ฉบับที่ 243 ลูกจ้างรายวันไปทำละเมิดคนอื่น นายจ้างต้องรับผิดด้วยหรือไม่

เมื่อวันก่อนมีข่าวเกี่ยวกับการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก  ผู้ประกอบธุรกิจหลายแห่งก็ปิดกิจการเพราะทนพิษโควิดไม่ไหว หลายคนต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ  กลับมาในประเด็นของเรา เมื่อพูดถึงลูกจ้าง ทุกคนคงพอทราบว่า ลูกจ้างเมื่อทำงานให้แก่นายจ้าง หากเกิดปัญหากับบุคคลภายนอก ทำให้เขาเสียหายใดๆ ก็ตาม กฎหมายเรากำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย แต่มีคนสงสัยว่า หากเป็นลูกจ้างรายวัน ความรับผิดในส่วนของนายจ้างจะมีแค่ไหน เพียงใด         ในกรณีนี้ เคยมีการฟ้องคดีกันจนถึงศาลฏีกา เป็นเรื่องที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง จ้างลูกจ้างรายวันให้ขับรถบรรทุกไปส่งสินค้า แต่ปรากฏว่าลูกจ้างคนดังกล่าวขับรถไปเฉี่ยวชนกับรถโดยสารทำให้เกิดความเสียหาย นายจ้างก็ไปคุยเจรจาต่อรองค่าเสียหายที่โรงพัก พร้อมทั้งยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหาย ศาลจึงตัดสินว่า พฤติการณ์ที่นายจ้างกระทำดังกล่าวเป็นการยอมรับว่ายอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างผู้ก่อเหตุ แม้ จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของแล้วก็ตาม ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถโดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงาน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายโดยไม่ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย        อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ แม้ลูกจ้างที่รับจ้างขับรถส่งของ จะเลือกใช้เส้นทางที่นอกคำสั่งของนายจ้าง และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบก็ตาม ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้าง ผู้เป็นนายจ้างจะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้         คำพิพากษาฎีกาที่ 501-504/2517               จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ให้ขับรถบรรทุกน้ำมันไปส่งที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยใช้เส้นทางถนนพหลโยธินและถนนมิตรภาพไปถึงจังหวัดหนองคายแต่หลังจากส่งน้ำมันเสร็จ ขากลับจำเลยที่ 2 ขับรถมาถึงจังหวัดนครราชสีมาแล้วก็แยกเข้าถนนสายนครราชสีมา-กบินทร์บุรีเพื่อจะกลับมายังบางนางเกรง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่จอดรถโดยไม่ใช้เส้นทางเดิมอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบของจำเลยที่ 1แล้วเกิดเหตุชนกับรถยนต์อื่นที่อำเภอเมืองชลบุรี แม้จำเลยที่ 2 จะขับรถออกนอกเส้นทาง ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 หากถูกเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

ทำงานอยู่ดีๆ เกิดนายจ้างเลิกสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาโดยไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เราลองมาดูตัวอย่างกันค่ะปกติเมื่อนายจ้างต้องการจะเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้าง ในสัญญาจ้างจะกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ในการบอกกล่าวลูกจ้างล่วงหน้าก่อนหรือเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้าง และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างในงวดถัดไป แต่ถ้าในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว และไม่ประสงค์จะให้ลูกจ้างทำงานแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง ตามจำนวนให้ครบจนถึงวันที่เลิกสัญญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 สำหรับกรณีตามตัวอย่างคราวนี้ ลูกจ้างโดนนายจ้างซึ่งปิดประกาศเลิกจ้างหน้าบริษัทฯ โดยไม่ระบุถึงสาเหตุในการเลิกจ้างในประกาศ ลูกจ้างจึงได้เป็นโจทก์ฟ้องนายจ้าง เรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3407/2552 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาว่า “จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 หรือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี มิได้บัญญัติไว้ว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุผลแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้”นอกจากนี้ ยังมีคำให้การของนายจ้างว่า ลูกจ้างใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวพ่วงกับอุปกรณ์ของบริษัทฯ เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวในเวลาทำงานเป็นประจำ และออกไปติดต่อทำการค้าขายในกิจการส่วนตัวโดยไม่แจ้งให้นายจ้างทราบ นายจ้างได้ตักเตือนในที่ประชุมแล้วแต่ลูกจ้างยังคงปฏิบัติเช่นเดิม นายจ้างจึงมีหนังสือตักเตือนลูกจ้างครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 หลังจากนั้นลูกจ้างได้กระทำความผิดอีกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย สำหรับในประเด็นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นว่า “จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานก็ย่อมมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างให้คุ้มกับค่าจ้างที่เสียไป การที่โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพวงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลยเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้วยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามในที่ประชุมแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีกจนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้ง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณและเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะแสวงหาประโยชน์อันมิชอบและเบียดบังเวลาทำงานของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว ยังยากแก่การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์” เพราะฉะนั้น หากใครที่ใช้เวลาทำงานในการหาประโยชน์ส่วนตัว หรือใช้เวลาทำงานเล่นอินเตอร์เน็ตหรือทำให้นายจ้างเสียประโยชน์ อาจจะโดนบอกเลิกสัญญาจ้างทันที และไม่ได้รับเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้

อ่านเพิ่มเติม >