ฉบับที่ 274 การดูแล “ส้นเท้าแตก”

        ปัญหาผิวหนังที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือ อาการส้นเท้าแตก ซึ่งแม้มันจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดอะไรมากมาย หรืออันตรายต่อสุขภาพ แต่มักสร้างความรำคาญแถมอาจทำให้เสียความมั่นใจในการโชว์เท้าสวยๆ ของตัวเอง        สาเหตุในการเกิด “ส้นเท้าแตก” อาจจะเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่คือความเสี่ยงด้านพฤติกรรมต่างๆ  เช่น  การไม่สวมรองเท้าและเดินเท้าเปล่าบ่อยจนเกิดการเสียดสีมากๆ  อากาศที่แห้งหรือหนาวเย็นหากบริเวณส้นเท้าไม่ทาครีมก็ทำให้ขาดความชุ่มชื่นจนเท้าแตกได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม บางคนอาจเกิดจากการอาบน้ำอุ่นเป็นประจำ หรือแพ้สารเคมี ส่วนสาเหตุที่อาจพบไม่บ่อย คือ เกิดจากอาการป่วยหรือโรคที่เป็นนั้นเอง         ทั้งนี้ เรื่องอายุที่มากขึ้นก็เช่นกัน เมื่อเรามีอายุมากขึ้นจะมีผิวแห้งกร้านกว่าวัยหนุ่มสาว บริเวณที่เสียดสีกับปัจจัยต่างๆ ข้างต้น จะยิ่งเร่งให้ส้นเท้าแตกง่ายขึ้น  แล้วเราควรจะดูแลส้นเท้าแตกของเราอย่างไร การดูแลส้นเท้าแตก        ·     เลือกทาครีมบำรุงบริเวณส้นเท้าที่ให้ความชุ่มชื้นเยอะๆ หรืออาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มให้ความชุ่มชื้น เช่น  ยูเรีย กลีเซอลีน สามารถทาและสวมถุงเท้าก่อนนอนได้เลย        ·     เรื่องการรักษาสุขอนามัยก็สำคัญ สามารถทำความสะอาดด้วยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นแต่ไม่ควรเป็นน้ำที่ร้อนจนเกินไปเพราะจะทำให้เสียความชุ่มชื้นได้ ไม่ควรแช่นานจนเกินไป หลังจากนั้น สามารถนำหินมาขัดส้นเท้าเบาๆ ได้ เพื่อนำเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก ทั้งนี้ ไม่ควรขัดแรงๆ อีกด้วย ควรขัดเบาๆ ก็พอ        ·     เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ทำร้ายผิว ไม่แห้งตึง  หรือเป็นกรดด่างเกินไป เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนหรือมีมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นส่วนผสมยิ่งดี แนะนำให้อ่านฉลากส่วนผสมก่อนซื้อทุกครั้ง        ·     ในส่วนของคนที่ชอบถอดรองเท้า เดินเท้าเปล่า แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใส่รองเท้าทุกครั้ง ก่อนเดินไปที่พื้นเพื่อป้องกันการเสียดสี เปลี่ยนจากรองเท้าแตะเป็นรองเท้าหุ้มส้นได้ยิ่งดี แต่ก็ไม่ควรเป็นรองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป        ·     การดื่มน้ำเป็นประจำวันละ 8 แก้ว ก็เป็นตัวช่วยจากภายในสู่ภายนอกได้         นอกจากนี้ อย่าลืมสังเกตตัวเองด้วยว่าปัญหาส้นเท้าแตกของตัวเองที่เกิดนั้น มาจากสาเหตุใด  แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤกรรม         อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บางคนอาจจะเป็นมากถึงขนาดส้นเท้าแตกลาย หรือมีอาการเจ็บเป็นแผลลึก แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และหากเป็นผลข้างเคียงมาจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ด้วยยิ่งต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง เพราะแพทย์จะเลือกทำการรักษาให้เหมาะสมกับอาการ อาจจะจ่ายยารับประทาน ยาทาผิวหรือต้องผ่าตัดเอาเนื้อตายออก เป็นต้น ข้อมูลจาก Hello คุณหมอ : วิธีแก้ส้นเท้าแตก และวิธีดูแลส้นเท้าไม่ให้แห้งแตกPobPad :  ส้นเท้าแตก สาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >