ฉบับที่ 176 เลื่อมสลับลาย : ไม่เจ็บอย่างฉันใครจะเข้าใจ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่ทว่า ในสังคมของมนุษย์นั้น คนเรามักจะรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนอื่นหรือโลกรอบตัวแตกต่างกันไป     ตามหลักทฤษฎีทางสังคมเชื่อกันว่า วิธีการรับรู้โลกที่แตกต่างกันของคนเราดังกล่าว อาจจำแนกได้เป็นสามแบบแผนใหญ่ๆ ได้แก่ แบบแผนแรกคือ การที่เรารับรู้โลกแบบ “คนใน” ที่เราสัมผัสด้วยตัวเอง หรือเกิดเนื่องมาแต่ “ประสบการณ์ตรง” ของเราเอง เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นคนจนหรือคนชายขอบเท่านั้น จึงจะรู้ว่าคนจนที่อยู่ชายขอบจะคิดจะอยู่กันเช่นไร     แบบแผนที่สอง ซึ่งเป็นแบบแผนการรับรู้โลกของคนส่วนใหญ่ก็คือ การรับรู้จากสายตาของ “คนนอก” หรือเป็นการมองจากตัวเราออกไป แล้วจึงตัดสินว่าโลกรอบตัวและคนอื่นๆ คืออะไรหรือมีลักษณะเช่นไร โดยที่เขาเองก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย หรือหากจะกล่าวง่ายๆ ก็คือ เป็นการรับรู้ที่ “เอาใจเราไปคิดแทนใจเขา” นั่นเอง     ส่วนแบบแผนสุดท้ายที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งก็คือ แม้เราจะไม่ได้มีประสบการณ์ตรงต่อเรื่องใดๆ หรือต่อชีวิตของใคร แต่เราที่เป็น “คนนอก” ก็พยายามเขยิบจุดยืนมาคิดแบบ “คนใน” โดยรับรู้โลกของคนอื่นแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” และมองความเป็นจริงของคนอื่นจากมุมมองของเขาให้ใกล้เคียงที่สุด     การที่มนุษย์มีจุดยืนหรือตำแหน่งแห่งที่ในการรับรู้โลกต่างกันไปนี้ ก็คือปมปัญหาความขัดแย้งที่อยู่เบื้องลึกของละครโทรทัศน์เรื่อง “เลื่อมสลับลาย” นั่นเอง     โครงเรื่องเปิดฉากผูกเนื้อหาให้ตัวละครเพื่อนในอดีตสองคนถูกโชคชะตาให้ต้องมาสานโยงความสัมพันธ์ และเรียนรู้พร้อมกับรับรู้ความเป็นจริงของอีกฝ่ายหนึ่ง “พาไล” คือตัวละครแรกที่เป็นสาวน้อยจากครอบครัวผู้ดีเก่า แต่เนื่องเพราะอารมณ์ชั่ววูบและความเข้าใจผิดต่อบิดามารดาบุญธรรม พาไลจึงหนีออกจากบ้านและเลือกใช้ชีวิตในด้านมืด เปลี่ยนผู้ชายไม่ซ้ำหน้า จนครั้งหนึ่งเธอต้องแท้งลูกแม้ว่าจะอยู่ในวัยสาวแรกรุ่นเท่านั้น     สลับเลื่อมลายกับตัวละครผู้หญิงอีกคนอย่าง “ปิ่นปัก” ที่ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันมากกับพาไล ปิ่นปักเรียนจบปริญญาเอกจากอเมริกา มีหน้าที่การงานก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับสูงในวงสังคม และถูกวางแผนชีวิตให้แต่งงานกับ “ศก” คู่หมั้นหนุ่มระดับลูกมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย     ชีวิตของตัวละครที่มาจากคนละโลกและแตกต่างกันประหนึ่ง “ด้านมืด” กับ “ด้านสว่าง” ที่ไม่น่าจะมาบรรจบกันได้เช่นนี้ กลับถูกละครผูกโยงให้โคจรมาพบกัน เพราะรั้วบ้านหลังงามของปิ่นปักมาปลูกติดกับคอนโดที่พาไลอาศัยเช่าอยู่     และเพราะ “บ้านก็ปลูกติดกัน ปลูกติดกันพอดี” เมื่อ “เปิดหน้าต่างทุกที ทุกทีหน้าของตัวละครทั้งสองก็ต้องมาเจอกัน” ดังนั้น ทั้งพาไลและปิ่นปักจึงมีโอกาสจะได้สัมผัสเห็นภาพการดำเนินชีวิตของกันและกัน     แต่ที่สำคัญ เพราะอีกด้านหนึ่งวิถีทางสังคมของตัวละครทั้งคู่ที่มีรั้วบ้านกับคอนโดเป็นตัวกั้นกลาง ผนวกกับตัวละครเองก็ได้สร้าง “รั้วในใจ” ขึ้นมาขีดวงความเป็นเรากับความเป็นอื่นให้ถ่างออกจากกันอีก การรับรู้กันและกันของผู้หญิงสองคน จึงเกิดจากมุมมองหรือจุดยืนที่ต่างคนต่างคิดต่างตัดสินอีกฝ่ายกันไปเอง     เมื่อปิ่นปักเห็นการใช้ชีวิตของพาไล ที่ทั้งเธอและ “คุณโปรย” ผู้เป็นมารดานิยามไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เป็น “ชีวิตของผู้หญิงที่ไม่ดี” ปิ่นปักจึงดูถูกเหยียดหยามการกระทำและพฤติกรรมของพาไลกับผองเพื่อนในทุกๆ ทาง     แม้เมื่อพาไลพยายามที่จะกลับตัวมาตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน โดยเฉพาะภายหลังที่เธอได้กำลังใจจากชายหนุ่มคนรักอย่าง “นครินทร์” ที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นพี่ชายแท้ๆ ของปิ่นปักเอง ทั้งปิ่นปักและคุณโปรยจึงตั้งป้อมรังเกียจพาไลมากยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าผู้หญิงใจแตกที่ใช้ชีวิตไม่ดีเยี่ยงนั้น ไม่มีวันจะกลับเนื้อกลับตัวได้เลย     การรับรู้และตัดสินคนอื่นไปล่วงหน้าจากพฤติกรรมที่แสดงออกมา จึงเกิดขึ้นเมื่อเราเอาตัวเองไปยืนอยู่เป็น “คนนอก” โดยไม่พยายามเขยิบเข้าไปใกล้เหตุผลและความเป็นจริงในชีวิตของคนอื่นบ้างเลย     แต่อย่างไรก็ดี หากความไม่แน่นอน (หรือกฎอนิจจัง) เป็นสัจธรรมที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ แม้แต่ชีวิตของปิ่นปักผู้เลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ในทุกทาง ก็จึงมิอาจหลีกพ้นไปจากกฎเกณฑ์ความจริงข้อนี้ไปได้     หลังจากแต่งงานไป ชีวิตคู่ของปิ่นปักกับศกก็เริ่มเผชิญปัญหามากขึ้น จนในที่สุดก็แตกแยกภินท์พังจนถึงกับหย่าร้างและเกิดเป็นสงครามแย่งลูกกัน หม้ายสาวปิ่นปักที่เคยดำเนินชีวิตตามจารีตปฏิบัติก็ผันตัวออกเที่ยวเตร่ประชดชีวิตคู่ที่พังพินาศ แถมยังคบหากับผู้ชายมากหน้าหลายตา รวมทั้งไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ “เพรียว” ผู้ชายอีกคนที่แอบหลงรักปิ่นปักมาตั้งแต่เด็ก     และพลันที่ดอกฟ้าต้องมีอันหล่นร่วงมาจากสรวงสวรรค์ แม้ปิ่นปักจะตัดสินใจกลับตัวกลับใจจะมาลงเอยใช้ชีวิตคู่ครั้งใหม่กับเพรียวก็ตาม แต่เธอก็ถูกเลือกปฏิบัติแบบดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีจาก “คุณอร” มารดาของเพรียว ไม่แตกต่างจากภาพในอดีตที่ครั้งหนึ่งปิ่นปักกับมารดาเคยกระทำต่อพาไลในช่วงที่เธอเริ่มต้นคบหาดูใจกับนครินทร์เช่นกัน     “เลื่อม” ที่ค่อยๆ “สลับลาย” ไขว้กันไปมาระหว่างชีวิตของปิ่นปักกับพาไล จึงทำให้ตัวละครทั้งสองเริ่มเข้าใจว่า ถ้าไม่ลองเข้าใจคนอื่นด้วยมุมมองที่ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” จริงๆ กันบ้าง อคติและทัศนะที่เลือกเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ก็อาจจะเข้ามาเบียดบังการรับรู้ผู้คนและโลกรอบตัวแบบที่เขาอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ได้     ทุกวันนี้ หากมนุษย์เราจะลดทิฐิ และหัดที่จะลด “กำแพงรั้ว” ที่กั้นอยู่ในใจของตนลง หรือหัดย้ายตำแหน่งแห่งที่มาครวญเพลง “ไม่เจ็บอย่างฉันใครจะเข้าใจ” กันเสียบ้าง บางทีคนเราที่ใช้ชีวิตบนความแตกต่างหลากหลาย ก็อาจจะได้รับรู้และอาศัยอยู่กับเพื่อนร่วมโลกบนความเข้าใจกันและกันได้มากยิ่งขึ้น                             

อ่านเพิ่มเติม >