ฉบับที่ 250 รถบัสประจำทางชนแล้วหนี ผู้โดยสารมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

        เมื่อผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารรถสาธารณะ แล้วเจ้าของรถหรือประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้ตามสิทธิ์ที่ผู้เสียหายพึงจะได้รับ ผู้โดยสารสามารถยื่นฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการประกันภัยและผู้ประกอบธุรกิจรถโดยสารได้                  คุณวิมลศรีเองก็เพิ่งทราบข้อมูลนี้ หลังจากที่เมื่อต้นปี 2562 รถบัสโดยสารประจำทาง สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ ที่เธอนั่งมานั้นเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพราะคนขับตีนผีซิ่งไปชนท้ายของรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ บรรทุกนั่งร้านเหล็กมาเต็มคันรถที่จอดอยู่ข้างทาง บนถนนทางหลวงหมายแลข 340 สุพรรณบุรี-ชัยนาท ส่งผลให้คุณวิมลศรีกับญาติอีกคนที่มาด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ได้รับบาดเจ็บมากบ้างน้อยบ้างติดอยู่ภายในรถอีกเกือบ 10 คน ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแล้ว คนขับรถโดยสารก็หลบหนีไป คุณวิมลศรีเกรงว่าจะต้องเจ็บตัวฟรี จึงมาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้ยื่นเรื่องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค โดยมีคุณวิมลศรีเป็นโจทก์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก คนขับรถโดยสารเป็นจำเลยที่ 1 บริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 3 ซึ่งในข้อเท็จจริงทางคดีคือ โจทก์ใช้บริการจำเลยทั้ง 3 ในเส้นทางจังหวัดสุพรรณบุรีไปนครสวรรค์ ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วไปอัดท้ายรถพ่วง จนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส และคดีนี้ไม่ใช้ทนาย มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิรับมอบอำนาจเป็นผู้ฟ้องคดีแทน โจทก์ฟ้องเรียกเงิน 715,968 บาท นัดไกล่เกลี่ยกับจำเลยที่ 1 จนได้ข้อตกลงร่วมกันว่า จำเลยทั้ง 3 ยอมจ่ายให้ 400,000 บาท โจทก์จึงถอนฟ้อง เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 รถบัสลายการ์ตูน สวยงามหรืออันตราย!?

  เชื่อว่าใครที่สัญจรบนท้องถนนเป็นประจำ น่าจะเคยสะดุดตากับบรรดา “รถบัสลายการ์ตูน” ทั้งตัวการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนฝรั่ง การ์ตูนไทยก็มี สีสันแสบตา เรียกว่านับสีกันไม่ถูก แถมบางคันยังติดไฟพรึ่บพรั่บเป็นสิบๆ ดวง ดูแล้วออกจะรกหูรกตามากกว่าจะเรียกว่าเป็นความสวยงาม เชื่อว่าหลายคนที่พบเห็นคงมีคำถามอยู่ในใจว่า รถทัวร์ลายการ์ตูนและรถทัวร์ที่ติดไฟส่องสว่างเกินความจำเป็นพวกนี้ เป็นรถที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แล้วจะมีผลอย่างไรหรือไม่กับเรื่องของการขับขี่และที่สำคัญคือเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุ เรามาร่วมกันไขปริศนาของเหล่าบรรดารถบัสลายการ์ตูนสีลูกกวาดที่กำลังออกอาละวาดบนท้องถนนว่าเหมาะสม? ถูกต้อง? ปลอดภัย? อันตราย? หรือขัดกับกฎหมายอะไรยังไงกันบ้าง?   ต้องทำเพื่อเอาใจลูกค้า? พวกรถบัสลายการ์ตูนมักจะมาในรูปของ “รถโดยสารไม่ประจำทาง” ซึ่งมักจะเป็นรถรับส่งพนักงาน หรือรถโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งการเป็นรถเพื่อการท่องเที่ยวนี่แหละที่กลายเป็นคำกล่าวอ้างของผู้ประกอบการให้เช่ารถโดยสารไม่ประจำทางถึงเหตุผลที่ทำให้รถต้องถูกตกแต่งด้วยสีสันและลวดลายต่างๆ   ฉลาดซื้อได้สอบถามพนักงานขับรถและผู้ประกอบการให้เช่ารถโดยสารไม่ประจำทางแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีบริษัทผู้ประกอบการรถบัสโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางหลายแห่ง เนื่องจากเป็นจังหวัดที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม จึงทำให้มีรถบัสสำหรับรับ - ส่งพนักงานวิ่งให้บริการเป็นจำนวนมาก รวมทั้งรถที่เพนท์ลายการ์ตูน – แต่งไฟก็มีให้พบเห็นได้ไม่ยาก พนักงานขับรถและผู้ประกอบการได้อ้างถึงเหตุผลที่รถต้องมีการแต่งสีสันหรือวาดลายการ์ตูน รวมทั้งการที่ต้องมีการติดโคมไฟจำนวนมากไว้บริเวณหน้ารถหรือตามตัวรถว่า เป็นความต้องการของลูกค้าที่มาขอใช้บริการ เพราะลูกค้าที่ต้องการรถประเภทนี้ส่วนใหญ่ให้เหตุผลเรื่องความสนุก โดยคิดว่ายิ่งรถมีสีสันแต่งสวยก็จะยิ่งให้ความรู้สึกสนุกมากขึ้น ถึงขนาดที่ลูกค้าที่มาติดต่อเช่ารถเป็นฝ่ายขอมาเองเลยว่ารถต้องมีลวดลายเยอะๆ แต่งไฟเยอะๆ เครื่องเสียงก็ต้องดัง บางก็ว่าด้วยความที่รถมีลวดลายเฉพาะทำให้ง่ายต่อการจดจำเวลาที่รถไปจอดรอบตามที่ต่างๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวหรือตามปั้มน้ำมัน ซึ่งมักจะมีรถบัสโดยสารลักษณะนี้จอดเป็นจำนวนมาก ทำให้คนที่โดยสารมาจดจำรถของตัวเองได้   สรุปคือ ผู้ประกอบการอ้างว่าการตกแต่งรถบัสด้วยสีสัน ลายการ์ตูน และดวงไฟที่มากมายเกินพอดีนั้น เป็นหนึ่งในเรื่องของการบริการ แต่บริการในลักษณะนี้อาจกำลังขัดกับเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสาร รวมทั้งอาจส่งผลต่อเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งตัวผู้ใช้บริการหรือผู้โดยสารเองอาจยังไม่ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ตัวผู้ประกอบการเองก็ละเลยที่จะเลือกปฏิบัติตามกฎระเบียบ และอาจจะรวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลที่หละหลวมในการควบคุม   สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุมักเกิดจากความประมาทของพนักงานขับรถ เช่น ขับรถเร็ว ขับตัดหน้ากระชั้นชิด ขับผิดกฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะ ทั้งสภาพของถนนที่ยากต่อการขับและต้องอาศัยของชำนาญของผู้ขับ สภาพแวดล้อม เช่น ฝนตกหนัก ถนนลื่น   สภาพของรถก็มีผลต่อสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเช่นกัน ทั้งในเรื่องการตรวจเช็คที่ไม่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์ชำรุด ส่งผลต่อการควบคุมรถ และรวมถึงการตกแต่งต่อเติมสภาพรถเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้มีการกำหนดไว้ชัดเจนในกฎกระทรวงเรื่อง “กำหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร พ.ศ. 2555” ว่าไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถ หรือเพิ่มสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าไป ซึ่งน่าจะเป็นอันตรายกับการขับรถและการโดยสาร   เพราะฉะนั้นบรรดารถโดยสารที่เพนท์สีสันหรือลายตัวการ์ตูนต่างๆ รอบตัวรถ และที่มีการติดไฟส่องสว่างไว้ที่หน้ารถนับสิบๆ ดวง ที่ดูแล้วน่าจะเป็นการตกแต่งดัดแปลงรถที่เกินความจำเป็นนั้น ถึงแม้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ารถทัวร์ลายการ์ตูนและรถทัวร์ที่ติดไฟส่องสว่างเกินความจำเป็นนั้นมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุมากน้อยแค่ไหน แต่กรมการขนส่งทางบกก็ได้มีการออกกฎหมายควบคุมในเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบนท้องถนน   สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2555 พบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถึง 176 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตถึง 181 คน บาดเจ็บ 1,857 คน ที่มา กรมการขนส่งทางบก   รถบัสแต่งสี – แต่งไฟ ระวังเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย ข้อบังคับเรื่องการตกแต่งสีและลวดลายบนตัวถังรถ กรมการขนส่งทางบกได้ออกข้อบังคับเรื่องการตกแต่งสีสัน ลวดลาย และภาพวาด บนตัวถังรถยนต์ ไว้ในประกาศเรื่อง “ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่ตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ พ.ศ. 2555” ซึ่งมีข้อกำหนดดังนี้ รถโดยสารทั้งแบบประจำทางและไม่ประจำทาง สามารถตกแต่งภาพไว้บนตัวถังรถได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด และได้รับการขออนุญาตเสียก่อน โดยรูปภาพประจำรถหรือข้อความที่นำมาตกแต่งต้องไม่มีลักษณะดังนี้ 1.กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น รูปภาพล้อเลียนหรือข้อความที่ส่อไปทางดูหมิ่น ดูถูกผู้นำหรือประชาชนของประเทศอื่น เป็นต้น 2.กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือขัดต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ เช่น รูปภาพหรือข้อความที่สนับสนุนให้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น 3.ขัดต่อกฎหมายอื่น เช่น รูปภาพหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น 4.ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรม หรือวัฒนธรรมอันดีของประชาชน เช่น รูปภาพหรือข้อความที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร 5.ขัดต่อลัทธิหรือความเชื่อทางศาสนา หรืออาจเป็นประเด็นขัดแย้งทางศาสนา เช่น  รูปภาพหรือข้อความล้อเลียนศาสดาหรือผู้นำทางศาสนา 6.ก่อให้เกิดอันตรายหรือก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เช่น รูปภาพหรือข้อความที่เป็นสีสะท้อนแสง เป็นต้น 7.ละเมิดหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เช่น รูปภาพหรือข้อความที่หมิ่นประมาทผู้อื่น เป็นต้น 8.มีข้อความหรือถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เช่น คำหยาบคาย คำผวน หรือคำแสลงที่สื่อความหมายในทางลามก อนาจาร เป็นต้น   ที่สำคัญคือ รูปภาพประจำรถต้องไม่ปิดทับเครื่องหมายของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถ หมายเลขเส้นทาง ชื่อเส้นทาง หรือข้อความอื่นที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อความเกี่ยวกับการใช้ประตูฉุกเฉิน ทางออกฉุกเฉิน และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ของรถ เช่น ประตูฉุกเฉิน ประตูอัตโนมัติ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยอนุญาตให้มีรูปภาพประจำรถได้แต่เฉพาะในตำแหน่งด้านข้างภายนอกตัวถังรถเท่านั้น และต้องไม่บดบังส่วนที่เป็นกระจกหรือบานหน้าต่าง หากกระทำผิดฝ่าฝืนกฎข้อบังคับจะถูกลงโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท   แต่จากสภาพที่เห็นๆ กันอยู่ ว่าการตกแต่งตัวถังรถ ทั้งด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายตัวรถ ด้วยรูปภาพการ์ตูนหรือลวดลายต่างๆ โดยใช่สีสันหลากหลายสี จนยากที่จะจำแนกเจาะจงว่ารถคันดังกว่าเป็นสีอะไร ทำเป็นปัญหาอย่างมากต่อการจดจำหรือใช้เป็นข้อมูลเฉพาะของรถคันดังกล่าว แม้บางคนอาจอ้างว่ายิ่งรถตกแต่งลายการ์ตูนน่าจะช่วยให้จำง่ายด้วยซ้ำเพราะไม่ซ้ำกับรถคันอื่น แต่หากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายหรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากรถบัสลายการ์ตูนดันดังกล่าว ไม่รู้จักตัวการ์ตูนตัวนั้นที่เป็นภาพวาดอยู่บนรถ ก็แทบจะระบุไม่ได้เลยว่าลักษณะสีของรสบัสคันดังกล่าวเป็นสีอะไร นอกจากนี้การใช้สีสันเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะสีสะท้อนแสง ก็จะยิ่งเป็นอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น เพราะสีสะท้อนแสงจะไปรบกวนการทัศนวิสัยการขับขี่ของรถคันอื่นได้   เรื่องของรูปภาพโฆษณาที่ติดข้างรถโดยสาร คนกทม.น่าจะคุ้นเคยกับบรรดารถเมล์ที่ด้านข้างตัวรถถูกปิดทับด้วยภาพโฆษณา ซึ่งประกาศเรื่อง “ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่ตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ พ.ศ. 2555” ก็มีผลบังคับกับรถประจำทางเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ก็มีข้อกำหนดเฉพาะเพิ่มเติม เช่น รูปภาพเพื่อการโฆษณาบริเวณส่วนตัวถังที่เป็นกระจกหรือบานหน้าต่าง ต้องทำด้วยวัสดุโปร่งแสงซึ่งสามารถทำให้ผู้โดยสารภายในรถมองเห็นสภาพภายนอกรถได้ดี และบุคคลภายนอกรถสามารถมองเห็นสภาพภายในรถได้ด้วย การติดรูปภาพเพื่อการโฆษณาที่ตัวถังรถ ต้องติดให้แนบแน่นกับตัวถังรถอย่างเรียบร้อย โดยต้องไม่มีส่วนใดยื่นออกนอกตัวถังรถ ข้อบังคับเรื่องโคมไฟส่องสว่าง ส่วนในเรื่องของโคมไฟนั้น ตามพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่าให้มีได้เฉพาะในส่วนที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น โคมไฟส่องสว่างด้านหน้า ไฟเลี้ยว ไฟจอด ไฟท้ายและไฟจอดแสงสีแดง ไฟส่องป้ายทะเบียน และไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้างของรถ สำหรับไฟส่องสว่างที่อนุญาต คือ ไฟแสงสีขาวและสีเหลืองเท่านั้น โคมไฟอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกเสียก่อน สำหรับรถบัสที่ติดตั้งโคมไฟสปอร์ตไลท์ ที่มีลักษณะโคมไฟเรียงกันเป็นแถวยาวที่ด้านหน้าและด้านท้ายรถ ทั้งตามแนวตั้งและแนวนอนเป็นจำนวนมากหลายสิบดวง ซึ่งปิดบังทัศนะวิสัยในการมองบริเวณกระจกรถ รวมถึงการดัดแปลงแก้ไขโคมไฟต่างๆ เช่น โคมไฟส่องสว่าง โคมไฟเบรก โคมไฟเลี้ยวให้มีสีที่ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนด หรือติดสติ๊กเกอร์ปิดบังทัศนวิสัยในการมองบริเวณกระจกหน้ารถ รวมถึงเปิดเสียงดังก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ถือว่าเข้าข่ายกระทำผิดพระราชบัญญัติ ผู้ที่ทำผิดจะมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท จากการที่ฉลาดซื้อได้สอบถามกับพนักงานขับรถบัสไม่ประจำทางคนหนึ่งถึงเรื่องของโคมจำนวนกว่าร้อยดวงที่ติดอยู่ด้านหน้ารถนั้น พนักงานขับรถยืนยันว่า “ทุกดวงสามารถเปิดใช้งานได้” ซึ่งแน่นอนหากมีการเปิดใช้โคมไฟเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการนำไปใช้ผิดประเภทย่อมส่งผลต่อการขับขี่ของรถยนต์คันอื่นๆ (ใครที่พบเห็นรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ที่มีการตกแต่งสี – ลวดลาย โคมไฟ หรือตกแต่งส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวรถที่ดูแล้วไม่เหมาะสม ขัดกับกฎหมาย หรืออาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ สามารถแจ้งไปได้ที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ โทร. 1584”) ------------------------------------------------------- คำแนะนำในการเดินทางโดยรถโดยสารไม่ประจำทาง -เลือกผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือ มีที่ตั้งสถานที่ประกอบการชัดเจน มีใบอนุญาตประกอบการจากกรมการขนส่งทางบก ตรวจสอบได้ -ได้ดูสภาพรถจริงๆ ก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการ เรามีสิทธิเลือกรถที่จะใช้ -เลือกเช่ารถที่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วน ได้แก่ เข็มขัดนิรภัย มีค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง และควรมั่นใจว่าอุปกรณ์ต่างๆ ยังอยู่ในสภาพที่ใช้ได้จริง -เลือกรถโดยสารแบบชั้นเดียว เพราะปลอดภัยกว่ารถโดยสารที่เป็นแบบ 2 ชั้น -เลือกรถที่มีการทำประกันอุบัติเหตุ แบบประกันชั้น 1 -ถ้าเดินทางในระยะทางที่มากกว่า 400 กิโลเมตร ต้องมีพนักงานขับรถ 2 คน -พนักงานขับรถต้องมีใบอนุญาตสำหรับรถโดยสาร (ใบอนุญาตประเภท 2 ขึ้นไป) และต้องมีการแสดงข้อมูลพนักงานขับรถที่ถูกต้อง (ชื่อ – นามสกุล และ รูปถ่าย) ติดบริเวณด้านในของรถ ถ้ามีพนักงานขับ 2 คน ก็ต้องแสดงข้อมูลที่ถูกต้องทั้ง 2 คน -ควรมีการวางแผนเส้นทางการเดินทางและระยะเวลาร่วมกับพนักงานขับรถ เลือกเส้นทางที่ปลอดภัย และไม่ควรเดินทางด้วยความเร่งรีบเกินไป เพราะเสี่ยงต่ออันตราย -ระหว่างเดินทางอย่าลืมค่อยสังเกตพนักงานขับรถ ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมจะขับขี่หรือไม่ รวมทั้งต้องขับรถด้วยความสุภาพเรียบร้อย ไม่ขับรถประมาท หรือขับหวาดเสียว หากเห็นว่าไม่ปอลดภัยต้องรีบบอกกับพนักงานขับรถ หรือขอให้หยุดรถแล้วแจ้งบริษัทผู้ให้บริการ เจ้าหน้าตำรวจจราจร หรือกรมการขนส่งทางบก -เลือกรถที่มีสภาพถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการตกแต่งลายหรือใช้สีสันฉูดฉาดหลายสี ไม่มีการติดโคมไฟหรือใช้แสงสีผิดจากที่กฎหมายกำหนด ---------------------------------------------------------------------     ปัจจุบันมีรถโดยสารจดทะเบียน จนถึง 31 ตุลาคม 2555 ทั้งสิ้นจำนวน 137, 153 คัน เป็นรถโดยสารประจำทาง จำนวน 88,962 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 36,962 คัน ที่มา : กรมการขนส่งทางบก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point