ฉบับที่ 275 นัดยานัตถุ์แทนสูบบุหรี่ลดมะเร็งปอด

        เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ในเว็บ pantip.com มีกระทู้หนึ่งถามว่า ยานัตถุ์ อันตรายมั้ยคะ โดยมีใจความสำคัญว่า “คุณพ่อดิฉันเลิกบุหรี่ได้ ก็มานัดยานัตถุ์ได้หลายปีแล้วค่ะ ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง เคยเห็นเสมหะคุณพ่อมีสีดำๆ วันก่อนลูกสาวดิฉันเห็นคุณตาจามมีน้ำมูกเป็นสีดำๆ เลยมาบอกดิฉัน ดิฉันเลยกังวล ว่าจะอันตรายไหม แล้วที่สูดผงๆนั่ นเข้าไป มันจะไปอยู่ไหน ถ้าไม่ใช่ในหลอดลมกับปอด ตามความเข้าใจของดิฉัน ขอผู้รู้ช่วยตอบด้วยค่ะ”         จากนั้นก็มีผู้เข้ามาตอบกระทู้ว่า “มันน่าจะเข้าไปที่ปอดได้บ้าง แต่จังหวะที่เป่านั้น เท่ากับหายใจออกครับ ผงยาจะเคลือบฝังจมูกอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำมูกจะถูกขับออกมา เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม พิษนั้นมีน้อยกว่า ควันที่ได้จากใบยาสูบ อันเป็นส่วผสมหลักเดียวกันกับบุหรี่ โดยยานัด XXX มีใบยาสูบ ประมาณ 50 % นอกนั้นเป็นสมุนไพร และที่ช่วยทำให้เย็นอย่างหนึ่งคือพิมเสนครับ ยานัตถุ์สามารถช่วย ระงับการจามจากภูมิแพ้ได้ชะงัก และสามารถลดความตึงเครียดทางอารมณ์ได้อย่างดี เพราะมีส่วนผสมของสารนิโคตินนั้นเอง....” ซึ่งโดยสรุปแล้ว เมื่อมีทั้งคำถามและคำตอบ นั่นแสดงว่า การนัดยานัตถุ์นั้นยังมีปรากฏอยู่ในบ้านเรา         พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “นัตถุ์” แปลว่า จมูก และคำว่า “ยานัตถุ์” จึงมีความหมายโดยรวมว่า ผงยาละเอียดที่ปรุงขึ้นจากใบยาสูบหรือวัตถุสมุนไพรอย่างอื่น ใช้สำหรับนัดหรือเป่า สูด เข้าในจมูกนั่นเอง ปัจจุบันการใช้ยานัตถุ์พบเห็นได้น้อยมาก เนื่องจากมีรูปแบบการใช้ยาแบบอื่นที่สะดวกกว่า         ในประเทศไทยนั้น ยานัตถุ์ (ภาษาอังกฤษคือ snuff) คือ ยาผงที่ใช้สำหรับเป่าเข้าทางจมูกเพื่อบำบัดโรคหรือวัตถุประสงค์อื่น ตัวยาอาจประกอบด้วยส่วนผสมหลายอย่างที่มีผงใบยาสูบเป็นหลัก อาจผสม สเปียร์มินต์ (มีองค์ประกอบเป็น คาร์โวน ลิโมนีน เมนทอล และเมนโทนให้ความหอมเย็น) อบเชย เมนทอล การบูร เป็นต้น เพื่อเพิ่มความรื่นรมย์ ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์ถูกจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน         ยานัตถุ์มี 2 ประเภทคือ ยานัตถุ์แบบชื้น (Moist snuff) ซึ่งผู้ใช้เหน็บยานัตถุ์แบบนี้ที่หลังริมฝีปากบนหรือล่างหรือระหว่างแก้มกับเหงือก (ว่าไปแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับการใช้ยาฉุนของคนไทยโบราณ) ซึ่งผู้บริโภคต้องคายหรือกลืนน้ำยาสูบที่สะสมอยู่ซ้ำๆ หลังจากนั้นเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งมักคายทิ้ง ส่วนยานัตถุ์ประเภทที่ 2 เป็นแบบแห้ง (Dry snuff) ซึ่งใช้โดยการสูดหายใจเข้าทางจมูกที่มีการใช้มานานพอควรในประเทศไทย โดยนำผงยานัตถุ์บรรจุลงไปในท่อเหล็กรูปตัวยู ใส่ปลายท่อด้านหนึ่งเข้ารูจมูกแล้วใช้ปากเป่าปลายท่ออีกด้านหนึ่ง เพื่อให้ตัวยาฟุ้งกระจายเข้าไปในโพรงจมูก ผู้ที่ใช้ยานัตถุ์จะรู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนได้สูบบุหรี่ ปัจจุบันการนัดยาในประเทศไทยนั้นยังพบเห็นได้ในกลุ่มผู้สูงอายุตามชนบทบางจังหวัด         ในประเทศไทยนั้นยานัตถุ์จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านตามประกาศพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องเป็นสูตรที่ไม่มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษใด ๆ ร่างกายดูดซึมนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ เข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุปากหรือจมูก ระดับนิโคตินในเลือดมีความคล้ายคลึงกันระหว่างผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้ยานัตถุ์         เมื่อ 16 มีนาคม 2023 www.fda.gov มีบทความเรื่อง FDA Authorizes Copenhagen Classic Snuff to be Marketed as a Modified Risk Tobacco Product มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังจากการตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่อย่างเข้มงวด รวมถึงคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Tobacco Products Scientific Advisory Committee) ความคิดเห็นสาธารณะ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่มีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสรุปว่า คำกล่าวอ้างเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงมะเร็งปอดในส่วนที่เกี่ยวกับยานัตถุ์นั้น มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิงมาใช้ผลิตภัณฑ์นี้ พวกเขาจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดลดลงได้ อย่างไรก็ดีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯไม่ได้กล่าวว่า ยานัตถุ์นั้นไม่มีอันตรายใด ๆ ดังนั้นใครที่ไม่เคยเสพยานัตถุ์ก็ไม่ควรเริ่มเสพ เพราะถ้าไปดูข้อความบนตลับยานัตถุ์ที่มีขายในสหรัฐอเมริกาบางยี่ห้อนั้นจะพบคำเตือนประมาณว่า  ผลิตภัณฑ์นี้ทำให้เกิดโรคเหงือกและการสูญเสียฟันได้ (This product can cause gum disease and tooth loss)         ในเว็บ www.health.harvard.edu เมื่อ 17 เมษายน 2023 มีบทความเรื่อง Is snuff really safer than smoking? ซึ่งให้ข้อมูลตอนหนึ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติเป็นระยะเวลา 5 ปี ให้ทดลองโครงการใช้ยานัตถุ์เป็นทางลดการสูบบุหรี่ โดยบริษัทผู้ขายยานัตถุ์ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ดีแม้อัตรามะเร็งปอดลดลง แต่ถ้ากระบวนการทางการตลาดแบบใหม่ของยานัตถุ์กลายเป็นการดึงดูดผู้ที่ไม่สูบบุหรี่รวมถึงวัยรุ่นที่ไม่ได้ใช้ยานัตถุ์มาก่อนมาใช้ยานัตถุ์จนกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับคนจำนวนมาก โครงการนี้ต้องถูกยกเลิก         ในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถิติของ US.CDC (Centers for Disease Control and Prevention) นั้น ผู้ใหญ่ 5.7 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันเป็นประจำซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของประชากรผู้ใหญ่ ส่วนนักเรียนมัธยมปลายก็ใช้เช่นกันด้วยร้อยละที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 1.6 % และประเด็นที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลว่า การใช้ยานัตถุ์นั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการสูบบุหรี่คือ แค่ $300 ถึง $1,000 ต่อปี เทียบกับหลายพันดอลลาร์ต่อปีที่บางคนจ่ายในการสูบบุหรี่ และที่น่าสนใจคือ ไม่ทำให้ผู้อื่นสัมผัสควันบุหรี่มือสอง         ในด้านความปลอดภัยของยานัตถุ์นั้น ผู้บริโภคจำต้องรับสภาพว่า มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษใดบ้างเมื่อเริ่มใช้ ในบทความเรื่อง Smokeless tobacco and cigarette smoking: chemical mechanisms and cancer prevention ในวารสาร Nature Reviews Cancer ของปี 2022 ได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันจำนวนมากนำไปสู่การสัมผัสสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง ซึ่งรวมถึงสารกลุ่มไนโตรซามีนเช่น  เอ็น-ไนโตรโซนอร์นิโคติน (N'-nitrosonornicotine) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งช่องปากที่พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สารไนโตรซามีนที่พบเฉพาะในใบยาสูบ (ที่ยังไม่ถูกเผาไหม้หลังบ่ม) เกิดจากปฏิกิริยาของอัลคาลอยด์ในยาสูบกับเกลือไนไตรต์ ซึ่งมี 3 ชนิด ได้แก่ N'-nitrosonornicotine (NNN), 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanone (NNK) และ 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanol (NNAL) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อมะเร็งปอด         จากการตั้งความหวังว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดในการใช้ยานัตถุ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่นั้น แต่โอกาสก่อปัญหาสุขภาพยังมีอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก US.CDC ที่กล่าวว่า ยานัตถุ์เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงข้อมูลงานวิจัยที่กล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งในช่องปาก (เช่น ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม) หลอดอาหาร และตับอ่อน มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ก่ออันตรายต่อสมองของวัยรุ่นที่กำลังพัฒนา ก่อปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันเปลี่ยนสี โรคเหงือก ฟันเสียหาย สูญเสียกระดูกรอบฟัน ฟันหลุด เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและการคลอดก่อนกำหนดในผู้ใช้ที่ตั้งครรภ์ และเนื่องจากนิโคตินเป็นสิ่งเสพติดดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ จึงกลายเป็นนิสัยที่ยากจะเลิกได้อย่างรวดเร็ว         สุดท้ายแล้วสถานะของการนัตถุ์ยาต่อผู้บริโภคทั่วไปนั้นคือ ควรหลีกเลี่ยงถ้าไม่ใช่ผู้เสพติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แม้ว่าแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันระบุว่า การนัตถุ์ยาปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ แต่สิ่งสำคัญคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้ย้ำตลอดเวลาว่า ไม่มีการสนับสนุนการใช้ยานัตถุ์และไม่รับรองให้ยานัตถุ์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการสันทนาการ ที่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนคือ การไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 กรแสต่างแดน

เงินขวัญถุง         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเดลลี สั่งปรับห้างจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป lifestyle เป็นเงิน 3,000 รูปี (ประมาณ 1,300 บาท) และขอให้ห้างคืนเงิน 7 รูปีที่เรียกเก็บเป็นค่าถุงกระดาษ ให้กับลูกค้าด้วย         คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ว่าด้วยความบกพร่องในการให้บริการของห้าง ซึ่งอ้างว่าถุงกระดาษมีต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติก (ที่รัฐบาลประกาศห้ามใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565) จึงขอเรียกเก็บค่าถุงจากลูกค้า         คำถามคือห้างควรผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสินค้าแล้วหรือเปล่า สำคัญกว่านั้นคือลูกค้าได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่         จากหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันว่าห้างไม่ได้แจ้งให้ลูกค้านำถุงมาเอง รวมถึงไม่ได้บอกราคาและประเภทของถุงกระดาษ บริษัทจึงไม่สามารถเก็บค่าถุงที่ใช้ใส่สินค้าที่ซื้อจากทางร้านได้ และต้องจ่ายค่า “ทำขวัญ” ลูกค้าเป็นจำนวนดังกล่าว   ชื่อไฮเอนด์         เทศบาลกรุงโซลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดความยาวและความซับซ้อนของโครงการอพาร์ตเมนท์ หลังผลสำรวจพบว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้         หลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์การตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์เป็นภาษาเกาหลีผสมกับภาษาต่างประเทศ ยำรวมกันทั้งชื่อย่าน ชื่อบริษัทที่ก่อสร้างรวมถึงชื่อแบรนด์เพื่อแสดงถึงความ “ไฮเอนด์” ทั้งที่ชื่อเหล่านี้ไม่ได้การันตีคุณภาพของที่อยู่อาศัย         เทศบาลฯ ได้สำรวจความเห็นประชากรกว่า 1,000 คน และพบว่าร้อยละ 77.3 ไม่ชอบชื่อยืดยาวแบบนี้ บางหมู่บ้านถึงกับร้องขอให้เอาชื่อของตัวเองออกจากชื่ออพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกันด้วย         หลังการพูดคุยมีผู้ประกอบการ 9 ราย (Samsung Hyundai และ Posco ก็อยู่ในกลุ่มนี้) ให้คำมั่นว่าจะตั้งชื่อโครงการให้สั้นและง่ายกว่าเดิม รวมถึงใช้คำภาษาเกาหลีให้มากขึ้น         เทศบาลโซลมีกำหนดจะประกาศ “แนวทางการตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์” ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024  ซ่อมกันก่อน         เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหายเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงให้ “โบนัสช่วยซ่อม” แบบเหมาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2022  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ประกาศใช้เมื่อปี 2020         สิ่งที่จะเพิ่มมาในปี 2024 คือค่าซ่อมหน้าจอโทรศัพท์ 25 ยูโร (ประมาณ 950 บาท) และค่าซ่อมโน๊ตบุ๊ค 50 ยูโร         รวมแล้วจึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 73 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กาต้มน้ำ เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี         เงินช่วยเหลือนี้จะปรากฎเป็นส่วนลดในบิลค่าซ่อมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่ต้องไปใช้บริการกับร้านซ่อมที่เข้าร่วมโครงการ         ฝรั่งเศสตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารับการซ่อมจากปีละ 10 ล้านชิ้น เป็น 12 ล้านชิ้นให้ได้ภายในปี 2027   ไม่ใช่ที่สูบ         อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น โดยอาจระบุ “พื้นที่สูบบุหรี่” ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภาษาต่างๆ เป็นต้น         ญี่ปุ่นห้ามการสูบบุหรี่ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (ยกเว้นในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่) มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกปรับเพราะ “เดินไปสูบไป” ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางเมืองเช่น โกเบ มีถึงร้อยละ 40 ของผู้ฝ่าฝืนที่เป็นนักสูบจากต่างแดน         นอกจากกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่งมีค่าปรับสำหรับการสูบบุหรี่ในพื้นที่ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ในสวนนารา มีค่าปรับ 1,000 เยน (ประมาณ 240 บาท) โดยเจ้าหน้าที่สามารถแสดงตนและปรับผู้ฝ่าฝืนได้ทันที   ลดเวลาหน้าจอ         กระทรวงเด็กและโรงเรียนของเดนมาร์กเล็งออกกฎหมายห้ามศูนย์รับดูแลเด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงเด็ก         ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะให้เด็กดูหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์ไม่ได้ เพียงแต่ต้องจำกัดเวลา เช่น สำหรับเด็กอายุไม่เกินสองปี จะอนุญาตให้ดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้ในกรณีที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น เพราะเด็กเล็กไม่ควรมี “เวลาหน้าจอ” มากเกินไป         ขณะที่เด็กอายุระหว่างสามถึงห้าปีจะอนุญาตให้ใช้หน้าจออย่างเหมาะสม โดยเด็กจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบ         สรุปว่าสถานรับเลี้ยงเด็กจะอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กดูจอเพราะ “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “ใกล้เวลาพ่อแม่มารับแล้ว” ไม่ได้ รัฐมนตรีฯ เขามองว่ามันเป็นความบกพร่องในการดูแลเยาวชนของชาติ กระทรวงฯ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านเป็นกฎหมายได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2024   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 สูบบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า จริงหรือ ?

จากผลสำรวจ ปี 2560 พบประชากรไทย ราว 10.7 ล้านคน บริโภคยาสูบ(ชนิดมีควัน) หรือเท่ากับ ร้อยละ 19.1 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป อันตรายจากการสูบบุหรี่จากผลสำรวจสถิติการสูบบุหรี่ของคนไทย จากโครงการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ ปี 2560 พบว่า จำนวนผู้บริโภคยาสูบชนิดมีควัน คือ 10.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.1 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยมีอัตราการบริโภคยาสูบในเพศชายร้อยละ 37.7 และในเพศหญิงร้อยละ 1.7และจากการสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองในช่วงระยะเวลา 30 วัน พบว่า 17.3 ล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านอย่างน้อยเดือนละครั้งการสูบบุหรี่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง หญิงมีครรภ์ที่สูบบุหรี่มีโอกาสแท้งลูกมากขึ้น และเด็กที่คลอดออกมาอาจมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเพิ่มโอกาสของอาการหัวใจวาย และโรคมะเร็งประเภทอื่นๆ อีกด้วยโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดจากการสูบควันนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับลักษณะของการสูบ สารที่สูบ และความถี่ จากสถิติพบว่า คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดประมาณ 10 - 20 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ การสูดสารพิษและสารก่อมะเร็งจากควันบุหรี่ เช่น เรดอนและเรเดียม-226 เชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งจากบุหรี่ธรรมดาสู่บุหรี่ไฟฟ้าจากการให้ข้อมูลที่ชัดเจนทั้งในทางสถิติและคำเตือนที่หน่วยงานรัฐได้พยายามแจ้งสื่อสารต่อประชาชนมาเป็นเวลาหลายสิบปี ทุกคนน่าจะตระหนักดีถึงอันตรายอันร้ายแรงของการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตามผู้ที่เสพติดการสูบบุหรี่ การละเลิกจากสิ่งนี้อาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย นวัตกรรมหนึ่งจึงเกิดขึ้น เราเรียกมันว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” หรือให้ถูกต้องคือ “ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่ง “ฉลาดซื้อ” เราจะมาหาคำตอบกันว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่(ธรรมดา) จริงๆ หรือ ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป จริงหรือ ?   คำตอบคงต้องแบ่งเป็นสองประการ คือ ถ้าจะวัดกันที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปล่อยควันยาสูบที่เป็นอันตราย บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายตรงนี้น้อยกว่าจริง   แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจได้รับมีสารตกค้าง และความเสี่ยงในการรับนิโคตินมากเกินไปบุหรี่ไฟฟ้าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะจากบริษัทบุหรี่ว่า อาจไม่มีความปลอดภัยในการใช้ นอกจากนี้บริษัทยาขนาดใหญ่ที่สนใจเกี่ยวกับยาเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ เช่น แผ่นแปะนิโคติน หรือเม็ดอมนิโคติน ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างเป็นธูปธรรมต่อกลุ่มสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องให้มีการห้ามยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากยาสูบอิเล็กทรอนิกส์มีผลต่อความอยากบุหรี่ และอาจทำให้เลิกบุหรี่ได้ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์และได้รับการยอมรับในหลายประเทศ แต่ก็เป็นสินค้าผิดกฎหมายในอีกหลายประเทศเช่นกันในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการห้ามนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศโดยใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ - พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 เรื่องห้ามผลิต นำเข้า เพื่อขายหรือเพื่อจ่ายแจกเป็นการทั่วไปหรือโฆษณาสินค้าอื่นใดที่มีรูปลักษณะ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิการ์แรต หรือบุหรี่ซิการ์ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท - พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510  มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำ หรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นได้แต่ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา 72 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตขาย หรือนำเข้า หรือสั่งนำเข้ายาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มาในราชอาณาจักร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท - พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัดหรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ความผิดครั้งหนึ่งจะมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำโดยกระทรวงสาธารณสุขอ้างว่า พบปริมาณนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ทั่วไปหลายเท่า และมีผลเสียต่อผู้ที่สูบ หากสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ 1 มวน จะเท่ากับสูบบุหรี่ทั่วไปถึง 15 มวน หากนำไปใช้โดยปราศจากการดูและของแพทย์จะเป็นอันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ขณะเดียวกันผู้ใช้ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ก็มีการโต้แย้งว่าบุหรี่จริง มีนิโคตินที่ได้รับจากการเผาไหม้ใบยาสูบ ซึ่งนอกจานิโคตินแล้ว ยังมีสารก่อมะเร็งและสารพิษมากมายปัจจุบันในสังคมไทยยังไม่อนุญาตให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศแล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่อุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA ชี้ว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้า (e-cigarette) ไม่ได้ทำให้อัตราการเลิกบุหรี่ลดลง หลังจากการใช้ 1 ปี แต่อย่างใดแม้ว่ายาสูบอิเล็กทรอนิกส์จะปราศจากส่วนผสมของใบยาสูบ และการสันดาปที่ก่อให้เกิดสารพิษกว่า 7,000 ชนิด ในบุหรี่จริงก็ตาม แต่ผู้สูบยังคงได้รับนิโคตินอยู่ ซึ่งการรับนิโคตินที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คลื่นไส้ และมีผลต่อหัวใจได้ จึงไม่อาจกล่าวว่า ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ ปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เรื่องต้องรู้ ความต่างของบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าบุหรี่ มีลักษณะเป็นทรงกระบอกม้วนห่อด้วยกระดาษ ขนาดปกติจะมีความยาวสั้นกว่า 12 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีใบยาสูบบดหรือซอยบรรจุอยู่ภายใน ปลายด้านหนึ่งใช้สำหรับจุดไฟ อีกด้านจะมีตัวกรองใช้สำหรับใช้ปากดูดควันไส้บุหรี่ ทำจากใบยาสูบตากแห้ง นำไปผ่านกระบวนการทางเคมี ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นสารพิษ สารที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และสารก่อมะเร็ง สารเคมีที่มีอยู่ในบุหรี่ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide), คลอโรฟอร์ม (Chloroform), ไซยาไนด์/ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Cyanide/Hydrogencyanide), ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde), นิโคตีน (Nicotine), ทาร์ (Tar)บุหรี่ไฟฟ้า หรือ ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Cigarette) หรือบุหรี่ไอน้ำ (Vapor Cigarette) คือผลิตภัณฑ์ยาสูบจำพวกบุหรี่ บุหรี่ซิการ์ และบุหรี่แบบกล้องสูบ ซึ่งทำขึ้นจากอุปกรณ์ประจุแบตเตอรีที่จะส่งผ่านนิโคตินไปยังผู้สูบ โดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่คล้ายกับบุหรี่จริง กับแบบที่เรียกว่าแบบปากกา (Pen style) มีลักษณะเหมือนบุหรี่ที่มีปลายด้านก้นกรองเสียบอยู่กับตัวต่อก้นกรองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้านั้นถูกคิดค้นขึ้นในประเทศจีนบุหรี่ไฟฟ้าสามารถอดแยกชิ้นส่วนได้เป็น 3 ส่วน คือ- ส่วนแบตเตอรี่ (Battery) คือ ส่วนที่มีลักษณะคล้ายกับตัวบุหรี่ มีความยาวราว 55-80 มิลลิเมตร ส่วนปลายมักมีหลอดไฟแอลอีดี (LED) แสดงสถานะการทำงาน และแจ้งเตือนระดับแบตเตอรี่ มีทั้งแบบอัตโนมัติและแบบตรวจด้วยมือ- ส่วนตัวสร้างควัน และความร้อน (Atomizer) คือ ส่วนกลาง จะมีไมโครชิพ (Microship Circuit) ควบคุมการทำงาน และขดลวดอิเล็กตรอนเพื่อเปลี่ยนน้ำยา (e-Liquid) ให้กลายเป็นละอองไอน้ำ และสร้างกลิ่นเสมือนบุหรี่จริง- ส่วนเก็บน้ำยา (Cartridge) หรือส่วนปากดูด (Mouth piece) จะมีรูปร่างคล้ายปากเป็ด หรือทรงกระบอก และอีกด้านหนึ่งจะเป็นกระเปาะใส่วัสดุซับน้ำยาไว้นอกจากส่วนประกอบในตัวเครื่องแล้ว ส่วนประกอบสำคัญของยาสูบอีกอย่างคือ น้ำยา (e-Liquid) ซึ่งผลิตจาก สารโพรพีลีน กลีเซอรอล (Propylene Glycerol) หรือ สารโพรพีลีน ไกลคอล (Propylene Glycol) หรือเรียกสั้นๆ ว่าสารพีจี (PG) ซึ่งเป็นตัวทำละลายระดับที่บริโภคได้ (Food-grade) ซึ่งสารพีจีนั้นมีอยู่ในเครื่องสำอางแทบทุกชนิด รวมทั้งในผลิตภัณฑ์จำพวก แชมพู สบู่ โฟมล้างหน้า หรือแม้กระทั่งลูกอม สารพีจีนี้อาจมีการสะสมหรือระคายเคืองหากได้รับเป็นเวลานานระดับของสารนิโคตินในน้ำยา โดยทั่วไปจะกำหนดไว้ดังนี้- ระดับสูงมาก (Extra High) มีระดับนิโคติน 20 - 24 มิลลิกรัม- ระดับสูง (High) มีระดับนิโคติน 16 - 18 มิลลิกรัม- ระดับปานกลาง (Medium) มีระดับนิโคติน  11 - 14 มิลลิกรัม- ระดับต่ำ (Low) มีระดับนิโคติน  4 - 8 มิลลิกรัม- ไม่มีนิโคติน (Non) มีระดับนิโคติน   0 - 2 มิลลิกรัมนอกจากนี้ ยังมีบางบริษัทที่ผลิตระดับนิโคตินสูงสุด (Super High) คือ 34 มิลลิกรัม ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย หากได้รับในปริมาณมากควันที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า คือ ไอน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาของสารพีจีที่ถูกคลื่นความร้อนไมโครเวฟจากตัวสร้างควันทำให้แตกตัวและดูดน้ำในอากาศกลายเป็นสายหมอกไอน้ำสีขาว ที่มีความคล้ายคลึงกับไอน้ำจากกาต้มน้ำ แต่มีความหนาแน่นและรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากควันบุหรี่จริงที่มีสีออกเทาแม้ว่ายาสูบอิเล็กทรอนิกส์จะปราศจากส่วนผสมของใบยาสูบ และการสันดาปที่ก่อให้เกิดสารพิษกว่า 7,000 ชนิด ในบุหรี่จริงก็ตาม แต่ผู้สูบยังคงได้รับนิโคตินอยู่ ซึ่งการรับนิโคตินที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คลื่นไส้ และมีผลต่อหัวใจได้ จึงไม่อาจกล่าวว่า ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ ปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง สำหรับผู้ต้องการลดปริมาณพิษสะสม อันเกิดจากบุหรี่จริงและเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่จริงนั้น ถูกต้องหรือไม่ ฉลาดซื้อจึงได้สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อคลายข้อสงสัยดังกล่าว“ความจริงอันหนึ่งที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ ถ้าคนสูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเลิกสูบบุหรี่เลย อันตรายจะน้อยกว่าซึ่งอันนี้จริง ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ คนที่สูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียวแต่สูบทั้งสองอย่าง เขาจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อไปในที่ๆ คนไม่ให้สูบบุหรี่ แต่เมื่อไหร่ที่เขาอยู่ในที่ๆ เขาสูบบุหรี่ได้ เขาก็จะสูบบุหรี่”จริงหรือไม่ ที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยไม่ให้เกิดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ ? ศ.นพ.ประกิต ได้ให้ข้อมูลว่า จากรายงานขององค์กร The National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine หรือ สถาบันวิชาการทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (https://www.nap.edu/catalog/24952/public-health-consequences-of-e-cigarettes) ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นกลาง ได้สรุปรายงานเมื่อ เดือนมกราคม 2561 ว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถลดตัวเลขสถิติของนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ลง แต่กลับกันมีแนวโน้มว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้เกิดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ซึ่งเริ่มเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้า จากการติดตามในระยะเวลา 1 - 2 ปี ผลปรากฏว่า เด็กเหล่านั้นกลายมาสูบบุหรี่จริง มากกว่าเด็กที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 3 - 4 เท่า ซึ่งพบว่ามีรายงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยประเด็นที่น่ากังวลก็คือ บุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย มีความเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า เพราะไม่เหม็นเหมือนบุหรี่ธรรมดา ก็เริ่มติดบุหรี่ไฟฟ้า ติดนิโคติน แล้วก็เริ่มหันไปสูบบุหรี่จริง แม้แต่รายงานของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ก็ได้มีการสั่งให้ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ที่บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เยาวชนติดนิโคติน และหันมาสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น นี่คือประเด็นที่ประเทศออสเตรเลียก็ห่วงเช่นกันผู้ที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่ธรรมดา สามารถเลิกบุหรี่ได้จริงหรือ ?ศ.นพ.ประกิต ได้ให้ข้อมูลว่า มีหลักฐานรายงานที่ให้ข้อเท็จจริงว่า คนที่สูบบุหรี่จริงแล้วหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่นั้น ไม่ได้มีประสิทธิภาพดีกว่าการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งยังคงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมการวิจัย โดยพบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ ยังคงต้องทำพร้อมกันควบคู่ไปกับการเข้ารับคำแนะนำ ตัวยา และกำลังใจจากแพทย์ผู้ดูแล การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ด้วยตนเองนั้น มีโอกาสที่จะเลิกได้น้อยกว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าภายใต้ความดูแลของหมอ ซึ่งคล้ายกันกับการใช้ยาอดบุหรี่ “ความจริงอันหนึ่งที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ ถ้าคนสูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเลิกสูบบุหรี่เลย อันตรายจะน้อยกว่าซึ่งอันนี้จริง ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ คนที่สูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียวแต่สูบทั้งสองอย่าง เขาจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อไปในที่ๆ คนไม่ให้สูบบุหรี่ แต่เมื่อไหร่ที่เขาอยู่ในที่ๆ เขาสูบบุหรี่ได้ เขาก็จะสูบบุหรี่”บุหรี่ไฟฟ้านั้นยังพัฒนาไม่เต็มที่ เพราะการส่งนิโคตินไปสู่สมองยังไม่เท่าบุหรี่จริง ในแง่ความรื่นรมย์ การใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังให้ความรื่นรมย์ในการสูบสู้บุหรี่จริงไม่ได้ ถ้าคนที่สูบบุหรี่ธรรมดาหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเลิกสูบบุหรี่จริงได้ อันตรายจะน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดาแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าความตั้งใจเลิกบุหรี่ด้วยวิธีอื่นๆ โดยไม่พึ่งบุหรี่ไฟฟ้านั้นสามารถเลิกได้มากกว่าบุหรี่จริงนั้นมีการพัฒนามานานกว่าสองสามร้อยปี แต่สำหรับบุหรี่ไฟฟ้านั้นเพิ่งพัฒนาได้ไม่ถึง 10 ปี และบุหรี่ไฟฟ้าก็มีการเปลี่ยนเทคนิคการผลิตไปเรื่อยๆบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นแรก มีการนำขดลวดและสำลีชุปน้ำยาซึ่งสูบได้ 200 ครั้ง มีแบตเตอรี่ในตัว ใช้เสร็จแล้วทิ้งได้เลย ส่วนในน้ำยามีนิโคตินและสารเคมีอีกหลายตัว ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าก็มีทั้งประเภทเหลว หรือ แบบน้ำ รวมถึงล่าสุด มีการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้ง (ที่ไม่ใช่นิโคตินเหลว) มีตัวชาร์จแบตเตอรี่ และตัวสูบ แยกออกจากกัน เมื่อดูดแล้วเกิดความร้อนซึ่งทำให้เกิดควัน บุหรี่ไฟฟ้าแบบใหม่นั้น ส่วนที่เป็นยาเส้น ไม่ใช่ใบยาแบบบุหรี่ธรรมดา แต่เป็นใบยาที่บดเป็นผง ใส่สารเคมี แล้วรีดเป็นแผ่น จากนั้นจึงตัดเป็นใบยาใหม่ แต่ยังคงใช้ความร้อนจากแบตเตอรี่เหมือนกันในประเทศญี่ปุ่น และออสเตรเลีย มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าที่เติมน้ำยาแบบเหลว เพราะนิโคตินถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในกฎหมายยาพิษ ในประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้งได้ เพราะไม่มีส่วนประกอบของนิโคตินเหลว (ซึ่งถือว่าเป็นยาพิษ) ส่วนประเทศออสเตรเลีย มีกฎหมายห้ามไม่ให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งรูปแบบนิโคตินแห้ง และ นิโคตินเหลวส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบเหลวได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้ขายแบบแห้ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) ยังไม่เห็นด้วยกับบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้ง เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่มาสนับสนุนว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าชนิดน้ำที่ยังขายอยู่ในอเมริกา จะถูกออกกฎหมายควบคุมภายในปี 2021 กรณีดังกล่าวเป็นความหลากหลายของนโยบายในแต่ละประเทศต่อเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า อย่างเช่นในประเทศสิงคโปร์ที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้งเพิ่งออกวางจำหน่ายในตลาดเพียงแค่ปีกว่าๆ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้งให้ควันที่น้อยกว่าบุหรี่จริง บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เดียว และยังมีส่วนประกอบต่างกันอีกด้วย ซึ่งบางรายงานก็บอกว่ามีอันตรายน้อย บ้างรายงานก็บอกว่าเยอะกว่า เพราะมีหลากหลายยี่ห้อ และประกอบไปด้วยสารเคมีกว่า 7,000 ตัวที่ใช้ทำกลิ่น (Favor)การซื้อบุหรี่ไฟฟ้าไปเพื่อใช้เลิกสูบบุหรี่เองส่วนใหญ่จะไม่สำเร็จ อาจจบลงด้วยการสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่จริง ซึ่งจากรายงานของสหรัฐอเมริกา พบว่า ภายใน 4 ปี เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 มาเป็นร้อยละ 16 ภายในระยะเวลา 4 ปี บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น เป็นสิ่งใหม่ ไม่มีกลิ่นเหม็น แอบสูบได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีการพัฒนาให้ตัวสูบคล้ายกับธัมไดรฟ์ (Thumb Drive) ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถแอบนำเข้าไปในโรงเรียนได้ คนไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาลดลง แต่มีแนวโน้มในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขั้น จากข้อมูลสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2558 จากการสำรวจระดับประเทศในเด็กช่วงอายุ 13 - 15 ปี พบว่ามีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 3.3 ซึ่งเป็นเพศชายร้อยละ 4.9 เพศหญิงร้อยละ 1.9 ในความเป็นจริงแล้วเด็กผู้หญิงในวัยนั้นก็เริ่มสนใจทดลองสูบบุหรี่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่เลือกที่จะสูบต่อ คือทดลองแล้วเลิก เพราะสังคมไม่ยอมรับ ผู้หญิงนั้นมีการทดลองสูบบุหรี่ไม่ได้น้อยกว่าผู้ชายเท่าไหร่ มันเป็นธรรมชาติ แต่ผู้ชายมีการทดลองต่อ ซึ่งถ้าลองเกิน 100 มวน ครึ่งหนึ่งของผู้ที่ลองจะติดบุหรี่ เพราะสารนิโคตินพูดกันให้ชัดในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าก็คือ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนคนสูบบุหรี่ธรรมดาทั้งหมด ให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาขณะนี้คือแนวโน้มมันอาจจะทำให้คนติดบุหรี่เพิ่มขึ้น จากคนที่ไม่ได้สูบ ก็เข้าไปติดบุหรี่ไฟฟ้า แล้วก็หันมาสูบบุหรี่จริง มันอันตรายในเชิงเพิ่มปริมาณคนสูบบุหรี่ให้เพิ่มขึ้นการนำเข้า - จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย รวมถึงกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งห้ามมิให้มีการขาย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้าแต่หากนักท่องเที่ยวนำเอาบุหรี่ไฟฟ้าติดตัวมาเพื่อใช้ส่วนตัว นั้นไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้นำเข้าเพื่อการจำหน่าย ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามไว้ เว้นแต่นำเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้สูบส่วนตัวสำหรับคนไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า นั้นไม่มีความผิดตามกฎหมาย จริงๆ ควรถามต่อไปว่าได้บุหรี่ไฟฟ้ามาจากไหน เพื่อสืบไปยังต้นตอที่นำมาจำหน่าย ซึ่งสำหรับคนขายนั้นมีความผิดทั้งจากการขาย และมีความผิดจากการนำเข้า ซึ่งไทยเองก็ยังไม่มีการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะยิ่งนับวัน ก็ยิ่งเห็นฤทธิ์ของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และหลักฐานที่จะสนับสนุนว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้เองก็มีน้อยลงการห้ามมิให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นการจำกัดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่ต้องคิดถึงภาพรวมว่า สุดท้ายแล้วบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้คนสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ส่วนประเด็นว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่าประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศเดียวที่จำกัดสิทธิเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ในประเทศออสเตรเลียก็มีการห้าม ญี่ปุ่นก็ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าบางประเภท สิงคโปร์นั้นห้ามหมดเลย ห้ามแม้แต่การมีครอบครองก็ผิดกฎหมาย ซึ่งก็แล้วแต่บริบทของแต่ละประเทศต้องให้ความจริงกับผู้บริโภค เพราะธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าอยู่เบื้องหลังคนบางกลุ่มที่ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะปิด หรือ เปิดขาย ก็ต้องให้ความรู้กับผู้บริโภคให้มากที่สุด เพราะบุหรี่ไฟฟ้าถูกบิดเบือนไปว่าไม่มีอันตรายซึ่งไม่ใช่ บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีอันตราย แต่อาจจะน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ส่วนผลกระทบในระยะยาวยังไม่สามารถบอกได้ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า “มีคนไทยเข้าใจผิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยไม่มีอันตราย ซึ่งความเข้าใจผิดเหล่านี้มาจากคำของคนขาย เขาจะอ้างประเทศอังกฤษ ต้องเข้าใจเพราะอังกฤษเขาตายจากการสูบบุหรี่ปีละเกือบแสนคน ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเขาเต็มที่ จากการป่วยจากการสูบบุหรี่ เขาเลยโปรโมทให้สูบบุหรี่ไฟฟ้า และเขาคุมการเข้าถึงของเด็ก เขาห้ามใส่พวกกลิ่นที่ดึงดูดนักสูบหน้าใหม่”อ้างอิง:- https://www.nap.edu/catalog/24952/public-health-consequences-of-e-cigarettes- 10 ความเชื่อผิดๆ ของการสูบบุหรี่ ที่คุณต้องทำความเข้าใจใหม่, หนังสือคู่มือชุดนิทรรศการยืม-คืน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตประเด็น “บุหรี่และยาสูบ” โดย สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.- Wikipedia (https://th.wikipedia.org/wiki/ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์)- ผลวิจัยสหรัฐชี้ บุหรี่ไฟฟ้า ทำติดยาสูบ 6.8 เท่า (มติชนออนไลน์) (https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_790745)- รายงานโครงการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ ระดับโลก ปี 2554 (http://www.ashthailand.or.th/th/data_center_page.php?id=505)- e-cigarette โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ)(http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/514474)-  https://www.honestdocs.co/cigarette-effects

อ่านเพิ่มเติม >