ฉบับที่ 162 รักนี้เจ้จัดให้ : ชีวิตจริงที่ไม่ได้เห็นผ่านเลนส์

ปรมาจารย์ด้านจิตวิเคราะห์นามอุโฆษอย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยอธิบายว่า จิตใจของมนุษย์มีอย่างน้อยสองด้าน เสมือนกับก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในน้ำ ด้านหนึ่งก็เป็นส่วนของจิตที่เรามีสำนึกรู้สึกตัว และเผยให้เห็นแบบน้ำแข็งส่วนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา กับอีกด้านหนึ่งที่เป็นส่วนของจิตไร้สำนึกดิบๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้ผิวน้ำนั้น และฟรอยด์อีกเช่นกันที่กล่าวว่า ด้วยกรอบประเพณีปฏิบัติต่างๆ ของสังคม ทำให้ส่วนที่เป็นสัญชาตญาณลึกที่แฝงเร้นเป็นก้อนน้ำแข็งใต้น้ำ มักจะกลายเป็นส่วนที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดหรือบาดแผลบางอย่างให้ต้องทำตามปรารถนาของกรอบสังคม โดยที่มนุษย์เองก็พยายามจะปิดกั้นเก็บกดความรู้สึกบาดเจ็บดังกล่าวนั้นเอาไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้ หากมนุษย์เราเข้าใจเรื่องบาดแผลและการเยียวยาที่เกิดขึ้นในจิตใจของเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน ความรู้สึกแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ก็จะเกิดขึ้นระหว่างกันและกันได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ก็คงเหมือนกับตัวละครอย่าง “พอล” ช่างภาพอิสระหนุ่มมาดเซอร์ จากที่เคยตระเวนท่องป่าเขาดงดอยเพื่อถ่ายภาพธรรมชาติที่ต่างๆ ก็ต้องจับพลัดจับผลูปลอมตัวมาเป็นพี่ชายฝาแฝดอย่าง “พีท” ดารานายแบบหนุ่มหล่อ และก็ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงสังคมที่ช่างภาพอย่างเขาไม่คุ้นเคยมาก่อน เหตุผลของการปลอมตัวดังกล่าวก็เนื่องมาแต่พีท ที่แม้จะเป็นดาราพระเอกหนุ่มคนดัง แต่ภายในจิตใจเบื้องลึกที่เก็บกดไว้ใต้ก้อนน้ำแข็งนั้น เขาเป็นเกย์ที่โหยหาความรัก แต่กลับถูกแฟนหนุ่มที่ตนรักมากหลอกเอาจนหมดตัว และคิดสั้นกินยาตายจนพลาดท่ากลิ้งตกบันไดแขนขาหัก พอลจึงต้องปลอมตัวมาเป็นพีท เพื่อช่วยรักษาชื่อเสียงความเป็นดาราให้กับพี่ชายฝาแฝดของตน จากการปลอมตัวครั้งนี้ พอลก็ได้รู้จักกับ “ลูกจัน” บรรณาธิการสาวสวยแห่งนิตยสารเซเลบ แม้ฉากหน้าเธอจะเป็นผู้หญิงสวยเปรี้ยวมั่นใจและมุ่งมั่นทำงานเขียนคอลัมน์วิจารณ์บุรุษเพศอย่างแสบสันต์ แต่ลึกๆ แล้ว ลูกจันกลับเจ็บปวดที่โดนคนรักเก่าหักอก พร้อมๆ กับที่แม่และยายของเธอก็ยังเคยถูกผู้ชายที่รักทอดทิ้งไป ด้วยบาดแผลและความเจ็บปวดที่สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น ลูกจันจึงเกลียดผู้ชายเป็นอย่างยิ่ง และยึดมั่นในคติที่ว่า “แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า...” และเพราะลูกจันกับพีทต่างก็มีบาดแผลลึกๆ ในจิตใจเช่นนี้ ทั้งคู่จึงคบหาเป็นเพื่อนสนิทกัน รวมทั้งตกลงอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน และพร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นเพื่อนรักที่ปรึกษาแลกเปลี่ยนปัญหากันได้ในทุกเรื่อง โดยพล็อตเรื่องของสูตรละครแบบ “การปลอมตัว” ดังกล่าว จริงๆ แล้วก็คือ “ห้องทดลอง” ชนิดหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เราได้ทดลองสวมบทบาทเป็นผู้อื่นดูบ้าง เราจะได้เลียนรู้และเข้าใจบทบาทของคนที่ต้องแตกต่างไปจากชีวิตประจำวันของเรา ก็เหมือนกับพอลที่เมื่อได้ปลอมตัวมาเป็นพีท พอลก็ต้องเริ่มเรียนรู้ว่า คนแต่ละคนที่สวมบทบาทแตกต่างกัน ต่างก็มี “บท” หรือ “สคริปต์” ให้ต้องเล่นแตกต่างกันไปด้วย ในขณะที่บทบาทช่างภาพอิสระอาจจะมีอิสระที่จะเดินทางไปโน่นมานี่ได้อย่างเสรี แต่กับบทบาททางอาชีพของดารากลับมีความเป็นบุคคลสาธารณะมาตีกรอบให้ต้องถูกสังคมจับจ้องมองดูอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อต้องมาสวมบทบาทใหม่เป็นดารา พอลก็ต้องเริ่มโกนหนวดโกนเคราและตัดผมที่ยาวกระเซอะกระเซิงออกไป ต้องเล่นบทบาทการประทินหน้าตาและผิวกายอยู่ทุกค่ำคืน เพราะเรือนร่างเป็นต้นทุนที่สำคัญในการทำมาหากินของคนที่อยู่วิชาชีพนี้ และที่สำคัญ ต้องแสดงการเก็บกดความเป็นเพศวิถีแบบ “ชายรักชาย” ที่สังคมกำหนดว่าไม่ใช่แบบอย่างที่ดีสำหรับบุคคลสาธารณะพึงทำ การสวมบทบาทที่เปลี่ยนไป จึงไม่ต่างอันใดกับการเปลี่ยนแปลงตัวตนและอัตลักษณ์ที่มนุษย์คนหนึ่งๆ กำลังยอมรับหรือต่อรองกับกฎกติกามารยาทของสังคม จนในบางครั้งก็แม้แต่ต้องยินยอมเก็บกั้นปรารถนาลึกๆ ในจิตใจของตนเอาไว้เช่นกัน เมื่อต้องปรับเปลี่ยนบทบาทดังกล่าว ไม่เพียงแต่พอลจะเข้าใจปมในจิตใจของพี่ชายฝาแฝดเท่านั้น แม้แต่กับลูกจันผู้ที่เขาต้องปลอมตัวมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน พอลก็เริ่มเห็นว่า ภายใต้หน้ากากความเป็นหญิงมั่นและดูแข็งแกร่งนั้น แท้จริงแล้วลูกจันก็มีบาดแผลเจ็บปวดจากความรักที่ฝังแน่นมาตั้งแต่อดีต เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง ลูกจันซึ่งกำลังเมาได้เผยความเจ็บปวดที่อยู่ในใจกับพอลว่า “ฉันเศร้า...เศร้ามากเลย...บางทีฉันก็รู้สึกว่าฉันไม่ได้เก่ง ไม่ได้แกร่งเหมือนที่ใครๆ คิดเลย” ห้องทดลองที่เปิดโอกาสให้พอลได้ไปสวมตัวตนและอัตลักษณ์ใหม่เช่นนี้ ทำให้เขาเริ่มมองเห็นความเป็นมนุษย์จริงๆ ที่ไม่ได้มองผ่านเลนส์หน้ากล้องซึ่งซ้อนทับอยู่อีกชั้นหนึ่ง จนกลายเป็นความรักให้กับลูกจันและกลายเป็นความเข้าใจที่มีให้พีทพี่ชายของตน หรือแม้กระทั่งกับตัวละครผู้ร้ายอย่าง “ณัฐ” ผู้เป็นทั้งแฟนเก่าที่ทำร้ายจิตใจลูกจัน และเป็นชายหนุ่มที่หลอกลวงพีทจนพยายามฆ่าตัวตาย ในท้ายที่สุดพอลก็ได้เข้าใจว่า แม้แต่ปัจเจกบุคคลที่ต้องมาสวมบทบาทเป็นตัวร้ายเช่นนี้ ลึกๆ เบื้องหลังแล้วก็มีปมความเจ็บปวดจาก “พ่อแม่รังแกฉัน” ที่เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาให้บุพการีผลาญในบ่อนการพนัน “ความรัก” และ “ความเข้าใจ” ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งของสังคมเราทุกวันนี้ ก็คงไม่ต่างจากตัวละครอย่างพอลซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็มีบาดแผลบางอย่างที่ต้องการการเยียวยา และในเวลาเดียวกัน ก็ไม่มีมนุษย์คนใดหรอกที่จะสามารถเป็นเสรีชนผู้โดดเดี่ยวและตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอกไปได้เลย ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคม บางครั้ง “รักนี้” ก็คงไม่ต้องรอให้ “เจ้จัดให้” เสมอไปหรอก หากเรารู้จักปรับโฟกัสหรือปรับเลนส์ที่อยู่หน้ากล้องกันเป็นระยะๆ หรือหัดเอาใจ “ไปยืนในที่ของคนอื่น” เสียบ้าง ความรักความเข้าใจก็คงไม่น่าไกลเกินจะสร้างขึ้นได้จริง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point