ฉบับที่ 272 กระแสต่างแดน

เงินไม่ถึง         ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority) ประกาศคืนเงินให้กับผู้ซื้อ “ที่ทับกระดาษ” จากร้านขายสินค้าที่ระลึกของธนาคารเมื่อหกปีก่อน หลังพบว่าสิ่งที่อยู่ด้านในไม่เป็นไปตามที่แจ้งบนฉลาก         ของที่ระลึกดังกล่าวซึ่งอยู่ในรูปลักษณ์ของแก้วบรรจุธนบัตรมูลค่า 1,000 เหรียญฮ่องกงที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย วางจำหน่ายเมื่อต้นปี 2560 ในราคาชิ้นละ 100 เหรียญ (ประมาณ 450 บาท)         ฉลากและการประชาสัมพันธ์ของธนาคาร ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าที่ทับกระดาษคอลเล็คชันนี้ ทำขึ้นจากแบงก์พันเก่าจำนวน 138 ใบ รวมเป็นมูลค่า 138,000 เหรียญ         ล่าสุดธนาคารฯ ออกมายอมรับว่าได้ใส่กรวดเข้าไปเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เท่ากับว่าในนั้นมีธนบัตรน้อยกว่าจำนวนที่แจ้ง ข้อมูลที่ให้ไว้จึงไม่ตรงตามความจริง ธนาคารฯ จึงขอแจ้งให้ผู้ที่ซื้อไปมาติดต่อขอรับเงินคืนได้         รายงานระบุว่าที่ทับกระดาษรุ่นดังกล่าวยังมีขายออนไลน์ในราคาระหว่าง 420 – 600 เหรียญ   เอาที่ไหนมาพูด        องค์กรผู้บริโภคสหภาพยุโรปร่วมกับ Consumentenbond องค์กรผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์  และองค์กรผู้บริโภคในอีก 12 ประเทศ  ยื่นขอให้มีการตรวจสอบคำกล่าวอ้างของบริษัทโคคาโคลา และบริษัทเนสท์เล่ เรื่องการรีไซเคิลขวดพลาสติก         เนื้อหาของข้อความที่เป็นปัญหาได้แก่ “100% ของขวดน้ำพลาสติกในยุโรปสามารถรีไซเคิลได้” และ “ขวดน้ำนี้ใช้วัสดุรีไซเคิล 100%”         นอกจากนั้นยังมีการใช้ภาพประกอบที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าขวดน้ำพลาสติกไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย         การกล่าวอ้างแบบข้างต้นถือว่าผิดระเบียบสหภาพยุโรป เพราะไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง         ปัจจุบันยุโรปมีอัตราการรีไซเคิลขวดพลาสติกอยู่ที่ร้อยละ 55 เท่านั้น ในขณะที่อัตราการนำกลับมาใช้ใหม่อยู่ที่ร้อยละ 30 และขยะบริเวณชายหาดของยุโรปส่วนใหญ่คือขวดน้ำพลาสติกนั่นเอง  ไม่หยุดบิน         สมาคมผู้ประกอบการสายการบินของสเปน ยืนยันว่าจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลที่ต้องการให้ยกเลิกเส้นทางบินระยะใกล้ที่สามารถเดินทางด้วยรถไฟภายในเวลาไม่เกินสองชั่วโมงครึ่ง         โดยให้เหตุผลว่าจะยกเลิกก็ต่อเมื่อมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมเมืองหลัก รวมถึงมีรถไฟเชื่อมต่อกับสนามบินหลักอย่างเพียงพอ เช่น เส้นทางระหว่างเมืองมาดริดและบาราคัสควรจะมีรถไฟวันละ 8-10 เที่ยวต่อชั่วโมง ซึ่งในทางปฏิบัติยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าเจ็ดปี         การสำรวจโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 35 ของเที่ยวบินในสเปน (ที่ส่วนใหญ่ตั้งต้นจากเมืองมาดริด) สามารถถูกยกเลิกได้ และจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 10         รัฐบาลสเปนเริ่มแผนลดเที่ยวบินระยะสั้น (ไม่เกินสี่ชั่วโมง) โดยนำรถไฟความเร็วสูงเข้ามาแทนที่ได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมทำกิจการรถไฟ และดูเหมือนรถไฟของ Iryo และ Ouigo จะมีผลประกอบการดีกว่ารถไฟของรัฐฯ อย่าง Renfe ด้วย  ลดกระดาษ         พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเดนมาร์กอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปลงทะเบียนขอปิดบังข้อมูล “ที่อยู่สำหรับจัดส่งไปรษณีย์” กับกรมทะเบียนกลางได้ โดยคำขอดังกล่าวจะมีอายุครั้งละหนึ่งปี           การกระทำดังกล่าวจะทำให้กรมฯ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่อยู่ของประชาชนให้กับเอกชนรายใดได้ และกฎหมายเดียวกันก็ห้ามผู้ประกอบการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับผู้อื่น รวมถึงไม่สามารถขอที่อยู่จากกรมฯ ได้ ยกเว้นกรณีติดตามทวงหนี้         ส่วนโบรชัวร์โฆษณาชนิดไม่ได้ระบุชื่อที่อยู่ผู้รับ เขาก็มีทางออกให้เช่นกัน ใครที่ไม่อยากได้กระดาษล้นตู้จดหมายก็สามารถลงทะเบียนเข้าโครงการ “ขอบใจ แต่ขอไม่รับ” แล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์ประกาศิตมาติดตู้จดหมาย รับรองว่าใครเห็นก็ไม่กล้าแจก         แน่นอนว่าเรื่องนี้ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะดีลลดราคาหรือโฆษณาต่างๆ ก็สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อยู่แล้ว   รวมกันเราอุ่น         ปัจจุบันมีห้องเช่าจำนวนไม่น้อยในฝรั่งเศสที่ยังใช้ระบบให้ความร้อนจากส่วนกลาง หมายความว่าผู้ “สั่งเปิด” ฮีตเตอร์ ได้คือเจ้าของตึกซึ่งมีหน้าที่ดูแลอาคารให้มีอุณหภูมิเหมาะกับการอยู่อาศัยนั่นเอง         หลักการคือถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเกินหนึ่งวัน ให้ถือว่าเข้าข่าย “หนาวเกินไป” และควรเปิดเครื่องทำความร้อน แม้กฎหมายจะไม่ระบุช่วงเวลาเปิดฮีตเตอร์ แต่ที่ปฏิบัติกันมาคือระหว่าง 15 ตุลาคม ถึง 15 เมษายน ของทุกปี         ใครที่รู้สึกหนาวก่อนนั้นก็สามารถยื่นคำร้องไปขอความเห็นชอบจากกลุ่มผู้เช่าได้ แต่ถ้าเพื่อนบ้านไม่หนาวด้วย หรือไม่อยากจ่ายค่าไฟเพิ่ม ก็ต้องทำใจ ใส่เสื้อหนาวเพิ่มหรือไปซื้อฮีตเตอร์มาใช้เอง         ฟังดูเป็นเรื่องทรมาน แต่วิธีนี้จะทำให้ทุกคนในตึกจ่ายค่าไฟน้อยลง เพราะการเปิดระบบให้ความร้อนตามเวลาที่ตกลงกันไว้กับบริษัทพลังงานจะได้อัตราค่าไฟที่ถูกกว่า และยังประหยัดพื้นที่วางฮีตเตอร์ ที่ผู้เช่าต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงโดยไม่มีคนร่วมแชร์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 แนะนำเส้นทางท่องเที่ยวกับแอปพลิเคชัน Thailand Tourism Map

        ช่วงนี้วันหยุดติดต่อกันยาว 3 วันบ้าง 4 วันบ้าง หรือจะแค่วันหยุดเสาร์อาทิตย์บางคนก็พร้อมที่จะไปท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวไม่ไกลมากนัก ซึ่งบางครั้งก็มีการวางแผนการเดินทาง สถานที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี แต่ก็มีหลายๆ คนเช่นกันที่ไม่สามารถวางแผนได้ล่วงหน้า        การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งแบบฉุกละหุกย่อมทำให้เกิดความกังวลใจในการใช้เส้นทางสำหรับการเดินทาง ยิ่งเป็นเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยแล้วยิ่งเกร็งกันไปใหญ่ เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้สัมผัสความรู้สึกเกร็งแบบมาแล้ว ด้วยเวลาที่เร่งรัดและเป็นผู้นำการเดินทางคนเดียวในครอบครัว ดังนั้นจึงต้องเริ่มหาที่พึ่งโดยด่วน         สุดท้ายได้มาเจอแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Thailand Tourism Map เป็นแอปพลิเคชันของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แค่ชื่อก็ใช่เลย เหมาะกับการเดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยจริงๆ        ขั้นตอนแรกของแอปพลิเคชันจะให้เลือกภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เมื่อต้องการที่จะเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดมีอยู่ 2 วิธี คืออย่างแรกให้พิมพ์คำที่ต้องการค้นหาลงในช่องค้นหาได้ทันทีและจะปรากฏเส้นทางสถานที่นั้นๆ อย่างที่สองให้กดสัญลักษณ์เลี้ยวขวาที่อยู่มุมขวาล่างของหน้าแอปพลิเคชันและกดค้นหาจากตำแหน่งที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ ในส่วนนี้จะสามารถเลือกเส้นทางแบบเดินทางโดยรถยนต์หรือเดินทางโดยรถสาธารณะได้ โดยการเดินทางในรูปแบบการใช้รถโดยสารสาธารณะจะบอกเป็นขั้นตอน เช่น ให้ขึ้นรถบีทีเอสไปต่อรถไฟ เป็นต้น         ความแตกต่างของการใช้แอปพลิเคชันนี้ก็คือ จะมีชื่อสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทยไว้ให้ค้นหามากมาย เพียงแค่พิมพ์ตัวอักษรที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการแนะนำเส้นทางของสถานที่ท่องเที่ยวโดยแบ่งออกเป็นภาค จังหวัด และเส้นทางท่องเที่ยวแต่ละจังหวัดที่ใกล้เคียงกัน โดยได้แนะนำไว้เป็นเส้นทางการเดินทางก่อนหลัง เช่น เส้นทางท่องเที่ยว 3 วัน 2 คืน เกาะช้าง-ตราด-พัทยา, เส้นทางท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน ภูเก็ต-พังงา, เส้นทางท่องที่ยว 4 วัน 3 คืน ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่ เป็นต้น         ไม่เพียงเท่านี้ แอปพลิเคชัน Thailand Tourism Map ยังมีหมวดไฮไลท์ ที่สามารถคัดเลือกสถานที่ท่องเที่ยวตามสภาพมลภาวะทางอากาศ หรือเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเมืองรองของภาคใด ซึ่งในหมวดนี้ถือว่าเป็นไฮไลท์ของแอปพลิเคชันนี้ที่ช่วยคัดกรองสถานที่ท่องเที่ยวตามที่ผู้ใช้ต้องการได้ เช่น ถ้าต้องการสภาพมลภาวะทางอากาศระดับดีมากให้เลือกไปที่ AQI 0-25 ดีมาก จะปรากฏตำแหน่งต่างๆ บนแผนที่ ซึ่งสามารถเลือกดูได้ว่าเป็นสถานที่ใดบ้าง        แต่ถ้ารู้สึกไม่ทันใจกับการค้นหาในแอปพลิเคชัน Thailand Tourism Map การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังมีบริการโทรสายด่วนออนไลน์ได้ที่หมายเลข 1672 อีกด้วย        บอกเลยว่าการเดินทางครั้งต่อไปก็คงแค่กดดูข้อมูลการแนะนำเส้นทางของสถานที่ท่องเที่ยว แล้วตัดสินใจว่าจะค้าง 3 วัน 2 คืน หรือจะค้าง 2 วัน 1 คืน แค่นั้นก็เพียงพอแล้วล่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 สำรวจเส้นทางก่อนออกเดินทางกับ “iTIC”

เดือนธันวาคมเป็นเดือนแห่งการเดินทางท่องเที่ยว เชื่อว่าหลายคนคงเตรียมวางแผนหาแหล่งท่องเที่ยวในช่วงหยุดปีใหม่นี้เรียบร้อยแล้ว แต่ในช่วงหยุดยาวแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการเดินทาง การวางแผนเส้นทางการเดินทางเพื่อไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จึงมีความสำคัญเช่นกัน ถ้ามีปัญหาในเส้นทางการจราจรก็คงทำให้ทริปการท่องเที่ยวไม่สนุกนัก ผู้เขียนได้เจอแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่น่าสนใจในการให้ข้อมูลเส้นทางการเดินทางบนท้องถนนในประเทศไทย จัดทำโดยกรมการขนส่งทางบก และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “iTIC” เมื่อเข้าไปในแอพพลิเคชั่นจะปรากฏภาพแผนที่และเส้นทางการจราจร โดยบริเวณมุมบนขวามือจะมีสัญลักษณ์ 4 อัน ได้แก่ สัญลักษณ์รูปคน สัญลักษณ์รูปกล้อง สัญลักษณ์รูปกรวยจราจร และสัญลักษณ์รูปไฟจราจร โดยแต่ละสัญลักษณ์จะมีรูปแบบการบอกรายละเอียดที่แตกต่างกันไปสัญลักษณ์รูปคน จะเป็นปุ่มสำหรับรายงานเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ว่าบริเวณใดมีอุบัติเหตุ มีการก่อสร้าง หรือมีปัญหาใดเกิดขึ้นสัญลักษณ์รูปกล้อง จะเป็นปุ่มที่จะแสดงสัญลักษณ์บนแผนที่ เพื่อบอกว่าจุดใดมีกล้องบ้าง นอกจากนี้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นยังสามารถกดเข้าไปดูภาพของกล้องเพื่อให้ทราบสภาพการจราจรบนถนนบริเวณนั้นในเวลานั้นได้ทันทีสัญลักษณ์รูปกรวยจราจร จะเป็นปุ่มที่แสดงให้เห็นถึงการรายงานอุบัติเหตุ บริเวณสิ่งก่อสร้าง หรือปัญหาต่างๆ โดยสัญลักษณ์จะแตกต่างกันออกไปตามที่มีผู้รายงานเข้ามายังแอพพลิเคชั่นนี้ รวมถึงข้อมูลจากทางผู้จัดทำแอพพลิเคชั่นเอง อย่างเช่น รูปเครื่องอัศเจรีย์(เครื่องหมายตกใจ) รูปคนกำลังก่อสร้าง รูปรถเสีย เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดที่เกิดขึ้นได้สัญลักษณ์สุดท้ายคือ สัญลักษณ์รูปไฟจราจร เป็นการแสดงให้เห็นสภาพการจราจรบนท้องถนนตามเส้นทางต่างๆ ว่ามีสภาพการจราจรที่คล่องตัวหรือติดขัดมากเพียงใด โดยแอพพลิเคชั่นจะใช้สีในการแบ่งสภาพการจราจร อย่างเช่น สีเขียว สีส้ม และสีแดงอย่าลืมสำรวจเส้นทางและสภาพการจราจรก่อนออกเดินทางไปท่องเที่ยวกันนะคะ จะได้เที่ยวอย่างมีความสุข และไม่สะดุดกับการเดินทาง

อ่านเพิ่มเติม >