ฉบับที่ 176 ความปลอดภัยต้องอาศัยองค์ความรู้

“รถยนต์จะปลอดภัยหรือไม่ คนไม่ค่อยสนใจ คนไทยคิดอย่างเดียวว่าถ้าอยากปลอดภัยก็ต้องซื้อรถแพง ปลอดภัยต้องเสียเงิน และเชื่อด้วยว่ารถที่ผลิตมาแล้วก็ปลอดภัยหมด”“บ้านเราผลิตรถ แต่ทุกคนไม่รู้หรอกว่ารถสามารถสั่งตัดได้ และบ้านเราก็ไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนมากมาย แต่เรากลับไม่รู้เลยว่ารถแต่ละคันปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะไปถึงเป้าหมายเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนได้อย่างไร” รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม นักวิชาการด้านวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ บัณฑิตวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (Thai–German Graduate School of Engineering) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่มาของหลักสูตรวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยรถยนต์    ผมทำงานสายยานยนต์มาตั้งแต่เรียนจบมาเมื่อ 15 ปีก่อน ตอนนั้นอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ในประเทศไทยกำลังบูม สาขาวิชาหลักๆ สำหรับอุตสาหกรรมนี้ก็มีวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมการผลิต และวิศวกรรมไฟฟ้า ผมเองจบทางช่างยนต์แต่ไม่ได้มีส่วนในการออกแบบรถยนต์อย่างที่เรียนมา เพราะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ให้ทำตามแบบของเขา บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ก็มีหน้าที่ทำให้ได้ตามข้อกำหนดของบริษัทแม่ ในประเทศไทยเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทำกันมา คือการผลิตชิ้นส่วนอย่างไรให้ลดต้นทุน จนผมมีโอกาสได้ไปดูงานของรัฐบาลเยอรมันที่เขาจะทำหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ ก็ได้เห็นว่าแตกต่างกันมากกับวิศวกรรมยานยนต์ที่เมืองไทย ที่นั่นเขาทำวิจัยร่วมกับอุตสาหกรรมบริษัทรถในการผลิต เพราะว่าเขามียี่ห้อรถของเขา แล้วเขาก็ทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยด้วย พอเราได้ไปดูงานของเขามาแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็จัดสร้างหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ขึ้น โดยเอาเนื้อหาหลักสูตรทั้งหมดจากเยอรมันมาใช้ ซึ่งเนื้อหาของเขาลงลึกมาก รวมงานวิจัยเข้าไปด้วย เน้นเรื่องการออกแบบ การผลิต ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ แต่หลังจากเปิดหลักสูตรไปสักพักหนึ่งมันไม่ไหว มีคนตั้งคำถามว่าเด็กจบไปแล้วจะไปทำอะไร เพราะเราไม่ได้ออกแบบรถเอง แต่ความจริงแล้วเราได้องค์ความรู้ไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมกับบริษัทรถ จะได้พูดภาษาเดียวกันได้ ร้อยละ 80 ของนักศึกษากลุ่มแรกๆ เป็นอาจารย์ เช่น อาจารย์จาก ม.ราชมงคลฯ และอีกหลายแห่งที่อยากจะพัฒนาบุคลากรในสายยานยนต์ สักพักหนึ่งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เปิดหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ ทีนี้คำว่าวิศวกรรมยานยนต์ของแต่ละมหาวิทยาลัยก็ไม่เหมือนกัน มันไม่ชัดว่าเนื้อหาหลักสูตรของแต่ละที่เป็นอย่างไร คนที่มาสมัครเรียนเขาก็ไม่รู้ว่าเรียนจบไปแล้วจะทำอะไร มีคนที่ประเมินหลักสูตรเขาถามว่าจบวิศวกรรมยานยนต์ที่ TGGS (Thai – German Graduate School of Engineering) แล้วจะไปทำอะไร ผมเลยเปลี่ยนหลักสูตรเป็น “หลักสูตรวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัย”ทำไมต้องหลักสูตรนี้?    ที่เราทำด้านนี้เพราะว่าผมทำโครงการรถบัสของขนส่ง(กรมการขนส่งทางบก) เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2555 – 2556 พอทำแล้วมันได้ใช้องค์ความรู้เรา ทำแล้วมันมีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งในสายวิศวกรรมนั้นจะไม่ค่อยมีผลต่อสังคมเท่าไร พอได้ทำตรงนี้แล้วคนสนใจและอยากรู้ ก็เลยเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกัน โดยเอาเนื้อหาเดิมมาขัดเกลาใหม่ให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะกับประเทศไทย นั่นคือประเทศไทยไม่มีบริษัทรถเอง มีแต่ผู้ใช้รถ หลักสูตรจึงเน้นทดสอบรถด้านคุณภาพ มาตรฐาน สภาพรถ การประหยัดน้ำมัน ฯลฯ การจะประเมินเรื่องนี้เราต้องใช้ซอฟแวร์หรือกระบวนการอะไร ในหลักสูตรจะมีเรื่องพวกนี้อยู่ มีการทดสอบชิ้นส่วนต่างๆ เช่น เกียร์ต้องทดสอบอย่างไร เครื่องยนต์ทดสอบอย่างไร ประเมินอย่างไร นี่คือหลักสูตรเรื่องนี้ เพราะเราไม่ได้เป็นผู้ผลิต  หลักสูตรของเราเน้นด้านหลักๆ 4 ด้าน คือ การผลิตรถยนต์ การทดสอบประเมินรถ มาตรฐานกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล รวมถึงการจำลองการบาดเจ็บ/ความปลอดภัยยานยนต์ การประเมินหรือการทดสอบที่อาจารย์ภาคภูมิใจ    การทดสอบรถบัสทั้งแบบ 1 ชั้นและ 2 ชั้น ด้วยเครื่องมือทางวิศวกรรม เช่น การจำลองเหตุการณ์ ซึ่งก่อนที่เราจะทดสอบเราก็ประเมินก่อนแล้วว่าไม่มีคันไหนผ่าน เราเลือกรถจากกลุ่มที่มีกระบวนการผลิตที่ดีที่สุดในรูปแบบบริษัท และเมื่อประเมินโดยใช้การคำนวณทางตัวเลขวิเคราะห์ก็ไม่ผ่าน แต่การจำลองทางคณิตศาสตร์โดยใช้กระบวนการทางวิศวกรรมมันก็ไม่ชัดเจนเท่ากับเห็นภาพ เพราะมันเป็นแค่ตัวเลข พอเรารู้แล้วว่าไม่ผ่านก็สร้างเครื่องทดสอบให้เห็นเลยว่าทำไมไม่ผ่าน คือในระยะแรกเราทำการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ให้เห็นคุณภาพรถว่าเป็นอย่างไร และสร้างเครื่องทดสอบ วิเคราะห์ออกแบบใหม่ เราออกแบบโดยใช้หลักคณิตศาสตร์ แล้วสร้างเครื่อง สร้างรถ สร้างรูปแบบของโครงสร้างที่เราออกแบบ โครงการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 เดือนตั้งแต่สร้างเครื่องทดสอบ ประเมินรถ แล้วออกแบบโครงสร้างที่คิดว่าน่าจะปลอดภัยแล้วนำมาทดสอบ เราไม่ได้ทำแค่สร้างเครื่องทดสอบ แต่รวมไปถึงการปรับปรุงพัฒนาภายใต้เงื่อนไขของข้อกำหนด ซึ่งในการออกแบบทางกระบวนการวิศวกรรมนั้นค่อนข้างยาก ผมสามารถออกแบบให้โครงสร้างรถบัสมีน้ำหนักเบา แข็งแรง ราคาถูกได้ แต่ถ้าจะออกแบบให้ถูกด้วยมันยากตรงที่บ้านเราไม่ใช่ประเทศที่รวย เราอยู่แค่ในระดับปานกลาง ถ้าจะให้ออกแบบให้แข็งแรงปลอดภัย ราคาถูกด้วย เบาด้วย มันทำไม่ได้ แล้วยังมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นรถบัสที่สามารถผลิตได้ในอู่ทั่วไปด้วย เพราะอย่างที่เรารู้กันอุตสาหกรรมต่อรถบ้านเราเป็นอุตสาหกรรมครอบครัว ความสำคัญของความปลอดภัยยานยนต์ในบ้านเรา    ประเทศไทยไม่มีผู้ผลิตรถ องค์ความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ที่ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยต่อคนนั้นมีน้อย คนที่รู้เรื่องนี้ก็มีน้อย คือรถยนต์จะปลอดภัยหรือไม่ คนไม่ค่อยสนใจ คนไทยคิดอย่างเดียวว่าถ้าอยากปลอดภัยก็ต้องซื้อรถแพง ปลอดภัยต้องเสียเงิน และเชื่อด้วยว่ารถที่ผลิตมาแล้วก็ปลอดภัยหมด ซึ่งรถบางคันอาจไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร เพราะตอนเขาผลิตเขาคำนึงถึงต้นทุนเป็นหลักแพะรับบาป 2 ตัวเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ     ร้อยละ 70 ของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากคน อีกร้อยละ 20 – 30 คือรถ ซึ่งเราสามารถคุมปัจจัยได้ง่ายกว่า ในบ้านเราแพะรับบาปอย่างแรกคือ “เมาแล้วขับ” อย่างที่สองคือ “ขับรถเร็วเกินกำหนด” ไม่เคยบอกว่าเป็นเพราะยางแตกหรือการเสื่อมสภาพของรถ ผมมีงานวิจัยที่ทำให้ผมรู้ว่า “การขับเร็วเกินกำหนด” เป็นเรื่องของการนั่งเทียน บ้านเราผลิตรถ แต่ทุกคนไม่รู้หรอกว่ารถสามารถสั่งตัดได้ และบ้านเราก็ไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนมากมาย แต่เรากลับไม่รู้เลยว่ารถแต่ละคันปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะไปถึงเป้าหมายเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนได้อย่างไร ผมมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง คือมีอุบัติเหตุรถชนเกิดขึ้น แล้วตำรวจ สน.ไทรน้อยขอให้ผมมาช่วย รถคันที่เกิดเหตุชนท้ายรถพ่วง มีพ่อแม่ลูกนั่งมาในรถ พ่อและแม่เสียชีวิตคาที่ ส่วนเด็กไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล รอยเบรกประมาณ 27 เมตร ... คุณคิดว่ารถต้องมาด้วยความเร็วเท่าไร?  ญาติเรียกร้องให้ประกันชดเชย แต่ทางประกันแย้งว่าผู้เสียชีวิตขับรถเร็วเกินกำหนดโดยดูจากรอยเบรก 27 เมตร จากทฤษฎีสามารถคำนวณความเร็วได้ แต่พอดูยางรถยนต์ที่เขาใช้ คือล้อหน้าด้านซ้ายเป็นยางมิชลินปี 2004 ล้อหน้าข้างขวา คือยางมิชลินปี 2007 ปีนี้ปี 2015 เท่ากับใช้มา 8 ปีแล้ว ส่วนยางหลังด้านขวาคือยางกู้ดเยียร์ปี 2011และล้อหลังซ้ายยางกู้ดเยียร์ปี 2010 ผมก็เอายางไปทดสอบในสถานที่จริงเลย เริ่มที่ความเร็ว 30 กม./ชม. ระยะเบรกอยู่ที่ 5 เมตร ถามผู้ใช้รถว่าการใช้ยางแบบนี้ไหวไหม? ถ้าขับในเมืองรถมันติดก็โอเค แล้วลองที่ความเร็ว 60 กม./ชม.ระยะเบรคอยู่ที่ 19 เมตร ถ้าความเร็ว 90 กม./ชม.ระยะเบรกยาวถึง 40 เมตร ก็คือเบรกไม่อยู่โดยใช้ความเร็วที่ 90 กม./ชม.เอง คือความเร็วก็มีส่วน แต่มันไม่ควรเป็นแพะรับบาป กรณีนี้ผู้บริโภคเลือกใช้ยางผิด นั่นคือผู้บริโภคไม่รู้ เราถึงต้องสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อปลูกฝังและสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัย  “วัฒนธรรมความปลอดภัย” อยู่ในยุทธศาสตร์ของประเทศหรือยัง?    เรื่องความเร็วในแผนแม่บทเขาก็กำหนดไว้ แต่ทำไม “ออโตบาห์น” ในประเทศเยอรมันไม่มีการจำกัดความเร็ว? นั่นเพราะถนนเขาดี คนขับดี และรถก็ดี คือผมจะบอกว่าเขาเขียนแผนยุทธศาสตร์ผิดจากข้อมูลสถิติที่ผิด เลยทำให้ยุทธศาสตร์ประเทศวางแผนผิดไปหมด จึงทำให้ประเทศไทยมารณรงค์เรื่องเมาแล้วขับ เราเก็บข้อมูลผิดวิธีและไม่นับจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุภายใน 30 วัน คนเขียนข้อมูลเขารู้เลยว่าตำรวจไม่ค่อยให้ข้อมูลเพราะพยายามจะปิดคดี  และการปิดคดีที่ดีที่สุดก็คือระบุว่าเมาแล้วขับ หรือขับเร็วเกินกำหนด มันเลยกลายเป็นแผนไม่เคลื่อนสิ่งที่เราควรรณรงค์จริง คืออะไร    จริงๆ คือต้องรณรงค์ทั้งแผน ไม่ใช่รณรงค์แค่คน ต้องทั้งแผนถึงจะขับเคลื่อน แต่เรื่องรถไม่เคยรณรงค์เลย บ้านเราเน้นเรื่องคนมากกว่า เรื่องถนนก็มีรณรงค์บ้างอย่างถนนที่โค้งอันตราย ตำรวจก็รณรงค์ตรงจุดเสี่ยง ขาดแค่การรณรงค์เรื่องรถ บางทีรถดีแต่มีการใช้งานผิดประเภทอีกเพราะไม่มี “วัฒนธรรมความปลอดภัย” จึงเกิดการใช้รถผิดประเภท?    ใช่ แต่ “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ต้องเป็นองค์ความรู้เรื่องรถยนต์ ยกตัวอย่างบางปลาม้าโมเดล เขาจัดทำนำร่องเรื่องรถโรงเรียนโดยเรียกคนที่มีส่วนร่วมมา เชิญตำรวจมา จัดให้อยู่ในระบบ เชิญหน่วยงานขนส่งฯ มาแนะนำว่าโครงสร้างต้องเป็นแบบไหน แล้วก็สรุปว่านี่คือรูปแบบของรถโรงเรียน แต่ในทางวิศวกรรมถ้ารถลักษณะ(สองแถว) นี้เกิดอะไรขึ้นมา มันเจ็บหนักมาก คุณรู้ไหมว่าทำไมรถรุ่นใหม่ปุ่มสตาร์ทถึงเป็นปุ่มกด? เพราะว่าเวลาชน เข่าของเราจะไปโดนพวงกุญแจ เพราะเขารู้ว่ามันเสี่ยงโดยดูจากข้อมูลอุบัติเหตุ แต่คนที่รู้จริงๆ มีน้อย คนที่ไม่ได้ทำวิจัยจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือวัฒนธรรมความปลอดภัย คือต้องมีองค์ความรู้ ในโครงการบางปลาม้าโมเดลก็เขียนกำหนดลักษณะมาตรฐานรถให้เหมาะสมไว้นะ แต่เขาเชิญขนส่งฯ ซึ่งขนส่งเองก็มีความรู้ระดับหนึ่ง โครงการก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ คือให้นักเรียนนั่งในคอกรถแล้วจะปลอดภัย ทางขนส่งเขาก็มีระเบียบของเขาว่าหลังคาต้องมั่นคงแข็งแรง แต่ความรู้เรื่องความปลอดภัยของรถยังไม่มี ทุกวันนี้คนก็ชื่นชมบางปลาม้าโมเดลและก็จะทำตามแบบนี้ และตอนนี้ก็จะขยายต่อไปด้วย ผมเคยโทรไปหาผู้อำนวยการโรงเรียนบางปลาม้าบอกว่าจะเอารถโรงเรียนของเขามาทดสอบดู เขาก็ไม่กล้าให้เอามาเพราะเขาเองก็ยังไม่มั่นใจ ถ้าที่เมืองนอกเวลาเอารถมา ต้องทดสอบไดนามิค ดูการเหวี่ยง ดูความเสี่ยง การชนด้านหน้า ทดสอบเบรก คุณภาพรถเป็นอย่างไรอย่างน้อยเมืองไทยก็มีมาตรฐานชิ้นส่วนรถยนต์?    ในวงจรการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย บริษัทรถจะทำออกมาตามเสียงตอบรับจากผู้ใช้ พอได้ชิ้นส่วนก็เข้ามาอยู่ในเทียวัน (บริษัทจัดหาซัพพลายเออร์สำหรับชิ้นส่วนรถยนต์) ก็มีบริษัทหลายบริษัทจนมีสมาคมชื่อว่า สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) ซึ่งมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาควบคุมดูแล ส่วนกรมการขนส่งทางบกก็มีบทบาทตอนทำการผลิตแล้วตรวจสอบขั้นสุดท้าย ก็มีแค่นี้วงจรของมัน แต่เพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศไทย รัฐบาลอยากส่งเสริม ทางบริษัทรถก็ให้ความร่วมมือ แต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไร ขั้นตอนโลจิสติกส์มีอะไรบ้าง ทำอย่างไรให้ผลิตได้เยอะขึ้น ก็ทำการวิจัยให้กระบวนการผลิต แต่ไม่ได้มองเรื่ององค์ความรู้เลย เน้นการผลิตอย่างเดียว คุณเชื่อไหมว่าบริษัทที่ขายชิ้นส่วนให้เทียวัน แม้จะขาดทุนก็ยังยอมขาย เพราะเวลาเปลี่ยนอะไหล่ผู้บริโภคก็ต้องกลับมาใช้ของเขา เขาขอให้ได้เข้าไปเป็นชิ้นส่วนในรถให้ได้เป็นพอ ยกตัวอย่างรถที่ใช้แบตเตอรี่ 3K ถ้าคนที่รู้เขาก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น แต่คนที่ไม่รู้ เวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ก็ยังใช้ 3K อยู่ดี

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point