ฉบับที่ 173 กลิ่นภายในห้องโดยสารสุดจะทน ใครต้องรับผิดชอบ

“กลิ่นรถใหม่” คงเกิดกับคนที่ซื้อรถป้ายแดงทั้งหลาย ได้กลิ่นแล้วอาจสร้างความมั่นใจได้ว่ารถนั้นใหม่จริง มิได้ย้อมแมวขายอย่างแน่นอน เพราะแกะกล่องออกมากลิ่นอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถ ทั้งเบาะรถยนต์ พวงมาลัย คอนโซล ฯลฯ ที่แกะพลาสติกออกจะได้กลิ่นที่เราเรียกกันว่า “กลิ่นของใหม่” อบอวลอยู่ ซึ่งพอใช้รถไปได้ซักพักก็จะหายไปเอง แต่รถยนต์ของคุณศิริลักษ์ กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคุณศิริลักษ์ ผู้เป็นนางพยาบาลวิชาชีพ สัมผัสได้ถึงกลิ่นใหม่(พลาสติก) ของรถเชฟโรเลต ที่ซื้อและใช้งานมาเป็นปีแล้วแต่กลิ่นไม่หมดไปเสียที กลับมีแต่กลิ่นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ชนิดที่ขับไปซักพักจะแสบตา แสบจมูก และเวียนหัว หน้ามืดตาลายกันเลยทีเดียว ต้องจอดทิ้งไว้ซักพักถึงจะขับต่อไปได้ ทนไม่ไหวจึงต้องเข้าศูนย์บริการเพื่อให้ตรวจสอบอาการ ช่างที่ศูนย์บริการ ก็บอกแต่เพียงว่า ปกติ น่าจะคิดไปเอง อ้าว ! เป็นงั้นไป คุณศิริลักษ์เลยจำต้องยอมเอามาใช้ต่อ แต่ยิ่งใช้ก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้น เพราะเวลาที่ขับรถ ร่างกายจะรู้สึกอ่อนเพลีย และแสบจมูกมาก เวียนหัวจนไม่กล้าขับ เลยลองใช้บริการยืมรถยนต์ของเพื่อนมาใช้กลับพบว่าไม่เป็นอะไร ทั้งที่รถยนต์ของเพื่อนเป็นรุ่นเก่ากว่า นั่นย่อมแสดงว่า ไม่ได้คิดไปเองแน่ๆ ช้าไม่ได้แล้วต้องนำรถเข้าศูนย์บริการตรวจสอบอีกครั้ง คราวนี้ศูนย์ทำการตรวจสอบ และอ้างว่าเพื่อความสบายใจของลูกค้าก็จะเปลี่ยนอุปกรณ์ในรถยนต์ใหม่ทั้งหมด แต่เปลี่ยนแล้วกลิ่นภายในรถกลับไม่หายไป คุณศิริลักษ์เลยขอให้บริษัท เชฟโรเลตฯ เปลี่ยนรถยนต์ใหม่หรือเอารถคืนไป แต่บริษัทฯ ปฏิเสธอ้างว่าไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย เปลี่ยนให้ไม่ได้และไม่มีนโยบายรับซื้อรถคืน เมื่อเห็นว่าไม่ได้เปลี่ยนแน่นอน และคงทนใช้รถยนต์ไม่ไหวแล้ว เลยต้องขอใช้อำนาจของศาลบังคับให้บริษัทรถและตัวแทนจำหน่ายรับผิดชอบแนวทางแก้ไขปัญหา คุณศิริลักษ์มาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ภายหลังที่ฟ้องคดีบริษัทฯ ไปแล้ว แต่เนื่องจากศาลต้องการให้คุณศิริลักษ์ หาทนายเพื่อจักได้ช่วยเหลือคดี เธอจึงมาขอให้ช่วยจัดหาทนายความช่วยเหลือ เพราะเห็นว่ามูลนิธิฯ เคยฟ้องคดีรถยนต์มีกลิ่นยี่ห้อหนึ่งแล้วชนะ แต่คดีนี้ยากเย็นพอสมควรเนื่องจาก คุณศิริลักษ์ไปฟ้องคดีเอง โดยไม่เคยตรวจสอบกับกรมหรือหน่วยงานใดๆ เลย ทำให้ไม่มีพยานเอกสารใดๆ สนับสนุนการฟ้องเลย เมื่อศูนย์ฯ จัดหาทนายช่วยคดี และได้ประสานกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่รับตรวจสอบมลพิษ เพื่อให้ผู้ร้องดำเนินการตรวจสอบห้องโดยสารรถยนต์ ซึ่งตรวจออกมาแล้วพบว่ามีค่าไฮโดรคาร์บอนในห้องโดยสารจริง จึงใช้ประกอบเป็นหลักฐานในการสืบพยาน แต่เนื่องจากการทดสอบนี้เป็นการทดสอบฝ่ายเดียว บริษัท เชฟฯ จึงไม่ยอมรับการทดสอบและเสนอศาลให้โจทก์นำรถพิพาทไปทดสอบที่กรมควบคุมมลพิษ เพราะเรื่องกลิ่นเป็นเรื่องที่กรมควบคุมมลพิษนั้นตรวจสอบได้ แต่กรมควบคุมมลพิษนั้นมีเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะเรื่องท่อไอเสีย แต่กลับไม่มีมาตรฐานเรื่องกลิ่นในห้องโดยสารของรถยนต์ ว่าควรมีกลิ่นหรือไม่ อย่างไรเสีย บริษัท เชฟฯ ก็ช่วยประสานให้กรมควบคุมมลพิษช่วยดำเนินการตรวจสอบห้องโดยสารรถยนต์พิพาท โดยบริษัทฯ เสนอให้มีการทดสอบกับรถยนต์คันอื่นที่เป็นรุ่นเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน  ต่อมาจึงมีการทดสอบเกิดขึ้นที่กรมควบคุมมลพิษ ผลการทดสอบพบว่ารถของคุณศิริลักษ์มีสารคาร์บอนิล จำพวกฟอร์มาดีไฮน์ ที่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนซึ่งเป็นก๊าซพิษมีกลิ่นเหม็น ในขณะที่รถยนต์อีกคันไม่พบ และเอกสารจากกรมควบคุมมลพิษ ก็มิได้ระบุว่าสารดังกล่าวเกิดได้อย่างไร ศาลจึงได้จัดตั้งคนกลางเพื่อหาข้อมูลเชิงวิชาการพบอีกว่า ก๊าซพิษดังกล่าว เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ทำให้เกิดอาการแสบตา แสบจมูก และ หากร่างกายได้รับก๊าซพิษนี้นานจะเกิดผลเสียต่อร่างกายซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็ง อาการตามเอกสารทางวิชาการนั้นเหมือนอาการที่คุณศิริลักษ์เป็นทุกอย่างในขณะขับรถ ศาลจึงพิพากษาให้คุณศิริลักษ์ชนะคดีและให้บริษัท เชฟฯ และตัวแทนจำหน่ายรับผิดชอบ ซื้อรถคืนหรือให้ใช้ราคายนต์เป็นจำนวนเงินกว่า 900,000 บาท  คดีนี้บริษัทฯ คงกำลังอุทธรณ์ เรื่องของคุณศิริลักษ์ จึงเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริโภครายอื่นที่เกิดปัญหาแล้วบ่นกันอย่างเดียว แต่ไม่เคยลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง แล้วเอาเรื่องเวรกรรมมาเป็นข้ออ้าง ผู้บริโภคประเภทนี้ก็คงมีแต่คำว่า “เสีย” อย่างเดียว  

อ่านเพิ่มเติม >