ฉบับที่ 243 เมื่อโดนฟ้องปิดปาก

        เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าแล้วมีปัญหา แจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายแล้ว แต่วิธีการแก้ไขปัญหาของบริษัทก็ยังไม่ตอบโจทย์  ผู้บริโภคจึงไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการร้องต่อสื่อมวลชน หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจะให้บริษัทสนใจหาวิธีแก้ไขปัญหาที่สามารถใช้ได้จริง แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้บริโภคถูกบริษัทฟ้องคดีกลับ เพื่อให้หยุดร้องเรียน เรามาดูบทเรียนจากเรื่องนี้กัน        ผู้บริโภคท่านหนึ่งซื้อรถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ มาใช้ ต่อมาพบว่าเครื่องมีปัญหาเริ่มจากโช้ครั่ว โดยพบปัญหานี้หลังใช้รถเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ต่อมาก็พบปัญหาความผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือนและตัวเลขแสดงระยะทางที่ผิดพลาดอีก ล่าสุดพบปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่น และเร่งความเร็วไม่ขึ้นช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เขาได้แจ้งไปยังบริษัทเพื่อให้แก้ไขปัญหา บริษัทก็นำรถไปซ่อมแล้วหลายครั้งอาการต่างๆ ก็ยังไม่หาย เขารู้สึกว่าเขาซื้อรถป้ายแดงก็อยากได้รถที่มีคุณภาพดี ไม่ใช่ซื้อมาเพื่อซ่อม แถมยังต้องระวังอันตรายขณะขับรถเพราะ รถมีปัญหา ซึ่งเขาก็แทบจะไม่ได้ใช้รถเลยเพราะรถต้องเข้าศูนย์เพื่อซ่อมบ่อยครั้ง ถ้ารถยนต์คุณภาพไม่ดีแบบนี้เขาขอให้บริษัทมาสด้าคืนเงินให้เขาและเอารถยนต์กลับคืนไปดีกว่า         เมื่อเขายื่นขอเสนอไปแล้วแต่บริษัทก็ปฏิเสธกลับมา จึงเกิดการเจรจากับบริษัทขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผล เขาจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิฯ เชิญบริษัทเจรจาอีกครั้ง และพาผู้บริโภคไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และออกสื่อเพื่อให้บริษัทมาสด้าแก้ไขปัญหา โดยขอให้บริษัทฯ ขยายเวลารับประกันและชี้แจงวิธีการแก้ไขปัญหาให้เป็นปกติ หากไม่สามารถแก้ไขได้ขอให้รับซื้อรถยนต์คืน และชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้งาน         อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้นำพาแก้ไขปัญหาตามที่ผู้บริโภคขอ แต่กลับเล่นงานผู้บริโภคกลับ ด้วยการฟ้องคดีอ้างว่า ใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง รวมทั้งทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลง เรียกค่าเสียหาย 84 ล้านบาท          แนวทางการแก้ไขปัญหา        การฟ้องคดีผู้บริโภคลักษณะนี้ เรียกว่า การฟ้องปิดปาก/การฟ้องกลั่นแกล้ง (SLAPPs) Strategic Lawsuit against Public Participation หรือที่นิยมเรียกว่า SLAPPs คือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านขัดขวางการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะ โดยการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชน เพื่อให้ยุติการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะ หรือหยุดการแสดงออกของประชาชนในบางเรื่อง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทำให้ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นสาธารณะนั้นเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีหรือทำให้เกิดความกลัว จนในที่สุดประชาชนเหล่านั้นก็จะละทิ้งความตั้งใจที่จะออกมาใช้สิทธิในการมีส่วนร่วม ซึ่งกรณีของผู้ร้องเป็นการที่บริษัทฟ้องปิดปากผู้ร้องไม่ให้ร้องเรียนหรือหยุดพูดถึงปัญหาการใช้งานของรถยนต์ ข่มขู่ ทำให้ผู้ร้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี อีกทั้งยังเรียกค่าเสียหายจำนวนมากถึง 84 ล้านบาท         กรณีนี้ผู้ร้องต้องตั้งสติ ไม่ต้องกลัวการถูกฟ้องคดี เมื่อถูกฟ้องคดีแล้วติดต่อทนายความเพื่อทำคำให้การ ยื่นให้แก่ศาลเพื่อต่อสู้คดี ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ทำคำให้การว่า  การออกมาฟ้องผู้บริโภคที่ออกมาใช้สิทธิว่าละเมิดใช้สิทธิเกินส่วน โดยยกข้อความจากเฟซบุ๊กว่า ข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความไม่ตรงกับความจริงนั้น ตามหลักกฎหมายแล้ว ปกติการใช้สิทธิของตนเอง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนบ้างก็ตาม การที่จะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนต้องมีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้ง โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฝ่ายเดียว จึงจะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน แต่กรณีของผู้ร้องไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งใคร จึงไม่เป็นการใช้สิทธิเกินส่วน         ต่อมาผู้ร้องได้มีทีมทนายความเข้ามาช่วยเหลือให้การสืบคำให้การ จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางบริษัทในครั้งนั้น เป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนเกินตามที่บริษัทอ้าง ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าทนายให้กับผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท         หลังจากนั้นคดียังไม่จบ เพราะว่าบริษัทอุทธรณ์คำพิพากษศาลชั้นต้น ศาลอุทธณณ์ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้อง เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น บริษัทก็ยังฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีก สุดท้ายศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคำร้องขออนุญาตฎีกาของบริษัท จึงส่งผลให้คดีนี้สิ้นสุดลง กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ร้องใช้สิทธิตามปกติ ไม่ได้ใช้สิทธิเกินส่วน ไม่มีความผิดตามที่บริษัทฟ้อง ไม่ต้องจ่ายเงิน 84 ล้านบาทให้แก่บริษัท

อ่านเพิ่มเติม >