ฉบับที่ 264 สำรวจฉลากผลิตภันฑ์ระงับกลิ่นกายสำหรับผู้ชาย

        เมื่อแฟนคลับสุภาพบุรุษส่งข้อความมาถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรลออนฟอร์เมน ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงจัดให้ตามคำขอ พอเราได้ไปสำรวจก็พบว่า ผลิตภันฑ์ระงับกลิ่นกายสำหรับผู้ชายนั้นมีให้เลือกหลายรูปแบบและหลายสูตรมาก โดยหลักๆ เน้นประสิทธิภาพของการระงับกลิ่นกายและลดเหงื่อ ซึ่งสินค้ากลุ่มที่เน้นเพศชายนี้ส่วนใหญ่ใช้คำโฆษณาที่ระบุถึงประสิทธิภาพ เช่น พลังหอม เย็นสดชื่น แห้งสบายผิว ระงับกลิ่นนาน หอมปกป้องยาวนาน มั่นใจตลอดวัน         นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก”ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายสำหรับผู้ชาย” จำนวน 18 ตัวอย่าง 11 ยี่ห้อ เมื่อเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 มาสำรวจฉลากดูคุณสมบัติ ส่วนประกอบที่เสี่ยงเกิดอาการระคายเคือง (อะลูมิเนียมคลอโรไฮเดรต แอลกอฮอล์ และน้ำหอม) สารกันเสียที่พึงระวัง (ไตรโคลซาน และพาราเบน) ระยะเวลาติดทนนาน และราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ใช้ตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้กลิ่นตัวหาย กลิ่นกายหอม เสริมความมั่นใจอย่างปลอดภัยและคุ้มค่า ผลการสำรวจฉลาก         จากผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายสำหรับผู้ชาย จำนวน 18 ตัวอย่าง 11 ยี่ห้อ แบ่งเป็นรูปแบบลูกกลิ้ง(โรลออน) 11 ตัวอย่าง แบบแท่ง(สติ๊ก) 2 ตัวอย่าง และแบบสเปรย์ 5 ตัวอย่าง พบว่า         -  ทุกตัวอย่างระบุว่ามีคุณสมบัติระงับกลิ่นกาย         -  8 ตัวอย่าง ระบุว่ามีคุณสมบัติทั้งระงับกลิ่นกายและลดเหงื่อ ได้แก่ ยี่ห้อทรอส เฟรช & โพรเทค ดีโอ โรลออน และเอไอ เชิ้ต โพรเทคชั่น ดีโอ โรลออน ยี่ห้อนีเวีย เมน คูล คิก โรลออน, ซิลเวอร์ โพรเทค โรลออน, ดราย อิมแพ็ค สติ๊ก และคูล คิก สเปรย์  ยี่ห้ออาดิดาส ไอซ์ไดฟ์ แอนตี้-เพอร์สพิแรนท์ และยี่ห้อวัตสัน เมน อินสแตนท์ คูลลิ่ง โรลออน ดิโอโดแรนท์         -   11 ตัวอย่าง ระบุว่ามีอะลูมิเนียมคลอโรไฮเดรต หรือคิดเป็น 61.11% ของตัวอย่างทั้งหมด         -    6 ตัวอย่าง ไม่ระบุว่ามีแอลกอฮอล์ ได้แก่ ยี่ห้ออาดิดาส ไอซ์ไดฟ์ แอนตี้-เพอร์สพิแรนท์, ทรอส เอไอ เชิ้ต โพรเทคชั่น ดีโอ โรลออน, วัตสัน เมน อินสแตนท์ คูลลิ่ง โรลออน, โอเรียนทอล พริ้นเซส ฟอร์เมน, ดีโอ เคลียร์ คลาสิค เพียว (สติ๊ก) และนีเวีย เมน คูล คิก สเปรย์         - ทุกตัวอย่างระบุว่ามีน้ำหอม ยกเว้น ยี่ห้อดีโอ เคลียร์ คลาสิค เพียว(สารส้มแท่ง)        - พบ ไตรโคลซาน ในยี่ห้อโฟกัส ไอซ์ซี่ เฟรช คูลลิ่ง โรลออน         - พบ พาราเบน (Methyl Paraben และ Propyl Paraben)ในยี่ห้อโอเรียนทอล พริ้นเซส ฟอร์ เมน อัลตร้า เฟรช แมคซิมัม โพรเทคชัน ดีโอเดอแรนท์         - มี  10 ตัวอย่างที่ระบุระยะเวลาติดทนนานไว้ 48 ชั่วโมง และมี 1 อย่างระบุไว้ 24 ชั่วโมง          - เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตรจากทุกตัวอย่างที่สำรวจ พบว่า ยี่ห้อนีเวีย เมน ดราย อิมแพ็ค สติ๊ก มีราคาแพงสุด คือ  4.38 บาท ส่วนยี่ห้อดีโอ เคลียร์ คลาสิค เพียว(สติ๊ก) มีราคาถูกสุด คือ 1.08 บาท แต่หากเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร เฉพาะในกลุ่มโรลออล 11 ตัวอย่าง พบว่า ยี่ห้อโอเรียนทอล พริ้นเซส ฟอร์ เมน มีราคาแพงสุดคือ 2.85 บาท และยี่ห้อโฟกัส ไอซ์ซี่ เฟรช คูลลิ่ง โรลออน และไคลแม็กซ์ โรลออน มีราคาถูกสุดคือ 1.13 บาท ส่วนในกลุ่มสเปรย์ 5 ตัวอย่าง มีราคาใกล้เคียงกัน อยู่ที่ตั้งแต่ 1.11 – 1.35 บาท   ข้อสังเกต         - ยี่ห้อนีเวีย เมน ซิลเวอร์ โพรเทค โรลออน แสดงข้อมูลบนฉลากไม่ครบ เช่น ไม่ระบุเลขที่ใบรับจดแจ้ง ส่วนประกอบ และที่อยู่ผู้ผลิต/จัดจำหน่าย เป็นต้น         -  8 ตัวอย่างที่มีคุณสมบัติลดเหงื่อ ส่วนใหญ่มีสารอะลูมิเนียมคลอโรไฮเดรตเป็นส่วนประกอบหลัก ยกเว้น ยี่ห้อนีเวีย เมน ดราย อิมแพ็ค สติ๊ก ที่มีสารลดเหงื่อชนิดอื่นคือ อะลูมินัมเซอร์โคเนียมเททระคลอโรไฮเดรกซ์ (Aluminum Zirconium Tetracholorohydrex) และ อะลูมีเนียมเซสคิวคลอโรไฮเดรต (Aluminum Sesquichlorohydrate)           - ยี่ห้อดีโอ เคลียร์ คลาสิค เพียว(สติ๊ก) เป็นสารส้มประเภทแอมโมเนียมอะลัม (Ammonium Alum) ที่ทําให้เกิดสารประกอบของเอมีน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น ผิวหนังและตาได้ แต่ไม่ปรากฏคำเตือนนี้บนฉลากผลิตภัณฑ์          - มีเพียง 4 ตัวอย่างที่ระบุถึงความปลอดภัย เช่น 0%Paraben  0%Aluminum Salts ไม่มีสารเคมีหรือสารกันเสียที่ทำให้แพ้หรือระคายเคือง เป็นต้น  ฉลาดซื้อแนะ         - บางยี่ห้อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นจุดขาย ผู้บริโภคอย่าเพิ่งเชื่อโฆษณา ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีเลขที่ใบรับจดแจ้งชัดเจน และมีฉลากภาษาไทยแสดงรายละเอียด เช่น ชื่อและชนิดของผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ วันเดือนปีที่ผลิต ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/หรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ให้ครบถ้วน         - ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ เพราะแต่ละคนอาจเกิดอาการแพ้ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการแพ้แอลกอฮอล์ น้ำหอม หรือสารกันเสียในผลิตภัณฑ์ ถ้าพบความผิดปกติใด ๆ ต้องหยุดใช้ทันที อย่าเสียดาย         - ก่อนตัดสินใจซื้อ ควรอ่านฉลากดูว่ามีส่วนประกอบที่อาจเป็นอันตรายไหม แล้วเลือกรูปแบบที่ชอบและกลิ่นที่ใช่ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง จากนั้นมาดูประสิทธิภาพว่าระงับเหงื่อและกลิ่นตัวได้นานขนาดไหน อย่างน้อยต้อง 24 ชั่วโมง จะได้ไม่ต้องคอยทาซ้ำระหว่างวัน และหากเจอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์แต่แพงเกินไป อาจไปหายี่ห้ออื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบเหมือนกัน แต่ราคาถูกลงมาหน่อย ก็น่าจะคุ้มกว่า         -ใครที่เหงื่อออกเยอะและมีกลิ่นตัวแรงมาก ๆ แนะนำให้ใช้สูตรที่ไม่มีกลิ่นจะดีที่สุด เพราะหากกลิ่นตัวผสมกับกลิ่นน้ำหอมแล้ว อาจยิ่งทำให้เกิดกลิ่นที่แรงกว่าเดิมเข้าไปอีก          - ใครที่กลัวว่าจะแพ้หรือเกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังจากผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและลดเหงื่อที่มีขายอยู่ทั่วไป อาจเลือกใช้ “สารส้ม” แทนได้ข้อมูลอ้างอิงบทความ โรลออน ผลิตภัณฑ์….ระงับ “กลิ่นกาย”  : ชมพูนุช ไปมูลเปี่ยม (นักวิทยาศาสตร์)ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 181 สารในโรลออนเสี่ยงมะเร็งเต้านมจริงหรือ?https://www.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=24772https://bestreview.asia/best-roll-on-deodorants-for-men/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ค้างจ่าย 2 เดือน มือถือถูกระงับ แต่กลับได้บิลทวงหนี้ย้อนหลัง 11 เดือน

        คำเตือน สำหรับใครที่ใช้แพ็กเกจมือถือแบบเหมาจ่ายรายเดือน คุณรู้ไหมว่าเงื่อนไขการใช้งานนั้น จะเป็นแบบใช้งานก่อนและชำระค่าบริการทีหลัง ถึงแม้จะไม่มีการใช้งานหมายเลข ระบบก็ยังคงคิดค่าบริการต่อเนื่องตามปกติ จนกว่าจะมีการยกเลิกหมายเลข ระบบจึงจะหยุดคิดค่าบริการ หลายคนอาจยังไม่รู้ คุณแท้จริง(นามสมมติ) ก็เช่นกัน         คุณแท้จริงต้องการยกเลิกการใช้เบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท X แบบจ่ายรายเดือน ที่ใช้มาหลายปี แต่ไม่เคยใช้งานเบอร์นี้เต็มแพ็กเกจเลย เพราะเจอปัญหาสัญญาณไม่เต็มตามที่ผู้ให้บริการระบุไว้ เขาจึงหยุดใช้และมียอดค้างจ่ายอยู่ 2 เดือน ต่อมาบริษัทส่งข้อความระงับการใช้บริการมาให้ นับแต่นั้นเขาก็ไม่ได้ใช้เบอร์นั้นอีกเลยและเข้าใจว่าถูกยกเลิกไปโดยปริยายแล้ว         จนกระทั่งปลายเดือน มิถุนายน 2564 คุณแท้จริงได้รับหนังสือจากสำนักงานกฎหมายแจ้งทวงหนี้มา 7 พันกว่าบาท เป็นค่าบริการตั้งแต่ มกราคม - พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเขาเองก็สงสัยว่า จริงๆ บริษัทมีสิทธิเรียกเก็บเงินเฉพาะส่วนที่คงค้างก่อนถูกตัดสัญญาณเท่านั้นไม่ใช่เหรอ ทำไมยังเรียกเก็บเพิ่มอีกล่ะทั้งๆ ที่เขาเลิกใช้เบอร์นั้นนานแล้ว คุณแท้จริงจึงเขียนจดหมายมาขอคำปรึกษาเรื่องนี้กับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ เป็นไปได้ว่าบริษัทอาจแจ้งระงับสัญญาณชั่วคราว เพื่อให้ผู้บริโภคไปชำระค่าบริการที่ค้างอยู่ ยังไม่ได้ยกเลิกบริการอย่างที่ผู้บริโภคเข้าใจ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคยังคงมีหน้าที่ชำระค่าบริการอยู่ โดยการระงับสัญญาณชั่วคราวนั้นผู้ประกอบการสามารถทำได้ ตามข้อ 28 (6) ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ให้บริการสามารถแจ้งขอระงับสัญญาณชั่วคราวได้ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระเกิน 2 รอบบิล ซึ่งเป็นสิทธิในการระงับสัญญาณ ยังไม่ใช่การยกเลิกสัญญา          ดังนั้น ผู้บริโภคควรทำเรื่องยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการให้เรียบร้อย ก่อนที่จะยุติการใช้เบอร์มือถือนั้นๆ ซึ่งก่อนจะยกเลิกสัญญาจะต้องชำระค่าบริการให้ครบถ้วนจนถึงวันที่ยกเลิกสัญญา ตามข้อ 32 ของประกาศเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >