ฉบับที่ 266 สั่งของได้ไม่ตรงปก “ซื้อไอแพด แต่ได้ถ้วยกระเบื้องแทน”

        การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วได้สินค้าไม่ตรงปก ปัจจุบันมีผู้บริโภคหลายคนคงจะเจอปัญหาเหล่านี้กันเยอะ  อาชญากรรมทางออนไลน์ ระหว่างเดือน มีนาคม  2565 – กุมภาพันธ์ 2566 มีสถิติการแจ้งความถึง  192,031 คดี และเสียหายสูงสุด 100 ล้านบาท และกลโกงอาชกรรมที่ติดอันดับแรกๆ คือ การลวงหลอกให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์         เรื่องราวของผู้ร้องรายนี้ ก็เช่นกัน เกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก คุณน้ำตาลเธอได้เล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณน้ำตาลได้สนใจที่จะซื้อ “ไอแพดมือสอง” เพื่อที่จะเอามาไว้ใช้งาน จึงได้ลองเข้าไปค้นหาดูในเฟซบุ๊ก ซึ่งมักจะมีหลากหลายรุ่นให้เธอได้เลือกซื้อได้ พอเลือกไป เลือกมา คุณน้ำตาลก็เกิดสนใจในรุ่นไอแพด เจน 9 มือสอง ในราคา 3,600 บาท เธอเลยตกลงซื้อทันทีและเลือกแบบเก็บเงินปลายทางเอา         จากนั้นเธอก็รอวันที่สินค้ามาถึง  ผ่านไปไม่กี่วันสินค้าที่เธอสั่งก็มาถึงที่หมายและได้จ่ายเงินเรียบร้อย พร้อมเปิดพัสดุในกล่องทันที แต่...ก็ต้องตกใจอีกของที่ได้กับไม่ตรงกับที่สั่งเลยสักนิดเดียว เป็นเพียงถ้วยกระเบื้องจำนวน 4 ใบ แพ็คมาในกล่อง ยังไม่พอแถมถ้วยกระเบื้องที่ส่งมายังแตกไปอีก 2 ใบ อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลยังใจดีสู้เสือ ลองติดต่อไปตามที่อยู่ข้างกล่องเพื่อจะได้เจรจากับผู้ขายได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถติดต่อได้ ทีนี้ล่ะเธอโดนหลอกแน่แท้แล้วสิ จึงได้ติดต่อมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอแนวทางในการแก้ปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีคำแนะนำตามนี้         1. ซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วชำรุดบกพร่องหรือได้ไม่ตรงปก ให้ทางผู้ร้องลองติดต่อกับผู้ขายให้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ได้แก่ การขอเปลี่ยนสินค้าหรือการขอเงินคืน         2. ถ้าได้ดำเนินการตามข้อมูลข้างต้นแล้วพบว่า ไม่สามารถตกลงกันได้หรือติดต่อทางร้านค้าไม่ได้ ผู้ร้องต้องดำเนินการโดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปด้วย เช่น            2.1 ใบสั่งซื้อสินค้า            2.2. ข้อมูลร้านค้า ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า            2.3 ถ่ายรูปร้านค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน            2.5 หลักฐานในการโอนเงิน สลิปโอนเงิน เลขที่บัญชีของใคร                 3. หากเป็นการโอนเงินผ่านธนาคาร ผู้ร้องสามารถไปขอใบอายัดบัญชีที่มีรูปตราครุฑเพื่อไปอายัดบัญชีที่ธนาคารเพื่อไม่ให้คู่กรณีสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้         นอกจากนี้ ช่องทางหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถไปร้องเรียนได้โดยตรง มีดังนี้             ·     สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์ สายด่วน 1212             ·     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599            ·     กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สายด่วน 1195         ทั้งนี้ ยังสามารถฟ้องร้องทางออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/citizen/ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >