ฉบับที่ 266 สั่งของได้ไม่ตรงปก “ซื้อไอแพด แต่ได้ถ้วยกระเบื้องแทน”

        การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วได้สินค้าไม่ตรงปก ปัจจุบันมีผู้บริโภคหลายคนคงจะเจอปัญหาเหล่านี้กันเยอะ  อาชญากรรมทางออนไลน์ ระหว่างเดือน มีนาคม  2565 – กุมภาพันธ์ 2566 มีสถิติการแจ้งความถึง  192,031 คดี และเสียหายสูงสุด 100 ล้านบาท และกลโกงอาชกรรมที่ติดอันดับแรกๆ คือ การลวงหลอกให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์         เรื่องราวของผู้ร้องรายนี้ ก็เช่นกัน เกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก คุณน้ำตาลเธอได้เล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณน้ำตาลได้สนใจที่จะซื้อ “ไอแพดมือสอง” เพื่อที่จะเอามาไว้ใช้งาน จึงได้ลองเข้าไปค้นหาดูในเฟซบุ๊ก ซึ่งมักจะมีหลากหลายรุ่นให้เธอได้เลือกซื้อได้ พอเลือกไป เลือกมา คุณน้ำตาลก็เกิดสนใจในรุ่นไอแพด เจน 9 มือสอง ในราคา 3,600 บาท เธอเลยตกลงซื้อทันทีและเลือกแบบเก็บเงินปลายทางเอา         จากนั้นเธอก็รอวันที่สินค้ามาถึง  ผ่านไปไม่กี่วันสินค้าที่เธอสั่งก็มาถึงที่หมายและได้จ่ายเงินเรียบร้อย พร้อมเปิดพัสดุในกล่องทันที แต่...ก็ต้องตกใจอีกของที่ได้กับไม่ตรงกับที่สั่งเลยสักนิดเดียว เป็นเพียงถ้วยกระเบื้องจำนวน 4 ใบ แพ็คมาในกล่อง ยังไม่พอแถมถ้วยกระเบื้องที่ส่งมายังแตกไปอีก 2 ใบ อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลยังใจดีสู้เสือ ลองติดต่อไปตามที่อยู่ข้างกล่องเพื่อจะได้เจรจากับผู้ขายได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถติดต่อได้ ทีนี้ล่ะเธอโดนหลอกแน่แท้แล้วสิ จึงได้ติดต่อมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอแนวทางในการแก้ปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีคำแนะนำตามนี้         1. ซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วชำรุดบกพร่องหรือได้ไม่ตรงปก ให้ทางผู้ร้องลองติดต่อกับผู้ขายให้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ได้แก่ การขอเปลี่ยนสินค้าหรือการขอเงินคืน         2. ถ้าได้ดำเนินการตามข้อมูลข้างต้นแล้วพบว่า ไม่สามารถตกลงกันได้หรือติดต่อทางร้านค้าไม่ได้ ผู้ร้องต้องดำเนินการโดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปด้วย เช่น            2.1 ใบสั่งซื้อสินค้า            2.2. ข้อมูลร้านค้า ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า            2.3 ถ่ายรูปร้านค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน            2.5 หลักฐานในการโอนเงิน สลิปโอนเงิน เลขที่บัญชีของใคร                 3. หากเป็นการโอนเงินผ่านธนาคาร ผู้ร้องสามารถไปขอใบอายัดบัญชีที่มีรูปตราครุฑเพื่อไปอายัดบัญชีที่ธนาคารเพื่อไม่ให้คู่กรณีสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้         นอกจากนี้ ช่องทางหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถไปร้องเรียนได้โดยตรง มีดังนี้             ·     สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์ สายด่วน 1212             ·     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599            ·     กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สายด่วน 1195         ทั้งนี้ ยังสามารถฟ้องร้องทางออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/citizen/ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 สั่งของออนไลน์ โอนเงินไปแล้วทำไมต้องจ่ายปลายทางอีก

        “เราสั่งของออนไลน์ เงินก็โอนให้แล้ว แต่จะมาเก็บเงินปลายทาง พอเราไม่ให้และไม่รับสินค้า แม่ค้าบอกว่า เราต้องจ่ายค่าไม่รับของ 150 บาท หรือจริงๆ คือค่าส่ง แม่ค้าทำแบบนี้ได้ไหมคะ”          เป็นคำถามที่คุณนิสา โทรศัพท์มาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งรายละเอียดมีอยู่ว่า  เมื่อวันที่ 6 เดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา คุณนิสาถูกใจสินค้าตัวหนึ่งซึ่งขายทางร้านออนไลน์ จึงสั่งซื้อด้วยการเลือกจ่ายเงินเข้าบัญชีร้านค้า จนผ่านไปหลายวันสินค้าก็ยังไม่มาจึงทวงถามไปทางร้านค้า ทำให้ทราบว่ายังไม่มีการจัดส่ง ทางร้านรับปากจะรีบนำส่งโดยเร็ว จนวันที่ 15 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำสินค้ามาส่งให้แต่ระบุว่า เป็นการเก็บเงินปลายทาง ตนเองปฏิเสธเพราะได้จ่ายเงินไปทางร้านค้าแล้ว และยังไม่ทันได้ติดต่อกับทางผู้ขาย ไปรษณีย์ก็นำสินค้ากลับไป ต่อมาแม่ค้าติดต่อมาว่า เราปฏิเสธไม่รับสินค้า ต้องจ่ายค่าเสียหายให้เขาเป็นจำนวนเงิน 150 บาท จึงโทรมาปรึกษาว่า จะต้องทำอย่างไร และที่แม่ค้าทวงถามมานั้นถูกต้องหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหา         การตกลงซื้อขายกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เป็นการทำสัญญาลักษณะหนึ่ง เมื่อผู้ซื้อคือคุณนิสา เห็นว่าการเก็บเงินปลายทางเป็นการซ้ำซ้อน การปฏิเสธไม่จ่ายเงินย่อมเป็นสิทธิที่ทำได้ เมื่อสิ่งของกลับคืนไปแล้ว สัญญาก็เป็นอันจบไป การที่คุณนิสาจะถูกเรียกเก็บ 150 บาท โดยผู้ขายอ้างว่า เป็นค่าเสียหายนั้น ทำไม่ได้ เพราะไม่มีการตกลงกันไว้ก่อน ว่าหากเกิดการปฏิเสธจะต้องถูกเรียกเก็บค่าเสียหาย อีกประการหนึ่งคุณนิสา สามารถเรียกร้องขอให้คืนเงินที่โอนไปแล้วเป็นค่าสินค้าคืนได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้ซื้อเช่นกัน         คุณนิสารู้สึกสบายใจขึ้น แต่ไม่อยากวุ่นวายเรื่องที่จะทวงเงินค่าสินค้าคืนเพราะเห็นว่า จำนวนเงินไม่ได้มากนัก จึงไม่ติดใจตรงนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 กระแสต่างแดน

ไม่มีเซอร์ไพรซ์        ลูกค้าเว็บจองโรงแรม แอร์บีเอ็นบี ในยุโรป สามารถจองห้องได้อย่างสบายใจ เพราะต่อไปนี้เขาจะแจ้งค่าธรรมเนียมทุกอย่าง (รวมถึงค่าทำความสะอาดและภาษีท้องถิ่น) ไว้ในหน้าแรก         ผู้บริโภคยังจะได้ทราบด้วยว่าเจ้าของห้องพักดังกล่าว เป็นชาวบ้านทั่วไปที่แบ่งห้องให้เช่าหรือผู้ประกอบการด้านที่พักโดยตรง ในกรณีที่เกิดปัญหาก็มีลิงก์ไปยังแพลทฟอร์มที่ผู้บริโภคสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ทันที         นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถฟ้องร้องต่อศาลในประเทศที่ตนเองอยู่อาศัย และไม่เสียสิทธิในการฟ้องร้อง “เจ้าบ้าน” ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอื่นๆ กับตนเอง             บริษัทบอกว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ โดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบอย่างชัดเจน และไม่ปิดโอกาสผู้ใช้ในการปฏิเสธสัญญา         เหตุที่บริษัทสัญชาติอเมริกันยอมทำตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับหลายล้านยูโรนั่นเองเค็มแถวหน้า        จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเกลือสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยควีนแมรี่แห่งลอนดอนพบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ชาวจีนบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละมากกว่า 10 กรัม ในขณะที่เด็กวัย 6 ปีขึ้นไป ก็บริโภคเกลือวันละเกือบ 9 กรัม         มีเพียงเด็กเล็กวัย 3 ถึง 6 ปีที่บริโภคเกลือวันละ 5 กรัม (ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคเกลือที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ)         นักวิจัยพบว่าอัตราการบริโภคเกลือในหมู่ประชากรทางเหนือของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผักสดให้รับประทานตลอดทั้งปีจึงไม่ต้องพึ่งพาผักดอง         แต่กลับพบการบริโภคเกลือที่สูงขึ้นทางตอนใต้ของประเทศ เพราะผู้คนนิยมรับประทานอาหารแปรรูปและซื้ออาหารนอกบ้านทานมากขึ้น         นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเด็กที่ชอบทานเค็มจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบเค็มด้วย สถิติยังระบุว่าร้อยละ 40 ของสาเหตุการตายในหมู่ประชากรจีนเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและความดันสูงที่เกิดจากการบริโภคเกลือมากเกินไปด้วย  “เมดอินเวียดนาม”        บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน Asanzo ของเวียดนาม มีเรื่องต้องอธิบายผู้บริโภค เมื่อถูกเปิดโปงว่าเครื่องรับโทรทัศน์ที่ “ผลิตในเวียดนาม” ของบริษัท มีส่วนประกอบถึงร้อยละ 80 ที่ผลิตมาจากจีนก่อนหน้านี้ผู้ผลิตกุญแจยี่ห้อ “มินไค” ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนเวียดนามมานานกว่า 30 ปี ได้เริ่มนำเข้ากุญแจจากประเทศจีนมาติดฉลากเป็นยี่ห้อตนเอง ประทับตรา “ISO 9000-2000” และ “สินค้าคุณภาพสูงจากเวียดนาม”         ปลายปี 2017 “ไคซิลค์” ก็ออกมายอมรับว่านำเข้าผ้าไหมจากจีนเข้ามาตีตราขายเป็นสินค้าแบรนด์ตัวเองในเวียดนามมาเป็นสิบปีแล้ว ความแตกเพราะลูกค้าที่ซื้อผ้าพันคอไป 60 ชิ้น (ในราคาชิ้นละประมาณ 850 บาท) พบว่าผ้าผืนหนึ่งมีทั้งฉลาก “ผลิตในประเทศจีน” และฉลาก “ผลิตในเวียดนาม”         ทั้งหมดนี้สร้างความขุ่นเคืองให้ผู้บริโภคที่เวียดนามอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบอกว่าเรื่องนี้ทำกันทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย เพราะปัจจุบันไม่มีเกณฑ์ว่าอย่างไรถึงจะเข้าข่ายเป็น “ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง” และ “ผลิตในเวียดนาม”“ไม่เอาหลอด”        กฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะในครัวเรือนทำให้ชาวเซี่ยงไฮ้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งอาหาร/เครื่องดื่มออนไลน์ เพื่อลดภาระในการคัดแยกขยะ เอเลมี ผู้ให้บริการส่งอาหารบอกว่าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีถึง 4,100 คำสั่งซื้อที่มีข้อความกำกับมาด้วย หนี่งในสี่ของคำสั่งซื้อระบุว่า “ขอซุปน้อยลง” ที่เหลือก็เป็นทำนอง “ขอข้าวน้อย” “ไม่เอาพริกไทยซอง” “แกะย่างไม่เอาไม้เสียบ” เป็นต้น         เหม่ยถวน ผู้ให้บริการอีกเจ้าหนึ่งระบุว่ามีคำสั่งซื้อที่ระบุว่า “ไม่เอาช้อน/ซ้อม/ตะเกียบ” เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงสี่เท่า และ “หลอด” ทั้งที่เป็นกระดาษและพลาสติกก็เป็นที่รังเกียจเช่นกันยกตัวอย่างกรณีชานมไข่มุก หากกินไม่หมดก็ต้องเทน้ำชาลงซิงค์ ทิ้งเม็ดไข่มุกลงในถังขยะเปียก และนำแก้วไปทิ้งในถังรีไซเคิล         เว็บไซต์ Caijing.com พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 50,000 คน จะเลิกกินชานมเพราะขั้นตอนการแยกขยะที่ยุ่งยากซับซ้อนรอได้ก็เขียวได้         ในทางทฤษฏี อีคอมเมิร์ซเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการขับรถบรรทุกออกมารอบเดียวแต่ส่งของให้กับผู้คนได้มากมายมันย่อมดีกว่าให้แต่ละคนขับรถไปห้างกันเอง  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในปี 2012 ก็ยืนยันว่าการสั่งซื้อแบบนี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80         แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่พบว่าถ้ารถส่งของนำสินค้าไปส่งให้ผู้สั่งซื้อน้อยกว่า 6 รายต่อเที่ยว มันจะไม่ช่วยอะไร ยิ่งถ้าต้องนำส่งแบบทันทีโดยไม่รอรวมกับใครก็ยิ่งแล้วใหญ่ เฉลี่ยแล้วถ้ารถต้องออกไปโดยมีของส่งเพียงหนึ่งชิ้น ปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจะมากกว่ากรณีที่มีของเต็มรถถึง 35 เท่า         นอกจากนี้ผู้บริโภคยังไม่รู้ถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการเลือกรับสินค้า “ภายในวันเดียว” เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริการฟรี (เพราะบริษัทแบกรับต้นทุนไว้) ทั้งที่อาจจะไม่ได้รีบใช้        ผู้เชี่ยวชาญเสนอทางออกเป็นปุ่ม “จัดส่งแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ให้ผู้บริโภคเลือกคลิก เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าผู้บริโภคกว่าร้อยละ 50 ยินดีที่จะรอ หากช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สั่งของแท้ แต่ได้ของปลอม

ไม่ว่าใครก็ต้องการของดีราคาไม่แพง ทำให้หลายครั้งเราตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่หลอกลวงด้วยถ้อยคำโฆษณาและสินค้าราคาถูกกว่าปกติ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุนีย์ตัดสินใจสั่งซื้อสร้อยไข่มุก Loperla Masami Jewelry Opera Set จากช่องทรูวิชชั่น ในราคา 5,990 บาท แต่โฆษณาลดเหลือ 5,690 บาท เนื่องจากคุณสุนีย์เห็นโฆษณาว่าเป็นไข่มุกเลี้ยงแท้ 100% พร้อมรายละเอียดต่างๆ ของสินค้าที่น่าสนใจ เช่น ขนาดเม็ดมุก  7 มม., มีจำนวนเม็ดไข่มุก 135 เม็ด, จี้ห้อย เป็นนิกเกิล ประดับคริสตัส และความยาวสร้อย 95.5 ซม. (รวมจี้และตะขอ)อย่างไรก็ตามหลังได้รับสินค้ากลับพบว่า สร้อยมีไข่มุกเพียง 127 เม็ด และความยาวน้อยกว่าที่โฆษณา ประมาณ 2 นิ้ว  เธอจึงแจ้งให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อบริษัทนำสินค้ามาเปลี่ยนให้ก็ยังพบปัญหาว่าไข่มุกมีขนาดเม็ดเล็กกว่าเส้นแรก เธอจึงแจ้งให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าอีกครั้ง ซึ่งหลังได้รับการเปลี่ยนสินค้ารอบนี้ เธอได้ทดสอบไข่มุกด้วยการลนไฟ โดยหากเป็นไข่มุกเทียมจะเกิดการไหม้หลอมและหลุดลอก เเต่ถ้าเป็นไข่มุกเเท้ จะเป็นคราบเขม่าดำที่เกิดจากความร้อนซึ่งเช็ดออกได้หลังการทดสอบสินค้าเธอก็พบว่าผิวไข่มุกไหม้และลอกล่อน รวมทั้งเมื่อนำไข่มุกมาถูกัน ก็เกิดอาการลื่นออกจากกัน ต่างจากไข่มุกแท้ที่จะมีลักษณะฝืด ทำให้คุณสุนีย์แจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืนทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ แจ้งว่าจะขอทดสอบไข่มุกในห้องปฏิบัติการก่อน โดยใช้เวลาในการทดสอบ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหลังผ่านไปหลายเดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แจ้งให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดการโฆษณาสินค้ามาให้เพิ่มเติม พร้อมทำหนังสือนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับบริษัท ซึ่งผู้ร้องต้องการให้บริษัทเยียวยาความเสียหาย ดังนี้ 1. ให้ประกาศโฆษณาขอโทษ ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับที่ประกาศโฆษณาจำหน่ายสินค้า เป็นเวลา 1 ปี  และให้เรียกคืนสินค้าและคืนเงินให้ลูกค้าทุกรายที่ซื้อสินค้าดังกล่าว หรือ 2. หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อ 1 ได้ ให้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย เป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาทให้แก่ผู้ร้อง อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้ขอเลื่อนการเจรจาออกไป แต่ส่งหนังสือชี้แจงกลับมาว่าบริษัทกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ผลิตในประเทศไต้หวัน ซึ่งอาจเกิดจากเหตุขัดข้องในการจัดส่งสินค้าที่ผิดไป โดยผู้ผลิตยินยอมส่งคืนสินค้าที่ถูกต้องให้ภายในระยะเวลา 30 วัน และได้ร่วมมือกับ บริษัท ทรู จีเอส จำกัด ในการประสานงานติดต่อผู้ซื้อทุกราย เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงสินค้าที่ถูกต้อง ภายใน 15 วันทำการ หรือรับคืนเงินเต็มจำนวนทันที สำหรับผู้ซื้อที่ไม่ประสงค์รอสินค้าด้านผู้ร้องพอใจกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ต้องการให้บริษัทรับผิดชอบเพิ่มเติม ด้วยการโฆษณาการคืนสินค้าให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบ ไม่ใช่คืนสินค้าเฉพาะรายอย่างเงียบๆ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีการคืนสินค้ากันจริงหรือไม่ ซึ่งผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >