ฉบับที่ 165 เมื่อเซเลบโกหก

ผู้เขียนตั้งใจไว้นานแล้วว่า วันหนึ่งจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าในประเทศไทย โดยจะมุ่งเน้นให้เห็นว่า ทำไมพวก เซเลบ (เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ย่อมาจากคำว่า celebrity ซึ่งหมายถึง คนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมชมชอบของคนกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่ม ศัพท์คำนี้ส่วนใหญ่ใช้กับคนที่มีอาชีพแกล้งทำเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตนเองเพื่อการบันทึกภาพไปออกโทรทัศน์หรือโรงภาพยนตร์ แต่ก็สามารถรวมถึงคนที่มีความสามารถอื่นๆ เช่น นักกีฬา นักร้อง แม้แต่นักการเมืองและ/หรือขอทานก็เป็นเซเลบได้ ถ้าเขาคนนั้นดูดีและประชาชนชื่นชอบ) ถึงยอมลดศักดิ์ศรีเพื่อพูดเท็จแลกกับเงินในการรับจ้างโฆษณาสินค้าที่ชาตินี้ทั้งชาติเขาคงไม่ยอมใช้ เมื่อช่วงน้ำท่วมกรุงเทพปี 2554 นั้น มีการโฆษณารถยนต์อีโคคาร์ โดยเซเลบคนหนึ่ง(ซึ่งมีพฤติกรรมขายอาหารไร้สาระในยูทูป) ทั้งที่เมื่อดูพฤติกรรมเซเลบคนนี้ก็รู้ได้ว่า ในชีวิตประจำวันนั้นเขาคงต้องใช้รถแรงราคาหลายล้านบาทแน่ๆ นอกจากนั้นเมื่อนานมาแล้วมีดาราชายหน้ายาวคนหนึ่งเปิดตู้เย็นมีสินค้าที่เป็นเครื่องดื่ม(ซึ่งมีงานวิจัยว่า อาหารลักษณะนี้มีสารก่อมะเร็งปนเปื้อนระหว่างการผลิต) เต็มตู้และป่าวประกาศผ่านจอโทรทัศน์ว่า ดื่มเป็นประจำ หรือดาราหนังทำรายได้หลายร้อยล้านบาทจากภาพยนตร์กวนโอ๊ยออกมาบอกว่า เครื่องดื่มชนิดหนึ่งซึ่งรสชาติไม่เอาอ่าวนั้น สามารถทำให้สติปัญญาคนดีขึ้นมาได้ ที่แย่กว่านั้นก็คือ แม้แต่หมาแมวก็ถูกนำมาโฆษณาขายอาหารของสายพันธุ์ โดยผู้ชมไม่สามารถรู้ได้ว่า สัตว์ที่มาทำหน้าที่โฆษณานั้นถูกทารุณกรรม เพื่อให้แสดงออกถึงความชอบอาหารที่คนผลิต จึงมีการตั้งประเด็นว่า หมาแมวมันรู้สึกอร่อยจริงหรือเพราะถูกปล่อยให้อดอาหารมาหลายมื้อก่อนเข้าฉาก ยังมีโฆษณาสินค้าอีกมากมาย ทั้งที่เป็นอาหาร ผ้าซับประจำเดือนสตรี เสื้อชั้นนอก กางเกงชั้นใน เครื่องดื่มต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงการขี้ปดของเซเลบหลายคน สำหรับถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจอยากดูหน้าเซเลบขี้ปดเหล่านี้ ก็ไปดูได้ที่ www.adintrend.com จากนั้นเมื่อดูแล้ว ท่านลองถามตนเองสิว่า ท่านเชื่อคนที่มาเยินยอสินค้าที่ท่านเข้าไปดูหรือไม่ หรือว่าสักแต่ดูไปอย่างนั้นเองยังไงๆ ก็จะซื้อหรือจะไม่ซื้อสินค้ายี่ห้อนั้นเมื่อต้องการสินค้าประเภทนั้น แต่ที่สำคัญคือ เขาหรือหล่อนทั้งหลายทำไมถึงมีสิทธิมาโกหกท่านผ่านสื่อต่างๆ ทั้งที่การโกหกเพื่อให้คนเสียเงินนั้นน่าจะเป็นความผิดทางแพ่ง ขอนักกฎหมายช่วยอธิบายด้วยแล้วกัน   อย่างที่เกริ่นในตอนต้นแล้วว่า เรื่องเซเลบมาโม้ว่าสินค้าดีนั้น ผู้เขียนอยากเขียนเรื่องนี้มานานแต่ไม่มีใครชงประเด็นให้ จนกระทั่ง 19.00 น.ตรง ของวันที่ 12 กันยายน 2557 ผู้เขียนได้ดูข่าวจากสปริงนิวส์ ซึ่งรายงานข่าวที่ทำให้ตื่นเต้นว่า จีนแผ่นดินใหญ่นั้นกำลังทำร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค สาระสำคัญมีว่า “แต่นี้ไปเซเลบจะมีโทษทางแพ่งเมื่อโฆษณาสินค้าอะไรก็ตามที่ตนเองไม่เคยใช้มาก่อน” พอได้ยินข่าวนี้ผู้เขียนก็ได้รีบเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ตเพื่อหาว่า ข่าวดังกล่าวนี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง จาก google นั้นผู้เขียนก็พบรายงานข่าวดังกล่าวบ้างในหลายเว็บ แต่ที่น่าสนใจและให้รายละเอียดดีพอควรนั้นคือ เว็บ www.wantchinatimes.com ได้รายงานหัวข้อข่าว “Tougher laws to regulate star endorsements in China” ในวันเสาร์ที่ 13 กันยายน 2014 โดยมีเนื้อหาอ้างถึงรายงานของหนังสือพิมพ์ Yangtse Evening News ที่นานจิงว่า ผู้บริหารของจีนแผ่นดินใหญ่ได้มองประเด็น การที่เซเลบต่างๆออกมาบอกผู้บริโภคว่า สินค้าของบริษัทที่ตนรับสตางค์ (ผ่านบริษัทครีเอตีฟทั้งหลาย) ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้โดยไม่เคยใช้สินค้านั้นเลยนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี สมควรทำร่างกฎหมายเพื่อแก้รัฐบัญญัติเกี่ยวกับการโฆษณาเสนอแก่ Standing Committee of the National People's Congress ครั้งที่ 10 (ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามันคือ การประชุมของสภาประชาชนแห่งชาติจีนหรือไม่) ร่างประกาศฉบับนี้ได้แก้ไขประเด็นที่สำคัญมากคือ เซเลบที่ไม่เคยใช้สินค้าไม่ควรเสนอหน้ามาบอกประชาชนว่า สินค้านั้นดีอย่างไร โดยจะมีการปรับเป็นเงิน 2-3 เท่า ของค่าจ้างที่ได้จากการโฆษณาสินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคเสียหายเนื่องจากความเข้าใจผิดในโฆษณานั้น ๆ มีคำอธิบายความหมายของการโฆษณาลวงกว้างๆในร่างประกาศว่า คือการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ไม่มีขายจริง อ้างอิงคุณภาพเกินจริงเกี่ยวกับสินค้า(ซึ่งรวมถึงประเทศที่ผลิต ปริมาณสินค้า คุณสมบัติ ราคา ผู้ผลิต) วันหมดอายุ การขายประกอบรางวัล หรือการอ้างอิงข้อมูลปลอมทางวิทยาศาสตร์ ทางสถิติ การสำรวจ หรืออ้างถึงใครสักคนบอกว่าสินค้าหรือบริการนั้นสุดจะดีทั้งที่ไอ้หมอนั่นไม่เห็นจะน่าเชื่อถือ ทั้งนี้เพราะจำนวนการโฆษณาสั่วๆ ที่พบในประเทศจีนเมื่อปีที่แล้ว(2013) มีถึงราว 31,500 ชิ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มจากเดิมถึงร้อยละ 19.3 และที่น่าตกใจคือ หนึ่งในสามของโฆษณาดังกล่าวนี้มันเกี่ยวกับ ยา อาหาร และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่สำคัญประการหนึ่งของร่างกฎหมายคือ มีการบัญญัติห้ามองค์กรหรือใครก็ตามส่งคำโฆษณาทางโทรศัพท์ไปหาผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้าน มือถือธรรมดา หรือมือถือที่ใช้นิ้วเขี่ยไปมา ทางจดหมายอิเล็กทรอนิค ถ้าผู้บริโภคไม่ได้ร้องขอหรือยินยอม ทั้งนี้เพราะปีที่แล้วมีการส่งโฆษณาไปรบกวนชาวจีนทั้งประเทศถึง 2 แสนล้านครั้ง (200 billion mobile advertisements) ซึ่งหมายความว่า มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นถึง 2 แสนล้านครั้งที่ผู้บริโภคต้องเสียเวลากดรับสาย (หรือกดปิดแบบผู้เขียนทำเป็นประจำ) โดยที่ข้อมูลไร้สาระนั้น เป็นการยกยอสินค้าทั่วไปเสียร้อยละ 65 และอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 15 ที่เหลือนั้นเป็นอะไรนั้นเว็บไม่ได้บอกไว้ ที่น่าสนใจอีกประเด็นสำหรับองค์กรที่รับภาษีบาปของไทยเพื่อนำมาใช้ในการบริหารงาน น่าจะลองพิจารณาเรื่องนี้ดูคือ ร่างประกาศนี้ห้ามการโฆษณายาเส้นและบุหรี่ทางวิทยุ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ไม่ว่าในรูปภาพและ/หรือเสียง ป้ายโฆษณาทุกชนิดในที่เป็นสาธารณะ หนังสืออิเล็กทรอนิค เครือข่ายโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ท ทั้งนี้เพราะมีคนจีนถึง 300 ล้านคนที่เป็นขี้ยาได้ตายไปด้วยโรคที่สมัครใจเป็นสิงห์อมควันนี้ถึงกว่าล้านศพต่อปี การปรับแก้กฎหมายนี้พ้องกับการที่มีดาราไต้หวันชื่อ Kai Ko หรือ Ko Chen-tung และดาราฮ่องกงลูกของแจ๊คกี้ ชาน คือ Jaycee Chan ถูกจับในข้อหาดูดกัญชา ซึ่งทำให้สินค้า 19 ชนิดที่ Kai Ko โฆษณาอยู่มีภาพพจน์ที่ไม่ดี เพราะคนโฆษณาเป็นคนไม่ดี สินค้าเลยถูกมองว่าไม่ดีตามไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของจีนท่านหนึ่งชื่อ Liu Kewi กล่าวว่า เซเลบจะเจ๊งทันทีถ้าโม้กับผู้บริโภคว่าตัวเองเคยใช้สินค้าชิ้นนั้นๆ มาแล้ว ทั้งที่ไม่เคยใช้จริง ที่น่าสนใจคือ เซเลบแต่ละคนที่ไม่รู้เรื่องการแพทย์จะไม่สามารถโฆษณาเกี่ยวกับการขายบริการทำหมันของโรงพยาบาล(บ้านเราคงต้องเป็นเรื่องอุ้มบุญ) และอื่นๆ ถ้าเขาเหล่านั้นไม่มีทักษะในสินค้านั้นๆ มีเว็บหนึ่งได้ตั้งประเด็นที่น่าสนใจว่า ถ้าเซเลบเป็นแมนทั้งแท่ง ก็ไม่ควรโฆษณาชุดชั้นในสตรี แต่ถ้าเขาได้ข้ามเพศหรือหวังจะข้ามเพศแล้วจะสามารถโฆษณาชุดชั้นในสตรี(ซึ่งน่าจะรวมถึงยาคุมกำเนิดของสตรีด้วย) ได้หรือไม่ เพราะเขาผู้ฉิงทั้งหลายได้ใช้สินค้านั้นๆ เป็นประจำ ประเด็นนี้คงต้องตีความกันต่อไปถ้ามีการผ่านกฎหมายนี้เรียบร้อยแล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point