ฉบับที่ 205 ฉลากเขียว สัญลักษณ์เพื่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชากรโลก ทำให้การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นประเด็นกระแสที่ถูกพูดถึงไม่จบสิ้น เป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ทำให้ผู้คนหลายๆ ประเทศตื่นตัวและตระหนักในการแก้ปัญหาร่วมกันผ่านการริเริ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดโลกร้อน เช่น การใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลงหรือใช้ถุงผ้าทดแทน การยกเลิกพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม การไม่ใช้หลอดพลาสติก เหล่านี้เป็นยุทธวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนให้รักษ์โลกมากขึ้น เช่นเดียวกันกับโครงการฉลากเขียว ที่หลายๆ คน อาจจะเคยบังเอิญสังเกตเห็น ฉลากสีเขียววงกลมที่มีรูปนก ต้นไม้และหน้าเด็กยิ้ม ชวนให้สงสัยว่าฉลากสีเขียวนี้คืออะไร และเป็นประโยชน์กับเราอย่างไรฉลากเขียวคืออะไร ? ฉลากเขียว (Green label) หรือฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม (eco-label) เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 (ตาม ISO) ที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่า สินค้าชิ้นนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสินค้าที่มีองค์ประกอบ กระบวนการผลิต การใช้ ตลอดจนการกำจัดทำลายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในประเภทเดียวกัน โดยมีองค์กรกลางเป็นผู้ให้การรับรองวิวัฒนาการของฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ eco-label  เริ่มต้นจากประเทศในแถบยุโรปโดยมีประเทศเยอรมนีเป็นหัวหอกและนับประเทศแรกที่เอาจริงเอาจังในการพัฒนาโครงการฉลากสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ใช้ฉลากที่เรียกว่า นางฟ้าสีฟ้า (Blue Angel) ในการรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยจุดมุ่งหมาย 3 ประการคือ ชี้แนะให้ผู้บริโภคซื้อเฉพาะแต่สินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ส่งเสริมให้ผู้ผลิตพัฒนาสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม และรณรงค์ให้ฉลากนางฟ้าสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสริมการจำหน่าย ฉลากนางฟ้าสีฟ้า ได้เริ่มจากการใช้คำว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Umweltfreundlich (Environment Friendly) มาแก้ไขเป็น ฉลากสิ่งแวดล้อม หรือ Umweltzeichen (Environment Label) ในปี พ.ศ. 2531 เพื่อหลีกเลี่ยงคำโฆษณาต่างๆ ที่มักใช้ประโยคว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มสหภาพยุโรปเอง ก็มีฉลาก EU-Eco Label หรือที่เรียกว่า EU – Flower ของสหภาพยุโรป เป็นตราสัญลักษณ์ฉลากสิ่งแวดล้อมของทุกประเทศในสหภาพยุโรปที่แสดงให้เห็นว่า สินค้าเหล่านั้นมีการผลิตและได้รับการรับรองแล้วว่ามีวงจรชีวิต (Life Cycle) ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบในการผลิต กระบวนการผลิตเป็นสินค้า และผลกระทบของคุณภาพสินค้าต่อผู้บริโภค เช่น การรักษาคุณภาพน้ำ อากาศ ดิน และเสียง รวมทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน โดยพิจารณาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิต ทั้งในเรื่องวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การบรรจุหีบห่อ การใช้งาน จนถึงขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นการกาจัดกากเหลือใช้หรือการนากลับมาใช้ใหม่ EU Eco-label มีสัญลักษณ์เป็นรูปดอกไม้และมีรูปตัวอีคล้ายสัญลักษณ์ของเงินยูโรแทนเกสรดอกไม้ เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในปี 2536สำหรับประเทศไทย โครงการฉลากเขียวริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน Thailand Business Council for Sustainable Development (TBCSD) เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2536 โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการโครงการฉลากเขียวเกิดขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานอิสระที่ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อผู้บริโภค มีความเป็นกลาง โปร่งใส เชื่อถือได้ โดยมีการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นตลอดวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสินค้าสีเขียวที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเกิดจากการประชาสัมพันธ์ของผู้ผลิตและผู้จัดนำหน่ายโดยอิสระเท่านั้นฉลากเขียว เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ตามมาตรฐาน ISO14024 เริ่มดำเนินการให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2537 โดยฉลากเขียวได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกที่ได้รับรองระบบงานGenesis (เจเนซิส) ของเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อมโลก Global Ecolabelling Network (GEN) มีสมาชิกมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการพัฒนาเกณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในระดับสากล Common Core Criteria (CCC) และในการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มสมาชิก อาจลงนามบันทึกความเข้าใจ Memorandum of Understanding (MOU) ร่วมกันเพื่อดำเนินงานร่วมกันระดับองค์กร ในการยอมรับมาตรฐานห้องปฏิบัติการ และผลการทดสอบของผลิตภัณฑ์เดียวกันปัจจุบันฉลากเขียวได้ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันกับหน่วยงานด้านฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ เพื่อการรับสมัครขอการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม และ การตรวจประเมินสถานประกอบการ (On-Site Assessment) แทนกันของประเทศที่มีความร่วมมือ ในการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลี นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเลเซีย และเยอรมนีนอกจากนี้ ฉลากเขียวยังได้มีการพัฒนาเกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในระดับสากล Common Core Criteria (CCC) เพื่อให้มีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ถูกนำเข้าหรือส่งออกในตลาดระหว่างประเทศ เช่น เครื่องพิมพ์ (Printers) เครื่องถ่ายเอกสาร (Copiers) และผลิตภัณฑ์เครื่องฉายดิจิตอล (Digital Projectors)แนวคิดและวัตถุประสงค์ของโครงการฉลากเขียว ฉลากเขียวเป็นฉลากที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ผ่านการประเมินและตรวจสอบว่าได้มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนด โดยความสมัครใจของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายหรือผู้ให้บริการที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้บริโภค โดยการกระตุ้นให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย กระตุ้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิต หันมาใช้เทคโนโลยีสะอาด รวมถึงกระตุ้นให้รัฐบาลและเอกชน ร่วมมือกันฟื้นฟูรักษาสิ่งแวดล้อม และลดปัญหามลภาวะด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในสังคม ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของโครงการฉลากเขียว มาจากแนวคิดและความต้องการให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1. ลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมโดยรวมภายในประเทศ 2. ให้ข้อมูลที่เป็นกลางต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน 3. ผลักดันให้ผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตที่สะอาด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยผู้บริโภคได้อะไรจากการซื้อสินค้าหรือบริการที่มีฉลากเขียว ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวนั้นมีข้อกำหนดและการพิจารณาแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ทั้งในแง่การผลิต การใช้ การทิ้งทำลาย และความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ เรียกว่าครบทั้งวงจรวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆ ซึ่งจะคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่ง การใช้และการกำจัดทิ้งหลังการใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลัก 3R คือ ลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)  การที่ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเขียว เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยกันลดปัญหาโลกร้อน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียวยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่ามีคุณภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป มีความปลอดภัยจากสารเคมีที่เป็นอันตราย เนื่องจากมีการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้บริโภคยังได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานความปลอดภัยอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว ผลิตภัณฑ์ที่สามารถขอการรับรองฉลากเขียวได้นั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ สินค้า และบริการ (บางประเภท) ยกเว้น ยา เครื่องดื่ม และอาหาร เนื่องจากการติดฉลากเขียวบนผลิตภัณฑ์ยา เครื่องดื่มและอาหาร มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความปลอดภัยในการบริโภค เพราะอาจสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคได้ ปัจจุบันฉลากเขียวของประเทศไทย มีข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่พร้อมให้ผู้ผลิตยื่นขอรับการรับรองเครื่องหมายฉลากเขียวแล้ว จำนวน 124 ผลิตภัณฑ์ มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิ์ให้ใช้เครื่องหมายฉลากเขียว รวมทั้งสิ้น 674 รุ่น ใน 30 กลุ่มผลิตภัณฑ์ และ 72 บริษัท/ผู้ผลิต (ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียว) (ข้อมูลเผยแพร่ รายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว ประจำเดือน ม.ค.2561; http://www.tei.or.th/greenlabel/download/2018-01-Name-GL-th.pdf) โดยผู้บริโภคสามารถดูรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว และรายชื่อห้องปฏิบัติการทดสอบที่ยอมรับผลโดยฉลากเขียว (ISO/IEC 17025) ได้ที่เว็บไซต์ www.tei.or.th/greenlabel นอกจากฉลากเขียวแล้ว ภาครัฐยังมีการส่งเสริมระบบการติดฉลากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น ฉลากคาร์บอน ฉลากประหยัดพลังงาน ฉลากรับรองไม่ทำลายป่าไม้ ฉลากลดการใช้น้ำ และเกียรติบัตรใบไม้สีเขียวสำหรับธุรกิจโรงแรม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สินค้านั้นๆ มีคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันที่ไม่มีฉลากรับรอง ทั้งนี้ การอ่านฉลากสินค้าจะช่วยให้เราทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อหาหรือใช้บริการอย่างปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้มีการแสดงหรือระบุข้อความบนฉลากตามข้อกฎหมาย โดยฉลากสินค้าต้องใช้ข้อความที่ตรงตามความเป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า โดยหากผู้บริโภคพบเจอสินค้าที่มีข้อความบนฉลากที่เป็นเท็จ หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ดำเนินการกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดตามกฎหมายได้ ในฐานะพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Active Citizen) อย่างเราๆ การเลือกสรรหรือลดการบริโภคด้วยการเริ่มเป็นผู้บริโภคสีเขียว (Green Consumers) ที่รู้จักประมาณการบริโภคและตระหนักว่า การบริโภคทุกอย่างล้วนส่งผลกระทบต่อตนเองและสังคม การเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเขียว ก็นับเป็นกิจกรรมที่มุ่งสู่การบริโภคที่พอเพียงบนวิถีแห่งการรักษ์โลกที่แท้จริงเช่นกันแหล่งข้อมูลอ้างอิง- www.tei.or.th/greenlabel- ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (https://progreencenter.org)- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)สัญลักษณ์สีเขียวมีรูปหน้าเด็กยิ้ม ต้นไม้และนกที่อยู่ร่วมกันในโลกที่เห็นนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “ฉลากเขียว” ของประเทศไทย -----------------------------------------------------------------------------ฉลากสิ่งแวดล้อม (ECO LABELLING)“ฉลากสิ่งแวดล้อม” เป็นกลไกการสื่อสารและบ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภครับทราบ โดยฉลากสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO  สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ     ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ( ISO14024)เป็นฉลากที่บ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด โดยองค์กรอิสระที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Third party) โดยจะพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบใช้วิธีพิจารณาแบบตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Consideration) ในประเทศไทยมีการออกฉลากประเภทที่ 1 ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “ฉลากเขียว” ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 2 ( ISO14021)เป็นฉลากที่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือ ผู้ส่งออก จะเป็นผู้บ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือแสดงค่าทางสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตนเอง (Self-declared Environmental Claims)  ซึ่งอาจจะแสดงในรูปของข้อความ หรือสัญลักษณ์ รูปภาพ เช่น การใช้พลังงานอย่างประหยัด การนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น โดยฉลากนี้ จะไม่มีองค์กรกลางในการดูแล แต่ทางผู้ผลิต จะต้องสามารถหาหลักฐานมาแสดงเมื่อมีคนสอบถาม ดังนั้น ฉลากประเภทนี้ผู้ผลิตสามารถทำการศึกษาหรือประเมินผลได้ด้วยตนเองฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 ( ISO14025)เป็นฉลากที่บ่งบอกถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการแสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมโดยรวม (Environmental information) โดยการใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตของสิ่งแวดล้อม (Life Cycle Assessment) เข้ามาประเมิน ตามมาตรฐาน ISO 14040 โดยฉลากนี้ จะมีหน่วยงานอิสระหรือองค์กรกลางในการทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะประกาศลงกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >