ฉบับที่ 145 หนังสั้น เรื่องเล่า และเรา ผู้บริโภค

    มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ร่วมกับแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สร้างอีกหนึ่งพลังในการจุดประกายให้เกิดการตื่นตัวเรื่องปัญหาผู้บริโภคในบ้านเรา ด้วยโครงการ “หนังสั้นเล่าเรื่องผู้บริโภค” ที่ถ่ายทอดปัญหาหลากหลายที่ผู้บริโภคไทยต้องพบเจอ ทุกข์ของผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องราวจากชีวิตจริงที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ แม้แต่หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลแก้ไขเองก็อาจจะมองข้าม ถึงเวลาที่เราต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมผู้บริโภคไทยให้เข้มแข็ง     เล่าเรื่อง (จริง) ผู้บริโภค ปัญหาของผู้บริโภคในบ้านเรานั้น มีมากมายหลายเรื่อง มีตั้งแต่เรื่องเจอของหมดอายุในร้านสะดวกซื้อราคาไม่กี่สิบบาท ไปจนถึงถูกโกงสัญญามูลค่าหลายสิบล้านจากการซื้อบ้านจัดสรร พูดง่ายๆ ว่าเรื่องปัญหาผู้บริโภคนั่นเป็นปัญหาครอบจักรวาล หลายปัญหาไม่เพียงแค่ต้องเสียเงิน เสียเวลา หรือเสียความรู้สึก แต่หลายครั้งความสูญเสียก็ยิ่งใหญ่เกินจะหาสิ่งใดมาทดแทน   ภาพยนตร์สั้นที่เข้าร่วมในโครงการ “หนังสั้นเล่าเรื่องผู้บริโภค” ประกอบด้วยหนังสั้น 5 เรื่อง และสารคดีอีก 1 หนึ่ง ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานที่ถูกเขียนบท กำกับ และถ่ายทำขึ้นใหม่ เพื่อนำเสนอในโครงการนี้โดยเฉพาะ โดยได้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านภาพยนตร์ ได้แก่  สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย  สมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม  กลุ่มปลาเป็นว่ายทวนน้ำ บริษัท กู๊ด จ๊อบ โปรดักชั่น  จำกัด   ผลงานภาพยนตร์สั้นที่ร่วมโครงการประกอบด้วย “กรรมของจุ๊บแจง” ผลงานกำกับของ อาจารย์ไพจิตร  ศุภวารี ที่นำเสนอประเด็นปัญหายอดฮิตของผู้บริโภคไทย อย่างปัญหาหนี้บัตรเครดิต, “Heart Station” กำกับโดย คุณพิมพกา  โตวิระ เล่าเรื่องความเหมาะสมของการสร้างปั๊มแก๊ส LPG ในชุมชนเมือง เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล, “Priceless” กำกับโดย คุณมานุสส วรสิงห์ เล่าเรื่องปัญหาการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสาร, “กลับบ้าน” กำกับโดย คุณชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา นำเสนอเรื่องราวสะท้อนปัญหาบริการรถตู้โดยสารสาธารณะ, “Disconnected” กำกับโดย คุณบุญส่ง นาคภู่ ที่พูดเรื่องปัญหาจากบริการโทรศัพท์มือถือที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค และผลงานสารคดีเล่าเรื่องผู้บริโภค ผลงานกำกับของ คุณพัฒนะ จิรวงศ์   เรื่องราวที่ผู้กำกับแต่ละคนเลือกนำมาบอกเล่าในผลงานภาพยนตร์สั้นแต่ละเรื่องนั้น ล้วนแล้วแต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปัญหาที่ผู้บริโภคไทยหลายคนต้องประสบพบเจอในชีวิตจริง เป็นความทุกข์ที่ยังคงไม่มีทางออกที่ชัดเจน ซึ่งผู้กำกับทุกท่านต่างๆ ใช้ “ใจ” ที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมไทย สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องจริงของผู้บริโภค   “หนังสั้น” สื่อที่เรียบง่ายแต่แฝงพลังที่ยิ่งใหญ่ ความตั้งใจหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นภารกิจสำคัญของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็คือการที่จะสื่อสารข้อมูลดีๆ ที่ผู้บริโภคควรรู้ เพื่อให้ผู้บริโภคเท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของสินค้าและบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่หลงเชื่อผู้ประกอบการที่ไม่หวังดีกับผู้บริโภค โดยการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ นั้น ก็จะทำควบคู่กันไปกับการผลักดันและสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคทั่วไปในสังคมในเรื่องของกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค   แต่ในขณะที่เรายังต้องเผชิญกับการหลอกลวงจากบรรดาผู้ประกอบการผู้ไม่หวังดีที่ผลิตสินค้าและบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคอย่างเรากับมีข้อมูลความรู้ไว้สำหรับใช้ต่อกรหรือรู้เท่าทันการหลอกลวงต่างๆ น้อยมาก   นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตั้งใจจะให้มีสื่ออย่าง “หนังสั้น” ในการบอกเล่าเรื่องราวปัญหาของผู้บริโภค เพื่อให้เป็นจุดเริ่มของแรงบันดาลใจ ขยายผลต่อไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่ง คุณดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่รับหน้าที่ดูแลโครงการและร่วมคัดสรรภาพยนตร์สั้นและผู้กำกับที่เข้าร่วมในโครงการครั้งนี้ ได้พูดถึงพลังของสื่ออย่างภาพยนตร์สั้นเอาไว้ว่า ภาพยนตร์สั้นนั้นก็คือสื่อศิลปะที่จะช่วยนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนที่ได้รับชม บ่อยครั้งข้อมูลที่ดีๆ ที่ผู้คนควรรับรู้กลับถูกมองข้ามไม่ได้รับเผยแพร่หรือพูดถึง เพราะมันขาดความน่าสนใจขาดพลังดึงดูดให้ผู้คนหันมาดูหันมาสนใจ แต่เมื่อมันถูกบอกเล่าอย่างมีชั้นเชิงมีเรื่องราวอย่างในรูปแบบของภาพยนตร์สั้น บางครั้งเรื่องยากๆ ก็อาจเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครก็เข้าใจได้ คุณดนัยและผู้กำกับที่ร่วมผลิตภาพยนตร์สั้นในครั้งนี้ยอมรับว่า การนำเสนอเรื่องราวของปัญหาผู้บริโภคและการผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคออกมาเป็นภาพยนตร์สั้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อได้ลองทำความเข้าใจ ศึกษาข้อมูลที่มี ไปจนถึงการพูดคุยกับผู้ที่ประสบปัญหาจริงๆ ก็ทำให้เริ่มเห็นภาพที่จะนำมาสร้างสรรค์ผลงาน ที่สำคัญคือรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนร่วมในการบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นประโยชน์แก่สังคม   ให้หนังสั้นจุดประกาย ขยายต่อสู่การเปลี่ยนแปลง แม้ด้วยความที่เป็นโครงการเล็กๆ และหนังที่ฉายเป็นหนังสั้น แต่ คุณดนัย ก็เชื่อว่าสิ่งเล็กๆ ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ หากคนที่ได้ชมภาพยนตร์แล้วได้ฉุกคิด ได้เห็นความสำคัญในประเด็นที่หนังนำเสนอ พร้อมทั้งนำไปบอกต่อ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับคนรอบๆ ข้าง หากในสังคมมีคน 100 คน ขอแค่มีสัก 20 คน ลุกขึ้นมาผลักดันเปลี่ยนแปลงสังคม เชื่อว่าแค่นี้สังคมเราก็จะดีขึ้นแน่นอน   เรื่องปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคและการผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยังคงต้องการความเข้าใจและพลังของผู้คนในสังคมอีกมากที่จะมาช่วยกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง   แนะนำภาพยนตร์สั้นที่ร่วมฉายในโครง “หนังสั้นเล่าเรื่องผู้บริโภค” กรรมของจุ๊บแจง “จุ๊บแจง” สาวออฟฟิศที่ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจร้านขายของ เธอจึงต้องมองหาเงินลงทุน ซึ่งวิธีที่เธอเลือกคือการทำบัตรเครดิต ขณะที่ธุรกิจของเธอกำลังไปได้สวยและมองเห็นโอกาสรวยอยู่ไม่ไกล แต่เมื่อเกิดการชุมนุมทางการเมือง ทุกอย่างก็พลันหยุดชะงัก ทุกความฝันแทบพังทลาย เมื่อของขายไม่ได้ จากกำไรก็กลายเป็นขาดทุน เงินที่มีเริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย บัตรเครดิตที่เคยใช้ให้ทุนแต่ตอนนี้พลิกผันกลายเป็นสร้างหนี้ แถมที่แย่ยิ่งกว่าคือบรรดาเจ้าหนี้ที่คอยตามราวีไม่หยุดหย่อน ทั้งข่มขู่สารพัด ถูกหักเงินจากในบัญชีไปใช้หนี้โดยที่เธอไม่รู้ตัว สิ่งที่เธอจำเป็นต้องทำต่อจากนี้คือหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น   เรื่องทั้งหมดนี้คือ “กรรม” ของเธอ หรือมาจาก “ความไม่ชอบธรรม” บางอย่างในสังคม   ผลงานการกำกับของ อาจารย์ไพจิตร  ศุภวารี อาจารย์ไพจิตร  ศุภวารี คร่ำหวอดอยู่ในวงการบันเทิงไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านการอำนวยการสร้างและการกำกับภาพยนตร์ รวมถึงการสร้างนักแสดงฝีมือคุณภาพประดับวงการมากมาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ สมัชชาศิลปินแห่งประเทศไทย และเป็นอาจารย์สอนด้านภาพยนตร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมไปกับการทำงานบันเทิงเพื่อสังคม   Heart Station จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อชุมชนที่สงบสุขกำลังต้องรับการมาเยือนของแขกที่ไม่ได้รับเชิญอย่าง “ปั๊มแก๊ส LPG” นุ้ย เด็กสาวมัธยมปลาย ที่อาศัยอยู่กับแม่และน้า ภายในบ้านที่ถูกเปิดเป็นร้านขายของชำ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของชุมชน เมื่อสิ่งที่หลายคนเรียกว่า “ความเจริญ” กำลังรุกคืบเข้ามา อย่างร้านสะดวกซื้อ ซึ่งแม้ตัวนุ้ยจะรู้สึกอยากให้ร้านของชำที่บ้านปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยเป็นร้านสะดวกซื้อติดแอร์แบบเขาบ้าง แต่แม่กับน้าก็ยังพอใจและภูมิใจกับร้านชำเล็กๆ ที่มีข้าวของให้เลือกเต็มร้าน ยึดถือความซื่อตรงและใส่ใจลูกค้า   อีกหนึ่งความเจริญที่กำลังรุกคืบเข้าสู่ชุมชน คือการมาถึงของปั๊มแก๊ส LPG ที่เตรียมก่อสร้างติดกับบ้านของนุ้ย ซึ่งการมาอย่างลึกลับไร้ที่มาที่ไปของปั๊ม สร้างความวิตกกังวลให้กับคนในชุมชนถึงเรื่องความปลอดภัย เมื่อเริ่มรู้สึกว่าการสร้างปั๊มแห่งนี้มาพร้อมความไม่ถูกต้องและไม่ปลอดภัย การรวบรวมรายชื่อคนในชุมชนเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโดยมีแม่และน้าของนุ้ยเป็นเกณฑ์นำจึงเริ่มขึ้น แต่ความจริงคือแม้จะได้เอกสารรายชื่อคัดค้านกว่า 500 รายชื่อไปยื่นให้กับสำนักงานเขตแต่ว่าการก่อสร้างก็ไม่ได้ถูกระงับ   แม้จะรู้สึกเศร้าใจกับการทำงานของหน่วยงานราชการ แต่แทนที่จะแค่ก่นด่าไปวันๆ ครอบครัวของนุ้ยได้เตรียมแผนการยับยั้งการสร้างปั้มแก๊สในแบบของตัวเองเอาไว้แล้ว เรียกว่างานนี้ “ถ้าไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็คงต้องเอาด้วยกล”   ผลงานการกำกับของ คุณพิมพกา  โตวิระ เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยบุกเบิกการสร้างภาพยนตร์อิสระในประเทศไทย เคยมีผลงานภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่อง “คืนไร้เงา” เมื่อปี 2546 ซึ่งได้รับเชิญให้ไปฉายและเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์หลายประเทศทั่วโลก ทำให้ชื่อของ พิมพกา  โตวิระ กลายเป็นผู้กำกับหญิงไทยคนแรกที่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ   นอกจากนี้ยังมีผลงานกำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “ความจริงพูดได้” (the truth be told) ที่ถ่ายทอดชีวิตของ สุภิญญา กลางณรงค์ เมื่อครั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ที่ต้องต่อสู้เพื่อความถูกต้องหลังต้องตกเป็นจำเลยถูกบริษัทชินคอร์เปอเรชั่นฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทจากการตีพิมพ์บทความของเธอที่ชื่อว่า“เอ็นจีโอประจาน 5 ปีรัฐบาลไทย ชินคอร์ปรวย” สมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร   Priceless การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของลูกชายวัย 40 ปี จากอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะ ไม่ได้นำมาแค่ความเสียใจอย่างที่สุดแก่ผู้เป็นแม่เท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งปัญหาในเรื่องของการเรียกร้องเงินชดเชยค่าสินไหมทดแทนการเสียชีวิตของลูกชายจากบริษัทประกัน ด้วยความที่ก่อนตายลูกชายทำอาชีพอิสระ ไม่ได้มีที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง รายได้ก็ไม่แน่นอน ซึ่งทั้งหมดกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คุณแม่ในวัยเกษียณต้องปวดหัวในการทำเรื่องขอเงินชดเชย แม้สุดท้ายจะได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน แต่ก็ใช่ว่าปัญหาต่างๆ จะคลี่คลาย เพราะแม้ว่าเธอจะรู้ว่าลูกชายทำงานอะไรและมีรายได้เท่าไร บริษัทประกันยินยอมจ่ายค่าชดเชย แต่เมื่อมองดูตัวเลขของเงินชดเชยที่ได้รับนั้น เทียบกันไม่ได้เลยกับชีวิตของลูกชายที่ต้องสูญเสียไปเพราะอุบัติเหตุ   ผลงานการกำกับของ คุณมานุสส วรสิงห์ ทำงานเบื้องหลังในส่วนของการตัดต่อภาพยนตร์ให้กับภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง โดยก็ยังทำงานกำกับภาพยนตร์สั้นควบคู่กันไปด้วย ซึ่งผลงานหลายเรื่องได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการทำภาพยนตร์ให้กับหลากหลายหน่วยงาน เช่น สสส., กรมการศาสนา ฯลฯ   กลับบ้าน ในยุคที่หนุ่ม – สาวจากต่างจังหวัดต้องจากบ้านมาทำงานในกรุงเทพฯ การได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงวันหยุดจึงถือเป็นช่วงเวลาสุดพิเศษของเหล่าหนุ่ม – สาวที่ต้องจากบ้านมาตามหาความมั่นคงในสังคมเมือง ยิ่งเดี๋ยวนี้มีการเดินทางให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะ “รถตู้” ที่กลายเป็นทางเลือกที่หลายคนนิยม แม้ข่าวคราวเรื่องการเกิดอุบัติเหตุจะมีให้เห็นบ่อยครั้ง แต่รถตู้ก็ยังเป็นที่พึ่งของคนที่ต้องเดินทาง   เช่นเดียวกับสองหนุ่ม – สาวเพื่อนเก่าที่พบกันโดยบังเอิญ ตอนที่กลับมาเยี่ยมบ้าน ทั้งสองคนต่างแลกประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำจากการใช้บริการรถตู้โดยสาร ทั้งเรื่องความแออัดของที่นั่งโดยสาร และยังเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยของพนักงานขับรถ   ไม่มีใครรู้ว่าวันหนึ่งรถตู้โดยสารอาจพาเรา “กลับไม่ถึงบ้าน” ก็ได้   ผลงานการกำกับของ คุณชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา คนทำโฆษณาแถวหน้าของประเทศ นักเขียนเจ้างานเขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น “ถนนวิทยุ”, “คัมภีร์วิทยายุทธ์”, “อเมริกากี่นั้ง” ฯลฯ แม้งานหลักจะเป็นการทำงานเชิงพาณิชย์ แต่ก็หลงใหลการทำงานสื่อเพื่อรับใช้สังคม ที่ผ่านมาก็ช่วยทำสื่อทั้งโฆษณาและหนังสั้นให้กับองค์กรทางสังคม พร้อมทั้งเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้แก่คนทำสื่อรุ่นใหม่ๆ   Disconnected โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้คนในสังคมได้ติดต่อใกล้ชิดกันได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น แต่เพราะความสะเพร่าหรือจงใจที่จะเอาเปรียบผู้บริโภคของบริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ก็อาจทำให้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นเครื่องมือทำลายความสัมพันธ์ได้ในพริบตา   อย่างเช่นเรื่องราวของคุณพ่อวัยเฉียด 70 ปี ที่ต้องหมางใจกับลูกชาย หลังจากโทรศัพท์มือถือที่ลูกชายเป็นคนซื้อให้เกิดใช้งานไม่ได้ ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ลูกชายเปลี่ยนจากระบบเติมเงินเป็นแบบจ่ายค่าบริการรายเดือน แล้วเกิดปัญหาโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่โทรออกไม่ได้ ด้วยความไม่รู้ของผู้เป็นพ่อจึงทำให้หลงเข้าใจผิดคิดว่าลูกชายไม่รักเลยไม่อยากให้โทรหา พอพ่อ - ลูกเจอหน้ากันบรรยากาศก็เลยตึงเครียด ฝ่ายพ่อก็ต่อว่าลูกด้วยอาการน้อยใจ ฝ่ายลูกที่ไม่รู้เหตุผลที่มาที่ไปก็เริ่มไม่สบอารมณ์กับคำด่าว่าของพ่อ สุดท้าย 2 พ่อ – ลูกก็ไม่คุยกันเพราะความเข้าใจผิดเรื่องโทรศัพท์มือถือ   แม้ในที่สุดฝ่ายลูกชายจะรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้พ่อโกรธ แต่กับต้องเจอปัญหาซ้ำซ้อนเรื่องค่าโทรเกินจริง ต้องกลายเป็นคนมีหนี้โดยที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนก่อ เรียกว่าอยู่ดีๆ ชีวิตที่สงบสุขก็ต้องมาเจอเรื่องปวดหัวจากบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน     ผลงานการกำกับของ คุณบุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับที่คลุกคลีอยู่ในวงการภาพยนตร์ทั้งขนาดสั้นและขนาดยาวมาอย่างยาวนาน  มีผลงานกำกับและเขียนบทภาพยนตร์สั้นมากว่า 25 เรื่อง ผลงานหลายเรื่องมีรางวัลการรันตี เช่นเรื่อง “ตากับหลาน”, “ชาวนากลับบ้าน” ฯลฯ ส่วนผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวก็มีเช่น “191 ครึ่ง มือปราบทราบแล้วป่วน” และ ภาพยนตร์เรื่อง “หลอน” ในตอนที่ชื่อว่า “ปอบ”   ปัจจุบันได้ก่อตั้งกลุ่ม “ปลาว่ายทวนน้ำ” เพื่อสร้างภาพยนตร์อิสระอย่างจริงจัง ผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านมา คือ “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” (poor people the great) และ “สถานี 4 ภาค” (four stations) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งตัวหนังได้รับเชิญให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ตามประเทศต่างๆ นอกจากนี้คุณบุญส่ง นาคภู่ ยังเป็นอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์ตามมหาลัยต่างๆ   ติดตามรายละเอียดการร่วมชมภาพยนตร์สั้นและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ “หนังสั้นเล่าเรื่องผู้บริโภค” ได้ที่ www.consumerthai.org, www.ฉลาดซื้อ.com และที่ facebook นิตยสารฉลาดซื้อ     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point