ฉบับที่ 274 ถูกหลอกจากสินค้าส่งปลายทางไม่ตรงปก

        ปัจจุบันประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการเปิดเพจส่งพัสดุหลอกเก็บเงินปลายทางทุกวัน ทั้งที่ตำรวจตามจับไม่เว้นวัน และสื่อต่างๆ ก็ได้เผยแพร่ข่าวผู้เสียหายมาตลอด แต่ด้วยมิจฉาชีพก็ปรับเปลี่ยนใช้วิธีการใหม่ๆ ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ เช่น กรณีของคุณสุวิมล         ภายในเดือนพฤศจิกายนเดือนเดียว คุณสุวิมลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่เปิดเพจหลอกขายสินค้าไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก คุณสุวิมลสั่งซื้อผ้าห่มนวม ราคาผืนละ 400 บาท แต่เมื่อสินค้ามาส่งจริงกลับเป็นผ้าขนหนูผืนเล็กๆ 1 ผืน และครั้งล่าสุดเมื่อศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน คุณสุวิมลต้องการหารองเท้ามาใส่ทำงานแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน จึงหาร้านที่สามารถจัดส่งได้ภายใน 1 วันและราคาไม่เกิน 200 บาท เมื่อค้นหาในเฟสบุ๊ค จู่ๆ ก็มีเพจร้านขายรองเท้ามาให้คุณสุวิมลเห็นเองอยู่บ่อยครั้ง เธออดไม่ได้เลยกดเข้าไปดูและเห็นรองเท้าแบบที่เธอกำลังหาอยู่มากมาย เมื่อดูรายละเอียดแล้วก็เห็นว่า เพจรายงานว่ามีสินค้าที่ขายแล้วจำนวนมากและอัพเดตสินค้าใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง คุณสุวิมล ทักไปสอบถามระยะเวลาการจัดส่ง แอดมินเพจก็ได้ถาม “คุณสุวิมลอยู่จังหวัดอะไร”  เมื่อตอบว่า อยู่จังหวัดอยุธยา แอดมินเพจจึงบอกว่า “สามารถจัดส่งให้สินค้าไปถึงได้ภายใน 1 วัน ”  เมื่อประกอบกับสินค้าราคารวมจัดส่งแล้วไม่เกิน 200 บาท คุณสุวิมลคิดว่าราคาสินค้าไม่สูง มิจฉาชีพน่าจะหลอกเอาเงินจำนวนมากกว่านี้จึงหลงเชื่อและสั่งรองเท้าไป 1 คู่          รองเท้าที่คุณสุวิมลสั่งเป็นรองเท้าผ้าใบสีขาว ลายสีฟ้าเบอร์ 38 แต่เมื่อพนักงานส่งของมาส่งวันเสาร์ที่ 25 พ.ย. คุณสุวิมลแกะกล่องออกมา  กลับเป็นรองเท้าหนัง สภาพเก่ามากเบอร์ 44 คุณสุวิมลจึงบันทึกวิดีโอตอนเปิดกล่องส่งให้ทางเพจดูว่าได้รับสินค้าไม่ตรง  แอดมินเพจเข้ามาอ่านแต่ไม่ตอบกลับข้อความใดๆ จึงสุวิมลจึงรู้แน่ว่า เธอถูกหลอกอีกแล้ว       แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อผู้บริโภค รู้ว่าซื้อสินค้าและถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐาน ข้อมูล ให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ ภัยทางการเงิน จากมิจฉาชีพ ของธนาคารต่าง ๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที และแจ้งธนาคาร        โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เพื่อตามตัว  ถ้าได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ก็นำหลักฐานส่งต่อให้กับทางตำรวจเพื่อประสานงานออกหมายเรียก ตามตัว หรือหมายศาลไปยังมิจฉาชีพ เพื่อดำเนินคดีความในลำดับต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >