ฉบับที่ 110 วิธีใช้ครีมเปลี่ยนสีผม

ครีมเปลี่ยนสีผม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เปลี่ยนสีเส้นผม ซึ่งในอดีตมักจะใช้เพื่อกลบผมขาว แต่ปัจจุบันวัยรุ่นหรือหนุ่มสาวใช้ครีมเปลี่ยนสีผมตามแฟชั่น หรือเพื่อต้องการเปลี่ยนบุคลิกภาพของตนเอง ครีมเปลี่ยนสีผมมีมาแต่โบราณ คนในยุคโรมันได้คิดค้นสูตรเคมีของการเปลี่ยนสีเส้นผม แต่ในอดีตทำได้เพียงแค่ทำให้เส้นผมดำขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนสีเส้นผมเป็นเฉดสีต่างๆ ได้เช่นในยุคปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ เปลี่ยนสีผมถาวร (Permanent color) เปลี่ยนสีผมกึ่งถาวร (Semi-permanent hair color) และเปลี่ยนสีผมชั่วคราว (Temporary hair color)  ครีมเปลี่ยนสีผมชนิดชั่วคราวมีทั้งชนิด แชมพู เจล สเปรย์ และโฟม ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มักจะใช้เคลือบเส้นผม ช่วยให้สีเส้นผมแลดูสดใสเป็นเงางามมากกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทเปลี่ยนสีประเภทถาวรและกึ่งถาวร ครีมเปลี่ยนสีผมชนิดชั่วคราวนี้มักจะใช้เปลี่ยนสีผมสำหรับโอกาสพิเศษเป็นครั้งคราว และมักจะใช้สีแปลกที่ต้องการความโดดเด่นมากๆ เช่น สีเขียวสด สีแสด สีแดง สีม่วง ในงานปาร์ตี้ เช่น งานฮาโลวีน องค์ประกอบของครีมเปลี่ยนสีผมชนิดชั่วคราวจะประกอบด้วยเม็ดสีที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ ทำให้เม็ดสีไม่สามารถแทรกซึมเข้าสู่เส้นผมได้ และเม็ดสีจะเพียงเกาะอยู่ภายนอกเส้นผมเท่านั้น ทำให้หลุดลอกออกได้ง่ายเมื่อสระผมเพียงครั้งเดียว อย่างไรก็ตามในกรณีที่เส้นผมที่แตกหรือเส้นผมที่เสียหายจากการอบ ดัด หรือเส้นผมที่ด้อยคุณภาพ เม็ดสีจากครีมเปลี่ยนสีผมชนิดชั่วคราวนี้ก็อาจสามารถแทรกซึมเข้าเส้นผมได้บ้าง ทำให้ติดทนนานขึ้นกว่าเส้นผมที่มีคุณภาพสมบรูณ์ได้ ครีมเปลี่ยนสีผมชนิดกึ่งถาวรประกอบไปด้วยเม็ดสีที่มีโมเลกุลเล็กกว่าชนิดเปลี่ยนสีชั่วคราว ดังนั้นเม็ดสีที่เล็กจึงสามารถแทรกซึมสู่เส้นผมได้บ้าง และสามารถทนต่อการสระผมได้นาน 4 ถึง 5 ครั้ง องค์ประกอบของครีมชนิดกึ่งถาวรจะมีน้ำยาแอมโมเนียและน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์น้อยมากหรืออาจไม่มีเลย จึงมักจะไม่ทำลายคุณภาพเส้นผม สีของเส้นผมที่ได้จะขึ้นอยู่กับคุณภาพเส้นผมและสีธรรมชาติของเส้นผมเดิม ถ้าเส้นผมเสียหาย มีรูพรุนมาก เม็ดสีจะแทรกซึมได้มาก สีจะเข้ม ถ้าเส้นผมดี รูพรุนน้อย เม็ดสีจะแทรกซึมได้น้อย สีเส้นผมที่ได้จะอ่อน และหากสีเส้นผมธรรมชาติมีสีดำเข้ม สีมักจะเปลี่ยนให้อ่อนลงยาก ดังนั้นสีเส้นผมทั่วหนังศีรษะอาจไม่สม่ำเสมอเมื่อใช้ครีมเปลี่ยนสีผมชนิดกึ่งถาวร ในกรณีของการใช้ครีมชนิดกึ่งถาวรในการกลบผมขาวก็เช่นกัน ผมขาวอาจจะถูกกลบได้แต่เฉดความเข้มของสีที่กลบได้อาจไม่สม่ำเสมอกับเส้นผมส่วนใหญ่ การแก้ปัญหาอาจทำได้โดยการใช้ร่วมกับครีมเปลี่ยนสีผมชนิดถาวรเฉพาะบริเวณผมขาว และใช้ครีมชนิดกึ่งถาวรกับเส้นผมส่วนใหญ่ เป็นการช่วยทะนุถนอมเส้นผมไม่ให้เสียหายจากองค์ประกอบเคมีของครีมเปลี่ยนสีผมชนิดถาวรได้ การทำไฮไลท์เส้นผม ไม่สามารถใช้ครีมชนิดกึ่งถาวรได้ ต้องใช้ครีมชนิดถาวรเท่านั้นเพื่อกัดหรือฟอกเม็ดสีธรรมชาติออกไป ทำให้เส้นผมมีสีจางลง  ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมชนิดถาวร ครีมเปลี่ยนสีผมชนิดนี้จะได้รับความนิยมมากที่สุด โดยน้ำยาเคมีจะไปทำปฏิกิริยากับเส้นผม ทำให้เส้นผมพองตัว และกัดหรือฟอกเม็ดสีเดิมของเส้นผมให้จางลง เพื่อให้เม็ดสีใหม่ที่ต้องการเข้าแทนที่ได้ จึงเป็นขบวนการเปลี่ยนสีเส้นผมชนิดถาวร สีนี้จะอยู่ถาวรจะไม่ถูกชะล้างออกไปขณะสระผมแม้ว่าอาจจะซีดลงเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้เส้นผมที่งอกยาวขึ้นจากหนังศีรษะซึ่งเป็นสีเดิมตามธรรมชาติจะสร้างความแตกต่างจากสีใหม่ที่ย้อมถาวร ดังนั้นทุก 6 สัปดาห์อาจจำเป็นต้องใช้ครีมเปลี่ยนสีถาวรอีกรอบเพื่อความสวยงามและสม่ำเสมอของสีผม ผลิตภัณฑ์ชนิดถาวรนี้ยังแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทออกซิเดชั่นและประเภทโปรเกรสซีพ (Progressive) ประเภทออกซิเดชั่น ขบวนการเปลี่ยนสีผมจะประกอบด้วยน้ำยาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนสีเส้นผมจากปฏิกิริยาทางเคมี โดยมีน้ำยาแอมโมเนียและน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ประมาณ 6%ในน้ำหรือครีม ประเภทโปรเกรสซีพ ประกอบด้วยเกลือของโลหะหนัก คือ ตะกั่ว (Lead acetate) เป็นสารสำคัญ สารชนิดนี้ได้รับการยอมรับโดย อย.ให้ใช้แต่งสีผมในปริมาณห้ามเกิน 0.6% โดยคิดคำนวณจากน้ำหนักของตะกั่ว การใช้ครีมเปลี่ยนสีผมอย่างปลอดภัย1. ควรปฏิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลาก โดยให้ความสนใจกับข้อควรระวังและคำเตือนบนฉลาก 2. ก่อนการใช้จริง ควรทดลองทาครีมเปลี่ยนสีผมบนผิวหนังบริเวณหลังใบหู ทาทิ้งไว้สัก 10-15 นาที หากไม่มีอาการผื่นแดงใดๆ แสดงว่าสามารถใช้กับหนังศีรษะได้ หากเกิดอาการข้างเคียง ไม่ควรใช้ต่อ 3. ห้ามใช้ครีมเปลี่ยนสีผมกับขนคิ้วหรือขนตาเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ตาบอดได้ 4. ควรเก็บครีมเปลี่ยนสีผมให้พ้นจากมือเด็ก 5. ไม่ควรหมักครีมเปลี่ยนสีผมทิ้งไว้นากเกินกว่าที่กำหนดไว้บนฉลาก 6. ควรล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ภายหลังจากการหมักสีผม 7. ควรใส่ถุงมือทุกครั้งที่ป้ายครีมเปลี่ยนสีผมลงบนเส้นผม 8. ไม่ควรผสมครีมเปลี่ยนสีผมต่างผลิตภัณฑ์เข้าด้วยกัน เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่รุนแรงได้

อ่านเพิ่มเติม >