ฉบับที่ 227 ใช้สิทธิผู้ป่วย … ใช้สิทธิในการมีสติ

        เพื่อนนอกวงการสุขภาพคนหนึ่งของผม พิมพ์ข้อความปรึกษาผ่านมาทางไลน์ เกี่ยวกับอาการท้องเสียของเขา เล่าว่าถ่ายบ่อยๆ ติดกันมาสองวันแล้วจะทำอย่างไรดี เท่าที่ผมดูอาการก็ไม่น่ากังวลอะไร เพราะไม่ได้ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ไม่เพลีย ไม่มีไข้หรืออาเจียนจากอาหารเป็นพิษ สอบถามข้อมูลก็ไม่ค่อยทราบอะไรมากนัก จึงแนะนำในแง่การปฏิบัติตัว ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายรสไม่จัดไปก่อน หากอาการไม่ดีขึ้นอาจไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ         เพื่อนคนนี้หายไปห้าหกวันก็ไลน์กลับมาปรึกษาอีก เล่าว่าหลังจากสองวันอาการถ่ายก็หาย แต่ด้วยความไม่สบายใจจึงไปตรวจที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง สถานพยาบาลแห่งนั้นตรวจแล้ว ก็ขอตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่าในอุจจาระมีเชื้ออะไรที่อาจทำให้เกิดโรค หลังจากยอมให้ตรวจโดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เมื่อกลับไปอีกครั้งทางสถานพยาบาลก็บอกอีกว่า น่าจะตรวจลำไส้หาสาเหตุต่างๆ เพิ่มอีก รวมทั้งให้ตรวจมะเร็งลำไส้ด้วย         ตนเองเริ่มรู้สึกแปลกๆ เพราะปกติตนเองก็ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอมาโดยตลอด และไม่เคยพบว่าผิดปรกติอย่างไร เพียงแค่ครั้งนี้ถ่ายบ่อยๆ ติดต่อกันสองวันนั้นเอง และอาการก็หายไปแล้วด้วยซ้ำ แต่เมื่อถูกทักและชักชวนให้ตรวจอะไรต่างๆ มากขึ้นก็เริ่มกังวล และหากตรวจเพิ่มตนก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย         ผมแนะนำให้กลับสอบถามทางสถานพยาบาลให้ชัดว่า ทำไมถึงต้องชักชวนให้ตรวจอะไรหลายๆ อย่าง มีเหตุผลจำเป็นอย่างไร เพื่อนก็บอกว่าไม่กล้าถาม        เพื่อนของผมก็คงคล้ายๆ กับผู้ป่วยอีกหลายคน เมื่อไปรักษาทางการแพทย์แล้วมักเกิดความสงสัยต่างๆ แต่กลับไม่กล้าสอบถามอะไรกับบุคลากรทางการแพทย์ และกลับมาวิตกกังวลเสียเอง ผู้ป่วยหลายท่านอาจไม่ทราบว่า แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ฯลฯ ได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิของผู้ป่วย เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพกับผู้ป่วย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอันดีและเป็นที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน          โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเกี่ยวกับการได้รับข้อมูลต่างๆ เช่น ผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอม หรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือที่รีบด่วนหรือจำเป็น  นอกจากนี้ยังมีสิทธิที่จะได้รับทราบ ชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน ตลอดจนสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพท่านอื่น ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการ และสถานบริการได้ ฯลฯ         การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีโรคหลายชนิดที่เป็นภัยเงียบ การตรวจตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม หากพบจะทำให้รักษาได้ง่าย และมีโอกาสหายขาดได้ แต่การตรวจสุขภาพต้องตรวจให้เหมาะสมกับตัวเรา หากตรวจเกินจำเป็นก็ทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ การตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี แต่ควรตรวจตามระยะ ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง          และอย่าลืมว่า เราสามารถตรวจสุขภาพด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ โดยการตรวจสังเกตพฤติกรรม น้ำหนัก การวัดเส้นรอบเอวว่าอยู่ในภาวะลงพุงหรือไม่ หากพบว่ามีคมเสี่ยงต่างๆ เราก็จะได้รีบหันมาดูแลสุขภาพของตนเองได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >