ฉบับที่ 251 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2565

แนวโน้มอาชญากรรมไซเบอร์ ปี 65        ข้อมูลสถิติจากการแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี พ.ศ. 2561-2564 พบว่า  อาญชกรรมทางเทคโนโลยีที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งในปี 2564 มีผู้แจ้งความร้องทุกข์จำนวน 698 ราย  ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ ผู้ได้รับความเสียหายจากการแฮกข้อมูล  จำนวน 585 ราย และมีค่าเสียหายรวม 67 ล้านบาท ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ การหลอกขายสินค้าและบริการ จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท          พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง.ผบก.ปอท. กล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี 2565 ว่า ปี 2565  ยังคงไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่คนร้ายอาจจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีอยู่มาใช้มากขึ้น เช่น การให้ร้ายหรือระรานทางไซเบอร์  การหลอกลวงผ่านอีเมล  การแฮกเพื่อเอาข้อมูลผ่านการลวงให้กด  มัลแวร์เรียกค่าไถ่  การหลอกลวงขายสินค้า การหลอกรักออนไลน์  การหลอกรักลวงลงทุน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้ลงทุนในลักษณะแชร์ออนไลน์ แอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมาย การปล่อยข่าวปลอมในโลกออนไลน์เพื่อหวังผล ขอให้ประชาชนพึงระมัดระวัง สินค้าไม่ตรงปก ฟ้องได้!         ตามที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 เรื่องการจัดตั้ง แผนกคดีซื้อของออนไลน์ในศาลแพ่ง นายสรวิศ ลิมปรังษี  โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า  ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่จะเริ่มทำการเมื่อใดต้องรอประกาศของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งอีกครั้ง ถ้าได้รับความเสียหายตอนนี้ก็ให้รวบรวมหลักฐานไว้ให้ครบถ้วนก่อนแล้วรอฟ้องตอนแผนกคดีซื้อขายออนไลน์เปิดทำการในเร็ว ๆ นี้ สำหรับคดีซื้อขายออนไลน์ที่ยังค้างพิจารณาอยู่ในแผนกคดีผู้บริโภคของศาลแพ่ง จะให้แผนกคดีผู้บริโภคซึ่งพิจารณาคดีนั้นดำเนินการต่อไปจนเสร็จ         แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ จะทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับความสะดวก มีช่องทางกฎหมายที่สามารถยื่นฟ้องคดีได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นผ่านทางอีเล็คทรอนิคส์ไฟล์ลิ่งในหน้าเว็บไซต์ของศาลแพ่ง (ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ) โดยผู้ฟ้องคดีแค่คลิกเข้าไปสมัครยืนยืนตัวตน กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ฟ้องใคร เรื่องอะไร พร้อมแนบเอกสารหลักฐานการติดต่อซื้อขาย ชื่อเว็ปไซต์ ชื่อร้านค้าที่ซื้อสลิปโอนเงิน เท่าที่จะหาได้ เมื่อยื่นคำฟ้องทาง E-ไฟล์ลิ่งแล้ว จะมีเจ้าพนักงานคดีช่วยตรวจสอบให้ว่าใส่ข้อมูลคดีครบถ้วนแล้วหรือไม่ ถ้าครบถ้วนศาลก็จะรับคดีไว้พิจารณาต่อไป         เปิดรับปีใหม่พบร้านขายยาผิดกฎหมายมากกว่าร้อยราย         ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เข้าตรวจสอบร้านขายยาหลายแห่งเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายยาให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีพื้นที่เป้าหมายตรวจค้นเป็นร้านขายยาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14-21 มกราคม พบว่า มีร้านขายยากระทำผิดจำนวนมาก จับกุมร้านยาที่ผิดกฎหมาย 127 ราย และตรวจยึดของกลางได้กว่า 359 รายการ มีทั้งยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท, ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตารับยา, ยาปลอม, ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษเป็นจำนวนมาก ซึ่ง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ร้านขายเหล่านี้ได้ขายยานอนหลับ ขายยาชุด ขายยาแก้แพ้แก้ไอ ขายยาเขียวเหลือง และขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ โดยไม่ใช่เภสัชกร ในพื้นที่หลายจังหวัดและขาดความรู้ความเข้าใจในสรรพคุณ โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537  ลงทุนคริปโทฯ ต้องเสียภาษี และรัฐห้ามใช้ซื้อขายสินค้า        กรมสรรพกร ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวถึงการเรียกเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีจากการลงทุนว่า ยังยึดลักษณะเดียวกับการเก็บภาษีขายหุ้น หากขายนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรต้องเสียภาษีและพิจารณาเป็นรายธุรกรรมเช่นกัน แต่ก็ยังมีกฎหมายยกเว้นให้คือ “การเสียภาษีคริปโทฯ ก็เหมือนกับขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ถ้าขายแล้วมีกำไรก็ต้องเสียภาษี ถ้าขาดทุนก็ไม่ต้องเสีย”           ด้าน ก.ล.ต. ร่วมกับแบงก์ชาติ ประชุมและแถลงข่าวว่า ไม่ให้นำคริปโทฯ มาชำระค่าสินค้า โดยมีหลักเกณฑ์ที่ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่ดำเนินการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำ สินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1. ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้ 2. ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้าในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 3. ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 4. ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น 5. ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอน สินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่น หรือบุคคลใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ และ 6. ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน         มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นจากธนาคารแห่งประเทศไทยกังวลว่า หากมีคนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน จะกระทบต่อเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่น “เงินบาท” และจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำอยู่บนเงินบาทมพบ.คัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย         จากกรณีบอร์ดสมาคมวินาศภัยไทย ยื่นอุทธรณ์บอร์ดคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน “ห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19” ชี้คำสั่งดังกล่าวขัดต่อหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยนั้น        เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขอคัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ซื้อ 1.สัญญาประกันเป็นสัญญาสำเร็จรูป  การระบุข้อความที่บริษัทประกันสามารถใช้สิทธิในการยกเลิกสัญญากรมธรรม์เป็นการดำเนินการของบริษัทประกันฝ่ายเดียว หากเริ่มขาดทุนจะใช้สิทธิที่ระบุไว้ในสัญญาฝ่ายเดียวบอกเลิกสัญญา  จึงเป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภค 2.การออกคำสั่งของ คปภ.  ได้แก่  1. คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 2. คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เม.ย. 64 เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถือเป็นการออกคำสั่งตามอำนาจหน้าที่โดยชอบธรรม  3.การยกเลิกสัญญากรมธรรม์ ผู้บริโภคควรเป็นผู้ตัดสินใจยินยอมยกเลิกสัญญา หากข้อเสนอของบริษัทประกันเป็นธรรมเช่น บริษัทเสนอคืนเบี้ยประกัน 5- 10 เท่าของเบี้ยประกันที่ผู้บริโภคจ่ายไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2564

สคบ.ชี้ “กล่องสุ่ม” ผิดกฎหมาย        จากกรณีกระแสนิยมซื้อขายสินค้ากล่องสุ่มในโลกออนไลน์ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา          รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า ทางคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา สคบ. ได้เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวง มาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทางออนไลน์ และมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมารีวิว โฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้ จะมีกำหนดทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค         สคบ.มองว่าการโฆษณาหรือจำหน่ายกล่องสุ่มมี 2 ประเด็นหลักที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิ คือ 1) อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน หากไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง 2)  เกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งการระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้าเครื่องสำอางหรือของใช้ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดอื่นๆ ของสินค้า เช่น ฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ว่าต้องได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ แบงก์ชาติแจงไม่สนับสนุนชำระสินค้าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล         จากกรณีที่มีธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ประกาศรับชำระสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ “ไม่สนับสนุนการรับชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าว” นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า  การดำเนินการดังกล่าวไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ทางแบงก์ชาติไม่สนับสนุน เพราะได้ประเมินแนวโน้มการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลว่ามีผู้ต้องการใช้บริการขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือทางการเงินดูแลเศรษฐกิจ และกระทบต่อเสถียรภาพการเงินในอนาคต ทั้งนี้ ทางแบงก์ชาติยังอยู่ในระหว่างดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่างแผนทางการเงินใหม่ให้มีแนวทางออกแบบนโยบาย มาตรการกำกับดูแลให้ครอบคลุมประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สามารถชำระสินค้าและบริการได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความสมดุลระหว่างการสนับสนุนเทคโนโลยีทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน สาธารณสุขเผยคนไทยสูบบุหรี่ลดลงต่อเนื่อง                 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 57 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 17.4  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องหากเปรียบเทียบจากปี 2560 ที่มีร้อยละถึง 19.1 โดยที่ผ่านมา 4 ปี ทางคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ได้กำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกมิติ ทั้งนี้ จากการประชุมยังมีความห่วงกังวลกับสถานการณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้กับกลุ่มเยาวชน และรวมถึงกลุ่มต้องการเลิกสูบบุหรี่และหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ยกฟ้อง “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผอ.มูลนิธิไบโอไทยกรณีเคลื่อนไหวแบน 3 เคมีอันตราย         15 ธันวาคม 2564 ศาลนัดฟังคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในคดีระหว่าง นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยากรวัชพืชแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโจทย์ ในฐานความผิดหมิ่นประมาท นำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากที่เพจ BIOTHAI ได้เผยแพร่ข้อความโต้แย้งกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษ ซึ่งมีประเด็นของสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอต สารคลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต และการกล่าวถึงกลุ่มที่ค้านการแบนสารพิษว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทสารเคมี         ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายรัษฎา มนูรัษฏา ทนายความนายวิฑูรย์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ศาลพิจารณายกฟ้องในชั้นไต่สวน โดยศาลให้เหตุผลว่า เรื่องที่นายวิฑูรย์ให้สัมภาษณ์หรือโพสต์ข้อความเป็นเพียงประเด็นเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ส่วนประเด็น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ศาลมองว่าไม่ได้เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ จึงพิพากษายกฟ้อง มพบ. เสนอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนการขึ้นค่าทางด่วน        จากกรณีประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564  ปรับค่าผ่านทางจากอัตรา 50/80/115 บาท เป็น 65/105/150 บาท สำหรับรถประเภท 4 ล้อ , 6-10 ล้อ , รถมากกว่า 10 ล้อ นั้น        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สะท้อนความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคว่า “กระทรวงคมนาคมควรต้องออกมาชี้แจงว่าทำไมต้องขายคูปองเพื่อให้ได้ราคา 50 บาทเท่าเดิม ในเมื่อยังมีผู้บริโภคที่ไม่สะดวกซื้อคูปอง แต่ต้องจ่ายราคา 65 บาท ซึ่งในอัตราที่ปรับขึ้นนี้สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค”           นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องความไม่สะดวกในการจ่ายด้วยคูปองและซื้อคูปองตามจุดที่เปิดขาย เพราะบางคนสะดวกเติมเงินผ่านระบบ easy pass มากกว่า ทว่าหากต้องการราคาเดิมต้องซื้อคูปองแทนการใช้ easy pass การซื้อคูปองตรงจุดที่เปิดขายจึงเป็นการสร้างภาระเพิ่ม อีกทั้งการซื้อคูปองจะต้องซื้อเป็นเล่ม (เล่มละ 20 ใบ) ในราคา 1,000 บาท เหมือนเป็นการบังคับซื้อ บังคับให้ต้องจ่ายค่าทางด่วนล่วงหน้า ทั้งที่ผู้บริโภคไม่ได้จำเป็นต้องใช้ทางด่วนนั้นเป็นประจำ บางทีในระยะเวลา 1 ปี อาจจะใช้ไม่หมดก็ได้ นอกจากนี้การเก็บเงินประชาชนล่วงหน้า 1,000 บาท ไม่ว่าจะใช้ทางด่วนหรือไม่ น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาทบทวนเรื่อง การซื้อคูปองลดราคาค่าผ่านทางพิเศษ และเสนอให้กระทรวงคมนาคมไม่ปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่าย

อ่านเพิ่มเติม >