ฉบับที่ 166 เงา : เมื่อมัจจุราชสวมบทบาทเป็นนักวิจัย

“มนุษย์เราต่างก็มีกรรมเป็นประดุจเงาตามตัว” สัจธรรมความจริงข้อนี้ ดูจะเป็นแก่นแกนหลักที่ละครโทรทัศน์เรื่อง “เงา” ตั้งใจผูกเรื่องเอาไว้ให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้ชม ตามแก่นของเรื่องราวข้างต้น ตัวละครทั้งหมดที่เวียนว่ายเกิดแก่เจ็บตายและเกิดใหม่ในอีกชาติภพ ต่างก็สร้างผลกรรมดีชั่วแตกต่างกันไป และเมื่อสังขารแตกดับไปแล้ว กำเกวียนและกงเกวียนนั่นเองที่จะหมุนเป็น “เงาตามตัว” เพื่อพิพากษาว่าใครจะได้รับผลอย่างไรในสัมปรายภพ กับการพิสูจน์ความจริงข้อนี้ ละครโทรทัศน์เรื่อง “เงา” ก็ได้เลือกมองผ่านตัวละคร “วสวัตดีมาร” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มัจจุราชผู้พิพากษาดวงวิญญาณต่างๆ ที่แตกดับไปตามอายุขัยของตน หากมนุษย์คนใดทำคุณงามความดีเอาไว้ พญามัจจุราชก็จะมายืนอยู่ปลายเท้าเพื่อรับส่งดวงวิญญาณนั้นไปสู่สุคติ แต่หากบุคคลใดทำแต่ผลกรรมความเลวไว้ พญามารก็จะยืนเป็น “เงา” เหนือหัว และพิพากษาลงทัณฑ์ดวงวิญญาณนั้นในนรกภูมิ แต่ดูเหมือนว่า สถิติที่พญามัจจุราชท่านได้สำรวจไว้ก็พบว่า สัดส่วนของวิญญาณที่มีกรรมชั่วติดเป็นเงาตามตัว นับวันจะดูมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหตุให้พญามารถึงกับเกิดความสงสัย และเริ่มสิ้นหวังกับการสั่งสมผลกรรมความดีของปุถุชน ท่านจึงเริ่มจะแสวงหาคำตอบเพื่อจะดูว่า ตนยังพอจะมีความหวังให้กับมนุษย์กับการทำความดีอีกต่อไปหรือไม่ และแม้วสวัตดีมารจะครองตนอยู่ในอีกภพภูมิที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของมนุษย์จะสัมผัสจับต้องหรือชั่งตวงวัดได้ แต่ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งก็คือ วิธีการค้นหามาซึ่งคำตอบต่อข้อสงสัยของพญามาร กลับเลือกใช้กระบวนการทำวิจัยในแบบนักวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการพิสูจน์ให้เห็นความเป็นจริงรอบตัวด้วยวิธีการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์   ด้วยเหตุดังกล่าว ภายใต้ “โจทย์ของการวิจัย” ที่ว่า “เพราะเหตุใดมนุษย์ทุกวันนี้จึงทำความดีน้อยลง” วสวัตดีมารจึงลงมือทำงานวิจัยสนาม (หรือที่ภาษาเก๋ๆ จะเรียกว่า “field study”) ด้วยการแปลงตัวมาใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ปุถุชนทั่วไปในชื่อ “ท่านชายวสวัต” และเข้าร่วมสังเกตการณ์และสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคนแล้วคนเล่า เพื่อตอบข้อสงสัยตามโจทย์ที่กล่าวมานั้น ประกอบกับอีกด้านหนึ่ง ละครก็ตั้งคำถามที่น่าสนใจพ่วงเข้าไปอีกด้วยว่า แม้จะเป็นมัจจุราชพญามาร แต่นั่นก็ใช่ว่า ท่านชายวสวัตจะหลุดพ้นไปจากกงล้อแห่งกรรมไม่ เพราะอดีตชาติของพญามารเองก็เคยทำกรรมเลวบางประการเอาไว้ ดังนั้นท่านชายก็เลยต้องดื่มน้ำจากกระทะทองแดงทุกๆ ชั่วยาม เพื่อเป็นการลงโทษตามกรรมของตนเองไปด้วย จวบจนกว่าจะหลุดพ้นการทำหน้าที่พญามัจจุราช เมื่อสามารถหาคนที่มีปริมาตรกรรมดีและกรรมชั่วเท่าๆ กัน มารับหน้าที่ดังกล่าวสืบแทน ในฐานะของนักวิจัยเชิงประจักษ์ที่เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างปุถุชนทั้งหลายนั้น ท่านชายวสวัตได้เข้าไปผูกสัมพันธ์กับกลุ่มตัวอย่างที่น่าจะให้ข้อมูลสำคัญหลักๆ (หรือที่ภาษานักวิจัยเรียกว่า “แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ”) อย่าง “อิศรา” ตัวละครซึ่งไม่เพียงแต่ท่านชายจะหมายตาไว้ให้มาสืบต่อตำแหน่งพญามัจจุราชในลำดับถัดไป แต่เขายังเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ท่านชายเฝ้าติดตามสังเกตและสัมภาษณ์เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างเข้มข้น และเพื่อให้ข้อมูลมีความรอบด้านและน่าเชื่อถือ ท่านชายวสวัตก็ได้ใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลประกอบจากกลุ่มตัวอย่างคนอื่นๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงสามคนที่อยู่รอบตัวอิศรา เริ่มตั้งแต่ผู้หญิงคนแรก “คุณย่าอุ่น” ผู้ที่เลี้ยงดูอิศรามาตั้งแต่เด็ก แต่เพราะชีวิตเวียนวนอยู่ในโลภะโทสะโมหะและประกอบแต่กรรมชั่วในชาติภพปัจจุบัน คุณย่าอุ่นจึงไม่เพียงแต่เลี้ยงดูอิศรามาอย่างผิดๆ แต่เธอยังมีดวงวิญญาณเจ้ากรรมนายเวรตามคอยรังควานหลอกหลอนจนถึงวันสิ้นลม ส่วนผู้หญิงคนที่สองก็คือ “ชาลินี” ญาติลูกพี่ลูกน้องของอิศรา ชาลินีคือตัวแทนของคนที่มีบาปกรรมติดตัวมาตั้งแต่ชาติปางก่อน และแม้จะมาเกิดในภพปัจจุบัน เธอก็ยังเลือกเป็น “ผู้หญิงหลายบาป” ทั้งฆ่าคน ฆ่าลูกของตน และทำบาปกรรมต่างๆ อย่างมากมหันต์ และเพราะบาปกรรมที่ได้ก่อเอาไว้ คุณย่าอุ่นและชาลินีที่อาจจะมีความสุขให้ได้เสพในกาลปัจจุบัน จึงไม่อาจสัมผัสถึงตัวตนที่แท้จริงของท่านชายวสวัต จนเมื่อถึงวันที่ร่างสังขารของพวกเธอแตกดับไปนั่นแหละ ที่ทั้งสองคนจึงพบว่ากรรมคือ “เงา” ที่ตามมาพิพากษาลงทัณฑ์ และเบื้องหลังธาตุแท้ของท่านชายวสวัตรูปงาม ก็คือพญามัจจุราชที่คอยทำวิจัยสำรวจบาปกรรมต่างๆ ที่พวกเธอสั่งสมเอาไว้ จนมาถึงผู้หญิงคนที่สามและเป็นหญิงคนรักของอิศราอย่าง “เจริญขวัญ” ผู้ที่คิดดีทำดี กลับฉายภาพที่แตกต่างออกไปในฐานะตัวแทนของคนที่สั่งสมแต่กุศลกรรมความดี และเสียสละเพื่อมนุษย์คนอื่นที่อยู่รอบตัว การได้มาเผชิญหน้ากับกลุ่มตัวอย่างแบบเจริญขวัญนั้น ทำให้ท่านชายวสวัตได้ข้อสรุปต่อโจทย์วิจัยที่ท่านสงสัยอยู่ว่า ด้านหนึ่งในท่ามกลางมนุษย์ปุถุชนที่เอาแต่ทำบาปทำกรรมอย่างมิอาจกลับตัว แต่ก็ยังมีมนุษย์บางคนที่พอจะเป็นความหวังและให้ความเชื่อมั่นได้ว่า คนที่ยังศรัทธาในคุณธรรมความดีจริงๆ ก็ไม่เคยหายไปจากโลกเล็กๆ ใบนี้เลย อย่างไรก็ดี แม้โดยหลักการแล้ว นักวิจัยมักถูกเรียกร้องให้วางตนเป็นกลางโดยไม่แทรกแซงความเป็นไปของกลุ่มตัวอย่าง เฉกเช่นวสวัตดีมารที่ต้องพิพากษาบาปบุญของมวลมนุษย์ไปตามข้อเท็จจริงแบบไร้อคติเจือปน แต่จริงๆ แล้ว แม้แต่มัจจุราชเองกลับพบว่า อคติและความผูกพันนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากยิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะความผูกพันกับคุณธรรมความดีของเจริญขวัญ การเดินทางมารับวิญญาณของเธอไปสู่สุคติในตอนท้ายเรื่อง ก็ยังอดทำให้พญามัจจุราชต้องรู้สึกหวั่นไหว จนไม่คิดอยากจะทำภาระหน้าที่ดังกล่าวนั้นเลย คนไทยมักจะพูดกันอยู่เสมอว่า แม้บาปกรรมอาจไม่ได้ส่งผลให้เห็นทันตาในชาตินี้ก็จริง แต่เวรกรรมก็เป็น “เงา” ที่ตามตัวไปหลังความตายอย่างแน่นอน ก็คงไม่ต่างจากรูปธรรมของภาพที่เราได้เห็นท่านชายวสวัตตามมาเป็น “เงา” เพื่อทำวิจัยสนามเก็บข้อมูล ก่อนจะสะท้อนและพิพากษาผลกรรมความดีความชั่วของสรรพชีวิตในอีกภพภูมินั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 แรงเงา : ความยุติธรรมกับการ “say no”

“มนุษย์” ต่างจากสรรพชีวิตอื่นๆ ที่อยู่บนโลกใบนี้อย่างไร? เมื่อหลายวันก่อน คุณป้าข้างบ้านได้กล่าวกับผู้เขียนว่า ถ้ารักที่จะเป็น “มนุษย์” แล้วล่ะก็ ต้องหัดทำตัวให้ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นด้วยการ “say no” ให้เป็นบ้าง ไม่ใช่มีแต่ “say yes” อยู่เพียงสถานเดียว ก็ดูบทเรียนจากตัวละครพี่น้องฝาแฝดอย่างมุตตากับมุนินทร์ดูก็ได้ แม้ว่าด้านหนึ่งทั้งคู่จะเป็นฝาแฝดที่ใบหน้าเหมือนกันอย่างยากจะแยกออกว่าใครเป็นใครแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทั้งสองกลับมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แบบที่มุตตาเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่เป็นแต่ “say yes” ในขณะที่มุนินทร์ผู้พี่กลับเป็นผู้หญิงที่รู้จักกับการ “say no”   ปมชีวิตของตัวละครผู้ “say yes” แบบมุตตานั้น ก็เริ่มต้นจากการเติบโตมาในครอบครัวที่รักลูกไม่เท่ากัน (แม้ใบหน้าจะเคาะออกมาจากพิมพ์ฝาแฝดเดียวกันก็ตาม) และยังเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ให้คุณค่ากับลูกที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น   ด้วยเหตุนี้ มุตตาจึงปรารถนาที่จะพิสูจน์ตนว่า เธอเองก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ทัดเทียมพี่สาว และน้องนางบ้านไร่อย่างเธอจึงเลือกตัดสินใจเดินทางเข้ามาเผชิญชะตาชีวิตในเมืองกรุง แต่ด้วยเพราะความไม่เจนต่อโลกและรู้จักแต่การ “say yes” เท่านั้น มุตตาจึงมีสถานะเป็นเพียงแค่ “เหยื่อ” ในสังคมเมืองกรุงที่มนุษย์เอาแต่แยกเขี้ยวคำรามขบกัดกันและกัน   เพราะฉะนั้น เมื่อต้องมาเจอกับสุดยอดแห่งความเจ้าชู้ไก่แจ้อย่าง ผอ.เจนภพ ผู้เจนจัดและชำนาญการบริหารเสน่ห์หลอกล่อสตรีเพศด้วยคารมอ่อนหวาน มุตตาผู้ที่หัวอ่อนเชื่อง่ายก็เริ่มสร้างโลกแฟนตาซีที่ไม่แตกต่างไปจากนางเอกในนิยายโรแมนซ์ที่เธออ่านอยู่เป็นประจำว่า หญิงสาวแรกรุ่นอย่างเธอกำลังได้มาประสบพบรักกับชายสูงวัย และฝันจะลงเอยกับเขาในชุดเจ้าสาวสีขาว ถึงแม้ว่าในภายหลังเธอจะรู้ความจริงว่า ผอ.เจนภพ นั้นมีภรรยาแบบเป็นตัวเป็นตนแล้วก็ตาม   ซ้ำร้ายภรรยาหลวงอย่างนพนภานั้น ก็เป็นผู้หญิงที่มีอำนาจเงิน ซึ่งใช้บัญชาใครต่อใครให้มาดักทำร้ายมุตตา หรือแม้แต่ฉากที่นพนภาตบน้องสาวฝาแฝดต่อหน้าผู้คนจำนวนมากหน้าสถานที่ทำงาน ก็สะท้อนอำนาจของเธอว่าไม่มีใครสักคนที่กล้าจะอาสาเข้าไปช่วยเธอได้เลย   และแม้เมื่อมุตตาจะหันหน้าไปพึ่งพาปรึกษาใครสักคนในกองงานพัสดุภัณฑ์อันเป็นสถานที่ทำงานของเธอ เพื่อนที่ “ร่วมงาน” แต่ไม่ได้ “ร่วมทุกข์สุข” ก็กลับกลายมาเป็นโจทก์ที่รุมกระหน่ำทำร้ายเธอได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก   ไล่เรียงตั้งแต่ปริมที่เห็นมุตตาเป็นศัตรูหัวใจที่เข้ามาช่วงชิงวีกิจพระเอกของเรื่อง กลุ่มแก๊งเพื่อนกะเทยที่คอยแอบถ่ายคลิปลับของมุตตาเอาไว้ประจานผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงรัชนกหรือหนูนกที่หน้าตาวาจาใสซื่อ แต่เบื้องหลังแล้วกลับแฝงไว้ด้วยร้อยแปดเล่ห์กลมารยา   ในสถานการณ์ที่สถาบันครอบครัวก็ล้มเหลว เพื่อนฝูงก็คือคนที่พึ่งพาไม่ได้ หรือเป็นห้วงที่ชีวิตตกอยู่ในภาวะแปลกแยกถึงขีดสุดกับโลกรอบตัวเช่นนี้ มุตตาผู้รู้จักแต่ “say yes” จึงมีสภาพแบบ “หลังพิงฝา” และการตัดสินใจฆ่าตัวตายของเธอนั้น ก็สะท้อนให้เห็นการปรับตัวเข้ากับสภาวะแปลกแยกของสังคมไม่ได้ จนต้องยอมจำนนรับชะตากรรมว่า ทุกอย่างเป็นความผิดเนื่องแต่ตนเองเท่านั้น   ตรงกันข้ามกับพี่สาวฝาแฝดอย่างมุนินทร์ ที่มีความเชื่อว่า หากต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบที่แสนโหดร้าย และผู้คนต่างเป็นเสมือนหมาป่าของกันและกันแล้ว การรู้จัก “say no” ให้กับระบบสังคมที่ล้มเหลวเท่านั้น น่าจะเป็นคำตอบให้กับความอยู่รอดของชีวิตในสังคมเยี่ยงนี้   แม้ในเบื้องต้น มุนินทร์เองก็เชื่อว่าความล้มเหลวของสถาบันครอบครัวคือจุดเริ่มต้นแห่งปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของตัวละคร แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า มีการสมรู้ร่วมคิดจากผู้คนอื่นๆ ในสังคมแห่งนี้อีกหรือไม่ ที่เลือกกระทำโดยไม่เคารพศักดิ์ศรีของตัวละครผู้ไร้ทางออกในชีวิตอย่างมุตตาเสียเลย   เพราะฉะนั้น หลังจากที่แฝดผู้น้องเสียชีวิตลง มุนินทร์ผู้ไม่ได้เชื่อหรือหลงใหลไปกับโลกแฟนตาซีลวงตา แต่เชื่อในการสืบค้นความเป็นจริงจากหลักฐาน จึงเริ่มลงมือเก็บข้อมูลของตัวละครแต่ละคนที่เข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตของน้องสาว เพื่อวินิจวิจัยว่าใครบ้างที่เป็นตัวแปรผู้บีบคั้นให้มุตตาเจ็บช้ำจนต้องกระทำอัตวินิบาตกรรม   ในขณะเดียวกัน เมื่อรู้จักที่จะ “say no” และพินิจพิจารณาคนจาก “ธาตุแท้” และความเป็นจริงอย่างจริงๆ ของสังคม มุนินทร์จึงใช้ทั้ง “หนึ่งสมอง” และ “สองมือ” จัดการกับทุกตัวละครที่เป็นต้นเหตุทำลายชีวิตน้องสาวของเธอ ซึ่งแน่นอนว่า ตัวละครแรกที่เธอหมายหัวเอาไว้ก็คือครอบครัวของ ผอ.เจนภพ และนพนภานั่นเอง   หากมุตตามองว่าสร้อยไข่มุกที่ ผอ.เจนภพ มอบให้ เป็นตัวแทนของความรักความผูกพันที่ชายผู้นี้มีให้กับเธอ มุนินทร์กลับ “say no” และนิยามสร้อยไข่มุกเส้นเดียวกันนี้ต่างออกไปว่า อีกด้านหนึ่งของความรักก็ไม่น่าจะต่างอะไรไปจากพันธนาการที่ทั้งตัวละครและสังคมผูกให้กับผู้หญิงที่อ่อนหัดและอ่อนแอต่อโลกเท่านั้น เหมือนกับที่มุนินทร์ได้พูดกับเจนภพไว้อย่างแสบสันต์ว่า “ศักดิ์ศรีของผู้หญิงมันหมดไปเมื่อถูกผู้ชายลวงเข้าม่านรูดไปแล้ว...”   หลังจากนั้น ละครก็เลือกที่จะฉายภาพให้ผู้ชมลุ้นไปกับด้านที่มุนินทร์ออกแบบกลวิธีต่างๆ เพื่อแก้แค้นครอบครัวของเจนภพและนพนภา รวมไปถึงบรรดาผองเพื่อนร่วมงานตัวร้ายผู้สมคบคิด   แต่ในอีกด้านหนึ่ง ละครก็คงต้องการบอกผู้ชมและให้บทเรียนกับตัวละครเหล่านี้ว่า หากคุณต้องมาอยู่ในสถานการณ์เดียวกับที่มุตตาเคยเผชิญมาบ้าง หรือต้องถูกบีบให้มายืน “หลังพิงฝา” แบบไม่มีทางออกบ้างแล้ว พวกคุณจะรู้สึกเช่นไร   ดังนั้น ฉากการเผชิญหน้าระหว่างมุนินทร์กับนพนภา และเธอได้โยนไดร์เป่าผมที่ถอดปลั๊กแล้วลงไปในอ่างจากุชซี่ที่นพนภานอนแช่อยู่ ก็คือการสร้างสถานการณ์ให้นพนภาผู้มีอำนาจเงินในมือ ต้องมาเผชิญกับสถานการณ์ที่ไร้ทางออกบ้างนั่นเอง   หากโลกทุกวันนี้มีสภาพไม่ต่างอะไรไปจากครอบครัวที่ล้มเหลวของฝาแฝดพี่น้อง หรือเป็นเหมือนกองงานพัสดุภัณฑ์ ที่ผู้คนมีแต่ใส่หน้ากากและกระทำร้ายทั้งชีวิตและจิตใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การที่ผู้หญิงสักคนต้องใช้ชีวิตในโลกแบบนี้ อาจต้องอยู่บนตัวเลือกแล้วว่า เธอจะ “say yes” แบบแฝดน้องมุตตา หรือเลือกจะ “say no” ให้เป็นบ้างแบบแฝดพี่มุนินทร์

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point