั้น (โดยยังยึดหลักว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิซื้อสินค้าดังกล่าว บนพื้นฐานความเสี่ยงที่ยอมรับเอง) ซึ่งว่าไปแล้วก็ดีต่อผู้ประกอบการในกรณีที่เกิดมีผู้บริโภคเป็นมะเร็งแล้วอ้างว่า เนื่องจากบริโภคสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการประกาศเตือนแล้วคงฟ้องได้แต่ชนะยากโดยหลักการตามกฎหมายแล้ว คำเตือนของฉลากมีลักษณะทั่วไปดังนี้ WARNING: This product contains chemicals known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm. (สินค้าที่ผู้บริโภคจะซื้อนั้นได้ถูกตรวจพบว่ามีสารเคมี ซึ่งเป็นที่รู้ต่อรัฐแคลิฟอร์เนียว่า ก่อมะเร็งและความผิดปรกติของทารกแรกเกิดหรือความผิดปรกติอื่นต่อระบบสืบพันธุ์)   โดยอาจมีข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้กลับมาที่กรณีของร้านกาแฟในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งหลังการยื่นฟ้องศาลในปี 2511 แล้ว ได้มีการสืบพยานต่อๆ กันมาจนสุดท้ายในปีนี้ (2518) ผู้พิพากษาศาลในลอสแองเจลิสจึงได้ตัดสินว่า ร้านกาแฟจำต้องมีป้ายเตือนให้ผู้บริโภคระลึกว่า การดื่มกาแฟนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเนื่องจากมีสารก่อมะเร็ง (ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการคั่ว) ทั้งนี้เพราะบริษัทกาแฟขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟนั้น มีประโยชน์ต่อร่างกายมากจนสามารถมองข้ามความเสี่ยงจากสารพิษในกาแฟได้ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ต่างๆ ได้กล่าวพ้องกันประมาณว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เมล็ดกาแฟคั่วแล้วมีการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ (ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่กำหนดตามรัฐบัญญัติ  the Emergency Planning and Community Right-to-Know Act) ในปริมาณน้อย ในความเป็นจริงแล้วสารอะคริลาไมด์นั้น เป็นสารปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในปริมาณน้อยๆ จนดูเป็นของธรรมดาในเมล็ดกาแฟคั่วและอาหารอื่นที่ปรุงสุกด้วยความร้อน เช่น มันฝรั่งทอด บิสกิต และอาหารทารกของบางบริษัท แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ทนายความของบริษัทขายกาแฟ กลับมักง่ายอ้างด้วยความรู้สึกว่า ปริมาณของอะคริลาไมด์นั้นมีค่อนข้างต่ำ จนความเสี่ยงต่อสุขภาพเนื่องจากการดื่มกาแฟนั้นไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งคำพูดดังกล่าวนั้นขาดการสนับสนุนทางวิชาการที่หนักแน่นพอ ศาลจึงไม่รับฟัง เมื่อสืบดูข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟแล้ว ผู้ที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพค่อนข้างเชื่อว่า กาแฟนั้นมีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งในผู้บริโภค ศักยภาพในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟนั้น อาศัยหลักการว่า หลังจากเมล็ดกาแฟถูกคั่วแล้วสีของเมล็ดจะเปลี่ยนไปเป็นสีดำคล้ำ ซึ่งเกิดจากการไหม้และควันที่เกิดจากการคั่วลอยกลับลงมาเคลือบผิวเมล็ด ซึ่งทำให้กาแฟมีกลิ่นไหม้ที่มนุษย์ชอบ ในความเป็นจริงแล้วนักพิษวิทยาทราบมานานแล้วว่า ที่ใดมีควันที่นั่นมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอนเสมอ แต่สารพิษกลุ่มนี้มีอยู่ในปริมาณไม่มากจนก่อให้เกิดพิษในคนส่วนใหญ่ ประการสำคัญคือ สารพิษปริมาณน้อยนี้ (น่าจะ) ช่วยกระตุ้นระบบเอ็นซัมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับสารพิษอื่น ๆ ในอาหารที่เรากินออกจากร่างกายด้วยอัตราที่เร็วขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมคือ 3 - 4 แก้วต่อวันดังนั้นการที่รัฐแคลิฟอร์เนียเตรียมพร้อมบังคับให้ร้านกาแฟติดประกาศเตือนดังกล่าว ดูไปก็เหมือนการเหวี่ยงแหโดยไม่ได้หวังปลาสักเท่าใดนัก เพราะผู้ประกอบการต่างๆ ไม่ใคร่กังวลในเรื่องการติดประกาศนี้ อาจเป็นเพราะคนอเมริกันก็ไม่ได้ใส่ใจในการอ่านฉลากหรือประกาศเช่นกันข้อบังคับทางกฎหมายของ California’s Proposition 65 นี้ ปรากฏว่ามีคนอเมริกันนำไปทำให้ดูเป็นของเล่น ตัวอย่างเช่น ป้ายเตือนติดในที่สาธารณะที่ว่า WARNING: The Disneyland resort contains chemicals known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm หรือ WARNING: Breathing the air in this parking garage can expose you to chemicals including carbon monoxide and gasoline or diesel engine exhaust, which are known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm เป็นต้น ตัวอย่างตลกอื่นๆ สามารถหาดูได้จาก Googleเว็บไซต์เกี่ยวกับมะเร็งเว็บหนึ่งได้กล่าวเป็นเชิงว่า มีการศึกษาทางระบาดวิทยาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า “การดื่มกาแฟอาจช่วยปกป้องผู้ป่วยจากมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก” นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายคนได้กล่าวในอินเทอร์เน็ตประมาณว่า การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า “การดื่มกาแฟอาจช่วยป้องกันผู้ดื่มจากการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ดื่มกาแฟที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วนั้นมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่ไม่ดื่มกาแฟ” อย่างไรก็ดีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถตอบแบบ ฟันธง ให้ศาลยุติธรรมเข้าใจได้ เนื่องจากข้อสรุปที่ได้นั้นจำต้องอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า อาจจะ ซึ่งเป็นกรอบการพูดภาษาทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องรอบคอบ เนื่องจากการทดสอบหรือหาข้อมูลในมนุษย์นั้นมีปัจจัยแฝง(confounding factor) หลายประการที่อาจทำให้สิ่งที่ไม่น่าเกิดกลับเกิดขึ้นมาได้ในภาวะใดภาวะหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 เลี่ยงมะเร็งอย่างไร ตอนที่ 2: วิธีการ

ในฉบับที่แล้วผู้เขียนได้ให้ข้อมูลเชิงวิชาการจาก World Cancer Research Fund (WCRF) เกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในมนุษย์ซึ่งได้แก่ อาหารการกินซึ่งนัยหนึ่งคือพฤติกรรมการบริโภค น้ำหนักตัวของประชาชน และการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรง (physical activity) ดังนั้นในฉบับนี้จึงขอต่อถึง ข้อแนะนำจาก WCRF ในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ซึ่งผู้เขียนได้แทรกหลักการทางวิทยาศาสตร์บ้างพอสังเขป ดังนี้ผักมีแป้งต่ำ(Non-starchy vegetables) เช่น ผักตระกูลกระหล่ำ(กระหล่ำปลี บรอคโคลิ ผักโขม คะน้า ดอกกระหล่ำ เทอร์นิบ เป็นต้น) นั้นเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปาก คอ และทางเดินอาหาร ด้วยเหตุผลที่ทราบกันดีในวงการวิชาการว่า ผักในตระกูลกระหล่ำปลีนั้น มีพฤษเคมีกลุ่มกลูโคซิโนเลท ซึ่งเมื่อถูกเอนไซม์ชื่อ มัยโรซิเนส(myrosinase) ของผักที่ถูกกระตุ้นให้ทำงานขณะการหั่น ซอย ตำ เปลี่ยนสภาพให้เป็นสารอื่นที่กระตุ้นระบบทำลายสารพิษของตับให้ทำงานดีขึ้น ดังตัวอย่างงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศชิ้นหนึ่งกล่าวว่า การบริโภคอาหารของชาวจีน ซึ่งมีกระหล่ำปลีเป็นจานเด็ดสัปดาห์ละสองครั้งช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งโดยรวมถึงสองเท่าผลไม้ต่างๆ เมื่อได้กินในปริมาณที่มากพอในแต่ละมื้ออาหารนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็ง ปอด ปาก คอ และหลอดอาหาร ประเด็นนี้อธิบายได้ด้วยความจริงที่ปรากฏแล้วว่า ผลไม้เป็นแหล่งใยอาหารและพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ เช่น กล้วยให้ใยอาหารซึ่งเป็นโปรไบโอติกของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสซึ่งอยู่ในลำไส้ใหญ่ของเรา มังคุดเป็นผลไม้ที่มีสารต้านออกซิเดชั่นสูงมาก ซึ่งรวมถึงการพบว่า มังคุดมีสารต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารพิษ ดังนั้นมังคุดจึงน่าจะเป็นผลไม้ที่มีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงของมะเร็งได้ ส่วนองุ่นสีเข้มนั้น ถูกทดสอบพบว่าต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารก่อมะเร็งบางชนิดได้ และส้มนั้นเป็นผลไม้ที่พบว่ามีสารขมชนิดหนึ่งที่น่าสนใจชื่อ ดี-ลิโมนีน (d-Limonene) ซึ่งมีแนวโน้มว่า ลดความเสี่ยงของมะเร็งด้วยการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวตายเอง การขยับเขยื้อนร่างกาย(Physical activity) เป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ ลำไส้ใหญ่ เต้านมและมดลูก(ของสตรีหมดประจำเดือน) ทั้งนี้เพราะในช่วงวันทำงานนั้น มนุษย์เงินเดือนมักสะสมขยะอารมณ์ในร่างกาย ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะขจัดทิ้งออกไปกับเหงื่อในวันหยุดพักผ่อนโดยการเล่นกีฬาให้เป็นเรื่องเป็นราว ได้สนุกแบบสมัยเป็นเด็กที่ได้วิ่งเล่น สมองได้คิดถึงสิ่งอื่นและได้มีการหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดฟิน (endorphin) ซึ่งทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น พร้อมสิ่งตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดคือ การลดน้ำหนักตัวซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของมะเร็งใยอาหาร(Dietary fiber) อาหารที่มีใยอาหารสูงได้แก่ ผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ พืชพวกหัวต่าง ๆ ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช เป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ทางเดินอาหารส่วนล่าง เนื่องด้วยคุณสมบัติที่ใยอาหารอุ้มน้ำได้ดีอุจจาระ จึงถูกเพิ่มให้มีน้ำหนักมากเร็วขึ้นในแต่ละวัน สังเกตได้จากผู้ที่กินผักผลไม้มากจะถ่ายอุจจาระแบบสบายๆ อย่างน้อยวันละครั้ง การถ่ายอุจจาระนั้นเป็นกระบวนการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายซึ่งขึ้นกับปริมาณอุจจาระในลำไส้ใหญ่ อีกทั้งใยอาหารบางชนิดมีคุณสมบัติในการจับสารพิษ(ซึ่งถูกอวัยวะภายในเช่น ตับ ไต ลำไส้ เปลี่ยนแปลงให้มีความสามารถในการละลายน้ำแล้ว) ได้ดีจึงลดโอกาสการดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายที่ผนังลำไส้ใหญ่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผักและผลไม้คือ บางชนิดเป็นแหล่งของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี(soluble fiber) ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสในลำไส้ใหญ่ที่กินใยอาหารแล้วปล่อยกรดออกมาปรับให้สภาวะแวดล้อมของลำไส้ใหญ่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของเซลล์มะเร็งการให้นมลูก(Breast feeding) เป็นพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่เต้านม ข้อมูลลักษณะนี้มีการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อปี 2002 ซึ่งพบว่า สตรีราว 150,000 คน ที่ให้นมลูกนาน 12 เดือน (ไม่ว่าจะมีลูกคนเดียวหรือต่อเนื่องหลายคน) มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเพียงร้อยละ 4.3 ของแม่ที่ไม่ให้นมลูก ต่อมาในปี 2009 มีรายงานหนึ่งในวารสาร Archives of Internal Medicine โดยศึกษาในสตรี 60,000 คน พบว่าสตรีที่มีประวัติการให้นมลูกมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมต่ำกว่าสตรีที่ไม่ให้นมลูกถึงร้อยละ 60 และในปี 2014 วารสาร Journal of the National Cancer Institute พบว่าสตรีที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวอัฟริกันนั้นปรกติมักมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูง แต่การให้นมลูกได้ลดปัญหาดังกล่าวให้น้อยลงกาแฟ อาหารนี้มีข้อมูลทางการวิจัยว่า การดื่มกาแฟซึ่งไม่เข้ม ไม่มันและไม่หวานจัดเป็นประจำนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ตับและมดลูก ทั้งนี้เพราะกาแฟมีสารก่อมะเร็งในปริมาณน้อยที่สามารถกระตุ้นให้ระบบเอ็นซัมกำจัดสารพิษออกจากร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดีการระบุระดับการดื่มที่แท้จริงเพื่อลดความเสี่ยงที่เป็นไปได้ในแต่ละบุคคลนั้นยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ ในการแนะนำให้ดื่มกาแฟเพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานว่า เป็นการดื่มหลังอาหาร เพราะแคฟฟีอีนนั้นเป็นสารกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ดังนั้นการดื่มกาแฟในช่วงท้องว่างอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากน้ำย่อยที่ถูกหลั่งออกมาได้กัดผนังกระเพาะอาหาร การเป็นแผลที่อวัยวะนี้อย่างต่อเนื่องย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้อาหารที่มีแคลเซียมสูง(Diets high in calcium) โดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์ต้องการแคลเซียมประมาณ 2.5 กรัมต่อวัน ซึ่งพบว่ามีผลทางอ้อมต่อการลดความเสี่ยงของมะเร็งในทางเดินอาหารส่วนล่าง อย่างไรก็ดียังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนทางวิชาการว่า แคลเซียมระดับใดจึงลดความเสี่ยงได้ ในตำราบางเล่มกล่าวว่า การกินแคลเซียมมากกว่า 5 กรัมต่อวันในคนปรกติหรือ 3 กรัมต่อวันในคนที่มีปัญหาไตทำงานบกพร่องอาจก่ออันตรายได้ จึงยังไม่ควรแนะนำให้มีการเสริมแคลเซียมในลักษณะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ให้กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาเล็กปลาน้อย และนม เป็นต้น การได้แคลเซียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกายของคนที่อาศัยในพื้นที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีแดดอ่อนนั้น อาจต้องเสริมวิตามินดีพร้อมกันไปด้วย เพราะวิตามินดีนี้ช่วยให้แคลเซียมถูกดูดซึมและใช้งานได้ ส่วนคนไทยทั่วไปนั้นอาจไม่จำเป็น ถ้าได้ถูกแสงแดดในตอนเช้าตรู่และบ่ายแก่ ๆ ยกเว้นคนไทยที่ต้องออกจากบ้านก่อนไก่โห่ เพื่อเข้าทำงานในตึกซึ่งปิดสนิทเพราะเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา โดยทำงานจนถึงเวลาไก่ขึ้นคอนนอนแล้วจึงกลับบ้าน คนไทยกลุ่มนี้มีโอกาสขาดวิตามินดีและมักมีปัญหากระดูกไม่แข็งแรงแม้ได้แคลเซียมเพียงพอกระเทียม เป็นเครื่องเทศชนิดที่เชื่อกันว่า ลดความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่างได้ โดยกระเทียม(อาจรวมถึงหัวหอม) เป็นพืชที่ให้กลิ่นและรส ซึ่งช่วยให้อาหารไม่จืดชืด มีการศึกษาพบว่า หลังการทุบสับซอยกระเทียมและหัวหอมนั้นมีสารประกอบกัมมะถัน (Organosulfur) ถูกเปลี่ยนแปลงให้สามารถกระตุ้นให้ระบบเอ็นซัมทำลายสารพิษทำงานได้ดีขึ้น จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการนำเสนอประเด็นที่นักวิชาการที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการบริโภคอาหาร สุขภาพของร่างกายและการออกกำลังกายต่อการเกิดมะเร็ง ได้ให้คำแนะนำพร้อมประสบการณ์บางส่วนของผู้เขียนโดยหวังว่า ถ้าใครปฏิบัติตามแล้วควรเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งน้อยลงกว่าผู้ไม่ปฏิบัตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ค้นหาคำตอบ ‘วัคซีน HVP’ ปลอดภัยหรือไม่? คุ้มค่าหรือไม่?

ร้อยละ 12 ของผู้หญิงทั่วโลกเป็นมะเร็งปากมดลูก 470,000 ราย คือ ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี 233,000 ราย คือ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ และร้อยละ 83 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาในประเทศไทย ความรุนแรงของสถานการณ์มะเร็งปากมดลูกไม่ได้น้อยหน้าระดับโลก มันเป็นโรคภัยที่พบในผู้หญิงไทยบ่อยเป็นอันดับ 2 แต่คร่าชีวิตหญิงไทยสูงเป็นอันดับ 1 ในปี 2551 พบว่าอัตราการเป็นมะเร็งปากมดลูกของผู้หญิงไทยเท่ากับ 16.7 ต่อประชากร 100,000 คน เท่ากับว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ 6,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 2,000 รายต่อปี คุณค่าชีวิตที่สูญเสียประเมินค่าไม่ได้ ขณะที่มูลค่าของราคาที่ต้องจ่ายไปกับโรคนี้ก็มหาศาล ปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผล ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ถ้าโรคอยู่ในระยะลุกลามแปลว่าอะไร? แปลว่าถ้าตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ผู้หญิงไทยมีความรู้และยินยอมสละเวลาไปตรวจกันมากแค่ไหนด้วยตัวเลขที่น่าพรั่นพรึง หน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยจึงมองหาหนทางลดความสูญเสียจากมะเร็งปากมดลูก วัคซีน HPV เป็นหนึ่งในคำตอบที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้พฤษภาคม 2559 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดชนิดวัคซีนและตารางการให้วัคซีนที่เหมาะสมสำหรับประชากรไทย มีมติเห็นชอบแนะนำให้นำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยเร็ว เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง และเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ก็มีมติเห็นชอบและให้บรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยถือเป็นวัคซีนตัวที่ 11 ในรอบ 17 ปีแต่ก่อนหน้านั้น กรุงเทพมหานครได้ริเริ่มโครงการให้บริการวัคซีนป้องกันเอชพีวีในโรงเรียนสังกัด กทม. ไปก่อนแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 โดยมีเด็กนักเรียนหญิงระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ในสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับวัคซีน HPV ร้อยละ 98 สำหรับปีการศึกษา 2559 กรุงเทพฯ ได้ดำเนินโครงการไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 มีนักเรียนหญิงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในสังกัดที่ได้รับบริการวัคซีนจำนวน 16,468 คนการใช้วัคซีน HVP ติดตามมาด้วยคำถามเรื่องความปลอดภัย จากกระแสข่าวการฟ้องร้องในประเทศญี่ปุ่น เพราะพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนเกิดอาการอัมพาตอ่อนแรงและชัก กับอีกด้าน คือ ความคุ้มค่าของวัคซีนว่าราคาที่งบประมาณรัฐต้องจ่ายไปคุ้มกับสิ่งที่ได้คืนมาหรือไม่‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะไปค้นหาคำตอบสำหรับ 2 คำถามนี้องค์การอนามัยโลกรับรองวัคซีน HPV ปลอดภัยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถูกใช้เป็นกรณีตัวอย่างประเด็นผลกระทบจากวัคซีน HPV เพราะมันถูกรัฐบาลประกาศให้ถูกรวมอยู่ในโปรแกรมฉีดวัคซีนพื้นฐานเพียง 3 เดือนเท่านั้น คือ เมษายน-มิถุนายน 2556 จากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นก็เพิกถอนคำแนะนำ เนื่องจากมีรายงานและการร้องเรียนว่า มีผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนเข้าไป และช่วงกลางปีที่ผ่านมาผู้หญิงชาวญี่ปุ่น 64 คน ยื่นฟ้องรัฐบาลและผู้ผลิตวัคซีน HPV หลังได้รับผลข้างเคียงเป็นเงินคนละ 15 ล้านเยน และค่าเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีกตามอาการข้างเคียงที่อาจปรากฏในภายหลังนี่เองที่ทำให้ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอไทยเฝ้าดูด้วยความวิตก นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพหรือไฮแทป (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) และอีกสถานะหนึ่ง คือ กรรมการด้านวิจัยและพัฒนาวัคซีนขององค์การอนามัยโลก ในฐานะนักพัฒนานโยบายและนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ให้ข้อมูลกับเราว่า“ณ ข้อมูลปัจจุบันที่เป็นหลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อถือ พบว่า ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนไม่มีความปลอดภัย”ทวนอีกรอบ ‘ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีน HPV ไม่มีความปลอดภัย’ เราสอบถามกลับด้วยคำถามลักษณะเดียวกันว่า แล้วมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันได้หรือไม่ว่า ‘ปลอดภัย’ นพ.ยศ ตอบว่า“โดยหลักการยาหรือวัคซีนทุกตัวจะให้บอกว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้ แน่นอน ทุกคนยอมรับว่าวัคซีนตัวนี้เมื่อฉีดไปแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย แต่ถึงกับบอกว่าไม่ปลอดภัยและไม่ควรใช้ มันยังสรุปแบบนั้นไม่ได้ เพราะอาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ที่เจอคือหน้ามืด เป็นลม วิงเวียน และพบเจอทั่วโลก และอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งก็เป็นอาการทั่วไปของวัคซีน“แต่วัคซีนตัวนี้ยังไม่เจอผลข้างเคียงรุนแรง ถ้าจะสื่อสารกับประชาชนก็ต้องบอกว่า ณ ปัจจุบันนี้ 10 กว่าปีผ่านมาที่วัคซีนยังอยู่ในท้องตลาด ในทางวิทยาศาสตร์เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าวัคซีนไม่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะเจอผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก”สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น นพ.ยศ อธิบายว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมความเชื่อในการต่อต้านวัคซีนที่ฝังอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาค่อนข้างนานแล้ว คนญี่ปุ่นจึงมักมีความรู้สึกกับวัคซีนในแง่ลบ เคยมีปัญหาวัคซีนหลายตัวในญี่ปุ่นที่คนขาดความเชื่อถือ เมื่อเกิดเรื่องกับวัคซันตัวใหม่อย่าง HPV ทำให้กระแสจุดติดได้ง่าย เพราะมีกลุ่มเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งเฉพาะที่คอยต่อต้านวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนตัวไหนกลุ่มนี้ก็จะระแวงไว้ก่อน และทำให้การฟ้องร้องกรณีผลกระทบจากวัคซีนในญี่ปุ่นทำได้ง่าย เนื่องจากมีกลุ่มและระบบสนับสนุนจำนวนมาก“ที่ผมได้อ่านจากเอกสารวิชาการที่ตีพิมพ์ มีการสอบสวนโดยการไปดูเวชระเบียนของคนญี่ปุ่นที่มีปัญหาข้างเคียง ก็เจอว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นผลจากวัคซีน”นอกจากนี้ นพ.ยศ ยังได้ระบุว่า ปัจจุบันนี้ จุดยืนขององค์การอนามัยโลกถือว่าวัคซีนตัวนี้มีความปลอดภัยอย่างไรก็ตาม การที่จะรู้ว่ายาหรือวัคซีนตัวหนึ่งมีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ ต้องอาศัยเวลายี่สิบถึงสามสี่ปีเป็นเครื่องพิสูจน์ นพ.ยศ แนะนำว่า หากประเทศไทยจะนำวัคซีน HPV มาใช้ ในแง่ความปลอดภัยไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล แต่ก็ไม่ควรฝากชีวิตประชาชนไทยกับข้อมูลของต่างประเทศ รัฐบาลจึงควรสร้างระบบติดตามความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนเชิงรุกที่เป็นข้อมูลของคนไทยวัคซีน HPV คุ้มค่า แต่ไม่คุ้มทุนเรื่องความปลอดภัยดูเหมือนจะเคลียร์แล้ว(ในระดับหนึ่ง) ส่วนคุ้มค่าหรือไม่ ต้องค้นหาคำตอบกันต่อโดยปกติแล้ว การจะบอกว่าการใช้เงินกับสิ่งใด คุ้มค่าหรือไม่ต้องมีสิ่งเปรียบเทียบ อดีตที่ผ่านมามีการศึกษาความคุ้มค่าของวัคซีน HPV อยู่หลายครั้ง ซึ่งบางครั้งก็เป็นการศึกษาโดยบริษัทยา เปรียบเทียบระหว่างฉีดกับไม่ฉีดวัคซีนและไม่ทำอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ก็แน่นอนว่าด้วยลักษณะการเปรียบเทียบเช่นนี้ การฉีดวัคซีน HPV ย่อมคุ้มค่ากว่าแต่ของไฮแทป ศึกษาโดยเปรียบเทียบกับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกัน 3 วิธีที่เป็นที่นิยมและยอมรับในปัจจุบัน คือหนึ่ง-การทำ Pap Smear ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายในไทย โดยทำการตรวจภายในและป้ายเซลล์จากมดลูกป้ายสไลด์และส่งตรวจ วิธีนี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว สอง-Wisual Inspection with Acetic acid หรือ VIA เป็นการใช้น้ำส้มสายชูป้ายปากมดลูกเพื่อดูว่ามีจุดสีขาวปรากฏขึ้นมาหรือไม่ ถ้ามี ก็ใช้ความเย็นจี้ทำลายเซลล์ที่เริ่มผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้น และสุดท้าย-เป็นวิธีการตรวจที่เรียกว่า HPV DNA Test คือการนำเซลล์ปากมดลูกไปตรวจอย่างละเอียดในระดับพันธุกรรม ซึ่ง นพ.ยศ กล่าวว่า ทั้ง 3 วิธีนี้คุ้มทุนมากกว่าการฉีดวัคซีน แต่วัคซีนมีความคุ้มค่ากว่า สรุปคือวัคซีน HPV คุ้มค่า แต่ไม่คุ้มทุนอ่านถึงตรงนี้ คงเริ่มสับสนชีวิต นพ.ยศ อธิบายว่า “คุ้มค่าแปลว่า คุณยอมจ่ายของแพงกว่าเพื่อให้ได้ประโยชน์มากกว่า วัคซีน HPV มีประโยชน์มากกว่าการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกชนิด แต่แพงกว่า คำถามคือเมื่อมันดีกว่า แพงกว่า แล้วเมื่อไหร่จะคุ้ม ประเทศไทยได้ทำการศึกษาจนได้เกณฑ์ว่า ยาและวัคซีนจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อใช้เงินไม่เกิน 160,000 บาทต่อ 1 ปีสุขภาวะ เพราะใช้เงินจำนวนนี้จะทำให้คนไทยอายุยืนยาวขึ้นอย่างสมบูรณ์ 1 ปีถือว่าคุ้ม เช่น ออกยาใหม่ อยากรู้ว่ายาใหม่คุ้มหรือไม่ ก็นำมาเทียบกับยาเดิม ถ้ายาใหม่ทำให้อายุคนไข้ยืนขึ้น 1 ปีและเป็น 1 ปีที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง เช่น เป็นโรคมะเร็ง คุณภาพชีวิตไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ สมมติว่าแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของคนทั่วไป อายุยืนขึ้น 1 ปีเท่ากับ 0.5 ปีสุขภาวะ ถ้าอายุยืนขึ้นแบบนี้ 2 ปีจึงจะเท่ากับ 1 ปีสุขภาวะ ถ้าใช้เงินไม่เกิน 160,000 บาททำให้อายุยืนขึ้น 2 ปีแบบที่มีคุณภาพชีวิตแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับคุ้มค่าในประเทศไทย ข้อมูลนี้มีประโยชน์ใช้เปรียบเทียบยากับทุกตัวได้ถ้าเทียบวัคซีนตัวนี้เทียบว่าแพงกว่าและดีกว่า อยู่ภายใต้ 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะหรือไม่ ใช่ คือคุ้มค่าแล้ว แต่ไม่คุ้มทุนเป็นอย่างไร เนื่องจากวัคซีนอ้างว่าเมื่อฉีดวันนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกในอนาคต แปลว่าในอนาคตเราต้องประหยัดเงินได้จากการรักษาโรคมะเร็ง แสดงว่าเรานำเงินที่ต้องจ่ายในอนาคตเพื่อรักษาโรคมะเร็งมาซื้อวัคซีนวันนี้ โดยที่เราไม่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างนี้ถือว่าคุ้มทุน แต่ ณ ราคาวันนี้ที่บริษัทเสนอให้ยังถือว่าไม่คุ้มทุน”ราคาวัคซีนที่บริษัทยาเสนอให้กับรัฐบาลตอนนี้คือ 375 บาทต่อเข็ม โดยจะต้องฉีด 3 เข็ม ซึ่งยังเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุน แต่ราคาที่คุ้มทุนคือ 300 บาท เรื่องเกิดขึ้นขณะที่ทั้งฝ่ายเราและบริษัทยากำลังต่อรองราคากันอยู่นั้น รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งกลับพูดในที่สาธารณะว่า ประเทศไทยต้องใช้วัคซีน HPV แน่นอน และนั่นทำให้การต่อรองราคาจบลงด้วยราคา 375 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุน“อาจจะเกิดการสับสนเวลาที่แพทย์หรือบริษัทยาบอกว่า โรคมะเร็งรักษาทีเป็นแสน แล้วทำไมการฉีดยาเข็มละ 375 บาทจึงไม่คุ้มทุน คำตอบคือสมมติว่าคนไทยทั้งประเทศป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ย 12 คนต่อ 100,000 คน ฉีดวัคซีนไปแสนคน เท่ากับคุณป้องกันไม่ให้ป่วยแค่ 12 คนเท่านั้น เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นมะเร็ง เราทำวิจัยและทั่วโลกก็ยืนยันเหมือนกัน ถ้าเราฉีดให้ทุกคน แล้วนำเวลาของอายุที่ยืนยาวขึ้นของคนไทยโดยเฉลี่ยหลังได้รับการฉีดวัคซีน อายุจะยืนยาวขึ้นเฉลี่ยแค่ 5-7 วันเท่านั้น ที่น้อยเพราะบางคนไม่ได้อายุยืนยาวขึ้น เนื่องจากไม่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดทั้งชีวิตเขาก็ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่แล้ว”เราแลกเปลี่ยนถกเถียงกับ นพ.ยศ ว่า แต่ถ้านับค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาส ค่าเดินทาง ที่ผู้หญิงจะต้องเดินทางไปตรวจคัดกรองด้วย 3 วิธีข้างต้นทุกๆ 5 ปี การฉีดวัคซีน HPV ก็ยังไม่ถือว่าคุ้มค่าและคุ้มทุนกว่าอย่างนั้นหรือ?“การฉีดสะดวกกว่า ไม่ต้องเสียเวลา เสียโอกาส แต่ผมอธิบายแบบนี้ สิ่งที่เรากลัวกันอยู่คือวัคซีนป้องกันได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น ทั่วโลกจึงแนะนำว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องทำ 3 วิธีนี้เหมือนเดิมมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งชนิดที่ค่อยๆ เป็น ใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการลุกลามจนกระทั่งรักษาไม่ได้ ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้ตรวจมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี ถ้าผู้หญิงไทยทุกคนทำ วัคซีนไม่จำเป็น แถมการตรวจยังดีกว่าด้วย เพราะป้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ประเด็นคือทุกวันนี้ผู้หญิงไทยไปตรวจกัน 60-70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พอเอาวัคซีนมาฉีดก็ป้องกันได้เหมือนเดิมคือ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคุณจะปล่อยคนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ให้เป็นมะเร็งโดยที่ไม่รักษา”คำอธิบายของ นพ.ยศ น่าจะทำให้เข้าใจได้แล้วว่า วัคซีน HPV คุ้มค่าแต่ไม่คุ้มทุนอย่างไร.........ปัจจุบัน วัคซีน HPV เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะได้รับการบรรจุเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ทิ้งท้ายตรงนี้ว่า ตอนวัคซีน HPV เข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ต้นทุนเพียงเข็มละ 90 บาทเท่านั้น แต่ราคาที่ขายคือ 5,000 บาทต่อเข็ม“เราต่อ 300 ยังไม่อยากลดราคา เพราะกลัวเสียราคา” นพ.ยศ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 เลี่ยงมะเร็งอย่างไร ตอนที่ 1: ต้นเหตุ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ World Cancer Research Fund (WCRF) ได้ให้ข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของมนุษย์ได้แก่ อาหารการกิน(พฤติกรรมการบริโภค) น้ำหนักตัวของประชาชน และการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรง (physical activity) ดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำข้อมูลส่วนที่เรียกว่า Continuous Update Project (CUP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการทบทวนผลจากการทำโครงการของผู้เชี่ยวชาญของ WCRF ในการวิเคราะห์ว่า ปัจจัยทั้งสามที่กล่าวข้างต้นนั้นมีผลต่อความเสี่ยงและการอยู่รอดของประชาชนเนื่องจากมะเร็งเพียงใด ดังต่อไปนี้ภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วน (Overweight or Obese) เป็นภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ เต้านม ถุงน้ำดี ไต ตับ หลอดอาหาร รังไข่ ตับอ่อน ต่อมลูกหมาก และมดลูก ทั้งนี้เพราะภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วนนั้นส่วนใหญ่เป็นผลที่เกิดจากการกินอาหารที่มีไขมันและ/หรือแป้งมากเกินไป มีข้อสันนิษฐานว่า การเปลี่ยนแป้งไปเป็นพลังงานนั้น ต้องมีการส่งผ่านอิเล็คตรอนในไมโตคอนเดรียของเซลล์ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นมากๆ ความผิดพลาดที่น่ากลัวคือ การเกิดอนุมูลอิสระในเซลล์ต่างๆ ดังนั้นนักกีฬาหรือผู้ใช้กำลังกายสูงๆ จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีสารต้านอนุมุลอิสระในปริมาณที่เพียงพอ อาหารหมักเกลือ (Salt-preserved foods) ทั้งผักหรือเนื้อสัตว์นั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหาร ข้อมูลนี้มีการกล่าวถึงในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับมะเร็งนานพอควรแล้ว เป็นการอาศัยหลักฐานจากการศึกษาทางระบาดวิทยาของชาติทางเอเชียตะวันออกคือ ญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องอาหารหมักเกลือ (ได้มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่าเกลือที่ใช้ในการหมักนั้นมีสารประกอบเกลือไนไตร์ทสูง)สารหนูในน้ำดื่ม (Arsenic in drinking water) ปัญหานี้เกิดจากการปนเปื้อนสารหนูทั้งจากของเสียทางอุตสาหกรรมและที่ปนเปื้อนจากธรรมชาติ ข้อมูลทางวิชาการกล่าวว่า สารหนูเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง กระเพาะปัสสาวะ ปอด และผิวหนัง สำหรับบ้านเราแล้วเหมืองแร่ดีบุกที่ร้างแล้วในบางจังหวัดแถวภาคใต้เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารหนูในแหล่งน้ำ ซึ่งผู้บริโภคพืชผักผลไม้ที่มีการปนเปื้อนของสารพิษนี้มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังหรือไข้ดำ เครื่องดื่มอัลกอฮอล (Alcoholic drinks) เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง (colorectum คือทางเดินอาหารส่วนลำไส้ใหญ่ต่อกับไส้ตรงถึงทวารหนัก) เต้านม ตับ ปากและคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ประเด็นที่น่าสนใจคือ เครื่องดื่มอัลกอฮอลนั้นเป็นสารเสพติดที่เมื่อเริ่มดื่มแล้วมักต้องเพิ่มปริมาณจนผู้ดื่มมีอาการพิษสุราเรื้อรัง อีกทั้งอัลกอฮอลนั้นเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูงกว่าแป้งแต่ต่ำกว่าไขมัน ดังนั้นผู้ที่ดื่มหนักย่อมอิ่มพลังงาน จนไม่สนใจกินผักและผลไม้ จึงขาดสารอาหารสำคัญหลายชนิด ซึ่งมีความสำคัญในการต้านสารพิษที่ร่างกายได้รับจากอาหารที่ใช้แกล้มเหล้าเบต้าแคโรตีนในรูปอาหารเสริม (Beta-carotene supplements) มีผลการศึกษาทางระบาดวิทยากล่าวว่า สารอาหารนี้เมื่อกินเป็นอาหารเสริมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดในคนที่สูบบุหรี่ ทั้งที่เบต้าแคโรตีนนั้นถูกระบุว่า มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ที่กินสารอาหารนี้จากอาหารธรรมชาติ เช่น ฟักทอง ใบตำลึง มะละกอสุก มะม่วงสุก ฯลฯ ซึ่งปริมาณอาหารที่กินแบบปรกตินั้น เป็นตัวกำหนดปริมาณเบต้าแคโรตีนที่ร่างกายได้รับไม่ให้สูงเกินจนก่ออันตรายที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ตามสมมุติฐานที่มีการเสนอไว้เครื่องดื่มมาเต (maté) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มในลักษณะเดียวกับชา ซึ่งชงจากใบพืชพื้นเมืองชื่อ Yerba-Mate(Ilex paraguariensis) ในอเมริกาใต้ พืชชนิดนี้ขึ้นได้ดีตามที่ราบลุ่มแม่น้ำในอาร์เจนตินา บราซิล อุรุกวัย และปารากวัย ในการชงเป็นเครื่องดื่มนั้นนิยมนำใบและกิ่งใส่ลงในน้ำร้อนแบบเดียวกับการชงชา ปรากฏว่าการดื่มเครื่องดื่มนี้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งหลอดอาหาร(esophagus) ของชาวลาตินอเมริกาในอเมริกาใต้ ซึ่งก็เป็นไปในทำนองเดียวกับการข้อมูลที่ทราบกันดีว่า น้ำชาและกาแฟที่ร้อนมาก ๆ มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารดังที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไปแล้ว อีกทั้ง International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้จัดเครื่องดื่มมาเตให้อยู่ในประเภทของสารก่อมะเร็งชั้น น่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably carcinogenic to humans) ปลาเค็มหมักแบบกวางตุ้ง (cantonese style salted fish) ซึ่งเป็นอาหารหมักที่เค็มแบบสุดๆ เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก (nasopharynx) มีผู้กล่าวว่า ปลาเค็มในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นอาหารสำหรับคนจนในประเทศจีน ซึ่งต้องการกินข้าวได้เยอะโดยกินกับข้าวน้อย ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า พฤติกรรมการกินแบบนี้ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบถ้วนจึงมีร่างกายไม่แข็งแรงอาหารเนื้อหมัก (processed meat) ที่คนไทยรู้จักดีคือ แฮม เบคอน ไส้กรอกซาลามี เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่างและกระเพาะอาหาร ประเด็นดังกล่าวนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเตือนผู้บริโภคทั้งโลกแล้ว ดังนั้นการลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งของอาหารเนื้อหมักแบบฝรั่ง(และกุนเชียงของคนจีน) นั้น จึงทำได้ด้วยการกินอาหารประเภทนี้พร้อมผัก ผลไม้และเครื่องเทศ เพื่อให้ได้รับใยอาหารและสารพฤกษเคมีพร้อมกันซึ่งช่วยในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เนื้อแดง (Red meat) เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีหลักฐานทางระบาดวิทยาระบุว่า เนื้อแดงเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยมีสมมุติฐานกล่าวว่า เนื้อแดงซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวสูงนั้นมีโมเลกุลของเหล็ก(องค์ประกอบของโปรตีนมัยโอกลอบิน) สูงกว่าเนื้อขาว จึงมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดอนุมูลอิสระชนิด ไฮดรอกซิลฟรีแรดิคอล ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์กลายพันธุ์จนถึงกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ นักพิษวิทยามักแนะนำให้กินเนื้อแดงแต่พอควรและกินกับผักและผลไม้ต่างๆ เพื่อให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระเพียงพออาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง (high glycemic load) อาหารประเภทนี้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งที่มดลูก คำเตือนนี้อาจเนื่องจากสมมุติฐานว่า ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นนั้นมักกระตุ้นการสร้างไขมันให้สูงขึ้นโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนที่มักเกิดเพิ่มมากขึ้นกว่าปรกติในสตรีที่อยู่ในสภาวะอ้วน ประเด็นที่น่ากังวลคือ ฮอร์โมนนี้ถูกจัดว่าเป็น สารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นเองในร่างกายมนุษย์ โดยหน่วยงานทางพิษวิทยาที่ชื่อ National Toxicology Program ของสหรัฐอเมริกาอะฟลาทอกซิน (aflatoxins) เป็นสารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนบนธัญพืช เครื่องเทศ ถั่วลิสง ถั่วพิตาชิโอ ถั่วบราซิล ข้าวโพด ข้าวเจ้า ข้าวฟ่าง พริกแห้ง พริกไทย ผลไม้แห้งต่างๆ และอีกมากมายแม้แต่กัญชาตากแห้งก็ไม่พ้น สารพิษนี้เป็นสารก่อมะเร็งตามธรรมชาติที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ ซึ่งรู้กันมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ปัญหาของอะฟลาทอกซินนั้นเกิดมานานแล้วและจะยังดำรงตลอดไปจนกว่าโลกนี้สลายเนื่องจากเป็นเรื่องยากมากที่จะถั่วลิสงที่ถูกกะเทาะเอาเปลือกออกแล้วปลอดสารพิษนี้นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตซึ่งยังตั้งสมมุติฐานไม่ได้คือ ความสูง (Height) นั้นมีข้อมูลทางระบาดวิทยาระบุว่า คนที่สูงมากกว่าคนอื่นเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง เต้านม ไต รังไข่ ตับอ่อน และต่อมลูกหมาก มากกว่าคนที่เตี้ยกว่า และการมีน้ำหนักแรกเกิดมากเกินไป (Greater birth weight) เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมในเด็กที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สำหรับในเดือนหน้าจะเป็นตอนที่สองซึ่ง World Cancer Research Fund จะให้ข้อเสนอแนะในการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งสำรหับประชาชนทั่วไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2558 “สีย้อมผ้า” ห้ามใช้สารก่อมะเร็งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือ สมอ. ออกมายืนยันแล้วว่า ในปีหน้าจะมีการประกาศมาตฐารบังคับ (มอก.) กับผลิตภัณฑ์ สีย้อมผ้า เนื่องจากที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมากว่าสีย้อมผ้าที่วางขายในประเทศไทยมีการใช้สาร “อโรมาติกส์” ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งหลายๆ ประเทศในแถบยุโรปได้มีการประกาศยกเลิกใช้สารดังกล่าวแล้ว เพราะหากผู้บริโภคสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสารดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ ที่ยังมีผิวบอบบาง นอกจากนี้ยังเตรียมกำหนดมาตรฐานบังคับกับผลิตภัณฑ์สีประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สีน้ำมัน และ สีเคลือบแอลคีด ในด้านความปลอดภัยที่จะกำหนดคุณลักษณะเรื่องปริมาณโลหะหนัก อย่าง ตะกั่ว แคดเมียม ไม่ให้เกิน 100 พีพีเอ็ม เพราะสารโลหะหนักถือเป็นสารอันตรายที่มีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของสมอง ซึ่งที่ผ่านมานิตยสารฉลาดซื้อเองก็เคยลงผลสำรวจว่า ยังพบการใช้สีน้ำมันที่มีส่วนประกอบของโลหะหนัก ทาอยู่ตามอาคารต่างๆ เครื่องเล่นสนาม และของเล่นเด็ก ซึ่งโลหะหนักจะพบได้ในสีที่มีเฉดสีสดๆ เช่น สีแดง สีเหลือง สีส้ม ซึ่งสีที่ทาไปนานๆ อาจจะมีการหลุดร่อนออกมา หากเด็กๆ มีการสัมผัสหรือนำเข้าปากก็จะเป็นอันตราย   เพิ่มโทษคนขายเครื่องสำอางอันตรายในช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยจากการใช้เครื่องสำอางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ส่งผลเสียต่อผู้ใช้ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง ทำให้ผู้ใช้เสียโฉม อย.พยายามจัดการปัญหาดังกล่าวมาตลอด โดยล่าสุดได้มีการปรับปรุง พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ทำผิด พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา โดยในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภค มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการใช่เครื่องสำอาง และต้องมีมาตรการเรียกคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยจากท้องตลาด และกำหนดให้มีด่านตรวจสอบเครื่องสำอางที่นำเข้ามาขายในประเทศ ที่สำคัญคือการเพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทำผิด จากเดิมที่ผู้ขายผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ผสมสารต้องห้ามจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังให้อำนาจ อย. ในการกำกับดูแลเรื่องการโฆษณาเอาไว้ด้วย จากเดิมที่ต้องอ้างอิงกับ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ทำให้การตรวจสอบและจัดการปัญหาน่าจะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น “คปภ.” จับมือ “ศาลยุติธรรม” พัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จับมือร่วมทำงานกับ สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยด้วยวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยและวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องนำไปเรื่องไปสู่ศาล ซึ่งใช้เวลานาน ถือเป็นผลดีกับทั้งผู้ซื้อประกันและบริษัทประกัน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยมีบริการอยู่มากมาย ซึ่ง คปภ. เองก็คาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตข้างหน้าน่าจะมีปัญหาร้องเรียนจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น การนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในการระงับข้อพิพาทระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยจะทำให้สามารถยุติข้อพิพาทได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของคดีที่จะเข้าสู่ศาล โดยในแต่ละปีมีเรื่องฟ้องร้องด้านประกันภัยมาที่ คปภ. ประมาณ 12,000 เรื่อง โดยสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเสร็จสิ้นประมาณ 95% ในปี 2559 คปภ. จะทำงานในเชิงรุกในเรื่องของการระงับข้อพิพาทให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีกฎกติกาที่ชัดเจนและจะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ กินหลากหลายลดเสี่ยงมะเร็งลำไส้ หลังจากที่องค์การอนามัยโลกออกมาให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปและเนื้อแดงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเมื่อถูกนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยก็ได้สร้างความตกใจให้กับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนกกับข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากเนื้อสัตว์ถือเป็นอาหารที่เราทานกันเป็นปกติ เนื้อสัตว์มีโปรตีนซึ่งให้ประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกายของเรา ซึ่งผลวิจัยที่นำมาออกมาเผยแพร่นั้นเป็นผลวิจัยที่ได้จากห้องทดลอง แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เราไม่ได้บริโภคเพียงแค่เนื้อสัตว์อย่างเดียว ข้อมูลที่ออกมาจึงเป็นเหมือนคำเตือนเพื่อสร้างความตระหนักในการบริโภคมากกว่าที่เป็นไปในลักษณะของการห้ามการบริโภคแบบเด็ดขาด รศ.ดร.วิสิฐ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งมีหลายประการ ไม่ใช่แค่การกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะเกิดโรคขึ้น โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ เท่าที่มีหลักฐานคือ การบริโภคอาหารที่มีไฟเบอร์ หรือกากใยน้อย ซึ่งตามปกติต้องบริโภคให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม นอกจากนี้เราควรกินอาหารแต่พอดี ไม่เยอะหรือน้อยเกินไป  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีกิจกรรมเคลื่อนไหวไม่ให้ลำไส้อยู่นิ่งๆ และต้องขับถ่ายให้เป็นปกติ ไม่ให้ลำไส้สะสมสารพิษ ทั้งหมดที่กล่าวมาคือสิ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้ ประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนแล้ว ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมีครอบคลุมหลายด้าน เช่น  กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย มีการเพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ จากเดิมที่มีสิทธิได้รับเฉพาะค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่ และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายา และค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย กรณีคลอดบุตร และ สงเคราะห์บุตร เพิ่มสิทธิให้ได้รับค่าคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง  พร้อมได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิง จากเดิมที่มีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้ง เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน กรณีสงเคราะห์บุตร ได้เพิ่มเป็นคราวละไม่เกิน 3 คน จากเดิมที่ได้รับคราวละไม่เกิน 2 คน สำหรับกรณีว่างงาน ก็มีการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น กรณีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม จากเดิมที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น ยังมีสิทธิประโยชน์อีกหลายด้านที่เพิ่มขึ้นในพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ผู้ประกันตนสามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนตุลาคม 2558ศาลให้ผู้บริโภคชนะ คดีรถเชฟโรเลตไม่ได้มาตรฐานหลังจากต้องใช้เวลาฟ้องร้องนานกว่า 2 ปี ในที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาให้ตัวแทนจำหน่ายและผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต คืนเงินดาวน์และเงินค่าเช่าซื้อพร้อมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ให้แก่กลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์เชฟโรเลตจำนวน 6 ราย หลังจากที่กลุ่มผู้ฟ้องร้องประสบปัญหาจากการใช้รถทั้งๆ ที่รถยนต์ดังกล่าวเป็นรถใหม่ที่เพิ่งซื้อมาใช้งานได้เพียงไม่กี่เดือน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ที่สำคัญเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตของผู้ใช้รถยนต์ โดยหลังจากได้มีการนำเรื่องร้องเรียนต่อ สคบ. โดยมีศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยดำเนินการ ได้มีการนำรถที่เกิดปัญหาไปทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากตัวรถไม่ได้เกิดจากผู้ใช้ สุดท้ายจึงได้มีการนำเรื่องเข้าฟ้องร้องต่อศาลในรูปแบบคดีผู้บริโภค ศาลแพ่งพิจารณาจากคำฟ้องที่กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นมาเห็นว่า บริษัทตัวแทนจำหน่ายต้องชำระคืน เงินดาวน์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมด ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระหมด คดีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภค เมื่อพบเจอปัญหาจากการใช้สินค้าหรือบริการใดๆ อย่ารอให้ความเสียหายเกิดขึ้นก่อน ต้องออกมาใช้สิทธิของตัวเอง   เตรียมเพิ่ม “วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก” ในบัตรทองสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมเพิ่ม “วัคซีนเอชพีวี” (HPV : Human Papillomavirus) วัคซีนที่มีผลในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกเข้าไปรวมอยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทองในปี 2560 ตามแผนที่วางไว้ โดยจะฉีดให้กับเด็กชั้น ป.5 – ป.6 ทั่วประเทศ รวมแล้วคนละ 2 เข็ม หลังจากที่ทาง สปสช.ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรคทำการศึกษาแล้วพบว่า วัคซีนเอชพีวี เป็นวัคซีนที่มีความจำเป็น และปัจจุบันฉีดแค่คนละ 2 เข็มก็สามารถให้ประสิทธิผลในการป้องกันได้ จากเดิมที่ต้องฉีดถึงคนละ 3 เข็ม ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ซึ่งมะเร็งปากมดลูกถือเป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้หญิงเป็นจำนวนมาก เป็นรองแค่โรงมะเร็งเต้านมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวัคซีนตัวอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายที่ทาง สปสช. กำลังพิจารณาเพื่อบรรจุลงในสิทธิบัตรทองในปี 2560 เช่น วัคซีนฮิบ (HIB) ป้องกันโรคปอด และ วัคซีนโรตา ป้องกันโรคอุจจาระร่วง ซึ่ง สปสช.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม  “น้ำดื่ม-น้ำแข็ง” ตกมาตรฐานเพียบไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าน้ำดื่มและน้ำแข็งในบ้านเราพบตกมาตรฐานด้านคุณภาพเป็นจำนวนมาก หลังมีข้อมูลจากการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งทั่วประเทศ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 4,750 ตัวอย่าง สำรวจช่วงเดือน ธ.ค. 2557 – ก.ค. 2558 จำแนกเป็นน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท 4,135 ตัวอย่าง และน้ำแข็ง 615 ตัวอย่าง พบว่า มีคุณภาพได้มาตรฐาน 2,690 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 56.6 และไม่ได้มาตรฐานถึง 2,060 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43.4 โดยปัญหาเรื่องคุณภาพที่พบสามารถแยกได้ดังนี้ 1.ไม่ได้มาตรฐานด้านกายภาพและเคมี 1,584 รายการ คิดเป็นร้อยละ 63.2 สาเหตุหลักมาจากความเป็นกรด - ด่าง ที่สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด 1,505 รายการ พบปริมาณไนเตรทไม่ได้ค่ามาตรฐาน 47 รายการ และพบปริมาณฟลูออไรด์ไม่ได้ค่ามาตรฐาน จำนวน 32 รายการ 2.ไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ 921 รายการ ร้อยละ 36.8 สาเหตุจากพบเชื้อโคลิฟอร์มเกินมาตรฐาน 737 รายการ เชื้ออีโคไล 153 รายการ เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษชนิดสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส 22 รายการ และเชื้อซาลโมเนลล่า 9 รายการ ซึ่งสาเหตุที่พบน้ำดื่มและน้ำแข็งตกมาตรฐานจำนวนมากในการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ น่าจะมาจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดการจัดการด้านสุขลักษณะ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำการแจ้งผลการตรวจวิเคราะห์และให้คำแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานต่อไป  อย.เตือน “สบู่คลอรีน” อันตรายมาใหม่อีกแล้วสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อความสวยความงาม ที่มาพร้อมกับคำโฆษณาชวนเชื่อ ล่าสุดเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์อย่าง “สบู่คลอรีน” (Chlorine Soap) ที่อวดอ้างสรรพคุณว่าใช้แล้ว ผิวขาวใส ขาวเร็วทันใจ แค่อาบน้ำฟอกสบู่ธรรมดาผิวก็ขาวขึ้นทันตาทำให้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมในหมู่คนอยากขาวในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งล่าสุดทาง อย. ก็ได้ออกมาเตือนว่า สารฟอกสีในกลุ่มคลอลีน ถือเป็นสารต้องห้ามใช้กับผิวหนัง เพราะมีฤทธิ์รุนแรงอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองและถึงขั้นทำให้ผิวอักเสบได้ ซึ่งปกติคลอรีนก็ถือเป็นสารต้องห้ามในเครื่องสำอางอยู่แล้ว ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดวัตถุห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอาง นอกจากนี้การโฆษณาเครื่องสำอางโดยใช้ภาพหรือข้อความที่สื่อว่าสามารถทําให้สีผิวมีการเปลี่ยนแปลง หรือทําให้สีผิวขาวขึ้นมากกว่าหรือแตกต่างจากสีผิวเดิมตามธรรมชาติหรือใช้ข้อความอื่นที่มีความหมายในทํานองเดียวกัน ก็ถือว่ามีความผิดตามคําสั่งของคณะกรรมการเครื่องสําอาง เรื่อง ข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณาเครื่องสําอาง ซึ่งแม้ว่าตัวอย่างที่ทาง อย. สุ่มเก็บมาวิเคราะห์จะไม่พบการปนเปื้อนของสารในกลุ่มคลอรีน แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงสบู่ที่อวดอ้างเรื่องความขาวเป็นดีที่สุด เพราะเสี่ยงต่อการผสมสารอันตราย  คน กทม. ขอศูนย์สาธารณสุขชุมชนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขตพื้นที่ กทม. และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน พร้อมด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขและประชาชนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครกว่า 400 คน รวมตัวกันยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้มีการยกระดับศูนย์สาธารณสุขที่มีความพร้อมให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนในทุกเขต และให้มีกองทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในพื้นที่ กทม. อย่างแท้จริงและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกทม. พร้อมดูแลประชาชนที่ไม่มีเลข 13 หลักหรือไม่สามารถยืนยันสิทธิได้โดยเหตุผลของการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบัน กทม. ถือเป็นจังหวัดเดียวที่ยังไม่มีกองทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคระดับพื้นที่ เรียกว่ายังขาดเรื่องการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเรื่องการดูแลสุขภาพในระดับชุมชน ทั้งๆ ที่ กทม.เป็นเมืองใหญ่มีประชากรอาศัยเป็นจำนวนมาก เมื่อเจ็บป่วยได้แต่ใช้บริการโรงพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งบางครั้งโรงพยาบาลกับที่พักมีระยะห่างกันมาก เป็นภาระกับผู้ป่วย โรงพยาบาลที่ร่วมสิทธิส่วนใหญ่ก็มีข้อจำกัดเรื่องการให้บริการเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มี ผู้ป่วยหลายรายไม่มีทางเลือกต้องไปใช้โรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง โดยการมายื่นหนังสือครั้งนี้ต้องการให้ กทม. จัดสรรศูนย์สาธารณสุขชุมชนที่มีความพร้อมให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของ กทม.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2557 ไม่อยากมีปัญหา อย่ากิน “ยาสลายมโน” ปราบยังไงก็ไม่หมดจริงๆ สำหรับบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณที่โฆษณาขายกันอย่างโจ๋งครึ่ม ทำผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อแล้วเป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “ยาเม็ดสลายมโน” (แค่ชื่อก็ดูไม่น่าเชื่อถือแล้ว) ที่กำลังระบาดหนักทางโซเชียลมีเดีย โดยยาสลายมโนอวดอ้างสรรพคุณด้วยประโยคเด็ดว่า “กินแล้วมโนภาพ จินตนาการ หรือความเพ้อเจ้อ เพ้อฝันว่าจะมีหน้าอกสวยงาม กระชับ เต่งตึงได้รูปจะเป็นจริง” สาวๆ หลายคนอ่านแล้วก็หลงเชื่อ เผลอนโมไปว่ากินยานี้แล้วเราของจะสวยขึ้นแน่นอน ซึ่งราคาขายอยู่ที่กระปุกละ 590 – 700 บาท อย.เห็นแบบนี้เข้าจึงอยู่เฉยไม่ไหว ต้องออกโรงเตือนอย่าหลงเชื่อซื้อยาสลายนโนมากินเด็ดขาด เพราะเข้าข่ายโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง กินแล้วไม่ได้อย่างคำโฆษณาแถมอาจเสี่ยงจากโรคอื่นเป็นของแถม ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ ขอให้พิจารณา อ่านฉลาก และตรวจสอบข้อมูลให้ถ้วนถี่ หรือนำเลขที่สารบบในกรอบเครื่องหมาย อย. ไปตรวจสอบกับทาง อย. หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนไปที่ สายด่วน อย. โทร. 1556   “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” สารพิษสูง ใครที่ทานอาหารตามร้านอาหารบ่อยๆ คงจะคุ้นตากับ “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” ที่หลายๆ ร้านใช้อุ่นอาหารพวกต้มยำหม้อไฟที่นำมาวางเสิร์ฟบนโต๊ะให้ร้อนอยู่เสมอ ซึ่งจากนี้ไปมื้อไหนที่มีแอลกอฮอล์อุ่นอาหารอยู่บนโต๊ะ ก็อย่ามัวแต่เพลินกับความอร่อย ต้องสังเกตแอลกอฮอล์อุ่นอาหารเพราะมันอาจมาพร้อมกับสารเคมี อย. ได้ตรวจจับแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร ยี่ห้อ “กรีนพาวเวอร์” จำนวน 50 ลัง น้ำหนักรวม 2,266 กิโลกรัม และแอลกอฮอล์แข็ง-เจล จำนวน 122 ถัง น้ำหนักรวม 1,586 ลิตร มาเผาทำลาย เนื่องจากมีการตรวจวิเคราะห์พบปริมาณเมทานอลเกินกว่ากำหนด คือ 86.7% ทั้งที่มาตรฐานต้องไม่เกิน 1% เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง สำหรับผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์อุ่นอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีใช้กันอย่างแพร่หลาย ใช้อุ่นอาหารประเภทหม้อไฟ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้จัดเป็นวัตถุอันตรายถูกกำกับควบคุมโดย อย. สำหรับอันตรายของแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ตาพร่า และถ้าสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือใครที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นี้ ต้องเลือกที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน สมอ. กำกับเพื่อความปลอดภัย   “ซิมดับ” มาแน่ กันยายนนี้ กสทช. เตือนคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือในคลื่นความถี่ 1800 MHz (เมกกะเฮิร์ตช) รีบทำการโอนย้ายเปลี่ยนแปลงระบบ ก่อนจะเจอกับอาการซิมดับของจริงในเดือนกันยายน 2557 นี้ โดยตัวเลขผู้ใช้โทรศัพท์ที่ยังคงค้างอยู่ในคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ 2 บริษัท ประกอบด้วย ทรูมูฟ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเหลืออยู่ทั้งสิ้นราว 5 ล้านกว่าราย ส่วนดีซีพีเหลือประมาณ 6,000 ราย ผู้ใช้เลขหมายคลื่นความถี่ 1800 ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการใช้งานโทรออก-รับสาย และส่ง SMS เป็นหลัก การใช้งานไม่สลับซับซ้อน ไม่ใช่การส่งภาพหรือใช้อินเตอร์เน็ต ปัญหาคือ ผู้ใช้เลขหมายบางคนไม่ได้เป็นคนซื้อโทรศัพท์หรือดำเนินการเอง เช่น ลูกซื้อให้พ่อ-แม่ คนใช้งานอาจไม่ได้ใส่ใจหรือติดตามข่าวสารว่า เลขหมายของตัวเองอยู่ในข่ายที่ต้องโอน ผู้ที่ยังใช้โทรศัพท์ในเครือข่าย 1800 MHz หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในระบบใด ให้รีบติดต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายและทำการย้ายโอนเครือข่าย เพื่อป้องกันปัญหาซิมดับที่ส่งผลต่อการใช้งานโทรศัพท์มือถือ   ไขปริศนา สารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติก จากกระแสข่าวลือที่สะพัดบนโลกออนไลน์ว่า น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งตากแดดไว้ในกระโปรงท้ายรถยนต์ เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เพราะจะมีสารไดออกซิน สร้างความสับสนและกังวลของผู้คนในสังคม ว่าข่าวดังกล่าวจริงเท็จประการใด เพื่อไขข้อข้องใจทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ว่า เรื่องสารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติกนั้น เป็นเรื่องไม่จริง โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต โพลิพรอพิลีน โพลิคาร์บอเนต และโพลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว พบว่า ตรวจไม่พบสารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง สารไดออกซินเป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น กรณีที่สารไดออกซินจะละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำที่วางไว้ในที่ร้อนๆ อย่าง หลังรถยนต์ ยังไม่เคยมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันการตรวจพบมาก่อน   เด็กไทยยังเสี่ยงสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม กระทรวงสาธารณสุขเผยผลสำรวจที่น่าตกใจ เด็กไทยทั่วประเทศยังคงเสี่ยงกับสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม เหตุเพราะตู้น้ำไม่ได้มาตรฐาน แถมยังสกปรกส่งผลให้เด็กป่วยเป็นเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร จากข้อมูลสำรวจการปนเปื้อนตะกั่วในน้ำดื่มจากตู้ทำเย็นของโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ พบว่าส่วนหนึ่งยังมีค่าสูงเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคกรมอนามัย พ.ศ. 2553 คือ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวเชื่อมตะเข็บรอยต่อทั้งตู้ใหม่ และตู้เก่าที่ผ่านการซ่อม พบว่า มีการเชื่อมทั้งบริเวณมุมของภายในช่องท่อต่อน้ำเข้าเครื่องบริเวณลูกลอยกับก้าน และช่องท่อส่งน้ำออกบริเวณพื้นตัวถังไปสู่ก๊อกน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลผ่านตู้น้ำมีตะกั่วปนเปื้อน นอกจากนี้ยังพบว่าที่เก็บน้ำมีความสกปรก ขาดการดูแลอย่างสม่ำเสมอ หากเด็กนักเรียน ดื่มเข้าไปเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อหิวาต์ ซึ่งสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเด็กปี 2557 จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 7 - 9 ปี จำนวน 22,798 ราย และในกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี จำนวน 24,631 ราย กรมอนามัย จึงได้แนะนำการป้องกันอันตรายสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อตู้ทำน้ำเย็นที่ประกอบด้วยเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดดี ชนิดหนา ซึ่งสารตะกั่วที่ปนเปื้อนแม้เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบต่อเด็กได้ง่าย เนื่องจากเด็กมีความไวต่อการสัมผัส หากร่างกายได้รับสารตะกั่วในปริมาณสูงก็จะเกิดอาการเป็นพิษได้ นอกจากนี้ถังเก็บน้ำต้องทำด้วยวัสดุเหล็กกล้าไร้สนิมที่ใช้กับอาหาร ไม่มีตะกั่วเป็นส่วนผสม เชื่อมตะเข็บรอยต่อด้วยก๊าซอาร์กอน หรือก๊าซสำหรับเชื่อมอื่นที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อน และไม่มีผลตกค้างในถังน้ำ ที่สำคัญโรงเรียนต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดตู้น้ำดื่มโดยการล้างที่เก็บน้ำภายในตู้เป็นประจำ ทำความสะอาดก๊อกน้ำและบริเวณผิวภายนอกตู้ให้สะอาดป้องกับเชื้อโรคและสิ่งสกปรก   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือน มกราคม 2557 “บ้านและที่อยู่อาศัย” กับปัญหายอดฮิตปี 56 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สรุปเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยกลายเป็นปัญหากวนใจผู้บริโภคมากที่สุด แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างปัญหาจากการใช้รถยนต์ เนื่องจากโครงการรถยนต์คันแรกที่เริ่มหมดลง ประกอบกับคนหันมาซื้อคอนโดมากขึ้น และเมื่อเกิดปัญหาเพียง 1 ยูนิต ผู้บริโภคที่อยู่ในโครงการเดียวกันก็มักจะตามกันมาร้องเรียนด้วย สำหรับเรื่องร้องเรียนในปี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 ธันวาคม มีผู้บริโภคร้องเรียนทั้งสิ้น 3,150 ราย โดยเรื่องร้องเรียนที่มากที่สุดคือเรื่อง อสังหาริมทรัพย์ 1,324 ราย แบ่งเป็น 3 ประเภทปัญหา คือ 1.อาคารชุด 629 ราย 1,390 เรื่อง เช่น ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือโฆษณา ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จยกเลิกสัญญา  2.บ้านจัดสรร 392 ราย 1,019 เรื่อง เช่น ไม่ดำเนินการตามที่โฆษณา มีการชำรุดหลังก่อสร้าง กู้ได้ไม่เต็มจำนวนตามที่ประกาศ ขอยกเลิกสัญญา และ 3.เช่าพื้นที่ เช่าช่วง 303 ราย 608 เรื่อง   สคบ.ดำเนินการไกล่เกลี่ยตามที่ผู้ร้องต้องการและเรื่องยุติแล้ว 60% เหลืออีก 40% โดยหลังจากนี้ทาง สคบ. จะส่งเจ้าหน้าที่จะลงสุ่มตรวจโครงการที่อยู่อาศัยที่พบปัญหาร้องเรียกซ้ำซาก แล้วจะมีการแจ้งชื่อโครงการที่มีปัญหาให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบ     ผิวขาวออร่า แต่หน้าพัง กระแสความนิยมอยากจะมีผิวขาวของวัยรุ่นไทย กำลังเป็นเรื่องน่าห่วง หลังจากที่มีวัยรุ่นจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของโฆษณาหลอกลวงชวนเชื่อ ผลิตภัณฑ์ผิวขาว ที่โอ้อวดว่าใช้แล้วผิวขาวสว่าง “ออร่า” แต่กลับต้องเจอผลข้างเคียง นอกจากผิวจะไม่ขาวแล้ว ยังต้องเสียโฉม หน้าพัง ผิวที่หวังว่าจะขาวก็ยิ่งคล้ำดำลงกว่าเดิม ล่าสุดมีกรณีที่วัยรุ่นอายุ 16-18 ปีที่ จ.เพชรบุรี ให้ครีมที่อ้างสรรพคุณช่วยให้ผิวขาวแล้วเกิดอาการแพ้ ผิวลายแตกงา เมื่อเก็บตัวอย่างครีมผิวขาวที่น่าจะเป็นปัญหาไปตรวจสอบยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม พบว่า ตัวอย่าง ครีมและโลชั่นทาผิวที่อ้างว่าช่วยให้ผิวขาว จำนวน 11 ตัวอย่างที่วางขายในจังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วยครีม 4 ประเภท ได้แก่ 1.ครีมผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่ไม่มีฉลาก 2.ครีมที่ผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่มีฉลากแต่ไม่ได้จดแจ้ง  3.ครีมที่มีฉลากภาษาจีน และ 4.ครีมที่มีฉลากภาษาจีนที่เป็นยาใช้ภายนอก มีการใช้สารสเตียรอยด์ชนิดโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต (Clobetasol propionate) ในครีมทั้ง 11 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 8.0-449.8  มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สูงมาก นอกจากนี้ยังตรวจพบสารคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งจัดเป็นยาในทุกตัวอย่าง และบางตัวอย่างตรวจพบว่ามีการใส่วัตถุกันเสีย 2 ชนิดคือ เมทิลพาราเบน (Methylparaben) และโพรพิลพราราเบน (Propylparaben) ด้วย สำหรับ สารโคลเบทาซอล โพรพิโอเนตเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง สารดังกล่าวเป็นยาสเตียรอยด์ ใช้ทาภายนอกที่มีความแรงสูงสุด ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นผิวหนังที่ดื้อยาสเตียรอยด์ชนิดรุนแรงปานกลาง หรือใช้ในบริเวณผิวหนังที่หนา เช่นที่ขาหรือส้นเท้า สารชนิดนี้เมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ผิวหนังบางลง เกิดจ้ำเลือดง่าย หรือมีรอยแตกที่ผิวหนัง     ระวัง!!!ใช้สมุนไพรขัดหน้า การใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขัดหน้า ขัดตัว หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่า ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในระดับสูงจนน่าตกใจ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. โดยนักวิจัยของศูนย์ฉายรังสี ได้ทำการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นทางจุลชีววิทยาในวัตถุดิบสมุนไพรและส่วนผสม ชนิดอื่น ๆ ที่มักใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอางสมุนไพรไทยจำนวน 10 ชนิด ได้แก่ ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านนางคำ ทานาคา กวาวเครือ จันทน์หอม เปลือกมังคุด ดินสอพอง และจันทน์เทศแดง โดยพบว่าในวัตถุดิบทั้ง 10 ชนิด มีจำนวนแบคทีเรียทั้งหมดในระดับที่สูงมาก คือ 1,000-1,000,000 โคโลนีต่อกรัม ทั้ง ๆ ที่ค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดคือ ต้องมีไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัม  และพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Clostridium spp. ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคบาดทะยัก ในวัตถุดิบ 4 ชนิด คือ ไพล  ทานาคา กวาวเครือ และ ดินสอพอง นอกจากนี้ยังได้สุ่มตรวจเครื่องสำอางสมุนไพรไทยที่สามารถหาซื้อตามตลาดทั่วไป ได้แก่ ครีมโคลนสมุนไพรพอกตัว จำนวน 12 ตัวอย่าง พบว่ามีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 41.67) แป้งสมุนไพรพอกหน้าและขัดตัวจำนวน 40 ตัวอย่าง พบว่ามีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 27 ตัวอย่าง (ร้อยละ 67.5)  และพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Clostridium spp. ถึง 22 ตัวอย่าง (ร้อยละ 55) ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด     ทุกข์ของผู้ป่วย การรักษาไม่ได้มาตรฐาน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลร้องเรียนด้านสุขภาพปี 2555 – 2556 พบว่ามีเรื่องร้องเรียนจากทุกสิทธิการรักษาคือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และกลุ่มที่จ่ายเงินเอง ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิก รวมทั้งหมด 38 เรื่อง ปัญหาที่พบมากที่สุด คือเรื่องมาตรฐานการรักษา 18 เรื่อง เช่น ผิดพลาดในการรักษา การผ่าตัด ทำให้แผลติดเชื้อ แพทย์จ่ายยาผิด เข้ารักษาโรงพยาบาลตามสิทธิแต่แพทย์ตรวจไม่ละเอียดให้แต่ยาแก้ปวด จ่ายยาให้ยาไม่ตรงชื่อหน้าซอง ทำให้คนไข้เกิดอาการการแพ้ยา ซึ่งมีอยู่กรณีหนึ่งแพทย์ถึงขั้นลืมผ้าก๊อตไว้ในช่องคลอดหลังทำคลอดให้กับคนไข้ ตามมาด้วยปัญหามาตรฐานการบริการ 9 เรื่อง เช่น เจ้าหน้าที่ไม่บริการ พูดจาไม่สุภาพ ไม่เอาใจใส่ผู้ป่วย  นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องระบบส่งต่อผู้ป่วย ระบบการใช้สิทธิ และปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องค่ารักษาพยาบาลแพง กรณีการให้การช่วยเหลือที่ล่าช้า พบว่าเกิดจาก การขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการอ่านเวชระเบียน ร่วมทั้งหน่วยงานภาครัฐล่าช้ากรณีส่งต่อเรื่องร้องเรียน แล้วไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายบางรายทำได้ลำบาก ล่าช้า และผู้เสียหายยังติดปัญหาเรื่องการขอเวชระเบียน ที่สำคัญคือผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหายยังไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน     7 วิธีปิ้งย่างลดเสี่ยงมะเร็ง พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล นักวิชาการโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง” เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำ 7 ข้อควรทำสำหรับคนที่ชอบกินอาหารปิ้งย่าง 1.เลือกสถานที่ปิ้งย่างที่มีอากาศถ่ายเทดี เพราะควันจากอาหารก็ส่งผลต่อร่างกายได้ 2. เน้นเนื้อสัตว์ประเภทปลา หรือไก่ไม่ติดหนัง ซึ่งมีปริมาณไขมันน้อยกว่า 3. เลี่ยงการรับประทานเนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน ไส้กรอกอีสาน เพราะมีไขมันและโซเดียมสูง 4. อย่าใช้ไฟแรงเกิน หรือปิ้งจนเกรียม หมั่นทำความสะอาดคราบเขม่าและรอยไหม้ต่างๆ ที่ติดอยู่บริเวณตะแกรง 5. หมักเนื้อด้วยน้ำมะนาว สะระแหน่ มินต์ โรสแมรี จะช่วยลดการเกิดของสารก่อมะเร็งในกลุ่มเอมีนส์ 6. ตัดเนื้อส่วนที่มีมันออกก่อนนำไปปิ้งย่าง หรืออบให้สุกนิดหน่อยก่อนเพื่อลดเวลาปิ้ง และ 7. เน้นกินผักสดๆ ควบคู่ด้วยเสมอ และเลือกดื่มน้ำเปล่า แทนน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเพิ่มปริมาณแคลอรีที่เกินความต้องการของร่างกาย อนึ่ง การรับประทานอาหารปิ้งย่างประจำจะมีผลกระตุ้น เซลล์มะเร็ง คือ สารในกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons หรือ PAH) ซึ่งพบในควันที่เกิดจากไขมันสัตว์ที่โดนความร้อนสูง โดยพบว่ามีความสามารถในการก่อมะเร็งได้ไม่แพ้ควันบุหรี่ และสารในกลุ่มเอมีนส์ (Heteocyclic amines) ที่พบมากในเนื้อแดงที่ถูกความร้อนสูง มีงานวิจัยหลายแหล่งระบุว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2556 จับผิดพ่อค้า – แม้ค้าโกงตาชั่ง กรมการค้าภายใน ฝากคำแนะนำถึงคนที่ต้องซื้อสินค้าข้าวของกับร้านค้าที่มีการใช้ตาชั่ง ชั่งตวงสินค้า ป้องกันการถูกโกงน้ำหนัก หลังจากที่กรมการค้าภายในได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกพ่อค้า – แม้ค้าใช้กลโกงตาชั่งเอารัดเอาเปรียบ สำหรับข้อสังเกตในการดูตาชั่งสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีอย่างเช่น ต้องตรวจสอบเครื่องหมายรับรองจากกรมฯ ซึ่งเป็นตราครุฑติดไว้, ไม่มีการหักเข็มชี้น้ำหนักเพราะทำให้เครื่องอ่านน้ำหนักไม่ถูกต้อง, ตัวเลขถาดกับตัวเลขเครื่องที่ระบุต้องตรงกัน, ต้องไม่มีวัสดุอื่นหรือนำสีมาพ่นหน้าปัดด้านใดด้านหนึ่งหรือการนำกระดาษมาปิดอีกหน้าหนึ่งของเครื่องชั่ง, การใช้เครื่องที่ทำด้วยพลาสติกหรือเครื่องชั่งที่อยู่ในสภาพชำรุด เป็นต้น เทคนิคที่พ่อค้า-แม้ค้านิยมใช้ในการโกงตาชั่งหลักๆ จะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ การแกะเครื่องและเปลี่ยนสปริง, การเปลี่ยนหน้าปัดและสปริง, การเปลี่ยนถาดที่มีน้ำหนักสูง ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้สินค้าไม่เต็มน้ำหนัก จะได้ของเฉลี่ยที่ 8-9 ขีดต่อน้ำหนักที่ซื้อไป 1 กก. เท่านั้น     ใช้ตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัยเงินไม่ถูกขโมย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้คำแนะนำกับผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม ป้องกันการถูกลักลอบขโมยข้อมูลบนแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตรและรหัสประจำบัตร หลังจากเกิดกรณีที่มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบดูดเงินจากบัญชีของผู้ใช้เอทีเอ็มกว่า 10 ราย รวมยอดเงินที่ถูกลอบขโมยไปหลายแสนบาท สำหรับคำแนะนำของ ศคง. ในการใช้ตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัย มีดังนี้ ทุกครั้งที่ใช้ตู้เอทีเอ็ม ควรสังเกตช่องสอดบัตรและแป้นกดตัวเลขอย่าให้มีสิ่งผิดปกติ หากรู้สึกสงสัยก็ไม่ควรใช้เครื่องนั้นและรีบแจ้งให้ธนาคารทราบทันที จุดที่ควรสังเกตก่อนใช้ตู้เอทีเอ็ม คือ กล่องใส่โบชัวร์ ซึ่งไม่ได้เป็นของธนาคาร เพราะอาจเป็นที่ซ่อนกล้องรูเข็มเพื่อแอบดูการกดเลขรหัส ควรใช้มือบังแป้นกดตัวเลขขณะทำรายการ เพื่อไม่ให้กล้องที่มิจฉาชีพแอบติดตั้งไว้หรือคนที่อยู่ด้านหลังเห็นรหัสบัตร ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนรหัสบัตรอยู่เสมอ และควรรีบเปลี่ยนรหัสทันทีเมื่อสงสัยว่าบุคคลอื่นทราบรหัสของเรา   อย.ประกาศลดราคายาผู้ป่วยมะเร็ง -  สมาธิสั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับลดราคายากลุ่มจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตตามต้นทุนการจัดหาที่ลดลง จำนวน 7 รายการ เช่น ยาเฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ยาเมทิลเฟนิเดต ที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น และยาโซลพิเดม ทาร์เทรต ซึ่งเป็นยานอนหลับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลและผู้ป่วยที่ต้องใช้ยา ซึ่งยา 7 รายการที่ประกาศลดราคาประกอบด้วย 1.เฟนทานิล ชนิดฉีด (0.1 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร/หลอด) 10 หลอด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 220 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 180 บาท ลดลง 18 % 2.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (12 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 500 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 400 บาท ลดลง 20 % 3.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (25 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 900 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 600 บาท ลดลง 33 % 4.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (50 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 1,500 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 900 บาท ลดลง 40 % 5.ยาเมทิลเฟนิเดต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 100 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 350 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 300 บาท ลดลง 14 % 6.ยาเมทิลเฟนิเดต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 200 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 700 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 600 บาท ลดลง 14 % 7.โซลพิเดม ทาร์เทรต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 20 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 180 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 160 บาท ลดลง 11 % โดยยาทั้ง 7 รายการจะเริ่มปรับลดราคาใหม่ในเดือนตุลาคม 2556 นี้เป็นต้นไป   คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โวย กสทช. เอาจริงแก้ปัญหา “ซิมดับ” หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ออกประกาศ “มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556” หรือกรณีปัญหาสัญญาโทรศัพท์มือถือคลื่น 1,800 MHz ซึ่งเป็นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่สิ้นสุดสัญญาณไม่สามารถใช้งานได้ หรือที่มีคนให้คำจำกัดความว่า “ซิมดับ” โดยหลังจาก กสทช. มีคำสั่งตั้งแต่เมื่อวันที่16 ส.ค.56 ที่ผ่านมา พบว่าประกาศดังกล่าวยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้จริง เพราะยังคงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายัง กสทช. เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนมีทั้ง ปัญหาเรื่องการโอนย้ายเลขหมาย ที่ไม่สะดวกอย่างที่ควรจะเป็น แถมมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการแจ้งเรื่องการโอนย้ายเครือข่าย การถูกย้ายเครือข่ายโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนถูกปรับสิทธิประโยชน์ลดลงจากการโอนย้ายเครือข่าย รวมถึงปัญหาที่บริษัทไม่ยอมคืนเงินที่ยังคงเหลือในระบบเดิม ไปจนถึงไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ จากปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดย ผศ.รุจน์ โกมลบุตร ในฐานะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและโทรคมนาคม ร่วมกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ออกแถลงการณ์เป็นข้อเสมอต่อ กสทช. ให้เร่งจัดการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหลังการประกาศใช้มาตรการเยียวยากรณีซิมดับไปแล้วแต่ปัญหายังไม่ถูกแก้ไข โดยข้อเสนอของภาคประชาชนมีดังนี้ 1.ขอให้ กสทช. ติดตามการบังคับใช้ประกาศอย่างเคร่งครัด เพราะยังพบปัญหาเกิดขึ้นกับผู้บริโภค เช่น ผู้ประกอบการยังมีการขยายฐานผู้ใช้บริการคลื่น 1800 MHz ต้องควบคุมคุณภาพการให้บริการ และคืนเงินคงเหลือเมื่อผู้บริโภคยุติการใช้บริการ 2.กสทช. ต้องกำกับดูแลการจัดการคลื่นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซิมดับซ้ำอีก โดยต้องเร่งให้มีจัดให้มีการประมูลก่อน ถึงวันหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2558 3.ให้ กสทช. ถอนฟ้องนักวิชาการและสื่อมวล ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหากรณีคลื่นสัญญา 1800 MHz เพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้หลักสุจริต เพื่อประโยชน์ของสังคม   “มาตรา 61 ยิ่งใกล้ ยิ่งต้องเชียร์” ฉายหนังสั้นผู้บริโภคที่รัฐสภา แม้สถานการณ์ทางการเมืองยังคงสับสนวุ่นวาย แต่องค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนก็ยังมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะผลักดันกฎหมาย “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเราเสียที ล่าสุดสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ฉายภาพยนตร์สั้นและเสวนาเรื่อง “มาตรา 61 ยิ่งใกล้ ยิ่งต้องเชียร์” ณ สโมสรรัฐสภา เพื่อปลุกจิตสำนึกและสร้างความเข้าใจกับบรรดานักการเมือง สส. สว. ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกกฎหมายฉบับนี้ โดยหลังการฉายภาพยนตร์ ก็ได้มีการผู้คุยกับเหล่าผู้กำกับภาพยนตร์ ได้แก่ นายไพจิตร ศุภวารี, นายชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา และ นายพัฒนะ จิรวงศ์ โดยมี ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ในฐานนะนักวิชาการที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว สส. พรรคเพื่อไทย ร่วมพูดคุยกันถึงปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเรา และการเดินทางของกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคว่าตอนนี้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รอเพียงยกขึ้นมาพิจารณาลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ผู้บริโภคยังคงต้องคอยติดตาม เป็นกำลังใจ และลุ้นกันต่อไป ว่ากฎหมายเพื่อผู้บริโภคฉบับนี้ว่าจะถึงฝั่งฝันได้เมื่อไหร่ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2552 22 พ.ย. 52โพลชี้ชัด! ผู้บริโภคไม่อยากดูโฆษณาแฝงนางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยข้อมูลผลสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโฆษณาแฝง” พบว่ากว่าร้อยละ 72 ไม่เห็นด้วยกับร่างแนวทางที่ สคบ. กำลังพิจารณาว่าการปรากฏให้เห็นของสินค้าในรายการโทรทัศน์ไม่ถือว่าเป็นการโฆษณาแฝง ทำให้มีโฆษณาแฝงเกิน 12.30 นาทีต่อชั่วโมงตามที่กฎหมายระบุไว้ จากการสำรวจส่วนใหญ่เห็นว่าโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์รุกล้ำสิทธิของผู้บริโภค และคิดว่าควรมีการเปิดเผยข้อมูลรายได้จากโฆษณาแฝงและให้มีการตรวจสอบระบบการเสียภาษีให้กับรัฐให้ถูกต้อง นางอัญญาอร กล่าวว่า “ร่างฯ นี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา แต่กลับจะยิ่งทำให้โฆษณาแฝงมีความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย เพราะร่างแนวทางระบุให้การปรากฏของสินค้าในรายการโทรทัศน์ไม่ถือว่าเป็นการโฆษณา ซึ่งจะยิ่งทำให้มีโฆษณาแฝงในรายการทีวีเพิ่มมากขึ้น” 26 พ.ย. 52องค์กรผู้บริโภคจี้ ก.อุตสาหกรรมเลิกใช้ “แร่ใยหิน” เหตุเป็นสารก่อมะเร็งแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเวทีปฏิบัติการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคการประชุมผู้แทนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ครั้งที่ 2 เรื่อง “ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก” โดยมีผู้แทนองค์กรผู้บริโภคจากทั่วประเทศ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอ เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินหรือสารแอสเบสตอส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด โดยพบได้ในผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นหลังคาบ้าน กระเบื้องปูพื้น ผ้าเบรก หรือแม้กระทั่งในเครื่องสำอาง องค์กรผู้บริโภคมีข้อเสนอ 10 ข้อยื่นต่อกระทรวงอุตสาหกรรมโดยมีประเด็นสำคัญคือ ให้กำหนดมาตรการยกเลิกการนำเข้าภายใน 3 เดือน และยกเลิกการผลิต การจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินที่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ภายใน 1 ปี พร้อมทั้งยกเลิกภาษีวัตถุดิบที่ไม่เป็นอันตรายที่สามารถใช้ทดแทนแร่ใยหิน และควรมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและชนิดของสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน 27 พ.ย. 52อย. ออกคำสั่ง! ห้ามใช้ยาแอสไพรินกับเด็กสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีคำสั่งให้ผู้ผลิตยาแอสไพรินแก้ไขทะเบียนตำรับยา ไม่ให้ใช้ แก้ปวด ลดไข้ ในเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการรายย์ ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงเนื่องจากตับถูกทำลาย ทำให้สมองบวม ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า มียาแอสไพรินที่ขึ้นทะเบียนโดยเป็นยาสำหรับเด็กเท่านั้น จำนวน 29 ตำรับ และตำรับที่มีข้อบ่งใช้ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ 55 ตำรับ ซึ่งผู้รับอนุญาตจะต้องมีหน้าที่แก้ไขฉลากและเอกสารกำกับยา โดยให้ตัดข้อความที่แสดงสรรพคุณที่ใช้สำหรับเด็กออกไป ซึ่งคำสั่งนี้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2552 หากไม่ปฏิบัติตามประกาศจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย 29 พ.ย 2552“นมหวาน” ทำร้ายเด็ก ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ระบุว่ายังมีผู้ปกครองซื้อนมหวานให้เด็กบริโภคเป็นประจำถึงปีละ 9,924 พันตัน ผลเสียทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นทันทีจากการดื่มนมรสหวานโดยใช้ขวดนม คือเด็กจะฟันผุตั้งแต่ฟันน้ำนมยังขึ้นไม่เต็มปาก ส่งผลให้เด็กเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ปวดฟัน นอนหลับไม่สนิท การกินนมรสหวาน จะนำไปสู่พฤติกรรมติดหวานและทำให้เด็กอ้วน จึงมีโอกาสสูงที่จะเป็นเบาหวานในอนาคต “แม้เครือข่ายด้านสุขภาพร่วมกับ อย. ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 286 ระบุไม่ให้มีการเติมน้ำตาลซูโครสลงในนมผงสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็ก ตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 ทำให้แนวโน้มการใช้นมรสหวานเลี้ยงเด็กทารกลดลงอย่างมาก ปีละประมาณ 1,000 ตัน แต่ประกาศดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมถึงนมผงครบส่วนสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป จึงทำให้ยังมีทั้งนมผงรสหวานและรสจืดวางขายในท้องตลาดอีกจำนวนมาก  ร้องนายก ให้ กฟผ. คืนเงินคนใช้ไฟฟ้ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา และกลุ่มพลังงานทางเลือก ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ เพื่อขอให้ยุติการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และนำเงินที่เรียกเก็บโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายส่งคืนให้แก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เพราะการจัดตั้งกองทุนเพื่อเรียกเก็บเงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายถือเป็นการเอาเปรียบประชาชน ทั้งนี้ กฟผ. ได้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 โดยเรียกเก็บเงินจากค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ซึ่งเป็นการเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ เครือข่ายประชาชนยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ กฟผ. ยุติการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จากค่าเอฟทีโดยทันที 2.ให้นำเงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนฯ ไปแล้วทั้งหมดส่งคืนให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยเร็ว 3.ให้หามาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อการเรียกเก็บเงินสำหรับดำเนินการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมดโดยตรง ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการตามที่ได้เรียกร้องจะถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด กลุ่มองค์กรและเครือข่ายประชาชนก็จะนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลเพื่อดำเนินการต่อไป เร่ง คลัง – พลังงาน ทวงเงินชาติคืนจากปตท.เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชน ยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้บังคับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คืนทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินกลับคืนให้กับประเทศ หลังจากศาลพิพากษาให้ ปตท. ต้องทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง แต่จากรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โอนทรัพย์สินเพียงเฉพาะที่ดินเวนคืนมูลค่า 1.45 ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดินมูลค่า 1,125.11 ล้านบาท และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่บนที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิเพียง 3 โครงการ (โครงการท่าบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า-ราชบุรี และโครงการท่าราชบุรี-วังน้อย) รวมเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกกลับไปเป็นของรัฐทั้งสิ้นเพียง 16,176.22 ล้านบาท โดยไม่มีการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขณะที่ตามรายงานของผู้สอบบัญชีต่อมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานว่า ทรัพย์สินที่จะต้องดำเนินการคืนให้กระทรวงการคลัง มีมูลค่าทางบัญชีสุทธิ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2544 จำนวน 52,393,498,180.37 ล้านบาท นอกจากนี้ จากการตรวจสอบทรัพย์สินโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชน พบว่ายังมีทรัพย์สินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาเพิ่มเติมหลังการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกจำนวนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 205,891 ล้านบาทมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายจึงต้องการเรียกร้องให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ให้ ปตท. คืนทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ครบถ้วนโดยเร็วที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >