ฉบับที่ 164 รากบุญ รอยรัก แรงมาร : ความปรารถนาเป็นอาหารอันโอชาของกิเลส

หลังจากที่กล่องรากบุญ อันเป็นแหล่งรวมพลังของ “กิเลส” ได้ถูกเจ้าของกล่องอย่าง “เจติยา” นางเอกนักตกแต่งศพทำลายไปแล้วในภาคแรก คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วกิเลสของมนุษย์สามารถถูกทำลายไปได้จนหมดจริงแล้วหรือ? เงื่อนไขที่กล่องรากบุญใบเก่าได้วางรหัสเอาไว้ก่อนหน้านั้นก็คือ ทุกครั้งที่เจ้าของกล่องได้ทำบุญด้วยการช่วยปลดปล่อยวิญญาณคนตายให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม เจ้าของกล่องรากบุญจะได้เหรียญมาหนึ่งเหรียญ และเมื่อสะสมเหรียญจนครบสามเหรียญ เจ้าของก็ต้องขอพรหนึ่งข้อ และกล่องก็จะบันดาลให้พรนั้นสัมฤทธิ์ตาม “ความปรารถนา” แต่เหตุที่เจติยาเลือกขอพรสุดท้ายให้กล่องรากบุญทำลายตัวเองไปนั้น ก็เพราะเธอเห็นแล้วว่า การทำบุญโดยหวังผลก็เป็นเพียงการแปรรูปโฉมโนมพรรณใหม่ของ “กิเลส” ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้ากล่องและเหรียญเป็นที่สั่งสมไว้ด้วยกิเลส ก็ต้องกำจัดกล่องรากบุญอันเป็นต้นตอของกิเลสนั้นเสีย ทว่า ด้วยปมคำถามที่ว่า กิเลสของมนุษย์สามารถถูกทำลายไปได้หมดจริงหรือไม่ มาถึงละครภาคต่อของเรื่อง “รากบุญ” นั้น แม้กล่องจะถูกทำลายไปแล้ว แต่เพราะเหรียญของกล่องรากบุญใบเก่าได้ถูก “วนันต์” ขโมยไปด้วยความโลภ จากเหรียญหนึ่งเหรียญก็ค่อยๆ แตกตัวมาเป็นสามเหรียญ และก็กลายเป็นกิเลสหยดเล็กๆ ที่ค่อยๆ สั่งสมขุมพลังให้ตนเองมีอำนาจมากขึ้น พลังของเหรียญที่มีกิเลสหล่อเลี้ยงอยู่ ได้สร้างปีศาจตนใหม่ขึ้นมาในชื่อว่า “กสิณ” ที่ตามท้องเรื่องเป็นปีศาจที่ไร้เพศไร้อัตลักษณ์ชัดเจน แต่ก็อาจจะด้วยว่าเป็นปีศาจที่ได้รับอิทธิพลจากกระแส J-pop หรืออย่างไรมิอาจทราบได้ ปีศาจกสิณจึงมักปรากฏตนในชุดยูกาตะของญี่ปุ่น และมีฝีมือดาบแบบซามูไรแดนอาทิตย์อุทัย เพื่อเพิ่มพลังให้กับกิเลสของมนุษย์ กสิณจึงพรางตัวอยู่ในเหรียญหนึ่งเหรียญ ซึ่ง “พิมพ์อร” ลูกสาวของวนันต์ได้ครอบครองอยู่ ทุกครั้งที่พิมพ์อรขอพรใดๆ ก็ตาม กสิณหรือปีศาจกิเลสก็จะมีพลังและอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น แบบเดียวกับที่ปีศาจกสิณเคยเปรยขึ้นภายหลังจากครั้งหนึ่งที่พิมพ์อรลังเลที่จะไม่ขอพรว่า “เธอใจแข็งได้อีกไม่นานหรอก แล้วสักวัน ความปรารถนาของเธอจะเป็นอาหารอันโชะของฉัน...” เพราะฉะนั้น เมื่อความปรารถนาเป็นอาหารอันโอชารสของกิเลส กสิณจึงคอยตามเป็นเงาของพิมพ์อรอยู่ตลอดเวลา และเรียนรู้ที่จะเข้าไปกำกับก้นบึ้งในจิตใจของพิมพ์อร เพื่อล่อลวงและชักใยให้ผู้หญิงอย่างพิมพ์อรต้องขอพรตามปรารถนาลึกๆ ในใจ ก็ไม่ต่างไปจากภาพสัตว์อย่างกิ้งก่าที่พิมพ์อรเลี้ยงไว้ในห้องนอนของเธอ ที่ผู้กำกับจงใจตัดสลับไปมาในหลายๆ ครั้งคราที่พิมพ์อรกับกสิณสนทนากัน เพราะในขณะที่กิ้งก่าเป็นสัตว์ที่เลียนรู้ที่จะพรางตัวตามสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันไป กสิณหรือตัวแทนของกิเลสก็เลียนรู้ที่จะปรับตัวตามธาตุแท้ของโลภะโทสะโมหะที่อยู่ในจิตใจของพิมพ์อรอย่างไม่แตกต่างกัน และเป้าหมายที่กสิณต้องการก็คือ การรวมพลังจากเหรียญที่อยู่ในมือของพิมพ์อรกับเหรียญที่เหลืออีกสองเหรียญเพื่อสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเหรียญหนึ่งก็อยู่ในมือของ “อยุทธ์” ผู้เป็นน้องชายของพิมพ์อร กับอีกหนึ่งเหรียญที่เปลี่ยนถ่ายมือไปมาจนตกมาอยู่ในความครอบครองของนางเอกอย่างเจติยา แม้ในกรณีของอยุทธ์นั้น เขามีเดิมพันเรื่องการขอพรให้เหรียญช่วยยืดอายุของวนันต์บิดาผู้กำลังเจ็บป่วยใกล้ตาย ทำให้อยุทธ์ต้องเลือกขอพรและเติมความปรารถนาให้เป็นอาหารของกิเลสเป็นครั้งคราว แต่สำหรับเจติยาแล้ว เธอกลับเลือกที่จะยุติอำนาจของกิเลสที่บัดนี้พรางรูปมาอยู่ในร่างของกสิณนั่นเอง เพราะรู้เป้าหมายเบื้องลึกของกสิณที่จะรวมพลังของเหรียญทั้งสามเพื่อสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ เจติยาจึงพยายามขัดขวางไม่ให้กิเลสได้สั่งสมขุมกำลังขึ้นมาใหม่ได้ ดังนั้นเจติยาจึงมุ่งมั่นทำความดีด้วยการปลดปล่อยความทุกข์ของวิญญาณคนตายให้หลุดพ้นจากการจองจำ และทุกครั้งที่เธอช่วยเหลือวิญญาณคนตายได้แล้ว แทนที่จะขอพรตามความปรารถนาให้กลายเป็นอาหารหล่อเลี้ยงกิเลสต่อไป เจติยากลับใช้วิธีการชำระเหรียญให้บริสุทธิ์ปราศจากความโลภโมโทสันแทน แต่เพราะเธอเลือกตั้งการ์ดเป็นอริกับกิเลสนี่เอง เจติยาจึงถูกทดสอบโดยกสิณเป็นระยะๆ ว่า เธอจะอดทนยืนหยัดต่อปรารถนาลึกๆ หรือกิเลสที่กำลังเรียกร้องอยู่ในจิตใจได้นานเพียงไร ไม่ว่าจะเป็นการที่กสิณพยายามเอาชีวิตของคนรอบข้าง เพื่อนสนิท น้องชาย ไปจนถึงมารดาของเธอมาเป็นเดิมพัน รวมทั้งล่อลวงสามีพระเอกอย่าง “ลาภิณ” ให้ถูกอำนาจมืดครอบงำจนลืมความรักที่มีต่อเจติยาไปชั่วคราว บทเรียนเหล่านี้จะว่าไปแล้ว ก็ไม่ต่างจากการให้คำตอบกับเราๆ ว่า แท้ที่จริง กิเลสไม่เคยห่างหายไปจากชีวิตของคนเราหรอก และกิเลสก็จะคอยทดสอบเราอยู่ตลอดเวลาว่า มนุษย์จะสามารถเอาชนะปรารถนาที่อยู่ลึกในใจของตนได้หรือไม่ เมื่อมาถึงบทสรุปของเรื่อง ในขณะที่พิมพ์อรที่เชื่อมั่นมาตลอดว่า เธอคือเจ้านายผู้สามารถควบคุมให้กสิณทำโน่นนี่ได้ตามใจปรารถนาของตนเอง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เธอกลับได้เรียนรู้ว่า กิเลสไม่เคยอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์ หากแต่เป็นมนุษย์ที่สามารถตกเป็นทาสของกิเลสต่างหาก เหมือนกับที่พิมพ์อรได้พูดกับอยุทธ์ผู้เป็นน้องชายว่า “ใช่...พี่รู้แล้วว่าถูกหลอกมาตลอด กสิณไม่ใช่ทาสของพี่และคอยหาผลประโยชน์จากพี่ แต่พี่ก็จะใช้งานกสิณต่อไปเพื่อสร้างกล่องรากบุญขึ้นมาให้ได้ ต่อให้ฉันต้องขายวิญญาณให้ปีศาจ แต่ถ้ามันช่วยคุณพ่อได้ ฉันก็จะทำ” ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ครอบครองเหรียญอีกสองคนคือเจติยากับอยุทธ์ ต่างก็ค้นพบว่า แม้ปรารถนาลึกๆ ของตนต้องการขอพรเพื่อช่วยยืดชีวิตของบุพการีออกไปทั้งคู่ แต่ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครหรอกที่จะฝ่าฝืนอายุขัยของตนเองไปได้ เหมือนกับบรรดาศพทั้งหลายที่ทั้งสองคนคอยดูแลตกแต่งศพแล้วศพเล่า เมื่อเข้าใจสัจธรรมชีวิตเยี่ยงนี้ แม้กสิณจะบีบบังคับให้เจติยาและอยุทธ์ร่วมสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ขึ้นมาได้ แต่พรที่อยุทธ์ขอเป็นข้อแรกจากกล่องใบใหม่ก็คือ ให้กล่องรากบุญทำลายตัวเองและทำลายพลังของกสิณให้สิ้นซากไป แม้บทเรียนของเหรียญและปีศาจกสิณจะบอกกับเราว่า กิเลสไม่เคยห่างหายไปจากจิตใจของมนุษย์ได้หรอก แต่หากมีจังหวะสักช่วงชีวิตที่เราจะบอกตนเองว่า ถึงกิเลสจะไม่เคยหายไป แต่แค่เพียงเราไม่พยายามเพิ่มพูนความปรารถนาให้มากเกินไปกว่านี้ อย่างน้อยเหรียญพลังของกิเลสก็ยังมีโอกาสจะถูกชำระให้สะอาดขึ้นได้บ้างเช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 143 รากบุญ : ว่าด้วย “ราก” ที่แท้จริงของ “บุญ”

  ทุกวันนี้คนจำนวนมาก “ทำบุญ” กันเพื่ออะไร? หลายคนอาจจะบอกว่า ทำบุญก็ต้องหวังผล หรือสร้างเนื้อนาบุญในชาตินี้ ก็ต้องเพื่อผล(ประโยชน์) อะไรบางอย่างทั้งในชาตินี้และชาติหน้า แบบที่บางคนทำบุญเสร็จแล้ว ก็ต้องเที่ยวขอพรให้ลูกช้างได้โน่นได้นี่เป็นการตอบแทน   แต่นั่นก็คงไม่ใช่คำตอบของการทำบุญในนิยามและความยึดมั่นของหญิงสาววัยรุ่นสู้ชีวิตอย่าง “เจติยา” ตัวละครนางเอกในละครโทรทัศน์เรื่อง “รากบุญ” เป็นแน่   สำหรับเจติยาแล้ว “บุญ” คือการให้โดยไม่จำเป็นต้องหวังผลตอบแทนใด ๆ และเธอก็พิสูจน์ให้เห็นตั้งแต่เมื่อได้ถือครองเป็นเจ้าของกล่องรากบุญสืบต่อจากบิดาของพระเอก “ลาภิณ” เจ้าของบริษัทรับจัดแต่งศพแห่งหนึ่งที่เจติยาสมัครทำงานอยู่   เริ่มต้นตั้งแต่การที่เจติยามารับจ้างทำหน้าที่เป็นช่างแต่งศพของบริษัท ก็เป็นอาชีพที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เพราะ “เกิดแก่เจ็บตาย” เป็นสัจธรรมของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนต้องพานพบ เธอจึงมิได้รังเกียจหรือขยะแขยงต่อ “ความตาย” ที่มาในรูปของศพที่ไร้วิญญาณแต่อย่างใด   ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เจติยาจึงถูกเลือกให้มาเป็นผู้รับช่วงสถานะความเป็นเจ้าของกล่องรากบุญ ก็เพื่อจะยืนยันให้เห็นว่า ในท่ามกลางผู้คนที่ล้วนแล้วแต่เชื่อกันว่า “โลกนี้ย่อมไม่มีอะไรฟรี” หรือ “no free lunch” นั้น ก็อาจจะมีมนุษย์แบบเจติยาอย่างน้อยสักหนึ่งคนที่กล้ายืนหยัดว่า ในโลกแห่งการทำบุญ ก็ไม่จำเป็นต้องหวังผลตอบแทน หรือการจะ “ให้” ก็ไม่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนมาด้วยการ “รับ” เสมอไป   แม้กล่องรากบุญจะมีลักษณะไม่แตกต่างจากกล่องไม้แกะสลักทั่วไป ที่เพียงแต่มีรูปเป็นยักษ์อ้าปาก แต่กล่องใบนี้ก็เป็นสิ่งที่พญามัจจุราชได้สร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบกิเลสของมนุษย์บนเงื่อนไขว่า ทุกครั้งหลังจากที่เจ้าของกล่องได้บรรลุภารกิจช่วยเหลือแสวงหา “ความยุติธรรม” ต่อวิญญาณคนตายครบสามดวง (ตามเสียงเรียกร้องของเหล่าวิญญาณที่ร้องขอว่า “บอกความจริง!!!”) เจ้าของกล่องก็จักต้องขอพรอะไรก็ได้หนึ่งข้อเป็นการแลกเปลี่ยนเสมอ   ในขณะที่ชีวิตของเจติยาเองก็เวียนวนอยู่ท่ามกลางความทุกข์และปัญหาต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ปัญหาของมารดาที่สุขภาพไม่ดีและเกือบเอาชีวิตไม่รอด และปัญหาของน้องชายอย่างนที วัยรุ่นผู้กำลังเติบโตอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต แต่หลังจากช่วยค้นหาความยุติธรรมให้กับวิญญาณต่างๆ นั้น เจติยาก็พบว่า สิ่งที่เรียกว่า “ทุกข์” นั้น ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ใด และเป็นห่วงที่ผูกพันแม้ว่าคนๆ นั้นจะสิ้นชีวิตไปแล้วก็ตาม   ผีเด็กหญิงอย่างน้องออยก็อาจจะมีปัญหาค้างคาว่า ใครเป็นฆาตกรที่ขับรถชนเธอ ผีวัยรุ่นเด็กเนิร์ดคงแก่เรียนอย่างเคมี ก็อาจจะอยากสัมผัสกับรักโรแมนซ์และควงแขนหญิงคนรักไปเที่ยวสวนสนุกเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต หรือผีโจรผู้ร้ายอย่างปองและย้ง ก็อาจจะมีความปรารถนาที่ให้ระบบยุติธรรมลงโทษต่อคนผิดที่เป็นผู้บงการตัวจริง   เพราะฉะนั้น เมื่อทุกข์เป็นสัจธรรมของทั้งคนและผี และมรรควิธีในการดับทุกข์ก็เป็นปรารถนาอันสูงสุดของผู้เวียนว่ายตายเกิดทั้งปวง เจติยาจึงได้ข้อสรุปว่า การช่วยเหลือดับทุกข์ให้วิญญาณต่างๆ ได้พ้นทุกขเวทนา จึงถือเป็นการทำบุญสูงสุด แบบที่ “ให้” ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอ “รับ” สิ่งใดเป็นการตอบแทนกลับคืนเลย   และด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของเจติยาเยี่ยงนี้ กล่องรากบุญจึงต้องสร้างตัวละครอย่าง “ปราณ” ขึ้นมา เพื่อเป็นบททดสอบสุดท้ายเรื่อง “การให้โดยไม่หวังผลตอบแทน” กับเธอ ทั้งนี้เพราะการดำรงอยู่ของกล่องรากบุญนั้น ขึ้นอยู่กับกิเลสของมนุษย์ที่ต้อง “ขอ” อะไรสักอย่าง เมื่อไม่มีการ “ขอ” อำนาจของกิเลสและอำนาจของกล่องรากบุญจึงไม่มีความชอบธรรมไปโดยปริยาย   ด้วยเหตุฉะนี้ ปราณผู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกล่องรากบุญ จึงพยายามทุกวิถีทางและใช้กลยุทธ์ทุกอย่างที่จะบีบให้เจติยาต้อง “ขอ” พรจากกล่อง เพื่อให้อำนาจของกล่องรากบุญดำรงอยู่ต่อไปได้   ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ร้ายๆ ต่อมารดาและน้องชายของเจติยา การทำร้ายลาภิณชายหนุ่มคนที่เธอรัก หรือการยืมมือของตัวร้ายอย่างพิสัยซึ่งเป็นน้าชายแท้ๆ ของลาภิณ แต่กลับเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยความละโมบ ให้มาจัดการทำร้ายคนรอบข้างเจติยา   ความต้องการของปราณมีเพียงประการเดียวคือ การบีบให้เจติยายินยอมคืนสิทธิความเป็นเจ้าของกล่องรากบุญออกไปเสีย และยกกล่องให้ไปอยู่ในความครอบครองของคนที่เปี่ยมไปด้วยกิเลสและโลภจริตอย่างพิสัยแทน และเมื่อมาถึงบทสรุปของเรื่อง ภายใต้การเผชิญหน้าระหว่างเจติยากับปราณ(หรืออำนาจแห่งกิเลส) นั้น เจติยาก็ได้เลือกใช้วิธีเดียวกับการทำลายแหวนแห่งอำนาจในภาพยนตร์ The Lord of the Rings ด้วยการ “ขอ” ครั้งสุดท้ายให้กล่องรากบุญทำลายตัวเองและสูญสลายหายไปจากโลกมนุษย์ เพื่อให้ “บุญ” ได้กลับคืนสู่ความหมายของการ “ให้” แบบที่เคยเป็น   ทุกวันนี้ ภายใต้โลกใบนี้ที่มนุษย์ศรัทธาใน “มูลค่าแลกเปลี่ยน” ที่ว่า เมื่อมีการ “ให้” ก็ต้องมีการ “ขอ”คืนกลับ หรือเมื่อมี “give” ก็ต้องมี “take” เป็นคำตอบในนั้นด้วย ความคิดความศรัทธาเช่นนี้ก็ได้ไหลเข้ามาอยู่แม้แต่ในวิถีการทำบุญของผู้คน   ฉะนั้น หากเราจะลองย้อนกลับไปค้นหา “ราก” ที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า “บุญ” ด้วยแล้ว ก็คงต้องเริ่มต้น “คิดใหม่ทำใหม่” แบบตัวละครอย่างเจติยาที่ว่า “รากจริงๆ ของบุญ” ต้องมาด้วยจิตใจที่ปรารถนาจะ “ให้” คุณค่าดี ๆ ต่อมนุษย์และสรรพชีวิตบนโลกของเรา โดยมิจำเป็นต้องมุ่งหวังผลตอบแทนอันใดกลับคืน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point