ฉบับที่ 278 ‘ออมทอง’ vs ‘กองทุนทอง’ (1) ไม่ต้องมีเงินก้อนก็ซื้อทองได้

        ณ เวลาที่เคาะแป้นพิมพ์อยู่ ราคาขายทองรูปพรรณตกราวๆ บาทละ 41,000 บาทไปแล้ว ใครเห็นราคาแล้วเป็นต้องตกใจและเสียใจที่ไม่ได้ซื้อทองตอนราคาต่ำกว่านี้ ไม่ต้องเสียใจหรอก ไม่ว่ากับสินทรัพย์อะไรก็มักเป็นอย่างนี้เสมอแหละ         ทองคำจัดเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ถูกแนะนำให้มีติดพอร์ตไว้เพราะมันช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ตอนปี 2540 ราคาทองคำคือ 4,869 บาท 27 ปีผ่านไปราคาพุ่งขึ้นมาเกือบ 10 เท่า เห็นได้ว่าทองคำมันก็ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอัตราเงินเฟ้อ การถือครองทรัพย์สินเป็นทองคำจึงเท่ากับลดความเสี่ยงของพอร์ตสินทรัพย์ทั้งหมด        คำถามมีอยู่ว่า ถ้าฉันจะซื้อทองใส่พอร์ตต้องทำยังไง?         คำถามเหมือนง่าย...ก็เอาเงินไปซื้อทองสิ แต่คำตอบยากกว่าที่คิด สิ่งแรกคือคุณต้องมีเงินก้อนเกือบๆ ครึ่งแสนถ้าคิดจะซื้อทองรูปพรรณหนัก 1 บาท ใช่ว่าทุกคนจะมีเงินเยอะขนาดนั้น ปัญหาต่อมา สมมติว่าคุณมีเงินซื้อการเก็บรักษาทองคำให้ปลอดภัยก็ดูยุ่งยาก การแขวนไว้ที่คอเป็นทางเลือกแรกๆ ที่หลายคนคิด แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่ามันก็เหมือนแขวนเหยื่อล่ออาชญากรไว้ที่คอ หรือต่อให้เก็บไว้ที่บ้านก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะปลอดภัย คนรวยๆ เลยใช้วิธีเอาทองไปเก็บไว้ที่ธนาคารที่มีบริการตู้เซฟแบบที่เห็นในหนังนั่นแหละ ถามว่าคุณมีทองและเงินมากพอจะทำหรือเปล่า ถ้ามี การเก็บรักษาทองคำก็ไม่เป็นปัญหาอะไรนัก         แต่ระบบทุนนิยมก็ช่วยแก้ปัญหาให้คนที่อยากเก็บทองคำไว้ในพอร์ตโดยลดความยุ่งยากที่ว่ามาข้างต้น ปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือออมทองกับซื้อกองทุนทองคำ         โดยข้อดีของ 2 วิธีนี้ก็คือคุณไม่จำเป็นต้องมีเงินสี่ซ้าห้าหมื่นหอบไปซื้อทองที่ร้าน แต่สามารถค่อยๆ ซื้อตามกำลังเงินในมือได้ตามมูลค่าขั้นต่ำที่ร้านทองหรือกองทุนทองนั้นๆ กำหนด บางทีมีแค่ 100 เดียวก็ซื้อทองได้แล้ว         100 อาจจะได้ทองคำประมาณหนวดกุ้ง แต่คุณไม่ต้องสะดุ้งจนเรือนไหวกลัวใครจะปล้น ที่สำคัญคือคุณสามารถใช้วิธีเดียวกับการลงทุนหุ้นหรือกองทุนหุ้นได้ นั่นก็คือ DCA หรือ Dollar Cost Average หรือการซื้อทุกเดือนด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน ซึ่งก็ได้ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกับการซื้อทองคำแท่งด้วยตนเอง แต่สะดวกกว่า         ปัญหาอยู่ที่ว่าจะซื้อออมทองหรือทยอยซื้อทองทุกเดือนๆ หรือจะซื้อผ่านกองทุนทองคำดี         ไว้มาติดตามกันต่อตอนหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 คุณภาพเน็ตมือถือถูกปรับลดในนามประโยชน์สาธารณะ

        ตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา เกิดเสียงบ่นจนเป็นกระแสทั้งในโลกออนไลน์และสื่อสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือ ที่คุณภาพมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ นั่นคือ ความเร็วลดลง มีภาวะเน็ตอืดช้าหรือใช้การไม่ได้ ไม่เฉพาะการใช้งานลักษณะเข้มข้นหรือหนักหน่วง แม้แต่การใช้งานบางเบาอย่างการส่งข้อความทางไลน์ การใช้งานเฟซบุ๊ก ก็ยังมีความติดขัดหรือไม่อาจทำได้         คำอธิบายหรือข้ออ้างจากเอกชนผู้ให้บริการทั้งหลาย รวมถึงองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ประเภทที่ว่า คุณภาพที่ลดลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติจากปัจจัยหลากหลาย เช่น เรื่องของปริมาณการใช้งานรวมในบางช่วงบางเวลาและบางพื้นที่มีความหนาแน่นเกินกว่าความจุโครงข่าย หรือ capacity  ปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพอุปกรณ์ของผู้ใช้บริการแต่ละราย หรือรายการส่งเสริมการขายที่เลือกใช้ ฯลฯ ดูเหมือนจะฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อมูลและเสียงสะท้อนของประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมาก ทำให้เห็นได้ว่า คุณภาพ “เน็ตมือถือ” ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางลบนั้น เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งเชิงพื้นที่และเครือข่ายที่ให้บริการ (เอกชนทุกราย) อีกทั้งมีลักษณะที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ         อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่อาจพิสูจน์เองได้ง่ายๆ ในขณะที่ กสทช. ตอบสนองล่าช้าและยังไม่มีทีท่าว่าจะหาทางพิสูจน์ความจริงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำเพียงมอบหมายคณะอนุกรรมการตรวจสอบบ้าง ให้เอกชนผู้ให้บริการรายงานเข้ามาบ้าง ประเด็นปัญหานี้จึงกลายเป็นอีกเรื่องที่ประชาชนได้แต่ “บ่นหาย” ยังไม่มีแววว่าจะเกิดมรรคผลและทางออกใดตามมา การบ่นได้แต่ซาลงตามกาลเวลาที่ล่วงไป         แต่ที่จริงแล้ว ความจริงส่วนหนึ่งได้ปรากฏชัดผ่านเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. ได้รับ เนื่องจากในหนังสือตอบของบริษัทผู้ให้บริการต่อกรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมีการยอมรับว่าทางบริษัทได้มีการปรับลดความเร็วอินเทอร์เน็ตลง อันเนื่องมาจากการพบว่าผู้ร้องเรียนมีการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมากเป็นเวลานาน หรือที่เรียกว่าการใช้งานแบบ BitTorrent ตลอดจนมีการแชร์อินเทอร์เน็ตในลักษณะเป็นจุดให้บริการ หรือ Hotspot และ/หรือการใช้งานในเชิงพาณิชย์         บริษัทอ้างว่า การกระทำของบริษัทในเรื่องการปรับลดความเร็วเป็นไปตาม “นโยบายการจัดการบริหารเครือข่ายตามความเหมาะสม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพของบริการและเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการโดยรวมสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ         นโยบายที่ว่านี้ หรือที่เรียกว่า FUP อันย่อมาจาก Fair Usage Policy คือมาตรการสากลที่ผู้ให้บริการมือถือในระดับโลกต่างก็นำมาใช้กัน นัยว่าเพื่อเป็นการรักษามาตรฐานการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือในภาพรวมและป้องกันการใช้งานผิดประเภท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแย่งพื้นที่การใช้งานของผู้ใช้คนอื่นในช่องสัญญาณนั้นๆ เปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพคือ เสมือนการใช้สัญญาณ Wi-Fi ภายในบ้านที่มีผู้เชื่อมต่อหลายคน หากมีคนหนึ่งคนใดดาวน์โหลด BitTorrent ขึ้นมา ก็จะทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดในบ้านนั้น ถูกดึงไปให้ผู้ใช้คนนั้น ทำให้คนที่เหลือได้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วลดลง         ในหมู่ผู้ใช้เน็ตมือถือไทยรู้จักกับ FUP กันมานานแล้ว ซึ่งบังเอิญออกเสียงที่ให้ความหมายแบบไทยได้ตรงตามเรื่องว่า “ฟุบ” พอดิบพอดี โดยในการใช้งานเน็ตมือถือระยะแรกๆ รายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือแบบมีอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดที่นำเสนอขายในฐานะ “เน็ตไม่อั้น” มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ติดฟุบ” พ่วงควบมาด้วย กล่าวคือ ในแต่ละเดือน เมื่อใช้งานเน็ต ณ ความเร็วตามที่กำหนด (หน่วยนับคือ Mbps-Megabit per second หรือ Kbps-Kilobit per second) ไปจนครบจำนวนดาต้า (data) ที่ตกลงกันไว้ เช่น 1GB ทางบริษัทผู้ให้บริการก็จะจัดการปรับลดความเร็วในส่วนการให้บริการของผู้ใช้แต่ละรายลง         ปัญหาของ FUP ในยุคแรกคือ เน็ตที่ว่าใช้ได้ “ไม่อั้น” แท้จริงแล้วแทบไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากระดับของความเร็วที่ปรับลดลงมักต่ำเตี้ยจนกระทั่งแทบใช้งานไม่ได้ ต่างกับ FUP ในต่างประเทศที่ลดแบบอยู่ในระดับมาตรฐาน         ปัญหาเรื่อง FUP-ฟุบ ในระลอกนั้นคลี่คลายลงบ้างเมื่อ กสทช. มีการกำกับความเร็วขั้นต่ำของ FUP ผ่านการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน แต่ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาบรรเทาลงดูจะมาจากพัฒนาการของเทคโนโลยีมากกว่า         จุดเปลี่ยนที่ทำ FUP-ฟุบ ค่อนข้างลดบทบาทลงเกิดขึ้นหลังจากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 4G เมื่อปลายปี 2558 โดยบรรดาค่ายมือถือพากันออกรายการส่งเสริมการขายที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตในปริมาณที่มากขึ้น เช่นสูงถึง 80 GB รายการส่งเสริมการขายหรือแพ็กเกจประเภท “เน็ตเต็มสปีด” หรือ “เน็ตไม่มี FUP” จึงเกิดขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ควรเรียกเช่นนั้น เนื่องจากความหมายจริงคือ รายการส่งเสริมการขายในยุคนี้เปลี่ยนมาเป็นการจำกัดปริมาณการใช้งานเป็นหลัก ส่วนเรื่องความเร็วก็จะมีการกำหนดรับรองไว้ว่ารายการส่งเสริมการขายนั้นๆ จะได้ความเร็วสูงสุดเท่าไร         ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ ปัญหาคุณภาพบริการที่ผู้ใช้บริการมักจะประสบจึงเป็นเรื่องของการได้รับความเร็วที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงหรือตามที่ได้โฆษณาไว้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ FUP แต่อย่างใด         อย่างไรก็ตาม การที่เอกชนค่ายมือถือกลับมาอ้างและใช้ FUP-ฟุบ อีกครั้ง ทั้งที่ข้อกำหนดของรายการส่งเสริมการขายระบุชัดเจนว่า เป็นประเภท “ไม่ลดสปีด” จึงเป็นการทำผิดสัญญาอย่างแน่ชัด ส่วนว่าเป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะจริงหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์         ที่สำคัญคือ เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการควบรวมของสองค่ายมือถือ และเป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่สังคมตั้งขึ้นด้วยความคลางแคลงว่า ใช่ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นให้ผู้บริโภคต้องแบกรับหรือไม่ ในขณะที่เอกชนได้ประโยชน์กันไปเรียบร้อยตามประสงค์         คำถามนี้เกิดขึ้นมาข้ามปีแล้ว และ กสทช. ยังไม่ได้ตอบด้วยประจักษ์หลักฐานให้กระจ่าง พร้อมๆ กับวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรกำกับดูแลแห่งนี้ที่ยิ่งเพิ่มขึ้นกับกาลเวลาที่ผ่านไป

อ่านเพิ่มเติม >