ฉบับที่ 272 รู้ก่อนดื่มกาแฟไร้คาเฟอีน

        สมาคมกาแฟแห่งชาติสหรัฐฯ (National Coffee Association - NCA) ระบุว่า การดื่มกาแฟปราศจากคาเฟอีนหรือดีแคฟ  (decaffeinated coffee) นั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10% ของตลาดในสหรัฐอเมริกา กาแฟประเภทนี้เหมาะกับคนที่มีปัญหาดื่มกาแฟปรกติแล้วใจสั่น คนที่ต้องนอนหลับให้ได้ในเวลาที่กำหนด ผู้มีความดันโลหิตสูง ผู้หญิงที่ตั้งท้อง ฯ จึงเลี่ยงไปดื่มกาแฟที่ได้มาจากกระบวนการสกัดสารคาเฟอีนออก พฤติกรรมนี้ดูแล้วน่าจะดีต่อสุขภาพ (จิต) อย่างไรก็ดีหลังจากที่หลายคนได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟประเภทนี้มากขึ้นกว่าผู้บริโภคทั่วไปก็พบว่า กาแฟดีแคฟบางยี่ห้อผ่านการผลิตโดยอาศัยสารเคมีซึ่งมีข้อมูลควรระวัง ส่งผลให้ความกังวลใจ (มากกว่าเดิม) มาเยี่ยมเยือน ผู้บริโภคกลุ่มนี้ควรได้รับการบอกกล่าวอย่างไรถึงจะมีความสบายใจขึ้นในการดื่มกาแฟดีแคฟ  กาแฟไร้คาเฟอีนนั้นผลิตอย่างไร         กาแฟประเภทนี้ผลิตจากเมล็ดกาแฟที่คาเฟอีนถูกกำจัดออกไปอย่างน้อย 97% นั่นคือ สำหรับเมล็ดกาแฟทุกๆ 100 กรัม ปริมาณคาเฟอีนควรไม่เกิน 0.1 กรัม (สำหรับในประเทศไทยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 197) พ.ศ. 2543 เรื่อง กาแฟ กำหนดว่า มีคาเฟอีนไม่เกินร้อยละ 0.1 ของน้ำหนัก)         มีหลายวิธีในการขจัดคาเฟอีนออกจากเมล็ดกาแฟ เช่น การใช้น้ำช่วยพร้อมการกรองด้วยถ่านกัมมันต์ (Swiss water process) กระบวนการที่สองคือ การใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ คือ methylene chloride (ซึ่งมีอีกชื่อคือ dichloromethane) หรือใช้ ethyl acetate ช่วยในการผลิต และกระบวนการสุดท้ายเป็นการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลว (supercritical fluid extraction ซึ่งมีค่าความดันวิกฤตเป็น 73.8 บาร์ และอุณหภูมิวิกฤตเป็น 31.1 องศาเซลเซียส) ช่วยในการผลิต         ส่วนขั้นตอนการผลิตกาแฟดีแคฟแบบสั้นๆ คือ เมล็ดกาแฟถูกล้างในตัวทำละลายจนกระทั่งสกัดคาเฟอีนออกมามากที่สุด จากนั้นจึงกำจัดตัวทำละลายออก แล้วนำเมล็ดกาแฟที่ได้ไปคั่วและบด คุณสมบัติของกาแฟไร้คาเฟอีนควรเกือบเหมือนกับกาแฟทั่วไป ยกเว้นปริมาณคาเฟอีนที่มีน้อยมาก ทำไมบางคนถึงกังวลกับดีแคฟที่ผลิตโดยใช้สารเคมีช่วยในการกำจัดคาเฟอีน          Methylene chloride เป็นสารออกฤทธิ์หลักในน้ำยาล้างสี (paint stripper หรือ paint remover) ที่ถูกห้ามโดย US.EPA ในเดือนมีนาคมปี 2019 ในทางตรงกันข้ามปัจจุบัน US.FDA ยังอนุญาตให้ใช้ Methylene chloride ในกระบวนการกำจัดคาเฟอีน (ทำหน้าที่เป็น processing aid) ในกาแฟโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผกระบวนการกำจัดคาเฟอีนบนฉลาก         Methylene chloride ในปริมาณน้อยถูกร่างกายเผาผลาญให้เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ที่อาจนำไปสู่พิษจากคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ในผู้อ่อนไหวบางคน รายงาน Report on Carcinogens, Fifteenth Edition (2021) ซึ่งมีทั้งที่เป็นรูปเล่มและออนไลน์ของ U.S. National Toxicology Program ให้ข้อมูลว่า Methylene chloride (หรือ Dichloromethane) ได้รับการจัดว่า เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยอาศัยหลักฐานที่เพียงพอของการก่อมะเร็งจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง เพียงแต่ข้อมูลทางระบาดวิทยายังไม่พอ อีกทั้งยังไม่มีงานวิจัยที่บอกว่าระดับใดของ Methylene chloride ในอาหารที่อาจก่อมะเร็งในคน สำหรับ IARC (International Agency for Research on Cancer องค์กรหนึ่งซึ่งสังกัดองค์การอนามัยโลกที่มีบทบาทในการประเมินและจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งแล้วตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรียกว่า IARC Monograph) กล่าวว่า Methylene chloride อยู่ใน Group 2B (possibly causing cancer in humans)         ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถหาซื้อกาแฟดีแคฟจากออนไลน์หรือจากซูเปอร์มาเก็ตได้เป็นบางยี่ห้อที่ระบุการกำจัดคาเฟอีนด้วย Swiss water process ซึ่งมักมีราคาแพงกว่าชนิดที่ไม่บอกกระบวนการเอาคาเฟอีนออก อย่างไรก็ดีไม่มีอะไรเป็นการรับประกันว่าจะได้ของตรงฉลาก (เมื่อซื้อออนไลน์) ยกเว้นเชื่อในความน่าเชื่อถือของผู้ขายที่ไม่ใช่ตัวแทนโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิต มีข้อมูลหรือไม่ว่า กาแฟดีแคฟมี Methylene chloride ตกค้าง         ปัจจุบันหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินอันตรายต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (California Environmental Health Hazard Assessment) ได้เพิ่ม Methylene chloride เข้าไปในรายการของข้อเสนอ 65 (Prop. 65) เพราะการประเมินอย่างเป็นทางการของรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นได้สรุปว่า ในระหว่างตั้งครรภ์ Methylene chloride สามารถถ่ายทอดจากแม่ (สัตว์ทดลอง) สู่ลูกได้         สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมากทั้งสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ล้วนเป็นผู้บริโภคกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนเป็นประจำ โดยที่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่ากาแฟนั้นเอาคาเฟอีนออกด้วยวิธีใด เพราะฉลากกาแฟดีแคฟนั้นไม่บังคับให้ระบุวิธีการเอาคาเฟอีนออก นอกจากผู้ผลิตจะรู้สึกเองว่า ในการติดฉลากว่า ใช้กระบวนการ Swiss water process น่าจะก่อความมั่นใจในความปลอดภัยเมื่อบริโภคมากขึ้น         Clean Label Project ซึ่งเป็นองค์กรณ์เอกชน (NGO) ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกาได้มีเอกสารในเว็บขององค์กรเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2022 เรื่อง More Methylene Chloride! ซึ่งรายงานผลการวิเคราะห์ Methylene chloride ในกาแฟดีแคฟ หลายยี่ห้อโดยห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานของรัฐบาล ผลปรากฏว่าพบ methylene chloride ในกาแฟดีแคฟบางยี่ห้อ (ขอสงวนนาม) ซึ่งผลการทดสอบในภาพรวมนั้นระดับของ Methylene chloride สูงขึ้นกว่าระดับที่เคยตรวจพบในครั้งก่อนหน้าเมื่อหลายปีราว 10 เท่า-100 เท่า แต่ก็ยังต่ำกว่าขีดจำกัดตามกฎระเบียบทั้งหมดที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมล็ดกาแฟสายพันธุ์ที่มีคาเฟอีนต่ำหรือไม่มีคาเฟอีนเลยมีหรือไม่         Wikipedia ให้ข้อมูลว่าในปี 2004 มีรายงานบนโลกออนไลน์ว่า กาแฟชนิดหนึ่งมียีน caffeine synthase บกพร่อง ส่งผลให้เกิดการสะสมธีโอโบรมีน (theobromine) แทนที่สารนี้จะถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นคาเฟอีน ลักษณะดังกล่าวเกิดได้ทั้งตามธรรมชาติ การผสมข้ามพันธุ์จนเกิดภาวะดังกล่าวหรืออาจใช้กระบวนการทางพันธุวิศวกรรมเพื่อ knock out (ปิดการทำงาน) ยีนที่สร้างคาเฟอีน         ในปี 2009 ความก้าวหน้าในการปลูกเมล็ดกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนกลับมาเป็นที่สนใจอีก รายงานข่าวกล่าวว่า เป็นกาแฟชนิดที่เรียกว่า "Decaffito" คำๆ นี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายคุณสมบัติกาแฟนี้ และเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทในบราซิล         กาแฟ Decaffito ที่พบในธรรมชาตินั้นคือ กาแฟสายพันธุ์ Coffea charrieriana ที่ปราศคาเฟอีน (หรือมีน้อยมาก) ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศเคนยา ทวีปอัฟริกา แต่รายละเอียดในรูปงานวิจัยนั้นตีพิมพ์ในวารสาร Botanical Journal of the Linnean Society ของปี 2008 เรื่อง A new caffeine-free coffee from Cameroon ส่วนเมล็ดกาแฟชนิดซึ่งมีคาเฟอีนเป็นองค์ประกอบสำคัญและนิยมปลูกทั่วโลกคือ Coffea arabica และ Coffea robusta โครงการค้นหากาแฟไร้คาเฟอีนนั้นเป็นอย่างไร         มีตัวอย่างโครงการลักษณะนี้ที่ศูนย์วิจัยกาแฟชั้นนำของ Instituto Agronomico de Campinas (IAC) ในบราซิล หน่วยงานนี้ได้เริ่มกระบวนสำคัญของโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการสองทศวรรษในการพัฒนากาแฟสายพันธุ์ที่ไม่มีคาเฟอีน (หรือมีต่ำมาก) ตามธรรมชาติ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า การพัฒนาดังกล่าวมีศักยภาพทางธุรกิจที่โดดเด่นอย่างมาก         ความสำเร็จของสายพันธุ์กาแฟที่เพาะได้อาจเจาะตลาดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มในภูมิภาคที่มีการบริโภคมหาศาล อย่างเช่น ยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งลูกค้าต้องการดื่มกาแฟไร้คาเฟอีนที่มาจากธรรมชาติแทนที่การดื่มกาแฟไร้คาเฟอีนที่ต้องผ่านกระบวนการทางเคมี นอกจากนั้นบริษัทที่จำหน่ายกาแฟไร้คาเฟอีนจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากสามารถข้ามขั้นตอนทางอุตสาหกรรมในการขจัดสารคาเฟอีนออกจากกาแฟพันธุ์ปกติไปได้ พร้อมกับภาพพจน์ที่ว่า บริษัทนั้นใส่ใจต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค         ปัจจุบันกาแฟบางสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นภายในศูนย์วิจัยการแฟของ IAC ให้มีคาเฟอีนต่ำนั้น ได้ถูกนำไปปลูกตามภูมิภาคต่างๆ ของบราซิลแล้ว โดยต้นกาแฟมักใช้เวลาราวสองถึงสามปีจึงจะออกผลผลิตเป็นครั้งแรกเพื่อทดสอบผลที่ได้ อย่างไรก็ดียังไม่มีใครสนใจกล่าวถึงธีโอโบรมีนที่อาจสูงขึ้นได้ในกาแฟที่ไร้คาเฟอีนว่า อาจก่อปัญหาอื่นตามมา เพราะเคยมีข่าวในบ้านเราว่า เด็กสาวเกือบขิตเพราะดื่มโกโก้เย็นที่ชงอย่างเข้มข้น (ซึ่งโกโก้นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีธีโอโบรมีนสูงเป็นซิกเนเจอร์)

อ่านเพิ่มเติม >