ฉบับที่ 211 เกมเสน่หา : ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม!!!

เกมเสน่หา : ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม!!!                                                                                                                             แรกเริ่มที่ได้ยินชื่อละครโทรทัศน์ว่า “เกมเสน่หา” นั้น ผู้เขียนก็รู้สึกสนใจใคร่รู้ว่า ทุกวันนี้เรื่องของความรักและความ “เสน่หา” ได้ถูกเสกสรรปั้นแต่งให้กลายเป็น “เกม” ที่มนุษย์เราใช้วางหมากวางกลระหว่างกันและกันแล้วหรือ?     และยิ่งเมื่อได้ยินประโยคที่ “เหมือนชนก” นางเอกของเราเชือดเฉือนคารมกับ “ลัคนัย” พระเอกหนุ่มรูปหล่อในเรื่องว่า “ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งชวนให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า แล้วในทุกวันนี้สังคมได้เปลี่ยนนิยามของความเป็น “เกม” ให้แตกต่างไปจากที่เคยรับรู้กันมาเยี่ยงไร?      ย้อนไปในยุคอดีต เกมถือเป็นกิจกรรมทางสังคมที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นมา เพื่อขีดวงให้เป็นพื้นที่ที่แยกตัวออกไปจากชีวิตประจำวันปกติ เช่น เกมเป็นกิจกรรมที่เล่นในช่วงเวลาว่างที่แยกไปจากชีวิตการทำงานประจำของเรา     และที่สำคัญ เมื่อคนเราเข้าสู่สนามแห่งเกม เราก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า ในเกมนั้นมีกฎกติกาซึ่งผู้เล่นแต่ละคนต่างก็ต้องเคารพและพึงปฏิบัติตาม เพราะถือเป็นข้อตกลงร่วมที่กำหนดขึ้นเอาไว้ก่อนหน้าที่เราจะลงไปในสนามเสียด้วยซ้ำ แต่ทว่า ภายใต้กฎแห่งเกมนั้น ปัจเจกบุคคลที่เดินหมากอยู่ก็สามารถสร้างสรรค์ทำการอันใดได้ แต่ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขของกรอบกติกาที่สังคมได้ร่วมกันกำหนดตกลงเอาไว้     ครั้นเมื่อสังคมสมัยใหม่ได้ก่อร่างก่อตัวขึ้นมา ระบอบทุนนิยมกลับเปลี่ยนแปลงความหมายของเกมเสียใหม่ จากเดิมที่เกมเป็นพื้นที่ที่มนุษย์ใช้เพื่อทำความเข้าใจที่อยู่ร่วมกันโดยเคารพซึ่งกฎกติกา กลายมาเป็นสนามแห่งการแข่งขันช่วงชิงเพื่อกำชัยชนะระหว่างกัน ไม่ว่าจะในพื้นที่ส่วนรวมของสังคม เช่น การวางหมากเกมทางการเมือง หรือการเอาชนะเกมการแข่งขันทางธุรกิจ ลามไปจนถึงในพื้นที่ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคล หรือแม้แต่ใน “เกมเสน่หา” เหมือนกับชื่อของละคร     กับนิยามความหมายใหม่ของเกมเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากกรณีความสัมพันธ์ของเหมือนชนกและลัคนัย ที่เคลื่อนไปท่ามกลางสงครามความขัดแย้งในชีวิตรัก ชีวิตคู่ และชีวิตครอบครัวของเหมือนชนกเอง      เปิดฉากแรกมา นักเรียนนอกรูปสวยรวยทรัพย์อย่างเหมือนชนก ลูกสาวของ “ธวัช” และ “วิสาขา” ได้ถูกวางคาแรกเตอร์ไว้ให้เป็นคุณหนูผู้เอาแต่ใจตัวเอง และพยายามขีดกฎกติกาเพื่อเล่นเกมให้โลกทั้งโลกต้องมาโคจรรอบตัวเธอ ไม่ว่าจะเป็นการเอาชนะเพื่อนนักเรียนด้วยกัน หรือการสร้างวีรกรรมมากมายตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนต่างแดน    ครั้นเมื่อเหมือนชนกเดินทางกลับมาเมืองไทย เธอก็ต้องเซอร์ไพรส์กับข้อเท็จจริงที่ว่า ธวัชและวิสาขาเพิ่งจะจดทะเบียนหย่าอย่างเป็นทางการ ความจริงข้อนี้จึงเป็นสิ่งที่คุณหนูขี้วีนมิอาจรับกับความพ่ายแพ้ดังกล่าวได้ และพยายามที่จะเดินเกมทุกอย่างให้พ่อกับแม่กลับมาเคียงคู่เป็นสามีกันอีกคำรบหนึ่ง    เนื่องจากเหมือนชนกเป็น “เธอผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ในเกมใดๆ” เธอจึงวางหมากเดินเกมต่างๆ ที่จะหน่วงรั้งให้ครอบครัวที่บุพการีแยกทางกัน กลับมาเป็นครอบครัวแบบ “พ่อแม่ลูก” ที่เหมือนชนกสามารถจับทุกคนให้มาเป็นเบี้ยบนกระดานที่เธอจะเดินไปมาแบบใดก็ได้     ตั้งแต่การเดินเกมจัดการความสัมพันธ์ระหว่างธวัชกับว่าที่แม่เลี้ยงคนใหม่อย่าง “พิมลแข” หรือการอาศัยยืมมือทั้งวิสาขาและ “มาลินี” ผู้เป็นยาย ให้เข้ามาขัดขวางการแต่งงานครั้งใหม่ของบิดา รวมไปถึงการพยายามเอาชนะแม้แต่กับ “เพ็ญพรรณี” บุตรสาวของ “ไพพรรณ” แม่บ้านที่รักเหมือนชนกไม่ต่างจากลูกสาวของตน เพียงเพื่อจะบอกกับทุกคนว่า คุณหนูของบ้านก็ต้องมีชัยเหนือกว่าใครต่อใครในบ้านทุกคน    เพราะเหมือนชนกนิยามความหมายของเกมว่า เป็นเวทีแข่งขันที่มีเฉพาะผู้ชนะเท่านั้นจึงจะบรรลุถึงจุดหมายปลายฝันได้ ดังนั้น ผู้คาดหวังชัยชนะจึงไม่สนใจว่า เกมที่ตนเล่นจะยุติธรรมหรือไม่ หรือในการเดินเกมแต่ละครั้งของเธอจะยืนอยู่บน “กฎกติกา” หรือ “ข้อตกลงร่วม” ที่ผู้เล่นทุกคนยอมรับโดยชอบธรรมหรือไม่อย่างไร หากเพราะเกมจะดำเนินไปได้ก็ด้วย “กฎกติกา” ที่เหมือนชนกเป็นผู้เขียนขึ้นเพียงคนเดียว    และที่สำคัญ เมื่อเกมที่เหมือนชนกเขียนกติกาขึ้นด้วยตัวของเธอเองดำเนินไปถึงขีดสุด ลัคนัยพระเอกหนุ่มของเรื่องจึงถูกดึงเข้ามาเห็นหมากอีกตัวหนึ่งบนกระดาน เมื่อเธอจำใจเลือกที่จะแต่งงานกับลัคนัย ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นอดีตคนรักของพิมลแข เพียงเพราะหวังว่าการแต่งงานครั้งนี้จะเป็นเกมที่เหมือนชนกบงการหลอกใช้ลัคนัยให้ช่วยริดรอนความสัมพันธ์ระหว่างธวัชและพิมลแขได้นั่นเอง     เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงจุดพลิกผันของเรื่อง ในขณะที่เหมือนชนกคิดอยู่ตลอดว่า “ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม” ที่เธอจะจับวางใครต่อใครมาเป็นหมากเป็นเบี้ยให้เดินได้ แต่อันที่จริงแล้ว หากเหมือนชนกสามารถขีดกติกาของเธอในการเดินเกมแบบใดก็ได้ ลัคนัยเองก็ต้องการให้บทเรียนกับเธอว่า บนหมากกระดานเดียวกันนั้น แม้แต่หมากเบี้ยอย่างลัคนัยก็มีสิทธิ์ที่จะเขียนกฎของการเล่นเกมขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน    ดังนั้น เมื่อทราบว่าเหมือนชนกตั้งครรภ์ และเธอก็ยังยืนกรานว่านั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของเกมที่จะเอาชนะตัวละครทุกคน ลัคนัยก็ได้สร้างข้อตกลงกับเธอว่า ถ้าลูกที่คลอดออกมาเป็นเพียงเกมที่ไม่ได้เกิดจากความรักของผู้เป็นแม่แล้ว เขาก็ขอสิทธิ์ในการดูแลลูกที่เกิดมาและจะหลบหน้าหายไปจากชีวิตของเหมือนชนกตลอดไป    เพราะฉะนั้น วันเดียวกับที่เหมือนชนกคลอดลูกชาย ลัคนัยก็เลือกที่จะพรากลูกและเดินออกไปจากชีวิตของเหมือนชนก ซึ่งนั่นก็เท่ากับเป็นการบอกแก่เธอว่า ในชีวิตคู่และสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่คนสองคนจะแข่งขันเป็นเกมการเมืองเพื่อเอาชนะกัน หรือถูกเบียดบังจนมืดมนไปด้วยทิฐิที่จะห้ำหั่นให้อีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้จนราบคาบ    แม้ผู้ชมเองจะเดาได้ไม่ยากว่า “หมากเกมนี้ฉันก็รู้ว่าจะต้องลงเอยอย่างไร” เพราะฉากจบเหมือนชนกก็ได้ทบทวนตนเอง และพยายามที่จะไขว่คว้าให้ชีวิตคู่ของเธอกลับคืนมา แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวละครก็ยังเรียนรู้ด้วยว่า เกมที่เดินไปในชีวิตจริงไม่ควรถูกนิยามว่าเป็นการแข่งขันเพื่อเอาชนะ โดยไปล่วงละเมิดความปรารถนาของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดา ชายคนรัก หรือคนอื่นๆ โดยไม่ยอมรับในข้อตกลงกฎกติการ่วมแต่อย่างใด     แม้ว่าทุกวันนี้ระบอบทุนนิยมจะนิยามความหมายใหม่ให้กับเกมว่า เป็นเวทีที่ปุถุชนจะต่อสู้เพื่อชิงชัยชนะเหนือผู้อื่น แต่ในท้ายที่สุด ข้อสรุปใน “เกมเสน่หา” ที่มนุษย์ต่างเดินหมากวางกลใส่กันนั้น ก็คงไม่ต่างจากประโยคที่คุณยายมาลินีของเหมือนชนกได้กล่าวไว้ว่า “…นี่แหละที่สอนให้ฉันรู้ว่า ทิฐิมันไม่เป็นผลดีกับใคร โดยเฉพาะกับคนที่รักกัน...”

อ่านเพิ่มเติม >