ฉบับที่ 139 เมาแล้วขับแต่ไม่ถูกจับ (มีหรือ)

“ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน” ถ้าถามเด็กปัจจุบันว่ากลอนแปดบทนี้ใครแต่ง อาจพบว่าเด็กบางคนร้อง เอ๋อ ไม่ใช่ อ๋อ เพราะมันคงดูเชยบรมถ้าตอบคำถามแบบนี้ได้ คงมีแต่ผู้ใหญ่ล้าสมัยแบบผู้เขียนที่พอจำได้ว่า สุนทรภู่ แต่งไว้ในนิราศภูเขาทอง สุนทรภู่นั้นเป็นกวีสุดยอดของไทย แต่มีพฤติกรรมสุดแย่คือ ติดสุรายาดองเป็นอาจิณ ตามภาษาคนไทยใจเบิกบาน ดีใจก็เหล้า เสียใจก็เหล้า บวชก็เหล้า แต่งงานก็เหล้า แถมงานเผาคนอื่นก็เหล้า (จนสุดท้ายเหล้าก็ทำให้ตนเองถูกเผา) ทั้งที่อาราธนาศีลห้าเป็นประจำจนชินชาลืมไปว่าศีลข้อ 5 ห้ามดื่มเหล้า สุนทรภู่นั้นโชคดีที่สมัยนั้นยังไม่มีกฏหมายห้ามขี้เมาขี่ม้า ขี่ช้าง หรือพายเรือ จึงไม่ต้องถูกจับตรวจลมหายใจวัดปริมาณแอลกอฮอล์เหมือนขี้เมาสมัยนี้ เราเลยอดอ่านนิราศของสุนทรภู่เกี่ยวกับการถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์หรือการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์เมื่อถูกศาลสั่งลงโทษ เหมือนกับข่าวที่ดาราดังหลายคนต้องกระทำโดยไม่ตั้งใจ มีข่าวว่า มีผู้หวังดีแนะนำให้ดื่มนมเปรี้ยวหลังเมาแล้วตั้งใจจะขับรถ ซึ่งกรณีดื่มนมเปรี้ยวแกล้มเหล้านี้ รมช.สาธารณสุขท่านหนึ่งได้ออกมาให้ข่าวว่า ได้สั่งการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทดลองว่า นมเปรี้ยวสามารถลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้จริงหรือไม่ ผลการศึกษาพบว่าการดื่มนมเปรี้ยวลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้เพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น แต่ไม่ช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจนผ่านเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของตำรวจที่ด่านได้ ความจริงคนไทยมีภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรในคนติดเหล้าคือ รางจืด ช่วยถอนอาการเมาค้างได้ แต่ยังไม่มีใครทดสอบว่าสมุนไพรนี้ ช่วยลดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจสำหรับนักดื่มที่ต้องการขับรถตอนกลางคืนหรือไม่   แล้ววันหนึ่งนักข่าวท่านหนึ่งที่นิยมคุยกับผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพื่อประกอบการทำข่าวเกี่ยวกับสินค้าที่อาจมีการหลอกลวงผู้บริโภคก็ได้โทรมาถามว่า มีโอกาสไหมที่จะลดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจของขี้เมาก่อนขับรถผ่านด่านตำรวจ เพราะมีคนนำสินค้าชนิดหนึ่งมาโฆษณาขายใน youtube ว่า เมื่อบริโภคสินค้านี้แล้ว รับรองเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจ บอดแน่ พร้อมทั้งส่ง URL ของคลิปใน youtube มาให้ด้วย ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านก่อนว่า เมื่อท่านดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต เร็วช้าขึ้นกับแต่ละคนว่ามีเวรกรรมประมาณใด เพราะระดับความเมาขึ้นกับระดับเอนไซม์ในร่างกายที่ทำงานในการกำจัดแอลกอฮอล์ว่าสูงหรือต่ำ ที่สำคัญด้วยคือ สภาวะร่างกายโดยเฉพาะตับนั้นแข็งแรงหรืออ่อนแอ แอลกอฮอล์นั้นเป็นชื่อสามัญประจำบ้านของสารอินทรีย์ที่มีชื่อทางเคมีว่า เอ็ทธิลแอลกอฮอล์ สารนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้มนุษย์และสัตว์เมาได้ ดังนั้นมนุษย์บางคนที่กินเหล้าเมาจึงถูกสังคมประณามว่า เมาเหมือนสัตว์ที่ใช้เฝ้าบ้าน ซึ่งเป็นความไม่ยุติธรรมกับสัตว์ประเภทนี้เลย เพราะเวลาเอาเหล้าเทใส่ชามให้เขาดื่ม เขามักเลี่ยงที่ไม่ดื่ม (ยกเว้นในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ซึ่งต้องจับกรอกปาก เขาก็เมาได้เหมือนคน) ดังนั้นจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะพูดว่า คนเมาเหมือนเขา การที่มีหน่วยงานหนึ่งยับยั้งการเผยแพร่โปสเตอร์รูปคนกินเหล้าแล้วกลายร่างเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งนั้น ถูกต้องแล้วเพราะเป็นการไปละเมิดสิทธิสัตว์ประเภทนั้น เมื่อแอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าเลือดแล้ว ปราการด่านแรกในการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากเลือดคือ ตับ ดังนั้นตับจึงมักเป็นอวัยวะที่ถูกทำลายในผู้ติดเหล้า จนเกิดอาการตับแข็ง ซึ่งเป็นสภาวะรับประกันว่า ผู้ที่ตับแข็งนั้นจะไม่เป็นมะเร็งเพราะเซลล์ตับมันพังจนเป็นมะเร็งไม่ไหวแล้ว ในเซลล์ตับนั้นมีเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮดรอจีเนส ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงเอ็ทธิลแอลกอฮอล์ไปเป็นสารอีกชนิดชื่อ อะเซ็ตทัลดีไฮด์ ซึ่งจะถูกเปลี่ยนต่อไปอีกเป็นกรดน้ำส้มหรือ อะเซ็ทติกแอซิด (ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับกรดน้ำส้มสายชูที่เราใช้เติมก๋วยเตี๋ยว) ด้วยเอนไซม์อะเซ็ตทัลดีไฮด์ดีไฮดรอจีเนส จากนั้นน้ำส้มสายชูที่ได้ในตับจะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานได้ และเนื่องจากแอลกอฮอล์ให้พลังงานมากกว่าแป้งเกือบสองเท่าตัว จึงทำให้คนติดเหล้านั้นไม่หิวข้าว แต่เป็นความอิ่มแบบขาดแคลนสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอื่น ๆ ส่งผลให้เซลล์ตับอ่อนแอ คนที่กินเหล้าในปริมาณมาก ๆ นั้น แอลกอฮอล์จะไปกดระบบประสาททำให้ซึมได้ในบางคน แต่บางคนก็ทำให้ความอดกลั้นต่อความทุกข์ยากของชีวิตหมดไป จึงระบายออกมาแบบการโวยวาย นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังทำให้มนุษย์หมดยางอายได้ สามารถทำในสิ่งที่ต้องการความยั้งคิด เช่น การเปลือยกายในที่สาธารณะ หลายท่านอาจเคยเห็นคนที่เมาปลิ้นแบบสิ้นสตินั้นมีอาการปวดหัวเมื่อสร่างเมา ซึ่งเรามักใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า แฮ้ง มาจากคำว่า hangover สาเหตุสำคัญของอาการ แฮ้ง นี้เกิดเนื่องจากร่างกายกำจัดอะเซ็ตทัลดีไฮด์ไม่ทัน เลยทำให้ปวดสมองในกระโหลกได้ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงใช้คุณสมบัตินี้ในการผลิตยาเลิกเหล้า โดยหาสารที่ยับยั้งการทำงานของอะเซ็ตทัลดีไฮด์ดีไฮดรอจีเนส ส่งผลให้มีการสะสมของอะเซ็ตทัลดีไฮด์ในสมองของผู้ดื่มจนปวดกระโหลกเป็นประจำ โดยไม่รู้ว่า ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการที่บ้าน) ได้เอายานี้ผสมเหล้าให้กิน และเมื่อมีอาการนี้บ่อยเข้า ถ้าชีวิตยังพอมีบุญอยู่บ้างก็เกิดอาการเบื่อที่จะดื่มเหล้าได้ ที่เล่ามาอย่างยืดเยื้อนี้เพื่อให้เห็นคุณสมบัติทางชีวเคมีของแอลกอฮอล์ว่า ถูกลดปริมาณได้ด้วยเอนไซม์ แอลกอฮอล์ดีไฮดรอจีเนส ดังนั้น ในสินค้าที่อ้างว่าลดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจได้นั้น ถ้าเป็นสินค้าที่มีเอนไซม์นี้อยู่ แล้วแอลกอฮอล์ยังอยู่ในทางเดินอาหาร โอกาสลดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจก็สูง ซึ่งในคลิปของ youtube ที่ผู้เขียนเข้าไปดูนั้น ก็พบว่า เป็นการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจหลังจากบริโภคสินค้าตามเหล้าที่ดื่มทันที ซึ่งไม่ตรงกับพฤติกรรมจริงของนักดื่มที่มัก hang around อยู่ในผับหรือบาร์จนเมา เพราะถ้าไม่ต้องการเมาจะไปดื่มเหล้าหาพระแสงด้ามอะไร สินค้าที่มีขายเพื่อลดแอลกอฮอล์ในลมหายใจนั้นคงไม่ช่วยอะไร ถ้าแอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตแล้ว เพราะถึงมีเอนไซม์อะไรก็ตามที่ทำลายแอลกอฮอล์ได้ ตัวเอนไซม์เองคงไม่พ้นถูกน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กจัดการป่นเป็นกรดอะมิโน หมดสภาพเอนไซม์ไปเลย ในการวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจด้วยเครื่องที่เรามักเห็นตำรวจถือในโทรทัศน์นั้น เป็นการวัดระดับแอลกอฮอล์ที่ซึมเข้าเลือด แล้วบางส่วนผสมกับเลือดไหลผ่านไปสู่ปอดและระเหยออกมา เมื่อผู้ดื่มเป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจที่พ่นผ่านเครื่อง (ซึ่งมีระบบตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต่างกับ GT-200) จะเป็นปริภาคโดยตรงกับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งเป็นตัวกำหนดความเมาของผู้ดื่ม ดังนั้นผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าลดแอลกอฮอล์ในลมหายใจได้ อาจเจอปัญหาว่า มันลดได้เฉพาะในเวลาที่แอลกอฮอล์ยังไม่ซึมเข้าเลือด แต่พอซึมเข้าไปในระบบเลือดแล้ว คราวนี้ขึ้นอยู่กับว่ามันจะออกมาที่ปอดเข้าสู่ลมหายใจออกเท่าไร ตำรวจเท่านั้นที่จะตอบได้ เมื่อท่านถูกขอให้เป่าอุปกรณ์ตรวจวัดแอลกอฮอล์ ประเด็นที่สำคัญก็คือ ใน youtube นั้นมีคลิปหนึ่งที่มีผู้ไปสัมภาษณ์แพทย์ท่านหนึ่งของออสเตรเลียซึ่งได้ฟันเสาธงเลยว่า สินค้านี้เชื่อไม่ได้ และในประเทศออสเตรเลียห้ามจำหน่าย ดังนั้นผู้ที่ดื่มเหล้าจนแอลกอฮอล์ซึมเข้าเลือดไปแล้ว โอกาสที่จะหาอะไรมาทำลายแอลกอฮอล์ได้คงไม่มี ยกเว้นว่ามีใครคิดทำการทำวิจัยว่า มีสารอะไร หรืออาหารอะไร ที่สามารถกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ในตับให้เปลี่ยนแอลกอฮอล์ไปเป็นอัลดีไฮด์แล้วต่อเป็นกรดน้ำส้มได้เร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันยังไม่เคยมีใครประกาศว่าค้นพบ และในกรณีที่ทำได้ ก็ต้องเป็นการกระตุ้นก่อนที่จะดื่มสุราเมรัย เสมือนเป็นการเตรียมระบบเผาผลาญให้พร้อมเสมอที่จะเผาแอลกอฮอล์ทิ้ง ซึ่งคอสุราหลายท่านคงไม่ปรารถนานักเนื่องจากเป็นการลดความบันเทิงในอารมณ์เมานั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point