ฉบับที่ 105 ฉันทนาถูกผีสวมสิทธิเบิกเงิน

เรื่องนี้เป็นเรื่องของลูกจ้างแรงงานโชคร้ายที่ถูกผีสวมสิทธิจนเกือบไม่ได้ใช้สิทธิประกันสังคมคุณกิตติมา สาวใหญ่วัย 48 ปี ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตชุดชั้นในแห่งหนึ่ง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับโรงพยาบาลนวมินทร์ 2 ได้ร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา เห็นทางโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้นป้ายว่า บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี ตามโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัดทั่วประเทศพอทำเรื่องลางานได้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 จึงเดินทางไปที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ตั้งใจจะไปใช้สิทธิตรวจรักษา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์พบว่า ตนได้ใช้สิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 และวันที่ 18 มีนาคม 2552 ซึ่งข้อมูลนี้ถูกบันทึกโดยโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาฟรีได้สำหรับปี 2552คุณกิตติมา รู้สึกแปลกใจ และไม่ทราบว่า ทางโรงพยาบาลอ้างสิทธิของตนได้อย่างไร เพราะในปี 2552 ตนยังไม่ได้ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย แต่ก็พอนึกขึ้นได้ว่า เมื่อปี 2551 โรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงงาน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 ตนและเพื่อนร่วมงานหลายคนได้ใช้บริการ“ตอนนั้นเสียค่าใช้จ่าย 199 บาทด้วยค่ะ” คุณกิตติมาให้ข้อมูล แนวทางแก้ไขปัญหาอันว่าโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัดทั่วประเทศนั้น มีที่มาจากการที่ในปัจจุบันโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรบุคคลและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูกต้องมีการค้นหา โดยการตรวจหาเซลล์มะเร็งให้พบตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มแรกและในระยะก่อนเป็นมะเร็งซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาในระยะลุกลาม และจากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ได้พบว่าการคัดกรองด้วยการทำ pap smear (ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกวิธีหนึ่ง) ในสตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 35,40,45,50,55,60ปี ทำให้ช่วยลดอัตราการเกิดและอัตราการตายจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คือสตรีที่ใช้สิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยค่าบริการให้กับโรงพยาบาลแทน สำหรับการคัดกรองด้วยวิธี pap smear สปสช.จะทำการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการให้รายละ 250 บาท นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่งเข้าร่วมโครงการนี้และทำให้แรงงานที่มีประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมอย่างเช่นคุณกิตติมาก็ได้รับสิทธิตรวจรักษาฟรีด้วยแต่เมื่อคุณกิตติมาได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ได้เคยตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงงานกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 และยังเสียค่าใช้จ่าย 199 บาทด้วย ซ้ำเมื่อมาขอตรวจอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2552 กลับมีบันทึกข้อมูลของโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนลว่าคุณกิตติมาได้ใช้บริการไปแล้วเมื่อ 18 มีนาคม 2552 อย่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นว่ามีใครไปแอบใช้สิทธิโดยที่เจ้าตัวไม่รู้หรือไม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการ สปสช. เขตพื้นที่ 13 กรุงเทพมหานครเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาลงโทษหน่วยบริการที่เบิกงบประมาณค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ พร้อมแก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคไปเมื่อ 14 กันยายน 2552 และในวันที่ 8 ตุลาคม 2552 สปสช. เขตพื้นที่ 13 ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า สำนักงานฯ ได้ประสานและทำหนังสือถึงคุณกิตติมาให้ไปรับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 2 ได้ตามสิทธิ โดยให้โรงพยาบาลนวมิทนร์ 2 เบิกชดเชยบริการกับสำนักงานฯ ได้ ส่วนปัญหาสำคัญคือเรื่องข้อเท็จจริงข้อมูลการเบิกจ่ายนั้น ขณะนี้สำนักงานฯ อยู่ในระหว่างการตรวจสอบการบริการอยู่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ระวังปัญหาแอบใช้บัตรประชาชน…ช่วงน้ำท่วม

  มีโอกาสไปประชุมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลพบุรีเลยได้มีโอกาสฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในจังหวัด ซึ่งเป็นปัญหาเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมานานคือ การแอบนำสำเนาบัตรประชาชนไปใช้ทำกิจการอย่างอื่นๆ เรื่องมีอยู่ว่าชาวบ้านจำนวนสามสิบกว่าคนได้นำสำเนาบัตรประชาชนไปให้ผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร แต่วันดีคืนดีก็พบว่า สมาชิกในกลุ่มทั้งสามสิบกว่าคนเป็นหนี้กันถ้วนหน้าคนละหลายแสนบาท เรื่องแดงขึ้นเพราะถูกโทรศัพท์ทวงเงินว่าไปกู้เงินกับเขาไว้แล้วทำไมไม่จ่ายคืน แถมถูกแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ ตำรวจพาซื่อนัดผู้เสียหายไปข่มขู่ให้เสร็จว่า เป็นหนี้เขาแล้วก็ต้องจ่าย จะทำบันทึกจ่ายกันยังไงก็ว่ามา เจอเรื่องแบบนี้กับเรา หากไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่มีความรู้คงปวดหัวและวุ่นวายมากพอควร แต่เผอิญสามสิบกว่าคนนี้โชคดี จังหวัดลพบุรีมีศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เลยมีคนนำเรื่องมาเล่าให้ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ฟังก็ได้สืบสาวเรื่องราวจนทำให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ลูกสะใภ้ผู้ใหญ่บ้านได้นำสำเนาบัตรประชาชนของคนที่ไปขึ้นทะเบียนไปทำสำเนาเพิ่มเติมแล้วปลอมลายเซ็นต์ไปกู้เงิน และน่าจะรับรู้ร่วมกันระหว่างคนแอบไปกู้กับคนให้กู้ โดยอาจจะเคยดำเนินการแบบนี้มาก่อนหรือไม่ ในอดีตเราอาจจะมีปัญหาเรื่องนี้เพราะนำบัตรประชาชนไปขอใช้โทรศัพท์มือถือเรียกว่านอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็เป็นหนี้ หรือบางคนก็กลายเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกันไป กรณีนี้เมื่อศูนย์ฯ เข้าไปให้การช่วยเหลือนอกจากไม่ต้องจ่ายเงินเพราะไม่ได้กู้แล้ว ยังได้แจ้งความดำเนินคดีกับลูกสะใภ้ผู้ใหญ่บ้านว่า ใช้เอกสารทางราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต และฉ้อโกงประชาชน ช่วงนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและรัฐบาลได้มีมติให้เยียวยาความเสียหาย ซึ่งในคอลัมน์นี้เราคงไม่ถกเถียงเรื่องจำนวนที่จ่ายว่ามากน้อยเพียงพอหรือไม่เพียงใด แต่ทุกครั้งในการดำเนินการก็ต้องใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐาน อย่าลืมคิดถึงเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียน การใช้สำเนาบัตรประชาชนต้องระบุให้ชัดเจนว่าเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และกรุณาเขียนให้ชัดเจนในการใช้งานและเขียนระบุบนรูปของตนเองไม่ต้องกลัวว่ารูปจะไม่สวยหรือมองไม่เห็นเพราะมิเช่นนั้น อาจจะมีผู้ไม่หวังดีนำสำเนาไปใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นและอาจจะลำบากและเจ็บตัวภายหลังได้ ให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >