ฉบับที่ 155 กรุณางดการใช้เสียงขณะอ่าน

ฉลาดซื้อฉบับต้นปีนี้จะพาไปสัมผัสว่าความเงียบดีอย่างไร ลดเสียงลงสักหน่อย สังคมจะมีความสุขเพียงไหน เราจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับ รู้จัก ดร.อรยา สูตะบุตร หรือ อ.ปุ้ม ผู้ประสานงานชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ  ที่นอกจากท่านจะเป็นอาจารย์พิเศษวิชาพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กรรมการสถาบันธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หรือทำงานแปล ไทย-อังกฤษ แล้ว    ยังเป็นสมาชิกกลุ่มบิ๊กทรี( กลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง ) ค่อยๆ หรี่เสียงตัวเราเอง สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว แล้วมาล้อมวงฟังเรื่องราวของชมรมหรี่เสียงกรุงเทพกันนะคะ   เกี่ยวกับชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร จริงๆ ชมรมนี้อยู่มาใกล้จะ 10 ปีแล้วแต่ก็เป็นชมรมเล็กๆ ตอนเริ่มต้นในกรุงเทพฯ ก็มีเสียงรบกวนอยู่หลายรูปแบบ แต่อันที่สะกิดใจก็คือ เสียงทีวีในรถไฟฟ้า เพราะว่ามันเป็นเสียงที่เราหนีไม่ได้ ไปหรี่เสียงมันก็ไม่ได้ ไปยืนตรงที่มันไม่มีเสียงก็ไม่มี เกิดคล้ายๆ ว่าแรงผลักดันที่จะทำอะไรสักอย่างก็เลยเป็นที่มาของชมรม   ชมรมว่าทำงานในส่วนใดบ้าง มีขอบข่ายอย่างไร เนื่องจากเป็นชมรมเล็กๆ นะคะ การใช้บทบาทในเรื่องที่เผยแพร่ข้อมูลไปถึงสาธารณะก็คือ ผ่านสื่อหลายๆ ช่องทาง โดยเน้นเรื่องอันตรายของเสียงดัง มีการตีพิมพ์บทความ ข้อมูลให้คนรู้ว่าจะต้องระวังภัยเสียงดังในพื้นที่ไหนบ้าง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จะมีบางช่วงเวลาที่ระดมอาสาสมัครออกไปวัดเสียง ก็วัดกันเองด้วยเครื่องมือที่มีคนให้ยืม แล้วเราก็ตีพิมพ์ออกมาเป็นบทความว่าที่ไหนเสียงดังอย่างไร พร้อมกับให้ข้อมูลว่าค่าระดับเท่านี้ๆ มันทำอันตรายกับหูได้ในระยะเวลานานเท่าไร จะเป็นลักษณะใช้สื่อในการให้ข้อมูล และถ้าเป็นไปได้ก็เข้าไปตามสถานศึกษาบ้าง ก็มีการจัดคล้ายๆ เหมือนกับพาคนไปเที่ยวที่ที่มันเงียบสงบในกรุงเทพฯ  แล้วบรรยายให้ความรู้ไปในกิจกรรมพร้อมกันว่าการอยู่ในที่ที่มันสงบและไม่มีเสียงดังนั้นมันมีประโยชน์อย่างไร   นอกจากเสียงบนรถไฟฟ้า คิดว่าเสียงที่ไหนที่มันเป็นมลพิษอีกบ้าง ถ้าพูดถึงกลุ่มเฉพาะขนส่งมวลชนทั้งหลาย ก็จะมีทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และพวกรถทัวร์ รถที่มันติดทีวีข้างในตัวรถ ซึ่งพวกนี้มันเป็นเสียงกลุ่มเดียวกัน ทำให้รู้สึกว่าจะหนีไม่ได้ ต่อให้อุดหูมันก็ยังช่วยไม่ได้ เพราะว่าโดยมากจะเปิดดังมาก และเป็นที่แคบมันก็ยังมีโอกาสสะท้อนมากเข้าไปอีก พอเป็นลักษณะที่ต้องทนอยู่ในที่หนีไม่ได้ ลดเสียงไม่ได้นี่ก็เป็นประเภทหนึ่ง อีก 2 ประเภทที่เจอคนร้องเรียนเข้ามาเยอะ คือเสียงจากที่ก่อสร้าง ซึ่งบางทีก็ทำแบบไม่เต็มเวลา ไหลไป 24 ชม.ก็มี แล้วเสียงก่อสร้างต่อให้เราไม่ต้องอยู่ใกล้มาก มันก็มีทั้งแรงสั่นสะเทือน มีทั้งเสียง นี่ไม่นับมลภาวะอื่นทางอากาศนะคะ อีกเรื่องคือพวกที่มีลักษณะเปิดดนตรีในที่สาธารณะในระดับที่เกินความจำเป็น ตั้งแต่คอนเสิร์ต ห้างสรรพสินค้า พวกคาราโอเกะแบบที่ไม่ปิดมิดชิด ตั้งเป็นเพิงขึ้นมาได้ก็ร้องแล้ว พวกนี้จะมีปัญหามากเพราะว่าเปิดกันดึกดื่น พอไม่มีการควบคุม ไม่ได้ขออนุญาต เป็นเพิงไม้เล็กๆ ตามข้างทางแล้วใช้เครื่องเสียงขนาดใหญ่ เลิกกันตอนเช้ามืดนั้น เป็นการใช้เสียงที่ไม่รับผิดชอบต่อคนที่อยู่รอบๆ อีกอย่างคือใช้เสียงในระดับที่สูงเกินไป ก็เลยจะกระทบคนเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาอันหลังสุดนี้มันกลายเป็นปัญหาที่ในต่างจังหวัดรุนแรงกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก เพราะมันเหมือนเป็นธรรมเนียมที่ถ้าอยู่ในชุมชนเมือง มันมีโอกาสน้อยกว่าที่คาราโอเกะแบบนี้จะอยู่ได้โดยไม่มีใครไปว่าอะไรเขา แต่ว่าชานเมืองหรือต่างจังหวัด ต่อให้หนีไปโรงแรมที่ห่างไกล หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ลี้ลับสุดๆ จะต้องมีบ้านชาวบ้านก็ต้องงานเลี้ยงอะไรของหมู่บ้านที่มีเครื่องเสียงเต็มเหนี่ยว แล้วมันไม่ใช่เพลงรื่นรมย์ เป็นเพลงแบบคนเมาจนถึงดึกดื่น ถึงเช้า ซึ่งมันสะท้อน 2 อย่าง คือ การไม่รู้อันตรายของระดับเสียงที่ดังเกินไป อันตรายทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ อันที่ 2 คือการที่เราละเลยความรับผิดชอบต่อผู้อื่นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา คิดว่านี่คือการทำอะไรชิลๆ แต่เราลืมดูว่าทำให้คนอื่นไม่ได้พักผ่อนหรือถูกรบกวนด้วยเสียงดัง   อาจต้องใช้การรณรงค์เรื่องจิตสำนึกหรือเปล่า เท่าที่ในประสบการณ์มีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเสริม คือ คนกรุงเทพฯ เริ่มมีปัญหา และมีการแจ้งมาที่ชมรมบ่อย คือ การเป่านกหวีด (หัวเราะ) จะหมายถึงการเป่านกหวีดจราจร จริงๆ ตำรวจเป่าน้อยมาก ที่เป่าคือพวกดูแลจราจรตามหน้าอาคารต่างๆ ซึ่งถ้ามองจริงๆ แล้วจะพบว่ามันมีประโยชน์น้อยมาก คือเป็นสิ่งที่เข้าใจยากมากที่คนขับรถนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ออกมาจากตึก หรือกำลังจะผ่านหน้าตึกจะแยกแยะไม่ได้หรอกว่าเป่านกหวีดอันนี้คือให้ไปหรือให้หยุด แล้วหมายถึงคันที่กำลังจะออกหรือคันที่กำลังจะผ่าน มันเหมือนกับเป็นเสียงปี๊ดๆ ไปไม่มีความหมายชัดเจน แค่ทำให้เกิดความสนใจแต่ไม่ได้แปลออกมาว่าให้ทำอะไร จะเห็นว่าหลายๆ ที่นั้น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรมหลายแห่งที่เขามีรถเข้าออกเยอะๆ เขาไม่ได้ใช้นกหวีดก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากไปกว่าหน่วยงานที่ใช้ ซึ่งนี่เป็นความเข้าใจว่านกหวีดเป็นเสียงก่อให้เกิดความรำคาญนั้นแต่ละเจ้าของก็จะไม่เหมือนกัน อย่างเซ็นทรัลชิดลมมีรถเลี้ยวเข้าเลี้ยวออกเยอะมากแต่ไม่มีนกหวีดและเขาก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรในขณะที่ห้างอื่น โรงพยาบาล อาคารทั้งหลายจะบอกว่าไม่ได้ต้องใช้ ซึ่งเซ็นทรัลชิดลมเป็นหลักฐานที่ดีว่าไม่เห็นต้องใช้เลย ใช้อย่างอื่นแทนได้ ใช้ธง ใช้สัญญาณสีต่างๆ หรือใช้เครื่องมือเป็นแท่งที่มีแสงตอนกลางคืนแทนได้ ซึ่งจากที่ได้รับการร้องเรียนหลายๆ เรื่อง วิธีที่ดีที่สุดคือการเจรจากับคนที่เป็นฝ่ายทำเสียงโดยตรง หมายความว่าในการเจรจานั้นไม่ใช่แค่โทรไปด่าแล้วจบไป สมมติว่าหน่วยงานหรือตึกหนึ่ง ฝั่งคนที่ร้องเรียนถ้าจะให้ดีคือรวมๆ ตัวกัน แล้วคุยกันดี ชี้แจงเหตุผลกัน พบว่าได้ผลมากที่สุด ล่าสุดมีอีเมล์เข้ามาถามว่าเขาจะทำอย่างไรดีกับคอนโดฯ ฝั่งตรงข้ามบ้านเขาเป่านกหวีดตลอด  ซึ่งเขาปิดหน้าต่างแล้วก็ยังช่วยไม่ได้ เป่าทั้งวันเลย ก็บอกเขาว่าคุณอยู่คอนโดฯ เหมือนกัน ฝั่งของคุณไม่เป่านกหวีดเลย แล้วสิทธิมันก็พอๆ กันเพราะว่าถนนเดียวกัน ขอแนะนำให้รวมตัวกันแล้วขอนัดผู้จัดการทั้ง 2 ตึกเลยมาคุยกัน ใช้เหตุผลพูดคุยกันว่าทำไมตึกหนึ่งใช้ อีกตึกหนึ่งไม่ต้องใช้ ทดลองดูไหมว่าถ้าไม่ใช้แล้วมันดีอย่างไร ผลเสียอย่างไร เขาก็ไปลองดูนะ ปรากฏว่ายังไม่ทันได้รวมตัว แค่เดินเข้าไปคุยกับผู้จัดการคอนโดฯ ฝั่งที่เป่านกหวีด ได้ผลเรียบร้อยดี คือเหมือนกับว่าไม่มีใครไปบอกเขาว่าเป่าแล้วมันไม่มีประโยชน์ ถ้าเราเป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพของคนอื่น นกหวีดเป็นอันตรายกับผู้เป่ามากที่สุด และความดังของเสียงนกหวีด ถ้าไม่อุดหูแล้วเป่าเต็มแรง เสียงพอๆ กับเครื่องบินไอพ่นเลย เกิน 90 เดซิเบลนะ เคยให้ยามคนหนึ่งเป่าแล้วใช้เครื่องวัดเสียงจ่อเลย เกิน 90 เดซิเบล ปกติคนเราฟังระดับ 70 เดซิเบลเป็นระดับที่ได้ยินพอดี ต้องไม่รู้สึกรำคาญ และถ้าเกิน 80 เดซิเบลเป็นเวลา 1 ชม.จะเริ่มทำให้หูเสื่อมได้   เรื่องกฎหมายในบ้านเราควบคุมได้ระดับไหน คิดว่าพอไหม หรือต้องรณรงค์อย่างไร ใช้กฎหมายไม่เวิร์ค มีกฎหมายเรื่องระดับเสียงซึ่งกรมควบคุมมลพิษประกาศใช้ แต่มันเป็นกฎหมายที่ใช้การไม่ได้ เพราะบอกว่าห้ามทำเสียงดังเกิน 80 เดซิเบลต่อ 24 ชม. หรือ ถ้าค่าเฉลี่ย 24 ชม.ไม่เกิน 80 เดซิเบลนั้นไม่เป็นไร แล้วเมื่อไรมันจะเกิน เพราะตอนตี 3 ตี 5 มันก็ไม่ค่อยดังแล้ว หรือถ้าดังไปถึง 100 เดซิเบลก็คงแป๊บเดียว ถ้าไปหาร 24 ชม.ค่าเฉลี่ยต่อชม.มันก็ไม่เกิน 80 เดซิเบล อย่างที่บอกว่าการเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อตกลงกันได้ผลกว่ากฎหมาย กฎหมายถ้ารอไปแก้คงไม่ทันได้ใช้นะคะ   จุดมุ่งหมายต้องไปขนาดนั้นเลยไหม ปัจจุบันจะทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาด้านอื่น แต่เรื่องกฎหมายนี้ต้องไปขนาดนั้นไหม ประเทศอื่นเขาจำกัดอยู่แค่ไหน คือกฎหมายเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับประเทศไทยในทุกเรื่อง คือกฎหมายถ้ามีการบังคับใช้นั้นก็จะดี จะเห็นผลนะ แต่เรามีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ เพราะฉะนั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชมรม ขอเน้นเรื่องที่ 1 คือการสร้างความรู้ สร้างความตะหนัก เรื่องที่ 2 คือ เน้นการหันหน้าเข้าคุยกัน หาทางออกร่วมกันด้วยสันติวิธี ไม่ใช่ฝ่ายบ่นก็บ่นไปแต่ว่าไม่เคยได้เข้าไปทำความรู้จักมุมมองของคนที่เขาทำให้เกิดเสียง แล้วหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งวิธีหลังมันได้ผล แต่ในหลายกรณีมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ รถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินก็ใช้วิธีเขียนจดหมายไปทั้ง 2 หน่วยงาน ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ อย่าง BTS เขาตอบนะแต่บอกว่าเขาวัดแล้วเสียงเขาไม่ดัง มีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้ BTS เขาบอกว่าชอบโฆษณาในรถ ส่วน MRT เราก็ไปตรวจเสียงให้เขาเห็นเลย เขาเห็นรู้เลยว่านี่คือเครื่องตรวจเสียง พนักงานเขาเดินมาหาบอกว่าคุณมาวัดเสียงคุณได้รับอนุญาตหรือยัง ไม่อย่างนั้นต้องเชิญคุณออกไปจากบริเวณ MRT ถ้าทางฉลาดซื้อสำรวจข้อมูลพวกนี้ วัดเสียงได้ ทำได้ทั้งในแง่สำรวจความคิดเห็นด้วย ถ้าช่วยกันก็จะเป็นประโยชน์มากๆ จะได้เป็นหน่วยงานคนกลาง อย่างกลุ่มหรี่เสียงฯ คนจะมองว่าอยู่ฝ่ายคนที่ร้องเรียน ถ้าเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเป็นลักษณะช่วยดูแลหลายๆ ในประเด็นของผู้บริโภคมากกว่า  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point