ฉบับที่ 178 กฎหมายเครื่องสำอางกับก้าวที่ยังไม่ทันกลยุทธ์การขาย

ตอนแรกผมมองปัญหาเครื่องสำอางเป็นปัญหาเล็กๆ แต่พอได้ศึกษาดูแล้วมันกลายเป็นปัญหาที่ผมมองว่าเป็นระดับชาติและมูลค่าเศรษฐกิจตรงนี้ปีหนึ่งเป็นพันล้าน เพราะคิดต่อคนต่อเดือนประมาณ 2,000 บาทเป็นอย่างน้อย พ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับใหม่ได้รับการปรับปรุงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา 8 กันยายน2558ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยเหตุผลหนึ่งคือการที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กรณีการประกอบธุรกิจเครื่องสำอางในสื่อโซเชียลและการคุ้มครองผู้บริโภคยังมีเรื่องสำคัญที่น่าพิจารณา และเพื่อให้มองรอบด้าน เราจึงไปขอความรู้จาก อัครเดช มณีภาค* ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสนใจและลงมือศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของกฎหมายเครื่องสำอางเป็นพิเศษ ทำไมถึงมาสนใจเรื่องเครื่องสำอางกฎหมายเครื่องสำอางของบ้านเรานับว่า ทันสมัย ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้วมีแนวความคิดว่าเรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมายเครื่องสำอางให้เป็นไปตามบทบัญญัติอาเซียน ซึ่งล่าสุดเรามี พ.ร.บ. เครื่องสำอางฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว นับว่าทันสมัยยิ่งขึ้น แต่กว่าจะผ่านก็ใช้เวลานานพอสมควร ส่วนเหตุผลที่ทำให้ผมสนใจเรื่องนี้เพราะในสังคมปัจจุบันการซื้อขายเครื่องสำอางมันมีวิวัฒนาการก้าวกระโดด จากที่แต่เดิมการเลือกใช้เครื่องสำอางเราจะเลือกซื้อของที่ตลาด ตามห้างสรรพสินค้าปลีกย่อยต่างๆ นี่คือวิถีในการเลือกซื้อทั่วไป แต่ 5 – 6 ปีที่ผ่านมานั้น มีสื่อในโลกโซเชียลเพิ่มมากขึ้น การซื้อขายกรณีเครื่องสำอางนั้นจึงมีหลากหลาย ใครก็สามารถเข้าถึงได้รวดเร็วไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊คหรือไลน์ นี่คือสังคมปัจจุบันที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วและนำไปสู่อาชีพใหม่เกิดขึ้นมานั่นคือ อาชีพของนักศึกษาในการเข้าสู่วงการธุรกิจเครื่องสำอาง *อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและกิจการพิเศษ รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม   ในฐานะอาจารย์ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ นั่นคือ นักศึกษาไม่เพียงแค่เป็นคนซื้อ แต่พวกเขาได้เข้าสู่โลกของการเป็นคนขาย จากเดิมเป็นคนซื้อและทดลองใช้ พอใช้ได้ผลดี(กับตัวเอง) ก็ผันตัวเองมาเป็นคนขายและจัดจำหน่ายในรั้วมหาวิทยาลัย ในห้องเรียนห้องหนึ่งสมมุติมีนักศึกษาจำนวน 100 คน มีคนขายประมาณ 20 คนและอีก 50 คนเป็นคนซื้อ เรื่องนี้มีข้อที่พึงระวัง เพราะลักษณะนี้มันเป็นการขายตรงรูปแบบหนึ่งต้องถูกกำกับดูแลของ พ.ร.บขายตรงและตลาดแบบตรง ข้อที่ควรระวังมากกว่านั้นจากการสัมภาษณ์และสอบถามนักศึกษาคือ เขาไม่ได้สนใจว่าจะมี อย. หรือไม่คือไม่ได้สนใจความปลอดภัยเลย สนใจแต่ความขาว เด้ง ฟรุ้งฟริ้ง คนที่ขายก็ต้องลองกับตัวเอง(ได้ผล)เพื่อให้คนซื้อเชื่อ   ประเด็นนักศึกษาซื้อขายกันเองกฎหมายที่กล่าวมานั้นจะดูแลตรงส่วนนี้ได้อย่างไรบ้างถ้าเกิดความเสียหายก็ต้องไปเรียกร้องกับผู้จำหน่ายและบริษัท ทีนี้ผู้จำหน่ายก็คือเพื่อนเราใช่ไหมที่ขายสินค้ามา คือต้องย้อนกลับไปทฤษฎีเดิม ซึ่งเกิดจากการเลือกใช้ต้องไปเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้จำหน่าย ปัญหาที่ตามมาคือว่า โรงงานที่ผลิตไม่ใช่โรงงานใหญ่ เป็นโรงงานขนาดเล็กและตัวสินค้าไม่มี อย. เท่ากับว่าผู้ซื้อนั้นเสี่ยงภัย ประเด็นนี้มีเยอะเลย ซึ่งไม่ได้เกิดกับของที่สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น เป็นการซื้อขายตรง พอมีเรื่องเกิดขึ้นเกิดผลกระทบคนขายเขาก็บอกหน้าเขาใช้ไม่เคยมีปัญหาอะไร คือว่าเครื่องสำอางถูกกับใบหน้าของคนหนึ่งแต่ไม่ถูกกับอีกคนหนึ่งอันนี้ก็เป็นอีกประเด็น คนขายก็เลยกลายเป็นว่าไปโทษปัจจัยอื่น หาว่าคนที่ซื้อไปนอนดึกเลยใช้ไม่เห็นผล ประเด็นนี้เคยมีกรณีคนที่ถูกฟ้องต่อสู้กันจนถึงศาลฎีกา เป็นประเด็นว่าคนที่ซื้อไปใช้ไปตากแดดไม่ได้เกี่ยวกับเครื่องสำอางโดยตรง   กรณีเครื่องสำอางที่นักศึกษาไม้ค่อยมาร้องเรียนคิดว่าเป็นเพราะอะไรปัญหาคือคนใช้(ยอม)เสี่ยงภัย แล้วบ้านเราเป็นประเภทไม่กล้าที่จะขายความโง่ของตัวเอง ไม่บอกใครเก็บเรื่องไว้คนเดียว นี่คือพูดกันตรงๆ ทุกวันนี้ตัวผมเองไม่ว่าจะไปซื้อสินค้าอะไรมาใช้รวมถึงพวกโทรศัพท์ พลาดไปก็ไม่กล้าบอกใคร   เครื่องสำอางที่เด็กๆ ขายกันนั้นฉลากน่าจะไม่สมบูรณ์ด้วยหรือเปล่า เช่น คำเตือนว่าใช้แล้วห้ามทำแบบนั้น ห้ามทำแบบนี้ มี แต่ฉลากก็ทำขึ้นมาเองและบางกรณีก็ไม่มีฉลากส่วนใหญ่ไม่มี ซึ่งโรงงานผลิตทุกวันนี้เกิดขึ้นมากและบางทีตั้งในกลางกรุงด้วยซ้ำล่าสุด(อย)สคบและตำรวจกองปราบ จับโรงงานใหญ่ที่วังหิน เป็นโรงงานเถื่อน และเดี๋ยวนี้มีรอบๆๆมหาวิทยาลัยน่าจะมีเกือบทุกมหาลัยเลยแต่น่ายังไม่มีใครศึกษาเราเคยได้ยินแต่ร้านเหล้ารอบๆๆมหาลัย ประเด็นนี้น่าคิด ตอนแรกผมมองปัญหาเครื่องสำอางเป็นปัญหาเล็กๆ แต่พอได้ศึกษาดูแล้วมันกลายเป็นปัญหาที่ผมมองว่าเป็นระดับชาติและมูลค่าเศรษฐกิจตรงนี้ปีหนึ่งเป็นพันล้าน เพราะคิดต่อคนต่อเดือนประมาณ 2,000 บาทเป็นอย่างน้อย ผมเคยสัมภาษณ์มาแล้ว แล้วโรงงานเล็กๆ ลงทุน 10 ล้านแต่เขาขายได้กำไร 50 ล้านบาทต่อเดือน โคตรคุ้มเลย แล้วไม่ต้องไปขายเองด้วยผลิตอย่างเดียวแล้วจะมีนายหน้าเข้ามารับแล้วก็ใช้นักศึกษาเป็นคนปล่อยสินค้า   แล้วคนขายไม่ต้องขออนุญาตหรือเป็นเรื่องคนขอผลิต เพราะขอผลิตไปแล้วนั้นผลิตแล้วผลิตเลย หมายความว่าสมมุติผมเป็นเจ้าของยี่ห้อเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งก็ไปจ้างผลิต ผมก็เป็นเจ้าของแบรนด์แล้วก็ไปจดแจ้ง โรงงานก็ต้องไปจดแจ้งด้วย ซึ่งมันง่ายมากในการที่ใครสักคนอยากจะมีแบรนด์เครื่องสำอางของตัวเอง ทุกคนก็ยังสามารถที่จะเป็นเจ้าของแบรนด์ได้ มีเงินสัก 50,000 บาทก็ทำได้ ค่าธรรมเนียมจดแจ้งก็ไม่แพงแล้วก็รอ อย. ประกาศ ซึ่งบ้านเราเป็นลักษณะแบบนี้ คือควบคุมบวกส่งเสริม มันไม่ได้เป็นเหมือนสินค้าควบคุมแบบเครื่องมือแพทย์หรือยา   ในมุมมองของอาจารย์คือเรื่องเครื่องสำอางก่อนที่จะได้เกิดการซื้อขายมันต้องเข้มขึ้นกว่าเดิมใช่ มุมมองผมคือให้ไปควบคุมกระบวนการผลิตส่วนผสม สารเคมี ไม่ใช่ควบคุมที่การโฆษณา คือควบคุมโฆษณานั้นมันจะควบคุมเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่เพราะเขาจ้างโฆษณาแต่โฆษณารายย่อยอย่างสื่อโซเชียลเช่น เฟสบุ๊ค/Lineทุกวันนี้เปิดขึ้นมาขายของทั้งนั้นเลย แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ไม่ค่อยทำผิดกฎหมายในเรื่องกระบวนการผลิตอยู่แล้ว แต่บริษัทเล็กๆ นั้นจะมีปัญหาด้านการผลิต ส่วนผสมที่เป็นเคมี สารต้องห้าม คือผลิตลงทุน 5 – 10 ล้านบาทแค่นั้นเอง ได้กำไรเกือบ50ล้าน ควบคุมการโฆษณาเหมือน กสทช.และอย/สคบ. นั้น ผมมองว่ามันเป็นปลายเหตุ เพราะมันช้ากว่าจะประกาศยกเลิก กว่าจะดำเนินการอะไรต่างๆ นั้นคนขายรวยไปแล้ว และตอนนี้เขาไม่ได้ไปโฆษณาที่ไหนแล้วเขาขายตรงถึงมือเลย เอาไปทดลองใช้ชึ้งเกิดในหมู่วัยรุ่นวัยมัธยมแล้ว และเรื่องนี้ก็ยังไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง ผมเคยขึ้นไปสอบ คณะกรรมการถามว่าจะเอาไปเป็นอาชญากรรมหรือ? ก็น่าคิดนะ เพรารัฐบาลสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ แต่เราก็มองถึงความปลอดภัย   อย่างนี้คนจะไม่ว่าว่าเป็นการตัดช่องทางทำมาหากินของบริษัทเล็กๆ เหรอไม่ใช่ คือมองว่าความปลอดภัยของผู้บริโภคต้องมาก่อนอันดับหนึ่ง ตอนนี้กลายเป็นว่ามันเป็นธุรกิจช่องทางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มองถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค นานๆ ทีจะได้เห็นทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอางปลอมซึ่งเป็นเรื่องที่ดี   แล้วมีอีกช่องทางหนึ่งคือไม่ได้ผลิตแต่บอกว่านำเข้าจากเกาหลีมันคืออันนี้เลย มันไม่ได้เกาหลีมันคือที่นี่ ผลิตที่เมืองไทย เป็นฉลากปลอมและทุกวันนี้สินค้าที่บางคนบอกว่าเป็นสินค้าปลอดภาษีแต่นั่นคือของปลอม คือบ้านเรามีแบบผลิตเอง ทำเอง แบรนด์ตัวเอง แบบที่สองคือแบรนด์ต่างประเทศผลิตในเมืองไทยนี้แหล่ะแต่ปลอมมา แล้วทำเนียนด้วย เหมือนเลย รู้สึกว่าสินค้าที่ได้รับการปลอมมากที่สุดคือยี่ห้อชิเซโด้ มีการปลอมเยอะมาก ลูกศิษย์ผมก็เอามาขายผมยังซื้อไว้เลยซื้อให้แฟน แฟนบอกของปลอม คนที่เคยใช้เขาเปิดดูแล้วรู้เลย คือมันไม่ใช่สินค้าปลอดภาษีแต่นี่คือของปลอม แต่กลยุทธ์ทางการขายคือบอกว่ามันถูกเพราะ Duty Free แล้วคนที่ไม่เคยใช้ก็คิดว่ามันเป็นของแท้ ในมุมมองของนักกฎหมายคิดว่าผู้บริโภคไทยได้ใช้สิทธิ ได้ทำหน้าที่ของตนเองได้ดีพอหรือยัง การใช้สิทธิของตนเอง ในทุกเรื่องเลยนะผมว่าน้อย ยกตัวอย่างคดีข่มขืนกระทำชำเรานั้นมีการไปแจ้งความร้องทุกข์น้อยมาก ใน 1 ปีมีคดีแบบนี้เป็นพันแต่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้นไม่ถึงหลักร้อย อย่าคดีคุ้มครองผู้บริโภคผู้ได้รับผลการกระทบสิทธิใช้สิทธิของตัวเองน้อยมาก การทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เจาะไปที่เรื่องเครื่องสำอางก็ได้ ณ ปัจจุบันนี้คือ สิทธิของเราถูกปกป้องน้อยมากและตัวคนที่เลือกซื้อเครื่องสำอางเองก็ตามมีความอับอาย ผู้ซื้อยอมเสี่ยงภัยเข้าไปซื้อเอง คือรู้ว่ามีความเสี่ยงแต่ก็ยอมเพื่อความสวย ความงาม มันก็เลยเกิดความอับอาย   ยกตัวอย่างให้ฟังได้ไหมคดีอันเกิดจากเครื่องสำอางเอาเคสที่เป็นคดีเลยละกันนะ ผมขอเรียกว่าเคสคุณปัญญาได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องสำอางลักษณะใบหน้าผุผัง ลอก ดำ ซึ้งผมได้ไปสัมภาษณ์และได้พูดคุยและให้ความช่วยเหลือในระดับหนึ่งและก็ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจาก(อย)ในค่าใช้จ่ายเดินทางไปหาหมอ เกือบ 10 ปีศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย ยังไม่ได้เงินเยียวยา ทุกวันนี้คดียังอยู่ในศาลฎีกาเกือบ10 ปียังไม่ได้รับเงินเยียวยา   อาจารย์คิดว่าอยากให้มีอะไรเพิ่มเติมในกฎหมาย พอประกาศใช้กฎหมายเครื่องสำอางฉบับใหม่เราไปอิงในบทบัญญัติอาเซียนซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นเขาก็ยังไม่มีทีท่าที่จะทำให้มันเป็นไปตามบทบัญญัติอาเซียน ยกเว้นไทยและสิงคโปร์ และ ในอนาคตมีเรื่องพิจารณา 2 เรื่องคือการเยียวยาข้ามแดนและการเลือกซื้อเครื่องสำอางข้ามแดน เช่น เราซื้อเครื่องสำอางจากพม่ามาใช้แล้วเกิดความเสียหายก็เอาผิดกับใครไม่ได้ แต่ถ้าคนพม่ามาซื้อเรา เรามีความคิดว่าจะเยียวยาข้ามแดนให้เขาซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดนกรณีนี้ก็มีการจัดสัมมนาและพูดคุยกันอยู่ในประเด็นนี้   อาจารย์มีอะไรที่จะฝากในช่วงท้าย ปัญหาเรื่องเครื่องสำอางจะถูกพูดถึงน้อยกว่าเรื่องอื่นๆอาจเป็นเพราะผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้นไม่ได้เกิดในทันทีทันใดแต่พอใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานไปนานๆๆนั้นจะกระทบต่อร่างกายเหมือนตายผ่อนส่ง ซึ่งคิดว่าควรเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นมากขึ้นเอาไปเป็นนโยบายเลย การคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องสำอางควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ส่วนผสม และกระบวนการกำกับดูแลติดตามตรวจสอบหลังจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ ควรมีกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องสำอาง และเน้นให้ความรู้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผู้ประกอบการเครื่องสำอางรายเล็กๆๆให้มีประสิทธิภาพ การควบคุมและกำกับดูแลเครื่องสำอางในปัจจุบันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นได้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กสทช. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ถือว่าเป็นหลักประกันสิทธิผู้บริโภค อันนี้ส่วนราชการยังมีองค์กรหรือหน่วยงานที่มาช่วยขับเคลื่อนสิทธิของผู้บริโภค เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค มาบูรณาการการทำงานร่วมงาน เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและส่งเสริมเครื่องสำอางไทยให้มีคุณภาพและปลอดภัย  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point