ฉบับที่ 173 สุดแค้นแสนรัก : มนุษย์เราล้วนมีบาดแผลด้วยกันทุกคน

“ความรัก” กับ “ความแค้น” อาจไม่ใช่สองเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกันเสียทีเดียว แต่น่าจะเป็นประดุจเหรียญหนึ่งเหรียญที่มีทั้งสองด้านพันผูกเอาไว้ด้วยกันมากกว่า    ปรมาจารย์ต้นตำรับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ผู้เลื่องชื่ออย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราต่างก็มีปมแบบ “love-and-hate complex” หรือปมในจิตใจแบบที่ความรักกับความแค้นมักเกิดควบคู่กัน คล้ายๆ กับที่คนไทยมีความเปรียบเปรยว่า “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” หรือ “รักมากก็แค้นมาก” ซึ่งสะท้อนปมคู่ที่ไขว้กันของรักและแค้นนั่นเอง    ทัศนะเรื่องปมเหรียญสองด้านของความรักกับความแค้นแบบนี้ ก็คือภาพจำลองที่ฉายออกมาผ่านตัวละครมากมายในหมู่บ้าน “หนองนมวัว” ซึ่งเธอและเขาต่างก็มีมุมสองด้าน ที่เป็นมุม “สุดแค้น” ในเวลาหนึ่ง แต่ก็มีมุมแบบ “แสนรัก” ในเวลาเดียวกัน    หากขยายความตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ในช่วงพัฒนาการบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคลในสังคมทุกวันนี้นั้น มนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนแต่ถูกสังคมมอบ “บาดแผล” บางอย่างขึ้นมาเป็นปมภายในจิตใจของตนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ต่างจากตัวละครอย่าง “แย้ม” ที่เปิดฉากมากับความโกรธเกลียดและแค้นครอบครัวของ “อัมพร” ผู้เป็นลูกสะใภ้ ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นบุตรสาวของ “ขัน” ผู้ที่พลั้งมือฆ่า “เทือง” สามีของแย้มจนเสียชีวิต    ความแค้นที่อยู่ในใจของแย้ม ชนิดเผาพริกเผาเกลือสาปส่งกันระหว่างสองตระกูล ได้กลายมาเป็น “บาดแผล” ที่มิอาจใช้ยาทิงเจอร์ไอโอดีนเยียวยาได้ ซ้ำยังกลับปะทุเป็นเชื้อฟืนเผาไหม้ไปสู่ตัวละครอื่นๆ ในท้องเรื่องเสียอีก     เริ่มจากตัวละครในครอบครัวของแย้มเอง ลูกชายคนโตอย่าง “ประยงค์” ก็ถูกโทสะจริตของมารดาผลักให้เขาต้องยืนอยู่บนทางสองแพร่งแบบ “ทางหนึ่งก็แม่ ทางหนึ่งก็เมีย” หรือลูกชายคนรองอย่าง “ประยูร” ที่แม้จะรู้สึกผิด แต่ก็ต้องเลือกเข้าข้างมารดา และยอมแต่งงานกับ “สุดา” ซึ่งลึกๆ ก็หวังฮุบสมบัติของแย้มเอาไว้เป็นของตน ในขณะที่ลูกสาวคนเล็กอย่าง “พะยอม” ก็ต้อง “ยอมฉันยอมเจ็บปวด” ด้วยการแต่งงานโดยปราศจากความรักกับ “ลือพงษ์” เพียงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแผนการแก้แค้นกับครอบครัวของศัตรู    ทางฝ่ายตัวละครในอีกครอบครัวหนึ่งนั้น ก็ถูกผูกโยงเข้าสู่วัฏจักรแห่งบาดแผล อันเกิดมาแต่ความแค้นของแย้มไม่แตกต่างกัน นับตั้งแต่กรณีของอัมพรที่แย้มกลั่นแกล้งพรากเอา “ยงยุทธ” ลูกชายคนโตมาจากอ้อมอก จนเธอต้องจำใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับ “อ่ำ” ผู้เป็นมารดา ในขณะที่น้องสาวของอัมพรหรือ “อุไร” ซึ่งเป็นคนรักของลือพงษ์ นอกจากจะไม่อาจสมหวังในรักแล้ว เธอยังต้องแบกหน้าอุ้มท้องเลี้ยงดูลูกในครรภ์แต่เพียงลำพัง    สิ่งที่เรียกว่า “ความแค้นของคนรุ่นหนึ่ง” ดูเหมือนจะไม่ได้จบลงแค่ในคนรุ่นนั้น หากแต่บาดแผลมีการสืบทอดเป็นวังวนผ่านคนแต่ละรุ่น และมนุษย์ที่อยู่ในวังวนดังกล่าวก็มีสถานะเป็นเพียงแค่ “ร่างทรง” ที่สืบต่อและรองรับปมบาดแผลต่างๆ ของคนรุ่นก่อนเอาไว้เท่านั้น เหมือนกันกับความเจ็บปวดจากคนรุ่นแย้มและอ่ำที่ได้สืบทอดมาสู่รุ่นลูก และมีแนวโน้มจะส่งต่ออีกคำรบหนึ่งมายังรุ่นหลานๆ ในเจนเนอเรชั่นถัดมา    และภายใต้บาดแผลความเจ็บปวดในจิตใจของเรา ฟรอยด์เองก็ได้กล่าวว่า เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดและดำรงตัวตนต่อไปได้นั้น จิตของเราจะสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาเพื่อเยียวยาบาดแผลให้บรรเทาทุเลาลง หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “กลการป้องกันตนเองทางจิต” หรือ “defensive mechanism” ที่คนแต่ละคนจะเลือกใช้วิถีการรักษาบาดแผลของตนแตกต่างกันไป    ในขณะที่แย้มเลือกใช้วิธีการ “ไขว่คว้า” ความสุขของหลานชายมาเป็นเครื่องมือการแก้แค้นของตน และ “ถ่ายโอน” ความเจ็บปวดของตนไปยังตัวละครอื่นๆ สำหรับตัวละครอย่างอ่ำกลับเลือกใช้กลยุทธ์การ “ข่มใจ” หรือปิดกั้นบาดแผลเอาไว้ด้วยธรรมะและพระศาสนา     ส่วนในรุ่นลูกๆ ของแย้มและอ่ำนั้น ในขณะที่ทั้งประยูรและพะยอมเลือกใช้กลไก “สองจิตสองใจ” ไม่ทำเพื่อแม่ก็ไม่ได้ แต่ถึงทำก็รู้สึกผิดอยู่ลึกๆ แต่ประยงค์พี่ชายคนโตกลับใช้วิธี “ถอนตัว” จากความเจ็บปวดและตรอมใจตายตั้งแต่ต้นเรื่องไปเสียเลย     ทางฝ่ายของอัมพรที่ถูกพรากลูกชายไปตั้งแต่ยังเล็ก ก็เลือกใช้กลไกการ “ถอยหลัง” กลับไปหาความปลอดภัยจากมารดา และเริ่มต้นชีวิตคู่ครั้งใหม่กับ “ทวี” นายตำรวจแสนดีมีคุณธรรม ส่วนอุไรผู้เป็นน้องสาวก็ใช้กลยุทธ์ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” กับครอบครัวของแย้ม เพียงเพื่อปิดกั้นปกป้องตนเองจากความเจ็บปวดทางใจ ซึ่งตรงข้ามกับลือพงษ์ ที่ใช้วิธีเลือก “ปลีกตัว” ออกไปจากสนามรบความรักความแค้นของทั้งสองตระกูล แต่ก็ไม่อาจสลัดหลุดจากความรู้สึกเจ็บปวดนั้นได้จริง    ไม่ว่าตัวละครต่างๆ จะเลือกหยิบกลไกป้องกันตนเองแบบใดมาบำบัดเยียวยาบาดแผลในจิตใจ แต่คำตอบที่แน่ๆ ก็คือ กลไกมากมายหลายชนิดดังกล่าวก็มิอาจสลายความเจ็บปวดให้มลายหายไปจนหมด หากแต่ทำได้เพียงบรรเทาโลภะโทสะโมหะของมนุษย์ให้ลดลงได้บ้างชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น     ครั้นมาถึงรุ่นของหลานๆ บุญคุณความแค้นที่ตอกย้ำสืบทอดมาจากบรรพชน ก็เริ่มเห็นริ้วรอยความขัดแย้งที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อพี่น้องอย่างยงยุทธและ “ธนา” ต้องเข้ามาสู่เกมแย่งชิงพิชิตหัวใจของผู้หญิงคนเดียวกันอย่าง “คุณหมอหทัยรัตน์” หรือในกรณีของความรักระหว่าง “ระพีพรรณ” กับ “ปวริศ” ก็ต้องเจ็บปวดและมิอาจสมหวังได้ เนื่องมาจากทิฐิความแค้นของบุพการีเพียงอย่างเดียว    ในท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อตัวละครทั้งหลายเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าใจความจริงของชีวิต และรู้จักที่จะอโหสิกรรมให้อภัยกันและกัน ละคร “สุดแค้นแสนรัก” เองก็ได้ให้คำตอบกับเราไปพร้อมๆ กันว่า ถ้า “ความรัก” กับ “ความแค้น” เป็นสองคำที่อยู่บนเหรียญสองด้านในจิตใจแล้ว หากมนุษย์เราไม่หัดรู้จักตัดวงจรของความโกรธที่ “สุดแค้น” ลงให้ได้ บาดแผลในจิตใจของเราก็มิอาจสูญสลายหายไป และอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่เรียกว่า “แสนรัก” ก็คงมิอาจเกิดขึ้นได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >