ฉบับที่ 277 ‘ร่างผังเมืองกรุงเทพ’ รัฐธรรมนูญท้องถิ่นที่ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น

        “การที่ผังเมือง คือ ธรรมนูญท้องถิ่นนี้ ผังเมืองจึงไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของความเป็นมืออาชีพของผู้จัดทำ แต่ความเป็นมืออาชีพของการจัดทำเป็นเรื่องของการตอบคำถามได้ไหมว่าประชาชนอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอำนาจในการกำหนดทิศทางและควบคุมการพัฒนาเมือง”         พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เขียนอธิบายเรื่องผังเมือง ผังเมืองกรุงเทพฯ (1) โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ไว้ในเว็บไซต์มติชนได้น่าสนใจและเป็นคำถามสำคัญว่า ‘ประชาชนอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอำนาจในการกำหนดทิศทางและควบคุมการพัฒนาเมือง’         ผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นผังเมืองที่ทำมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งโดยปกติแล้วควรมีการปรับปรุงทุกๆ 5 ปี แต่กลับล่วงเลยมา 10 กว่าปี การปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพรอบนี้มี 2 คำถามใหญ่ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นพ้องกัน นั่นก็คือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและผังเมืองใหม่ดังกล่าวกำลังเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนหรือไม่ เมื่อคนกรุงฯ ไม่มีสิทธิในผังเมืองของตนเอง         “ถูกเวนคืนบ้านเพื่อไปสร้างถนน 6 เลน 1,400 หลังคาเรือนกับโครงการสร้างถนนลอยฟ้าแค่ 20 กิโลเมตร ถัดมาปัจจุบันเรามีถนนวงแหวนรอบนอกกาญจนาภิเษก มีถนนราชพฤกษ์ มีถนนกัลปพฤกษ์ คนฝั่งธนฯ ไม่ได้ข้ามไปฝั่งธน คนฝั่งธนฯ ข้ามไปฝั่งพระนคร เรามีสถานีรถไฟฟ้าประมาณ 3 สาย ถ้าท่านยังอ้างว่ารถติดอยู่ แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหนคะ คำนึงถึงประชาชนบ้างมั้ย ทางขึ้น ทางลง บริเวณเอกชัยโดนหน้ากว้างทั้งหมด 250 เมตร ประมาณ 10 หลังคาเรือนที่โดนแค่หน้ากว้างแล้วก็โดนตลอดทั้งซอย อีกกี่ชีวิตคะ แล้วทำไมไม่ฟังเสียงการขยายถนนท้องถิ่นที่มีอยู่” คำบอกเล่าของ ดาลิน สิริสุวรรณกิจ ผู้ได้รับผลกระทบจากร่างผังเมือง         เธอยังกล่าวอีกว่าถนนท้องถิ่นที่ใช้เชื่อมต่อกับเส้นหลักเพื่อความคล่องตัวในการเดินทางกลับไม่ถูกสร้าง แต่กลับจะสร้างถนนลอยฟ้าที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำยังถูกไล่ที่โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ.2566 โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ         อีกฝากหนึ่งของเมืองกรุง ภูวนันท์ ภูวนัตตรัย ตัวแทนชุมชนซอยสุขุมวิท 53 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการอาคารสูงที่จะมาสร้างในซอยแคบไม่เกิน 10 เมตร ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าในซอยที่กว้างไม่เกิน 10 เมตรสามารถสร้างอาคารได้ไม่เกิน 8 ชั้น หากจะสร้างสูงกว่านั้นถนนต้องมีความกว้าง 10 เมตรขึ้นไป และถ้าจะสร้างอาคารใหญ่ที่สูงเป็นพิเศษถนนต้องเกิน 18 เมตร แต่ปัจจุบันกลับมีความพยายามเลี่ยงกฎหมาย เขากล่าวต่อว่า         “แล้วการที่จะประกาศแก้ผังเมืองตรงนี้มีสิ่งที่ผมห่วงกังวลเป็นพิเศษเพราะมีแผนที่จะขยายถนนหลายสายเพิ่มความกว้างจากเดิมให้กลายเป็น 12 เมตร 18 เมตร เป็นความกังวลที่ผมขออนุญาตไม่ไว้วางใจ ท่านนายกฯ ปัจจุบันก็มาจากบริษัทอสังหาฯ ท่านผู้ว่าฯ ก็เคยอยู่บริษัทอสังหาฯ ที่ปรึกษากรุงเทพมหานครก็อยู่บริษัทอสังหาฯ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ความพยายามที่จะขยายถนนเหล่านี้อาจจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อสร้างก็จะสร้างผลกระทบมากกับประชาชนทั่วทั้งกรุงเทพ”         นอกจากนี้ ประเด็น FAR (Floor Area Ratio) BONUS หรือมาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนในการพัฒนาเมืองด้วยการทำโครงการให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด โดยประชาชนได้รับประโยชน์แลกกับสิทธิประโยชน์ในการก่อสร้างพื้นที่อาคารเพิ่มเติมตามที่กฎหมายกำหนด ภูวนันท์ยังกล่าวว่าไม่ไว้ใจและไม่เชื่อว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะทำจริง เนื่องจากที่ผ่านมามีกรณีจำนวนมากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่เกิดการทำผิดกฎหมาย แต่ผู้บังคับกฎหมายทั้งกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่นๆ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดได้ เช่น กรณีโรงแรมเอทัส ซอยร่วมฤดี ที่สร้างในซอยแคบ หรือหลายโครงการในซอยทองหล่อที่ไม่สร้างถนนรอบโครงการสำหรับรถดับเพลิงแต่ใช้ประโยชน์เป็นที่ส่วนตัวก็ไม่มีการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายทั้งที่ศาลสั่งตัดสินเกิน 10 ปีแล้ว ผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้ผ่านการศึกษาอย่างรอบด้าน         ปัญหาสำคัญของร่างผังเมืองกรุงเทพคือไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนมาตั้งแต่ต้น แต่มีการร่างผังขึ้นก่อนแล้วจึงเปิดรับฟังความเห็นประชาชนว่าจะรับหรือไม่รับร่างผังเมืองฉบับนี้ คนกรุงเทพฯ ทั้งที่มีที่อยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานจึงเหมือนถูกมัดมือชก วีระพันธ์ จีนะวัฒน์ สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า         “ร่างผังเมืองที่ทำออกมาก่อน พ.ร.บ.ปี 2562 ชอบหรือไม่ ไม่ได้ผ่านกระบวนการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านและผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วจะใช้เป็นฐานในการทำกระบวนการต่อได้อย่างไร ทำไม่ออกแบบผังเมืองเพื่อประชาชน เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง คุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ตรงไหน จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดความหนาแน่นได้อย่างไร”        วีระพันธ์ยังชี้ให้เห็นจุดอ่อนต่างๆ ของร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ขาดการมีส่วนร่วมนี้อีกหลายจุด เช่น ไม่ควรให้ผู้พัฒนาเลือกใช้พื้นที่ได้อย่างอิสระในทุกพื้นที่เพราะพื้นที่แต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน, ต้องมีการระบุโซนพื้นที่ที่จะให้ FAR Bonus ที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละพื้นที่และควรเพิ่มมาตรการ FAR Bonus ส่งเสริมและอุดหนุนด้านการเกษตรในพื้นที่ที่ต้องการรักษาพื้นที่สีเขียวทั้งสองด้านของผังเมืองกรุงเทพ หรือแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เขาไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเอื้อต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวม โดยเฉพาะในระยะเวลา 5-7 ปีจากนี้ไป เพราะหากดำเนินการตามร่างที่กำหนดมาจะเร่งให้เกิดความหนาแน่นของเมืองเพื่อสนับสนุนการพัฒนามากกว่าสนับสนุนพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นต้น         “ต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน” วีระพันธ์กล่าวสรุป “มีมาตรการสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิต มีพื้นที่สีเขียวเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเพียงพอ มีพื้นที่ย่านชุมชนท้องถิ่นเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของย่าน มีพื้นที่ในการรักษาสิทธิธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้พอเหมาะกับสิทธิการพัฒนา มีระบบสาธารณูปโภคอย่างเพียงพอ มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยกระจายอยู่ในพื้นที่เมือง ต้องทำผังเฉพาะให้เสร็จสิ้นหลังทำผังเมืองรวมแล้ว” ร่างผังเมือที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะกับคนที่ไม่มีอำนาจ         ด้านพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอข้อคิดที่สำคัญในการทำผังเมืองซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจในการร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้คำนึงถึง เขากล่าวว่าผังเมืองเปรียบได้กับรัฐธรรมนูญฉบับท้องถิ่นซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าใครมีอำนาจในเมือง ขณะที่ผังเมืองเป็นสิ่งที่ต้องคุ้มครองประชาชนได้ซึ่งผังเมืองที่มองเห็นแต่สีต่างๆ ปะปนกันไม่สามารถบอกได้เลยว่าจะคุ้มครองหรือจะให้อำนาจประชาชนได้อย่างไร         โดยหลักการแล้วผังเมืองต้องทำหน้าที่ 2 ประการคือกำหนดทิศทางการพัฒนาและควบคุมการพัฒนาซึ่งร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่มี และเมื่อผังเมืองคือรัฐธรรมนูญท้องถิ่นก็ย่อมต้องทำให้ประชาชนทุกคนอ่านเข้าใจ สามคือผังเมืองต้องมีความศักดิ์สิทธิ์บางประการ พิชญ์ลงรายละเอียดว่าร่างผังกรุงเทพฯ ที่เป็นอยู่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะกับคนที่ไม่มีอำนาจ ขณะที่คนมีอำนาจเมื่ออ่านผังนี้จะรู้ทันทีว่าตนจะแสวงหาประโยชน์อย่างไร         “บ้านผมอยู่ดีๆ ก็มีใบมาบอกว่าจะมีคอนโดมาสร้าง จะสร้างได้ยังไงในซอยที่มีถนนอยู่แค่สี่เลน แต่จะสร้างคอนโด 30 ชั้น ประเด็นคือเราจะมีสิทธิเมื่อมันมากระทบเราและนี่คือหัวใจของผังเมืองไทย ทุกอย่างจะขึ้นกับคำว่าเจ้าของที่ดิน ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของที่ดินคุณไม่มีสิทธิอะไรเลยในเมืองแห่งนี้ซึ่งมันมีปัญหาอยู่ การไม่มีสิทธิอะไรเลยไม่ใช่เพราะเราไม่มีประโยชน์ต่อเมืองนี้ เมืองนี้มันโตได้ด้วยการที่ไม่ให้สิทธิ์เรา โดยการเอาประโยชน์จากเรา คนจำนวนมากในเมืองนี้ไม่ใช่คนที่อยู่ในกรุงเทพแต่ได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเขาอยู่เขาไม่มีโฉนดที่ดิน ไม่มีความเป็นเจ้าของที่ดิน แต่เขามีสิทธิที่จะอยู่ในเมืองนี้ได้เพราะเขาทำประโยชน์ให้เมือง เขาขายของก็ทำให้ต้นทุนในเมืองถูกลง ประชากรแฝงไม่ใช่คนที่ซื้อของในเมืองนี้และจ่ายภาษีบริโภคซึ่งเป็นแกนของภาษีเมืองหรือครับ อันนี้คือพื้นที่ที่คุณจะเคลมได้ว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในเมืองนี้”         พิชญ์ยังตั้งคำถามอีกว่าร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับนี้สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางการพัฒนาได้จริงหรือไม่และอะไรคือศูนย์กลางหรือมูลค่าที่ดินหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้ามองในแง่มูลค่าที่ดินจะพบว่าผังเมืองใหม่จะเพิ่มมูลค่าที่ดินเพราะมันเพิ่มและอนุญาตให้มีการพัฒนาที่ดินในบริเวณตึกสูงได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีการกำหนดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ไม่มีการกำหนดสิทธิของประชาชนที่จะมีโอกาสอยู่ในเมืองมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือถ้าเพิ่มพื้นที่ที่มีความหนาแน่เพิ่มขึ้น คนที่เคยเช่าก็ต้องออกหรือต้องไปแอบซุกอยู่ตามที่ต่างๆ         พิชญ์กล่าวย้ำอีกครั้งว่าผังเมืองคือรัฐธรรมนูญท้องถิ่นที่กำหนดความสัมพันธ์ของประชาชนทุกคน ประชาชนจึงต้องเป็นจุดตั้งต้นว่าอยากได้เมืองแบบไหน ต้องพูดคุยกันก่อน แล้วคนที่เขียนผังต้องเขียนตามความต้องการของประชาชน ไม่ใช่เขียนเสร็จแล้วให้ประชาชนบอกว่าเอาหรือไม่เอา         “เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญตอนนี้คือต้องยุติการปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพฯ แล้วเขียนใหม่บนหลักคิดที่ว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตร่วมกัน” ประชาชนต้องจับปากกาและขีดผังเมืองเอง         ด้านอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งกล่าวในนามภาคประชาชนก็คิดไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่เห็นว่า การจัดทำร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่กลับรับฟังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาอย่างกรณีการขยายซอยเล็กให้ใหญ่ขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคอนโดมีเนียมขนาดใหญ่          “ส่วนเรื่องที่มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว อย่างเช่นบึงรับน้ำคู้บอนในโซนเขตคันนายาว อันนี้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลยในการเข้าไปรับฟังความคิดเห็น พี่น้องประชาชนโหวตว่าอยากได้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่รับน้ำจำนวน 130 ไร่ รับน้ำได้ 870,000 ลูกบาศก์เมตร ปรากฏว่าบึงรับน้ำคู้บอนไม่อยู่ในผังเมือง แล้วตอนนี้กลายเป็นบ้านจัดสรรที่ถูกจัดสรรไปแล้ว กำลังจะเตรียมการก่อสร้าง”         อรรถวิชช์เห็นว่าภาคประชาชนจะต้องมีสิทธิ์จับปากกาและขีดสีเมืองกรุงเทพมหานคร เขายกตัวอย่างว่าเขตพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีเพียง 2 ประเภทคือเขียวลายสำหรับอนุรักษ์ชนบทและเกษตรและสีน้ำตาลอ่อนสำหรับการอนุรักษ์เพื่อศิลปวัฒนธรรม จะสังเกตเห็นว่าไม่มีสีที่ขีดขึ้นเพื่ออนุรักษ์พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยของเขตเมือง สิ่งนี้ทำให้เห็นการเติบโตของเมืองที่พิสดารอย่างการขยายถนนเพื่อสร้างบ้านหรือคอนโดมีเนียมได้         จากกระแสและการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ทำให้คณะกรรมาธิการของรัฐสภาได้เชิญผู้ว่าราชาการกรุงเทพมหานครไปสอบถามเรื่องนี้ทำให้การประกาศร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ถูกเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม โดยทางผู้ว่าฯ ระบุว่าระหว่างนี้จะให้ทุกเขตเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในเขตของตนเอง         ในส่วนของภาคประชาชน นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายกำลังเดินหน้าให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชน รวมถึงการทำงานความคิดผ่านกับเครือข่ายผู้บริโภคและร่วมสังเกตการณ์ว่าแต่ละเขตมีการรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ ถ้ามี มีการให้ข้อมูลเพียงพอหรือเปล่า ซึ่ง ณ ตอนนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีเขตใดเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

อ่านเพิ่มเติม >