ฉบับที่ 138 หนทางเพื่อความเป็นอมตะ

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาผู้เขียนได้ฟังรายการธรรมะทางช่อง 7 ซึ่งพระธรรมโกศาจารย์ แห่งวัดประยูรวงศาวาสได้บรรยายว่า พระพุทธเจ้าเคยเทศน์ให้พระอานนท์ฟังเมื่อเสด็จพักผ่อนกลางวัน ณ ปาวาลเจดีย์ว่า ถ้าใครดำรงชีวิตโดยยึดถืออิทธิบาท 4 แล้วสามารถมีอายุยืนได้ชั่วกัลป์ แต่พระอานนท์ไหวไม่ทันว่ามีความหมายอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงทรงปลงอายุสังขารเมื่ออายุ 80 พรรษา เพราะพญามารได้เข้าทูลอารธนาขอให้พระพุทธเจ้าปรินิพพาน(จาก www.kanlayanatam.com ให้นิยามคำว่า 1 กัลป์ คือ 4,320,000,000 ปี มนุษย์) เรื่องนี้ฟังดูก็แปลกดีเพราะหลาย ๆ ท่าน รวมทั้งผู้เขียนเข้าใจว่า อยู่ชั่วกัลป์คือ อยู่ไปเรื่อยๆ แบบฝรั่งเรียกว่า immortal แต่ท่านพระธรรมโกศาจารย์ก็ได้เฉลยไว้ประมาณว่า ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะที่บอกว่า อิทธิบาท 4 ช่วยทำให้อยู่ได้ชั่วกัลป์นั้น หมายความว่า การถือปฏิบัติอิทธิบาท 4 นี้ทำให้ชีวิตคนเรามีความหมายเมื่อยังมีลมหายใจ ซึ่งทำให้ผู้เขียนพอเข้าใจว่า คนที่แม้ยังมีลมหายใจอยู่ถ้าไม่ทำอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวมีประโยชน์ต่อสังคมเสียเลยก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว   สำหรับ อิทธิบาท 4 ซึ่งแปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จช่วยให้อายุยืนนั้น น่าจะหมายถึง การที่เรามีความพอใจที่เกิดมาเป็นคน (ฉันทะ) จึงต้องมีความพากเพียรในการประกอบการงานไม่ขาดตอน (วิริยะ) ไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้นไปจากความรู้สึกของตัว โดยทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์นั้นให้เด่นชัดอยู่ในใจเสมอ (จิตตะ) พร้อมทั้งคอยสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป (วิมังสา) การประพฤติดังนี้ คนเป็นเท่านั้นที่ทำได้ ในทางวิทยาศาสตร์อาจอธิบายได้ว่า เมื่อเราทำงานแล้วมีความพอใจในผลงานที่ได้ทำ ผลนั้นย่อมกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมา สารนี้ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายสมดุล สดชื่น แข็งแรง ดังนั้นเมื่อเทียบกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นนัยกับพระอานนท์ว่า ทรงปรารถนาจะอยู่เป็นกัลป์เพื่อทรงทำงานที่ทรงรักคือ การเผยแพร่พุทธศาสนา น่าจะสามารถทำให้พระองค์มีอายุยืนยาวได้จริงๆ แต่จะได้นานแค่ไหนนั้นคงไม่มีใครตอบได้ เพราะเราคงต้องถามตัวเองก่อนว่า ถ้าเราอยู่ได้ถึง 1 กัลป์ จะอยู่ไปทำไมและเพื่อใคร บางทีคำถามนั้นอาจจะจบลงที่ว่า ถ้าพระพุทธองค์ยังอยู่จะมีประโยชน์ต่อสรรพสัตว์มากมายแค่ไหนและนั่นคงเป็นคำตอบของการอยู่ไปทำไม และเพื่อใครจริงๆ ดังนั้นเมื่อพุทธศาสนิกชนเข้าใจแล้วว่า ชั่วกัลป์ นั้นเป็นอย่างไร แต่ฝรั่งหรือคนไทยบางคนก็ยังเข้าใจว่า ชั่วกัลป์ คือ ช่วงเวลาที่นานมากๆ นัยหนึ่งคือ นานจนเมื่อนึกถึงการมีชีวิตแล้วกลายเป็นอมตะ จึงมีการแสวงหาอะไรก็ได้มากินหรือใช้กับร่างกาย เพื่อทำให้ร่างกายนั้นอยู่ในสภาวะที่ไม่เสื่อมสลายไป(ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้) ประเด็นเรื่องความเป็นอมตะนั้น ใน www.quackwatch.com มีผู้เขียนบทความน่าสนใจเรื่องหนึ่งชื่อ Position Statement on Human Aging โดยกล่าวในแง่ว่า ในปัจจุบันมีคนเชื่อว่า ความก้าวหน้าทางการแพทย์นั้น ทำให้มีกระบวนการหรือสินค้าที่ป้องกันความแก่(antiaging) มาขายให้แก่คนที่อยากอยู่ยั้งยืนยงชั่วกัลปาวสานได้ ก่อนอื่นท่านผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่า ทำไมเซลล์ในร่างกายเราถึงแก่ได้ คำอธิบายคือ เซลล์ร่างกายเรานั้นมีการแบ่งเซลล์เมื่อถึงความเหมาะสมหนึ่งคือ อิ่มพลังงาน มีทรัพยากรในเซลล์พอ หรือมีการกระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์จากภายนอกเซลล์ ในการแบ่งเซลล์นั้นต้องมีการเพิ่มจำนวนโครโมโซม(ดีเอ็นเอที่ห่อหุ้มด้วยโปรตีน) เป็นสองเท่าของของเดิมก่อน แล้วจึงแยกโครโมโซมออกจากกัน จากนั้นก็มีการแบ่งส่วนที่เหลือของเซลล์ออกเพื่อให้เป็นสองเซลล์ ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งของการเพิ่มจำนวนโครโมโซมคือ ดีเอ็นเอที่เป็นหน่วยพันธุกรรมของเราแต่ละแท่งนั้น มีบริเวณส่วนปลายที่เรียกว่า ทีโลเมียร์ (Telomere) ซึ่งมักจะขาดแหว่งไปทุกครั้งที่มีการแบ่งเซลล์ ในขณะที่เซลล์ก็พยายามซ่อมให้เท่าเดิม ยามที่เซลล์ยังเยาว์อยู่ก็ซ่อมได้ดี แต่เมื่อเซลล์มีอายุเพิ่มขึ้นการซ่อมนั้นก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง จนสุดท้ายนานเข้าก็ซ่อมไม่ได้เลย ทำให้การแบ่งเซลล์ต้องหยุด แล้วเซลล์ก็เริ่มแก่ จึงมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าสามารถทำให้การซ่อมทีโลเมียร์สมบูรณ์ได้ เซลล์ก็ไม่น่าแก่ (ความจริงปรากฏการณ์นี้เกิดกับเซลล์มะเร็ง ซึ่งแบ่งตัวได้ตลอดเวลา แต่เป็นการแบ่งแล้วไม่พัฒนาเซลล์ให้ทำงาน) ในบทความของ quackwatch ที่ผู้เขียนเข้าไปดูนั้น กล่าวถึงอายุไขของมนุษย์ว่า เคยมีชาวฝรั่งเศสชื่อ Madame Jeanne Calment ตายเมื่ออายุได้ 122 ปี ในขณะที่ปัจจุบันคนอเมริกันมีอายุไขเฉลี่ยที่ 77 ปี (ใกล้กับความหมายของ 1 กัลป์ ที่กล่าวในตอนต้น) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 30 ปี จากเดิมคือ 47 ปี เมื่อ ค.ศ. 1900 ดังนั้นในศตวรรษที่ 21 นี้คนอเมริกันควรมีอายุไขเฉลี่ย 90 ปี ถ้าวิทยาการทางการแพทย์ยังพัฒนาไปข้างหน้าดังในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกามีนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มที่ทำการศึกษาถึงกระบวนการที่ทำให้ร่างกายมนุษย์แก่ ซึ่งว่าไปแล้วมันน่าจะหมายถึง การแก่ของเซลล์ต่างๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ผลรวมของความแก่ทำให้มนุษย์ตาย ความเข้าใจในกระบวนการนี้น่าจะช่วยในการชะลอให้ความแก่เกิดช้าที่สุด แต่ไม่ได้หมายถึงการทำให้มนุษย์หยุดความแก่ได้ ในประวัติศาสตร์จีนก็มีตัวพ่อที่พยายามหาทางต่อสู้กับความแก่คือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ตายเน่าเป็นเหยื่อให้แบคทีเรียกินไปในที่สุด ส่วนอียิปต์โบราณก็พยายามทำมัมมี่ ซึ่งสุดท้ายก็เหลวกลายเป็นศพแห้งอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่พอจะกล่าวว่าสำเร็จเกี่ยวกับมัมมี่ก็คือ มีผู้สร้างหนังเอาความหวังในการทำมัมมี่ของคนโบราณมาหารับประทานไปหลายเรื่อง ความเป็นอมตะนั้นเป็นความฝันอันเลื่อนเปื้อนที่สุด ในหลักศาสนาพุทธแล้ว ใครต้องการเป็นอมตะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากครอบครัวซึ่งไม่เคยมีคนตาย(ซึ่งเป็นไปไม่ได้แม้จะแอบไปตั้งนามสกุลใหม่ก็ถือว่ายังมีโคตรเง่าอยู่) ดังนั้นความหวังสู้ความแก่ หวังเป็นอมตะ โดยไปซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีการโฆษณาในอินเตอร์เน็ตว่า ชะลอหรือหยุดความแก่ได้ ก็เป็นเพียงหวังลมๆ แล้งๆ ในอินเตอร์เน็ตท่านผู้อ่านจะพบข้อมูลในการโฆษณาว่า มีผลิตภัณฑ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถกำจัดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นต้นตอของความแก่ของเซลล์ได้ ในความเป็นจริงแล้ว อนุมูลอิสระเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งในหลายสาเหตุที่จะทำให้เซลล์หยุดการเจริญเติบโตแล้วเข้าสู่ภาวะ Senescence(biological aging) ซึ่งเป็นการหยุดการแบ่งเซลล์และอยู่เฉยเหมือนคนที่เกษียณแล้ว ไม่ต้องทำงาน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ รอยย่นบนใบหน้า เมื่อใดที่สภาวะนี้เกิดทั่วร่างกายคนผู้นั้นก็ไม่ใช่คนเป็นแล้ว ดังนั้นการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ เป็นการลดอันตรายที่เป็นผลเนื่องจากอนุมูลอิสระ แต่ไม่ใช่การชะลอความแก่เสียทีเดียว ปัจจุบันในวงการแพทย์บางประเทศซึ่งอาจรวมประเทศไทยด้วย ได้มีสาขาการแพทย์ที่เรียกว่า Geriatric Medicine ซึ่งน่าจะหมายถึงการศึกษาโดยอายุรแพทย์ที่พยายามชะลอความแก่ของคนไข้ ซึ่งส่วนใหญ่คือ คำแนะนำในการปรับปรุงด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย การงดสูบบุหรี่ กินเหล้า เป็นต้น คำแนะนำเหล่านี้เป็นความหวังที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ดังนั้นปฏิบัติการดังกล่าวจึงควรเกิดขึ้นในสถานพยาบาลไม่ใช่บนอินเตอร์เน็ต เพราะมนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่าง ไม่มีใครเหมือนกันโดยตรง การแนะนำที่หวังจะชะลอความแก่นั้นต้องจัดพิเศษเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ยังมีการนำคำว่า antiaging medicine มาใช้ในการโฆษณาเพื่อชะลอความแก่ โดยมักเป็นการขาย วิตามินผสมยาบางขนาน ตลอดจนฮอร์โมนเพศบางชนิด โดยมักโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เพราะยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวว่าการใช้ ยา วิตามิน หรือฮอร์โมนเพศ นั้นทำให้แก่ช้าลง ทั้งนี้เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้แก่ช้านั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนมากกว่าการจะจัดการโดยใช้ปัจจัยเดียวได้ อีกประเด็นที่มีการพยายามนำมาใช้ในการแนะนำเพื่อชะลอความแก่คือ การจำกัดปริมาณพลังงานที่ได้รับจากอาหารให้น้อยกว่าที่คนปรกติกิน เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่เรียกว่า Lean body คือมีแต่เนื้อ (หุ้มกระดูก) ปราศจากไขมัน เหมือนกับเวลาเราซื้อไก่ ส่วนที่เป็น lean คือ อกไก่ เพราะมีไขมันต่ำ ในการศึกษาเกี่ยวกับการจำกัดพลังงานในอาหารในสัตว์ทดลองนั้น ผลมักปรากฏว่า สัตว์ทดลองนั้นเป็นมะเร็ง(เมื่อถูกกระตุ้นด้วยสารก่อมะเร็ง) น้อยกว่าสัตว์ปรกติที่กินตามใจปาก(ถูกกระตุ้นด้วยสารก่อมะเร็งเดียวกัน) แต่ความรู้นี้ก็ยังไม่สามารถนำไปต่อยอดขนาดทำให้สัตว์ทดลองอายุยืนกว่าปรกติได้ โดยสรุปแล้วบทความเรื่อง Position Statement on Human Aging (ซึ่งเป็นบทความที่เคยตีพิมพ์ในวารสาร Scientific American Magazine และ Journal of Gerontology: Biological Sciences) นั้นหวังให้ผู้บริโภคตระหนักว่า ความก้าวหน้าทางวิชาการในปัจจุบันยังไม่สามารถประกาศว่า ความแก่ชะลอได้ หรือยืดช่วงอายุของแต่ละคนออกไปได้ เพียงแต่มีแนวโน้มว่า การปรับปรุงสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตให้เหมาะสม เช่น การกินอาหารให้ครบถ้วนนั้น น่าจะเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เร่งให้เราแก่เร็วได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point