ฉบับที่ 259 เมื่อโลกเผชิญวิกฤติอาหาร

        องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติร่วมกับ World Food Program องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกับผู้ที่ขาดแคลน คาดการณ์ว่าในช่วงกลางปี 2022 มีผู้คนไม่ต่ำกว่า 222 ล้านคนใน 53 ประเทศ ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในจำนวนนี้มีถึง 45 ล้านคน ใน 37 ประเทศที่ “ใกล้อดตาย” โดยหกประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุดได้แก่ อัฟกานิสถาน เยเมน โซมาเลีย เอธิโอเปีย ซูดานใต้ และไนจีเรีย ในโซนเอเชียแปซิฟิกยังมีศรีลังกาและปากีสถานที่น่ากังวลเช่นกัน         การขาดแคลนอาหารหรือภาวะอดอยากหิวโหยในประเทศเหล่านี้เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ หรือการขาดเสถียรภาพทางการเมือง แต่ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อน การระบาดของโควิด19 รวมถึงสงครามยืดเยื้อระหว่างสองประเทศผู้ส่งออกอาหารและปัจจัยการผลิตรายใหญ่ของโลกอย่างรัสเซียและยูเครน กำลังทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องเตรียมรับมือกับ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” เช่นกัน         ประเทศจีนเตรียมรับมือกับวิกฤติอาหารตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดหรือสงครามด้วยซ้ำ ความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงย้ำเรื่องนี้ออกทีวีอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ขอให้เลิกกินทิ้งกินขว้าง ประกาศว่า “อาหารของคนจีน ต้องผลิตโดยคนจีนและเป็นเจ้าของโดยคนจีน” และมอบหมายให้ทุกคนในประเทศ (ประมาณ 1,400 ล้านคน) ร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร          แต่จีนก็จะยังต้องพบกับความท้าทายอีกมากในช่วงสิบปีข้างหน้า ทั้งจากภัยแล้งรุนแรงที่ทำให้ผลผลิตตามฤดูกาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในขณะที่ประชากรที่มีรายได้มากขึ้น ก็มีความต้องการบริโภคมากขึ้นด้วย มีการคาดการณ์กว่าในอีกแปดปีข้างหน้า ความสามารถในการผลิตอาหารของจีนจะอยู่ที่ร้อยละ 58.8 ของความต้องการในประเทศเท่านั้น         ที่ผ่านมาจีนได้ปฏิรูปสิทธิในที่ดินทำกิน ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร ลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดน้ำ และเทคโนโลยีการผลิตอาหาร รวมถึงเพิ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์ กระทรวงเกษตรและการชนบทของจีนระบุว่าได้เปิดกิจการเมล็ดพันธุ์เพิ่มอีก 116 แห่ง (จากที่เคยมีอยู่ 100 แห่ง) นอกจากนี้ทั้งรัฐบาลและเอกชนของจีนยังออกไปกว้านซื้อที่ดินและกิจการผลิตอาหารในต่างประเทศด้วย         มาดูที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกกันบ้าง รัฐบาลกังวลว่าจะมีข้าวไม่พอต่อความต้องการของประชากร 1,380 ล้านคนในประเทศ เพราะปีนี้ผลผลิตข้าวลดลงไปประมาณ 10 – 12 ล้านตัน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อินเดียประกาศห้ามส่งออก “ปลายข้าว” ซึ่งเป็นข้าวที่มีราคาถูกกว่าและเป็นทางเลือกให้กับคนรายได้น้อย (ที่ผ่านมาปลายข้าวจะมีผู้รับซื้อจากต่างประเทศเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์) นอกจากนี้ยังเรียกเก็บภาษีร้อยละ 20 จากข้าวบางชนิดที่ส่งออกด้วย เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อ “ลูกค้า” ของอินเดีย (ปัจจุบันมี 133 ประเทศ) กลุ่มที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่คาดหวังว่าจะซื้อข้าวได้ในราคาถูกด้วย         มาตรการลักษณะนี้อาจกลายเป็น “นิวนอร์มอล” เพราะภาวะอากาศสุดขั้วและฝนฟ้าที่คาดเดาไม่ได้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของอินเดียไม่มีเหลือเฟือเหมือนที่เคย สองวันหลังประกาศว่าจะส่งออกข้าวสาลีให้ได้ 10 ล้านตันในปีนี้ อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับสามของโลกรองจากรัสเซียและยูเครน ก็กลับลำ ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลีโดยให้มีผลทันที (ยกเว้นในบางประเทศ) และอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลกยังประกาศจำกัดการส่งออก เพื่อให้มีน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการในประเทศด้วย         ด้านยุโรปก็เตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงฤดูหนาวเช่นกัน สืบเนื่องจากมาตรการแก้เผ็ดกลุ่มประเทศตะวันตกด้วยการปิดท่อส่งก๊าซของรัสเซีย         สหภาพเกษตรกร Copa-Cocega บอกว่าผลิตภัณฑ์เบเกอรีและผลิตภัณฑ์จากนมวัวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะขั้นตอนการพาสเจอไรส์และการทำนมผงต้องใช้พลังงานมหาศาล ราคาเนยจึงแพงขึ้นร้อยละ 80 ในขณะที่นมผงก็แพงขึ้นร้อยละ 55         ขณะที่เนเธอแลนด์ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ ก็ประกาศหยุด/ลด การปลูกผัก ผลไม้ และดอกไม้ ในโรงเรือน เนื่องจากต้นทุนพลังงานในฤดูหนาวปีนี้แพงเกินไป เช่นเดียวกับ Nordic Greens Trelleborg ผู้ปลูกมะเขือเทศรายใหญ่สุดของสวีเดน ที่ยอมรับว่าหน้าหนาวปีนี้จะไม่มีผลผลิตมะเขือเทศออกสู่ตลาดเพราะ “สู้ค่าไฟไม่ไหว”           สถานการณ์นี้อาจทำให้ยุโรปกลับไปใช้แผนดั้งเดิม นั่นคือยุโรปเหนือจะไม่ผลิตพืชผักนอกฤดูกาล แต่จะยกให้เป็นหน้าที่ของแหล่งผลิตในยุโรปใต้ เช่นสเปน ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาฮีทเตอร์ เพราะอากาศอบอุ่นอยู่แล้ว         แล้วประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารไปเลี้ยงชาวโลกเป็นอันดับต้นๆ พอจะวางใจเรื่องนี้ได้ไหม ทีมวิจัยจาก Economist Impact จัดอันดับให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหารเป็นลำดับที่ 64 จาก 113 ประเทศที่เขาสำรวจ ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งพึ่งพาอาหารนำเข้าเป็นหลักได้คะแนนเป็นอันดับที่ 28        เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่าจุดแข็งของเราคือ “ราคา/ความสามารถในการซื้อหาอาหาร” (83.7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100) แต่ในหมวดที่เหลือเราทำได้ไม่ดีนัก เช่น “ความสามารถในการผลิตอาหาร” เราได้ 52.9 คะแนน ด้าน “ความยั่งยืนและการปรับตัวรับความเสี่ยง” เราได้เพียง 51.6 คะแนน และเราสอบตกในเรื่อง “คุณภาพ (ความหลากหลายและคุณค่าทางอาหาร) และความปลอดภัย” ที่เราได้เพียง 45.3 คะแนน------ เอกสารอ้างอิง    https://www.fao.org/3/cc2134en/cc2134en.pdfhttps://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Farming-out-China-s-overseas-food-security-questhttps://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/India-clamps-down-on-rice-exports-as-global-food-worries-growhttps://www.dw.com/en/how-can-india-protect-its-food-security-under-extreme-weather-conditions/a-62011438https://www.businessinsider.com/food-energy-gas-crisis-europe-farmers-shut-operations-reduce-production-2022-9https://impact.economist.com/sustainability/project/food-security-index

อ่านเพิ่มเติม >