ฉบับที่ 272 ชีวิตเสี่ยงภัย จากหม้อแปลงไม่ได้มาตรฐาน!

        การพักอาศัยอยู่ใกล้ทางสาธารณะอาจจะมีปัญหาได้เสมอ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนเป็นเรื่องใหญ่ เสี่ยงอันตรายได้ถึงชีวิต เช่นเรื่องราวของคุณนัด ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ หมู่ 2 ถนนกาญจนวนิช ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลามานานนับสิบปี โดยหน้าบ้านของคุณนัดนั้นมีเสาไฟฟ้าถึง 3 เสา คุณนัดไม่คิดว่า เสาไฟหน้าบ้านที่มีมานานจะเป็นอันตรายได้ จนเมื่อแขวงการทางได้ยกระดับทางหน้าบ้านให้สูงขึ้นอีกราว  2 เมตร นั่นจึงทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ถูกต้องตามมาตรฐานคือสูงกว่าระดับพื้น 4 เมตร กลับเป็นหม้อแปลงที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะสูงกว่าระดับพื้นเพียง 2 เมตร!           สถานการณ์ดังกล่าวกลับยิ่งเลวร้ายลง เมื่อนานวันสายไฟ สายสัญญาณต่างๆ ที่ติดตั้งและพาดผ่านหม้อแปลงและเสาไฟยิ่งมากขึ้น มากขึ้น กระจุก ยุ่งเหยิงอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้เดินผ่านสัญจรไปมา ยิ่งในช่วงหน้าฝนตกหรือพายุเข้าอาจเกิดฟ้าผ่าลงสายไฟฟ้าแรงสูง จนทำให้แรงดันไฟฟ้าวิ่งมาถึงหม้อแปลง เสี่ยงเกิดอัคคีภัยได้ และหากมีไฟฟ้ารั่วออกมา อาจทำให้ไฟดูดผู้คนบริเวณใกล้เคียงได้         คุณนัดอดรนทนเห็นต่อไม่ไหว จึงติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช. เขตสงขลา) ให้เข้ามาจัดการสายไฟที่พะรุงพะรัง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการแล้วก็ทำเพียงมัดรวมสายไว้ แต่นานวันเข้าสายไฟก็กลับมายุ่งเหมือนเดิม  อีกทั้งคุณนัดยังได้แจ้งไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ขอให้ตรวจสอบและแก้ไข ยกหม้อแปลงขึ้นแต่กลับได้รับการชี้แจงว่า การย้ายระดับหม้อแปลงไฟฟ้า คุณนัดจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อ้าว ! ทำไมภาระกลายมาเป็นของคุณนัด โดยค่าดำเนินการทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 78,056.50 บาท คุณนัดเห็นว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ผลักภาระที่จะต้องดำเนินการเองให้ประชาชนรับผิดชอบ จึงแจ้งมายังมูลนิธิฯเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา           หลังจากคุณนัดได้เข้ามาร้องเรียน และขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่า ความเดือดร้อนจากกรณีติดตั้งหม้อแปลงที่ต่ำกว่ามาตรฐานนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา  จึงแนะนำให้คุณนัดทำหนังสือร้องเรียนปัญหาถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาคุณนัดแจ้งว่า ได้ดำเนินการส่งหนังสือถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตแล้ว จนล่าสุดวันที่ 4 พ.ย. 2566  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลาได้ติดต่อพูดคุยกับคุณนัดว่าจะเข้ามาดำเนินการให้หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งตามมาตรฐาน ภายในเดือน ก.พ. 2567 ทั้งนี้ คุณนัดและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะรอติดตามการทำงานครั้งนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 รถชนเสาไฟ ไม่มีคู่กรณี จะตายและเจ็บฟรีไหม ?

        คุณวิษรุตยังเห็นภาพอุบัติเหตุเมื่อคืนส่งท้ายปีเก่า 2563 ที่จังหวัดระยองได้ชัดเจนในความทรงจำ แม้วันนี้ดวงตาของเขาจะมองไม่เห็นแล้วก็ตาม        วันนั้นเขาซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อนเพื่อกลับบ้าน ขณะที่เพื่อนขี่รถเข้าไปในซอยด้วยความเร็ว พอถึงทางเลี้ยวโค้งรถเกิดเสียหลักไปชนกับเสาไฟฟ้าอย่างแรง เพื่อนของเขาเสียชีวิตคาที่ ส่วนตัวเขาบาดเจ็บสาหัส เคราะห์ดีที่ทางกู้ภัยมาช่วยได้ทันการณ์ ส่งเขาไปรักษาที่โรงพยาบาลระยอง โดยในเบื้องต้นได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ.ภาคบังคับเต็มตามจำนวน 80,000 บาท จากนั้นได้ใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มจากจำนวนเงินค่ารักษาที่เกิน         แม้จะรอดตายมาได้แต่คุณวิษรุตเองยังกังวลว่าอาจจะกลับไปทำมาหากินไม่ได้เหมือนเดิม เพราะแขนข้างซ้ายไม่มีแรงคล้ายเป็นอัมพาตและตาก็มองไม่เห็น ยิ่งอุบัติเหตุครั้งนี้ไม่มีคู่กรณีด้วยแล้ว เขาเลยอยากรู้ว่าตัวเองยังพอมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยอะไรได้อีกบ้างไหมในเหตุการณ์นี้ เขาจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เพื่อนของคุณวิษรุต ซึ่งเสียชีวิตและเป็นคนขี่รถจักรยานยนต์จะได้รับเงินเบื้องต้น 35,000 บาท         2. ส่วนคุณวิษรุตตอนนี้แขนซ้ายคล้ายเป็นอัมพาตและตามองไม่เห็น เมื่อไม่มีคู่กรณีก็ต้องกลับมาดู พ.ร.บ.ภาคบังคับ ซึ่งคุณวิษรุตเป็นผู้นั่งซ้อนท้ายสามารถเบิกได้ตาม พ.ร.บ รถจักรยานยนต์ แต่ต้องให้แพทย์ระบุออกมาให้แน่ชัดก่อนจึงค่อยแจ้งกับทางประกัน ถ้าเป็นทุพพลภาพถาวรก็จะได้รับเงินเท่ากับการเสียชีวิต คือ 500,000 บาท แต่ถ้าสูญเสียอวัยวะก็จะได้ตาม พ.ร.บ. ภาคบังคับที่ระบุไว้         ล่าสุด คุณวิษรุตกำลังรอผลตรวจจากแพทย์เพื่อยืนยันความสามารถในการมองเห็นของเขาอีกครั้ง ถ้าแพทย์ระบุว่าเขาตาบอดจริง ก็จะนำใบรับรองผลไปยื่นทางประกันเพื่อขอรับค่าชดเชยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ติดหนี้เพราะเสาไฟฟ้า

เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เสาไฟฟ้าเป็นเหตุหนึ่งของการเกิดหนี้ได้ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องไปเสาะหาเหตุผลให้ปวดขมองครับ เพราะผู้ร้องรายนี้ดันขับรถไปชนเสาไฟฟ้าของกรมทางหลวงเข้าเลยต้องถูกเรียกค่าเสียหายไปตามระเบียบ แต่ที่หนักหนาสาหัสคือยอดหนี้เป็นแสนนี่สิจะรับผิดชอบอย่างไรดีเหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 ที่คุณพิรมไปพลาดพลั้งขับรถไปชนเสาไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแขวงการทางระยอง กรมทางหลวง ซึ่งได้ประเมินเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 123,579 บาท แขวงการทางระยองทำหนังสือแจ้งให้ชดใช้ค่าเสียหายมา 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 เรื่อยมาจนถึงปี 2552 เห็นหนังสือทวงหนี้ เห็นค่าเสียหายแต่ละครั้งหัวใจแทบหล่น แต่ก็จนปัญญาอยากเป็นพลเมืองดีก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาชดใช้ได้ นอกจากประกันภัยชั้นหนึ่งที่ได้ทำให้กับรถไว้แต่บริษัทประกันก็ไม่ยอมจ่ายสักทีจึงส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาคุณพิรมจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมทางหลวง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 437 ถึงแม้ว่าคดีจะขาดอายุความภายใน 1 ปีตามมาตรา 448 แต่หากยังไม่มีการทำเรื่องจากแขวงการทางระยองเสนอขออนุมัติฟ้องไปยังอธิบดีกรมทางหลวงก็ถือว่ากรมทางหลวงในฐานะผู้เสียหายโดยตรงยังไม่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดก็เป็นได้ จึงไม่ควรประมาทในจุดนี้ แต่เมื่อรถของคุณพิรมทำประกันภัยประเภท 1 ไว้กับบริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด ซึ่งสัญญาตามหน้ากรมธรรม์ที่จะรับผิดชอบในความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกจำนวน 2.5 ล้านบาทต่อครั้ง ดังนั้นคุณพิรม จึงควรส่งสำเนาจดหมายของแขวงการทางระยองที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนแสนกว่าบาทนี้ให้ประกันภัยจ่ายค่าสินไหมแทนตามสัญญาประกันภัย หากมีการประวิงเวลา ไม่จ่ายค่าสินไหมคุณพิรมสามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โทรสายด่วน 1186หากคุณพิรมถูกกรมทางหลวงฟ้องร้องในชั้นศาล ให้เรียกบริษัทประกันภัยเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีทันทีเพื่อให้ไปจ่ายค่าเสียหายแทนในชั้นศาลต่อไปประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และในมาตรา 437 บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแก่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >