ฉบับที่ 256 ลืมฉันได้ไหม

        เทคโนโลยีในการระบุตัวตนด้วยข้อมูลใบหน้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราคุ้นเคยกันดีกับฟังก์ชันปลดล็อกสมาร์ตโฟน หรือการยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัยที่สนามบินบางแห่ง แต่เราอาจไม่สบายใจนัก หากมีใครมาแอบส่องและบันทึกข้อมูลใบหน้าของเราขณะจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าอยู่ในห้าง          เรื่องนี้กำลังเป็นเรื่องร้อนที่ออสเตรเลีย หลังองค์กรผู้บริโภค Choice ได้สำรวจการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในห้างค้าปลีก 25 แห่ง และพบว่ามีห้างค้าปลีกสามห้าง ได้แก่ Kmart, Bunnings และ The Good Guys ที่นำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ ด้วยเหตุผลหลักคือป้องกันการสูญหายของสินค้า โดยทางห้างอ้างว่าได้ติดป้ายแจ้งให้ผู้บริโภคทราบแล้วว่าการเดินเข้าประตูมาถือเป็นการยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวแต่ป้ายเหล่านี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ถ้าไม่ตั้งใจมองก็อาจพลาดไปได้ง่ายๆ จึงเกิดคำถามว่า ห้างแน่ใจได้อย่างไรว่าลูกค้าเห็น และได้อ่านป้ายดังกล่าวแล้วจริงๆ และผู้บริโภครู้หรือไม่ว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้หรือจัดเก็บอย่างไร นานแค่ไหน ส่งต่อให้ใคร ปลอดภัยจากการถูกแฮคหรือไม่ ที่สำคัญคือไม่มีออปชัน “ไม่ยินยอมให้จดจำใบหน้าของฉัน” ให้ลูกค้าได้เลือก        การสำรวจความคิดเห็นของนักช้อป 1,000 คน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดย Choice พบว่ามีถึงร้อยละ 76 ที่ไม่รู้ว่ามีการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ในห้าง  ร้อยละ 78 บอกว่าตนเองรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย และร้อยละ 83 บอกว่าห้างควรแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าด้วย            เทคโนโลยีที่ว่านี้ นอกจากจะเก็บข้อมูล “ใบหน้า” ของลูกค้าแล้ว ยังติดตามจำนวนครั้งที่ลูกค้าเข้าร้าน ช่วงเวลาและระยะเวลาที่อยู่ในร้าน อีกทั้ง “รีแอคชัน” ของลูกค้าเมื่อเห็นป้ายราคา หรือโฆษณาต่างๆ รวมไปถึงบุคคลที่มักจะมาเดินช้อปด้วยกัน เป็นต้น          ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนี้บอกว่า ข้อมูลใบหน้าของลูกค้าจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับภาพในฐานข้อมูลที่มีการ tag แยกหมวดหมู่ไว้ และในอุดมคติ ภาพใบหน้าเหล่านี้จะถูกเข้ารหัสและนำไปจัดเก็บไว้อย่างปลอดภัยในไฟล์ที่อ่านได้โดยอัลกอริธึมเฉพาะเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ยังไม่มีใครสามารถรับรองได้        ส่วนในทางเทคนิค ห้างสามารถนำข้อมูลใบหน้าที่มีอยู่ ไปเทียบกับ “รูปถ่าย” ในโซเชียลมีเดียที่เจ้าของหน้าโพสต์ไว้ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเครดิต ฐานะทางเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่คบหาหรือแม้แต่ทัศนคติทางการเมืองของลูกค้าได้ด้วย        โดยสรุปคือองค์กรผู้บริโภคเป็นกังวลและต้องการความโปร่งใสเรื่องแนวปฏิบัติในการจัดการข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของออสเตรเลียที่ระบุว่า “ข้อมูลที่ผู้ประกอบการจัดเก็บ จะต้องเหมาะสมกับเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ และจะต้องไม่มากไปจนอาจก่อให้เกิดอันตราย”         ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลแห่งออสเตรเลีย Australian Information Commissioner (OAIC) กำลังดำเนินการสอบสวนห้าง Kmart และ Bunnings ว่านำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้อย่างไร ละเมิดกฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ทั้งสองห้างบอกว่ายินดีให้ความร่วมมือ ในขณะที่ The Good Guys ก็ประกาศหยุดการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไว้จนกว่าจะรู้ผลการสอบสวน        ระหว่างนี้ Choice ได้ให้คำแนะนำแบบติดตลกไว้ว่า หากผู้บริโภคไม่อยากถูกจดจำใบหน้าเวลาไปเดินห้าง ก็ให้ใส่หมวก ใส่แว่นกันแดด หรือหน้ากากอนามัยไปพลางๆ ก่อน แต่ก็ต้องทำใจเพราะช่วงเวลาทองนี้คงมีอีกไม่นาน เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้นทุกวันhttps://www.smh.com.au/technology/kmart-and-bunnings-use-of-face-recognition-tech-sparks-investigation-20220713https://www.choice.com.au/consumers-and-data/data-collection-and-use/how-your-data-is-used/articles/kmart-bunnings-and-the-good-guys-using-facial-recognition-technology-in-storehttps://www.securityindustry.org/wp-content/uploads/2022/04/future-of-facial-recognition-web.pdf

อ่านเพิ่มเติม >