ฉบับที่ 122 เจ็นนิสตีน ดาบสองคม ???? ตอนที่ 2

  ในฉบับที่แล้วผู้เขียนได้เกริ่นเรื่องของเจ็นนิสตีนในถั่วเหลืองว่าอาจก่อปัญหาได้ถ้ากินไม่เป็น และได้หยุดประเด็นไว้เพราะต้องการให้ท่านผู้อ่านทำความรู้จักกับสารในกลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนเสียก่อน เพื่อไปสรุปตอนท้ายว่า ตกลงเจ็นนิสตีนมีปัญหาแล้วผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองจะมีปัญหาหรือไม่  เอสโตรเจนในร่างกายสตรีนั้น เมื่อมีการไปจับตรงบริเวณตัวรับฮอร์โมนบนเซลล์ เซลล์นั้นจะทำการเพิ่มขนาดทุกอย่าง รอเพียงคำสั่งอีกนิดเดียว ก็อาจมีการแบ่งเซลล์ได้ หรือทำหน้าที่ผลิตน้ำนมถ้าเป็นเซลล์ต่อมน้ำนม (mammalian gland cell)  อย่างที่ว่ารอคำสั่งอีกนิดเดียว คำสั่งที่จะบอกให้เซลล์ต่อมน้ำนมเริ่มพัฒนาเพื่อทำการผลิตน้ำนมคือ การฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก ซึ่งแสดงว่าเกิดการตั้งครรภ์แล้ว ร่างกายต้องเตรียมตัวผลิตน้ำนม ดังนั้นต่อมน้ำนมจึงต้องทำตัวให้พร้อมเหมือนการขยายโรงงานผลิตนมนั้นเอง การขยายตัวแบบนี้ถือว่าปรกติ  ปรกติแล้วเมื่อสตรีมีการตกไข่ในแต่ละเดือน เอสโตรเจนในร่างกายจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีเอสโตรเจนมาจับที่เซลล์ต่อมน้ำนมแล้วกระตุ้นให้เซลล์นี้เพิ่มขนาด เพื่อพัฒนาไปสร้างน้ำนม ในกรณีเจ้าของร่างกายเป็นสาวทั้งแท่งในลักษณะดอกไม้ไกลมือชายนั้น การเตรียมตัวนี้อาจนำไปสู่การแบ่งเซลล์แบบไม่ตั้งใจ ซึ่งถือว่าผิดกฎ กติกาและมารยาทอย่างแรง จึงทำให้ส่วนใหญ่ลงท้ายด้วยการเป็นมะเร็ง  อีกกรณีหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจคือ มีการศึกษาพบว่า สตรีที่เคยแท้งลูก ไม่ว่าด้วยความเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม มักมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้นกว่าสตรีที่ไม่เคยแท้งลูก จึงมีความเข้าใจกันว่าเป็น เพราะเซลล์ต่อมน้ำนมนั้นได้พัฒนาเพื่อผลิตน้ำนมแล้ว แต่บังเอิญการตั้งครรภ์หยุดไปก่อน เซลล์นั้นจึงงง ทำอะไรไม่ถูกจนถึงขั้นทำการแบ่งตัวเสียให้รู้แล้วรู้รอดกลายเป็นมะเร็งไปเลย สิ่งที่ทำให้คิดขณะนี้ก็คือ สตรีผู้ไปใช้บริการสุสานเก็บเด็กที่วัดไผ่เงินทั้ง 2002 คนนั้น ป่านนี้ปรกติสุขดีอยู่หรือ   เจ็นนิสตีนกับมะเร็งเต้านม   ผู้เขียนได้เขียนถึงเรื่องของเอสโตรเจนและผลของการจับระหว่างเอสโตรเจนต่อบริเวณรับที่อยู่บนผนังเซลล์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจภาพว่า ขณะที่เกิดการจับตัวกันนั้น เอสโตรเจนจะส่งสัญญาณทำให้เซลล์ต่อมน้ำนมขยายตัวและเข้าใจว่ามีการอุ้มน้ำจึงเกิดอาการเจ็บคัดหน้าอกของสตรี อีกทั้งเอสโตรเจนนั้นมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกด้วย จึงทำให้สตรีบางคนที่มีประจำเดือนเกิดอาการปวดท้องเกร็งอย่างแรง บางคนถึงกับเป็นลม ดังนั้นถ้ามีสารใดสารหนึ่งสามารถเข้าไปจับตัวกับบริเวณรับของเอสโตรเจนบนผนังเซลล์ที่หน้าอกและมดลูก และสารนั้นไม่ออกฤทธิ์ใด ๆ หรือออกฤทธิ์แต่น้อย ความเจ็บปวดทรมานในช่วงเวลามีประจำเดือนก็จะลดลง  ในความเป็นจริงแล้วสารที่สามารถจับกับบริเวณรับของเอสโตรเจนได้ก็ควรมีลักษณะโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายเอสโตรเจน ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์สุขภาพเราทราบกันดีว่า เจ็นนิสตีน ที่อยู่ในถั่วเหลืองนั้นมีฤทธิ์เป็นเอสโตรเจนจึงเรียกว่า ไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) แต่เจ็นนิสตีนออกฤทธิ์เป็นเอสโตรเจนที่มีฤทธิ์ต่ำกว่ามาก ดังนั้นเมื่อสตรีใดบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองเข้าไปก่อนเริ่มมีประจำเดือนสัก 2-3 วัน เพื่อให้เจ็นนีสตีนได้เข้าไปแย่งจับบริเวณรับของเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นในช่วงมีประจำเดือนแล้ว อาการคัดเต้านมและปวดมดลูกก็ควรลดลง  เจ็นนิสตีนนี้มีประวัติที่ยาวนานพอควร นอกจากข้อมูลการลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมแล้วก็ยังมีข้อมูลที่กล่าวว่า สามารถป้องกันการเป็นซ้ำ (recurrent) ของมะเร็งเต้านมได้อีก โดยอาศัยคุณสมบัติของสารนี้ในการตัดท่อน้ำเลี้ยงของเซลล์มะเร็ง  เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เซลล์มะเร็งนั้นเมื่อเกิดขึ้นหรือหลุดจากอวัยวะหนึ่งไปเกาะติดที่อีกอวัยวะหนึ่ง จะต้องมีการสร้างเส้นเลือดฝอยจากเส้นเลือดแดงไปหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็ง การทั้งนี้ไม่ใช่เป็นความเต็มใจของร่างกายที่จงใจจะสร้างท่อน้ำเลี้ยงให้เซลล์มะเร็งเป็นกรณีพิเศษ แต่เกิดขึ้นเนื่องจากเซลล์มะเร็งส่งสารจำเพาะ ที่สามารถไปกระตุ้นให้เส้นเลือดใหญ่เคลิบเคลิ้มสร้างเส้นเลือดฝอยเพื่อส่งอาหารไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งเป็นกรณีเฉพาะ เรื่องนี้มีการพิสูจน์โดยการฝังเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลอง ทิ้งไว้ระยะหนึ่ง ก็พบว่ามีเส้นเลือดฝอยมากมายไปหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ดังนั้นในหลักการที่จะป้องกันการเกิดซ้ำหรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งแล้ว ประการหนึ่งคือ  การใช้สารเคมีทั้งสังเคราะห์ หรือธรรมชาติไปทำลายท่อน้ำเลี้ยงเซลล์มะเร็ง มะเร็งก็จะฝ่อไป หลักการดังกล่าวนี้เป็นทฤษฎีที่ตั้งขึ้นโดย Dr. Judah Folkman ซึ่งเป็นแพทย์นักวิจัยของโรงพยาบาลเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาดในบอสตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเจ็นนิสตินก็เป็นสารไอโซเฟลโวนชนิดหนึ่งที่มีผู้ศึกษาพบว่ามีคุณสมบัติในการตัดท่อน้ำเลี้ยงเซลล์มะเร็งด้วยเช่นกัน  จากคุณสมบัติที่เจ็นนิสตีนสามารถตัดท่อน้ำเลี้ยงของเซลล์มะเร็งได้ ทำให้ผู้เขียนมีจินตนาการต่อไปว่า ถ้างั้นเจ็นนิสตีนจะมีผลต่อตัวอ่อนในมดลูกของสาว ๆ หรือไม่ ทั้งนี้เพราะสมัยเรียนวิชา histology อาจารย์ที่สอนได้พูดเป็นเชิงว่า “Fetus acts as a big tumor.” แปลเป็นไทยคือ ตัวอ่อนในท้องแม่นั้นทำตัวเป็นเนื้องอกก้อนเบ้อเริ่มเลย  เหตุผลที่อาจารย์ให้ไว้คือ เวลาท้องนั้นตัวอ่อนจะดูดสารอาหารทุกอย่างที่ต้องกันจากแม่ไปสู่ตัวเองโดยผ่านทางรก ซึ่งในรกนั้นจะมีเส้นเลือดมากมายที่ลำเลียงทั้งน้ำ อาหารและอากาศ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ผู้เขียนจินตนาการว่า เจ็นนิสตีนจะมีผลกับระบบเส้นเลือดในรกที่มาเลี้ยงตัวอ่อนหรือไม่ เพราะถ้าตัวอ่อนเปรียบเหมือนก้อนเนื้องอกแล้ว เส้นเลือดที่มาเลี้ยงตัวอ่อนก็น่าจะอ่อนไหวต่อการทำงานของเจ็นนิสตีนในการยับยั้งการส่งสารอาหาร น้ำและออกซิเจน คล้ายการที่เจ็นนิสตีนยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกหรือมะเร็ง  จินตนาการดังกล่าวของผู้เขียนดูเหมือนจะมีความหมายพอควร เมื่อนักศึกษาของผู้เขียนนำบทความวิชาการเกี่ยวกับผลของเจ็นนิสตีนต่อการสุกของไข่ การปฏิสนธิ และการพัฒนาของตัวอ่อนในหนูเม้าส์มาเม้าท์กันในการสัมนาวิชาการ ดังที่อ้างถึงในฉลาดซื้อฉบับที่แล้ว ในบทความดังกล่าว ผู้วิจัยได้พบว่า สารเจ็นนิสตีนในขนาดที่ค่อนข้างสูงเมื่อผสมน้ำให้หนูกินนานติดต่อกัน 4 วัน ส่งผลให้ไข่ของหนูที่แยกออกมาจาหนูไปเลี้ยงในหลอดทดลองสุกช้าไปจากที่ควรเป็น การผสมของไข่นั้นกับสเปิร์ม (ในหลอดทดลอง) และการเจริญของตัวอ่อน (ที่ได้จากการผสมในหลอดทดลอง) ซึ่งถูกย้ายไปฝังตัวในหนูแม่เลี้ยงก็ช้าไปจากเดิม นอกจากนี้ตัวอ่อนที่เกิดก็มีน้ำหนักที่น้อยจากที่ควรเป็น และสุดท้ายนักวิจัยได้กล่าวสรุปเป็นเชิงว่า เจ็นนิสตีน เป็นปัจจัยที่ก่อปัญหาให้กับตัวอ่อนในท้องแม่   ท่านผู้อ่านต้องตั้งหลักในการคิดให้ดีว่า การศึกษาที่ยกเป็นตัวอย่างนั้นเป็นการใช้สารเจ็นนิสตีนบริสุทธิ์ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง และมีการศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นนอกร่างกายหนูคือ ใช้หลอดทดลองค่อนข้างเยอะ ดังนั้นการแปลผลโดยตรงจากเจ็นนิสตีนถึงผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองนั้นคงเป็นไปไม่ง่ายนัก เพราะคงไม่มีใครกินผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองจนได้เจ็นนิสตีนในปริมาณสูง ที่ได้กล่าวนี้เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านตื่นตระหนก ถ้าบังเอิญไปพบข้อความที่มีการนำงานวิจัยนี้บางส่วนไปโพสต์บนอินเตอร์เน็ท แล้วกล่าวว่าการกินถั่วเหลืองทำให้มีลูกยาก สิ่งที่ควรสังเกตในงานวิจัยนี้คือ การได้รับเจ็นนิสตินบริสุทธิ์เช่นในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีวางขายในต่างประเทศแล้วนั้น อาจส่งผลไม่พึงปรารถนาต่อสตรีที่เตรียมพร้อมจะตั้งครรภ์แล้วบังเอิญกินสารนี้อยู่ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่คงไม่ถึงกับบอกผู้บริโภคให้ยุติการกินผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองซึ่งว่าไปมีประโยชน์ในการต้านมะเร็งบางชนิดได้ ซึ่งข้อมูลเหล่าทำให้ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านย้อนกลับไปอ่านตอนต้นของบทความในฉลาดซื้อฉบับที่แล้วในเรื่อง ความเหมาะสมของการดำรงชีวิตที่อยู่ในทางสายกลาง เพื่อเป็นข้อสรุปของบทความในฉลาดซื้อชุดที่เกี่ยวกับเจ็นนิสตินนี้  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 เจ็นนิสตีน ดาบสองคม ???? ตอนที่ 1

  เวลาผู้เขียนสอนหรือไปบรรยายนอกสถานที่เรื่องเกี่ยวกับอาหารต้านมะเร็ง หรืออาหารที่ลดความเสี่ยงของมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม อาหารที่มักจะถูกยกขึ้นเป็นตัวอย่างในประเด็นนี้คือ ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ทั้งนี้เพราะมีข้อมูลการศึกษาทางระบาดวิทยาว่า อัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของสตรีเนื่องจากมะเร็งเต้านมในเอเชียนั้นต่ำกว่าสตรีชาวตะวันตกมาก เนื่องจากสตรีเอเชียมีการบริโภคถั่วเหลืองในปริมาณที่สูงกว่า  นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกได้เริ่มศึกษาในระดับลึกว่า สารเคมีธรรมชาติอะไรที่มีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของมะเร็งที่อยู่ในถั่วเหลือง สุดท้ายก็มีการลงความเห็นว่า เจ็นนิสตีน (Genistein) คือสารเคมีที่เป็นความหวังในการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม (โดยมี Daidzein และ Glycitein เป็นสารที่มีผลเช่นกัน แต่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้) และก็เป็นอย่างที่มักเป็นในแบบของชาวตะวันตกคือ อะไรที่คิดว่า “ดี” ก็ต้องกินมันให้มากๆ จะได้ดีมากๆ โดยไม่คำนึงว่า มีชายในอดีตคนหนึ่งเคยกล่าวเป็นเชิงว่า “สารเคมีในโลกนี้เป็นได้ทั้งสารพิษและยา โดยที่ขนาดของสารที่ใช้เท่านั้นถึงจะบอกว่าสารนั้นจะเป็นอะไรกันแน่”  ถ้าผู้เขียนจะบอกว่าชายคนดังกล่าวชื่อ  Philippus Aureolus Theophrastus Bombastus von Hohenheim ซึ่งเกิดในเมือง Einsiedeln ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1493 และตายวันที่ 24 กันยายน ปี ค.ศ. 1541 ในเมือง Salzburg ประเทศออสเตรีย ข้อมูลดังกล่าวนี้ร้อยทั้งร้อยคนก็นึกไม่ออกว่าเป็น ใคร สำคัญอย่างไร แต่ถ้าบอกว่าชายดังกล่าวมีสมญานามว่า Paracelsus ทุกคนที่เรียนในสาขาพิษวิทยาต้องร้องอ๋อ เพราะชายผู้นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาของพิษวิทยาสมัยใหม่  ในความเป็นจริงแล้วยังมีชายอีกคนหนึ่งที่ได้ค้นพบหลักการสำคัญของชีวิตประมาณเดียวกันกับที่ Paracelsus ได้กล่าวไว้คือ ทางสายกลาง ซึ่งแนะนำว่าไม่ควรทำกิจอะไรในชีวิตมากไปหรือน้อยไป ควรทำกิจนั้นแต่พอดี ซึ่งจะทำให้มนุษย์เป็นสุข การค้นพบนี้พบมานานถึง 2554 ปี บวกกับอีก 45 ปี (ซึ่งเป็นช่วงที่ชายผู้ยิ่งใหญ่นั้นอายุ 35 ปี) ท่านผู้อ่านคงนึกออกว่าชายผู้นี้คือ พระพุทธเจ้า  เหล่าพุทธศาสนิกชนได้น้อมนำเอาคำกล่าวของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องช่วยในการกำหนดการดำเนินชีวิต ซึ่งควรรวมถึงการบริโภคเจนนิสตีนเพื่อป้องกันโรคมะเร็งเต้านมด้วย  เหตุที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้เพราะในวิชาสัมมนาของนักศึกษาที่ผู้เขียนดูแลที่สถาบันโภชนาการนั้น นักศึกษาผู้หนึ่งได้นำเอาบทความผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สอดคล้องกับแนวทางคำกล่าวของพระพุทธเจ้าและ Paracelsus ว่า อะไรที่บริโภคมากไปอาจก่อปัญหาสุขภาพได้ บทความนั้นชื่อ Impact of genistein on maturation of mouse oocytes, fertilization, and fetal development ซึ่งกล่าวเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่า ผลของเจ็นนิสตีนต่อการสุกของไข่ การปฏิสนธิ และการพัฒนาของตัวอ่อนในหนูเม้าส์ งานวิจัยนี้เป็นของ Wen-Hsiung Chan ตีพิมพ์ในวารสาร Reproductive Toxicology ชุดที่ 28 หน้า 52–58 ในปี 2009 นี้เอง บทความดังกล่าวนั้นมีข้อมูลอย่างไร ขอพักไว้ก่อน เพราะผู้เขียนคิดว่า น่าจะเล่าเรื่องความสำคัญของเจ็นนิสตีนให้ท่านเข้าใจพื้นฐานว่า สารนี้มีประโยชน์เมื่อกินเป็น แต่เกิดโทษได้เมื่อกินไม่เป็นเสียก่อน   เจ็นนิสตีน คืออะไรและสำคัญอย่างไร ในชั้นเรียนที่ผู้เขียนสอนถึงเรื่อง อาหารกับมะเร็งนั้น ในขั้นต้นของการสอนผู้เขียนมักตั้งประเด็นถามนักศึกษาหญิงก่อนว่า ใครบ้างเคยมีประสบการณ์ปวดมดลูกและเต้านมระหว่างการมีประจำเดือน และถ้าอยากบรรเทาอาการนี้ ขอแนะนำให้เพิ่มปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบมากขึ้นจากเดิม โดยเริ่มในช่วงก่อนมีรอบเดือนสัก 2-3 วัน ผลตอบรับค่อนข้างดีว่า ลูกศิษย์ของผู้เขียนมีปัญหาการปวดช่วงมีรอบเดือนมีอาการลดลงหรือหายปวดไปเลย หลักการในการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นมีพื้นฐานว่า ถั่วเหลืองเป็นพืชชนิดหนึ่งที่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีสารเคมีธรรมชาติชื่อ เจ็นนิสตีน ในปริมาณสูง นอกจากนี้ยังพบว่ามีในพืชชนิดอื่นซึ่งคนไทยอาจไม่ได้บริโภคคือ lupin, fava beans, kudzu, และ psoralea เจ็นนิสตีนนั้นเป็นสารธรรมชาติที่จัดอยู่ในประเภทที่เรียกว่า ไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เป็นสารที่ออกฤทธิ์ได้ในลักษณะเดียวกับเอสโตรเจนธรรมชาติที่มีมากในสตรีและ(ควรจะ) เล็กน้อยในบุรุษ ก่อนจะอธิบายว่า เจ็นนิสตีนออกฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจนนั้นเป็นอย่างไร และเจ็นนิสตีนออกฤทธิ์มากกว่าหรือน้อยกว่าเอสโตรเจนธรรมชาติ ท่านผู้อ่านบางท่านโดยเฉพาะท่านชายควรทราบว่า ธรรมดาแล้วเอสโตรเจนในตัวมนุษย์หรือสัตว์ชั้นสูงนั้นเป็นฮอร์โมนเพศ ซึ่งควบคุมการแสดงลักษณะประจำของเพศหญิง ที่แน่ๆ คือทำให้เพศหญิงมีประจำเดือนและหน้าอก ดังนั้นจึงไม่ประหลาดที่จะกล่าวว่า ถ้าผู้ชายกินฮอร์โมนนี้มากหน่อย หน้าอกก็จะออกมาคล้ายของหญิงฮอร์โมนนี้ถ้าบังเอิญมีมากในเพศชาย ก็จะทำให้ชายผู้นั้นมีความละเอียดในการปฏิบัติตนคล้ายหญิง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นกระเทยหรือมีความรู้สึกอยากข้ามเพศ ในทางตรงข้ามถ้าเพศหญิงมีน้อยไปหน่อย ก็จะทำให้เพศหญิงผู้นั้นออกห้าวได้คล้ายชาย และก็ไม่จำเป็นต้องข้ามเพศนะครับ เพียงแต่เป็นความหลากหลายเท่านั้น  พืชอาหารที่มีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนอีกชนิดหนึ่ง คือ มะพร้าวอ่อน ดังมีข่าวเมื่อไม่กี่ปีมานี้ว่า... “อาจารย์ มอ.หาดใหญ่ วิจัยพบฮอร์โมนเอสโตรเจนในน้ำมะพร้าวอ่อน เตรียมพัฒนาเป็นอาหารเสริม เครื่องสำอาง และยาชะลออัลไซเมอร์ หวังช่วยหญิงวัยทองทั่วโลกที่มีโรคแทรกซ้อนหลังหมดประจำเดือน เร่งจดสิทธิบัตรให้เร็วที่สุดหวั่นซ้ำรอยต่างชาติตัดหน้าจดกวาวเครือ” แต่ไม่มีข้อมูลว่า สารที่ออกฤทธิ์นั้นชื่ออะไร เข้าใจว่าคงไม่ใช่เจ็นนิสตีน  เพราะเจ็นนิสตีนนั้นเป็นไฟโตเอสโตรเจนที่ออกฤทธิ์น้อยกว่าเอสโตรเจนธรรมชาติในสตรี แต่มีความสามารถในการจับตัวรับเอสโตรเจน (estrogen receptor) บนผนังเซลล์ต่อมน้ำนมดีกว่าเอสโตรเจนที่สตรีผลิตในช่วงเริ่มมีประจำเดือน ผลดังกล่าวนี้จึงช่วยให้ความปวดประจำเดือนลดลงได้ เอสโตรเจนนั้นจัดเป็นสารสเตียรอยด์ (steroid) กลุ่มที่เรียกว่า อะนาบอลิกเสตียรอยด์ (anabolic steroid) โดยที่คำว่าอะนาบอลิกนั้นเป็นศัพท์ที่มีความหมายว่า “มีการสร้างขึ้น” ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า คะตาบอลิก (catabolic) ที่หมายถึงมีการ “ทำให้สลายไป” ดังนั้นเอสโตรเจนจึงมีผลทำให้อะไรต่ออะไรมันใหญ่ขึ้น ซึ่งในความหมายทางชีววิทยาแล้ว เอสโตรเจนมีความสามารถในการกระตุ้นให้เซลล์ที่มันเข้าจับกับบริเวณรับบนเซลล์นั้นเตรียมแบ่งตัว หรือถ้าหมดสภาวะจะแบ่งตัวแล้วก็สามารถทำให้เซลล์ขยายตัวได้ ไม่นานมานี้เวลาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ต้องการผลิตไก่ตอน จะใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติคล้ายเอสโตรเจนคือ Hexoestrol ฉีดฝังเข้าตัวไก่ ฮอร์โมนนี้จะไปควบคุมให้ไก่หมดสภาพความเป็นแมนไปทันที โดยจะมีลักษณะเนื้อแน่นเหมือนชายแต่นุ่มนิ่มแล้วโตเร็วเหมือนหญิงวัยเจริญพันธุ์ ส่งผลให้ข้าวมันไก่ตอนจานละห้าสิบบาทอร่อยกว่าข้าวมันไก่ต้มจานละยี่สิบบาท อย่างไรก็ดีปัจจุบันนี้ฮอร์โมนสังเคราะห์ Hexoestrol นี้ได้ถูกประกาศห้ามใช้โดยกรมปศุสัตว์แล้ว ดังนั้นการทำไก่ตอนจึงต้องทำโดยวิธีเดิมๆ คือ ตัดกล่องดวงใจไก่หรืออัณฑะทิ้งไป ไก่ก็จะขาดฮอร์โมนเพศชาย มีแต่ฮอร์โมนเพศหญิงที่แสดงอำนาจครอบงำให้เป็นไก่นะยะไปแทน แต่ไก่ตอนลักษณะนี้มักไม่ค่อยอร่อย จึงปรากฏว่า การทำไก่ตอนแบบทูอินวันคือ ทั้งตัดและฝังฮอร์โมนมีอยู่ทั่วไป ใครจะไปจับถ้าทำไม่ประเจิดประเจ้อ เพราะไม่ใช่ยาอีสักหน่อย  ผู้เขียนขอกั๊กเรื่องเจ็นนิสตีนไว้เพียงแค่นี้แล้วต่อฉบับหน้านะครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point