ฉบับที่ 273 ‘วางแผนเกษียณ’ การรับมือกับบั้นปลายชีวิต

        “สิ่งที่น่าเสียดายคือตายไปแล้วใช้เงินไม่หมด สิ่งที่น่าสลดคือใช้เงินหมดแต่ยังไม่ตาย”         เป็นคำพูดขำๆ ขมๆ ที่หลายคนเคยได้ยิน น่าสลดยิ่งกว่าคือคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จัดอยู่ในกลุ่มหลัง คือใช้เงินหมดแต่ยังไม่ตายหรือจนก่อนแก่นั่นเอง ซึ่งถ้าคิดตามสูตรการใช้ชีวิตปัจจุบัน ทำงานมีเงินเดือน เก็บเงิน ตอนเกษียณก็น่าจะมีเงินก้อนพอสมควร ยกเว้นข้าราชการที่มีเงินบำนาญ ยิ่งตำแหน่งสูงยิ่งเยอะ อย่างอนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เงินบำนาญ 60,000 ต่อเดือน (แม่เจ้า!!)         การวางแผนเกษียณจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงและสวัสดิการไม่ทั่วถึงเท่าเทียมอย่างไทย         เว็บไซต์ของธนาคารกรุงไทยเสนอสูตรคำนวณจำนวนเงินหลังเกษียณที่ควรมีไว้ว่า         จำนวนเงินที่ควรมี = ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อปี X จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ         ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อปีจะประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายปัจจุบันหรือคุณจะปรับสัดส่วนตามที่ต้องการก็ได้ แล้วคุณยังต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อในอนาคตเพราะ 100 บาทตอนที่คุณวางแผนเกษียณจะมีมูลค่าน้อยกว่า 100 บาทตอนที่คุณเกษียณแล้วแน่นอน         แล้วก็ต้องคอยปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง ความผันผวนต่างๆ นานาตามอายุที่เพิ่มขึ้น หรือก็คือยิ่งแก่สินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงอย่างหุ้นควรลดสัดส่วนลง พอเกษียณแล้วก็ต้องคอยดูแลพอร์ตอีกเพราะคุณต้องคอยเอาเงินออกมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เขาถึงพูดว่าสำหรับแผนเกษียณใครเริ่มได้เร็วกว่ายิ่งได้เปรียบ เพราะเวลาจะยิ่งเพิ่มพูนมูลค่าสินทรัพย์และลดความเสี่ยงลง (แต่ต้องลงทุนให้ถูกต้องนะ)         แต่พูดก็พูดเถอะ ชีวิตไม่ง่ายดายขนาดนั้น วางแผนไว้ดีแค่ไหนก็ใช่ว่าจะเป็นไปตามแผน ต่อให้คุณกันเงินฉุกเฉินไว้ตามสูตรเป๊ะๆ ก็อาจเหตุฉุกเฉินกว่าได้เสมอ เลยต้องย้ำแล้วย้ำอีกว่าการจัดการการเงินส่วนบุคคลก็ทำไป อีกขาก็ต้องผลักดัน กดดันให้รัฐบาลสร้างระบบดูแลผู้คนที่มีเท่าเทียม ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพให้ได้         อย่างนโยบายบำนาญแห่งชาติที่จะจ่ายให้ผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาทที่ใช้หาเสียง นั่นก็เป็นข้อเสนอของภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนจนฝ่ายการเมืองตอบรับ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่และทำเมื่อไหร่ เพราะผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกวัน         คุณอาจคิดว่าเงิน 3,000 จะพอเหรอ? ไม่พอหรอก แต่มันจะช่วยแบ่งเบาภาระสำหรับคนทำมาหากินทั่วไปที่ต้องแบกรับคน 2 เจเนอเรชั่นคือคนรุ่นพ่อแม่กับคนรุ่นลูก         ส่วนจะวางแผนเกษียณอย่างไร เชิญเสิร์ชหาด้วยคำว่า ‘การวางแผนเกษียณ’

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 สินค้าใกล้หมดอายุ วางจำหน่ายได้หรือไม่

ที่ผ่านมาเราเคยเสนอเรื่องสินค้าหมดอายุควรวางจำหน่ายในร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าหรือไม่ เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา ซึ่งแม้จะยังมีการร้องเรียนเข้ามาบ้าง แต่สถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายหลายรายยินดีที่จะปรับปรุงการบริการและชดเชยเยียวยาผู้เสียหายตามสมควร กระนั้นประเด็นดังกล่าวนี้ก็ได้กลับมาสร้างปัญหาให้อีกครั้ง เมื่อมีผู้ร้องเรียนถึงสินค้าที่ “ใกล้” หมดอายุ ซึ่งเขาเห็นว่าการจำหน่ายสินค้าที่ใกล้หมดอายุนั้น ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเช่นกัน แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรเราลองไปดูกัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คุณสมชายซื้อยาสีฟันจากร้านค้าส่งแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา และหลังจากนำกลับไปใช้งานที่บ้านก็สังเกตว่า ยาสีฟันดังกล่าวระบุวันหมดอายุเป็นหนึ่งเดือนข้างหน้า ทำให้คุณสมชาย ซึ่งเป็นผู้ใช้งานยาสีฟันดังกล่าวเพียงคนเดียวรู้สึกว่า ตนเองไม่น่าจะใช้งานทันภายในหนึ่งเดือนแน่ๆ  ดังนั้นการที่ร้านค้านำยาสีฟันที่ใกล้หมดอายุแล้ว มาวางจำหน่ายรวมกับสินค้าอื่นๆ ที่ยังไม่ใกล้วันหมดอายุ อาจเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า ยาสีฟันจัดอยู่ในหมวดเครื่องสำอาง ซึ่งตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558 มาตรา 32 (6) กำหนดว่าห้ามจำหน่ายเครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้งานตามที่แสดงไว้บนฉลาก ทำให้จากกรณีนี้ทางร้านค้ายังสามารถวางขายได้จนกว่าสินค้าดังกล่าวจะหมดอายุ ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อ แต่ในกรณีนี้ที่สินค้าใกล้หมดอายุแล้ว ทางร้านก็ควรมีหลักจริยธรรมในการค้าขายและดูแลคุ้มครองผู้บริโภคของตนเองด้วย โดยหากพบว่า สินค้าใดที่กำลังจะหมดอายุ ควรมีการขายแยกหรือจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่างๆ ไม่วางปะปนไปกับสินค้าที่ยังคงสภาพดี และได้ทำเรื่องแจ้งแก่ผู้จัดจำหน่ายดังกล่าวเพื่อให้ปรับปรุงการจัดวางสินค้าในร้านค้าของตนเพื่อมิให้เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก

อ่านเพิ่มเติม >