ฉบับที่ 188 รู้เท่าทันเมล็ดเจีย

ระยะนี้ ดูเหมือน เมล็ดเจีย กลายเป็นพระเอกในตลาดสินค้าสุขภาพทางเลือกโดยเฉพาะในต่างประเทศ ประเทศไทยกำลังตามมาติดๆ เมล็ดเจียจะแซงเมล็ดงาดำหรือแมงลักได้หรือไม่ ในต่างประเทศมีความนิยมเรื่องเมล็ดธัญพืชที่ไม่ขัดสีและเมล็ดธัญพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้เมล็ดเจีย ยังมีตำนานว่าเป็นธัญพืชที่ชาวแอซเท็กโบราณในคริสศตวรรษ 14-16 นิยมบริโภคเพราะเชื่อว่า จะให้พลังกับร่างกายและสติปัญญา ต่อมาได้เกิดสูญพันธุ์ไป และมาค้นพบใหม่อีกครั้ง ทำให้มีการนำมาเพาะปลูกและบริโภคโดยเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างยิ่งเพราะมีภูมิปัญญาโบราณของชาวแอซเท็กเป็นหลักฐาน เรามารู้เท่าทันเมล็ดเจียกันเถอะเมล็ดเจียคืออะไรเมล็ดเจียมีชื่อว่า Salvia hispanica หรือนิยมเรียกกันทั่วไปว่า Chia เป็นพืชตระกูลมินต์ มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโกกลางและใต้ และในกัวเตมาลา นักรบชาวแอซเท็กกินเมล็ดเจียเพื่อให้พลังงานและความทนทานสูง พวกเขาเชื่อว่า การกินเมล็ดเจียแค่หนึ่งช้อนชาจะช่วยเพิ่มพลังได้นาน 24 ชั่วโมงคุณค่าของเมล็ดเจียมีการโฆษณาเกี่ยวกับเมล็ดเจียในเว็บไซต์จำนวนมาก ทั้งบริษัทร้านค้าและแพทย์ทางเลือกที่มีชื่อเสียง บางคนเรียกว่าเป็น superfood ก็มี และอ้างคุณค่าว่า มี โอเมก้า 3 มากกว่าปลาแซลมอน 8 เท่า, โอเมก้า 6, เหล็กมากว่าผักโขม 3 เท่า, สารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าบลูเบอรี่ 3 เท่า, แมกนีเซียมมากกว่าบรอกโคลี 15 เท่า, แคลเซียมมากกว่านม 5 เท่า, เส้นใยอาหารสูง และยังดีต่อโรคหัวใจ ลดไขมัน ความดันเลือดลดลง เป็นต้น ในบางเว็บไซต์ อ้างว่า เมล็ดเจียช่วยในการลดน้ำหนัก รักษาโรคเบาหวาน กระดูกพรุน สำหรับนักกีฬาราคาซื้อขายเมล็ดเจียในท้องตลาดสุขภาพในท้องตลาดประเทศไทยมีการขายเมล็ดเจียกันหลายราคา ตั้งแต่ 600 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงพันกว่าบาท โดยเฉพาะที่นำเข้าจากประเทศเม็กซิโกและเป็นเกษตรอินทรีย์จะมีราคาสูงเป็นพิเศษการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีงานวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดเจียในวารสารวิชาการจำนวนมาก ในวารสาร Pubmed มีการตีพิมพ์การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดเจียประมาณ 46 รายงาน จากการทบทวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Pubmed พบว่า งานวิจัยต่างๆ นั้นยังมีหลักฐานทางวิชาการที่จำกัด ไม่สามารถยืนยันประสิทธิผลของเมล็ดเจียได้เพียงพอ แต่พบว่า มีงานวิจัยคลินิก 2 รายงานที่น่าเชื่อถือ โดยรายงานการศึกษาทางคลินิกรายงานหนึ่ง พบว่า เมล็ดเจียอาจมีประสิทธิผลต่อปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจ (รวมทั้งน้ำหนักร่างกายที่มากเกินไป) บ้าง ส่วนอีกรายงานนั้นพบว่า ไม่มีประสิทธิผลต่อปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจ ทั้ง 2 การศึกษาพบว่า เมล็ดเจียไม่มีผลต่อการลดน้ำหนักของร่างกายอย่างไรก็ตาม การทบทวนเอกสารวิชาการโดยเฉพาะเอกสารทางประวัติศาสตร์ พบว่า เมล็ดเจียมีความปลอดภัยในการบริโภคสำหรับผู้ที่ไม่มีอาการแพ้เมล็ดเจียในการทบวนงานวิจัยเสนอว่าต้องมีการศึกษาที่เป็นระบบเพิ่มเติม ก่อนที่จะใช้เมล็ดเจียมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและใช้ในการบำบัดโรคและอาการต่างๆ ตามที่มีความเชื่อกันอยู่ในปัจจุบันสรุปว่า เมล็ดเจียนั้นเป็นธัญพืชอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหาร แต่การนำมาบริโภคเพื่อบำบัดอาการ และโรคต่างๆ นั้น ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันประสิทธิผลดังกล่าว จึงควรที่จะประเมินดูว่า คุ้มกับราคาที่สูงมากเกินไปหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >