ฉบับที่ 276 ถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พัก

        เรื่องราวของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกให้โอนเงินจนเสียทรัพย์สินเกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ยังมีหลายคนพลาดเพราะความเนียนของมิจฉาชีพ ซึ่งไม่นานนี้คุณพลอยก็ได้ร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน         เรื่องนี้เริ่มจาก คุณพลอย ได้พบ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์โฆษณาที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งสวยงาม ถูกใจมาก คุณพลอยสนใจจึงติดต่อไปจองเข้าพักในวันที่ 23-24 ธ.ค. 66 แอดมินเพจ BEACH VIEW pool Villa ก็ตอบกลับอย่างรวดเร็วแจ้งให้คุณพลอยโอนเงินค่าที่พักทันทีแล้วจะได้ส่วนลด 3,300 บาท จากราคาเต็ม 13,000 บาท คุณพลอยจึงโอนเงินค่าที่พักไปทันที จำนวน 9, 700 บาท  แต่เมื่อโอนเงินแล้วแอดมินเพจยังบอกอีกว่า ต้องโอนค่าประกันที่พักอีกจำนวน  5,000 บาท การจองจึงจะสมบูรณ์ คุณพลอยหลงเชื่อเพราะคิดว่าได้โอนเงินไปแล้ว 9, 700 บาท การติดต่อก็ไม่ได้ขาดหาย แล้วเรื่องเงินประกันก็มีเหตุผล ซึ่งเงินประกันย่อมได้คืนหากไม่มีอะไรเสียหายกับที่พัก เธอจึงโอนเงินไปให้อีก 5,000 รวมเป็นเงิน 14,700 บาทถ้วน         แต่เรื่องราวกลับถูกเปิดเผยว่า นี่คือมิจฉาชีพ เมื่อคุณพลอยเดินทางไปยังสถานที่จริงตามที่เพจระบุกลับไม่พบที่พักสวยหรูอย่างที่โพสต์ไว้เลย เวียนหายังไงก็ไม่เจอ เมื่อถามกับโรงแรมใกล้เคียงก็พบว่าไม่มีที่พักชื่อ Beach View Pool Villa และไม่สามารถติดต่อผู้ขายและแอดมินเพจได้อีกแล้ว จึงรู้ว่าถูกหลอก คุณพลอยจึงแจ้งความเพื่อดำเนินคดีที่ สน.สำเหร่ ทันที ต่อมาเมื่อนำไปไปสืบหาความจริงเรื่อยๆ จึงได้พบว่า แท้จริงแล้วภาพสวยๆ ที่อยู่บนโพสต์นั้นเป็นมิจฉาชีพนำภาพของที่พักชื่อ Canary Good Pool Villa มาเนียนหลอกลวงคน ซึ่งเจ้าของที่พัก (เจ้าของภาพ) ดังกล่าวก็ได้แจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพแล้วด้วยเช่นกัน  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อผู้บริโภครู้ว่าซื้อสินค้าบริการแล้วถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐานข้อมูลให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารต่างๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เป็นระยะเพื่อตามตัวมิจฉาชีพให้ได้         อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน คุณพลอยแม้จะได้แจ้งความกับตำรวจและติดต่อให้ธนาคารอายัดบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคขอย้ำว่า การมีความรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือการป้องกัน เป็นวิธีการที่ดีกว่าการแก้ปัญหาภายหลังแน่นอน  ซึ่งกรณีนี้ที่คุณพลอยถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พักในเพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีข้อสังเกตที่ผู้บริโภคสามารถนำไปป้องกันตนเองได้คือ           1. มิจฉาชีพให้คุณพลอยชำระค่าที่พักและค่าจองไปยังบัญชีที่เป็นชื่อบุคคล  ซึ่งหากเป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง ชื่อบัญชีจะเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง        2. เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีรูปที่พัก ผู้ติดตามจำนวนมาก และยังมีโชว์ภาพผู้เข้าพัก เหมือนจริงทุกอย่างแต่เท่านั้นยังเชื่อไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบชั้นที่ 2 โดยผู้บริโภค ควรโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถาม พูดคุยโดยตรงด้วยให้บ่อยครั้ง เพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักจะตั้งระบบไม่ให้สามารถโทรกลับได้ง่าย หากเบอร์ไม่สามารถติดต่อได้ หรือติดต่อได้ยาก จุดนี้จะทำให้เห็นพิรุธได้ว่า ไม่น่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของที่พัก โรงแรมที่จะติดต่อได้ง่ายตลอดเวลา         3. หากเห็นว่ามีผู้เข้ามาพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นในเพจ เราควรเข้าไปดูเฟซบุ๊กของผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีลักษณะของผู้ที่เป็นบุคคลจริงหรือไม่  มีข้อสังเกตว่าหากเป็นมิจฉาชีพมักใช้วิธีการจูงใจหลายรูปแบบ เช่น อ้างว่าจะให้เหล้าหรือไวน์ฟรีจำนวนมากเพื่อเร่งรัดให้ตัดสินใจโอนเงิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 5 เรื่องเตือนภัยผู้บริโภค ปี 2567

        ปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับร้องเรียนจากประชาชนทั้งหมด 1,600 เรื่อง ครอบคลุมทั้งเรื่อง บริการสุขภาพ, อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, สื่อและโทรคมนาคม ,สินค้าและบริการทั่วไป , อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย , การเงิน การธนาคาร , บริการขนส่งและยานพาหนะและเรื่องพลังงานกับสิ่งแวดล้อม ในจำนวนเหล่านี้เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยตลอดปี 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอย้ำเรื่องสำคัญ 5 เรื่องที่ประชาชนควรระวังตัวก่อนตกเป็นเหยื่อสูญเงินทรัพย์สิน    1.มิจฉาชีพหลอกจากการซื้อของออนไลน์         กลุ่มที่ถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์มีหลายลักษณะ ไม่ว่าซื้อของแล้วไม่ได้ของเลยหรือซื้อของแล้วได้ไม่ตรงตามสินค้าที่สั่ง สั่งสินค้าแล้วได้รับแต่ไม่มีคุณภาพเพียงพอให้ใช้งานได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในสินค้าและบริการทุกประเภท ไม่ว่าจะของใช้ โทรศัพท์มือ เสื้อผ้า อาหาร และบริการหลายประเภท เช่น ที่พักโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ         ตัวอย่างล่าสุดของเรื่องร้องเรียนจากความเดือดร้อนของ เพจปลอม ที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ ผู้เสียหายนั้นถูกมิจฉาชีพจาก เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์ภาพข้อความและที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หลอกให้จองที่พัก โดยเมื่อผู้เสียหายเห็นรูปที่พักในเพจสวยถูกใจ จึงติดต่อไปสอบถามรายละเอียดเพื่อจองที่พักในช่วงเดือน ธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งแอดมินเพจก็ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วและเสนอส่วนลด 3,300 บาท หากเธอโอนเงินค่าที่พักเข้ามาทันที เมื่อผู้เสียหายโอนเงินแล้วต่อมาทางเพจยังแจ้งให้โอนค่าประกันความเสียหายของที่พักอีก 5,000 บาท ผู้เสียหายไม่ได้คิดมากอะไรนัก คิดว่าเงินประกันย่อมได้คืนในตอนสุดท้าย จึงโอนเงินให้อีกเป็นครั้งที่ 2 รวมโอนเงินไปทั้งสิ้น 14,700 บาท  ต่อมาผู้เสียหายจึงพบว่า ความจริงเมื่อเดินทางไปตามแผนที่ไม่พบที่พักดังกล่าว (BEACH VIEW pool Villa) แต่กลับเป็นที่พักของโรงแรมชื่อ Canary Good Pool Villa ซึ่งเจ้าของได้ดำเนินการแจ้งความแล้วเช่นกันที่ถูกมิจฉาชีพนำรูปไปใช้           “ถามว่าทำไมเราถึงเชื่อและหลงโอนเงินไปให้ คือในเพจเขาเหมือนจริงทุกอย่าง มีรูปห้อง มีรูปคนมาเข้าพัก มีรีวิว มีการกดไลค์ มีผู้ติดตามทุกอย่าง เราเลยเชื่อ ตอนนี้เราได้ดำเนินการแจ้งความไปแล้วแต่ถึงตอนนี้ยังไม่ได้เงินคืนเพราะตำรวจออกหมายเรียกไปแล้วแต่เขายังไม่มาเราก็กำลังติดตามเรื่องอยู่” ผู้เสียหายเล่าให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น         มิจฉาชีพหลอกให้ซื้อของและบริการส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของการสร้างเพจปลอมหรือบัญชีโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok  ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อขายบนแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบผู้ขายสินค้าหรือบริการได้ มีที่อยู่แน่ชัด ผู้ขายมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญและมีระบบการระงับการเงิน การประกันเงินที่เพียงพอเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น  2.สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้า         กลุ่มเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้าครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น การเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม การซื้อบัตรคอนเสิร์ต การสมัครใช้บริการฟิตเนส บริการท่องเที่ยว รวมถึงการทำสัญญาประกันภัยประเภทต่างๆ ด้วย         สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อสัญญา’ แต่ไม่มีกฎ ระเบียบที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สินหลายลักษณะอย่างมาก บางกรณีแม้ความเสียหายอาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่เมื่อประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อก็ทำให้มิจฉาชีพได้เงินไปจำนวนมาก         กรณีการเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงามเกิดได้ทั้งตั้งแต่ถูกล่อลวงให้ใช้บัตรเครดิตแม้ต่อมาผู้บริโภคจะขอยกเลิกก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก อาจต้องเสียเงินไปบางส่วนแล้ว บางกรณีประชาชนถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สเสริมความงามแต่ต่อมาถูกยกเลิกสัญญา หรือสถานเสริมความงามปิดตัวลงไม่สามารถใช้บริการได้ และหลายกรณีเข้าใช้บริการแล้วต่อมากลับพบว่า คลินิกใช้ยาไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หลายกรณีประชาชนเกิดความเสียหายขึ้นกับร่างกายจากการรับบริการแต่ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเพื่อให้เกิดการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งกินเวลาเนิ่นนาน         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องร้องเรียนสินค้าและบริการประเภทประกันภัยมากขึ้นเช่นกัน ทั้งการจ่ายเบี้ยประกันภัยไปแล้วหลายปีแต่เมื่อเจ็บป่วยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองตามสัญญาประกัน  และบางกรณีได้ครบกำหนดสัญญาประกันแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนครบตามที่สัญญาประกันได้โฆษณาไว้  3.ความปลอดภัยของ แอปพลิเคชัน การเงิน การลงทุนต่างๆ         แม้เรื่องนี้ยังมีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิไม่มากนัก  แต่เราเห็นว่าปัจจุบันและในอนาคตคนรุ่นใหม่ๆ จะสนใจการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น ประชาชนจึงต้องศึกษาปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอติดตามปัญหาว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้เสียหายได้รับการเยียวยาชดเชยหรือไม่และจะต้องดำเนินการอย่างไร          กรณีที่มีผู้ร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือผู้เสียหายได้ซื้อขายคริปโต (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มสีเขียว มาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีแล้วก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2565 กลับได้รับข้อความแจ้งเตือนว่า   "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว" โดยพบว่าเหรียญถูกสั่งถอนจนไม่มีเหรียญเหลืออยู่ในบัญชีเลย แม้ผู้เสียหายจะแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี  และทางแพลตฟอร์มสีเขียวได้ดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดให้ตำรวจเพื่อประกอบสำนวนคดีแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รับเงินคืนยังต้องต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อป้องสิทธิของตัวเอง 4.  สื่อและโทรคมนาคม         หลังบริษัท ทรู และดีแทคได้ควบรวมจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 และ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไข / มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคม แต่จากการสำรวจโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภคที่สำรวจประชาชนกว่า 2,924 รายพบว่า80% ของผู้ใช้บริการพบปัญหาการใช้งาน โดยเครือข่ายที่พบปัญหามากที่สุด คือ ทรู 47% ดีแทค 34% เอไอเอส 18% และ อื่น ๆ 1% โดย 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า (29%) สัญญาณหลุดบ่อย (19%) ต้องใช้โปรโมชันใหม่ที่แพงขึ้น เมื่อโปร ฯ เดิมหมด (14%) ค่าแพ็คเกจเท่ากันหมด ไม่มีตัวเลือก (12%)  คอลเซ็นเตอร์โทรติดยาก (10%)         ปัจจุบันนอกจากปัญหาสำคัญ 5 เรื่องดังกล่าวแล้ว ประชาชนยังคงร้องเรียนปัญหาอื่นๆ เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทผู้ให้บริการค่ายสัญญาณมือถือ เช่น การถูกหลอกให้เปิดเบอร์โทรศัพท์  กรณีไม่เคยเปิดใช้งานเบอร์ดังกล่าว แต่ถูกเรียบเก็บค่าบริการซึ่งมีอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงประชาชนได้น้อยในหลายพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจาก การย้ายเสาสัญญาณจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเสาสัญญาณภายหลังการควบรวมธุรกิจดังกล่าวด้วย   5.การซื้อ - เช่าอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัย         ปัญหากลุ่มนี้มีหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่การจองคอนโด ที่อยู่อาศัย ที่สุดท้ายคอนโดก็สร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา หรือแม้แต่เมื่อเข้าอยู่อาศัย เป็นเวลาไม่นานก็อาจเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความรับผิดชอบจากบริษัทเจ้าของโครงการได้ มีกรณีถูกเรียกเก็บค่าส่วนกลางมากขึ้น หรือไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางตามสัญญาเพราะมีไม่เพียงพอ  หรือกรณีที่อยู่ไปยาวนานแล้วก็อาจเป็นคอนโดที่ผิดกฎหมายได้ ดังที่เราได้เห็นจากกรณีแอชตัน อโศก มาแล้ว  ......................................................... ผู้บริโภคจะป้องกันตัวเอง ได้อย่างไร           คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า จากปัญหาที่ประชาชนจำนวนมากถูกมิจฉาชีพหลอกให้ซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ ขอเรียกร้องให้แพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางการขาย รวมถึงบริษัทขนส่ง ควรร่วมเข้ามากำหนดมาตรการกำกับดูแลด้วย โดยควรมีระบบที่สามารถบันทึก บัญชีของมิจฉาชีพหรือผู้ขายที่ใช้ส่งของ ควรมีระบบที่ช่วยกันตรวจสอบว่าหากถูกตีกลับบ่อยครั้ง อาจมีระงับบัญชีชั่วคราว ระงับการโอนเงินให้ร้านค้าเพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายได้ทันท่วงที         “แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Facebook และ TikTok เราจะเห็นว่าเป็นพื้นที่ของการซื้อขายไปแล้ว แต่การจัดทำระบบเพื่อความปลอดภัย การตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนของร้านค้ายังพัฒนาไม่มากเท่าแพลตฟอร์มที่พัฒนามาเพื่อการซื้อขายจริงๆ เราจึงเรียกร้องว่าหากประชาชนใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อทำการซื้อขายแล้วเจ้าของแพลตฟอร์มก็ควรจะต้องยกระดับ มาตรการความปลอดภัยมากขึ้นด้วย ให้มีความปลอดภัยที่เพียงพอ”         ในด้านอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัยนฤมลสะท้อนว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อที่จะคุ้มครองผู้บริโภคเลย ผู้บริโภคเป็นผู้เช่าซื้อ ผ่อนไปนาน 3 เดือนหรือ 20 ปี สถานะไม่ได้ต่างกันหากยังผ่อนไม่หมดหรือแต่เมื่อผ่อนหมดไปแล้วผู้บริโภคก็จะใช้อำนาจขัดทรัพย์ไม่ได้ กฎหมายยังมีช่องว่างที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบอยู่มาก         กรณีที่มีเรื่องฟ้องคดีแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังพบว่าปัจจุบันมีปัญหาที่บริษัทเจ้าของโครงการยังสามารถโอนถ่ายทรัพย์สินไปเสียก่อน หรือ ทำให้บริษัทล้มละลาย ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายไม่ได้รับการชดเชย เยียวยา ซึ่งเรื่องนี้นฤมลสะท้อนว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง จะต้องร่วมมือกันในอีกหลายฝ่ายเพราะต้องเป็นนโยบาย มีการแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจน ประชาชนถึงจะได้รับการคุ้มครองได้         คุณธนทรัพย์  ชิตโสภณดิลก  เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเบาะแส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กล่าวถึงปัญหาประชาชนถูกดูดเงินออกจากแอพพลิเคชั่น การเงิน การลงทุนต่างๆว่า ปัญหาดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2564 และเป็นปัญหาอย่างมากในปี 2565 ปัจจุบันแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ประชาชนยังต้องระมัดระวัง          “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีฝ่ายงานที่กำกับดูแลความปลอดภัยของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัลอยู่แล้ว ระบบในแอพลิเคชั่นมีการให้ยืนยันตัวตนทุกครั้งที่มีการฝาก - ถอน แต่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน โดยภาพรวมที่ผ่านมา ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัล มักจะถูกโจรกรรมโดยการเข้าไป พิชชิ่ง คือการกดเข้าเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างมาเพื่อหลอกหากไม่ได้ดูให้ดีเพราะชื่อโมเดนของเว็บไซต์จะคล้ายกันมากเช่นเว็บไซต์  zintmes เขาจะปลอมเป็น zintmess  เมื่อเข้าไปแล้วก็จะมีช่องให้กรอกข้อมูล Username และ Password เหมือนกัน หากเผลอกรอกข้อมูลนี้ไปแล้วมีโอกาสสูงอย่างมากที่มิจฉาชีพจะมีข้อมูลของผู้เสียหายและเข้ามาในบัญชีจริง โอนถ่ายเงินไปซื้อเหรียญอื่น และโอนต่อไปเรื่อยๆ จนไปต่างประเทศ การสืบว่า บัญชีปลายทางเป็นบริษัท หรือเป็นใคร เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ที่ตำรวจแล้ว หากไปต่างประเทศจึงปรากฏตามข่าวว่าตำรวจยังสามารถดำเนินการได้ล่าช้า”         ด้านปัญหาที่ประชาชนเข้ารับบริการจากคลินิกเสริมความรับ และได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกปัดความรับผิดชอบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า สคบ. มีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนในเรื่องนี้ คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 หากประชาชนมีหลักฐานการจ่ายเงินและยังไม่ได้เข้าใช้บริการก็ย่อมสามารถขอรับเงินคืนได้  ซึ่งตามมาตรา 11 พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ระบุให้การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากประชาชนพบเห็นการโฆษณาจากที่ใดให้เก็บหลักฐานไว้ และเมื่อมีหลักฐานการจ่ายเงินเป็นหลักฐานประกอบอีก กฎหมายจะถือว่าสัญญาเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้ทำสัญญาที่เฉพาะเจาะจงก็ตาม หากภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกประชาชนไม่ได้รับสินค้าหรือใช้บริการ ก็ถือว่าผิดสัญญา สามารถนำหลักฐานการโฆษณา การจ่ายเงิน ในการฟ้องเรียกเงินคืนได้ นอกจากนี้ ยังมี พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หากประชาชนศึกษาไว้จะเป็นประโยชน์ช่วยคุ้มครองสิทธิของตนเองได้  ทำยังไงไม่ให้ถูกหลอก          ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร รอง สว. (สอบสวน) กก.2 กองบังคับการปราบปราม  การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า 5 อันดับสูงสุดของเรื่องที่มีการแจ้งความออนไลน์เข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือการหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หลอกให้รักโรแมนส์สแกม และการโดนหลอกผ่านคอลเซนเตอร์           " สำนักงานตำรวจเรามีโครงการ CIB เตือนรักระวังภัย 4 ห้องหัวใจระวังโจรเพราะมี 4 มิจฉาชีพเข้ามาในรูปแบบของความรักคือ 1.1.Romance Scam หลอกให้รัก หลอกให้โอน ด้วยการปลอมเป็นชาวต่างชาติ หน้าตาดี หลอกว่าจะบินมาแต่งงาน ส่งของมีค่ามาให้ ให้เราโอนเงินค่าดำเนินการ 2.Hybrid Scam หลอกให้ลงทุน ด้วยการปลอมโปรไฟล์ให้ดูดี เข้ามาตีสนิทพูดคุยเชิงชู้สาว ก่อนจะใช้คารมคำหวานหลอกให้ลงทุน 3.Sextortion ข่มขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการหลอกให้ถ่ายรูปโป๊ ชวนแลกภาพโป๊เปลือยก่อนจะนำไปแบล็กเมล์ ข่มขู่จะปล่อยภาพหลุดแลกเงิน 4.Dating fraud ลวงให้ออกเดท ด้วยการ หลอกให้เหยื่อไว้ใจ ขอนัดเจอ ก่อนล่อลวงไปข่มขืน กักขัง คิดถึงสัมพันธ์ออกแบบจำลอง และทำร้ายร่างกาย”         ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร ให้คำแนะนำ/ ข้อสังเกตเพื่อให้ประชาชน ป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไว้ดังนี้        ·     เพจปลอมที่หลอกขายสินค้า หรือให้จองที่พักมักจะลดราคาสินค้ามากเป็นพิเศษ ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาดมากจนผิดสังเกต         ·     บัญชีที่ให้โอนเงินหากเป็นโรงแรมหรือที่พัก ควรเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง ไม่ใช่ชื่อบุคคล         ·     เมื่อติดต่อพูดคุยเพื่อสอบถามรายละเอียดในการซื้อสินค้าหรือบริการแนะนำให้ประชาชนขอเบอร์โทรศัพท์และหมั่นโทรไปสอบถามข้อมูลให้บ่อยครั้งที่สุด เพราะโดยปกติเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพจะตั้งระบบให้ไม่สามารถโทรกลับ หรือติดต่อได้โดยง่าย          ·     หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกว่าเป็นตำรวจหรือหลอกว่าเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติดใดๆ อย่าตื่นตระหนกแต่ให้ขอข้อมูลจากมิจฉาชีพว่ามาจากสถานีตำรวจใดและให้ประชาชนตรวจสอบกลับไปที่สถานีตำรวจดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มิจฉาชีพอ้างถึงได้ติดต่อมาจริงหรือไม่         ·     มิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกไม่ว่าจะทั้งในเพจปลอม หรือ คอล เซ็นเตอร์มักมีลักษณะเร่งรัดให้ตัดสินใจโดยเร็วโดยการยื่นข้อเสนอ จูงใจต่างๆ หรืออาจทำให้ตระหนก ตกใจไม่มีเวลาคิดตรวจสอบข้อมูลจนรีบโอนเงินไป        ·     ประชาชนควรหมั่นติดตาม ข่าวสารแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนกันการฉีดวัคซีนการเตือนภัยให้ตัวเอง หากทำไม่สม่ำเสมออาจไม่เท่าทันรูปแบบของมิจฉาชีพที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปทุกวัน         ·     ให้ประชาชนมีสติในการซื้อ ไม่โลภ หากสินค้าราคาถูกกว่าตลาดมากๆ ควรมองว่าเป็นเรื่องผิดสังเกตเพราะปัจจุบัน มีการปลอมสินค้าทุกรูปแบบ เช่น ผงชูรส ผงซักฟอก เป็นต้น  และควรซื้อสินค้าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ การซื้อในแพลตฟอร์มออนไลน์ควรซื้อในแพลตฟอร์มที่มีการตรวจสอบตัวตนของผู้ขาย   มีมาตรการความปลอดภัย           ·     ปัจจุบัน ประชาชนควรเพิ่มเติมความรู้เท่าทันเทคโนโลยีต่างๆ เช่น รู้ว่า ใช้ AI สร้างบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาได้จริง หรือการการพูดคุยกับ มิจฉาชีพทางคอล เซ็นเตอร์นานๆ แม้หลายคนมองเป็นเรื่องสนุกแต่เทคโนโลยีจะสามารถปลอมเสียงของเราไปหาประโยชน์กับรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือของเราได้  

อ่านเพิ่มเติม >