ฉบับที่ 276 มะเร็งปอดในนักกีฬาหนุ่มไม่สูบบุหรี่

        คนบนโลกออนไลน์ได้รู้จักหมอหนุ่มวัย 28 ปีคนหนึ่งที่บอกเล่าอาการป่วยมะเร็งปอดของตัวเองผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า เป็นคนที่ชอบออกกำลังกายแต่กลับป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 โดยหมอหนุ่มท่านนี้ใส่ใจในความผิดปกติของอาการไอของตนเองจึงเข้ารับการตรวจร่างกายแล้วพบว่า กำลังป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ หมอหนุ่มได้ตั้งประเด็นที่อาจเป็นสาเหตุของการป่วยว่า ปัจจัยเดียวที่เป็นไปได้คือ ภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงในจังหวัดเชียงใหม่มานานหลายปี สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเชียงใหม่ทุกคนต่างรับผลจากฝุ่น PM 2.5 พอ ๆ กันแต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นมะเร็งปอด แล้วปัจจัยใดที่น่าจะทำให้คนหนุ่มที่ออกกำลังกายเป็นประจำและไม่สูบบุหรี่กลับมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนอื่น การกลายพันธุ์ของเซลล์อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปอด         ข้อมูลทางการแพทย์กล่าวว่า มะเร็งปอดนั้นแบ่งได้ในชั้นต้นเป็น 2 ประเภทคือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 10-25 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มักพบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าบริเวณชายปอด มีการแพร่กระจายเร็ว มีความเข้าใจว่าเกิดจากการที่สารเคมีบางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติของระบบฮอร์โมน โดยทั่วไปนั้นมะเร็งปอดชนิดนี้ตอบสนองต่อเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้ดี แต่โอกาสหายขาดยังเป็นไปได้น้อย ส่วนประเภทที่ 2 คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 75-90 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มีการแพร่กระจายที่ช้าจึงมีโอกาสตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก จึงนำไปสู่การผ่าตัดเอาก้อนและต่อมน้ำเหลืองออกพร้อมการบำบัดร่วมกับการให้เคมีบำบัดและรังสีรักษาหรือการบำบัดเสริมอื่นๆ ทำให้มีโอกาสหายขาดได้         การเกิดมะเร็งซึ่งรวมถึงมะเร็งปอดนั้นเกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของยีนหลายยีน ซึ่งบทความเรื่อง Genomic profiling in non-small-cell lung cancer in young patients. A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบถึงการทำรูปแบบจีโนมในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กในผู้ป่วยอายุน้อย) ในวารสาร ESMO Open ของ European Society for Medical Oncology ในปี 2021 ได้ให้ข้อมูลว่า มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยนั้นพบไม่บ่อยนัก ดังนั้นจึงทำการทบทวนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับรูปแบบจีโนมของผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นมะเร็งปอดตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 จากเอกสารในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หลักต่าง ๆ แล้วเลือกต้นฉบับงานวิจัย 23 ฉบับมาพิจารณาซึ่งพบว่า มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี เกิดขึ้นบ่อยในสตรีและเป็นมะเร็งแบบ adenocarcinoma (มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ต่อมหรือเยื่อบุที่ผลิตเมือกหรือของเหลว มะเร็งประเภทนี้พบได้บ่อยในมะเร็งเต้านม ต่อมลูกหมาก ปอด และลำไส้ใหญ่) และบ้างก็อยู่ในระยะที่ลุกลาม ซึ่งในการทบทวนข้อมูลครั้งนี้พบว่า การกลายพันธุ์ของหลายยีนในเซลล์เนื้อเยื่อ (somatic cells) มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่         การกลายพันธุ์ของยีน TP53 ซึ่งสร้างโปรตีน p53 ที่ควบคุมระบบการแบ่งเซลล์ให้เป็นปรกติ การกระตุ้นการตายของเซลล์ในลักษณะ apoptosis และความเสถียรของยีนด้วยกลไกการซ่อมแซมต่างๆ         การกลายพันธุ์ของยีน EGFR T790M ยีนนี้เป็นที่รู้จักกันในนามว่า gatekeeper gene ซึ่งเป็นยีนที่ทำหน้าที่ป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้น และป้องกันการสะสมของการกลายพันธุ์ที่นำไปสู่การเพิ่มจำนวนเซลล์ผิดช่วงเวลา สำหรับ epidermal growth factor receptor (EGFR) นั้นเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของผิวหนัง ผลของการกลายพันธุ์นำไปสู่การแสดงออกของตัวรับ EGFR บนผนังมากเกินไป ทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นลักษณะขยายการทำงานของเซลล์ที่ไม่ปรกติจึงมีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งหลายชนิดรวมถึงมะเร็งชนิด adenocarcinoma ในปอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งสมอง (Glioblastoma) และเนื้องอกของเยื่อบุผิวที่ศีรษะและคอ         การกลายพันธุ์ของกลุ่มยีน BRCA ได้แก่ BRCA1, BRCA2 (และอาจเพิ่ม BRCA3 ในอนาคต) ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มอาการมะเร็งเต้านมและรังไข่ทางพันธุกรรม         การกลายพันธุ์ของยีน HER2 (Human epidermal growth factor receptor) จนกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีงานวิจัยพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมักพบความผิดปรกติของ HER2 เป็น positive นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับยีนส์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิดรวมถึงมะเร็งปอด         การกลายพันธุ์ของยีน YAP1 (yes associated protein 1) ซึ่งสร้างโปรตีนตัวควบคุมการถอดรหัสที่กระตุ้นการถอดรหัสยีนที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเซลล์และการแพร่กระจายและยับยั้งการฆ่าตัวตายแบบ apoptosis ดังนั้นการกลายพันธุ์จึงส่งผลให้การเกิดมะเร็งได้ง่ายขึ้น         การกลายพันธุ์ของยีน CHECK2 ซึ่งเป็นยีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนที่หยุดยั้งการเติบโตของเนื้องอก ความผิดปรกติของยีนนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมตลอดชีวิตเป็นสองเท่า นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และทำให้เกิดความสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงของยีนนี้โดยเฉพาะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งปอด การกลายพันธุ์ของยีนใดที่อาจเป็นต้นเหตุสำคัญของมะเร็งปอด         ยีนที่ดูน่าสนใจเป็นพิเศษได้ถูกระบุในบทความของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่อง TP53 gene mutations of lung cancer patients in upper northern Thailand and environmental risk factors (การกลายพันธุ์ของยีน TP53 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในภาคเหนือของประเทศไทยและปัจจัยเสี่ยง) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Genetics and Cytogenetics ของปี 2008 บทความนี้รายงานผลการศึกษาถึงผลของปัจจัยต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์ของยีน TP53 ในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดสูงกว่าส่วนอื่นของประเทศ (หลายบทความในอดีตตั้งประเด็นว่า ความนิยมในการสูบบุหรี่ขี้โยนั้นเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอดสูงของสตรีชาวเหนือ)         การกลายพันธุ์ของยีน TP53 พบได้มากประมาณ 40-70% ในเนื้อเยื่อมะเร็งปอด และการกลายพันธุ์ของยีนนี้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ของมะเร็งปอดซึ่งอาจเป็นผลจากการได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อม รายงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า จำนวนและรูปแบบการกลายพันธุ์ของยีน TP53 มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร ซึ่งความแตกต่างนี้อาจเกิดจากเชื้อชาติที่ต่างกัน หรือได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน รวมไปถึงลักษณะการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน         ในการศึกษานี้ได้มีศึกษาเปรียบเทียบการถ่ายทอดยีนที่กลายพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็งปอดและครอบครัว (ญาติสายตรงและพี่-น้องผู้ป่วย) พร้อมมีกลุ่มควบคุมเพื่อดูว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิด (germline mutations หรือ inherited mutations นั้น เป็นการที่ยีนมีความผิดปกติตั้งแต่เป็นเซลล์ต้นกำเนิดหลังการปฏิสนธิ และส่งผ่านความผิดปกตินี้ผ่านเซลล์สืบพันธุ์ไปยังรุ่นลูกหลานต่อไปได้ เช่น การกลายพันธุ์ของยีน BRCA ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ชนิดที่สามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้) มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดของประชากรกลุ่มนี้หรือไม่ โดยนักวิจัยได้ดำเนินการสกัดดีเอ็นเอจากเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและกลุ่มควบคุม พร้อมกับสกัดดีเอ็นเอจากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดและเนื้อเยื่อปอดปกติของผู้ป่วยแต่ละรายเปรียบเทียบกับลำดับเบสอ้างอิงที่ได้จาก GenBank (accession no. X54156) ซึ่งผลการศึกษาจากผู้ป่วย 55 รายและกลุ่มควบคุม 57 ราย รวมทั้งจากบิดา-มารดาของผู้ป่วยอีก 8 ราย ไม่พบการกลายพันธุ์แต่กำเนิดในดีเอ็นเอที่สกัดจากเม็ดเลือดขาว การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิดไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่พบว่ามีการกลายพันธุ์ของเซลล์เนื้อเยื่อ (somatic mutation) 19 ตำแหน่ง ในดีเอ็นเอที่สกัดได้จากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดของผู้ป่วย 18 ตัวอย่าง อย่างไรก็ดีไม่มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งใดๆ ซ้ำกันจนเป็น hot spot (ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่เด่นชัดถึงโอกาสของการเกิดมะเร็ง)         ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อทดสอบผลของปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์ พบว่าการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการอาศัยอยู่ในบ้านที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี ได้แก่บ้านซีเมนต์หรือบ้านที่มีห้องครัวอยู่ภายในบ้าน มีผลต่อการเกิดการกลายพันธุ์ของยีน TP53 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ         ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและสารก่อกลายพันธุ์ในสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็งปอด และเป็นไปได้ว่าการกลายพันธุ์ของยีน TP53 อาจเกิดจากปัจจัยอื่นนอกเหนือไปจากการสูบบุหรี่ ซึ่งหากรู้ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการกลายพันธุ์แล้วจะมีประโยชน์ต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งปอดต่อไปได้ในอนาคต ซึ่ง ณ.ปัจจุบัน พ.ศ. 2567 นั้นก็ดูเหมือนยังไม่ทราบในสิ่งที่บทความตั้งความหวังไว้ ดังนั้นคนไทยในภาคเหนือจึงยังอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 นัดยานัตถุ์แทนสูบบุหรี่ลดมะเร็งปอด

        เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ในเว็บ pantip.com มีกระทู้หนึ่งถามว่า ยานัตถุ์ อันตรายมั้ยคะ โดยมีใจความสำคัญว่า “คุณพ่อดิฉันเลิกบุหรี่ได้ ก็มานัดยานัตถุ์ได้หลายปีแล้วค่ะ ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง เคยเห็นเสมหะคุณพ่อมีสีดำๆ วันก่อนลูกสาวดิฉันเห็นคุณตาจามมีน้ำมูกเป็นสีดำๆ เลยมาบอกดิฉัน ดิฉันเลยกังวล ว่าจะอันตรายไหม แล้วที่สูดผงๆนั่ นเข้าไป มันจะไปอยู่ไหน ถ้าไม่ใช่ในหลอดลมกับปอด ตามความเข้าใจของดิฉัน ขอผู้รู้ช่วยตอบด้วยค่ะ”         จากนั้นก็มีผู้เข้ามาตอบกระทู้ว่า “มันน่าจะเข้าไปที่ปอดได้บ้าง แต่จังหวะที่เป่านั้น เท่ากับหายใจออกครับ ผงยาจะเคลือบฝังจมูกอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำมูกจะถูกขับออกมา เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม พิษนั้นมีน้อยกว่า ควันที่ได้จากใบยาสูบ อันเป็นส่วผสมหลักเดียวกันกับบุหรี่ โดยยานัด XXX มีใบยาสูบ ประมาณ 50 % นอกนั้นเป็นสมุนไพร และที่ช่วยทำให้เย็นอย่างหนึ่งคือพิมเสนครับ ยานัตถุ์สามารถช่วย ระงับการจามจากภูมิแพ้ได้ชะงัก และสามารถลดความตึงเครียดทางอารมณ์ได้อย่างดี เพราะมีส่วนผสมของสารนิโคตินนั้นเอง....” ซึ่งโดยสรุปแล้ว เมื่อมีทั้งคำถามและคำตอบ นั่นแสดงว่า การนัดยานัตถุ์นั้นยังมีปรากฏอยู่ในบ้านเรา         พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “นัตถุ์” แปลว่า จมูก และคำว่า “ยานัตถุ์” จึงมีความหมายโดยรวมว่า ผงยาละเอียดที่ปรุงขึ้นจากใบยาสูบหรือวัตถุสมุนไพรอย่างอื่น ใช้สำหรับนัดหรือเป่า สูด เข้าในจมูกนั่นเอง ปัจจุบันการใช้ยานัตถุ์พบเห็นได้น้อยมาก เนื่องจากมีรูปแบบการใช้ยาแบบอื่นที่สะดวกกว่า         ในประเทศไทยนั้น ยานัตถุ์ (ภาษาอังกฤษคือ snuff) คือ ยาผงที่ใช้สำหรับเป่าเข้าทางจมูกเพื่อบำบัดโรคหรือวัตถุประสงค์อื่น ตัวยาอาจประกอบด้วยส่วนผสมหลายอย่างที่มีผงใบยาสูบเป็นหลัก อาจผสม สเปียร์มินต์ (มีองค์ประกอบเป็น คาร์โวน ลิโมนีน เมนทอล และเมนโทนให้ความหอมเย็น) อบเชย เมนทอล การบูร เป็นต้น เพื่อเพิ่มความรื่นรมย์ ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์ถูกจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน         ยานัตถุ์มี 2 ประเภทคือ ยานัตถุ์แบบชื้น (Moist snuff) ซึ่งผู้ใช้เหน็บยานัตถุ์แบบนี้ที่หลังริมฝีปากบนหรือล่างหรือระหว่างแก้มกับเหงือก (ว่าไปแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับการใช้ยาฉุนของคนไทยโบราณ) ซึ่งผู้บริโภคต้องคายหรือกลืนน้ำยาสูบที่สะสมอยู่ซ้ำๆ หลังจากนั้นเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งมักคายทิ้ง ส่วนยานัตถุ์ประเภทที่ 2 เป็นแบบแห้ง (Dry snuff) ซึ่งใช้โดยการสูดหายใจเข้าทางจมูกที่มีการใช้มานานพอควรในประเทศไทย โดยนำผงยานัตถุ์บรรจุลงไปในท่อเหล็กรูปตัวยู ใส่ปลายท่อด้านหนึ่งเข้ารูจมูกแล้วใช้ปากเป่าปลายท่ออีกด้านหนึ่ง เพื่อให้ตัวยาฟุ้งกระจายเข้าไปในโพรงจมูก ผู้ที่ใช้ยานัตถุ์จะรู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนได้สูบบุหรี่ ปัจจุบันการนัดยาในประเทศไทยนั้นยังพบเห็นได้ในกลุ่มผู้สูงอายุตามชนบทบางจังหวัด         ในประเทศไทยนั้นยานัตถุ์จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านตามประกาศพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องเป็นสูตรที่ไม่มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษใด ๆ ร่างกายดูดซึมนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ เข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุปากหรือจมูก ระดับนิโคตินในเลือดมีความคล้ายคลึงกันระหว่างผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้ยานัตถุ์         เมื่อ 16 มีนาคม 2023 www.fda.gov มีบทความเรื่อง FDA Authorizes Copenhagen Classic Snuff to be Marketed as a Modified Risk Tobacco Product มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังจากการตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่อย่างเข้มงวด รวมถึงคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Tobacco Products Scientific Advisory Committee) ความคิดเห็นสาธารณะ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่มีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสรุปว่า คำกล่าวอ้างเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงมะเร็งปอดในส่วนที่เกี่ยวกับยานัตถุ์นั้น มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิงมาใช้ผลิตภัณฑ์นี้ พวกเขาจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดลดลงได้ อย่างไรก็ดีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯไม่ได้กล่าวว่า ยานัตถุ์นั้นไม่มีอันตรายใด ๆ ดังนั้นใครที่ไม่เคยเสพยานัตถุ์ก็ไม่ควรเริ่มเสพ เพราะถ้าไปดูข้อความบนตลับยานัตถุ์ที่มีขายในสหรัฐอเมริกาบางยี่ห้อนั้นจะพบคำเตือนประมาณว่า  ผลิตภัณฑ์นี้ทำให้เกิดโรคเหงือกและการสูญเสียฟันได้ (This product can cause gum disease and tooth loss)         ในเว็บ www.health.harvard.edu เมื่อ 17 เมษายน 2023 มีบทความเรื่อง Is snuff really safer than smoking? ซึ่งให้ข้อมูลตอนหนึ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติเป็นระยะเวลา 5 ปี ให้ทดลองโครงการใช้ยานัตถุ์เป็นทางลดการสูบบุหรี่ โดยบริษัทผู้ขายยานัตถุ์ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ดีแม้อัตรามะเร็งปอดลดลง แต่ถ้ากระบวนการทางการตลาดแบบใหม่ของยานัตถุ์กลายเป็นการดึงดูดผู้ที่ไม่สูบบุหรี่รวมถึงวัยรุ่นที่ไม่ได้ใช้ยานัตถุ์มาก่อนมาใช้ยานัตถุ์จนกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับคนจำนวนมาก โครงการนี้ต้องถูกยกเลิก         ในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถิติของ US.CDC (Centers for Disease Control and Prevention) นั้น ผู้ใหญ่ 5.7 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันเป็นประจำซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของประชากรผู้ใหญ่ ส่วนนักเรียนมัธยมปลายก็ใช้เช่นกันด้วยร้อยละที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 1.6 % และประเด็นที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลว่า การใช้ยานัตถุ์นั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการสูบบุหรี่คือ แค่ $300 ถึง $1,000 ต่อปี เทียบกับหลายพันดอลลาร์ต่อปีที่บางคนจ่ายในการสูบบุหรี่ และที่น่าสนใจคือ ไม่ทำให้ผู้อื่นสัมผัสควันบุหรี่มือสอง         ในด้านความปลอดภัยของยานัตถุ์นั้น ผู้บริโภคจำต้องรับสภาพว่า มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษใดบ้างเมื่อเริ่มใช้ ในบทความเรื่อง Smokeless tobacco and cigarette smoking: chemical mechanisms and cancer prevention ในวารสาร Nature Reviews Cancer ของปี 2022 ได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันจำนวนมากนำไปสู่การสัมผัสสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง ซึ่งรวมถึงสารกลุ่มไนโตรซามีนเช่น  เอ็น-ไนโตรโซนอร์นิโคติน (N'-nitrosonornicotine) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งช่องปากที่พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สารไนโตรซามีนที่พบเฉพาะในใบยาสูบ (ที่ยังไม่ถูกเผาไหม้หลังบ่ม) เกิดจากปฏิกิริยาของอัลคาลอยด์ในยาสูบกับเกลือไนไตรต์ ซึ่งมี 3 ชนิด ได้แก่ N'-nitrosonornicotine (NNN), 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanone (NNK) และ 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanol (NNAL) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อมะเร็งปอด         จากการตั้งความหวังว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดในการใช้ยานัตถุ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่นั้น แต่โอกาสก่อปัญหาสุขภาพยังมีอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก US.CDC ที่กล่าวว่า ยานัตถุ์เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงข้อมูลงานวิจัยที่กล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งในช่องปาก (เช่น ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม) หลอดอาหาร และตับอ่อน มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ก่ออันตรายต่อสมองของวัยรุ่นที่กำลังพัฒนา ก่อปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันเปลี่ยนสี โรคเหงือก ฟันเสียหาย สูญเสียกระดูกรอบฟัน ฟันหลุด เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและการคลอดก่อนกำหนดในผู้ใช้ที่ตั้งครรภ์ และเนื่องจากนิโคตินเป็นสิ่งเสพติดดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ จึงกลายเป็นนิสัยที่ยากจะเลิกได้อย่างรวดเร็ว         สุดท้ายแล้วสถานะของการนัตถุ์ยาต่อผู้บริโภคทั่วไปนั้นคือ ควรหลีกเลี่ยงถ้าไม่ใช่ผู้เสพติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แม้ว่าแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันระบุว่า การนัตถุ์ยาปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ แต่สิ่งสำคัญคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้ย้ำตลอดเวลาว่า ไม่มีการสนับสนุนการใช้ยานัตถุ์และไม่รับรองให้ยานัตถุ์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการสันทนาการ ที่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนคือ การไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ

อ่านเพิ่มเติม >