ฉบับที่ 99 เปิดบ้านใหม่เพื่อผู้บริโภค

Who 99สุมาลี พะสิม /เรียบเรียง   งานคุ้มครองผู้บริโภคที่ใครๆ อยากเห็นวันที่ 26 เมษายน 2552 ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทุกคนมีสิทธิเล่มนี้จึงขอเก็บบรรยากาศมาฝากสมาชิกค่ะ พร้อมนำเสนอทรรศนะต่างๆ ของกัลยาณมิตรทั้งหลายมาฝากค่ะ       รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“สิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำนั้นก็คือว่าทำเรื่องคุณประโยชน์มาพอสมควร สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือต้องพยายามสร้างเครือข่ายคนที่จะมาคุ้มครองผู้บริโภคด้วยตัวเขาเองให้มากขึ้น กระจายตัวมากขึ้น แล้วก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาศัยมูลนิธิฯ อย่างเดียวก็ค่อนข้างลำบากที่ต้องทำทุกเรื่องสำหรับการเปิดบ้านใหม่หลังนี้ก็ขอแสดงความยินดีด้วย อย่างน้อยก็คือว่าเราก็มีส่วนร่วมเล็กน้อยที่ร่วมระดมทุน “เดี่ยวไมโครโฟน” หาทุนให้มูลนิธิฯ ซึ่งจะทำให้เป็นที่ทำงานที่กว้างขวางต่อไป”   บุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม“เราอยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขับเคลื่อนเรื่องการสนับสนุนเครือข่ายผู้บริโภคให้เข้มแข็งมากขึ้น สนับสนุนด้านข้อมูลและด้านอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองได้ และผู้บริโภคจะเป็นอิสระมากขึ้น พ้นจากอุ้งมือของทุนนิยม ซึ่งเราเชื่อว่าการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นไม่มีใครคุ้มครองผู้บริโภคได้ดีเท่ากับตัวของผู้บริโภค ต้องทำให้ตัวผู้บริโภคลุกขึ้นมาสู้ให้ได้มูลนิธิฯ ควรจะเป็นพี่เลี้ยงและเป็นสื่อกลางไม่ว่าเครือข่ายต้องการอะไรก็น่าจะให้ได้ และอยากให้ทำงานเชิงรุกไม่ใช่แค่ตั้งรับอยู่ในกรุงเทพฯ แต่อยากให้ลงไปที่พื้นที่และเชื่อมร้อยในพื้นที่ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคส่วนหนึ่งรับเรื่องร้องเรียนก็จริง แต่ก็อีกด้านหนึ่งก็คือจะทำอย่างไรให้เกิดศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในทุกภูมิภาค เมื่อผู้บริโภคเดือดร้อนก็ประสานงานกับจังหวัดนั้นได้เลยโดยมีมูลนิธิเป็นผู้สนับสนุนข้อมูล”   นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผอ.สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม“สิ่งที่อยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำต่อไปก็คือการประสานเครือข่าย นอกจากประสานงานเครือข่ายผู้บิรโภคแล้วก็อยากให้ประสานงานเครือข่ายข้อมูลที่ติดตามเรื่องเหล่านั้น ดังนั้นไม่ว่าเรื่องยากแค่ไหนเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญแล้วก็จะสามารถแก้ไขได้ เพราะถ้ามีผู้เชี่ยวชาญ 1 คนเข้าใจ ประชาชนที่เหลือก็จะเข้าใจได้ และก็จะรวมเป็นพลังเพื่อการขับเคลื่อนต่อไปได้การเปิดบ้านใหม่ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเพราะเป็นจุดศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมูลนิธิฯ จะต้องทำหน้าที่ในการประสานงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้นทั้งให้ภาคประชาชน ภาครัฐ นักวิชาการ ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แล้วก็มีส่วนร่วมเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน”   ณาตยา แวววีรคุปต์ สื่อมวลชน“มองในฐานะของความเป็นสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถือว่าเป็นศูนย์กลางของข้อมูลในเรื่องสิทธิผู้บริโภคและการใช้สิทธิของผู้บริโภค ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการนำมาย่อยและเผยแพร่ต่อ ในการนำเสนอสิ่งต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรม และง่ายที่สื่อจะนำมาเผยแพร่ต่อ แต่ก็ไม่ใช่แค่ว่าจะนำเอาแค่เรื่องร้องเรียนมาเท่านั้น ยังมีความรู้ด้วย ยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความคิดในการคุ้มครองสิทธิต่อผู้บริโภคได้ด้วยตัววารสารฉลาดซื้อก็มีประโยชน์ค่ะ อ่านทุกเล่ม ต้องบอกว่าอ่านเกือบทุกหน้า ซึ่งหนังสือพยายามสะท้อนให้เราเห็นว่าการใช้สิทธิของผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องไกลตัว จริงๆ แล้วมันเกี่ยวกับทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่ใช้สิทธิ พอเราได้เห็นเรื่องราวๆ ต่างๆ ที่ฉลาดซื้อนำมาเผยแพร่ ทำให้เราได้เห็นว่ายังมีคนลุกขึ้นมาทำเรื่องพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคไม่ใช่แค่กับตัวเองเท่านั้น แต่สิ่งที่เขาทำแล้วถูกนำมาเผยแพร่ต่อมันส่งผลต่อผู้บริโภคคนอื่นๆ ให้เกิดความเชื่อมั่นด้วยว่ามาใช้สิทธิเถอะนะถ้าหากว่าถูกละเมิด ไม่ต้องไปบ่นอย่างเดียวซึ่งฉลาดซื้อก็สื่อออกมาได้และง่ายในการทำความเข้าใจ แล้วก็เป็นฐานในการที่จะหยิบมาทำงานด้านสื่อต่อไปได้”   ดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“ขอแสดงความยินดีกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยที่เปิดบ้านใหม่ใจกลางเมือง ผู้บริโภคจะได้มาร้องเรียนได้ง่ายขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็คงเพิ่มขึ้นแน่นอน สำหรับใครที่จะร่วมบริจาคให้กับมูลนิธินี้ก็เชิญได้ครับ แนวทางในการทำงานที่ทำอยู่ถือว่าถูกทางแล้วที่เปิดรับเรื่องร้องทุกข์ ทำหนังสือฉลาดซื้อซึ่งก็เป็นสื่อตัวหนึ่งที่มีประโยชน์ ผมเองก็เป็นแฟนคลับคนหนึ่งที่อ่าน แล้วก็ดึงบางส่วนไปเป็นข้อมูลให้กับหนังสือคู่สร้างคู่สมของผมด้วย ก็ฝากไว้ว่าให้ตามเรื่อง พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภคต่อไป พอมี พ.ร.บ.ตัวนี้แล้วก็คิดว่าคงจะทำงานสะดวกขึ้น ช่วยเหลือคนได้เยอะขึ้น ขอให้กำลังใจทุกคนครับ” จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเดินมาไกลแล้วนะ แต่ก็ต้องเดินต่อไปในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมสำหรับประชาชนทุกส่วน และขอให้มูลนิธิฯ ทำงานต่อไปในการสร้างและเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ในการปฏิรูปสังคม ในการสร้างระบบความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิบัตรยาที่ทำไปแล้ว ก็ขอให้ทำเพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภคต่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัตรเครดิต เรื่องสิทธิต่างๆ ให้กับประเทศของเราต่อไป”   ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจ“ทุกวันนี้เราอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมก็จำเป็นต้องมีองค์กรที่จะต้องคอยดูแล แต่ก็ไม่แปลกที่เราจะใช้กลไกของทุนนิยมเพื่อกำหนดผลงาน แต่ผลสุดท้ายของงานเราต้องหักตัวเองออกจากทุนนิยมเข้าสู่สังคมนิยมได้ก็โดยการนำเงินที่ได้มาบางส่วนให้องค์กรสาธารณะกุศลแบบผมทำ ที่เราจำเป็นต้องทำแบบนี้ก็เพราะเราอยู่ในระบบทุนนิยม อยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลองพิจารณาสร้างผลกำไรขึ้นจากการปฏิบัติงานเพราะดูแล้วกำไรไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียดเพราะว่าถ้ามูลนิธิฯ สามารถลงไว้เป็นความเห็นขององค์กรว่า กำไรที่ได้มาจะมอบให้กับกิจการสาธารณะกุศล ไม่ได้แจกจ่ายให้พนักงาน เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะว่าพอมีกำไรขึ้นก็จะมีการสร้างการวัดผลของการทำงานของแต่ละฝ่ายขึ้นมา ทำให้เกิดมีเป้าหมายขึ้นมา แต่ต้องกำหนดระยะกำไรที่เหมาะสมขึ้นมา แล้วกำไรที่ได้ก็ไม่ได้ไปไหนจะคืนกลับให้กับสังคมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >