ฉบับที่ 269 อย่าเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ลงทุนน้อย ผลตอบแทนสูง ใช้เวลาสั้น ไม่มีในโลก

        เขียนมาตั้งหลายสิบตอนเพิ่งจะนึกได้ว่าไม่เคยพูดถึงวิธีสังเกตและป้องกันตัวเองจากพวกมิจฉาชีพที่หลอกให้ลงทุนนั่นนี่เลย ตอนนี้เลยต้องขอพูดถึงซะหน่อยเพราะมีเยอะจริงๆ แถมมีสักพักใหญ่แล้วด้วย        จำได้ไหม? เคยบอกว่าเมื่อไหร่ที่ผู้เสนอให้ลงทุนบอกว่าจะได้ผลตอบแทนเยอะๆ ต่อเดือน เช่น ร้อยละ 5 บางที่ให้ตัวเลขสูงถึงร้อยละ 30 ต่อเดือน เจอตัวเลขแบบนี้ให้เอะใจก่อนเลยว่ามิจฉาชีพแน่ๆ เพราะนักลงทุนเก่งๆ ก็ยังทำผลตอบแทนไม่ได้ขนาดนี้เลย         ตามหน้าเฟสบุ๊คเรามักจะเห็นมิจฉาชีพนำรูปวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งอมตะ คอร์ปเปอเรชั่นมาใช้บ่อยๆ (ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ประเทศไทยมีนักธุรกิจใหญ่ๆ ตั้งมากมาย) แล้วหลอกล่อว่าคุณกำลังจะมีโอกาสลงทุนกับบริษัทมหาชนอย่างอมตะ แถมได้ผลตอบแทนต่อเดือนสูง ใช้สามัญสำนึกพื้นฐาน มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนอย่างวิกรมจะมาถ่ายรูปแปะบนป้ายเชิญชวนคนมาลงทุน อยากลงทุนกับอมตะก็ไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สิ         สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เคยบอกข้อควรระวังไว้ 5 ข้อ ถ้าเจอแบบนี้ให้ถอยห่าง อย่าไปยุ่ง        1.เพจที่บอกว่าจะให้ผลตอบแทนสูงๆ ในเวลาสั้นๆ แต่ใช้เงินไม่มาก (เป็นไปไม่ได้)        2.การันตีผลตอบแทนว่าได้แน่ๆ (กองทุนรวมระดับโลกยังไม่กล้าการันตีเลย)        3.อ้างชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง (ทำไมไม่อ้างวอร์เรน บัฟเฟตต์ไปเลย)        4.ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้ (ก็มันไม่มีอยู่จริง จะตรวจสอบได้ยังไง)5.รีบให้ตัดสินใจลงทุน (มุขเดิมๆ ยิ่งช้า ยิ่งเสียโอกาส)นอกจากนี้ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) ยังเคยเตือนด้วย ซึ่งบางส่วนคาบเกี่ยวกับการหลอกให้ลงทุน เพราะฉะนั้นอย่าทำ        1. คิดว่าไม่เป็นอะไร มักจะมีคนคิดว่า “ลองดูสักหน่อย เงินแค่สามสี่พัน ไม่น่าจะมีอะไร เจ็บตัวไม่มาก เผื่อฟลุ้ค” คนที่คิดแบบนี้มักเป็นคนแรกๆ ที่ถูกหลอก         2. ชอบคุยกับเพื่อนใหม่ เป็นคนอัธยาศัยดีก็ดีอยู่ แต่ก็ต้องระมัดระวังและเอะใจเสมอเมื่อไหร่ที่เพื่อนใหม่เริ่มพูดเรื่องเงิน        3. ชอบสินค้าราคาถูก อันนี้ก็คล้ายๆ กับชอบการลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนเยอะๆ นั่นแหละ        4. ชอบเสี่ยงโชค เพราะเห็นตอบแทนสูงๆ ก็อยากเสี่ยง สุดท้ายก็ตกไปในวังวนแชร์ลูกโซ่                 5. ชอบช่วยเหลือ คนประเภทนี้น่าสงสารที่สุด ทั้งที่มีจิตใจชอบช่วยเหลือ เห็นคนลำบากก็อยากช่วย แต่ก่อนจะช่วยฉุกใจคิดสักหน่อย เพราะบางทีอาจเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมาหรือแม้กระทั่งสร้างเฟสปลอมของเพื่อนเรา ดังนั้น ข้อมูลส่วนตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญจำไว้ว่าการลงทุนน้อยๆ ได้ผลตอบแทนสูงๆ ในเวลาสั้นๆ ไม่มีในโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รู้ว่าเสี่ยง เลยต้องกระจายความเสี่ยง

        รอบนี้ขอพูดถึง ‘ความเสี่ยง’ อีกสักครั้งแบบมัดรวมรวบตึง ก่อนนี้พูดแค่ว่าเวลาไปซื้อกองทุน ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องให้เราทำแบบประเมินความเสี่ยงว่าเราเป็นสายแข็งแค่ไหน แบกมันได้แค่ไหน เวลาเห็นตัวเลขเป็นสีแดงจะได้ไม่ตกอกตกใจ เป็นวิธีจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่ง         ความเสี่ยงมาในหลายรูปแบบ ถ้าตามอ่านกันมาแต่ต้นพื้นที่นี้พูดถึงการรับมือความเสี่ยงไว้หลายทางอยู่ เริ่มตั้งแต่การมีเงินฉุกเฉิน 6-12 เดือนที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เอาชีวิตรอดได้หากตกงาน (แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมา 2 ปีกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐ เงินฉุกเฉินคงเกลี้ยงแล้ว ใครบอกการเมืองไม่เกี่ยวกับเรา)         ประกันชีวิต เดินอยู่ดีๆ เราอาจตกหลุมตกบ่อที่ขาดการบำรุงรักษาจากหน่วยงานรัฐ แข้งขาหัก ทำงานไม่ได้ การมีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ จะช่วยแบกความเสี่ยงตรงนี้แทนเรา บางผลิตภัณฑ์จ่ายเงินชดเชยรายวันจากการเสียรายได้ให้ด้วย         ยังรวมถึงประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัยใดๆ ก็ตามที่เราสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงออกไปได้ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ลองนึกดูว่าบ้านที่อุตส่าห์ทุ่มเทผ่อนเกิดไฟไหม้ รถถูกขโมย หรือตัวคุณผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเป็นอะไรขึ้นมา อย่างน้อยจะมีเงินก้อนหนึ่งให้คนอยู่หลังได้พอมีจังหวะตั้งตัว         จุดระวังคือต้องเลือกบริษัทประกันที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่เบี้ยวผู้เอาประกันเหมือนที่เป็นข่าว และเลือกกรมธรรม์ที่พอเหมาะพอสมตามกำลัง ไม่เว่อร์วัง         ความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่งเกิดจากการแทงม้าตัวเดียว หนังสือหรือคอร์สที่สอนการจัดการการเงินหรือการลงทุนต้องพูดเรื่องกระจายความเสี่ยงแน่นอน ถ้าไม่มีก็ไม่ควรซื้อแต่แรก         เคยได้ยินกันใช่ไหม? อย่าใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียว เพราะถ้าตะกร้าหลุดมือคุณจะเสียไข่ทั้งหมด เวลาลงทุนหุ้นถึงมีคำแนะนำว่าให้ลงในอุตสาหกรรมต่างกัน เช่น กระจายเงินลงในหุ้นกลุ่มสื่อสาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก เป็นต้น         กองทุนรวมก็เหมือนกัน มีคนจัดการให้แต่เราเป็นคนเลือกธีมการลงทุนเองอยู่ดี เช่น ลงทุนหุ้นในประเทศ ลงทุนหุ้นจีน หุ้นเวียดนาม หุ้นสหรัฐฯ สารพัดสารเพ ถ้าถือแต่กองทุนรวมหุ้นไทยตอนนี้คงกุมขมับเพราะแกว่งไปมา แต่ถ้ามีกองทุนหุ้นต่างประเทศด้วยน่าจะเครียดน้อยลง         ยังมีกองทุนรวมผสมอารมณ์ว่ากระจายความเสี่ยง จัดพอร์ตให้เสร็จสรรพ ไม่ต้องซื้อหลายกองให้ยุ่งยาก         คร่าวๆ พอหอมปากหอมคอ รายละเอียดจริงเยอะกว่านี้มากมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 มาตรการเพื่อลดความเสี่ยงจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์การสื่อสาร

การใช้มือถือ สมาร์ตโฟน และแทบเบล็ต ซึ่งเป็นอุปกรณ์การสื่อสารของผู้คนในยุคนี้ แม้จะทำให้มีความสะดวกสบาย และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมก็ตาม แต่ประเด็นเรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และยังหาข้อสรุปทางวิชาการไม่ได้ ในฐานะผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์การสื่อสาร จึงควรมีมาตรการในการลดอัตราการรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(Specific Adsorption Rate: SAR) เพื่อป้องกันตัวตัวเองจากความเสี่ยงดังกล่าวตรวจสอบค่า SAR จากอุปกรณ์การสื่อสารของเราตามข้อแนะนำจากอียู ควรเลือกซื้อเลือกใช้อุปกรณ์สื่อสารที่มีค่า SAR ไม่เกิน 2 วัตต์ต่อกิโลกรัม (น้ำหนักตัวมนุษย์) กรณีของหน่วยงานภาครัฐเยอรมนีที่กำกับดูแลเรื่องนี้ คือ Bundesamt fÜr Strahlenschutz (The federal office for radiation protection) ได้เผยแพร่ฐานข้อมูลให้กับประชาชนทั่วไป ได้ทราบถึงค่า SAR ของ อุปกรณ์สื่อสารกว่า 2800 รุ่น ซึ่งเราสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ตามเว็บไซต์ นี้ http://www.bfs.de/SiteGlobals/Forms/Suche/BfS/EN/SARsuche_Formular.htmlนอกจากนี้ มีเพียงมือถือเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ที่ได้รับผลิตภัณฑ์ฉลากฟ้า (Blauer Engel) ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะมีค่า SAR ต่ำมาก (ยี่ห้อ Fairphone 2)ใช้และพกพาอุปกรณ์สื่อสารเท่าที่จำเป็นหลักการนี้คือ ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์สื่อสารและร่างกายมนุษย์ยิ่งห่างยิ่งมีความเสี่ยงน้อย ถ้าเพิ่มระยะห่างเป็น 2 เท่า อัตราการดูดซับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะลดลงถึง 4 เท่า ดังนั้น ไม่ควรพกพาอุปกรณ์การสื่อสารไว้ในห้องนอน และการใช้งานอุปกรณ์การสื่อสาร ก็ใช้เท่าที่จำเป็น และควรใช้อุปกรณ์สื่อสารบริเวณที่มีสัญญาณดี เพราะจะส่งคลื่นออกมาน้อยกว่าบริเวณที่สัญญาณไม่ดีมาตรการการเฝ้าระวังเป็นเรื่องจำเป็นรูปแสดงผลการวัดค่า SAR ของโทรศัพท์มือถือรุ่นต่างๆ ในปี 2008 ของ องค์กรภาคประชาสังคม เยอรมนี Stiftungwarentestนอกเหนือจากการทำงานด้านเฝ้าระวังของภาครัฐแล้ว ในประเด็นการเฝ้าระวังผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปการณ์สื่อสารของภาคประชาสังคมก็เป็นเรื่องที่จำเป็น กรณีของเยอรมนีที่บทบาทของภาคประชาสังคมที่มีความเข้มแข็งทั้งทางด้านการเมือง ทางวิชาการ และการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ได้ตรวจติดตาม การปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของอุปกรณ์การสื่อสารเป็นระยะๆ ตัวอย่างคือ การแสดงผลของค่า SAR ที่ได้จากการทดสอบทั้งการทดสอบที่ออกแบบขึ้นเอง ในปี 2008 ภายใต้การดูแลของนักวิชาการ ได้ทำให้ข้อกังวลของประชาชนในเรื่องนี้ ลดลงไป แต่อย่างไรก็ตามนักวิชาการทางด้านสุขภาพ และภาคประชาสังคม ก็ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดและสื่อสารกับสังคมอย่างสม่ำเสมอ(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 8/2017)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ประเมินความเสี่ยงสภาพจิตกับ Smile Hub

สังคมในปัจจุบันที่ต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความกดดันและเครียด เราจึงต้องพยายามจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้น  เพราะหากเราไม่สามารถจัดการกับปัญหาพวกนี้ได้ ย่อมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตที่ไม่ดีตามมา  คำว่าสุขภาพจิตนั้น กรมสุขภาพจิต ได้ให้คำนิยามไว้ว่าหมายถึง สภาพชีวิตที่เป็นสุข อันเป็นผลจากการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยครอบคลุมถึงความดีงามภายในใจ ภายใต้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเกิดจากภาวะกดดันและความเครียดจากการดำเนินชีวิตที่ไม่ราบรื่น สิ่งที่สามารถแก้ไขและทำได้นั่นคือ การฝึกคิดและมองโลกในแง่บวก รวมถึงการออกกำลังกาย เพื่อเป็นการสะสมสารเอ็นดอร์ฟินหรือสารแห่งความสุข ซึ่งควรฝึกปฏิบัติเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย และที่สำคัญควรรู้เท่าทันสุขภาพจิตของตนเองอยู่เสมอ ฉบับนี้ขอแนะนำแอพพลิเคชั่นประเมินความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต มีชื่อว่า “Smile  Hub” เป็นแอพพลิเคชั่นของกรมสุขภาพจิตที่ใส่ใจและห่วงใจสุขภาพจิตของประชาชน แอพพลิเคชั่น “Smile  Hub” จะแบ่งการประเมินออกเป็น 4 ช่วงอายุ ได้แก่ เด็กแรกเกิดถึง 11 ปี วัยรุ่น 12 ถึง 17 ปี วัยทำงาน 18 ถึง 60 ปี และสูงวัย 60 ปีขึ้นไป โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะเน้นการทำแบบประเมินเพื่อประมวลผลลัพธ์ออกมา พร้อมกับมีวิดีโอแนะแนวทางการพัฒนาในส่วนของการประเมินกลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 11 ปี จะให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำแบบประเมิน โดยแบ่งออกเป็นเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี จะเน้นโปรแกรมเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก เด็กอายุ 3 ถึง 5 ปี และเด็กอายุ 6 ถึง 11 ปี จะเป็นแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์กลุ่มวัยรุ่น 12 ถึง 17 ปี จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ และแบบประเมินภาวะซึมเศร้า สำหรับกลุ่มวัยทำงาน 18 ถึง 60 ปี จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 4 ส่วน คือ แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง แบบประเมินภาวะซึมเศร้า แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับผู้ใหญ่ และแบบประเมินดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น  ส่วนกลุ่มสูงวัย 60 ปีขึ้นไป จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ แบบประเมินสุขภาพจิตผู้สูงอายุฉบับสั้น และแบบประเมินภาวะซึมเศร้าผู้เขียนไม่ได้คิดว่าการใช้แอพพลิเคชั่นนี้จะใช้เฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิต แต่มุ่งหวังให้ผู้อ่านได้ลองทำแบบประเมินเพื่อวัดสภาพจิต ซึ่งหมายถึงการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และฝึกคิดและมองโลกในแง่บวก เพียงเพื่อให้รู้เท่าทันความเสี่ยงและป้องกันสภาวะสภาพจิตที่มีความกดดันและความเครียดของตนเองที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 เสี่ยงอันตรายขณะลงรถเมล์

หลายคนที่ต้องโดยสารรถเมล์ อาจเคยเจอปัญหาเมื่อถึงป้ายที่ต้องการจะลงแล้วรถเมล์ไม่ยอมจอดรถให้สนิท ซึ่งสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากผู้โดยสารก้าวขาลงไม่ทันขณะที่รถเมล์ออกตัวไป ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ควรทำอย่างไร ลองไปดูกันคุณสุชาติและครอบครัวโดยสารรถเมล์สาย 81 จากต้นสายเชิงสะพานปิ่นเกล้า ไปลงป้ายก่อนถึงห้างสรรพสินค้าซีคอนบางแค อย่างไรก็ตามเมื่อถึงป้ายที่ต้องการก็พบว่ามีคนลงจำนวนมาก ซึ่งในขณะที่เขากำลังก้าวลงจากรถ คนขับรถเมล์ก็ออกรถไปเลย แม้คนที่อยู่บนรถจะช่วยกันบอกว่าคนยังลงไม่หมด แต่คนขับและกระเป๋ารถเมล์ก็ไม่ได้สนใจและขับรถออกไป ซึ่งแม้ครั้งนี้เขาจะลงรถได้อย่างปลอดภัย แต่ก็กังวลว่าหากรถเมล์คันดังกล่าวยังทำพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไป อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ โดยอยากให้ทาง ขสมก. มีการตรวจสอบ ตักเตือนหรือลงโทษการกระทำของคนขับในกรณีดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องเตรียมหลักฐานประกอบการร้องเรียน คือ ทะเบียนรถหรือชื่อคนขับ และวันเวลาการโดยสาร เพราะเป็นสิ่งที่สามารถติดตามเอาผิดได้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่า เขาไม่ได้จำเลขทะเบียนรถหรือชื่อคนขับ เพียงแต่จำรูปพรรณของกระเป๋ารถเมล์และวันเวลาการเดินทางได้เท่านั้น ทำให้เมื่อศูนย์ฯ ช่วยดำเนินเรื่องร้องเรียนไปยัง ขสมก. ทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 ซื้อของออนไลน์ “สะดวก” หรือ “เสี่ยง”

เมื่อสื่อออนไลน์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจขายสินค้าบนโลกออนไลน์พลอยได้รับความนิยมมากขึ้นไปด้วย บรรดาผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเองหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า ต่างล้วนให้ความสำคัญกับช่องทางนี้ จนเกิดเว็บไซต์ขายสินค้าต่างๆ มากมาย เพราะว่าการขายสินค้าบนเว็บออนไลน์นั้น ค่าบริหารจัดการต่ำ  และไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องมีค่าเช่าร้าน ยิ่งถ้าทำงานเอง  ค่าจ้างคนงานก็ยิ่งไม่ต้องมี การดำเนินการก็สะดวกทั้งฝ่ายผู้ขายและผู้บริโภค ผู้บริโภคเองไม่ต้องพาตัวเองไปสำรวจสินค้าอะไร ก็สามารถซื้อสินค้าได้โดยใช้ปลายนิ้วสัมผัสคอมพิวเตอร์  หรือมือถือ  ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและยังโอนเงินทางอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย   สะดวกขนาดนี้ใครจะอดใจไหวแต่การซื้อของแบบนี้แม้จะ “สะดวก” แต่ก็ “เสี่ยง”  เพราะจากปัญหาร้องเรียน เว็บดังหลายๆ แห่งที่ผ่านมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อย่าง  LAZADA  ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลากหลาย เช่น  โทรศัพท์มือถือ  คอมพิวเตอร์  สินค้าสุขภาพและความงาม  ฯลฯ ก็สามารถทำให้ผู้ซื้อสินค้าสองท่านต้องกุมขมับคุณณชพล สั่งซื้อ Power bank  32000 mAh  ด้วยโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 ราคา 820   บาท เพราะเห็นว่าราคาถูกดีเลยสั่งซื้อ กะว่าเอามาขายต่อเพื่อนๆ ด้วย โดยสั่งจำนวน 10 ชุด  ซึ่งต้องได้สินค้า 20 ชิ้น  แต่ปรากฏว่า สินค้าได้มาเพียงแค่ 10 ชิ้นเมื่อติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ ทั้งทางโทรศัพท์และอีเมล์ เพื่อทวงสินค้าให้ครบ ก็พบว่า ติดต่อยากมาก   พอติดต่อได้บริษัทฯ ก็บอกผัดผ่อนว่าจะรีบส่งให้ครบ  แต่ก็เงียบหายไป  ไม่ว่าจะพยายามติดต่อก็กลับไปกี่ครั้งๆ ทุกครั้งจะอ้างแต่ว่าติดต่อบริษัทผู้ขายไม่ได้  ถึงต้องนี้ คุณณชพลต้องบอกว่า งงมาก แล้วเอามาขายตามที่ตั้งใจไว้แต่แรกได้อย่างไร อีกท่านหนึ่งคือ คุณอภิรักษ์ ซื้อ Alcatel One Touch Link 3G+Wi-Fi Hot Spot  โฆษณาว่ารองรับ 3G  ได้ พอรับสินค้ามากลับใช้ไม่ได้จริงตามที่โฆษณา  จึงต้องคืนสินค้ากลับไปเพื่อเปลี่ยนของ   แต่ติดต่อคืนสินค้าแล้วไม่ได้เงินคืนภายใน 14 วัน ตามที่โฆษณาไว้ในเว็บไซต์ เพราะอ้างว่าเมื่อรับคืนแล้วต้องใช้เวลาตรวจสอบนานมาก อ้าว! ทำไมไม่ง่ายเหมือนตอนซื้อล่ะกว่าที่ผู้ร้องจะติดต่อกับบริษัทฯ  ได้  ก็พบปัญหามากมายเช่นเดียวกับรายแรก เช่น  โทรศัพท์ติดต่อยาก  ต้องส่งข้อมูลทางอีเมล์ที่ไม่รู้ว่าจะตอบเมื่อไร  เฮ้อ!  ตอนสั่งซื้อง่ายมากจริง เพียงดูแคตตาล็อค  เลือกสินค้า  ชำระเงิน   แต่พอมีปัญหากลับติดต่อยากที่สุด  ผู้ร้องทั้งสองเลยต้องหาตัวช่วยเมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับเรื่องร้องเรียน   จึงทำการตรวจสอบไปที่เว็บไซต์เบื้องต้นพบว่าช่องทางการติดต่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค เบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้ ติดต่อยากจริงๆ     ทั้งการติดต่อทางอีเมล์ก็พบว่า ล่าช้ามาก  กว่าบริษัทฯ จะติดต่อกลับมา  อย่างไรก็ตามเมื่อได้พยายามพูดคุยกับทางเว็บไซต์ดัง โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้แจ้งข้อร้องเรียนเรื่องปัญหาไปยังบริษัทฯ เพื่อให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องทั้งสองราย    รายแรกก็ได้รับสินค้าครบตามจำนวนที่สั่งซื้อรายที่สองมีเจ้าหน้าที่ของ LAZADA  ไปรับสินค้าคืน  แต่ต้องรอการตรวจสอบว่าสินค้าที่ได้รับมานั้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ก่อนคืนเงินศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงขอแจ้งเตือนยังผู้ที่จะซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ควรตรวจสอบที่มาที่ไปของผู้ขายก่อนว่ามีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  อย่างน้อยหากเกิดความผิดพลาดยังพอมีข้อมูลในการติดตามกับผู้ขายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โกงกันเห็นๆ

มีผู้ซื้อประกันภัยมากกว่า 3 ราย ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีมุมที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่าที่เขาตัดสินใจยอมเสียเงินทำประกันภัยไว้ก็เพื่อประกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยที่เขาไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด(จ่ายเพื่อความสบายใจ) โดยเฉพาะการที่ยอมเสียเงินเพิ่มทำประกันภัยรถยนต์ ประเภทประกันชั้น 1   ที่ต้องเสียเงินมากกว่า 10,000 บาทเพราะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ตามสัญญาในกรมธรรม์ มีวงเงินจ่ายความเสียหายแต่ละครั้ง 10 ล้านบาท หากมีผู้เสียชีวิตจ่ายในวงเงิน 500,000 หรือ 250,000 บาทต่อราย(แล้วแต่ตกลงกันในสัญญา) และยังมีวงเงินสำหรับประกันตัวในกรณีที่มีคดีความอีกด้วยนับว่าการจ่ายเงินของเขาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นบริษัทประกันจะได้มารับภาระแทนเขาตามสัญญาที่ทำไว้ คือ 1. เมื่อเกิดเหตุก็มีคนจ่ายเงินให้ 2.เมื่อมีคดีความก็มีคนดูแลแต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น คนที่มาร้องเรียนเขาบอกกับเราว่าเขาตัดสินใจทำประกันไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด     เพราะชอบที่โฆษณาที่ว่าเมื่อเกิดเหตุ   จะไปเร็ว เคลมเร็ว  แต่เมื่อเขาพลาดประสบเหตุเฉี่ยวชนคนตาย เขาต้องใช้เวลาโทรหาตัวแทนประกันนานมาก....  ต่างจากโฆษณาลิบลับ โทรไปที่บริษัทใหญ่ บริษัทฯ ก็ให้เบอร์สาขาโทรไปสาขา สาขาก็ให้เบอร์ตัวแทน  เรียกว่าเอาเข้าจริงที่โฆษณาไว้ก็ไม่จริง เพราะกว่าตัวแทนจะมาถึงก็เป็นชั่วโมงๆ(กว่าจะมาตำรวจลากรถไปไว้โรงพักแล้ว)เมื่อเขาต่อว่า ว่าไม่เห็นมาเร็วเหมือนโฆษณาเลย ก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่า อ๋อนั่นเฉพาะในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดไม่เร็วหรอกเพราะคดีเยอะ มีเจ้าหน้าที่น้อย(แล้วทำไมตอนโฆษณาไม่บอกว่าเฉพาะกรุงเทพฯ อย่างนี้มันหลอกลวงกันชัดๆ) เมื่อตัวแทนมาถึงก็จดๆ ถ่ายรูป แล้วตำรวจก็นัดเจรจากันอีกครั้งโดยมีการกำหนดวันเวลาไว้ชัดเจนเมื่อถึงวันนัดคู่กรณีมาพร้อมขาดเพียงตัวแทนบริษัทประกัน ตำรวจบอกให้มาคุยกันต่อหน้าตำรวจเลยจะเอาอย่างไรก็ว่ามา เขาบอกว่าเขางงมาก เพราะไม่รู้จะเจรจาอย่างไร เขาไม่รู้อะไรเลย จริงๆ หน้าที่เจรจาต้องเป็นหน้าที่ของประกัน เขาบอกว่าเขาพยายามโทรหาตัวแทนอยู่หลายครั้ง เริ่มจากคนที่เคยคุยไว้ครั้งแรกก็ได้คำตอบว่าไม่ได้อยู่จังหวัดนี้ย้ายไปจังหวัดอื่นแล้ว และให้เบอร์ตัวแทนคนใหม่มา เขาก็โทรหาอีก คนที่รับสายบอกว่าไม่รู้เรื่อง เขาก็พยายามโทรหาบริษัท บริษัทก็บอกเดี๋ยวจะติดต่อสาขาให้แล้วให้เบอร์สาขามา โทรหาสาขา สาขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะส่งตัวแทนไป(เหตุการณ์คุ้นไหม) ซึ่งขณะนั้นเขาอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันมาก คู่กรณีก็นั่งจ้องหน้า ตำรวจก็เร่งให้เจรจาเพราะมีคดีอื่นรออยู่ ตัวแทนประกันที่เขาหวังพึ่งก็ยังไม่มา เขาถามตัวเองว่าเขาเสียเงินทำประกันไปทำไม? เมื่อมีปัญหาแล้วพึ่งไม่ได้เมื่อมีการเจรจาจริงคู่กรณีได้เรียกร้อง 700,000 บาท   เขาบอกว่าเขาอุ่นใจ เพราะเขาทำ พรบ.ไว้ 2 ส่วน คือ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ วงเงินที่จ่ายกรณีเสียชีวิต 200,000 บาท และหน้ากรมธรรม์ชั้น1 อีก 500,000 บาท รวมแล้วก็พอดีเลย   ตัวแทนก็รับไปคุยกับบริษัทโดยนัดให้ตอบในนัดต่อไปเมื่อถึงวันนัดตัวแทนประกันบอกว่าบริษัทยอมจ่ายเพียง 300,000  บาท  “จะบ้าเหรอแค่ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ(พรบ.ภาคบังคับที่เขาจ่ายเงินไป 600 บาท)บริษัทก็ต้องจ่ายเต็ม 200,000 บาทแล้ว” เพราะฝ่ายเราเป็นฝ่ายผิด แต่ประกันชั้น 1 ที่เขาเสียเงินเกือบ 20,000 บาท  บริษัทจ่าย 100,000 เดียวเหรอแล้วก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่าประกันของเขากำหนดวงเงินไว้เพียง 250,000 บาท “ทางบริษัทพิจารณาอนุมัติวงเงินเพียงเท่านี้ผมไม่มีอำนาจตัดสินใจ” เขาบอกอีกว่าเขาได้คุยกับคู่กรณีเรื่องวงเงิน คู่กรณีบอกว่าหากจ่าย 450,000  บาท เขาก็ยินดีจะจบเรื่องเขาก็ได้แจ้งตัวแทนบริษัทไป จากนั้นมีการนัดเจรจากันอีกหลายครั้ง ครั้งนึงบริษัทก็เพิ่มวงเงินทีละประมาณ 5,000 บาท บ้างไม่เพิ่มบ้าง (โอ้โห....เล่นใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อหวังผลประโยชน์ของบริษัท บนความเดือดร้อนของทั้งผู้ซื้อประกันและผู้เสียหายอย่างนี้ก็แย่ซิ. โกงกันชัดๆ.)จนทำให้คู่กรณีไม่พอใจ และมายืนจ้องเขาแล้วบอกกับเขาว่า  “เอาลูกชั้นคืนมาชั้นไม่ได้อยากได้เงิน” ทั้งๆ ที่เรื่องควรจบได้หากบริษัทยอมจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ น้องที่ศูนย์ฯ บอกกับผู้เขียนว่าอย่างนี้แหละพี่ไปเจรจาต่อหน้าเจ้าหน้าที่คปภ. ก็ไม่ได้เรื่อง บริษัทก็ไม่ยอมจ่ายคปภ.ก็ไม่มีน้ำยาผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเอง ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผู้เขียนไหมว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ ขาดที่พึ่งจริงๆ  ทั้งๆ ที่เรามีสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ยังทำอะไรไม่ได้ น่าเหนื่อยใจจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 สงสัยครีมหมอจุฬา ใช้แล้วเสี่ยง

เรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใน net ลงข้อความครีมหมอจุฬาในกระปุกใสของจริงจะไม่มีสติ๊กเกอร์ติดด้านบน จะมีเพียงด้านข้างซึ่งรูปดอกไม้จะมีสีอ่อนกว่า และตัวหนังสือความเข้มก็จะอ่อนกว่าค่ะ ช่วยตรวจสอบให้ด้วยค่ะว่าแบบไหนจริงแบบไหนปลอม หรือว่าปลอมทั้งคู่ และช่วยตรวจสอบเกี่ยวกับครีมหมอจุฬาว่าของแท้เป็นยังไง สรรพคุณดีจริงอย่างที่โฆษณาไหม ใช้แล้วมีผลข้างเคียงยังไง มีแหล่งผลิตที่แน่ชัดไหม ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.หรือเปล่าคะ แล้วถ้ามีครีมของหมอจุฬาที่เป็นของจริง สามารถติดต่อหรือสั่งซื้อได้ยังไงถึงจะไม่โดนหลอกและได้ของจริงผู้บริโภคจากชลบุรีท่านหนึ่ง ได้เขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์หน้าขาว ครีมสมุนไพรตราหมอจุฬา จากร้านขายเครื่องสำอางแถวบ้าน ซึ่งเป็นครีมข้นสีครีม ไม่มีกลิ่น มีฉลากแสดงประเภทสินค้า วิธีใช้ และสรรพคุณสินค้า แต่ไม่ได้ระบุเลขทะเบียนอาหารและยา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เลยมีความสงสัยว่า ครีมที่ซื้อมาจากร้านขายเครื่องสำอางกับครีมที่โฆษณาทางอินเตอร์เน็ตนั้น ตัวไหนคือของจริง ตัวไหนคือของปลอม หรือว่าปลอมกันทั้งคู่ แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ได้รับคำตอบกลับมาในเวลาอันรวดเร็ว จึงขอกระจายข่าวให้กับผู้ที่จะซื้อหรือกำลังใช้ครีมเครื่องสำอางยี่ห้อหมอจุฬาได้รับทราบโดยทั่วกันอย. ชี้แจงถึงเครื่องสำอางที่เราได้รับจากผู้ร้องเรียนและส่งไปให้ อย. ตรวจสอบนี้ พบว่าการแสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่มีชื่อเครื่องสำอาง ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต ครั้งที่ผลิต ที่ตั้งของผู้ผลิต และเนื้อครีม(ที่ผู้ร้องส่งมาให้ตรวจสอบนั้น)ที่อยู่ในตลับมีปริมาณน้อยมาก จึงไม่สามารถส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือทดสอบโดยชุดทดสอบเบื้องต้นได้อย่างไรก็ดี อย. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครื่องสำอางดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับเครื่องสำอางที่ อย. เคยประกาศผลการตรวจวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบแล้ว คือ ครีมรักษาสิว-ฝ้าหน้าขาวสมุนไพรเกรด A 100% ระบุผลิตโดย ศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ปรอทแอมโมเนีย และครีมหน้าขาว(สูตรเข้มข้น) ระบุผลิตโดยศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ ปรอทแอมโมเนีย ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ คือ อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ“ผลิตภัณฑ์นี้จึงจัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้ขาย ให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”ท้ายสุด อย. ให้ข้อแนะนำว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วยความระมัดระวัง จากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน ฉลากภาษาไทยมีข้อความบังคับครบถ้วน คือ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ ส่วนร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางเพื่อมาจำหน่าย จะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจนดังนั้น เครื่องสำอางไหนๆ หากขาดรายละเอียดที่ อย.ว่ามา ก็ไม่ต้องถามหรอกครับว่า ของไหนปลอม ของไหนจริง เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องสำอางเสี่ยงภัยทั้งนั้น “หยุดซื้อ หยุดใช้” เป็นดีที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 “กาน่าฉ่าย” เมนูเสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำ

ถึงช่วงเทศกาลกินเจทีไร อาหารจำพวกพืชผักต่างๆ ก็ได้เวลาคึกคัก ซึ่งหนึ่งในเมนูผักๆ ที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลกินเจ ก็คือ “กาน่าฉ่าย” เมนูชื่อแปลกที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่ก็เป็นเมนูสุดโปรดของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่เชื้อสายจีนรับรองว่าต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี อ่านมาถึงตรงนี้แฟนๆ ฉลาดซื้อคงเริ่มอยากรู้แล้วว่า เราจะทดสอบอะไรในกาน่าฉ่าย ซึ่งฉลาดซื้อได้รับข้อมูลมาว่าในการทำกาน่าฉ่ายนั้นมีการใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบ ทำให้เรามีข้อสงสัยว่ากาน่าฉ่ายอาจเสี่ยงปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ ฉลาดซื้อจึงสุ่มเก็บตัวอย่างกาน่าฉ่ายที่ขายอยู่ตามแหล่งจำหน่ายอาหารเจและตลาดยอดนิยมที่ขายสินค้าอาหารของคนไทยเชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดเยาวราช ตลาดท่าดินแดง และตลาดสามย่าน  เพื่อมาทดสอบดูว่ากาน่าฉ่ายที่วางขายอยู่เสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำมากน้อยแค่ไหน   สูตรไม่ลับ กาน่าฉาย กาน่าฉ่าย ทำจากผักกาดดองที่บีบน้ำดองออกแล้วส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้รสชาติเปรี้ยวหรือเค็มจัดเกินไป จากนั้นนำมาสับ นำลงผัดกับลูกสมอดอง หรือที่ชาวจีนเรียกว่า กาน่าซั่ม บางเจ้าบางสูตรจะมีการเติมเห็ดหอมลงไปด้วย เมื่อผัดได้ที่ก็จะเติมน้ำเพิ่มลงไป  ตั้งไฟตุ๋นทิ้งไว้ 5-8 ชั่วโมง กาน่าฉ่ายก็จะกลายเป็นสีดำ หน้าตาอาจจะไม่ค่อยน่ากิน แต่รสชาติอร่อยถูกใจ หลายคนบอกว่าแค่กินคู่กับข้าวต้มหรือข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อยสุดๆ หรือจะนำไปดัดแปลงไปผัดกับเนื้อสัตว์ ผัดกับผักอื่นๆ หรือเติมลงในข้าวผัดก็อร่อยไปอีกแบบ ขั้นตอนการปรุงเมนูกาน่าฉ่าย จำเป็นต้องมีการใช้น้ำมันในขั้นตอนของการผัด ซึ่งน้ำมันที่นิยมใช้กันคือน้ำมันพืชอย่าง น้ำมันปาล์ม, น้ำมันถั่วเหลือง หรือ น้ำมันงา ร้านค้าส่วนใหญ่เวลาที่เขาผัดกานาฉ่ายขายแต่ละทีเขาทำขายกันทีละหลายกิโล น้ำมันที่ใช้จึงมีปริมาณมาก โอกาสที่จะมีการใช้น้ำมันซ้ำๆ ในการผัดเพื่อเป็นการลดต้นทุนจึงอาจเกิดขึ้นได้   ผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในกาน่าฉ่าย ฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย จากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในกรุงเทพฯ จำนวน 13 ตัวอย่าง ส่งไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 จ.อุดรธานี เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารโพลาร์ สารที่เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ในตัวอย่างกาน่าฉ่าย โดยการใช้ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งให้ผลที่แม่นยำเป็นที่ยอมรับ ได้ผลดังนี้     สรุปผลการทดสอบ การวิเคราะห์โดยใช้ชุดทดสอบนั้น จะใช้วิธีการหยดสารละลายโพลาร์ลงในตัวอย่าง ตัวสารจะทำปฏิกิริยากับตัวอย่างทำให้เกิดเป็นสีชมพู ตั้งแต่สีจางไปจนถึงเข้ม สำหรับตัวอย่างที่มีปริมาณสารโพลาร์ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก แต่หากตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ไม่เปลี่ยนเป็นสีชมพู หรือกลายเป็นสีเหลืองแสดงว่าตัวอย่างนั้นมีปริมาณสารโพลาร์เกินกว่า 25% - ตัวอย่างกาน่าฉ่าย ที่อยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ พบว่ามีเพียง 3 ตัวอย่างเท่านั้น (จากทั้งหมด 13 ตัวอย่าง) คือมีปริมาณสารโพลาร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1.กาน่าฉ่าย ร้านพลังบุญ จากสันติอโศก 2.กาน่าฉ่าย แม่จินต์ จากโลตัส สาขาสุขสวัสดิ์ และ 3.กาน่าฉ่ายเห็ดหอม สูตรคุณตี๋ จากตลาดสามย่าน สารโพลาร์อยู่ในช่วงปริมาณ 9-20% ถือเป็นน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี - กาน่าฉ่ายอีก 10 ตัวอย่างที่เหลือ ตรวจวิเคราะห์พบปริมาณสารโพลาร์ปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ คือมากกว่า 25% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งจากการทดสอบด้วยชุดทดสอบพบว่า ตัวอย่างเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม คิดเป็นสารโพลาร์ที่อยู่ในช่วง 27% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งถือเป็นน้ำมันที่เสื่อมสภาพแล้ว ไม่ควรนำมาใช้ประกอบอาหาร - จากตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์ พบว่า มากกว่า 70% มีการปนเปื้อนของสารโพลาร์เกินค่ามาตรฐาน การรับประทานกาน่าฉ่าย จึงมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำ ใครที่ชอบซื้อรับประทานบ่อยๆ อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น รับประทานแต่พอดี หรือพยายามเลือกร้านที่มั่นใจว่าเปลี่ยนน้ำมันในการทำอยู่เสมอ สังเกตดูกาน่าฉ่ายที่ต้องไม่ดูเก่าเกินไป สีของน้ำมันไม่เป็นสีดำ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน - น้ำมันปรุงอาหารจะเสื่อมคุณภาพ เมื่อถูกความความร้อนสูง และมีความชื้น จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดสารโพล่าร์ (Polar compounds) เครื่องปรุงต่างๆ เช่น เกลือ ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดสารสารโพลาร์เพิ่มขึ้น โดยปกติน้ำมันปรุงอาหารใหม่จะมีสารโพลาร์อยู่ระหว่าง 3-8 % ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ. 2547 เรื่องกำหนดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ให้มีปริมาณสารโพลาร์ได้ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก ผู้ประกอบการอาหารที่ใช้น้ำมันทอดอาหารที่มีค่าปริมาณสารโพลาร์เกินมาตรฐานทีกำหนดและจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25(3) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท   อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า ในน้ำมันทอดซ้ำมีสารอันตรายอยู่ 2 กลุ่ม คือ สารโพลาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และอีกกลุ่มคือสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือ PAH ซึ่งเป็นกลุ่มสารก่อมะเร็ง น้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพ มีผลทำลายสุขภาพ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ โรคหัวใจวาย โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ไอของน้ำมันที่เสื่อมจะมีกลุ่มสารก่อมะเร็ง ทำให้ผู้ที่ทอดอาหารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดจากการสูดดม   กานาฉ่าย ไม่ได้เสี่ยงแค่น้ำมันทอดซ้ำแต่ยังต้องระวังเรื่องสารกันบูด ช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากผักที่คนกินเจนิยมบริโภคกันมากแล้ว อาหารจำพวกหมักดองก็เป็นที่นิยมมากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดดอง หัวไช้โป้ว เกี่ยมฉ่าย และรวมถึง กาน่าฉ่าย ซึ่งอาหารเหล่านี้มักมีการใช้วัตถุกันเสียเพื่อยืดอายุของอาหาร ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ กรดเบนโซอิก (benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (sorbic acid) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร อนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ในผักดอง ผักปรุงสุก ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารช่วงเทศกาลกินเจปี 2557 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ไช้โป้ว หัวผักดอง และ ยำเกี่ยมฉ่าย รวม 30 ตัวอย่าง เพี่อตรวจวิเคราะห์หาวัตถุกันเสียทางห้องปฏิบัติการ พบว่ามีตัวอย่างที่ใช้วัตถุกันเสียถึง 29 ตัวอย่าง ไม่พบเพียง 1 ตัวอย่าง โดยพบตัวอย่างใช้วัตถุกันเสียทั้ง 2 ชนิด จำนวน 6 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบกรดเบนโซอิก เกินมาตรฐาน 22 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 73.3 โดยพบปริมาณสูงสุด 5,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ส่วนกรดซอร์บิกพบในตัวอย่าง ไช้โป้ว/ไช้โป้วฝอย อยู่ในช่วง 50 - 418 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แม้ว่ากรดเบนโซอิกจะมีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ที่มา: รายงานประจำปี 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 สินค้าเด็กไทย ปลอดภัยหรือยัง

ความปลอดภัยและพัฒนาการของลูก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องการ หลายคนซื้อสินค้าอย่าง หัวนมหลอก ยางกัด รถหัดเดิน หรือแม้แต่เก้าอี้สูง มาให้ลูกใช้โดยหารู้ไม่ว่าอาจจะกำลังเพิ่มความเสี่ยงให้กับเด็กๆ เพราะปัจจุบันในบ้านเรายังไม่มีมาตรฐานควบคุมการผลิตสินค้าเหล่านี้ ว่าแล้วก็เริ่มสงสัยว่าทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กปลอดภัยพอแล้วหรือไม่   เพื่อตอบคำถามดังกล่าวฉลาดซื้อขอนำผลการวิจัยโดยพญ. ประภาศิริ สิงห์วิจารณ์  รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง “การประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เด็กที่มีใช้ในเด็กช่วงอายุ 6 ถึง 18 เดือน” มาเล่าสู่กันฟัง   งานวิจัยดังกล่าวเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน จากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไปในกรุงเทพมหานคร  ผลิตภัณฑ์ 12 ประเภทที่พบได้แก่   กรุ๊งกริ๊ง หัวนมหลอก รถเข็นเด็ก ยางกัด เตียงเด็ก เปลคอก เปลไกว รถหัดเดิน เก้าอี้สูง เก้าอี้นั่งโยก เก้าอี้กระโดด เป้อุ้มเด็ก   จากนั้นสัมภาษณ์เก็บข้อมูล จาก “ผู้ดูแลหลัก” ของเด็กที่เกิดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 203 คน ที่มีอายุระหว่าง 6 – 18 เดือน โดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เพื่อวิเคราะห์ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีใช้อยู่นั้นมีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือไม่   *หมายเหตุ: แบบสอบถามดังกล่าวออกแบบโดยอ้างอิงข้อมูลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เด็ก ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสหรัฐอเมริกา เอกสารมาตรฐานจาก American Society for Testing and Materials และมาตรฐานของ ISO รวมถึงข้อมูลการบาดเจ็บที่เคยเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของเด็ก -------------------------------------------------------------------------------------------------------   สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2008 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 63,700 ราย ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในห้องฉุกเฉินเนื่องจากอาการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์อย่าง รถเข็นเด็ก พาหนะเด็ก เตียงเด็กและเก้าอี้เสริม ------------------------------------------------------------------------------------------------------- 5 ผลิตภัณฑ์ยอดนิยม ผลิตภัณฑ์เด็กที่มีอัตราการใช้สูงสุด 5 อันดับแรก ในเด็กอายุ 12 เดือน ได้แก่ กรุ๊งกริ๊ง           (ร้อยละ 85.2) รถหัดเดิน           (ร้อยละ 82) ยางกัด            (ร้อยละ 71.3) รถเข็นเด็ก        (ร้อยละ 68) เปลไกว           (ร้อยละ 53.3) ---   10 อันดับ ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสูง (เรียงลำดับจากความเสี่ยงมากไปความเสี่ยงน้อย) รถหัดเดิน เตียงเด็ก รถเข็นเด็ก กรุ๊งกริ๊ง เก้าอี้สูง เปลไกว เก้าอี้นั่งโยก เปลคอก พาหนะอุ้มเด็ก จุกนมหลอก   ------------------------------------------------------------------------------------------------------- 4 ผลิตภัณฑ์อันตราย งานวิจัยครั้งนี้พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์ประเภทกรุ๊งกริ๊ง รถหัดเดิน รถเข็นเด็ก และเปลไกว มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดการบาดเจ็บหลักได้ -------------------------------------------------------------------------------------------------------   ความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ กรุ๊งกริ๊ง ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ      ด้านปลายของกรุ๊งกริ๊งทิ่มเข้าคอเด็ก ตัวกรุ๊งกริ๊งกระแทกกับศีรษะและใบหน้า หนีบนิ้วมือ มีแผลถลอก/บาด จากขอบแหลมคม   ควรเลือก                                   ผลิตภัณฑ์ที่มีด้านปลายที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 4.2 เซนติเมตร         ผลิตภัณฑ์ จุกนมหลอก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               สายคล้องคอรัดคอ และจุกนมอุดกั้นทางเดินหายใจ   ควรเลือก                                   ผลิตภัณฑ์ที่มีเชือกคล้องคอหรือแป้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 4.2 เซนติเมตร     ผลิตภัณฑ์    รถเข็นเด็ก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               เด็กตกจากรถเข็นเนื่องจากไม่มีเข็มขัดนิรภัยที่เหมาะสม ล้มกระแทกจากการปีนรถ หรือรถลื่นไถลเสียหลักจนพลิกคว่ำ ควรเลือก                                   รถเข็นที่สายรัดนิรภัยที่มีตำแหน่งยึด 5 จุด คือ ยึดระหว่างขา รอบเอว และไหล่ทั้งสองข้าง  และมีระบบห้ามล้อ           ผลิตภัณฑ์ ยางกัด ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               ยางกัดแตกเป็นชิ้นเล็กๆ หรืออาจอุดกั้นทางเดินหายใจ   ควรเลือก                                   ผลิตภัณฑ์มีที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 4.2 เซนติเมตร       ผลิตภัณฑ์ เตียงเด็ก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ            เด็กตกเตียงหรือลอดทะลุช่องแล้วศีรษะติดค้าง ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ   ควรเลือก                                   เตียงที่ราวกันตกและผนังเตียงด้านศีรษะและเท้ามีช่องห่างไม่เกิน 6 เซนติเมตร หรือจากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนมีความสูงมากกว่า 65 เซนติเมตร         ผลิตภัณฑ์ เปลคอก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ            การอุดกั้นทางเดินหายใจ ในกรณีที่มุ้งกั้นด้านข้างมีรูรั่วหรือฉีกขาด หรือเคยมีการยุบตัวของโครงสร้าง         ผลิตภัณฑ์ เปลไกว ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               เด็กพลิกคว่ำตกจากเปล หรือลอดทะลุช่องแล้วศีรษะติดค้าง ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ   ควรเลือก                                   ตัวเปลที่มีราวกันตกและผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าที่มีช่องห่างไม่เกิน 6 เซนติเมตร และมีฐานที่มั่นคง       ผลิตภัณฑ์ รถหัดเดิน ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               รถลื่นไถลเสียหลักจนพลิกคว่ำหรือเคลื่อนที่ไปสู่สิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย   ควรเลือก                                   รถหัดเดินชนิดที่ไม่มีล้อ   -------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถหัดเดิน X รถช่วยพยุงตัว / เขาศึกษากันมาแล้วว่า “รถหัดเดิน” นั้นไม่ช่วยในการหัดเดินแต่อย่างใด แถมยังมีความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับบาดเจ็บถึงร้อยละ 90  ขณะนี้อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ประกาศห้ามขายห้ามใช้แล้ว   สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ของเรา ออกกฎหมายให้ผู้ผลิตเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ จาก “รถหัดเดิน” เป็น “รถช่วยพยุงตัว” และให้ติดฉลากคำเตือนที่ตัวรถว่า “อุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ได้ช่วยหัดเดิน” -------------------------------------------------------------------------------------------------------   ผลิตภัณฑ์ เก้าอี้สูง และเก้าอี้นั่งโยก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               การบาดเจ็บจากการตกจากที่สูงได้   ควรเลือก                                   เก้าอี้สูงที่มีเข็มขัดรัดระหว่างเอวและง่ามขา       ผลิตภัณฑ์ เป้อุ้มเด็ก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               การหลุดรอดตกลงมาจากเป้   ควรเลือก                                   เป้อุ้มเด็กที่มีสายรัดระหว่างเป้กับคนอุ้มแข็งแรง และมีช่องใส่ขาเด็กที่ขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 163 รับมือกับความเสี่ยงเรื่อง บ้าน

บ้าน..เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของคนทุกคน  หลายคนคงมีความฝันที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเพราะความจำเป็นของครอบครัว หรือการอยากมีบ้านหลังแรกในชีวิตเป็นของตนเอง แต่การลงทุนเรื่องที่อยู่อาศัยทุกวันนี้ มีปัจจัยความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งจากตัวผู้ซื้อที่ไม่มีความพร้อมจากสภาพเศรษฐกิจ และความไม่สนใจในสิทธิผู้บริโภคของผู้ประกอบการ  ทำให้การจะได้บ้านสักหลังกลายเป็นเรื่องที่ยากเสียแล้ว แต่การจะมีบ้านในสภาพแวดล้อมที่ดีที่เหมาะสมกลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า เพราะเราพบว่าปัญหาที่เกิดหลังการซื้อบ้าน มีอยู่มากมาย ดังนั้นการรู้วิธีแก้ไขปัญหาก่อนที่ปัญหาจะเกิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ   ภาพรวมปัญหาด้านที่อยู่อาศัย จากข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภคต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย สามารถจัดกลุ่มปัญหาได้ดังนี้ บ้าน / ที่ดิน / อาคารพาณิชย์ ไม่สร้างบ้านตามสัญญา , ไม่ได้สร้างตามแบบที่ขออนุญาต ไม่สามารถโอนบ้านได้ตามสัญญา วัสดุที่นำมาสร้างบ้านไม่มีคุณภาพ ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการประมูลของธนาคาร แต่ต้องรับภาระฟ้องขับไล่ผู้อยู่อาศัยเดิม ชำรุดหลังปลูกสร้าง ,  ผู้รับเหมาทิ้งงาน ก่อสร้างล่าช้า สัญญาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภค 2.  อาคารชุด / คอนโดมิเนียม สร้างไม่เสร็จตามสัญญา ปัญหาการบริหารจัดการงานของนิติบุคคล ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ลูกบ้าน ไม่โอนตามสัญญา พื้นที่ไม่ครบตามสัญญา ไม่คืนเงินมัดจำ วัสดุไม่มีคุณภาพ ชำรุดหลังรับโอน สัญญาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภค 3.  สาธารณูปโภค / พื้นที่ส่วนกลาง (รวมทั้งบ้านและอาคารชุด) ไม่สร้างสาธารณูปโภคตามสัญญา ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางตามแบบที่ขออนุญาตจัดสรร ปัญหาการบริหารจัดการงานของนิติบุคคล ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของลูกบ้าน นำพื้นที่ส่วนกลางไปจำหน่ายให้กับบุคคลหรือหน่วยงานอื่น 4.  อื่นๆ เช่น การขอคำปรึกษาการฟ้องคดี   เรื่องควรรู้เพื่อเตรียมรับมือกับความเสี่ยง Ø ปัญหาระหว่างการจองหรือก่อนตกลงทำสัญญา ผู้บริโภคขาดข้อมูลการตัดสินใจในการซื้อ หรือละเลยการแสวงหาข้อมูล เรื่องความพร้อมของผู้บริโภคเองและความมั่นคงของผู้ประกอบการในโครงการที่ต้องการซื้อขาย รวมถึงปัญหาของสัญญาจะซื้อจะขายที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดปัญหาการเสียเงินจองเงินมัดจำ แล้วเมื่อเกิดปัญหาก็เรียกคืนไม่ได้   ก่อนเสียเงินจอง ผู้ซื้อต้องรู้อะไรบ้าง แม้ปัญหาที่อยู่อาศัยจะมีหลายระดับ แต่ก้าวแรกของปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย  คือ การทำสัญญาจอง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา  ซึ่งขั้นตอนหนึ่งที่ผู้ซื้อสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง  โดยไม่ต้องรอหน่วยงาน เพื่อจะได้ที่อยู่อาศัยดีๆ อย่างที่วาดหวังไว้ คือ การใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้ 1.  รู้จักตัวเองให้ดีก่อน  จำไว้ ก้าวแรกของปัญหา คือเราต้องป้องกัน เมื่อมีความคิดอยากจะมีบ้านสักหลัง  ผู้ซื้อต้องประมาณกำลังซื้อและความพร้อมของตนเองก่อน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพราะท่านอาจเจอปัญหาผิดนัดชำระ  กลายเป็นซื้อบ้านไม่ได้บ้าน แถมยังต้องเป็นหนี้ก้อนโตอีกต่างหาก 2. ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของโครงการที่สนใจ  ตรวจสอบโครงการที่สนใจ ว่าเป็นโครงการบริษัทใด มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ บริษัทเป็นที่รู้จักหรือมีผลงานการบริหารจัดการโครงการในอดีตหรือไม่ เพื่อเปรียบเทียบผลงาน โดยดูจากใบโฆษณาการขาย หรือ เว็บไซด์ของโครงการนั้นๆ ที่สำคัญ ผู้ซื้อต้องไม่ลืมที่จะเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องของโครงการทั้งหมดไว้ด้วย 3. ต้องรู้กฎหมายเบื้องต้น   การอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก ผู้ซื้อควรต้องรู้ว่า เบื้องต้นมีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายบ้านและที่ดิน  เพื่อเป็นอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการ หรือ เป็นการเพิ่มศักยภาพทางข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของผู้ซื้อได้ 4. ไปดูสถานที่จริง  มีหลายกรณีที่ ภาพจากหน้าเว็บไซด์หรือเอกสารแนะนำโครงการ(โบรชัวร์) มีความแตกต่างจากสถานที่จริง ดังนั้นผู้ซื้อควรตระหนักถึงข้อนี้ มิใช่เพียงแค่ดูจากใบโบรชัวร์หรือหน้าเว็บไซด์ ผู้ซื้อต้องไปสำรวจสภาพของสถานที่ตั้ง ตัวอย่างบ้านหรือห้องชุดของโครงการว่าเป็นอย่างไร  มีความสะดวก เหมาะสมสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันและตรงกับความต้องการหรือไม่ 5.  ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขายให้ดี  ก่อนการทำสัญญาและวางเงินจอง  ผู้บริโภคควรสอบถามถึงรูปแบบของสัญญาว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หรือขอตัวอย่างหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายจากผู้ขายเพื่อมาศึกษาเป็นตัวอย่างก่อนตัดสินใจ  รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับโครงการมาพิจารณาก่อน เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจ โดยต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไว้เป็นหลักฐานด้วย กรณีสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรนั้น  ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543  กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้แบบมาตรฐานสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร ตามประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2546 ซึ่งหากผู้จัดสรรที่ดินใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา  34 มีโทษตามมาตรา 63 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือกรณีอาคารชุด  ตามมาตรา 6/2 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551  กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้แบบมาตรฐานสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ระหว่างผู้มีกรรมสิทธิในที่ดินและอาคารกับผู้จะซื้อห้องชุด  หรือแบบ อช.22 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา  6/2  มีโทษตามมาตรา 63  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท 6. มีสติ อย่าหลงเชื่อพนักงานขาย ผู้ซื้อไม่ควรเร่งรีบที่จะเสียเงินจองเพราะของแถม สิทธิพิเศษ บรรยากาศ การให้บริการของโครงการ เช่น เห็นมีผู้คนสนใจจองเป็นจำนวนมาก หรือพนักงานสวยๆ พูดจาหวานๆ มาคอยต้อนรับดูแลอย่างดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการหาลูกค้าและกลวิธีอย่างหนึ่งเพื่อดึงดูดผู้สนใจ 7. ทำสัญญาต้องมีใบจอง    การทำสัญญาจองบ้านหรือคอนโดแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการต้องมีใบจองหรือสัญญาจองให้กับผู้ซื้อ เพื่อใส่รายละเอียดข้อมูลการซื้อขายเป็นหลักฐาน เช่น วันเวลาสถานที่ทำสัญญาจอง , ชื่อผู้จองและผู้รับจอง , รายการทรัพย์สินและราคา ต่อกัน (ถ้าไม่มีห้ามทำสัญญาจองด้วยเด็ดขาด)     วิธีแก้สุดแนว ของการจองบ้าน มีอะไรบ้าง ? หากเสียเงินทำสัญญาจองแล้ว แต่กู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อจะได้เงินจองคืนได้หรือไม่ ก่อนทำสัญญาจอง ผู้ซื้อต้องตรวจสอบเครดิตการเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินก่อน ว่าสามารถกู้เงินได้หรือไม่ หากพร้อม ค่อยทำสัญญาต่อไป ผู้ซื้อต้องไม่อาย ที่จะสอบถามผู้ประกอบการให้ชัดเจน ว่าหากผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่าน จะคืนเงินหรือไม่ เพื่อความชัดเจนในการตัดสินใจของผู้ซื้อ ผู้ซื้อต้องรู้จักสังเกตเงื่อนไขในสัญญาให้ดี หากพบข้อความในทำนองว่า ถ้ากู้ธนาคารไม่ผ่านจะถูกริบเงิน  ผู้ซื้อต้องโต้แย้งและขอให้แก้ไขข้อความดังกล่าวโดยทันที หากผู้ประกอบการไม่ยอมแก้ไขสัญญา ผู้ซื้อก็ไม่ควรทำสัญญาด้วย การทำเรื่องกู้เงินกับธนาคารเดียวอาจจะมีความเสี่ยง ผู้ซื้อควรขอยื่นกู้มากกว่าหนึ่งธนาคาร และอาจหาผู้ค้ำประกันหรือผู้กู้ร่วม เพื่อเพิ่มโอกาสในการกู้ให้ผ่านมากขึ้น   หลังทำสัญญาจองแล้ว กู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อต้องกลับไปดูสัญญาให้ละเอียดว่ามีข้อความเกี่ยวกับ ถ้าผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่านแล้วผู้ประกอบการจะคืนเงินหรือไม่ หากไม่มีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องผู้ประกอบการขอเงินคืนได้ทันที ด้วยการทำหนังสือขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับ แต่หากมีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อก็ยังมีสิทธิเรียกร้องขอเงินคืนด้วยการทำหนังสือถึงผู้ประกอบการ เพื่อขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับได้เช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการต้องใช้สัญญามาตรฐานในการทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อ ซึ่งสัญญามาตรฐานจะไม่มีสัญญาข้อนี้อยู่ หากผู้ประกอบการปฏิเสธการคืนเงินทุกกรณี ผู้ซื้อมีสิทธิร้องเรียนต่อหน่วยงาน เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย และฟ้องคดีต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อเรียกร้องเงินคืนได้       สิ่งที่ผู้บริโภคควรรู้ ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ หลังจากที่เราทราบวิธีการเบื้องต้นในการที่จะซื้อบ้านแล้ว หลังจากวางเงินมัดจำหรือเงินจองแล้ว ก็จะอยู่ในระหว่างที่เราต้องใส่ใจในเรื่องการผ่อนชำระค่าบ้านแก่โครงการ ก่อนที่จะรับโอนบ้าน หรือการโอนกรรมสิทธิ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อบ้านต้องใช้ความระมัดระวัง มากกว่าก่อนการทำสัญญา เพราะเงินเฉลี่ยประมาณ 10-20 % ของราคาขายได้ถูกชำระไปแล้วกับการทำสัญญา หากภายหลังพบว่า บริษัทเอาเปรียบเช่นไม่ก่อสร้างตามกำหนด บ้านไม่เป็นไปตามแบบบ้านตัวอย่าง ฯลฯ ผู้ซื้อบ้านบางรายส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าที่จะหยุดผ่อนชำระ เพราะหากไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิตามกำหนดก็จะเป็นผู้ผิดสัญญา และถูกริบเงินดาวน์   ข้อสังเกตและคำเตือนมีดังนี้ 1. ผู้บริโภคต้องชำระเงินค่าผ่อนบ้านให้ตรงตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขในสัญญา  ไม่ควรผิดนัด หรือค้างชำระหนี้ มิฉะนั้น ท่านอาจถูกทางโครงการบอกเลิกสัญญาซื้อขายเอาได้เนื่องจากตกเป็นผู้ผิดสัญญา  และอาจถูกริบเงินค่ามัดจำในที่สุด 2. ในระหว่างที่ผ่อนบ้านนั้น ก็ควรเตรียมเอกสารและหลักฐานต่างๆ  ในการทำเรื่องขอกู้เงินผ่อนบ้านกับสถาบันการเงินหรือธนาคารต่างๆ ให้เรียบร้อย  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือ กู้เงินไม่ผ่านและถูกริบเงินมัดจำเนื่องจากผิดสัญญา ไม่สามารถรับโอนบ้านได้ 3. ก่อนที่จะรับโอน  ควรใส่ใจ แวะตรวจดูบ้านที่ทำสัญญาซื้อขาย  หากยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการก่อสร้างล่าช้า  ผู้บริโภคควรระงับการชำระเงินค่าผ่อนบ้านเอาไว้ก่อน และทำหนังสือแจ้งไปยังโครงการให้รีบดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา 4. แต่หากทำหนังสือแจ้งแล้ว โครงการยังเพิกเฉยหรือดำเนินการล่าช้า ไม่สร้างให้เสร็จตามสัญญา  กรณีเช่นนี้ ถือว่าโครงการเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินที่ชำระไปแล้วคืน  และหากมีค่าเสียหายเกิดขึ้นจากการที่บ้านสร้างไม่เสร็จ เช่น ต้องไปซื้อบ้านที่อื่น ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็สามารถเรียกร้องให้โครงการรับผิดในส่วนนี้ได้อีกเช่นกัน 5. หรือหากบ้านที่จะซื้อ ทางโครงการได้สร้างเสร็จแล้ว ก่อนการรับโอนกรรมสิทธิ ผู้บริโภคควรตรวจดูสภาพของบ้านอย่างละเอียด โดยแจ้งนัดตรวจบ้านกับเจ้าหน้าที่โครงการให้ชัดเจน อาจทำเป็นหนังสือแจ้งทางโครงการและควรนัดช่วงเช้า เพื่อให้มีเวลาตรวจสอบได้ทั้งวัน อีกทั้งมีแสงสว่างเพียงพอ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ละเอียดอีกด้วย หากตรวจสอบบ้านแล้ว พบว่าบ้าน ยังไม่เรียบร้อย   ไม่เหมาะสมกับการพักอาศัยอยู่ คำตอบเดียวที่ทำได้ คือ ห้ามรับโอนกรรมสิทธิ์ โดยเด็ดขาด !!  แม้จะถูกรบเร้า ขอร้อง อ้อนวอน จากพนักงานขาย ผู้บริโภคควรทำหนังสือแจ้งไปยังโครงการให้รีบดำเนินการแก้ไข  และขอขยายกำหนดเวลารับโอนกรรมสิทธิออกไปก่อน จนกว่าทางโครงการจะดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จึงจะยอมรับโอนกรรมสิทธิบ้านตามสัญญาได้   Ø ปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิ ผู้บริโภคจำนวนมากมักเจอปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิแล้ว ไม่ว่าจะพบการชำรุดเสียหาย บ้านจัดสรรปลูกสร้างผิดแบบ การไม่มีสาธารณูปโภคตามสัญญา การบริหารจัดการของนิติบุคคลที่เอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ เมื่อผู้บริโภคเรียกร้อง ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักเพิกเฉย ทำให้ผู้บริโภคต้องฟ้องคดีต่อศาลเป็นหนทางสุดท้าย เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย   Ø หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ด้านที่อยู่อาศัย 1. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ร้องเรียนด้วยตัวเองได้ที่ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10120 สายด่วน 1166 http://www.ocpb.go.th Email : consumer@ocpb.go.th2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ (ศาลากลางประจำจังหวัดทุกจังหวัด)3. กรมที่ดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทรศัพท์ : 02-1415555 http://www.dol.go.th4. การเคหะแห่งชาติ เลขที่ 905 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 โทรศัพท์ 0-2351-7777 สายด่วน 1615 Email : prdi@nha.co.th5. ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02 248 3734-7 โทรสาร 02 248 3733  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 139 One bans. All ban.เมื่อความเสี่ยงของผู้บริโภคไม่ใช่ชะตากรรม

การที่อาเซียนมุ่งสู่แนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalization) โดยจะเปิดกว้างต่อการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การเงิน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งจะปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. 2558 หรือที่เรียกว่า “ประชาคมอาเซียน” นั้น จะทำให้เกิดมีการหมุนเวียนหลั่งไหลของสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งก็เป็นไปได้มากว่า สินค้าและบริการส่วนหนึ่งจะเป็นสินค้าและบริการที่ด้อยคุณภาพ หน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคจึงเตรียมตัวกันเต็มที่เพื่อสกัดกั้นปัญหาดังกล่าว กลไกสำคัญหนึ่งคือ การตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน (ASEAN Committee on Consumer Protection) ขึ้น ซึ่งมีสมาชิกจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจากทุกประเทศ ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ โดยมีหน่วยแข่งขันทางการค้า กรมคุ้มครองผู้บริโภคและกรมทรัพย์สินทางปัญญาของเลขาธิการอาเซียนเป็นสำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการฯ นี้จะทำหน้าที่สร้างระบบเตือน การเรียกคืนสินค้าและสินค้าอันตราย สร้างกลไกการแก้ไขปัญหาเยียวยาผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งของกลไก สร้างความตื่นตัวและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังมีกลไก องค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน Southeast Asian Consumer Council (SEACC) อีกหนึ่งแห่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับทางภาครัฐ โดยก่อตั้งขึ้นที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อปี 2549 สมาชิกก่อตั้งเป็นองค์กรผู้บริโภคชั้นนำจากประเทศ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม โดยการสนับสนุนของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน   และเมื่อวันที่ 4-5 กันยายน ที่ผ่านมา “สภาผู้บริโภคอาเซียน” ได้จัดงานประชุมขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับสินค้า(ผลิตภัณฑ์) อันตราย ในหัวข้อ “เมื่อความเสี่ยงของผู้บริโภคไม่ใช่ชะตากรรม : ความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคในประชาคมอาเซียน” ซึ่งฉลาดซื้อ ขอนำประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในงานนี้มาเสนอเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับผู้บริโภคในการเตรียมความพร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป   องค์การอิสระผู้บริโภคต้องเกิดเสียที ในเวทีประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียน ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ตัวแทนสมาชิกของประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ได้นำเสนอข้อมูลในเรื่องอันตรายของผลิตภัณฑ์ที่หลายประเทศในอาเซียนได้สั่งห้ามยกเลิกการใช้และห้ามนำเข้าไปนานแล้ว แต่ยังพบในอีกหลายประเทศร่วมภูมิภาคอาเซียน นายเซีย เซ็งชุน (Mr. Seah Seng Choon) ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์  กล่าวว่า “ในสิงคโปร์การคุ้มครองผู้บริโภครุดหน้าไปมาก เมื่อสิบปีที่แล้วได้แบน แร่ใยหินหรือแอสเบสตอสไปแล้ว พอได้ฟังข้อมูลที่ประเทศไทยวันนี้ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเลื่อนการแบนไปอย่างน้อยห้าปี รู้สึกตกใจมากเพราะแม้ผลของโรคที่เกิดจากแร่ใยหินไม่ได้เห็นในเวลานี้ แต่ผลกระทบจากการสะสมเริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ ดังนั้นจึงเห็นด้วยว่าจะต้องแบนแร่ใยหินทันที เพราะจะได้ไม่มีผลร้ายมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามในมุมมองเรื่องการแบนสินค้าที่เกิดขึ้นในประเทศของสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันนั้น หากขาดประเทศไทยที่เดียวที่ไม่มีการแบน ประเทศไทยก็ต้องเป็นแหล่งเดียวที่รับสินค้าอันตรายเช่นแร่ใยหินเข้าประเทศไทยแทนประเทศอื่นที่ได้สั่งแบนสินค้าไปแล้ว” นางสาวโมฮานา ปรียา (Ms. Mohana Priya) จากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “ในมาเลเซียนั้น สารบีพีเอ ถูกแบนโดยไม่ยากนักเพราะมีข้อมูลวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่า สารบีพีเอในขวดนม มีผลกระทบต่อสุขภาพทารกและเด็ก ซึ่งทำให้รัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจอย่างไม่ยากเย็นในการห้ามใช้สารบีพีเอในขวดนม เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพของอนาคตของชาติที่จะละเลยมิได้” ในขณะที่ ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์   ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวว่า “จากประสบการณ์การจัดการปัญหาสินค้าไม่ปลอดภัย หน่วยงานราชการเกี่ยงกันไปมา ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่น กรณีของบีพีเอ หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแร่ใยหิน ทั้งที่มีหลักฐานทางวิชาการอย่างชัดเจนว่ามีอันตราย ดังนั้นจึงเห็นด้วยหากประเทศใดในอาเซียนแบนสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนควรแบนด้วย ไม่เช่นนั้น สินค้าอันตรายที่ถูกประเทศอื่นยกเลิกแล้วจะเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศที่ยังไม่มีมาตรการเกี่ยวกับสินค้านั้น” และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นปิดท้ายว่า“นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ควรเร่งผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบอีกครั้งก่อนที่จะเป็นกฎหมาย ซึ่งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเป็นกลไกใหม่ในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและเป็นตัวแทนในประเด็นต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้างเช่น สินค้าอันตราย ไม่ว่าจะเป็นกรณีแร่ใยหิน หรือ สารบีพีเอในขวดนม ที่มีการยกเลิกการใช้ในหลายประเทศในอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะไม่มีหน่วยงานที่อยากจะรับผิดชอบผู้บริโภคอย่างชัดเจนเบ็ดเสร็จได้” เมื่อจบการประชุมในวันแรก ตัวแทนจากองค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน ได้ร่วมในงานเลี้ยงต้อนรับที่ทางรัฐบาลจัดขึ้น ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทางองค์กรผู้บริโภคอาเซียนเข้ายื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี  นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เร่งออก พรบ.  องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นกลไกใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค  ห้ามผลิต  และนำเข้าผลิตภัณฑ์อันตรายทั้งภูมิภาคอาเซียน   ถ้ามีการประกาศห้ามผลิต/นำเข้า ผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องถูกห้ามผลิต/นำเข้าในประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวทั้งภูมิภาค   1 ประเทศแบน 10 ประเทศแบน One bans. All ban. ในส่วนการประชุมวันที่ 5 กันยายน 2555 องค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน ได้ประกาศ ปฏิญญากรุงเทพ โดยมีใจความสำคัญดังนี้ สภาผู้บริโภคอาเซียน ร่วมประกาศปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 “1 ประเทศแบน 10 ประเทศแบน” ปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 เพื่อเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันของรัฐบาลในอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคต่างยืนยันที่จะร่วมมือกันคุ้มครองผลประโยชน์ ของผู้บริโภคในทุกภาคส่วน และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องมาตรการและนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในอาเซียนให้มีมาตรฐานเดียวกัน   รองศาสตราจารย์ ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานกรรมการอำนวยการสภาผู้บริโภคอาเซียน และประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ปฏิญญาสภาผู้บริโภคอาเซียน กรุงเทพฯ 2555 ตกลงกันในการร่วมกันแบนสินค้า แอสเบสตอสและ บีพีเอ เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์และมาเลเซียได้แบนสำเร็จแล้ว โดยยืนยันให้มีมาตรการอัตโนมัติที่ประเทศหนึ่งแบนสินค้าใด ประเทศอื่นในอาเซียนต้องแบนสินค้านั้นทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการร่วมมือกันในครั้งนี้  การประชุมสภาอาเซียนผู้บริโภคนี้ ยังเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ดังเช่นที่ปฏิญญาได้ให้การสนับสนุนการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในไทย นอกจากนี้ตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย ก็ให้ความสนใจในประเด็นเรื่องข้อมูลผลกระทบ FTA ของไทย  และต้องการศึกษาผลกระทบในอินโดนีเซียเช่นกัน ก็สามารถร่วมมือกันได้ เพื่อหาวิธีร่วมกันในการจัดการปัญหาในระดับอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน”   นางสาวอินดา  สุขมานิวซิงค์ ประธานกรรมการบริหารสภาผู้บริโภคอาเซียน กล่าวต่อว่า “เมื่อค่ำวานนี้มีความยินดีที่ได้มีโอกาสพบตัวแทนรัฐบาลไทยซึ่งดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้ให้สัญญาณที่ดีในเรื่องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภคร่วมกัน  ไม่ว่าจะเกิดปัญหากับผู้บริโภคในประเทศไหนในภูมิภาคอาเซียน เราทุกคนควรมองว่าเป็นปัญหาร่วมกันไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง”   นายเซีย เซ็งชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงค์โปร์ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างองค์กร สำคัญมาก เช่น งานประชุมนี้เราก็ได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยไหนบ้างอยากให้มีผู้บริโภคมาร่วมกันมากกว่านี้เวลาที่ออกไปให้ความรู้ผู้บริโภคจะได้รู้ว่าพวกเขาพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคกันอย่างไร หรือได้รู้ว่ากฎหมายที่ออกมาเช่น LEMON LAW ของสิงคโปร์ เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน”   นางสาวโมฮานา ปรียา สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “เราจะมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและแลกเปลี่ยนเรื่องการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ เพื่อให้เกิดความเท่าทันในการเท่าทันปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์” --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ขอแนะนำ 1 ในสมาชิกผู้ก่อตั้ง สภาองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานนี้มีชื่อว่า Badan Perlindungan Konsumen Nasional หรือ(National Consumer Protection Agency เขาเป็นองค์กรของรัฐ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศอินโดนีเซีย วิสัยทัศน์ของ BPKN ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 11 ปีที่แล้วคือการเป็นองค์กรชั้นนำที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบมากขึ้นพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตัวเองมากขึ้นด้วย เขาเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้บริโภคผ่านหน่วยงาน ตั้งแต่กระทรวงต่างๆ ผู้ว่าการรัฐ สถาบัน/หน่วยงาน/คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง/ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคธุรกิจ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐ หน่วยงานจัดการข้อพิพาท องค์กรระหว่างประเทส องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หน้าที่สำคัญของ BPKN ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน 4 ฝ่าย (ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายการศึกษาและสื่อสารสังคม ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน และฝ่ายสร้างความร่วมมือ) คือ ให้คำแนะนำแก่รัฐบาล ในการร่างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง ของผู้บริโภค ศึกษาและประเมินกฎระเบียบต่างๆที่มีอยู่ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทำวิจัยเรื่องความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เผยแพร่ข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านสื่อ และส่งเสริมสิทธิของผู้บริโภค รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และ ภาคธุรกิจ ทำการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการต่างๆ ตัวอย่าง งานด้านการศึกษาวิจัยของ BPKN ได้แก่ การศึกษามาตรฐานขั้นต่ำของบริการสายการบินสัญญามาตรฐาน  การทบทวนกฎหมายเรื่องมาตรวิทยา และการทบทวนกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค BPKN ไม่เด่นในเรื่องการรับร้องเรียนเท่าไรนัก แต่ที่น่าสนใจคือการทำข้อเสนอต่อรัฐบาลอินโดนีเซียในเรื่องต่างๆ เช่น -          เสนอให้กระทรวงไอซีทีพิจารณาการห้ามส่งสแปมหรือ SMS ที่สร้างความรำคาญแก่ผู้บริโภค -          เสนอให้กระทรวงการคลังและการธนาคารควบคุมพฤติกรรมของบริษัททวงหนี้ -          เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลให้สถาบันการศึกษาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน -          และที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อต้นปีคือข้อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมให้มีการออกกฎให้มีการตรวจหายาเสพติดในกัปตันและลูกเรือทุกคน และให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับสายการบินที่จ้างกัปตันที่ติดยาเสพติดไว้ในสังกัดด้วย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ผู้อ่านฉลาดซื้ออาจสงสัยว่าสังคมเป๊ะเวอร์อย่างสิงคโปร์เขามีมาตรการจัดการกับสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างไร  จากคำบอกเล่าของคุณเซีย เซ็ง ชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์  ที่นั่นเขามีองค์กรชื่อว่า SPRING Singapore ทำหน้าที่ดูแลจัดการกับสินค้าไม่ปลอดภัย โดยเป้าหมายคือการยกระดับคุณภาพการผลิตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไปพร้อมๆกับการคุ้มครองผู้บริโภคนั่นเอง แรกเริ่มเดิมที่มีผลิตภัณฑ์อันตรายทั้งหมด 45 ประเภท (ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) ที่รัฐกำหนดให้มาขึ้นทะเบียนกับ SPRING เพื่อทดสอบความปลอดภัยก่อนจะได้รับอนุญาตให้วางขายได้ ปัจจุบัน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับปรับปรุงใหม่กำหนดมีผลิตภัณฑ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ SPRING ถึง 15,000 รายการ (สินค้าที่เข้าข่าย ผลิตภัณฑ์อันตรายนี้ครอบคลุมตั้งแต่อาหารที่มีส่วนประกอบที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม สารเคมีต่างๆ และสินค้าอุปโภคบริโภค) ค่าปรับของการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยนั้นอยู่ที่ 10,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 250,000 บาท ใครยังจะกล้าขายก็ให้รู้กันไป ไหนๆ ก็แวะมาสิงคโปร์กันแล้ว จะไม่แถมเรื่อง Lemon Law ซึ่งสิงคโปร์ประกาศใช้ในเดือนกันยายนนี้ ก็ดูจะกระไรอยู่ กฎหมายนี้เราเคยเรียกร้องขอให้มีในกรณีของรถยนต์ เมื่อหลายปีก่อน (สมาชิกฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ถึงเหตุการณ์ที่มีคุณผู้หญิงคนหนึ่งออกมาทุบรถออกสื่อ เพราะคับแค้นใจที่รถที่ทุ่มทุนซื้อมาหมาดๆ ดันเสียซ้ำเสียซ้อน แถมโชว์รูมก็ไม่ยอมเปลี่ยนคันใหม่ให้อีกต่างหาก) อิจฉากันได้เลย เพราะสิงคโปร์เขาล้ำหน้าไปถึงขั้นมีกฎหมายที่ระบุให้มีการเยียวยาให้กับผู้บริโภค เมื่อสินค้าที่ซื้อไปนั้นไม่เป็นไปตามสัญญา / โฆษณาที่ระบุไว้ขณะที่ซื้อ (ถ้าพบข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ภายในเวลา 6 เดือนก็ให้ถือว่าเป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นในขณะที่ซื้อ) โดยผู้ขายจะต้องซ่อม เปลี่ยน คืนเงินทั้งหมด หรือบางส่วนให้กับผู้บริโภค ตามขั้นตอนคือให้ซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าบกพร่องนั้นก่อน ถ้าไม่สามารถทำได้ ผู้บริโภคมีสิทธิขอลดราคาสินค้านั้น หรือคืนสินค้าแล้วขอรับเงินคืน โดยผู้บริโภคต้องทำเรื่องร้องเรียนภายใน 6 เดือนหลังจากซื้อสินค้า ความจริงแล้วหลัง 6 เดือนก็ยังร้องเรียนได้ เพียงแต่ผู้บริโภคจะต้องรับภาระการพิสูจน์เอง และที่สำคัญ การติดป้ายว่า “สินค้านี้ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน” ก็ไม่สามารถปกป้องผู้ขายจากความรับผิดชอบนี้ได้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   พฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศอาเซียน (ASEAN-5) สิงคโปร์ • การตัดสินใจซื้อ: ด้วยกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง ทำให้ชาวสิงคโปร์มักนิยมเลือกซื้อสินค้าแบรนด์เนม เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพค่อนข้างสูง • รสนิยม: วัฒนธรรมไลฟ์สไตล์ทางตะวันตกมีอิทธิพลมากในสังคมสิงคโปร์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคยัง อ่อนไหวต่อกระแสนิยมและแฟชั่นในตลาดโลกสูง จนได้ชื่อว่าเป็นตลาดแฟชั่นที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ • การบริโภค: ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมาก และนิยมทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย นอกจากนี้ ผู้มีรายได้และ มีระดับการศึกษาสูงจะนิยมบริโภคอาหารออร์แกนิกมากขึ้น บรูไน • การตัดสินใจซื้อสินค้า: ชาวบรูไนมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และนิยมสินค้าแบรนด์เนม สินค้าหรูหรามูลค่าสูง และสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ามาก • รสนิยม: ชาวบรูไนมีข้อจำกัดจากทางด้านวัฒนธรรมและมีกฎระเบียบรวมถึงข้อห้ามที่เคร่งครัด ขณะเดียวกันมีรสนิยมที่ค่อนข้างทัน สมัยและอิงสไตล์ตะวันตก • การบริโภค: - พฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารค่อนข้างใกล้เคียงกับมาเลเซีย โดยนิยมอาหารฮาลาลตามการยึดถือศาสนาอิสลาม - ชาวบรูไนค่อนข้างเชื่อถือคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอาหาร จากสิงคโปร์และมาเลเซีย มาเลเซีย • การตัดสินใจซื้อ: ชาวมาเลเซียมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายใน ชีวิตประจำวัน สินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าหรูหรามากขึ้น ขณะที่ กลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างให้ความ สำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สะท้อนจากการใช้จ่ายสินค้าไอทีที่มากเป็นอันดับแรกเมื่อเทียบกับการใช้จ่าย ด้านอาหารและการพักผ่อนอื่นๆ • รสนิยม: ผู้บริโภคมาเลเซียมีรสนิยมค่อนข้างหลากหลายตามกลุ่มเชื้อชาติ แต่กลุ่มผู้บริโภคที่มีระดับการศึกษาสูงและรายได้สูงมักมี รสนิยมอิงสไตล์ตะวันตก • การบริโภค: - ผู้บริโภคมาเลเซียนิยมบริโภคอาหารสด ขณะที่อาหารแปรรูปและอาหารบรรจุถุงมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นจากความ เร่งรีบในชีวิตประจำวัน - ชาวมาเลเซียรับประทานอาหารวันละ 3 ครั้ง และระหว่างวันจะมีช่วงพักดื่มน้ำชา และนิยมทานขนมขบเคี้ยว/บิสกิตเป็นอาหารว่างควบคู่ไปด้วย - ชาวมาเลเซียในวัยแรงงานนิยมบริโภคสินค้า Functional Food เช่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ/ให้พลังงาน อินโดนีเซีย • การตัดสินใจซื้อ: ชาวอินโดนีเซียยังมีช่องว่างทางรายได้ค่อนข้างสูง และผู้บริโภคส่วน ใหญ่ยังค่อนข้างอ่อนไหวกับราคาสินค้า ทำให้ไม่ค่อยนิยมสินค้านำเข้าที่ราคาแพงหรือสินค้าที่มี บรรจุภัณฑ์ราคาสูง • รสนิยม: ผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปนิยมบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งสินค้านำเข้าจากเอเชียและประเทศตะวัน ตก • การบริโภค: - ชาวอินโดนีเซียมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอาหารค่อนข้างสูง (สัดส่วนประมาณร้อยละ 51 ของรายได้ทั้งหมด) - ชาวอินโดนีเซียนิยมใช้เวลาพักผ่อนร่วมกับเพื่อนและครอบครัวโดยการออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน - พฤติกรรมการซื้อสินค้าอาหารเปลี่ยนจากซื้อวันต่อวันมานิยมซื้ออาหารสำเร็จ รูป อาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทาน ที่เก็บไว้ได้นานขึ้น ขณะที่สินค้า กลุ่ม Cereal ยังเป็น อาหารหลักสำหรับทุกกลุ่มรายได้ นอกจากนี้ยังนิยมอาหารรสจัด - มีแนวโน้มใส่ใจกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น ฟิลิปปินส์ • การตัดสินใจซื้อ: แม้ปัจจุบันกระแสไอทีได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมโลกมากขึ้น แต่ชาว ฟิลิปปินส์ไม่นิยมการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่นิยมเดินเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเอง (ยกเว้นสินค้า กลุ่มสื่อบันเทิง) นอกจากนี้ ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยยึดติดกับสินค้าแบรนด์เนม แต่นิยมสินค้า Private Label มากกว่า • รสนิยม: มีรสนิยมค่อนข้างหลากหลาย โดยทั่วไปเน้นความเรียบง่าย สะดวกและเหมาะสมกับระดับรายได้ • การบริโภค: - ชาวฟิลิปปินส์ใส่ใจกับการดูแลสุขภาพ และการดูแลความสวยงามและผิวพรรณ - ชาวฟิลิปปินส์ค่อนข้างผูกพันกับตราสินค้าเดิมที่เคยใช้และไม่เปลี่ยนตราสินค้าบ่อย - ชาวฟิลิปปินส์นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก - เช่นเดียวกับผู้บริโภคในประเทศอาเซียนอื่นที่มีรายได้สูงขึ้น ชาวฟิลิปปินส์นิยมซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์และอุปกรณ์มือถือ   พฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศอาเซียน (CLMV)   เวียดนาม พม่า / สปป.ลาว / กัมพูชา • การตัดสินใจซื้อ: พฤติกรรมชาวเวียดนามแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศ กลยุทธ์การเข้าถึงตลาดจำเป็นต้องชัดเจนและ เหมาะสม อาทิ ทางตอนใต้พิจารณามูลค่าสินค้า เป็นสำคัญ ขณะที่ทางตอนกลางให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า ส่วนทางเหนือจะค่อนข้างมัธยัสถ์และพิจารณาประโยชน์และความคงทนเป็นสำคัญ • รสนิยม: ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีรสนิยมการบริโภคเปลี่ยนไปในทิศทางที่ต้องการสินค้าระดับกลางถึงบนมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มวัย แรงงานของเวียดนามค่อนข้างอ่อนไหวต่อ กระแสความนิยมในตลาดโลก • การบริโภค: - ชาวเวียดนามในเมืองใหญ่มักนิยมสินค้าแฟชั่น สินค้าไอทีและการสื่อสารที่ทันสมัย - อาหารสไตล์ตะวันตกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอาหารฟาสฟู้ดที่เข้ามาในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ - ชาวเวียดนามนิยมอาหารสด ผักสดเป็นหลัก ขณะที่ความนิยมอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าประมาณ อาทิตย์ละครั้ง - พฤติกรรมทางสังคมที่มีการพบปะทางธุรกิจและสังสรรค์มากขึ้น ประกอบกับความสะดวกสบายและไม่เสียเวลาทำอาหารเอง ทำให้นิยมรับประทานอาหารนอก บ้านมากขึ้น - ระดับรายได้ที่สูงขึ้นทำให้ชาวเวียดนามนิยมซื้อสินค้าตกแต่งบ้าน/เครื่องใช้ ในบ้านมากขึ้น โดยยังนิยมสินค้าที่มีราคาไม่สูงนัก • การตัดสินใจซื้อ: ผู้บริโภคในพม่า/ สปป.ลาว / กัมพูชา ส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก ทำให้ การตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่เน้นพิจารณาจากประโยชน์ของสินค้าเป็นสำคัญ และมักซื้อ สินค้าเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มวัยรุ่นชาวลาว พบว่า กระแสแฟชั่นสมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาสินค้าด้าน เครื่องแต่งกายและการ ดูแลสุขภาพ • รสนิยม: ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 มีรสนิยมค่อนข้างคล้ายคลึงกับไทย จากประเพณีและวัฒนธรรม และพรมแดนที่อยู่ติดกัน ทั้งยังนิยม เลียนแบบการบริโภคสินค้าผ่านสื่อโทรทัศน์ ของไทย • การบริโภค: - สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านมีอิทธิพลค่อนข้างมากในตลาดพม่า สปป.ลาว และกัมพูชา - สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดกลุ่มนี้ยังไม่หลากหลายนัก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากไทย จีน และเวียดนาม - ผู้บริโภคทั้ง 3 ประเทศ ส่วนใหญ่ยังเน้นบริโภคสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกยังได้รับความนิยมในวงจำกัด เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง / นักการเมือง - ชาวลาวได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทางอาหารจากฝรั่งเศสมาพอสมควร อย่างไรก็ดี อาหารท้องถิ่นของชาวลาวยังคงเป็นที่นิยมโดยทั่วไป   ที่มา ”พฤติกรรมผู้บริโภคในอาเซียน”...ตัวแปรสำคัญที่ SMEs ไทยควรรู้ก่อนก้าวสู่ AEC ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กรกฎาคม 2554

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point