ฉบับที่ 175 กระแสต่างแดน

ของต้องห้ามกฎหมายอินโดนีเซียระบุให้สถานที่สาธารณะ สถานพยาบาล สถานศึกษา สนามเด็กเล่น สถานีขนส่ง และสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ แต่เรื่องราวมันไม่ง่ายอย่างนั้นคุณแม่รายหนึ่งโพสต์เล่าเรื่องของเธอในเว็บไซต์ www.change.org ว่าขณะที่เธอและลูกน้อยวัยขวบกว่าๆ กำลังนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านกาแฟเจโค ในห้างลิปโปมอลล์ กรุงจาการ์ตานั้น มีลูกค้าผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาบอกให้เธอพาลูกไปนั่งที่อื่น เพราะเขาต้องการสูบบุหรี่ เธอแจ้งกับพนักงานร้านแต่กลับได้รับคำยืนยันว่า “ไม่ต้องห่วง การระบายอากาศของร้านเราดีเลิศ”เธอส่งคำร้องไปยังร้านกาแฟเจโค ห้างลิปโป รวมถึงผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ตา ให้ลงมือทำอะไรสักอย่างได้แล้ว และคำร้องนี้มีคนร่วมลงชื่อไม่ต่ำกว่า 38,000 คน       และนั่นนำไปสู่การสำรวจของ Jakarta Environmental Management Agency ที่ได้ข้อค้นพบอันน่าตื่นตะลึงว่าร้อยละ 90 ของศูนย์การค้าและห้างร้านต่างๆ ในเมืองนี้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการติดประกาศกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่ อาจตื่นตัวช้าไปบ้าง แต่ขณะนี้ทางการได้ออกประกาศว่าจะเข้มงวดกับผู้ประกอบการที่ลืมติดป้าย “ห้ามสูบบุหรี่” ให้มากขึ้น และผู้ฝ่าฝืนซ้ำซากจะได้รับโทษหนักกว่าเดิมแน่นอน     Fast Fashion, Slow Recycling  เมื่อเสื้อผ้าราคาถูกลง ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มจะซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อยขึ้น ปรากฏการณ์นี้ยืนยันได้ด้วยยอดขายเสื้อผ้าทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  คำถามคือ ในอนาคตเราจะมีวัตถุดิบ (ซึ่งส่วนใหญ่คือฝ้ายที่ต้องอาศัยน้ำและสารเคมีปริมาณมหาศาลในการปลูก) เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่แบรนด์เสื้อผ้าหลายเจ้า เช่น Marks and Spencer และ H&M เริ่มแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยโครงการรับเสื้อผ้าเก่ากลับมารีไซเคิลแต่ปัญหาคือเทคโนโลยีการรีไซเคิลใยฝ้ายในปัจจุบันยังไม่ดีพอ มีเพียงร้อยละ 20 ของใยฝ้ายจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปเท่านั้นที่นำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าตัวใหม่ได้ เพราะกระบวนการตัดเพื่อรีไซเคิลทำให้ได้เส้นใยที่สั้นลง นี่ยังไม่นับว่าเรายังไม่มีวิธีจัดการกับเสื้อผ้าที่ประกอบขึ้นด้วยเส้นใยต่างชนิดกันด้วยคาร์ล โจฮาน เพอซัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ H&M บอกว่าบริษัทจะตั้งงบประมาณปีละ 1 ล้านยูโรเพื่อการวิจัยหาเทคนิคใหม่ๆ ในการรีไซเคิลเส้นใยโดยไม่ทำให้มันเสื่อมคุณภาพอย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ยังไม่ตรงประเด็น ... มันจะไม่ดีกว่าหรือถ้าเราออกแบบให้เสื้อผ้าให้สามารถใช้งานได้นานขึ้นก่อนจะเสื่อมสภาพหรือเสื่อมความนิยมไปถึงเวลาของ Slow fashion แล้วกระมัง ...      อาหารดีต้องมีที่มาถ้าได้รู้ว่าของกินที่ไหนอร่อย แม้ราคาจะสูงไปบ้าง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยินดีจ่าย แต่ปัญหามันอยู่ที่ เราไม่มีโอกาสได้รู้นี่สิ สมาชิกคนหนึ่งเสนอร่างกฎหมายต่อวุฒิสภาออสเตรเลียว่าด้วยการให้ร้านอาหารเปิดเผยที่มาของวัตถุดิบอาหารทะเล เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้สนับสนุนกิจการประมงในประเทศ และได้รู้ว่ากุ้ง หอย ปู ปลา ที่รับประทานนั้นสดสะอาด ได้มาด้วยวิธีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่ผิดกฎหมายหรือไม่เรื่องนี้เรื่องใหญ่เพราะปัจจุบันคนออสเตรเลียนิยมบริโภคอาหารทะเลกันมากขึ้น และงานวิจัยก็พบว่าร้อยละ 70 ของคนออสซี่ชอบอาหารทะเลที่หาได้ในประเทศมากกว่าอาหารนำเข้า ความจริงแล้วไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร ร้อยละ 90 ของผู้คนที่นั่นยินดีจะซื้อสินค้าที่ระบุว่า “ทำในออสเตรเลีย” มากกว่าสินค้านำเข้าด้วยน่าเสียดายที่ร้อยละ 75 ของอาหารทะเลที่ขายตามร้านอาหารในออสเตรเลียถูกนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ปลากะพงจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และซาอุดิอาราเบีย  ปลาปนเปื้อนยาปฏิชีวนะจากเอเชีย (ข่าวไม่ได้ระบุว่าประเทศไหน) แล้วยังมีเนื้อปลาที่ขายในร้านฟิชแอนด์ชิปส์ที่ได้มากจากปลาฉลามอีก สุดท้ายแล้ววุฒิสมาชิกออสเตรเลียมีมติไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าว “เมนูปลาวันนี้” จึงบอกอะไรผู้บริโภคไม่ได้เหมือนเดิม  สงครามแอพยานเด็กซ์ เว็บค้นหาข้อมูลอันดับหนึ่งของรัสเซียร้องเรียนต่อหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดทางธุรกิจ ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกูเกิ้ลที่ใช้อำนาจการตลาดในรัสเซียเอาเปรียบคู่แข่งผ่านแอพฯเพราะทุกวันนี้ ผู้บริโภคที่ซื้อโทรศัพท์ที่มีระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จะได้แอพลิเคชั่นจากกูเกิ้ลพ่วงไปด้วย ทำให้กูเกิ้ลถูกตั้งให้เป็นเว็บค้นหาหลักประจำเครื่องและมีไอคอนอยู่บนหน้าจอโดยอัตโนมัติ นั่นหมายความว่ายานเด็กซ์กำลังจะเสียลูกค้าให้กับกูเกิ้ลเป็นจำนวนไม่น้อย หน่วยงานดังกล่าวฟันธงแล้วว่า กูเกิ้ลกระทำผิดตามที่มีผู้ร้องเรียนจริง ความผิดดังกล่าวมีโทษปรับร้อยละ 15 ของรายได้ของกูเกิ้ลรัสเซียในปี 2014 ทั้งนี้เขายังไม่เปิดเผยรายได้ดังกล่าวเพราะถือเป็นความลับทางการค้า อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 กูเกิ้ลมีรายได้รวมทั่วโลก 66,000 ล้านเหรียญ และรัสเซียเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของบริษัท นอกจากรัสเซียแล้ว กูเกิ้ลกำลังเผชิญกับข้อหาเดียวกันนี้ในสหภาพยุโรปเช่นกัน  “ติ๊งติ๊ง”ได้ไปต่อ ฮ่องกงก็ประสบปัญหารถติดเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ทั้งหลาย ที่ปรึกษาด้านผังเมืองจึงเสนอให้ยกเลิกรถรางบางสายในย่านเซ็นทรัล บนเกาะฮ่องกง ด้วยเหตุผลว่ามันวิ่งช้าเกินไป และกีดขวางการจราจรเพราะต้องใช้พื้นที่มาก นอกจากนี้เครือข่ายรถไฟฟ้าไต้ดินก็เพียงพอที่จะให้บริการอยู่แล้ว แน่นอนแผนนี้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยออกมาคัดค้านด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป บ้างก็รู้สึกว่ารถรางซึ่งมีมากว่า 110 ปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นฮ่องกง  บ้างก็ไม่อยากสูญเสียรูปแบบการเดินทางสาธารณะที่ถูกที่สุดบนเกาะฮ่องกงไป (ค่าโดยสาร 2.30 เหรียญตลอดสาย และ 1 เหรียญสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ) นอกจากนี้รถรางยังปล่อยมลพิษน้อย เหมาะสมกับยุคที่ต้องช่วยกันลดโลกร้อน และโดยเฉลี่ยแล้วผู้โดยสารรถรางใช้เนื้อที่ถนนน้อยกว่าผู้ขับขี่รถยนต์ถึง 19 เท่าส่วนนักวิชาการด้านการขนส่งก็ยืนยันว่าการยกเลิกรถรางสายนั้นออกไปคงไม่ช่วยลดปัญหารถติด เพราะเมื่อไม่มีรถราง ก็จะมีจำนวนรถยนต์เข้ามาแทนที่อยู่ดี ปัญหาที่แท้จริงคืออาคารในเขตเซ็นทรัลที่สร้างมานานแล้วไม่มีพื้นที่ให้รถบรรทุกเข้ามาจอดเทียบส่งของ ทำให้รถเหล่านี้ต้องใช้พื้นที่ถนนเป็นที่จอด จึงนำไปสู่ปัญหารถติด ถ้าจะแก้ก็น่าจะแก้ที่จุดนี้ หรือถ้าคิดในทางกลับกัน เมื่อรถไฟฟ้าใต้ดินมีโครงข่ายครอบคลุมแล้วทำไมไม่ประกาศให้เซ็นทรัลเป็นเขตปลอดรถยนต์ไปเสียเลยสุดท้ายบรรดาผู้ใช้รถรางกว่า 200,000 คนต่อวันก็โล่งใจได้ เพราะเจ้ารถ “ติ๊งติ๊ง” ที่ว่านี้จะยังคงให้บริการครบทุกเส้นทางตามเดิม พูดลอยๆ ตรงนี้เลย ว่าถึงแม้ค่าโดยสารรถรางจะถูกแสนถูก แต่บริการยังน่าประทับใจ และผลกำไรจากการประกอบการก็ยังคงดีงามเหมือนเคย …   

อ่านเพิ่มเติม >