ฉบับที่ 244 การใช้ยาเพิ่มน้ำหนักดีจริงหรือ

        อยากเพิ่มน้ำหนัก อยากอ้วน แต่กินเท่าไรก็ไม่อ้วน ในเมื่อกินอาหารไม่อาจช่วยได้ กินยาช่วยเลยละกัน ทำแบบนี้ได้ไหม แล้วจะได้ผลจริงหรือเปล่า มันจะเป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันนะ เรามาทำความรู้จักกับยาเพิ่มน้ำหนักกันเถอะ         ความหมาย         ยา  คือ สารทางธรรมชาติหรือสารเคมีที่ผ่านกรรมวิธีแล้วนำมาใช้งานให้ออกฤทธิ์ต่อร่างกาย เพื่อใช้ในการป้องกัน รักษา บำบัด หรือบรรเทาอาการของโรค ซึ่งจะแตกต่างในสรรพคุณและวิธีการใช้ ยาจะมีการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าและมีการตรวจสอบถึงผลกระทบที่จะตามมากับผู้ใช้อย่างละเอียดก่อนจะอนุญาตให้ใช้ในคน เพราะยาบางประเภทอาจจะรักษาอาการหรือรักษาโรคชนิดหนึ่งหาย แต่กลับไปทำลายระบบร่างกายส่วนอื่น และทำให้ต้องรักษาการป่วยของร่างกายที่เกิดจากการรับประทานยาตัวนั้นด้วย ถึงตรงนี้จะพบว่า ยานั้นผ่านการตรวจสอบค่อนข้างละเอียด หากใช้ถูกวิธีก็เกิดผลดี แต่ก็อันตรายถ้าใช้ไม่เหมาะสม แล้วยาช่วยเพิ่มน้ำหนักนั้นมีอยู่จริงไหม         ยาช่วยเจริญอาหารหรือที่มักเรียกกันว่า “ยาเพิ่มน้ำหนัก” ที่รู้จักกันในวงกว้าง คือ ยาไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อการค้าว่า “เพอริแอคติน” (Periactin) และยาพิโซติเฟน (Pizotifen)         อันที่จริงสรรพคุณต้นฉบับนั้นเป็นยาแก้แพ้  แต่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอนและอื่นๆ โดยออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้น ทำให้ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำก็จะไปกระตุ้นที่ศูนย์ความหิวในสมอง จึงทำให้เกิดอาการหิวหรืออยากกินอาหารมากขึ้น บ่อยขึ้น จึงช่วยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในทางอ้อมได้          อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ก็จะมีผลข้างเคียงหลายอย่างในการใช้จึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือขอคำแนะนำก่อนใช้ยาจากเภสัชกร ส่วนขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสมของการใช้ยาต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น หมายความว่า เราไม่ควรไปซื้อรับประทานเอง         ไม่กินยาได้ไหม         ปัญหาสุขภาพนั้น สิ่งแรกเลยที่ต้องจัดการคือ การค้นหาสาเหตุของปัญหา ถ้ามีรูปร่างผอมและดัชนีมวลกายน้อย เรี่ยวแรงไม่มี อาจเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น กินอาหารไม่ถูกต้อง เป็นพันธุกรรม มีนิสัยการกินที่ผิด (เลือกกิน) หรืออาจมีปรสิตแอบอยู่ในตัว ฯลฯ จึงควรแก้ไขให้ถูกที่ โดยเริ่มจากพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยว่าไม่ได้มีสาเหตุทางกายภาพ เช่น มีพยาธิ เป็นกรรมพันธุ์หรือโรคร้าย หากสาเหตุเกิดจากโรคต้องให้แพทย์รักษา แต่หากเป็นเรื่องของพฤติกรรมลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดู         ·     ปรับวิธีกินให้เหมือนกับคนอ้วน            1.กินเร็วหรือเคี้ยวอาหารเร็วขึ้น            2.เพิ่มมื้ออาหาร            3.งดดื่มน้ำระหว่างรับประทาน            4.กินอาหารที่ให้พลังงานสูง                  ·     กินให้ถูกหลักโภชนาการ            1.กินอาหารดีมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่  ไม่เลือกกิน            2.เพิ่มสัดส่วนหรือเน้นอาหารกลุ่มโปรตีนและไขมันเพิ่มเติมในมื้ออาหาร เพื่อช่วยเสริมกล้ามเนื้อ เช่น อกไก่ โปรตีนจากปลา ไข่ ธัญพืช กะทิ ถั่วและเมล็ดพืชต่างๆ         ·     เพิ่มการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี             ลองนำคำแนะนำข้างต้นนี้ไปปรับใช้ น่าจะช่วยเพิ่มน้ำหนักได้ แต่การเพิ่มน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืนต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ แล้วผลลัพธ์จะออกมาดี และแน่นอนว่าดีกว่าการกินยาช่วยเพิ่มน้ำหนัก เพราะนั่นเป็นเพียงการใช้เสริมเพื่อให้เกิดความอยากอาหารขึ้นเท่านั้น ผลข้างเคียงก็เยอะ จึงไม่ควรเป็นสิ่งยึดหลัก เอาเป็นแค่ทางเลือกก็พอหากจำเป็นจริงๆ           ยาเพิ่มน้ำหนัก หรือยาช่วยเจริญอาหาร        1. ยาต้านซีโรโทนิน  (serotonin antagonist)             1.1 ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine) : เป็นยาแก้แพ้ที่รู้จักในชื่อการค้าว่า “เพอริแอคติน” (Periactin)  มีสรรพคุณต้านฤทธิ์ของสารฮิสตามีนที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ต้านฤทธิ์ซีโรโทนิน และออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้น ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำก็จะไปกระตุ้นที่ศูนย์ความหิวในไฮโปทาลามัส (ส่วนหนึ่งของสมอง) ทำให้หิวหรืออยากกินอาหารมากขึ้น บ่อยขึ้น จึงช่วยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในทางอ้อมได้ แต่น้ำหนักตัวจะไม่เพิ่มและยังอาจลดลงด้วยซ้ำเมื่อหยุดยา              ผลข้างเคียง             - ง่วงนอนตอนกลางวัน จึงอาจกระทบต่อผลการเรียนหรือการทำงาน             - ทำให้เกิดอาการอยู่ไม่สุข พลุ่งพล่าน             - ยังยั้งการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (ถ้าใช้ในเด็กอาจทำให้เด็กตัวเตี้ย)             1.2 พิโซติเฟน (Pizotifen) : มีฤทธิ์และผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับไซโปรเฮปทาดีน แต่มีราคาแพงกว่า         โดยทั่วไปแพทย์จะให้ใช้ยา 2 ชนิดนี้ ไม่นานเกิน 2 สัปดาห์ เพื่อเลี่ยงไม่ให้ไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ        2. ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์และอะนาบอลิกฮอร์โมน             2.1 ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์ : ผู้ขายยาบางรายมักผสมยานี้ลงใน “ยาชุด” หลายแบบ และโฆษณาว่าเป็นยาบำรุงร่างกายบ้าง ยาชุดเพิ่มความอ้วนบ้าง อันที่จริง ยากลุ่มนี้จัดว่าเป็น “ยาอันตราย” ห้ามซื้อขายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ เพราะมีผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้กินยาอย่างผิดวิธี ตัวยากลุ่มนี้ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เด็กซาเมทาโซน  ผลข้างเคียง             - กระดูกหยุดเจริญเติบโตในเด็ก และกระดูกผุในผู้ใหญ่             - ร่างกายบวมฉุจากการคั่งของเกลือและน้ำ ผู้ใช้ยาจึงหลงคิดว่าอ้วนขึ้น            - ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย             - อาจเป็นเบาหวานหรือแผลในกระเพาะอาหาร             - ถ้าใช้ต่อเนื่องนานๆ จะกดการทำงานของต่อมหมวกไต และเสพติดได้             - อาจเกิดสิว ซึ่งรักษายาก ผิวหนังบาง ผิวหนังแตกเป็นริ้วตามหน้าท้องและขาอ่อน         2.2 อะนาบอลิกฮอร์โมน : ยากลุ่มนี้ที่มีแพร่หลายในท้องตลาดคือ แอนโดเจน เป็นฮอร์โมนที่มีมากในเพศชาย มีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้มีลักษณะของเพศชาย เช่น เสียงห้าว มีหนวดขนขึ้นดกดำ อวัยวะเพศชายเจริญรวดเร็ว 

อ่านเพิ่มเติม >