ฉบับที่ 112-113 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2553 10 พฤษภาคม 2553สปสช.เตรียมยกร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ คนเจ็บต้องได้ใช้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมปฏิรูปการประกันสุขภาพภาคบังคับ หลังจากพบว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เกิดปัญหาการเบิกจ่ายกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ที่มีการเบิกจ่ายจากกองทุนไม่ถึงครึ่ง เพราะมีขั้นตอนการเบิกจ่ายที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องใช้เวลานานในการพิสูจน์ถูกผิดในส่วนของค่าชดเชย ทำให้ผู้ประสบภัยหันมาใช้สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพที่ตนเองมีอยู่แทน ทำให้กลายไปเป็นภาระด้านงบประมาณกับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน  สำหรับหลักสำคัญที่จะใช้ในการยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่จะใช้แนวคิดจากงานวิจัย คือ บริหารระบบโดยใช้หน่วยงานของรัฐทั้งหมด ใช้หลักการชดเชยโดยไม่พิสูจน์ถูกผิดในการชดเชยค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้ประชาชนผู้เสียหายได้รับประโยชน์ในสิทธิของตัวเองได้อย่างเต็มที่ที่สุด -------------------------------------------------------------------------------------- 15 มิถุนายน 2553กินยาโบราณปลอม โรคไม่หาย เสี่ยงป่วยเพิ่มสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยสำนักงานพระราชวัง บุกตรวจจับแหล่งจำหน่ายและกระจายยาแผนโบราณและเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ในร้านค้าและแผงลอยย่านท่าเตียน ได้ทั้งหมด 12 ร้าน รวมผลิตภัณฑ์ กว่า 200 รายการ คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านบาท โดยพบของกลางเป็นยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และไม่มีใบอนุญาตขายยาและโฆษณาโอ้อ้วดเกินจริง เช่น ยาหยอดตาสูตรเย็น อ้างรักษาแก้ตาฝ้า ตาฟาง เป็นต้อลม ตาอักเสบ, ยาเหลืองปลาหมอชะลอความชรา สมุนไพรวัดโพธิ์ (เบอร์ 40), ยาหอมบำรุงหัวใจห้าร้อยจำพวก ยาแก้เบาหวาน แก้เจ็บแน่นหน้าอก แก้เสียวในหัวใจ บำรุงสมอง, น้ำมันมะรุมแก้ข้อเสื่อมคลายเส้นวัดโพธิ์ (เบอร์ 41), ยาสาวเสมอพันปี (บำรุงสตรีบำรุงเลือดแก้ตกขาว), ยาแผนโบราณอายุวัฒนะวัดโพธิ์ (เบอร์ 49) บำรุงประสาท บำรุงสมอง บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ แก้ไตพิการบวมเหลือง แก้มะเร็ง ในมดลูก มะเร็งเต้านม, ยาแก้ปวดนิ่วในไต ในถุงน้ำดี (สมุนไพรวัดโพธิ์) (เบอร์ 63), ยาหม่องฟ้าทะลายโจร (หมอสิงห์) นวดแก้อัมพฤกษ์, น้ำมันเขียวแป๊ะยิ้มแก้อัมพาต เหน็บชา, น้ำมันพระโมคคัลลาน แก้ลมอัมพาต ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางพบในส่วนของฉลากไม่ถูกต้อง อย. ฝากเตือนประชาชนที่ชอบซื้อยาแผนโบราณตามวัดหรือสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่ร้านขายยา ต้องตรวจดูเรื่องส่วนประกอบและบริษัทผู้ผลิตให้ชัดเจน และอย่าหลงเชื่อกับคำโฆษณาที่เกินจริง --------------------------------------------------------------------------------------   16 มิถุนายน 2553พบ “สารไซยาไนด์” ในเกลือแหลมฉบัง สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เตือนชาวบ้านบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง อย่านำเกลือที่พบในบริเวณท่าเรือมารับประทาน หลังมีการตรวจพบสารไซยาไนด์ปนเปื้อน นางอารีย์ ตรีรัตนเวช ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เกลือที่พบจำนวนมากบริเวณพื้นที่ที่การท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจมอยู่ในโคลนลึกประมาณ 5-10 ซม. กินพื้นที่ประมาณ 20-30 ไร่ นั้น ขณะนี้มีประชาชนในบริเวณดังกล่าวแห่กันไปขุดเกลือเพื่อนำไปรับบริโภคหรือจำหน่ายต่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางเทศบาลตำบลแหลมฉบัง ได้ประกาศห้ามประชาชนนำเกลือในบริเวณดังกล่าวมาบริโภคโดยเด็ดขาด หลังพบว่ามีการปนเปื้อนสารหนูหรือไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำอันตรายต่อร่างกายรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ --------------------------------------------------------------------------------------   21 มิถุนายน 2553เข้าสปาคราวหน้าอย่าลืมเรื่องความสะอาดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้ในสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ประเภท พอกผิว ขัดผิว สำหรับนวด และอื่นๆ จำนวน 49 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์คุณภาพด้านจุลชีววิทยา พบว่ามีคุณภาพผิดมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทขัดผิว 5 ตัวอย่างจาก 28 ตัวอย่าง ประเภทพอกผิว 2 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่าง เนื่องจากมีปริมาณการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ยีสต์ และราเกินกำหนด  ดังนั้นผู้บริโภคควรใส่ใจในการเลือกใช้บริการร้านสปาและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทางร้านใช้ ถ้าเป็นไปได้ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ โดยเฉพาะคนที่ผิวแพ้ง่าย พยายามเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นกรดหรือด่าง หรือมีกลิ่นหอมเกินไป --------------------------------------------------------------------------------------   เครือข่ายผู้บริโภคเรียกร้อง กทช. ประมูล 3.9Gต้องโปร่งใสและให้ประโยชน์ของชาติมาก่อนองค์กรผู้บริโภคร่วมกันแถลงจุดยืน “การประมูลใบอนุญาต 3.9G ใครได้ประโยชน์” ณ สำนักงานชั่วคราวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เซ็นจูรี่ พลาซ่า ชั้น 6 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. โดยมีนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายนิมิตร์ เทียนอุดม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นางสาวสุภิญญา  กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ(คปส.) และนายกำชัยน้อย  บรรจงค์ เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ร่วมแถลงข่าว ตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พยายามเร่งผลักดันให้เกิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือ 3G ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น 3.9G โดย กทช.ระบุจำนวนใบอนุญาต 3 ใบ ใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ โดยจะมีการเปิดประมูลใบอนุญาตพร้อมกันในราคาประมูลเริ่มต้นที่ 10,000 ล้านบาท ใบอนุญาตมีระยะเวลา 15 ปี ซึ่งทางองค์กรผู้บริโภคเห็นค้านว่าควรจะกำหนดราคาประมูลตั้งต้นที่ 20,000 ล้าน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทที่ให้บริการสื่อสารยักษ์ใหญ่มีกำไรไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าตั้งต้นราคาประมูลต่ำเกินไป รัฐอาจเสียผลประโยชน์ ส่วนประเด็นเรื่องระยะเวลาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมองว่า เรื่องของเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ระยะเวลา 15 ปีในการถือครองใบอนุญาตอาจดูนานไป น่าจะลดลงมาที่ 10 ปี  ถึงแม้ กทช.จะชี้แจงว่าระยะเวลา 10 ปีนั้น จะขัดต่อประกาศแต่ไม่ได้ติดปัญหาเรื่องกฎหมาย เครือข่ายผู้บริโภคยังได้เสนอเงื่อนไขการคุ้มครองผู้บริโภคในการประมูล 3.9G ครั้งนี้ โดยให้ทาง กทช.เขียนเป็นกติกาให้กับบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ชัดเจน ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต 3.9G จัดทำเลขหมายรับเรื่องร้องเรียน 4 หลัก ที่ผู้บริโภคโทรติดต่อแล้วไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นเลขหมาย 7 หลัก ที่ผู้บริโภคโทรติดต่อแล้วต้องเสียค่าใช้จ่าย การจัดการปัญหา SMS กวนใจ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการไม่สามารถส่งเอสเอ็มเอสโฆษณาไปยังเลยหมายของผู้บริโภคได้หากผู้บริโภคไม่เต็มใจหรือยินยอม การไม่คิดค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนโปรโมชั่น ที่ปัจจุบันต้องเสีย 30 บาท และการไม่ต้องกำหนดวันหมดอายุของการใช้งานระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน --------------------------------------------------------------------------------------   รัฐบาลต้องเร่งออกกม.คุ้มครองผู้ป่วยที่เสียหายทางการแพทย์เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ชมรมผู้ป่วยโรคไต เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เรียกร้องรัฐบาลเร่งออกกฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากรักษาพยาบาลเพื่อลดการฟ้องร้องแพทย์ และ ย้ำแพทยสภาต้องจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาการฟ้องร้อง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ "ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. ..." เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยไม่ให้คนไข้ฟ้องแพทย์ เพราะคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจะได้รับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น” เครือข่ายผู้บริโภค ระบุ แม้กฎหมายฉบับนี้ มีไม่น้อยกว่า 5 ประเด็นที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคไม่เห็นด้วย แต่ก็ยอมรับให้รัฐบาลนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา และยืนยันหลักการกฎหมายฉบับนี้จะช่วยลดการฟ้องร้องของคนไข้ เพราะคนไข้หากมีความเสียหายก็จะได้รับการชดเชยที่เหมาะสม ผู้บริโภคไม่ต้องมีภาระในการฟ้องคดี ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... โดยการเข้าชื่อประชาชน 10,000 ชื่อ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขอยืนยันถึงเจตนารมณ์และเป้าหมายสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ 3 ประการ คือ 1) การชดเชยผู้เสียหายจากระบบบริการสาธารณสุข 2) ลดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้ 3) พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานระบบบริการสาธารณสุขในประเทศไทย “ถึงแม้ประเทศไทยจะมี พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีกลไกการช่วยเหลือเบื้องต้นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 41  โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด แต่ก็ครอบคลุมเฉพาะผู้เสียหายที่ใช้สิทธิหลักประกันแห่งชาติ (บัตรทอง) เท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมผู้เสียหายในระบบสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น(ไม่เกินสองแสนบาท) ที่มีความจำกัดในเรื่องวงเงินงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถเยียวยาให้ผู้เสียหายสามารถมีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ดังนั้นเครือข่ายผู้บริโภค จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาและผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... โดยเร็ว และให้มีสาระสำคัญเป็นไปตามกรอบของร่างที่เสนอโดยเครือข่ายผู้บริโภคและประชาชน อาทิ • สำนักงานเลขานุการตามกฎหมายฉบับนี้ ต้องแยกออกจากกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อให้มีความเป็นกลาง เข้าถึงได้ง่าย และไม่เป็นการขัดแย้งในเชิงบทบาทหน้าที่ แต่หากจำเป็นต้องยึดแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง “ไม่ให้มีการจัดตั้งสำนักงานที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นใหม่” ก็ควรกำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสำนักงานไปพลางก่อน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว และมีฐานะเป็นผู้ซื้อบริการ มิใช่ผู้ให้บริการอย่างกระทรวงสาธารณสุข • องค์ประกอบของคณะกรรมการ ให้มีองค์ประกอบจากผู้แทนสถานพยาบาล และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานคุ้มครองสิทธิด้านบริการสุขภาพ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้แทนจากสมาคมวิชาชีพหรือสภาวิชาชีพ เพราะบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมการ คือ การพิจารณาว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการรับบริการสาธารณสุขจริงหรือไม่ โดยไม่ได้พิจารณาว่ามีผู้ใดต้องรับผิดหรือไม่ และไม่เกี่ยวพันกับการสอบสวนหรือลงโทษโดยสภาวิชาชีพ เพื่อให้การชดเชยเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรมและต้องใช้หัวใจของความเป็นมนุษย์ 2. ขอให้เร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคสามารถทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ สุดท้าย เครือข่ายผู้บริโภค ใคร่ขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการทำหน้าที่ของแพทยสภา และติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของกรรมการแพทยสภาบางคน รวมทั้งแพทย์บางกลุ่ม ว่าได้ทำหน้าที่เหมาะสมกับความเป็นวิชาชีพแพทย์เพื่อประชาชนหรือไม่ หรือทำเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางอำนาจและธุรกิจ  

อ่านเพิ่มเติม >