ฉบับที่ 129 รอยไหม : ทั้งรักทั้งแค้นแน่นผืนผ้า

  เมื่อหลายปีก่อน ฮอลลีวู้ดเคยสร้างภาพยนตร์เล็ก ๆ เรื่องหนึ่ง แต่เนื้อหาดูน่าสนใจมากทีเดียว ในชื่อเรื่อง “How to Make an American Quilt” เหตุผลที่ผมว่าเนื้อหาของหนังเรื่องนี้น่าสนใจ ก็เป็นเพราะว่าหนังพูดถึงชีวิตของผู้หญิงหกคนที่มาร่วมกันถักทอและตัดเย็บลวดลายต่างๆ ลงบนผืนผ้านวมหรือที่เรียกว่า “quilt” ในภาษาอังกฤษ แต่ที่สำคัญ เธอเหล่านั้นไม่ใช่ทอแค่ผืนผ้าที่มาใช้ห่มร่างกาย หากแต่ยังใช้ลวดลายบนผืนผ้าเป็นสัญลักษณ์สะท้อนชีวิตและความทรงจำต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตของตนลงไปด้วย เมื่อเราย้อนกลับมาดูในจอโทรทัศน์ของไทยกันบ้าง ผ้านวมที่ใช้กันในสังคมเมืองหนาวนั้นอาจจะดูไม่ใช่วัฒนธรรมการตัดเย็บแบบไทยๆ หรือไม่เหมาะจะเป็นสัญลักษณ์สะท้อนชีวิตผู้หญิงไทยเท่าใดนัก บ้านเราเป็นเมืองร้อน ดังนั้น หากผู้หญิงสักคนจะเลือกสัญลักษณ์มาถักทอชีวิตและความทรงจำของตนเองแล้ว ก็คงต้องทำผ่านลวดลายที่อยู่บนผืนผ้าไหมที่ทอผ่านกี่และฟืมพื้นบ้านกันแทน แบบเดียวกับที่เราได้เห็นได้สัมผัสผ่านละครโทรทัศน์เรื่อง “รอยไหม” นั่นเอง เพื่อนของผมหลายคนมาคุยให้ฟังว่า ถ้าพูดถึงละครเรื่อง “รอยไหม” แล้ว สิ่งแรกๆ ที่จะนึกถึงกันก่อนเลย ก็เห็นจะเป็นตัวละครอย่างผีนังเม้ย ที่ดูน่าเกลียด น่ากลัว และชวนขนหัวลุกทุกครั้งที่เธอขยับกายมาปรากฏตัวที่หน้าจอ ผู้ชมหลายคนดูจะลุ้นระทึกทุกครั้งที่ผีนังเม้ยออกมาอาละวาด จนถึงขนาดมีผู้ชมหลายคนมารวมตัวกับบนสื่อออนไลน์ร่วมสมัครเป็นแฟนคลับผีนังเม้ยกันเป็นวงกว้าง แต่ทว่า นอกจากผีนังเม้ยที่เป็นจุดขายของละครแล้ว การสร้างตัวละครทุกตัวที่อู้คำเมืองกันชนิดไม่เกรงใจหูคนดูที่อยู่ในภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคเหนือ กับการสร้างให้ตัวละครหลักสองคนในเรื่องถักทอชีวิตและความทรงจำของตนลงบนผืนผ้าไหม(แบบเดียวกับที่ผู้หญิงอเมริกันทอผืนผ้านวมห่มกาย) นั้น ก็เป็นเสน่ห์และความโดดเด่นของละคร “รอยไหม” ด้วยเช่นกัน เริ่มต้นจากผู้หญิงอย่างเรริน อาจารย์สาขาผ้าทอในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ในอดีตชาติของเธอคือเจ้านางมณีรินผู้มีความสามารถด้านการทอผ้า และกลับมาเกิดในปางภพปัจจุบันเป็นผู้ที่รักในงานศิลป์ภูษาผ้าทอเป็นชีวิตจิตใจ กับผู้หญิงอีกนางหนึ่งคือนางร้ายอย่างหม่อมบัวเงิน ที่แม้จะมีความสามารถด้านการทอผ้าไม่ยิ่งหย่อนพ่ายแพ้มณีริน แต่ด้วยพิษรักแรงหึงและความอิจฉาริษยา เธอก็เลยสั่งสมความแค้นมายังเรรินที่กลับมาเกิดในชาติภพปัจจุบัน ชีวิตของผู้หญิงสองคนที่ควั่นเกลียวเข้ามาเกี่ยวสัมพันธ์บนกี่ทอผ้าและลายเส้นบนรอยผืนไหม แถมยังสะท้อนลวดลายความขัดแย้งในชีวิตของเธอทั้งสองคนนั้น ดูจะมาจากเงื่อนเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันสองด้าน แต่ทว่า เหตุปัจจัยดังกล่าวนั้นก็เป็นพันธนาการที่ร้อยรัดผืนผ้าชีวิตของผู้หญิงทั้งสอง หรือแม้แต่กักขังผู้หญิงอีกหลายๆ คนในชีวิตจริงเอาไว้ไม่แพ้กัน แล้วเหตุปัจจัยอันใดเล่าที่รัดร้อยผู้หญิงเอาไว้บนเส้นรอยไหม? นักจิตวิเคราะห์ชื่อก้องโลกอย่างคุณปู่ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยกล่าวเอาไว้ว่า ปมปัญหาที่ผูกมัดอารมณ์ความรู้สึกและจิตใจของมนุษย์เราเอาไว้ ก็คือสองด้านของสิ่งที่เรียกว่า “ความรัก” กับ “ความแค้น” หรือแบบที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า ปมแบบทั้ง “รัก” ทั้ง “แค้น” แน่นอุรา ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นกรงขังชะตากรรมชีวิตของผู้หญิงจำนวนมากเอาไว้ด้วยเช่นกัน เรริน หรือที่ชาติก่อนก็คือเจ้านางมณีริน เธอก็คือตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกฝังตรึงไว้ด้วย “ความรัก” ที่ข้ามภพข้ามชาติมากับเจ้าศิริวงศ์ชายคนรัก แม้ความตายจะพลัดพรากทั้งคู่จากกันในอดีตปางบรรพ์ แต่เพราะจิตปฏิพัทธ์รักผูกพัน เธอจึงเกิดมาพบกับเขาในภพชาติใหม่ เพื่อสานต่อทอผืนผ้าไหมที่ชาติก่อนเคยทอค้างไว้จนขาดใจตายคากี่ทอผ้า เพราะฉะนั้น ในขณะที่ความรักอาจมีด้านที่สวยสดงดงาม แบบที่ศิริวงศ์และมณีรินเคยดีดครวญพิณเปี๊ยะร่วมกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความรักก็เป็นประหนึ่งกรงขังที่ผู้หญิงอย่างเรรินถูกตรึงเอาไว้เบื้องหลังรอยไหมที่ซ่อนซุกอยู่ในผืนผ้าแห่งชีวิต และหากใครก็ตามที่ไม่เห็นคุณค่าในความรักของเธอ เรรินก็พร้อมจะตัดสะบั้นความสัมพันธ์กับเขา แบบที่เธอเองก็ได้ตัดเยื่อใยกับธนินทร์ คู่หมั้นหนุ่มนักโฆษณาที่เห็นคุณค่าของผ้าทอเป็นเพียงสินค้าทางการตลาดที่ผลิตขึ้นมาก็ต้องขายทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมออกไป ในทางกลับกัน สำหรับผู้หญิงอย่างบัวเงินอดีตหม่อมของเจ้าศิริวัฒนา เธอก็คือตัวละครสัญลักษณ์แทนผู้หญิงที่ถูกขังไว้ด้วย “ความแค้น” ที่ตรึงแน่นอยู่ในอก ยิ่งเมื่อเธอได้รู้ว่ามณีรินถูกหมั้นหมายให้มาเป็นชายาของเจ้าศิริวัฒนาชายคนรักด้วยแล้ว บัวเงินก็ยิ่งบ่มเพาะความเคียดแค้น ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ดำคาถาใดๆ เธอก็ใช้วิธีการเลี้ยงผีของนังเม้ยสาวใช้มาหลอกหลอนเจ้านางมณีรินศัตรูหัวใจในทุกๆ ชาติภพ และยิ่งเมื่อมิจฉาทิฐิเข้าบดบังตา บัวเงินก็ทำได้ถึงขนาดวางยาพิษเจ้าหลวง หรือประหัตประหารทุกคนที่ขวางทางเป็นอุปสรรคความรักของเธอ ดังนั้น แม้แต่ผืนผ้าไหมที่ใช้ห่มพระธาตุเพื่อบูชาพระศาสนา บัวเงินจึงมิได้ทอขึ้นมาเพื่อเป้าหมายแห่งพุทธบูชา หากแต่ทำเพื่อเอาชนะเจ้านางมณีรินในทุกวิถีทาง ทั้ง “ความรัก” และ “ความแค้น” จึงมิใช่อื่นใด หรือไม่ต่างอันใดจากสองสิ่งที่สลักขังฝังตรึงชีวิตของผู้หญิงเอาไว้บนริ้วรอยผืนผ้าไหม ขึ้นอยู่กับว่าสตรีแต่นางเหล่านั้นจะเลือกเอา “รัก” หรือ “แค้น” มาถักทอเป็นชีวิตของพวกเธอทั้งในชาติภพอดีตและในชาติปางปัจจุบัน ก็เหมือนกับฉากเปิดเรื่องละคร “รอยไหม” นั่นเอง ที่ฉายภาพมือของผู้หญิงที่สอดกระสวยใส่เส้นไหมเพื่อทอออกมาเป็นผืนผ้าอันงดงาม แต่จะมีใครบ้างหรือไม่ที่จะตั้งคำถามว่า บนผ้าไหมลายวิจิตรจากกี่ทอ จะมีรอย “ความรัก” หรือ “ความชัง” ที่หลบหลืบอยู่เป็นฉากหลังเส้นใยชีวิตของผู้หญิงแต่ละคน

อ่านเพิ่มเติม >