ฉบับที่ 276 ระวังโดนครอบครองปรปักษ์

        มีโฉนด อย่าวางใจ อาจโดนแย่งสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านได้ ด้วยหลักกฎหมาย “ครอบครองปรปักษ์”         ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในสายตาของกฎหมาย ที่ดินระหว่างเอกชน สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ ในปัจจุบันก็มีบางคนกว้านซื้อที่ดินจำนวนมาก จนเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และนำออกจำหน่ายให้ผู้บริโภคเพื่อหากำไร และแน่นอนเมื่อมีคนที่ทำเช่นนี้ หรือได้ที่ดินมาด้วยวิธีใดๆ จนถือครองที่ดินจำนวนมาก ก็อาจมีปัญหาไม่สามารถไปดูแลหรือใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหมดของตนเองได้ หรือบางคนไม่ได้บอกลูกบอกหลานไว้ เมื่อตนเองจากไป ลูกหลานก็ไม่ทราบ และไม่ได้เข้าไปจัดการดูแลที่ดินหรือใช้ประโยชน์ ทำให้ที่ดินถูกปล่อยทิ้งไว้  ดังนั้น กฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองการใช้ประโยชน์ของที่ดินเป็นสำคัญ จึงเกิดหลักกฎหมายที่เรียกว่า “ครอบครองปรปักษ์”ขึ้น เพื่อจะส่งเสริมให้คนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่เห็นประโยชน์ของที่ดินที่เจ้าของไม่ได้มาดูแล ได้แสดงตนเป็นเจ้าของและครอบครองนานเกินกว่าสิบปี โดยที่เจ้าของที่ดินนั้นไม่ได้มาโต้แย้งคัดค้านสามารถได้กรรมสิทธิ์ของที่ดินนั้นมาเป็นของตนได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382         มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสุจริต โดยความสงบและโดย เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็น สังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”         อย่างไรก็ตาม การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และมีข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้         1.ต้องเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น หากเป็นที่ดินประเภทอื่นๆที่มีเพียงสิทธิครอบครอง เช่น ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) หรือ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) หรือที่ดินมือเปล่าไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ และที่ดินของรัฐก็ไม่ได้เช่นกัน         2. หากเป็นผู้เช่า ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ เพราะเป็นการทำสัญญาเช่าอาศัยหรือใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยผู้ครอบครองรู้ตัวอยู่แล้วว่าครอบครองแทนเจ้าของเพียงชั่วคราว และมีการตกลงทำสัญญากันไว้เป็นหลักฐาน ไม่ใช่การครอบครองเพื่อเป็นเจ้าของ         3.ไม่นับผู้ซื้อที่อยู่ระหว่างรอทำสัญญาซื้อขาย เพราะการที่ผู้ซื้อครอบครองที่ดินตามสัญญาซื้อขาย ถือว่าเป็นการครอบครองแทนผู้ขายจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์        4.หากเจ้าของที่ดินอนุญาตให้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์         5.หากมีการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างนั้นจะไม่ถือว่าครบ 10 ปี โดยผู้รับโอนได้กรรมสิทธิ์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มีผลให้การครอบครองปรปักษ์ก่อนหน้านี้สิ้นผลไป ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่         เมื่อการครอบครองปรปักษ์ คือการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ของคนอื่นมาเป็นของตนเอง ย่อมเกิดคดีพิพาทกันได้เพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ จึงเกิดคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินไว้จำนวนมาก โดยขอหยิบยกคำพิพากษาที่น่าสนใจ ดังนี้         การนับเวลาครอบครองปรปักษ์ ถ้าเข้าครอบครองก่อนมีโฉนด ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป         คำพิพากษาฎีกาที่ 4676/2560         จำเลยซื้อที่ดินมือเปล่าจากมารดาโจทก์แล้วเข้าครอบครองอยู่อาศัย จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมามารดาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินรวมไปถึงที่ดินที่จำเลยซื้อ เมื่อจำเลยยังคงครอบครองที่ดินที่ซื้อโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ระยะเวลาแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป และจำเลยไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนจึงไม่ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังผู้ขาย เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์         คำพิพากษาฎีกาที่ 13969/2558         บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่น ที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เสียก่อน จึงจะถูกอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้จะมีเจตนาครอบครองอย่างเป็นปรปักษ์ก็หาได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสิทธิคนละประเภทกับสิทธิครอบครองที่มีอยู่แต่เดิมไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน น.ส. 3 ก. ที่มีเพียงสิทธิครอบครอง โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทได้         คำพิพากษาฎีกาที่ 679-682/2559         การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382  อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 กรแสต่างแดน

เงินขวัญถุง         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเดลลี สั่งปรับห้างจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป lifestyle เป็นเงิน 3,000 รูปี (ประมาณ 1,300 บาท) และขอให้ห้างคืนเงิน 7 รูปีที่เรียกเก็บเป็นค่าถุงกระดาษ ให้กับลูกค้าด้วย         คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ว่าด้วยความบกพร่องในการให้บริการของห้าง ซึ่งอ้างว่าถุงกระดาษมีต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติก (ที่รัฐบาลประกาศห้ามใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565) จึงขอเรียกเก็บค่าถุงจากลูกค้า         คำถามคือห้างควรผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสินค้าแล้วหรือเปล่า สำคัญกว่านั้นคือลูกค้าได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่         จากหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันว่าห้างไม่ได้แจ้งให้ลูกค้านำถุงมาเอง รวมถึงไม่ได้บอกราคาและประเภทของถุงกระดาษ บริษัทจึงไม่สามารถเก็บค่าถุงที่ใช้ใส่สินค้าที่ซื้อจากทางร้านได้ และต้องจ่ายค่า “ทำขวัญ” ลูกค้าเป็นจำนวนดังกล่าว   ชื่อไฮเอนด์         เทศบาลกรุงโซลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดความยาวและความซับซ้อนของโครงการอพาร์ตเมนท์ หลังผลสำรวจพบว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้         หลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์การตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์เป็นภาษาเกาหลีผสมกับภาษาต่างประเทศ ยำรวมกันทั้งชื่อย่าน ชื่อบริษัทที่ก่อสร้างรวมถึงชื่อแบรนด์เพื่อแสดงถึงความ “ไฮเอนด์” ทั้งที่ชื่อเหล่านี้ไม่ได้การันตีคุณภาพของที่อยู่อาศัย         เทศบาลฯ ได้สำรวจความเห็นประชากรกว่า 1,000 คน และพบว่าร้อยละ 77.3 ไม่ชอบชื่อยืดยาวแบบนี้ บางหมู่บ้านถึงกับร้องขอให้เอาชื่อของตัวเองออกจากชื่ออพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกันด้วย         หลังการพูดคุยมีผู้ประกอบการ 9 ราย (Samsung Hyundai และ Posco ก็อยู่ในกลุ่มนี้) ให้คำมั่นว่าจะตั้งชื่อโครงการให้สั้นและง่ายกว่าเดิม รวมถึงใช้คำภาษาเกาหลีให้มากขึ้น         เทศบาลโซลมีกำหนดจะประกาศ “แนวทางการตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์” ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024  ซ่อมกันก่อน         เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหายเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงให้ “โบนัสช่วยซ่อม” แบบเหมาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2022  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ประกาศใช้เมื่อปี 2020         สิ่งที่จะเพิ่มมาในปี 2024 คือค่าซ่อมหน้าจอโทรศัพท์ 25 ยูโร (ประมาณ 950 บาท) และค่าซ่อมโน๊ตบุ๊ค 50 ยูโร         รวมแล้วจึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 73 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กาต้มน้ำ เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี         เงินช่วยเหลือนี้จะปรากฎเป็นส่วนลดในบิลค่าซ่อมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่ต้องไปใช้บริการกับร้านซ่อมที่เข้าร่วมโครงการ         ฝรั่งเศสตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารับการซ่อมจากปีละ 10 ล้านชิ้น เป็น 12 ล้านชิ้นให้ได้ภายในปี 2027   ไม่ใช่ที่สูบ         อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น โดยอาจระบุ “พื้นที่สูบบุหรี่” ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภาษาต่างๆ เป็นต้น         ญี่ปุ่นห้ามการสูบบุหรี่ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (ยกเว้นในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่) มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกปรับเพราะ “เดินไปสูบไป” ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางเมืองเช่น โกเบ มีถึงร้อยละ 40 ของผู้ฝ่าฝืนที่เป็นนักสูบจากต่างแดน         นอกจากกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่งมีค่าปรับสำหรับการสูบบุหรี่ในพื้นที่ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ในสวนนารา มีค่าปรับ 1,000 เยน (ประมาณ 240 บาท) โดยเจ้าหน้าที่สามารถแสดงตนและปรับผู้ฝ่าฝืนได้ทันที   ลดเวลาหน้าจอ         กระทรวงเด็กและโรงเรียนของเดนมาร์กเล็งออกกฎหมายห้ามศูนย์รับดูแลเด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงเด็ก         ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะให้เด็กดูหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์ไม่ได้ เพียงแต่ต้องจำกัดเวลา เช่น สำหรับเด็กอายุไม่เกินสองปี จะอนุญาตให้ดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้ในกรณีที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น เพราะเด็กเล็กไม่ควรมี “เวลาหน้าจอ” มากเกินไป         ขณะที่เด็กอายุระหว่างสามถึงห้าปีจะอนุญาตให้ใช้หน้าจออย่างเหมาะสม โดยเด็กจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบ         สรุปว่าสถานรับเลี้ยงเด็กจะอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กดูจอเพราะ “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “ใกล้เวลาพ่อแม่มารับแล้ว” ไม่ได้ รัฐมนตรีฯ เขามองว่ามันเป็นความบกพร่องในการดูแลเยาวชนของชาติ กระทรวงฯ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านเป็นกฎหมายได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2024   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 วิกฤตหนักของสิทธิผู้บริโภค ใน ‘อสังหาริมทรัพย์’

        วันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีกลุ่มคดีสำคัญในรอบปี 2566 คือการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์  กว่า 32 ราย   โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งและศาลพระนครเหนือในฐานผิดสัญญา เพื่อเรียกเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายทุกคน         หนึ่งในผู้เสียหายที่เดินทางไปฟ้องคดีด้วย คือ คุณกิตติพงศ์  สุชาติ   ที่ตั้งใจซื้อคอนโคครั้งนี้เพื่ออยู่อาศัยสร้างครอบครัวเมื่อโครงการคอนโดเริ่มมีปัญหา คือการสร้างที่ไม่คืบหน้าทำให้ไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้ตามสัญญาที่ทางโครงการระบุไว้เมื่อตอนโฆษณาขายและทำสัญญา ซึ่งเขาเข้าใจในคำอธิบายของบริษัทฯ ในชั้นต้นจึงยังคงให้โอกาสกับทางบริษัทเพราะสิ่งที่ต้องการคือคอนโด ไม่ได้ต้องการเงินคืน แต่สุดท้ายการไร้ความรับผิดชอบของบริษัททำให้เขาทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาฟ้องคดีเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง   คุณกิตติพงศ์เข้าซื้อคอนโด ตั้งแต่เมื่อไหร่          ผมซื้อคอนโดของบริษัทออล อิน สไปร์ ในโครงการ  The Excel ลาซาล 17 ตอนที่ซื้อได้เข้าไปดูห้องตัวอย่าง เขามีให้ดูมีเซลล์แกลลอรี่แบบปกติเลย  เขาพาไปชมโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ตอนนั้นน่าจะเริ่มไปประมาณ  50 %  แล้ว ผมก็ทำปรกตินะวางเงินดาวน์ แล้วก็จ่ายเป็นงวดๆ ตามสัญญาที่ให้ไว้  ช่วงที่ซื้อประมาณปลายปี  2563 เข้าไปดูโครงการแล้วจอง ต่อมาอีก 2 สัปดาห์ก็นัดทำสัญญากัน และผ่อนชำระงวดแรก  ในสัญญาระบุว่าสิ้นเดือน ธ.ค. ปี 2564 เขาจะส่งมอบคอนโด  ซึ่งระหว่างนี้ผมก็เข้าไปดูความคืบหน้าที่โครงการเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ต่อมาบริษัทก็ได้ส่งจดหมายมาขอเลื่อนการส่งมอบออกไปอีก ผมก็ยังไม่เอะใจอะไรทั้งที่ตอนนั้นผมก็เริ่มได้ยินว่ามีคนเริ่มไปขอเงินคืนกันแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้คืนเงิน ในเนื้อความจดหมาย บริษัทแจ้งอ้างเหตุอะไรจึงขอเลื่อน         บริษัทเกิดปัญหาจากโควิดทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักและดำเนินการล่าช้า  บริษัทจึงขอเลื่อนการก่อสร้างออกไปก่อนแล้วเดี๋ยวจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ประมาณ ต.ค. พ.ย. ก่อนครบสัญญา เขามาแจ้งก่อน ตอนนั้นคนที่ซื้อคอนโด คนอื่นๆ ก็น่าจะได้จดหมายด้วยเช่นกัน แล้วเริ่มแก้ไขปัญหาอย่างไร          ตอนนั้น บริษัทเขาก็มีการตั้งเจ้าหน้าที่มาคนหนึ่งคอยประสานกับคนที่ซื้อคอนโด เขาโทรมาหาผมว่าจะสร้างต่อนะจะรอไหม ถ้าไม่รอจะคืนเงิน แต่จะคืนเงินให้เป็นงวดๆ ผมเลยถามว่าจะใช้เวลาสร้างต่อถึงเมื่อไหร่ เขาบอกว่าจะสร้างต่อถึงประมาณตุลาคม 2565 ผมเลยบอกว่า ผมรอ แต่ถ้าสร้างไม่เสร็จ ผมขอเอาเงินคืนแล้วกัน         ตอนนั้นในกลุ่มผู้เสียหายก็มีการรวมตัวกันในกลุ่มไลน์แล้ว เฉพาะ โครงการ The Excel ลาซาล 17 ก็มีอยู่ 100 กว่าคนแล้ว ผมก็อยู่ในกลุ่มด้วยตอนบางคนเริ่มมีคนไปออกข่าว ส่วนผมผมกลัวว่าเขาจ่ายเงินคืนเป็นงวดๆ 6 งวด  แล้วถ้าจ่ายแล้วหายไป เขาบ่ายเบี่ยงอีก ประกอบกับเขาให้ความมั่นใจด้วยว่าเขาจะสร้างต่อ แล้วจริงๆ ผมอยากได้คอนโดด้วยผมเลยรอ แต่พอถึงช่วง ต.ค. ก็เริ่มวุ่นวายขึ้นอีก ผมเลยบอกว่า งั้นผมขอเงินคืนแล้วกัน  แต่ตัวแทนของบริษัทยังยืนยันจะจ่ายคืนเป็นงวดๆ  ผมก็บอกว่าผมไม่สะดวก เพราะว่าผมขอเป็นงวดเดียวเลยก้อนเดียวเลย เพราะว่าผมจ่ายไปหมดแล้ว เขาเลยบ่ายเบี่ยงไปเรื่อยๆ จนผู้เสียหายๆ หลายๆ คนรวมถึงผมด้วยไม่ไหวแล้ว ผมเลยมาขอความช่วยเหลือให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยประสานทำเรื่องให้แต่หลังจากนั้นก็ติดต่อบริษัทไม่ได้อีกเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ มีผู้เสียหายผู้หญิง 2 คน  เคยมาที่มูลนิธิแล้ว เขาเคยบอกแล้วว่า เคยไปที่บริษัทมาแล้ว แต่บริษัทเขาปิดไม่ให้เข้าแล้วต่อเราจึงได้รู้ว่าเขาย้ายที่อยู่บริษัทไปแล้ว แล้วจุดที่คิดว่าไม่ไหวแล้วและตัดสินใจฟ้องคดี คืออะไร          ผมมาทราบข่าวอีกครั้ง  เมื่อเดือน ก.พ. 66   ว่าบริษัทได้ขายโครงการให้อีกบริษัทหนึ่งไปแล้วซึ่งบริษัทนี้ก็เอาโครงการมาดำเนินการก่อสร้างต่อแล้วก็ขายต่อแล้ว บริษัทที่ผมทำสัญญาด้วยได้เงินกว่า 500 ล้านจากโครงการที่ขายไป แต่เขาไม่ได้ติดต่อเอาเงินมาจ่ายลูกบ้านที่มีปัญหากันอยู่เลย แล้วบริษัทก็ติดต่อไม่ได้ แล้วล่าสุดบริษัทก็แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าขอย้ายที่อยู่ไปแล้ว  แล้วพอตอนที่ติดต่อมาว่าจะคืนเงินให้ผมยังถามว่าแล้วจะให้ผมจะไปเซ็นต์สัญญาที่ไหนซึ่งผมยืนยันว่าขอเงินคืนในงวดเดียว เจ้าหน้าที่ของเขาก็บอกว่า เดี๋ยวจะนัดหมาย วัน เวลา สถานที่ให้เข้าไปทำเรื่องและขอไปปรึกษา บัญชีก่อน แล้วก็เงียบหาย แต่ผมไม่รอแล้ว แล้วการที่บริษัทเอาโครงการไปขายต่อ ทั้งที่ยังมีปัญหากับลูกบ้าน ทำได้ด้วยหรือ         ผมคิดว่าการซื้อขายคงทำหนังสือกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเขาดำเนินการซื้อกัน  โดยผมเชื่อว่าบริษัทที่เข้ามาซื้อก็รู้ว่าคอนโดโครงการนี้ยังมีปัญหาอยู่ แต่เป็นทางบริษัท ทางออลล์ อินสไปร์เองที่จะต้องไปเคลียร์กับลูกบ้าน  แต่เขา (บริษัทใหม่) รู้ว่ามีลูกบ้านที่ติดอยู่สถานการณ์เป็นแบบนั้น         ผมก็ยังงง มันเหมือนลูกบ้านอย่างเราก็มีสัญญายังผ่อนอยู่ แล้วอยู่ดีๆ เอาบ้านไปขายให้คนอื่น  คนใหม่ก็มาซื้อด้วย ทั้งๆ ที่รู้นะ   มันแปลกมากแล้วกระทบกับสิทธิของผู้บริโภคที่เข้าไปซื้อคอนโดแบบนี้มาก การยื่นฟ้องคดีที่ผ่านมา ผู้เสียหายทุกคน ฟ้องคดีไหม         ไม่ทุกคน คือ ปีที่แล้วมีผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งราว 20 คน  เขาตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมา แล้วเขาจะมีความเคลื่อนไหว  ไปออกข่าวร้องทุกข์คนที่เป็นแกนนำสัมภาษณ์ให้ข่าวบ่อยๆ แบบนั้นเจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาติดต่อไปคืนเงินให้ก่อนใคร เขาก็ได้เงินคืน เขาแจ้งในไลน์กลุ่มว่าเขาได้เงินคืนแล้วในครั้งเดียวเลย แล้วเขาก็เลยขอออกจากกลุ่มไปหลักๆ กลุ่มนี้เท่าที่ผมคุย คือ ได้เงินคืนครบประมาณ 10  คน กับอีก 10 คน โดนสร้างเงื่อนไขให้ได้รับเงินคืนเป็นงวดๆ บางคนได้งวดเดียวแล้วไม่ได้อีกเลย หายเงียบหรือบางคนไม่ได้สักงวดเลยก็มี เลยมีทั้งคนที่ได้เงินคืนแล้ว แล้วคนที่สุดท้ายมาร่วมกันฟ้องคดี  ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค แล้วมาเจอผู้ประกอบการที่เป็นแบบนี้ อยากจะเปิดใจเรื่องอะไร         ผมมองว่ามันเป็นการเอาเปรียบกัน  คุณบริหารล้มเหลวเองให้ผลกระทบมาตกกับลูกค้ามันไม่ถูกต้อง แล้วมองว่าทรัพย์สินคุณก็ยังมีอยู่ ทำไมไม่คิดจะเอามาขายเพื่อชำระหนี้   ถ้ามองภาพรวมนะครับ แต่ถ้ามองในส่วนที่โครงการยิ่งน่าเกลียด ในเมื่อคุณขายโครงการได้เงินมาแล้ว ขายได้เกือบ 500 ล้าน แทนที่คุณจะเอาเงินมาเคลียร์ลูกบ้านก่อน น่าจะครอบคลุมได้หมดเลย  ผมนั่งดีดตัวเลขกลมๆ ถ้าเขาขายห้องหมด ประมาณ 200 ล้าน ก็ยังเหลือๆ เขาควรเลือกจะคืนให้คนที่มีผลทางกฎหมายกับเขา ส่วนคนที่เขาไม่ทำอะไรเลย  เขาเลือกที่จะเฉยๆ เขาไม่ได้สนใจที่จะคืนเงินเลย อยากบอกอะไรกับคนอื่นๆ ที่เขาอาจจะยังแบบว่า อย่าไปฟ้องเลยไหม         คือมีอีกหลายคน  ที่เขาไม่ทำอะไรเลย เสพข่าวอย่างเดียวหรือบางคนไปบ่นกับพนักงาน  พนักงานเขาก็บอกได้แต่ว่า เขาทำอะไรไม่ได้หรอก เขาไม่มีเงินต้องให้คนที่เขามีอำนาจตัดสินใจมาคุยกับเรา เรามานั่งอ่านไลน์กลุ่มมันก็ไร้สาระ  แล้วก็ไปว่าพนักงาน เขาก็ไม่เกี่ยว เขาทำตามหน้าที่ของเขา และยังมีลูกค้าต่างชาติอีก  เขาพิมพ์ข้อความมาก็ไม่ค่อยมีคนสนใจแต่พนักงานเขาก็ทำอะไรไม่ได้มาก         วันแรกที่ซื้อคอนโด ผมก็ได้ตรวจสอบดีแล้ว แล้วอีกอย่างหนึ่งโครงการก็ขึ้นมา ตั้ง 5 โครงการแล้ว  โครงการที่ผมซื้อมันเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วด้วยนะ  ทุกอย่างมันไม่มีทิศทางว่าเขาจะเป็นแบบนี้ เรามั่นใจ ที่อื่นขึ้นตอม่อมาก็โดนแล้วแต่ของผมโครงสร้างมันเสร็จหมดแล้ว เหลือแต่งานออกแบบภายในเฉยๆ  แล้วทราบอีกว่าเขาโกงเงินผู้รับเหมาด้วย  ผู้รับเหมาเขาเลยหนี ไม่สร้างต่อแล้ว         เราทำทุกทางแล้ว ไปกองปราบ ไปร้องกับ สรยุทธ  โหนกระแส เราก็ติดต่อไปแล้ว เขาก็รับเรื่องไว้ เขาไม่ได้สนใจอยากจะเอามาตีแผ่  ผู้บริโภคบางคนยอมทิ้งเงินตัวเองเลย ไม่เอาแล้ว หลายๆ คนเริ่มนิ่ง เราก็บอกไปแล้วว่า ถ้านิ่งๆ จะไม่ได้เงินคืนนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ เมื่อของรักเพิ่มมูลค่า

        การลงทุนให้เงินงอกเงยไม่ได้มีแค่หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมเท่านั้น มันยังมีสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพวกสินค้าโภคภัณฑ์ ทอง หรือน้ำมัน แต่เป็นสิ่งของจับต้องได้ที่ก็กำลังข้ามจักรวาลไปเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้         เคยได้ยินกันใช่ไหมเรื่องการแปลงสิ่งที่รัก สิ่งที่หลงใหล (Passion) ให้เป็นรายได้ คล้ายๆ กันนั่นแหละ คนเรามักมีของสะสมที่ชื่นชอบ พออยู่กับมันไปนานๆ เข้าความรู้ต่อสิ่งของชนิดนั้นก็เพิ่มพูน แล้วมูลค่าของสิ่งที่สะสมก็เพิ่มพูนขึ้นตามไปด้วย         ถึงตรงนี้คงร้องอ๋อกันแล้ว ใช่เลย ของสะสมบางประเภทสามารถแปลงเป็นสินทรัพย์มีค่าได้ ของสะสมของคนมีเงินมักมีราคาสูงซึ่งเจ้าตัวก็น่าจะคาดการณ์ว่าอนาคตสามารถปล่อยได้ในราคาที่สูงกว่าหลายเท่าตัว เช่น งานศิลปะ โบราณวัตถุ รถ กระเป๋าแบรนด์เนม เป็นต้น         การจะสะสมสินทรัพย์จำพวกนี้นอกจากต้องมีเงินแล้วยังต้องมีความรู้แน่นหนา ไม่ถูกย้อมแมวขาย รู้ที่มาที่ไปของวัตถุ อย่างถ้าเป็นงานศิลปะก็ต้องอ่านขาดทีเดียว อย่างใครถือครองงานของถวัลย์ ดัชนีไว้น่าจะรู้สึกอิ่มเอมกว่าศิลปินโนเนม         แต่ไม่จำเป็นเสมอไปที่สินทรัพย์ทางเลือกจะมีราคาแพงเว่อร์วัง ของบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่งอาจไม่ได้มีมูลค่าอะไรเลยด้วยซ้ำ พอผ่านไปๆ มูลค่ากลับถีบตัวเป็นหลักล้านก็มีเพราะเป็นของหายาก เป็นที่ต้องการในแวดวงเฉพาะกลุ่ม เช่น การ์ดจากการ์ตูนหรือเกมฮิตบางใบขายกันหลักล้าน (แม่เจ้า!!!) การ์ดนักกีฬา แสตมป์ ไล่เรียงไปจนถึงหนังสือหายาก พระเครื่อง นาฬิกา หิน เครื่องเขียน ของเล่น ฯลฯ         ประเด็นอยู่ที่ว่ามันคาดการณ์ยากพอสมควรว่าของที่เราสะสมจะมีมูลค่าเพิ่มในอนาคตหรือเปล่า ของบางอย่างก็ผ่านมาเป็นกระแสตูมตามชั่ววูบไหวแล้วหายไป ยกตัวอย่างจตุคามรามเทพที่เคยฮิตกันอยู่ช่วงหนึ่ง ทำออกมากี่รุ่นๆ ก็ปล่อยได้หมด         เมื่อกระบวนการปั่นราคาไปถึงจุดหนึ่ง คนมาก่อนได้กำรี้กำไร คนมาช้าจ่ายรอบวง งานเลี้ยงก็เลิกรา แปรสภาพเป็นคุกกี้โอริโอที่แจกฟรียังแทบไม่มีคนอยากได้                 ไหนจะเรื่องของวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ อย่างพระเครื่องรุ่นหายากเป็นสินทรัพย์มีค่าสูงในไทย แต่อาจไม่มีค่าในประเทศตะวันตก         ถึงบอกว่าต้องอาศัยความรู้เยอะทีเดียวถ้าหวังจะลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก แต่ถ้าสะสมเพราะใจรักและมีความสุข มูลค่าจะเพิ่มก็เป็นแค่ผลพลอยได้ แบบนี้ก็ทำไปเถอะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ซื้อที่ดินพร้อมบ้าน แต่สัญญาระบุแค่ซื้อที่ดิน แบบนี้จะได้บ้านบนที่ดินด้วยหรือไม่

ฉบับนี้มีเรื่องราวใกล้ตัวน่าสนใจมาแลกเปลี่ยนกันอีกเช่นเคย  นั่นคือประเด็นของการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน ก็มีบ่อยครั้งที่เกิดปัญหาจนถึงขั้นฟ้องร้องกันในศาล ส่วนหนึ่งเพราะการซื้อทรัพย์เหล่านี้จะมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้บริโภคเมื่อตัดสินใจจะซื้อควรต้องตรวจสอบข้อมูลข้อสัญญาต่างๆ อย่างรอบคอบ อย่างตัวอย่างในคราวนี้ผมหยิบปัญหาของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ตั้งใจจะซื้อบ้านพร้อมที่ดินแต่สัญญาที่ซื้อขายกันระบุแค่ซื้อที่ดิน เช่นนี้จึงมีคำถามต้องคิดกันต่อว่า ซื้อขายที่ดินแต่หากมีบ้านอยู่บนที่ดินจะได้บ้านด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอบอกว่าเคยเกิดขึ้นหลายครั้งจนมีเรื่องราวฟ้องร้องจนถึงศาลฏีกาและศาลก็ได้ตัดสินวางแนวเรื่องนี้ไว้ คือการซื้อขายที่ดินที่ไม่ได้กล่าวถึงบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินต้องถือว่าขายบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2507)         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2507         เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินตอนต้นระบุถึงที่ดินซึ่งมีห้องแถวรวมอยู่ด้วย แม้ตอนต่อมาจะเขียนสัญญาซื้อขายใช้คำแต่เพียงว่า ผู้ขายยอมขายที่ดิน ผู้ซื้อยอมรับซื้อที่ดินโดยไม่มีข้อความเพิ่มเติมว่า "พร้อมกับห้องแถวด้วย" ก็ต้องหมายความว่า เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง คือห้องแถวพิพาทซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินและเป็นส่วนควบของที่ดิน         เมื่อสัญญาซื้อขายแสดงว่า ยอมขายห้องแถวด้วย โดยไม่มีข้อตกลงพิเศษว่า ให้ห้องแถวคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายไม่มีสิทธินำสืบว่าต้องการขายแต่ที่ดิน ไม่ขายห้องแถว เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94         คำพิพากษาศาลฎีกาที่  802/2544         บ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินในลักษณะตรึงตราถาวรนับได้ว่าเป็นส่วนซึ่งโดยสภาพเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้นและไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป บ้านจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในบ้านซึ่งเป็นส่วนควบนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144                  จากทั้งสองคำพิพากษา เราจะเห็นว่า ศาลวินิจฉัยว่าบ้านที่ปลูกบนที่ดินแบบตรึงตราถาวรเป็น “ส่วนควบ” ของที่ดินโดยสภาพ  ซึ่งตามกฎหมาย “ส่วนควบ” คือ ส่วนของทรัพย์ซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้นและไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป         อีกคดีที่น่าสนใจ  เมื่อมีหลักว่า บ้านคือส่วนควบของที่ดินเช่นนี้ เมื่อที่ดินเป็นทรัพย์ที่ห้ามโอนตามกฎหมาย ดังนั้นบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวก็ต้องห้ามโอนตามกฎหมายด้วยเช่นกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6194/2550)         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6194/2550         บ้านของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำยึดปลูกสร้างอย่างแน่นหนาถาวรบนที่ดินจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง เมื่อที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานถูกห้ามโอนตามกฎหมาย บ้านซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมถูกห้ามโอนด้วย แม้โจทก์จะอุทธรณ์อ้างว่า โจทก์ประสงค์จะยึดบ้านพิพาทอย่างสังหาริมทรัพย์ โดยในการขายทอดตลาดผู้ที่ซื้อทรัพย์จะต้องรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินไปเอง ก็เป็นเรื่องที่จะดำเนินการได้เมื่อกำหนดเวลาห้ามการโอนผ่านพ้นไปแล้วเสียก่อน เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านพิพาทในระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการยึดบ้านหลังดังกล่าวได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 25533 กุมภาพันธ์ 53กินยาแก้ไอเล่นอาจถึงตายจากกรณีที่นักเรียนชั้นมัธยมกว่า 80 คน ถูกหามส่ง ร.พ. หลังเกิดอาเจียนจนหมดสติ เนื่องจากรับประทานยาแก้ไอที่ซื้อจากร้านเกมเพราะเชื่อกันว่ากินไปแล้วครูตีไม่เจ็บนั้น กระทรวงสาธารณสุข และอย. ได้ออกมาชี้แจงว่า ยาแก้ไอนี้มีชื่อสามัญว่า เดกโทเมโทรแฟน (Dextromethorphan) เป็นยาที่มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็ว ปกติไม่ควรกินเกินครั้งละ 2 เม็ด ถ้ากินมากเกินไปอาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน กดระบบทางเดินหายใจ ความดันลดลงและเกิดอาจถึงขั้นช็อค ยานี้อนุญาตให้ขายในร้านยาที่มีใบอนุญาตให้ขายเท่านั้น หากซื้อจากร้านเกมจริงถือว่าผิดกฎหมาย ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 22 กุมภาพันธ์ 53ลูกชิ้นปลาเรืองแสง เกิดกระแสข่าว “ปริศนาลูกชิ้นปลาเรืองแสง” ซึ่งเป็นที่ฮือฮามาก หลังมีผู้นำมาร้องเรียนกับ นสพ.เดลินิวส์ ส่งผลให้ทางกระทรวงสาธารณสุขรีบเก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลาส่งเข้าทดสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง พบว่า ลูกชิ้นปลามีการปนเปื้อนของแบคทีเรียลูมิเนสเซนท์ แนะนำให้กินแบบทำสุกแล้วเท่านั้น จากการเก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลาจำนวน 28 ตัวอย่าง พบมีสารเรืองแสงเฉพาะลูกชิ้นที่ผลิตจากโรงงานแห่งหนึ่งในจ.สมุทรสาครเพียงตัวอย่างเดียวโดยตรวจพบเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม ลูมิเนสเซนท์ (Luminescence) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการเรืองแสงได้ แบคทีเรียนี้พบได้ในน้ำทะเล ส่วนสาเหตุของการปนเปื้อนอาจเกิดได้ในขั้นตอนการผลิต ทั้งจากวัตถุดิบ เครื่องมือและจากคน รวมถึงในช่วงการเก็บรักษาระหว่างขนส่งและรอจำหน่าย โดยเฉพาะถ้าเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม (มากกว่า 4 องศา) ก็มีโอกาสที่แบคทีเรียจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แนะนำว่าในการรับประทานลูกชิ้นปลา คือควรลวกน้ำร้อนก่อนที่จะนำมารับประทาน หรือทำให้สุกด้วยวิธีการอื่นก่อนรับประทาน เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 23 ก.พ. 53น้ำประปาเลิกฟรี แต่ไฟฟ้า รถเมล์ รถไฟ ให้อีก 3 เดือน แม้สถานการณ์การเมืองจะเคร่งเครียด แต่ผู้บริโภคยังพอมีเรื่องให้ยิ้มได้ เมื่อรัฐบาลยังใจดีไฟเขียวให้ประชาชนได้ใช้บริการไฟฟ้า รถเมล์ และรถไฟ ฟรีต่อไปอีก 3 เดือน ยกเว้นค่าน้ำประปาที่ต่อจากนี้ไปต้องกลับมาเสียเงินตามปกติ ค่าไฟฟ้าฟรี ค่ารถเมล์ฟรี รถไฟฟรี จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2553 รัฐบาลขยายไปสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ส่วนมาตรการค่าน้ำฟรีนั้นให้สิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2553 สาเหตุที่คงมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนไว้ 3 มาตรการ เพราะเป็นมาตรการที่ช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนผู้มีรายได้ต่ำได้จริง และมีประชาชนจำนวนมากได้ประโยชน์โดยเฉพาะมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรี +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ผู้บริโภควอนรัฐฯ ยืดเวลามาตรการกระตุ้นอสังหาฯจากกรณีที่คณะรัฐมนตรี มีมติไม่ต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ทำให้ค่าธรรมเนียมการโอนขึ้นจาก 0.01% เป็น 2% ค่าจดจำนองจาก 0.01% เป็น 1%และภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 0.01% เป็น 3.3% ส่งผลให้ผู้ที่กำลังจะซื้อบ้านและคอนโดฯ ต้องรับภาระค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินหลายหมื่นบาท ซึ่งตอนที่ตัดสินใจซื้อเป็นตอนก่อนที่จะมีการประกาศมาตรการดังกล่าว รวมทั้งผู้ประกอบการบ้านและดอนโคฯ บางโครงการไม่ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแก่ผู้บริโภค น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า เรื่องสัญญาการเช่าซื้อและโอนอสังหาริมทรัพย์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนความรับผิดชอบของลูกค้า และผู้ประกอบการซึ่งต้องรับผิดชอบกันคนละครึ่ง การจ่ายเงินค่าโอน ค่าจำนอง หรือค่าอื่นๆ นั้น ต้องมีการเขียนในสัญญาที่ชัดเจน ส่วนความเห็นในเรื่องการยกเลิกมาตรการดังกล่าวเห็นว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะมาตรการดังกล่าวใช้ในช่วงที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปรับลดนู่นนี่เพื่อจูงใจให้คนมาซื้อบ้านและคอนโดฯ กันเยอะๆ แต่พอจะมาประกาศยกเลิกก็ยกเลิกแบบกะทันหัน ทำให้ผู้ที่ตัดสินใจซื้อในตอนแรกมีปัญหา ซึ่งอยากให้แนะนำให้คนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ออกมาร้องเรียนกับภาครัฐฯ ทางด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า “มติดังกล่าวเป็นการประกาศที่รวดเร็วเกินไป ผู้บริโภคตั้งตัวไม่ทัน อย่างคนที่วางเงินดาวน์แล้ว ก็ถอนคืนไม่ได้ ต้องเสียเงินเพิ่ม กู้แบงก์ก็ไม่ทันแล้ว รัฐบาลต้องเร่งสำรวจปัญหาอย่างถ่องแท้ไม่ว่าจะเป็นของผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ซึ่งถ้าพบปัญหาความเดือดร้อน ก็ให้ทบทวนมติ ครม. อาจจะโดยการเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก พร้อมกับแจ้งประชาสัมพันธ์ประชาชนให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งน่าจะเลื่อนไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน” ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ร่วมค้านหลักสูตรแพทย์อินเตอร์ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายผู้ป่วย และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพ ออกแถลงการณ์เรียกร้องกระทรวงสาธารณสุขแก้กฎหมายให้มีตัวแทนจากบุคคลภายนอกเป็นคณะกรรมการแพทยสภา เพราะการมีเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ทำให้ขาดความเข้าใจสังคม เอื้อประโยชน์ รพ.เอกชน และโดยเฉพาะคณะกรรมการที่เป็นเจ้าของและผู้บริหารของ รพ.เอกชนเป็นกรรมการตัดสินใจ จากการแพทยสภาได้รับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ภาษาอังกฤษ (English program) ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยที่สภามหาวิทยาลัยยังไม่อนุมัติหลักสูตรดังกล่าว เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องส่งเสริมคุณภาพและปริมาณของแพทย์ในประเทศไทย แต่เมื่อมีผู้เรียนมากขึ้นแถมยังกำหนดให้ได้เรียนกับอาจารย์ตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับคนรวยเท่านั้น เนื่องจากต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 7 ล้านบาทในการเรียนแพทย์หลักสูตรนี้ ดังนั้นกระทบกับหลักสูตรปกติที่ให้โอกาสทุกคนในการเข้าเรียนแน่นอน การอ้างว่า คณะที่จะดำเนินการเปิดสอนหลักสูตรได้จะต้องได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยของตน ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของแพทยสภา เป็นการปัดความรับผิดชอบ เพราะแพทยสภาควรเสนอให้คณะแพทย์ มศว. ขอความเห็นชอบหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยก่อน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการเรียน รวมถึงรายละเอียดเรื่อง ค่าเทอม การจัดการและความพร้อม ตลอดจนกำหนดการเปิดรับนักศึกษาเป็นต้น ไม่ใช่ทำผิดขั้นตอนโดยเห็นชอบข้อเสนอจากคณะแพทย์โดยตรงทั้งที่ยังไม่ผ่านสภามหาวิทยาลัย ตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ตามมาตรา 7 (5) แพทยสภามีวัตถุประสงค์ในการให้คำแนะนำแก่รัฐในประเด็นสุขภาพและปัญหาทางการแพทย์ ดังนั้นการให้ข่าวของแพทยสภาที่อ้างว่า แพทยสภาไม่ได้มีหน้าที่ในด้านนโยบาย medical hub และแพทย์ต่างชาติ เพราะเป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบนั้น ไม่เป็นจริงเพราะแพทยสภามีหน้าที่โดยตรงในการให้คำแนะนำเรื่องนี้ และสะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจขาดความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของตนเองและผลประโยชน์สาธารณะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ม.61 ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและกระทบต่อการผลิตแพทย์ในหลักสูตรปกติ องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายเอกชนด้านสุขภาพและผู้ป่วย จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขกฎหมายประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ให้คณะกรรมการแพทยสภามีบุคคลภายนอก ดังเช่นกรรมการแพทยสภาในหลายประเทศที่มีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์เป็นกรรมการมากถึง 50 % เพราะการตัดสินใจของแพทยสภาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสังคมกระทบต่อสาธารณะ เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุขที่เป็นบริการจำเป็นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นจึงต้องโปร่งใส มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง และมีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมพิจารณา ด้วยเหตุว่าสการผลิตแพทย์หลักสูตรภาษาอังกฤษนี้ หากพิจารณาให้ดีก็เหมือนการเตรียมการตอบสนองโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซียน (Medical Hub) นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >